เสวนา “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” ปลดล็อกคำสั่ง 0.4 เดินหน้าเสรีภาพประชาชน

ในเวทีเสวนา  “ปลดคำสั่ง 0.4 เดินหน้าเสรีภาพประชาชน”  ซึ่งจัดขึ้น เนื่องในวันที่ 3 พฤษภาคม “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  โดยมีผู้ร่วมเสวนา นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  นายก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  และ นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความและหัวหน้าฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  โดยมี นายมานพ ทิพย์โอสถ ที่ปรึกษาฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีคำสั่ง คสช. ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกี่ยวกับการควบคุมการทำงานของสื่อ ซึ่งองค์กรสื่อมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้มีการปลดล็อกคำสั่งเหล่านั้น

นางสาวพูนสุข กล่าวว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ก่อตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2 วัน เพราะเห็นว่าหลังรัฐประหารมีการควบคุมตัวบุคคลที่ออกมาชุมนุมคัดค้านการรัฐประหาร และเรียกบุคคลไปรายงานตัวอย่างต่อเนื่อง กลุ่มนักกฎหมายกลุ่มเล็กๆ จึงรวมตัวกัน เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งพบว่าในช่วงระยะเวลาที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือการที่มีพลเรือนจำนวนมากต้องขึ้นศาลทหาร โดยไม่รู้ว่าจะได้รับความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน

หากย้อนมองกลับไป ในช่วงระยะเวลา 4 ปี สถานการณ์ที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน เช่น วาทกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พูดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558  หลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า “อำนาจของท่านมี อำนาจในการสั่งปิดสื่อทั้งหมด หรือแม้แต่นำคนมายิงเป้า แต่ท่านไม่ทำ” ซึ่งแม้จะเป็นคำพูดที่ดูไม่จริงจัง แต่สำหรับคนทำงานด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน เรารู้สึกว่าถ้อยคำแบบนี้ เป็นถ้อยคำที่รุนแรง จนแม้แต่ UN ยังออกแถลงการณ์ถึงถ้อยคำของผู้นำในครั้งนั้นด้วยซ้ำ  แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า กลับไม่มีองค์กรสื่อในประเทศไทยที่จะออกมาพูดถึงเรื่องนี้เลย ว่าคัดค้านหรือไม่ควรทำ จึงเป็นข้อสังเกตว่าสถานการณ์ ทำให้สื่อไม่สามารถแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ แม้กระทั่งการถูกข่มขู่ในลักษณะนี้

ภาพรวมหลังรัฐประหาร  มีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ 20 พฤษภาคม 2557  ถึง 1 เมษายน 2558  หลังจากนั้นแทนที่ด้วยคำสั่ง หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ซึ่งยังมีบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน  ทำให้ทหารมีอำนาจในการควบคุมตัวบุคคล ที่กระทำความผิดฐาน 4 ฐานความผิด คือเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช หรือ ความผิดเกี่ยวกับอาวุธที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้  ซึ่งคำสั่งนี้ทำให้พลเรือนสามารถขึ้นศาลทหารได้ เป็นสถานการณ์ที่คนในช่วงอายุ 20-30 ปี จะไม่เคยเจอมาก่อน ว่ามีการประกาศให้พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารได้ด้วย

ซึ่งปัญหาของการดำเนินคดีในศาลทหาร คือ 1. ในเชิงโครงสร้าง ศาลทหารสังกัด กระทรวงกลาโหม ก็จะขาดความอิสระและเป็นกลาง  2.ช่วงประกาศกฎอัยการศึก เป็นช่วงเวลายาวนานหลายเดือน ทำให้คดีที่เกิดในช่วงนั้น ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ คดีถูกพิจารณาชั้นเดียวแล้วจบเลย  และ 3. องค์คณะในศาลทหารไม่ได้มีการบังคับว่าต้องจบกฎหมายทั้งหมด คือให้จบการศึกษากฎหมาย 1 คน และอีกสองคนเป็นทหารอาชีพ

