ในยุคดิจิทัลสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะปรับตัวอย่างไร
รองศาสตราจารย์จุมพล รอดคำดี
การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลมีผลกระทบต่อสื่ออย่างมากมาย ทำให้การสื่อสารในสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการรับรู้ข่าวสารของมนุษย์อย่างคาดไม่ถึง รวมทั้งไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาจัดระเบียบโลกใหม่ ทำให้อัตราเร่งการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
หนังสือพิมพ์หลายฉบับต่างทยอยปิดตัวเองลง หรือลดจำนวนบุคคลากรลงอย่างน่าใจหาย แม้แต่ค่ายหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ก็ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางการแข่งขันกับสื่อใหม่ที่มีพื้นที่ (Platform) หลากหลาย การหลอมรวมสื่อเสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวและตัวอักษรเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ลักษณะของสื่อเปลี่ยนรูป (Transform) สามารถสร้างความสนใจได้มากกว่า และหนังสือพิมพ์เองก็ผันตัวเองไปอยู่บนสื่อออนไลน์ อันที่จริงแล้ว คนรับข่าวสารสามารถเลือกรับข่าวสารจากสื่อได้โดยไม่จำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ และยิ่งกว่านั้น คนรับข่าวสารสามารถสร้างสาร ส่งข่าวได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสื่อมวลชนอีกต่อไป โดยเฉพาะข่าวปัจจุบันทันด่วน การส่งข่าวผ่านสื่อออนไลน์สามารถทำได้เร็วกว่า และมีความถี่สูง
อย่างไรก็ดี ข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์โดยทั่วไป ไม่มีหลักประกันในเรื่องความถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน เหมือนกับการรายงานข่าวทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งมีสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ กำหนดมาตรฐานด้านจริยธรรมเป็นกรอบการทำงาน แต่การควบคุมเรื่องจริยธรรมการนำเสนอข้อเท็จจริงก็ยังเป็นได้ยาก เพราะคนรับข่าวสารในยุคนี้มีพฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารที่ต้องการความรวดเร็วและเนื้อหากระชับ สั้น ได้ใจความ กระจายออกไปเหมือนโรคระบาด เนื้อหาข่าวที่เน้นความเร็วจึงเกิดความคลาดเคลื่อน ผิดพลาดได้ง่าย บางคนจงใจสร้างข่าวปลอมให้เกิดความตระหนกไปทั่ว ก็ทำได้ง่ายและยากที่จะควบคุม ถึงจะมีกฎหมายควบคุมสื่อออนไลน์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับก็ตาม
สภาการหนังสือพิมพ์มีหน้าที่ที่สำคัญในเรื่องการควบคุมจริยธรรมการนำเสนอข่าว แต่โลกการสื่อสารถูกป่วน(disrupted)โดยเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้รับสารที่เปลี่ยนไปอย่างเกือบจะหน้ามือเป็นหลังมือ การกำกับดูแลด้านจริยธรรมจึงทำได้ยาก และที่สำคัญประชาชนบางกลุ่มที่ใช้สื่อออนไลน์ยังคิดว่าตนเองไม่ต้องรับผิดชอบต่อข่าวสารที่ส่งออกไปแต่อย่างใด เพราะเป็นเสรีภาพ คำถามก็คือ แล้วใครต้องรับผิดชอบกำกับดูแลได้บ้าง ปรากฏการณ์ที่เห็นในสื่อออนไลน์หลายครั้งคือ ดูเหมือนเป็นการควบคุมกันเองโดยไม่ต้องพึ่งสมาคมวิชาชีพ โดยผู้ที่เห็นว่า การเสนอข่าวสารของคนบางคนผิดจากข้อเท็จจริงที่เขารู้ เขาจะออกมาชี้แจงและตอบโต้ข่าวที่คลาดเคลื่อน แต่ก็มีคนบางคนส่งข่าวที่มีเจตนาใส่ร้ายบางคนบางกลุ่ม กลุ่มที่โดนใส่ร้ายก็จะออกมาตอบโต้ดุเด็ดเผ็ดร้อนไม่แพ้กัน ซึ่งผู้รับข่าวสารก็จะต้องตัดสินใจเอาเองว่าจะเชื่อฝ่ายใด
