เวทีเสวนาถามหาความชัดเจนจัดการคลื่น 700 MHz. บีบ-ย้าย-คืน เสนอแยกประมูล 5G กับการเยียวยาทีวีดิจิตัล

เวทีเสวนาถามหาความชัดเจนจัดการคลื่น 700 MHz. บีบ-ย้าย-คืน เสนอแยกประมูล 5G กับการเยียวยาทีวีดิจิตัล


เวทีทักท้วงขอให้ กสทช.ทำแผนแม่บท 5G ให้ชัดเจนก่อนเปิดประมูลคลื่น 700 MHz. โดยไม่ควรอยู่ในช่วงกสทช.รักษาการ พร้อมเสนอแยกเรื่องการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิตัล เลขา กสทช.ยันยังมีเวลาพิจารณาเพราะอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น

สำนักงาน กสทช. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเสวนา “NBTC Public Forum : ย้ายคลื่น 700 MHz. ใครได้ใครเสีย และมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค” โดยมีตัวแทนจากภาควิชาการ ผู้ประกอบการสื่อโทรทัศน์ ภาคประชาชน ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สำนักงาน กสทช.

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ตั้งข้อสังเกตถึงการที่ กสทช.เร่งรัดจะนำคลื่นความถี่ ย่าน 700 MHz. มาประมูลเพื่อนำเงินจากการประมูลไปเยียวยาความเสียหายของผู้ประกอบการทีวีดิจิตัล เนื่องจากแผนแม่บทการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ยังไม่ชัดเจน หากต้องการประมูลคลื่นดังกล่าวจริงควรต้องใช้เวลามากกว่านี้เพื่อเตรียมความพร้อมของทุกฝ่าย และควรแยกการประมูลคลื่นทำ 5G ออกจากการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิตัล

“ถ้าจะประมูลคลื่นตอนนี้ถือว่าเร็วเกินไป กสทช.ควรทำแผน Road Map ให้ครบว่าจะมีแผนเรื่อง 5G อย่างไร ไม่ควรทำเป็นส่วนๆ หากจะเอาคลื่น 700 ไปทำ 5G ควรมีแผนโยกย้ายชัดเจน และเปิดช่องผู้ประกอบการเดิมที่ไม่อยากทำต่อออกจากพื้นที่การทำธุรกิจได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าปรับ แต่จะไม่ได้รับเงินชดเชย ขั้นตอนนี้อย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี เมื่อเตรียมความพร้อมทุกส่วนแล้วจึงจะเหมาะสมสำหรับการเปิดประมูล ผมเห็นว่าควรต้องแยกสองเรื่องนี้คือการประมูลคลื่นทำ 5G กับการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิตัล ออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่ควรรวมกัน และเปิดโอกาสให้ทีวีดิจิทัลที่ทำไม่ไหวแล้วสามารถออกจากตลาดได้โดยไม่เสียค่าปรับ”

ประธานทีดีอาร์ไอ ยังเรียกร้องให้กสทช. ทำหน้าที่ผู้กำกับดูแล (Regulator) ที่ดี ไม่ทำนอกเหนือความรับผิดชอบเพราะปัจจุบันยังมีหลายภารกิจที่ควรดำเนินการแต่ยังไม่แล้วเสร็จ อาทิ การทำโครงสร้างพื้นฐานให้ใช้ร่วมกันได้ โดยกสทช.กำหนดเกณฑ์การใช้งานที่เหมาะสม

“กสทช.ต้องไม่ทำตัวเป็นนายธนาคาร นำเงินกองทุนไปปล่อยกู้ หรือเป็นผู้ถือหุ้นผู้ประกอบการ กสทช.ไม่ควรชงให้ คสช.อุ้มผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 4G คสช.ควรยกเลิกมาตรา 44 ยืดอายุกรรมการ กสทช.ชุดรักษาการนี้ได้แล้ว เนื่องจากดำรงตำแหน่งมาเกินกว่าระยะเวลากำหนดนานแล้ว หากไม่เลิกใช้ม.44 เรื่องนี้จะเป็นตราบาปและเป็นมลทินกับคสช.อย่างยิ่ง”

