โคแฟค ประเทศไทย (COFACT Thailand) ร่วมกับ UbonConnect จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “รัฐ-สื่อ-สังคม: ใครคือทางออกวิกฤติข่าวสารเรื่องวัคซีน” ช่วงค่ำวันที่ 16 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดย นายกฤตนัน ดิษฐบรรจง ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ “ส่องสื่อ” กล่าวว่า ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งรัฐและสื่อต่างจากปัญหาทั้งข่าวปลอม (Fake News) และข่าวที่คลาดเคลื่อน (Misinformation) จนบางกรณีสื่อก็ต้องออกมาขอโทษในความผิดพลาด
ซึ่งสถานการณ์แบบนี้อาจต้องใช้คำว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก โดยสื่อมวลชนพยายามท้วงติงรัฐ มีการหารือวิธีการนำเสนอว่าควรเป็นแบบนั้นแบบนี้ ในขณะที่ประเทศอังกฤษ ก็มีแถลงข่าวทุกวันเช่นกัน และเปิดให้สื่อถามเพื่อชี้แจงข้อสงสัย แต่ปัญหาเริ่มต้นที่ตนมองเห็น คือรัฐไม่ได้ชัดเจนเรื่องข้อมูลแต่แรก ด้านหนึ่งรัฐอาจต้องป้องกันตนเอง แต่การไม่ให้สื่อเข้าไปทำข่าว สื่อก็ไม่สามารถตั้งคำถามได้ ทำได้เพียงสรุปข่าวเท่านั้นทั้งที่บางประเด็นฟังแล้วรู้สึกว่ายังไม่ชัดเจน ส่วนฝั่งสื่อเองก็รีบนำเสนอข่าวและต้องพาดหัวให้น่าสนใจ จึงเกิดปัญหาการนำเสนออย่างคลาดเคลื่อน
ทั้งนี้ หลังจากที่มีการระบาดระลอก 3 สื่อไม่ได้ถูกเชิญไปทำข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล หรือไปได้เฉพาะในวงจำกัด ทำให้สื่อต้องใช้บริการแหล่งข่าวที่เป็นแพทย์ ซึ่งแพทย์บางท่านก็ให้ข้อมูลได้ดี แต่บางท่านก็มีความเชื่อเจือปนมาด้วย ขณะเดียวกัน ทีมงานของ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยังถูกตั้งคำถามเรื่องกรณีการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีน 2 ยี่ห้อ โดยนำตัวเลขภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 2 ไปเทียบกับตัวเลขภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรก เรื่องนี้เป็นอีกสาเหตุทำให้คนไม่ค่อยเชื่อมั่น
“การไม่ชี้แจงชัดเจนถึงผลกระทบที่ได้รับเกี่ยวกับวัคซีน อย่างผมมีโรคประจำตัว แล้วการมีโรคประจำตัวมันส่งผลแน่นอนกับการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค แอสตราเซเนกา หรือไฟเซอร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ คำถามคือคนที่มีโรคประจำตัวที่เหมือนกันกับผม เขาจะสามารถหาข้อมูลได้จากไหนในเมื่อภาครัฐไม่มีข้อมูล ในเมื่อภาคประชาสังคมก็ให้แต่ Opinion (ความเห็น) ของหมอ ว่าคุณควรที่จะ 1-2-3-4 นู่นนี่นั่น ต้องปรึกษาหมอนะ ซึ่งสุดท้ายด้วยความที่คุณเชื่อว่าฉีดออกไปน่าจะได้ผล แต่ถ้าสมมติเขาฉีดไปแล้วมันมีปัญหาขึ้นมา ปัญหาอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นใน 30 นาทีแรก เขาควรจะทำอย่างไรต่อ อันนี้มันไม่มีข้อมูลจากภาครัฐออกมาเลย” นายกฤตนัน กล่าว
นายเจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “ยามเฝ้าจอ” ยกตัวอย่างสื่อบางสำนักที่นำเสนอข่าวทั้งแบบสื่อดั้งเดิมคือสถานีโทรทัศน์ และสื่อใหม่คือช่องทางออนไลน์ กรณีนี้น่าสนใจเพราะในขณะที่คนในองค์กรอาจมองว่าทีมข่าวโทรทัศน์กับทีมข่าวออนไลน์อยู่คนละส่วนกัน แต่สุดท้ายเมื่อนำเสนอในนามสำนักข่าวเดียวกัน สื่อจึงไม่อาจที่จะเลี่ยงการพิจารณาประเด็นนี้ไปได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นด้วยที่สังคมตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์สื่อ แต่ตนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐฟ้องร้อง ใช้กฎหมายปิดปากผู้นำเสนอข่าว หรือที่เรียกกันว่า SLAPP (Strategic lawsuit against public participation) ดังนั้นความน่าสนใจคือเราจะมีจุดยืนกันอย่างไรเมื่อสื่อผิดพลาดเพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เพราะต้องยอมรับว่าเวลานี้สื่อก็ตกเป็นผู้ร้ายของบางคนเช่นกัน บอกว่าไม่มีเลยยิ่งดี
แต่ถามว่าแล้วเราจะฟังแต่ภาครัฐ หรือให้ประชาชนสื่อสารกันเองจริงๆ หรือ เพราะภาคประชาชนก็ไม่ได้ทรัพยากรพร้อมทั้งกำลังคน เงินทุนและเครื่องมือเท่าองค์กรสำนักข่าว นอกจากนี้ ตนขอตั้งข้อสังเกตกับบทบาทของนักวิชาการบางท่านที่ไปทำงานร่วมกับ ศบค. แต่ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัววิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อโดยอ้างความเป็นนักวิชาการ ว่าจริงอยู่การมี 2 บทบาทสามารถทำได้ แต่ก็หลีกเลี่ยงคำถามที่ตามมาไม่ได้เช่นกันว่าตกลงแล้วท่านกำลังอยู่ในบทบาทใดกันแน่ เรื่องนี้ต้องระมัดระวัง
“เรื่องวัคซีน ผมมองอย่างใจกว้างนะว่าเขาไม่ได้ต่อต้านวัคซีน ผมว่าส่วนใหญ่อยากฉีดทั้งนั้น แต่สุดท้ายมันมาจากเรื่องปัญหาของการจัดการ ปัญหาของการจองที่ล่าช้า หรือประสิทธิภาพของวัคซีนที่ถูกถกเถียงกันเป็นวงกว้างจากการนำเสนอของสื่อก็ตามหรือจากการค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง มันทำให้ประชาชนก็ไม่แน่ใจว่าวัคซีนที่ตอนนี้มีอยู่แค่ 2 อนาคตมันอาจจะมีเพิ่มเข้ามา เขาจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาฉีดแล้วเขาจะไม่มีปัญหา อันนี้ก็เป็นประเด็นที่จะต้องรับฟังในเสียงของประชาชน มันหลีกเลี่ยงไม่ได้เหมือนกัน คืออย่างน้อยมันควรเปิดให้มีการถกเถียง อย่าไปมองว่าคนที่เขากลัวยี่ห้อนี้เป็นไม่อยากฉีดเลย ไปตีความแบบนี้ก็ไม่ใช่” นายเจนพสิษฐ์ กล่าว
น.ส.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องตรวจสอบ ในทางกลับกันยิ่งเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินยิ่งต้องตรวจสอบ เพราะสภาวะแบบนี้รัฐมีอำนาจมาก แต่ยิ่งมีอำนาจก็ต้องยิ่งมีความรับผิดชอบ และความรับผิดชอบก็มาจากการถูกตรวจสอบ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ตลอดปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีรายงานสื่อถูกฟ้องทางแพ่งบ้างอาญาบ้าง หรือถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา แต่ในสถานการณ์แบบนี้ หลายองค์กรพูดตรงกันว่าสื่อต้องมีอิสระในการนำเสนอข่าว
เช่นเดียวกัน ทั่วโลกก็พูดกันว่าจะทำอย่างไรให้คนเชื่อข้อมูลที่รัฐนำเสนอ เรื่องนี้ตนขอถามว่าการนำไม้เรียวหรือยาแรงไปจัดการสื่อ เช่น ใช้กฎหมายอาญา คำถามคือจะทำให้คนหันมาเชื่อรัฐบาลได้จริงหรือยิ่งทำให้คนระแวง เพราะจริงๆ สื่อก็ถูกตรวจสอบจากสังคมอยู่แล้วโดยเฉพาะยุคออนไลน์ในปัจจุบัน มีการใช้แรงกดดันจนสื่อสำนักที่ทำผิดพลาดต้องออกมาขอโทษ แต่การใช้ยาแรงยิ่งทำให้คนสงสัยว่าอยากปกปิดอะไรหรือไม่ แต่สื่อก็ไม่จำเป็นต้องไปตีรัฐอย่างเดียว แต่เป็นการไปชวนพูดคุย เพราะรัฐเองอาจยุ่งกับการควบคุมโรคจนไม่ได้คิดเรื่องการสื่อสาร