อย่างไรก็ดี หลายคนหันมาทางสภาฯ และสมาคมวิชาชีพ โดยเข้าใจเอาว่า จะเป็นที่พึ่งได้ และมีหน้าที่ดูแลสื่อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสื่ออะไร ออฟไลน์หรือออนไลน์ แต่โดยข้อเท็จจริงในบ้านเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า สภาฯ หรือสมาคมวิชาชีพไม่สามารถกำกับมาตรฐานจรรยาบรรณได้ครบถ้วน มันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนที่เป็นสมาชิกของสมาคมหรือสภาวิชาชีพนั้น ว่าจะเชื่อฟังและทำตามหลักการของสภาฯ และสมาคมหรือไม่ คนที่ไม่ใช่สมาชิกจึงไม่อยู่ในเกณฑ์เหล่านี้ ประการสำคัญ ประชาชนคนใช้สื่อในยุคนี้ ไม่ใช่สื่อมืออาชีพ เป็นเพียงสื่อสารกันเหมือนพูดคุยแลกเปลี่ยนสนทนากันเท่านั้นเอง
ในประเทศไทย สำนักสื่อต่าง ๆ เจ้าของเป็นทั้งเอกชนและหน่วยงานองค์กรของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายกำกับโดยเฉพาะ ความมีอิสระในการทำงานย่อมแตกต่างกันด้วย ถึงแม้ว่า พนักงานจะยึดมั่นในหลักความเป็นอิสระในการค้นหาความจริง และมีเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักวิชาชีพสื่อสักเพียงใด ก็ไม่สามารถทำผิดนโยบายขององค์กรได้ การมีสภาและสมาคมวิชาชีพก็ไม่สามารถไปบังคับให้สำนักสื่อที่อาจจะมีปัญหาการทำผิดจริยธรรมให้แก้ไขตามมติของสภาหรือสมาคมวิชาชีพที่ตนสังกัดได้ เมื่อไม่พอใจก็ลาออกจากการเป็นสมาชิก การกำกับดูแลกันเองจึงเป็นเรื่องตัวใครตัวมันมากกว่า
อย่างไรก็ตาม สื่อในยุคดิจิทัลบางสำนักคิด (School of Thought) จะไม่แบ่งสื่ออย่างสมัยก่อนเช่นหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์และนิตยสาร แต่แบ่งสื่อตามรหัสการสื่อสารคือ ภาพ เสียง ตัวอักษรและเนื้อหาที่เหมาะกับผู้รับที่มีลักษณะพฤติกรรมกลุ่มเฉพาะ(niche)ที่แตกต่างกัน และใช้พื้นที่ (platform) ที่เป็นช่องทางเข้าถึงข่าวสารต่างกัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าคิดว่า เราจะกำกับดูแลสื่อในยุคใหม่กันอย่างไร โดยเฉพาะสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะปรับตนเองหรือจะเปลี่ยนไปอย่างไร
ปัจจุบันนี้ สิ่งที่มองเห็นถึงความพยายามอย่างหนึ่งของการดูแลสื่อที่ยังคงความเป็นอิสระและเสรีภาพการเสนอข่าวสารคือ การพยายามออกกฎหมายที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระและเสรีภาพและกำกับจริยธรรมของคนประกอบอาชีพสื่อ ตลอดจนความพยายามรวมสภาและสมาคมวิชาชีพสื่อให้อยู่ในลักษณะสื่อยุคใหม่ ซึ่งดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ถ้าย้อนไปดูคนทำสื่อและเจ้าของสื่อที่ได้กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนรูปแบบต่างจากเดิมอย่างมาก และที่สำคัญคือ ตราบใดที่ผลประโยชน์การประกอบอาชีพสื่อไม่ได้เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้งอย่างแท้จริง
อ่านบทความอื่นในจดหมายเหตุ ฉบับเดือน ก.ค. – ก.ย. 2563
https://www.presscouncil.or.th/archives/5506