ที่ประชุมเห็นในทิศทางเดียวกันว่าต้องการให้ กสทช.ทำให้เกิดความชัดเจนในแผนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz.และแผนพัฒนา 5G มีการศึกษาความเป็นไปได้และความต้องการใช้อย่างครบถ้วนรอบด้าน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. กล่าวย้ำ

“หาก กสทช.เดินหน้าจะทำควรต้องมีการวางแผนที่ชัดเจน ข้อเท็จจริงต้องนิ่งก่อนว่าเป็นการคืนคลื่นเดิมแล้วไม่ทำทีวีต่ออีก หรือเป็นการย้ายไปใช้คลื่นใหม่เพื่อเอาคลื่นเดิมไปใช้ประมูลห้าจี หรือว่าเป็นการบีบคลื่นลงเพื่อนำส่วนต่างที่ว่างอยู่ไปประมูล 5G  ต้องทำให้ข้อเท็จจริงเรื่องนี้นิ่งก่อน จึงจะสรุปได้ว่าใครได้ใครเสียและกระทบผู้บริโภคระดับใดบ้าง ขอให้ กสทช.เปิดเผยเรื่องนี้ให้โปร่งใส และให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการวางแผนนี้ด้วย”

          ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขา กสทช.กล่าวว่าเรื่องนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นว่าควรจะรวมหรือแยก 2 เรื่องนี้ออกจากกัน โดยกำหนดจะเปิดรับฟังในวันที่ 22 ก.พ.นี้

“การประมูลคลื่นนี้เป็นการเอาไปทำเทคโนโลยีแบบ neutral แต่คนพูดกันไปเองว่าเอาไปทำ 5G ตอนนี้คลื่นที่ทำทีวีดิจิตัล อยู่ระหว่าง 510-790 MHz ซึ่งรองรับทีวีได้ 48 ช่องแต่ขณะนี้ใช้งานอยู่ 26-27 ช่อง แผนคือจะบีบเหลือในช่องระหว่าง 510-694 MHz เหลือ 96 MHz ที่จะเอาไปประมูลได้ ซึ่งเป็นคลื่นที่เตรียมจัดสรรให้ทีวีชุมชนแต่ยังไม่ดำเนินการ ส่วนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วยทั้งผู้ใช้คลื่นฯ ผู้ให้บริการโครงข่ายและผู้บริโภค กสทช.ก็ต้องพิจารณาตามข้อกฎหมายต่อไป ส่วนคลื่นของทีวีชุมชนที่จะนำไปใช้ประมูลก็จะเตรียมคลื่น 470 MHz เอาไว้รองรับในอนาคต”

          ด้าน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรียกร้องให้ กสทช.เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายรวมทั้งภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการให้ความเห็นเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านรอบนี้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และหากกสทช.ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการจริงๆควรเอาเงินกองทุนฯ สี่หมื่นล้าน มาสร้างเนื้อหาที่ดีแก่ประชาชนมากกว่า

“กสทช.ควรให้ความสำคัญกับทีวีชุมชนมากกว่านี้ เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่ตกหล่นไป นอกเหนือจากมิติสิทธิแล้วพวกเขาก็มีศักยภาพที่ไม่ควรถูกละเลย ผู้ประกอบการเลือกตัดสินใจเองในการลงทุนทางธุรกิจ ยามได้กำไรก็จะไม่เป็นไรแต่หากขาดทุนแล้วรัฐต้องไปช่วยเหลือ ถามว่าหากรัฐขาดรายได้จากการประมูล ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ”