“พอผ่านไป 1 ปีมันเริ่มมีรายงาน มีงานวิจัยออกมาพูดเรื่องนี้เหมือนกัน มันก็มีข้อสังเกตว่าในหลายประเทศที่กระตุ้นให้คนปฏิบัติตัวถูกต้องในสภาวะโรคระบาดและมีทัศนคติที่ถูกต้องกับการฉีดวัคซีนได้ มันมักจะเป็นประเทศที่พรรคการเมืองต่างๆ หรือขั้วงการเมืองต่างๆ เห็นพ้องต้องกันว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ไม่ได้ถูกทำให้เป็นการเมือง ไมได้เอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพือ่ที่เราจะได้รอดไปด้วยกัน” น.ส.ฐิติรัตน์
น.ส.ฐิติรัตน์ ยังยกตัวอย่างกรณีบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่เกรงปัญหาวัคซีนกับการเมืองในสหรัฐฯ ทำให้แม้จะเป็นคู่แข่งเพื่อช่วงชิงตลาด แต่ประเด็นวัคซีนนี้ทุกบริษัทออกแถลงการณ์ร่วมกัน ระบุว่า จะไม่ทำให้วัคซีนกลายเป็นประเด็นทางการเมือง ท่าทีดังกล่าวยังเป็นการส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลและนักการเมืองว่าต้องทำให้เกิดฉันทามติเรื่องนี้ให้ได้ ประชาชนพร้อมแล้ว บริษัทผลิตวัคซีนก็พร้อมแล้ว สื่อก็พร้อมทำงาน ดังนั้นรัฐก็ต้องพร้อมที่จะหาทางไปร่วมกัน
นางกุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ที่ปรึกษาโคแฟค ประเทศไทย กล่าวว่า ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่มีความซับซ้อนและเป็นสถานการณ์ของทั่วทั้งโลกประกอบกับข้อมูลข่าวสารก็ไหลข้ามพรมแดน ทำให้นอกจากสื่อจะต้องรายงานข้อเท็จจริง รวมถึงตรวจสอบการทำงานของภาครัฐแล้ว ยังต้องตรวจสอบข่าวปลอมที่แทรกเข้ามาด้วย ส้วนกรณีของวัคซีนโควิด-19 เคยมีการสำรวจเมื่อปี 2563 แล้วพบว่า ไทยเป็นอันดับ 4 ของโลกด้านประเทศที่ประชากรพร้อมฉีดวัคซีน ในขณะที่ยังมีชาวโลกราว 1 พันล้านคนไม่อยากฉีดวัคซีน
แต่เมื่อดูลำดับเหตุการณ์ในประเทศไทย ก่อนหน้านี้แม้แต่ภาครัฐเองก็ไม่ได้เน้นย้ำความสำคัญเรื่องการฉีดวัคซีนเพราะยังไม่มีความพร้อมในการได้มาซึ่งวัคซีน กระทั่งช่วงปลายปี 2563 ซึ่งไทยเผชิญการระบาดระลอก 2 แต่บางประเทศเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเริ่มเห็นทั้งประสิทธิภาพและผลข้างเคียง สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นข่าวลือ-ข่าวลวง และเมื่อข่าวนั้นเดินทางมาถึงไทยก็ทำให้ผู้คนเริ่มลังเล ตามมาด้วยวัคซีนกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเพราะพรรคการเมืองไม่มีความเป็นปึกแผ่นในเรื่องนี้
ถึงกระนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการรวบอำนาจตามกฎหมาย 31 ฉบับมาไว้ที่ตนเองทั้งหมด ก็จะเริ่มเห็นว่ารัฐบาลใช้อำนาจมากขึ้น แต่เมื่อมีข้อมูลออกมาก็กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนจนเกิดปัญหาในการบริหารจัดการ และการพยายามเข้าไปควบคุมข้อมูลท้ายที่สุดย่อมต้องคัดง้างกับสื่อซึ่งก็ต้องรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุไว้ชัดเจนว่าสื่อต้องรายงานข่าวประสิทธิภาพวัคซีนอย่างชัดเจน ตั้งแต่ข้อมูลตัวเลขไปจนกระทั่งกระบวนการทดสอบหรือวิจัย และต้องรายงานวัคซีนทุกชริด ไม่ใช่เฉพาะชนิดที่กำลังเป็นประเด็นทางการเมือง เช่น กรณีของวัคซีนแอสตราเซเนกากับซิโนแวค แต่สื่อก็อาจมีข้อจำกัดทั้งด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนจำนวนมากท่ามกลางการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา ประกอบกับความไม่ชำนาญด้านความรู้เรื่องนี้ ซึ่งก็มีปัญหาแบบเดียวกันในสื่อทั่วโลก
