สมาคมนักข่าวฯจัดเสวนา “ปลุกข้อหา มาตรา 116 อุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ ?” หวั่นรัฐใช้เป็นเครื่องมือปกป้องอำนาจตัวเอง-กดขี่ให้คนกลัว แนะใช้กฎหมายอย่างระวัง-สมเหตุสมผล ค้านปิดกั้นเสรีภาพสื่อแสดงความเห็น เรียกร้องยกเลิกคำสั่ง คสช. สามฉบับเพื่อสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 3 กันยายน เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน สมาคมนักข่าวฯ จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ปลุกข้อหา มาตรา 116 อุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ ?” โดยมีนายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เป็นวิทยากรร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร โฆษกและกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ
นายสุณัย กล่าวว่า มาตรานี้เรียกสั้นๆ ว่าข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 นั้นพบว่าก่อนการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประเด็นมาตรา 116 แทบจะไม่มีการพูดถึงเลย แต่เมื่อมีการยึดอำนาจหลังการรัฐประหาร ก็มีคดีตามมาตรา 116 จำนวนมาก มีการใช้ตามอำเภอใจและพร่ำเพรื่อ คสช.กลายเป็นต้นน้ำในการชี้มูลความผิดและนำเข้าสู่กระบวนการใช้กฎหมาย ทำให้องคาพยพอื่นๆ ที่บังคับใช้กฎหมาย ไม่กล้าที่จะคัดค้าน คสช. แม้แต่การถ่ายรูปคู่กับขันแดงของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็กลายเป็นความผิดตามมาตรา 116 ไปด้วย หรือเรื่องของทนายความไปสังเกตการณ์ชุมนุมถูกเหวี่ยงแหไปด้วยว่ามีการยุยงปลุกปั่น ทั่งที่ในช่วงปกติข้อหาเหล่านี้ถูกปัดตกไปแล้ว นอกจากนี้พบว่า คดีเหล่านี้กลับเพิ่มพูนในช่วง คสช. ปกครองประเทศ ประมาณ 24 คดี ผู้ถูกกล่าวหา 66 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่วิจารณ์ คสช. มีเกือบ 20 คดี ที่เหลือเป็นการปล่อยข่าวลือวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญวิจารณ์สถาบันกษัตย์
นายสุณัย กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นเช่นนี้การใช้มาตรา 116 นำมาสู่บรรยากาศความหวาดกลัว เพราะอาจติดคุกได้ถึง 7 ปี รวมทั้งต้องขึ้นศาลทหารซึ่งหลักการระหว่างประเทศมองว่า ไม่มีการไต่สวนอย่างเป็นธรรม ทุกกระบวนการคืออยู่ในกระทรวงกลาโหม ภายใต้ คสช. ต่างประเทศจึงมองว่าเป็นเครื่องมือปิดกั้นคนเห็นต่าง ใช้เครื่องมือในการสอบสวนอย่างไม่ปกติ ซึ่งประเด็นมาตรา 116 มีการพูดในสหประชาชาติอยู่หลายครั้ง เช่นกรณีนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าว อาวุโส ข่าวสดอิงลิช หรือนักการเมืองอย่างนายวัฒนา เมืองสุข จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์ คิดว่ามาตรา 116 มีผลกระทบมากกว่าการปฎิรูป ยิ่งใช้มาตรา 116 มากเทาไหร่ยิ่งเห็นการติดหล่มก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศไปเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นบรรยากาศที่ตัวเองเตรียมจะต่อยอดที่จะอยู่ต่อหรือไม่
“สิ่งที่น่าสนใจคือการเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 ถือว่ายากมาก จึงหวังว่าในท้ายที่สุดจะเอาผิดไม่ได้ แต่จะเห็นได้ชัดกรณีที่ใช้มาตรา 116 แล้วติดเบรคทันทีคือกรณีอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีการพิพากษา เพราะกรณีแบบนี้ก็ไม่เข้าข่ายความมั่นคง มองเต็มที่ก็เป็นเรื่องการหมิ่นประมาทเท่านั้น ดังนั้นมาตรา 116 จะถูกใช้เป็นเครื่องมือความไม่สงบและใช้ป้องปรามเพื่อหวังผลทางการเมือง” นายสุนัย กล่าว
นายสุณัยยังเรียกร้องว่า คสช. ควรยกเลิกคำสั่ง ที่ 97, 103 และ 108 รวมสามฉบับ เพื่อสร้างบรรยากาศการเปลี่ยนผ่านที่ดี และเกิดภาพบวก เหมือนที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยประกาศเมื่อปลายปีก่อนว่าพลเรือนเลิกขึ้นศาลทหารอีกต่อไป ก็จะเป็นพัฒนาการในทางที่ดี
