สื่อสังคมออนไลน์ภาวะอ่อนไหวกับการรายงานข่าวการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

สื่อสังคมออนไลน์ภาวะอ่อนไหวกับการรายงานข่าวการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

                                                                                                                                ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม

รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เช้าวันหนึ่งในห้องไลน์กลุ่มหนึ่งของผู้เขียน ได้มีการขึ้นข้อความข้างบนนี้จากเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มไลน์ พร้อมออกกฎกติกาการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในห้องไลน์ ด้วยเพราะอาการสำลักข่าวโควิด-19 ทุกวันและวันละหลายแชร์จากทั่วทุกสารทิศ

โดยเฉพาะหลายข่าวที่แชร์มา ไม่รู้ที่มาจากไหน อย่างไร ยิ่งสร้างความสับสน และถ้าใครจิตอ่อน มีภาวะเป็นคนตื่นตระหนกง่ายอยู่แล้ว ยิ่งเลยเทอดไปได้ง่ายๆ จนอาจเกิดอาการซึมเศร้า ยิ่งในห้องไลน์เป็นคนสูงวัยที่อยู่ภาวะอ่อนไหวไปกับทุกเรื่องราว

 

ตระหนักรู้แต่ไม่ตื่นตระหนก: บทบาทสื่อที่ควรเป็นกับโควิด-19

ภาวะความแตกตื่นอลหม่านกับการตามหาหน้ากากอนามัย แอลกฮฮล์ เจลแอลกฮฮล์ล้างมือ ฟ้าทะลายโจร รวมไปถึงการกว้านซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในซูปเปอร์มาร์เก็ตจนหมดของคนไทย ในช่วงเริ่มต้นที่เชื้อไวรัสโควิด เริ่มแพร่ระบาดในเมืองไทย ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าภาวะแตกตื่นดังกล่าว สื่อเป็นตัวเร่งจากการรายงานข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกมากกว่าสร้างความตระหนักรู้

ยิ่งพฤติกรรมการเสพข่าวปัจจุบันที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ ยิ่งช่วยแพร่กระจายข่าวภาวะความแตกตื่นอลหม่านกับโรคโควิดอย่างรวดเร็วที่แชร์ไปทุกช่องทางการสื่อสาร ด้วยการส่งต่อความห่วงใยถึงญาติผู้ใหญ่ พี่น้อง มวลมิตร

ยังไม่นับรวมข่าวปลอม ข่าวเท็จ ข่าวลวง ที่เข้ามาสวมรอยกับภาวะข้อมูลข่าวสารที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ที่เป็นเรื่องใหม่ของโลกใบนี้

ข่าวปลอม หรือ Fake News มีทุกวินาทีที่ไหลแพร่กระจายไปพร้อมกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บนสื่อสังคมออนไลน์ แต่เราทุกคนสามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายข่าวปลอมโควิด-19 ได้ด้วยการตั้งสติ (ย้ำตั้งสติลดอคติ) ด้วยการรู้เท่าทันข่าวสารที่ไหลมาสู่เรา ด้วยการอ่านแบบ SPOT คือ Source ตรวจสอบแหล่งที่มา Profit ข่าวนี้มีประโยชน์กับใคร Over ข่าวนี้นำเสนอเกินจริงหรือไม่ และ Time ข่าวนี้เป็นข่าวเก่าหรือไม่ เพราะกลยุทธ์ของ Fake News ทำหลายตลบจนเป็น Deep Fake (ตัดต่อ จนดูจริง)

และที่สำคัญคือ คนข่าว สำนักข่าว องค์กรข่าว ไม่เป็นแหล่งในการแพร่กระจายข่าวปลอม COVID-19 เพิ่มพลังความน่าเชื่อถือไปอีก เพราะคนรับสารเมื่อเช็คว่ามาจากสำนักข่าว ทำให้เขาเชื่อว่าคือข่าวจริง

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้ออกแนวปฏิบัติ เรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๖๒ ในหมวด 3  ข้อ 10 มีการระบุถึงแนวปฏิบัติในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ขององค์กรสื่อมวลชน ได้อย่างน่าสนใจ

“พึงจัดระบบ และวิเคราะห์เนื้อหาจากสื่อสังคมออนไลน์ อย่างรู้เท่าทันข้อมูล โดยตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับมาหลายแหล่งที่มา และหาต้นทางของข้อมูลให้เจอก่อนนำเสนอข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ พึงระวังในการตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอม (Fake News) และการตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มเคลื่อนไหวหรือข้อมูลที่หวังประโยชน์บางอย่างจากสังคม พึงนำเสนอมุมมองจากทุกฝ่ายในคราวเดียวกัน เพื่อให้ลดความเป็นอคติต่อการรับข้อมูล และเคารพสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง คำนึงถึงการไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สิทธิมนุษยชน ด้วยการเลือกใช้คำ ภาษา และรูปแบบการนำเสนอที่ไม่เป็น การเหมารวม เช่น การใช้คำเรียกที่ตัดสิน หรือเหมารวมเป็นกลุ่ม การใช้คำที่กระตุ้นความรู้สึกเกลียดชังขัดแย้ง (Hate Speech)”

พร้อมกับระบุที่มาของแนวปฏิบัติเรื่องนี้ว่า สื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และเว็บไซต์ข่าวสารต่าง ๆ ได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ทั้งในด้านการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร การนำเสนอ และการแสดงความคิดเห็น หรือการเผยแพร่การทำงานขององค์กรข่าว ซึ่งมีทั้งการใช้ประโยชน์ในระดับองค์กร ตัวบุคคล และผสมผสาน เป็นจำนวนมาก

ช้าสักนิด ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวให้แน่ชัด ว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่

กับคาถา  “สร้างความตระหนักรู้แต่ไม่สร้างความตื่นตระหนก: บทบาทสื่อที่ควรเป็นกับโควิด-19”

เพื่อป้องกันว่า…ท้ายสุดคนข่าวตกเป็นเหยื่อในการแพร่การกระจายข่าวปลอมแบบไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด19 ที่กำลังจู่โจมโลกไปกับการแพร่กระจายข่าวปลอมในโลกออนไลน์

 

cr. เว็บไซต์ Thaipbs