“อันนี้เป็นปัญหาที่พบในเชิงโครงสร้าง ปัจจุบันมีคนอย่างน้อย 2,000 กว่าคน ที่ถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร แม้จะมีการยกเลิกไปแล้ว แต่คดีที่เกิดในช่วงที่ประกาศใช้ศาลทหาร ก็ยังถูกดำเนินคดีในศาลทหารอยู่  ผลกระทบไม่ใช่แค่บุคคลที่เป็นเป้าหมายทางการเมือง ของ คสช. เท่านั้น ที่มีปัญหาเรื่องสิทธิในการพิจารณาคดีไม่เป็นธรรม  แต่แม้กระทั่งทหารเอง ที่ขึ้นศาลทหารอยู่แล้ว  พอมีการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ถูกพิจารณาคดีชั้นเดียว เพราะคำพิพากษาไม่ถูกพิจารณาโดยศาลที่สูงขึ้นไป ทำให้ทหารไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วยเช่นกัน จากการประกาศใช้กฎอัยการศึก

อำนาจที่สำคัญอีกอย่างและยังคงมีการใช้จนถึงทุกวันนี้ คือการควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน และห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป ซึ่งล่าสุดออกเป็นคำสั่งที่ 3/2558  ไม่มีการให้นิยามที่ชัดเจน เมื่อนำมาบังคับใช้เจ้าหน้าที่ทหารก็บังคับใช้อย่างกว้างขวาง องค์กรที่จะมาตรวจสอบว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่คือศาล แต่คำสั่งที่ 3/2558 ถูกออกโดยมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญจึงยังเป็นปัญหาในการบังคับใช้จนถึงทุกวันนี้ รวมถึงการเรียกรายงานตัวและปรับทัศนคติก็ยังคงเป็นเทรนด์จนถึงทุกวันนี้

หัวหน้าฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สถานการณ์ที่กระทบสิทธิและเสรีภาพ ที่เกิดขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับสื่อโดยตรง  คือ กรณี นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ถูกคุมตัวไปในค่ายทหาร อย่างน้อย 2 ครั้ง ปัจจุบันก็ยังถูกดำเนินคดี แม้จะยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้ว โดยเป็นผู้ต้องหาในมาตรา 116  จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ซึ่ง 1 ใน 5 ข้อความพูดถึงการทำหน้าที่สื่อมวลชนตรวจสอบทุจริตการรับจำนำข้าว สะท้อนให้เห็นว่ามีการใช้กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน และสิทธิในการแสดงออก

มีประกาศคำสั่งหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการที่ คสช. ออกมาควบคุมสื่อ สื่อเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ หลังรัฐประหารก็มีการห้ามสื่อออกอากาศ จากสถิติของ ILaw  ในช่วง 4 ปี คสช. โดย กสทช. ควบคุมสื่อโดยการลงโทษ 52 ครั้ง สื่อที่ถูกลงโทษมากที่สุดคือ วอยซ์ทีวี รองลงมาคือ พีซทีวี โดยทั้งหมดมี 34 ครั้ง ที่ลงโทษเกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศของ คสช. ซึ่งมีฉบับหลักๆ คือ 97/2557, 103/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 แม้ว่าประกาศที่ 97/2557 จะควบคุมสื่อไม่ให้เผยแพร่เนื้อหาที่กระทบหรือวิพากษ์วิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริต และเป็นประกาศฉบับหลักที่ใช้ควบคุมสื่อ  แต่คำสั่งที่ 41/2559 เป็นการยื่นดาบให้ กสทช. อีกชั้นหนึ่ง ถ้า กสทช.เห็นว่าเนื้อหารายการไหนเข้าข่ายฝ่าฝืน ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ถือว่าผิดมาตรา 37 ของ กสทช. ทันที

ซึ่งหาก กสทช ให้อำนาจของ กสทช. อย่างเดียวจะมีศาลปกครองช่วยดูว่าชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ ถ้าเราจำได้ คำสั่งที่ 41/2559  ออกมาตอนที่พีซทีวีมีการฟ้อง และศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว การออกคำสั่งฉบับนี้มาทำให้ตัดอำนาจศาลปกครองออกไปในการตรวจสอบสื่อขึ้นมาทันที