นายจักร์กฤษ กล่าวว่าในยุคก่อนมีข้อหาสำเร็จรูปคือข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ ถึงแม้ความผิดในการกระทำจะไม่ครบองค์ประกอบ แต่ถ้าเขาต้องการให้เป็นคอมมิวนิสต์ก็ชี้ได้ วันนี้เรากำลังกลับเข้าสู่บรรยากาศแบบนั้น คือตั้งข้อหาไว้ก่อนแล้วไปเอาความผิดภายหลัง ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงที่ตนเป็นบรรณาธิการพบว่า มีพัฒนาการการปิดปากสื่อมวลชนตามข้อหาหมิ่นประมาท แต่ทั้งหมดก็ยอมความได้ ต่อมาเมื่อมีการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ขึ้นมา ข้อหาก็มีเพิ่มขึ้นมาจากการหมิ่นประมาท เป็นการขมวดปมความผิดมากขึ้นเพราะเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายเหล่านี้ ทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวไปหมด เมื่อมีมาตรา 116 ขึ้นมา ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งบทบาทของสื่อมวลชนที่โพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์เช่นเดียวกับนายประวิตร เกี่ยวกับการตัดสนคดีจำนำข้าว การจัดการน้ำท่วม หรือกรณีนักข่าวไปตรวจสอบโกดังเก็บข้าวแล้วเจ้าหน้าที่ทหารจะยึดกล้องนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มองอย่างไรก็ไม่กระทบกับความมั่นคง ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ไม่กล้าจะพูดอะไรถึงผู้มีอำนาจ
นายจักร์กฤษ กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้พูดนายประวิตรถูกหรือผิด แต่แค่ดูว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีความผิดตามมาตรา 116 ซึ่งถ้านายประวิตรจะเป็นความผิดร้ายที่สุดคือหมิ่นประมาทในการโฆษณา แต่พอเป็นมาตรา 116 กลายเป็นว่าถูกมัดแน่น ไม่กล้าทำอะไรเลย ส่วนพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ก็มีการใช้ข่มขู่ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วย ซึ่งกฎหมายพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่แก้ไขใหม่นั้น ไม่สามารถใช้เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ ดังนั้นข้อหามาตรา 116 เป็นการนำกฎหมายมารับใช้ผู้มีอำนาจ มารับใช้การเมือง หรือไม่อยากให้มีการบรรยากาศวิพากษ์วิจารณ์ แต่ทั้งหมดก็จะขัดแย้งกับเสรีภาพของสื่อมวลชนและของประชาชนที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
นายจักร์กฤษ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในมาตรา 116 ที่ทำให้คนหวาดกลัวจริงๆ เพื่อต้องการควบคุมผู้ที่กระทำความผิดไม่ให้ทำอะไรตามอำเภอใจ แต่ขอยืนยันว่าสื่อมวลชนก็ไม่กลัวมาตรา 116 ตราบใดที่การใช้กฎหมายไม่เป็นอย่างเป็นธรรม เพราะการใช้กฎหมายนี้เป็นการใช้ความมั่นคงของผู้มีอำนาจ หรือความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นจึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นกฎหมายปกติแต่มีการใช้อำนาจไม่ปกติ นอกจากนี้ ตนเชื่อว่าท้ายที่สุดข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 จะเอาผิดไม่ได้ แต่อาจจะกระทบในเรื่องความไม่สบายใจในกระบวนการที่อาจจะยาวนาน ดังนั้นถึงมาตรานี้จะไม่มีความผิด แต่กระบวนการไต่สวนอาจจะต้องผูกพันกับคดีไปนานหลายปี ทั้งนี้ ใครก็ตามที่ทำงานเกินขอบเขตหน้าที่ สื่อมวลชนก็ไม่เห็นด้วย และพร้อมที่จะต่อต้านหรือประณาม แต่ทั้งหมดที่เสวนาวันนี้อยู่ที่หลักนิติธรรมอย่างเดียวเท่านั้น เพราะถ้าใช้กฎหมายเป็นธรรมแล้ว พวกเราสื่อมวลชนก็สนับสนุนเต็มที่
ด้านนายวิรัตน์ กล่าวว่า ความผิดตามมาตรา 116 มีช่องทางสู้คดีได้มากมาย เชื่อว่าหากศาลจะลงคดีตามมาตรา 116 จะยากมาก เพราะไม่รู้จะสืบคดีอย่างไรให้เข้าองค์ประกอบความผิดว่ามีความไม่สงบ ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐบาลไหนก็ไม่อยากทะเลาะกับสื่อมวลชน แต่สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์บ้านเมือง ตั้งแต่วาทะที่ว่าสื่อเลือกข้าง การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลก็อยากไปบล็อคสิ่งเหล่านี้ จึงพยายามหาเครื่องมือจนมาเจอมาตรา 116 ซึ่งนัยยะของรัฐบาลคือป้องปราม แต่ผู้ถูกกระทำก็ไม่สนุก แต่ตนเชื่อว่าการสืบตามมาตรานี้เป็นไปไม่ได้เลย แต่ต้องยอมรับว่าสื่อเลือกข้างก็มี รัฐจึงต้องหาวิธีทำอย่างไร แต่เชื่อว่ามาตรานี้ไปไม่ได้ถึงเป้าหมาย ยังถือว่าสบายใจได้