          ส่วน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ย้ำให้ กสทช.สร้างความชัดเจนในเรื่องนี้ เชื่อว่าผู้บริโภคไม่ขัดข้องหากจะมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตัลแต่ต้องมีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร จะคืนคลื่นอย่างไร ใครคืนบ้าง จำเป็นต้องย้ายคลื่นอย่างไร หากต้องการทำเทคโนโลยี 5G ผู้บริโภคจะได้รับบริการที่ดีกว่าเดิมยังไง ราคาถูกลงอย่างไร

“กสทช.ควรต้องทำให้ชัดว่า หากจะพัฒนา 5G ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง  ทำอย่างไรให้ไม่เกิดการผูกขาดในธุรกิจ 5G และกสทช.ควรต้องมีมาตรการกำกับดูแลคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม”

  

นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ กรรมการสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิตัล ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการย้ายคลื่น 700 MHz จึงเกิดคำถามเรื่องการทำหน้าที่ของ Regulator หลังการเกิดของ Facebook Google จนทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิตัลอย่างมาก แต่พวกเราไม่มีแผนรองรับ จึงเป็นความผิดพลาด ต่อมาในการแจกกล่องดิจิตัล แทนที่จะได้รับกล่องที่ดีมีคุณภาพ ก็กลับได้กล่องราคา 690 บาท

อย่างไรก็ตาม อยากให้ตั้งหลักด้วยการมองในเชิงบวกเพื่อหาทางออกแก้ปัญหาร่วมกัน ตอนนี้ต้นทุนทุกช่องมีค่าใบอนุญาตชั่วโมงละประมาณ 2 หมื่นบาท ค่าโครงข่ายภาคพื้นดิน (MUX อีก 6 พันกว่าบาท รวมประมาณ 3 หมื่นบาท เป็นภาระร่วมกันอยู่ ซึ่งคิดจากเวลาการออกอากาศ 18 ชั่วโมง

การ Disrupt มีอัตราเร่ง เทคโนโลยีทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นเป็นตัวคูณ ข้อเท็จจริงของการดำเนินโครงการ 5G เป็นอย่างไร กสทช.ต้องอธิบายให้ชัดเจน จะทำอย่างไรกับ OTT/ผู้ประกอบการ 5G เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมบริการให้การแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างไร ซึ่งเราควรพัฒนาในทิศทางนี้ ไม่ใช่การตั้งข้อสังเกตแล้วบล็อค

จะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมทีวีอยู่รอดได้ในระยะยาว คนทำโทรทัศน์อยู่ไม่ได้ เมื่อปัญหาเกิดขอให้แก้อย่างใดอย่างหนึ่ง อยากขอความเห็นใจ ผู้ประกอบการโทรทัศน์ยอมรับว่าต้องเปลี่ยน ถ้าผู้กำกับไม่เปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนเอง อยากให้มีความชัดเจนอย่างรวดเร็ว เพื่อผู้ประกอบการจะได้ตัดสินใจแผนทางธุรกิจ

นายฉัตรชัย ย้ำว่าเห็นด้วยกับการมี 5G ส่วนจะให้ทีวีดิจิตัลใช้คลื่นอะไรก็ขอทำให้ชัด แต่ไม่เข้าใจว่าการทำแผนแม่บทโดยเอาคลื่น 700 MHz ที่เหมาะกับการทำ 5G มาประมูลคลื่นทีวีดิจิตัลทำไม

ด้าน นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการจัดเวทีโดย กสทช. เป็นโอกาสดีที่จัดเสวนาในวันนี้ ว่าจริงๆก็ไม่ได้เป็นการย้ายคลื่นตามชื่อการเสวนา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างฝ่ายต่างๆทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นและข้อมูลทุกฝ่ายก็จะนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจวางกรอบการกำหนดนโยบาย ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป และยังอยู่ในการส่งเรื่องให้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายช่วยดู และ ยังมีประเด็นยากขึ้นไปอีกเพราะมีนักกฎหมายพูดถึงรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้รัฐให้ทุนสนับสนุนสื่อด้วย ต้องพิจารณากันอีกที