ข่าวลวง 4.0 ความท้าทาย “สื่อ”

ข่าวลวง 4.0 ความท้าทาย “สื่อ”

                                                            ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ

ที่ปรึกษาชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

ข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวลือ ข่าวปล่อย ข่าวเท็จ ข่าวจริง ข่าวมืออาชีพ ณ ห้วงเวลานี้ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยก ตั้งคำถามมากมายจากกลุ่มผู้รับสาร ผู้อ่าน ผู้เสพสื่อ บนโลกออนไลน์ หรือ คำบอกเล่าของผู้คนในวงสนนทนา ที่จะเข้าใจได้ว่า สิ่งที่ได้รับ สิ่งที่ได้อ่าน สิ่งที่ได้ยิน เรื่องราว ประเด็นสนทนา เนื้อหาข้อความ ภาพ คลิปเสียง คลิปวิดีโอ เนื้อหาอันไหนคือของจริง ของปลอม ที่นับวันทุกอย่างเริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขื้น

เนื้อหาที่ถูกผลิต สร้างขึ้น กระทำโดยบุคคลที่เป็นผู้ทำหน้าที่สื่อ หรือสร้างโดยบุคคลสาธารณะ ผู้มีชื่อเสียง ตัวแทนกลุ่มสังคม ไปจนถึงบุคคลเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถสร้างเนื้อหาจากโปรแกรมประยุกต์ ทำการประมวลผลข้อมูล วิเคราะห์ ตัดสินใจจากระบบตัวเอง สื่อสารเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นเสียง ภาพ การเคลื่อนไหวแทนมนุษย์ได้ ที่เรียกกันว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ไปจนถึงการสร้างตัวตนเสมือนจริงสื่อสารแทนมนุษย์ได้ ด้วย AI สร้างคลิปปลอม (Deep fake) เป็นบุคคลมีชื่อเสียง นักการเมือง นักธุรกิจ ให้ผู้คนในสังคมเข้าใจสับสน หลงเชื่อว่าเป็นบุคคลนั้นได้กล่าวจริง พูดจริง

ประเด็นข่าวสาร เนื้อหาเผยแพร่บนสื่อออนไลน์ ในวันนี้หากผู้รับ ไม่สามารถรู้เท่าทัน ไม่สามารถจำแนก แยกวิเคราะห์ได้ อาจจะพลาดเผลอเข้าร่วมวงส่งต่อ กระจายเนื้อหาไปยังผู้อื่นในเครือข่ายสังคมโดยมิรู้ทันเกม กลายเป็นเครื่องมือ ฟันเฟืองสนับสนุนกงล้อข่าวลวง ข่าวปลอม จนส่งผลเสียต่อผู้รับ กัดกร่อนองค์ความรู้ ทัศนคติผู้คนในสังคม เกิดความสับสน หลงทาง แยกกลุ่มแตกความคิด ไปจนถึงผลเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน

เฟกนิวส์ ข่าวลวง ข่าวปลอม สื่อมวลชน ถึงเวลาแล้วควรที่จะต้องทำความเข้าใจ และจำแนกให้เท่าทันต่อเกมสงครามข่าวสาร สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้นำมาเผยแพร่ให้ความรู้กับ 7 ประเภทข่าวปลอม ได้แก่ 1. Satire or Parody เนื้อหา เสียดสี หรือ ตลกขบขัน 2. False connection โยงมั่ว สับสน จับคู่ผิด 3. Misleading ทำให้เข้าใจผิด 4. False Context ผิดที่ผิดทาง ให้เท็จ 5. Impostor มโนที่มา สร้าง กุ เรื่อง หรือ ประเด็น 6. Manipulated ปลอม ตัดต่อ สร้างความเสมือนจริง เหตุการณ์จริง 7. Fabricated มโนทุกอย่าง สร้างเรื่อง สร้างประเด็นเหมือนจะเกิดจริง เคยเกิดขึ้นแล้ว

สำหรับผู้คิดค้น ผู้สร้าง จะมาจาก คน 4 จำพวก ได้แก่ 1. กลุ่มเกรียนหรือนักเลงคีย์บอร์ด ชอบโพสต์ข้อความสร้างกระแสเพื่อความสนุกส่วนตัว 2. กลุ่มหวังเงินค่าโฆษณา โพสต์สร้างกระแสหวังยอด Follow (ติดตาม) 3. กลุ่มสร้างความเกลียดชัง จะโพสต์ข้อความ หรือ Hate speech ดูหมิ่น ยุยง ปลุกปั่น ให้ผู้คนแตกแยก สับสน 4. กลุ่มหลอกลวง สร้างข้อมูลเท็จหลอกขายสินค้า หรือ ฉ้อโกง เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรม และ ทัศนคติ แล้ว แต่ละกลุ่มนั้นต่างมีจุดแตกต่างในเชิงบริบท และเป้าหมาย ที่มุ่งหวัง จากการสร้างข่าวปลอมขึ้นมา

การพิสูจน์ เนื้อหาข่าวปลอม สื่อมวลชน กองบรรณาธิการ และผู้บริหารองค์กรสื่อ จำเป็นต้องทำความเข้าใจ ในการจัดทำระบบและแนวทางในการบริหารจัดการ ในการผลิตข่าว หรือ นำข่าว ปลอม นั้น มาทำให้เป็นข่าวจริง ให้ผู้คน ได้รับรู้ ว่า เรื่องไหน จริง เรื่องไหน ปลอม เรื่องไหน มีผู้เจตนา ซึ่งเป็นอีกบทบาทการทำหน้าที่ของผู้รักษาประตูแห่งข่าวสาร

วิธีการตรวจสอบ ข่าวปลอม ทำได้ไม่ยาก ไม่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด เพียงแค่ปรับทักษะการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ การใช้ไอที มาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานข่าวให้มากขึ้น ทั้งในระดับบุคคล งานกองบรรณาธิการ ฝ่ายไอที ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ ปรับตัว ให้สามารถเชื่อมต่อ เข้าถึง ตรวจสอบ ทำงานสื่อสารทำความเข้าใจร่วมกันได้  ตั้งแต่ระบบการจัดเก็บข้อมูล การเรียนรู้ระบบสืบค้นออนไลน์ การเชื่อมโยงระบบข้อมูลระหว่างหน่วยงานสื่อ รัฐ เพื่อสนับสนุนต่อกระบวนการตรวจข้อเท็จจริงเนื้อหา ข่าวสาร  ที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ในทุกแพลตฟอร์ม

วันนี้ผู้รับสาร ผู้เสพสื่อ ต่างต้องการรับรู้ ข่าวจริง หรือข่าวสารเชิงประจักษ์พิสูจน์ อยากเห็นความเป็นมืออาชีพในกระบวนการรายงานข่าวของสื่อไทยที่ทันเกมต่อสงครามข่าวสาร ยุคสื่อออนไลน์ สื่อใหม่ผลิบาน สื่อมวลชน คนหนังสือพิมพ์ ให้ความสำคัญกับทักษะในกระบวนการสื่อข่าว และรายงานข่าว ไปจนถึงการสร้างสรรค์เนื้อหาข่าว ที่เกิดคุณค่า แก่ผู้อ่านได้ทุกมิติรับ ได้เลือกรับเนื้อหาที่ควรแก่การนำไปบอกเล่า เผยแพร่สู่สาธารณะให้ผู้คนได้ตื่นรู้ ตื่นตัว กับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น หรือ ในอนาคตที่กำลังจะมาถึง ได้มากที่สุด

(เนื้อหาจาก จดหมายเหตุ ฉบับเดือน ต.ค. – ธ.ค. 2562)