แต่การที่รัฐเลือกใช้วิธีปิดกั้นข้อมูลกลับยิ่งทำให้ประชาชนสงสัยและไม่เชื่อมั่นในรัฐมากขึ้น เรื่องนี้มีผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่ผ่านมา ที่พบว่ายิ่งปิดกั้นข้อมูลคนก็ยิ่งคิดตลอดเวลาว่าทำไมต้องปิดกั้น ตามด้วยการค้นหาข้อมูลนั้นและมีแนวโน้มที่จะเชื่อ ทำให้การข้อมูลของรัฐที่มีคุณภาพมีตับเลขถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลงไป วิธีแก้คือรัฐควรขอความร่วมมือกับสื่อในการรายงานข่าวเรื่องนี้ โดยภาครัฐต้องให้ข้อมูลที่มีข้อเท็จจริงอ้างอิงจากหลักฐาน (Evidence Base) มากขึ้น
“มาถึงสื่อกันเอง Keyword (คำสำคัญ) คือ Collaboration (การทำงานร่วมกัน) ไม่ว่าคุณจะสีไหน อยู่สำนักไหน จะมีความเห็นแตกต่างหรือเป็นคู่แข่งกัน ตอนนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้อง Cross Check Information (ตรวจสอบซ้ำข้อมูล) คอยดูว่าแต่ละสื่อลงเรื่องนี้ลงตรงกันไหม ไม่ใช่แข่งเอาข้อมูลออกมาเร็วและข้อมูลผิดพลาดรวมถึงข้อมูลปลอมด้วย มันก็จะไหลเวียนกลับไปได้เร็วขึ้น การแข่งไมได้เป็นผลดีในการสร้าง Ecosystem (ระบบนิเวศ) ที่ดีกับข้อมูลข่าวสารในภาวะนี้เลย ” นางกุลชาดา กล่าว
ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา กล่าวว่า ตอนแรกๆ ที่โรคเริ่มระบาดความอลหม่านไม่มากเท่าตอนนี้ที่มีวัคซีน มาเถียงกันยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ ซึ่งสิ่งที่ทั้ง 3 ฝ่ายควรทำคือ 1.รัฐต้องสื่อสารให้ชัดเจนตรงไปตรงมา ใจกว้างในการอธิบาย ถ้าอธิบายได้ดีจะสร้างความเข้าใจด้านการประคับประคองสถานการณ์ระหว่างยอดผู้ติดเชื้อกับเศรษฐกิจ และมองว่าการที่รัฐจัดการสื่อด้วยการฟ้องร้องทางกฎหมายถือว่าทำพลาด รัฐควรใช้วิธีชี้แจงข้อเท็จจริง หรืออธิบายความต่างของข้อมูลเพราะไม่ได้มีแค่ชุดเดียว
2.สื่อต้องทำหน้าที่ สถานการณ์แบบนี้สังคมยิ่งต้องมีสื่อ แต่การทำหน้าที่ต้องรอบคอบ รวดเร็วได้แต่ต้องไม่ผิดพลาดจนก่อความเสียหาย สื่ออาจพลาดได้แต่ต้องรีบแก้ไข และ 3.สังคม พอรัฐและสื่อถูกตั้งคำถามว่าเชื่อถือได้แค่ไหน คำถามคือแล้วสังคมจะเชื่อใคร โควิดอาจใจร้าย แต่เรากลับไม่ร่วมมือกัน ไม่ช่วยกัน และทำให้ข้อมูลวัคซีนที่ควรจะเป็นทางออกกลับกลายเป็นการสื่อสารที่ถึงทางตัน เท่ากับเราแพ้โควิด แพ้เพราะอคติในใจ
“เรื่องนี้ถอดบทเรียนสั้นๆ ได้เลย มองย้อนไปตั้งแต่ระลอกแรกถึงระลอก 3 หรือระลอก 4 จะตามมา ทั้ง 3 ส่วนยังเล่นบทบาทไม่ค่อยดี และภายใต้บทบาทที่ไม่ค่อยดีมันก็มีผลให้เรารับผลร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าเป็นห่วง ฉะนั้นคิดว่า รัฐ-สื่อ-สังคม เป็นทางออกในเรื่องนี้ร่วมกัน” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว
อนึ่ง ในการเสวนาครั้งนี้ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ยกตัวอย่างประเทศอินโดนีเซีย สื่อมีความเห็นร่วมกันว่าการนำเสนอข่าวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 หากเป็นผลข้างเคียงระดับเล็กน้อยไม่รุนแรง สื่อก็จะนำเสนอเพียงเล็กน้อยไมพาดหัวข่าวใหญ่โตเช่นกัน
“บทเรียนจากอินโดนีเซีย เขาก็เป็นประเทศประชาธิปไตย เขาก็ยืนยันว่าเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบนโยบายรัฐบาลต้องมี แต่เขาก็มียุทธศาสตร์ร่วมกันว่าต้องพาชาติพ้นวิกฤติ เพราะฉะนั้นเขาจะเสนอในเชิงมีจุดยืนด้านวัคซีนในแง่ที่ว่าผลข้างเคียง ผลไม่พึงประสงค์ ถ้ามันเล็กน้อยเขาจะไม่ Highlight (เน้น) ไม่ทำให้ประชาชนกลัว เป็นต้น” น.ส.สุภิญญา กล่าว