“เสรีภาพสื่อ คือ เสรีภาพประชาชน และอีกทาง เสรีภาพประชาชน คือ เสรีภาพสื่อ แม้ปีหน้าจะมีเลือกตั้ง มี ครม. ชุดใหม่ แต่ในระยะยาวมีเรื่องที่เราต้องจัดการ คือกลไกต่างๆ ที่ คสช. ตั้งขึ้นมา เพื่อควบคุมนโยบาย เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะกินระยะเวลา 20 ปี  เป็นอย่างน้อย รวมกับกฎหมายที่ตราผ่านสภามากกว่า 800 ฉบับ เราไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะกฎหมายออกมาจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ก่อนหน้านี้เราเคยภูมิใจคำว่านิติรัฐ นิติธรรม แต่ระยะ 4 ปี ที่ คสช. เข้ามา นิติรัฐถูกทำลายราบคาบ  ดังนั้นนอกจากสื่อจะพยายามที่จะปลดล็อกสิทธิเสรีภาพของตัวเองแล้ว สื่อก็ต้องช่วยปลดล็อกสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยเช่นกัน”

ต้องบอกว่าการจะล้มล้างกฎหมาที่มีในปัจจุบัน ไม่ง่าย และยากมากด้วยซ้ำ สังคมที่มีกฎหมายเต็มไปหมด ออกรวดเดียว ทั้งประกาศ ทั้งคำสั่ง ภายใน 4 ปี 800 ฉบับ  อย่างน้อยอาจต้องมีคณะกรรมขึ้นมาตรวจสอบ หรือดูว่ากฎหมายฉบับนั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่ เช่น พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ จริงๆ มีความพยายามออกกฎหมายตัวนี้มานานเป็นสิบปี และเมื่อออกมาแล้ว ในปี 2558 ก็เห็นปัญหาในการบังคับใช้อยู่ เพราะเป็นการออกมาอย่างขาดการมีส่วนร่วม   กฎหมายเกี่ยวสิทธิเสรีภาพ เราต้องการรัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหานี้ และดูความเร่งด่วนกฎหมายที่จะต้องทำต่อ

 

ขณะที่นายก้าวโรจน์ มองว่า ปัจจุบันสื่อออนไลน์มีบทบาทมากขึ้นในสังคม ต่างกับในอดีต  แต่ไม่ว่าจะเป็นสื่อเก่า สื่อใหม่ สื่อออนไลน์ หรือ สื่อออฟไลน์ ปลายทางจะถูกบังคับให้มีคุณภาพและความรับผิดชอบต่องานนั้นๆ อยู่แล้ว รวมถึงกฎหมายที่นำมาควบคุมเป็นตัวเดียวกัน  โดยเฉพาะออนไลน์ที่จะมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาควบคุมด้วย

“ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องถูกวางโครงสร้างให้มีข้อมูลที่ดีเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน ต่อไปโซเชียลมีเดียจะมีผลต่อการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่ากลุ่มการเมืองเริ่มมีความเคลื่อนไหวอยู่เนืองๆ ตอนนี้เพียงแค่บอกว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็มีการทำดาต้า ทำข้อมูลต่างๆ เพราะโซเชียลมีเดียสามารถบอกได้ทุกอย่าง ความสนใจ ความพอใจของประชาชน ทุกอย่างที่เป็นออนไลน์จะมีผลต่อประเทศไทย ส่วนตัวมองว่าเทคโนโลยีทำให้คนเสพข่าวได้รวดเร็วยิ่งขึ้นผิดกับสมัยก่อน ขณะที่รัฐบาลเองก็มีความพยายามให้การตรวจสอบการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น”

“จากการทำหน้าที่นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์นั้น ข่าวบางข่าวเสนอได้ไม่นานก็ต้องเอาลงจากเว็บไซต์ ในช่วงแรกเป็นสิ่งที่เราเจอ แต่ช่วงหลังเมื่ออยู่บนพื้นฐานกฎหมายเดียวกันที่ออกมาควบคุมให้เราปฏิบัติตาม สิ่งที่น่ากลัวมากที่สุด คือ Fake News การรู้เท่าทันสื่อของโซเชียลมีเดีย  กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือเด็กและผู้สูงอายุที่ส่งข่าวต่อๆกัน  โดยขาดการไตร่ตรอง เพียงแค่ถูกจริตข่าวที่ไปอ่าน

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลังรัฐประหารที่เราพบว่ามีข่าวลวงต่างๆ มากขึ้น สิ่งที่สื่อต้องมีคือ สามัญสำนึกในการทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่ทำงานประเภทใดก็ตาม แต่สิ่งที่ทุกคนต้องทำเหมือนกัน คือ คุณภาพของเนื้อหาข่าวและความรับผิดชอบ โดยทางสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ก็ได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบ Fake News ทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้” นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  กล่าว

 

