ปิดโครงการ “จับจ้องจริยธรรมสื่อมวลชน”
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกาศผลการศึกษาในโครงการเฝ้าระวังจับจ้องจริยธรรมสื่อ ที่ทำร่วมกับนักศึกษา 6 มหาวิทยาลัย เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังจริยธรรมสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ ของสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีการนำเสนอผลงาน และปิดโครงการ “จับจ้องส่องจริยธรรมสื่อ” ขึ้นที่โรงแรม เดอะ รอยัลริเวอร์ โดยได้รับเกียรติจากนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน
นายวสันต์ กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์ของโครงการนี้จะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือ เกียรติและศักดิ์ศรีของวิชาชีพทางด้านสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับพิมพ์ และฉบับออนไลน์ ทั้งในด้านคุณภาพของเนื้อหา และจริยธรรมในการนำเสนอ
ในส่วนของสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนทางด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนที่เข้าร่วมโครงการ ก็จะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ การปฏิบัติหน้าที่ของนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรมจรรยาบรรณในหลากหลายแง่มุม และฝึกฝนการตัดสินใจเชิงจริยธรรมในสถานการณ์หรือเหตุการณ์จริง จากนั้นก็นำประสบการณ์ที่ได้มาออกแบบวิธีการจับจ้องส่องจริยธรรมสื่ออย่างมีระบบมีหลักการ เพื่อติดตาม ตรวจสอบ ผลการปฏิบัติหน้าที่ของนักสื่อสารมวลชนต่อไป
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นโครงการปีที่ 2 ซึ่งต่อเนื่องจากครั้งแรกที่ได้ข้อมูลประเด็นปัญหาจริยธรรมที่น่าสนใจ แต่ความตั้งใจยังเช่นเดิม คือ เพื่อส่งเสริมให้มีการกระตุ้นเตือนสื่อ ว่ามีการจับจ้องเฝ้าระวัง เฝ้ามองสื่อในเรื่องจริยธรรม ในมุมมองของผู้อ่าน ซึ่งทำให้คนสื่อต้องตระหนักในความสำคัญของวิชาชีพตนเอง บนหลักการที่เชื่อว่าสังคมตรวจสอบสื่อมวลชน และสื่อตรวจสอบกันเองจะเป็นทางรอดของสื่อในยุคที่สื่อมวลชนกำลังถูกตั้งคำถามเรื่องจริยธรรม และการยกระดับความรับผิดชอบสู่สังคมที่มากขึ้นเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า การกำกับกันเองโดยสังคมนั้นเป็นเรื่องที่ดีกว่าการถูกกำกับโดยรัฐ
“ประโยชน์ของโครงการนี้ คือ การเชิญชวนให้นิสิตนักศึกษา และ คณาจารย์จากหลากหลายสาขา มาร่วมกันใช้เครื่องมือทางจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ มาจับจ้องจริยธรรมจริงในฐานะผู้อ่าน และผลที่ได้จากการนำเสนอผลงาน ในครั้งนี้ จะช่วยให้คณาจารย์ นิสิตนักศึกษาสามารถติดตาม ตรวจสอบ การทำงานของสื่ออย่างมีระบบ น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และเป็นการพัฒนาความรู้เท่าทันสื่อให้กับนักศึกษาอีกทางหนึ่ง ในส่วนของนักวิชาชีพ ก็ควรนำผลการจับจ้องส่องจริยธรรมสื่อที่ได้ไปปรับใช้กับการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบจริยธรรม เพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือให้กับวงการสื่อ”
อย่างไรก็ตามหลังสิ้นสุด การนำเสนอผลงาน “การจับจ้องส่องจริยธรรมสื่อ” ของ 6 สถาบันการศึกษา ได้แก่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะกรรมการก็สรุปความเห็นตรงกันว่า ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดได้รางวัลชนะเลิศไปได้ในปีนี้ เพราะคุณภาพของผลงานยังอาจมีบางประเด็นที่ทำให้ไม่สมบูรณ์ เช่น การคัดเลือกหนังสือพิมพ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน การใช้วินิจฉัย การตีความข้อบังคับ และการคำนวณแปรผลข้อมูลในตอนท้าย อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ดีคือ ได้เห็นประเด็นปัญหาใหม่ๆ ในเชิงจริยธรรมที่หนังสือพิมพ์วันนี้เริ่มเผชิญ เช่น การใช้ภาษา การเขียนข่าวที่หวือหวา ล่อหลอกให้คนเข้าไปอ่านแบบคลิ๊กเบท (clickbait) หรือ บทความเชิงโฆษณา ที่เป็นบทความแฝงโฆษณา หรือ “native ad” และแบรนด์คอนเท้นท์ ที่มีมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้อ่านไม่ทราบว่าเป็นข่าวหรือโฆษณากันแน่
ด้านนายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลงานของน้องๆ นักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบ 6 ทีมถือว่า มีความน่าสนใจมาก สะท้อนว่านักศึกษามองประเด็นปัญหาเรื่องจริยธรรมในสื่อมวลชนที่แตกต่างออกไปจากคนสื่อ มีหลายกลุ่มที่คิดถึงประเด็นปัญหาจริยธรรมใหม่ๆ ที่ข้อบังคับของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ไม่ได้เขียนเอาไว้ เช่น การสื่อสารความเกลียดชัง การกลั่นแกล้งทำให้ถูกเกลียดชัง กระทั่งรูปแบบโฆษณาที่เริ่มแยกไม่ออกจากข่าว ที่นำไปสู่การสร้างความสับสนให้ผู้อ่าน นำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องความอิสระของกองบรรณาธิการว่าจะแสวงหาความสมดุลอย่างไรระหว่างข่าวกับโฆษณาที่เป็นธรรมสำหรับผู้อ่าน
“คิดว่าคณะทำงานจะสกัดเอาผลการจับจ้องเฝ้าระวังจริยธรรมนี้ ไปเป็นกรณีศึกษา และส่งเข้ากรรมการจริยธรรมและอนุกรรมการฝ่ายวิชาการของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เพื่อเรียนรู้ พัฒนากรอบ หรือระเบียบข้อบังคับจริยธรรมให้มีความทันสมัยต่อไป สอดคล้องกับบริบททางสังคมและเทคโนโลยีของผู้อ่านที่เริ่มมองจริยธรรมในมุมที่กว้างออกไป”
สำหรับผลการประกวด กรรมการพิจารณาว่า ไม่มีทีมใดได้รับรางวัลชนะเลิศไป กรรมการเลยพิจารณาให้ 3 ทีมได้รับรางวัลที่สาม และได้รับเงินรางวัล ไปทีมละ 20,000 บาท ได้แก่ ทีมมหาวิทยาลัยรังสิต ในหัวข้อ “การจับจ้องส่องจริยธรรมสื่อหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจฉบับพิมพ์” , ทีมมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในหัวข้อ “จริยธรรมในการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคเหนือและภาคอีสาน” และ ทีมมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในหัวข้อ “จับจ้องส่องจริยธรรมหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้”
และรางวัลชมเชย 3 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท ได้แก่ ทีมสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในหัวข้อ “การเฝ้าระวังและตรวจสอบการละเมิดจริยธรรมทางด้านภาษาที่ใช้ในข่าวบันเทิงของสื่อหนังสือพิมพ์” , ทีมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในหัวข้อ “การละเมิดจริยธรรมในข่าวศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม สื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์” และทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในหัวข้อ “จับจ้องจริยธรรมการนำเสนอข่าวบันเทิงสื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์