ด้านนางสาวฐิติรัตน์ กล่าวถึงมุมมองในประเด็นกฎหมายดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในปัจจุบันว่า สื่อจะต้องถูกกำกับควบคุมให้มีคุณภาพ ไม่ว่าจะกฎหมายเดิมหรือกฎหมายที่เกิดขึ้นมาใหม่ แต่การกำกับควบคุมตรงนี้ไม่จำเป็นต้องมาจากฎหมายอย่างเดียว เพราะสื่อไม่จำเป็นต้องให้ใครมาบอก หรือชี้ซ้าย ชี้ขวา ว่าควรเป็นอย่างไร  กลไกของผู้เสพสื่อจะเป็นสิ่งที่บอกเองว่าสื่อต้องเป็นอย่างไร

“ปัจจุบันโลกออนไลน์และออฟไลน์ไม่ได้แยกจากกันแล้ว สิ่งที่เราเห็นบนโลกออนไลน์ทุกวันนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตบนโลกจริงๆ กฎหมายดิจิทัล เป็นกฎหมายที่ช่วยให้สังคมไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น เพราะเป็นกฎหมายคุ้มครองบุคคล ป้องกันไม่ให้บริษัทที่ดำเนินการในระบบดิจิทัล นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือแชร์ให้บุคคลที่สามโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่นกรณีของเฟซบุ๊ก เพราะหากเราไม่มั่นใจว่าข้อมูลของเราถูกนำไปใช้อย่างไร คนที่ใช้ชีวิตปกติก็จะไม่กล้าแชร์ข้อมูล ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและสังคม  โครงสร้างของโลกดิจิทัลมีความเปราะบางอยู่ แม้จะรวดเร็วและครอบคลุม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเป้าต่อการโจมตีได้ง่าย ทำอย่างไรเราจะทำให้โครงสร้างเหล่านี้มีเสถียรภาพพอที่ทุกคนจะใช้มันได้อย่างมั่นใจในความปลอดภัย”

อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ยังกล่าวอีกว่า ถ้าพูดถึงกฎหมายดิจิทัล เราอาจจะนึกถึงกฎหมายที่จำกัดสิทธิ แต่ในความเป็นจริงยังเป็นกฎหมายที่ช่วยเพิ่มพูนสิทธิ ทำให้เราสามารถใช้เสรีภาพของเราได้อย่างมั่นใจมากขึ้น และเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดเสรีภาพสื่อและประชาชนทั่วไปเช่นกัน แต่การจำกัดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลในโลกดิจิทัลไหลเวียนได้อย่างราบรื่น ถูกนำไปใช้ในทางที่ถูกต้องเหมาะสม นั่นคือสิ่งที่กฎหมายดิจิทัลควรจะเป็น ไม่ใช่มีไว้เพียงเพื่อดูแลความมั่นคงอย่างที่หลายคนพยายามจะจำกัดความ

“สิ่งที่ควรจับตามองในปัจจุบัน คือ กฎหมายที่ควบคุมผู้ให้บริการออนไลน์ ทั้งอำนาจ กสทช.  อำนาจคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 12/2557 และ 17/2557 รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการสื่อหรือผู้ให้บริการดิจิทัล มาตรา 15 ที่พูดถึงการเปิดให้ผู้ใช้บริการเข้ามาแสดงความเห็น และผู้ให้บริการต้องคอยตรวจสอบเนื้อหาว่ามีโอกาสที่จะขัดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 หรือไม่ ตรงนี้เรียกว่าเป็นการให้อำนาจดุลยพินิจกับผู้ให้บริการออนไลน์ที่เป็นตัวกลางในการควบคุมเนื้อหาบนโลกดิจิทัล ซึ่งประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันทั่วโลกว่าการควบคุมตรงนี้ควรเป็นอำนาจของใครกันแน่ เพราะหากเป็นเชิงเนื้อหาควรถูกควบคุมโดยกฎหมาย แต่การที่กฎหมายไม่ระบุให้ชัดเจนทำให้เกิดประเด็นว่าผู้ให้บริการที่เป็นคนกลางต้องใช้วิจารณญาณคิดเอาเองว่าเนื้อหาแบบนี้มีโอกาสที่จะผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือคำสั่ง คสช. หรือไม่  ซึ่งคนที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนทุกคนคงไม่มีใครอยากรับความเสี่ยงตรงนี้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่ากำลังพยายามโยนอำนาจในการควบคุมจากรัฐไปที่สื่อตัวกลาง”

อีกประเด็นที่น่าจับตาคือ ร่างกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ร่างแรกที่ออกมา เมื่อ 2-3 ปีก่อน  กฎหมายตัวนี้เป็นเทรนด์ของโลก โครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์ ถ้าถูกโจมตีมีโอกาสที่จะเป็นปัญหาในชีวิตได้ เพราะเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล และโรงไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องรักษาโครงสร้างเหล่านี้ให้มีความมั่นคง เพราะกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ ร่างแรกที่ออกมาระบุให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลได้ในกรณีที่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภัยคุกคาม โดยไม่ต้องผ่านวิจารณญาณของใคร แต่ไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า “ภัยคุกคาม” ทำให้หลายคนกังวลและพยายามที่จะต่อต้านกฎหมายนี้ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีความพยายามที่จะแก้ร่างกฎหมายนี้ให้มีถ้อยคำที่รัดกุมมากขึ้น ไม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ 100%   แต่ต้องมีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยพิจารณาด้วย

“สิ่งสำคัญคือกฎหมายไซเบอร์มีไว้เพื่อควบคุมความมั่นคงระบบของโครงสร้าง ไม่ใช่ความมั่นคงเชิงเนื้อหา และไม่มีกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ของประเทศใดในโลก จะให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพ ขยายขอบเขตของกฎหมายให้ครอบคลุมในเรื่องเนื้อหา ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องช่วยกันระมัดระวัง เพราะไม่เช่นนั้นเราจะได้กฎหมายที่มีเจตนารมณ์ที่ดี แต่ออกมาแล้วถูกนำไปใช้อีกแบบหนึ่ง เหมือน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ตัวกฎหมายตั้งแต่ต้นไม่เคยมีความตั้งใจนำไปใช้เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทเลย แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้จะมีการแก้กฎหมายไปแล้วก็ยังคงเห็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถูกนำไปใช้ในคดีหมิ่นประมาทตลอดเวลา ได้แต่หวังว่าประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยกับ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์”

ทั้งนี้ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจะมีการจัดทำกฎหมายต่างๆ โดยการลดขั้นตอนให้คนแสดงความคิดเห็นและเปิดช่องทางให้มากขึ้น

“หลายคนตั้งคำถามว่าเวลามีการเปิดให้แสดงความคิดเห็น เขียนไปแล้วจะมีการนำไปปรับแก้ไหม ต้องเข้าใจว่ากฎหมายมีออกมาใหม่ตลอดเวลา 800 ฉบับ แม้แต่เราที่เป็นนักกฎหมาย อ่านแล้วก็ยังสับสนว่าแต่ละร่างต่างกันอย่างไร แต่เราก็ต้องตั้งคำถามกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ว่าคุณต้องถามความเห็นจากประชาชนที่จะเป็นผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้เห็นร่างกฎหมายก่อนที่จะออกมา

ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีที่จะทำให้ร่างกฎหมายไปสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ภาครัฐต้องเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น และใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง บางครั้งมีเปิดให้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ แต่กระบวนการ ขั้นตอนที่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็นค่อนข้างยาก ต้องลงทะเบียนหลายขั้นตอน กฎหมายบางตัวมีผู้มาแสดงความเห็นไม่เกิน 10 คน เราจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นประชามติได้หรือไม่ แม้บางครั้งจะถูกแย้งกลับมาว่าเปิดแล้วแต่คนไม่สนใจ

“ถ้าเป็นแบบนั้นเราควรต้องตั้งคำถามกับตัวเองหรือเปล่า ว่าวิธีการ หรือช่องทางมีปัญหาหรือไม่ เว็บไซต์พวกนี้ ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งเลขบัตรประชาชน ชื่อ นามสกุล หรืออะไรต่างๆ เพราะการแสดคงความเห็นแบบไม่เปิดเผยตัวตนจะเป็นประโยชน์กว่า  ทำให้คนกล้าพูด แบบไม่ต้องกลัวอะไร โดยเฉพาะในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ แม้บางคนจะมองว่าการไม่เปิดเผยตัวตนจะทำให้คนพูดอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่ส่วนตัวแล้วมองว่า เราควรปล่อยให้เนื้อหาของความเห็นเป็นสิ่งพิสูจน์ตัวเอง และสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น”  อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวทิ้งท้าย