ขณะที่นายเสรี กล่าวว่า สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นส่วนที่เป็นผลกระทบกับบุคคลและกลุ่มคนบางส่วน แต่ตนจะพูดในมิติตามหัวข้อการเสวนาวันนี้ ซึ่งมีการพูดว่าในมาตรา116 ถูกนำมาใช้เพื่อมารับใช้ผู้มีอำนาจ ซึ่งมาตรานี้เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ โดยตามหลักการนั้นการเสนอความเห็นไม่ใช่ว่าจะเสนอแล้วผิดไปทั้งหมด หรือการเสนอความเห็นคัดค้าน คสช. จะเป็นความผิดทั้งหมดก็ไม่ใช่ ซึ่งมาตรานี้ไม่ได้ถูกบัญญัติขึ้นมาในยุค คสช. แต่มาตรานี้บัญญัติตั้งแต่ปี 2499 และบังคับใช้ในปี 2500 ก็เห็นว่ารัฐต้องให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงของชาติ ต้องมีกฎหมายที่จะคุ้มครองปกป้องความมั่นคงของชาติ ซึ่งมาตรา 116 ถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอเมื่อมีการต่อต้านหรือคัดค้านภาครัฐ โดยในช่วงก่อนปี 2557 มีคดีมาตรา 116 อาทิ ในคดีปีนเข้าไปในรัฐสภาเมื่อปี 2550 ในข้อหาบุกรุก และความผิดตามมาตรา 116 ด้วย แต่ศาลตัดสินว่าผิดแค่ข้อหาบุกรุกเท่านั้น รวมถึงยังมีอีกหลายคดี ทำให้เห็นว่ามาตรานี้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการทางการเมืองส่วนใหญ่ แต่ในช่วงคดีหลังๆ ก็ยังไม่มีผลชัดเจนว่าผลคดีไปถึงไหนแล้ว
นายเสรี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในเรื่องมาตรา 116 นั้นเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง เพื่อปกป้องประเทศให้มีความมั่นคง อีกส่วนจะมีนัยยะทางการเมืองจะนำมาใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อปกป้องให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ยังควบคุมได้ อาจจะมีผลกระทบกับผู้ที่คัดค้านทางการเมือง โดยผู้มีอำนาจก็จะนำมาตรา 116 มาใช้ แต่ในความเป็นจริงนั้นต้องกล้าพูดได้ว่าผู้มีอำนาจ ก็จำเป็นต้องใช้อำนาจตรงนี้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถควบคุมสภาพบ้านเมืองได้อย่างไร เพื่อประโยชน์กับประเทศโดยรวม เพราะความมั่นคงในประเทศเป็นหลักสำคัญ จะต้องเดินไปข้างหน้าได้โดยรักษาผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ แต่ก็กระทบกับบางคนและบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแน่นอน โดยเฉพาะการที่จะต้อต้านผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล
นายเสรี กล่าวอีกว่า กรณีการต่อต้านรัฐบาลในยุคปี 2516, 2519 ซึ่งสถานการณ์ในยุคนั้นเป็นการต่อต้านเพื่อคนโดยรวม แต่ปัจจุบันเป็นการต่อต้านเรื่องสัญลักษณ์ จากที่มีนักวิชาการมองว่าเพราะรัฐบาลไปยึดอำนาจมาจากการทำรัฐประหาร โดยไม่ดูบริบทว่าบ้านเมืองเกิดอะไรขึ้น ไม่ดูว่าสภาพปัญหาเกิดจากนักการเมือง มาจากการแตกแยกคนในชาติ มีการปิดถนน มีความเดือดร้อนจากผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ปัญหาเกิดจากนักการเมือง และประชาชนบางส่วนที่ใช้ประชาธิปไตยไม่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ แต่ใช้ประชาธิปไตย เพื่อหาข้ออ้างสร้างผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง จนกระทั่งเกิดวิกฤติที่ประชาชนส่วนหนึ่งรับไม่ได้ จนมีการเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง มีการต่อสู้ยิงกันล้มตาย เป็นวิกฤติของอำนาจ และทหารก็เข้ามา
“การปฏิรูประเทศต้องอยู่ในสภาวะให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย แต่ถ้ายังแตกแยกบ้านเมืองไม่สงบ ก็เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ การควบคุมความสงบตามมาตรา 166 ก็อยู่ในสถานะได้ระยะหนึ่งเท่านั้น แต่ผลที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจนในผลคดี ผมเดาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยและวิถีทางการเมือง ผู้ที่เสนอความเห็นก็เป็นความเห็นทางการเมือง ไม่ใช่ผู้ร้าย ผมก็คิดว่ามาตรานี้ทำให้คนกลัว เมื่อใช้แล้วคนก็กลัว ที่สุดแล้วผมเชื่อว่าคนที่เสนอความเห็นทางการเมือง และถูกดำเนินคดีจะไม่ถูกลงโทษ แต่ผู้นั้นอาจจะหงุดหงิดหรือรำคาญใจเท่านั้น ผมเห็นว่า 116 เป็นมาตราที่ทำให้สังคมเรียบร้อย และเมื่อเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยทุกคนจะได้เรียนรู้ ผมก็มุมมองความเห็นแตกต่างตรงนี้ดังนั้นการใช้มาตรา 116 ขณะนี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และสมเหตุสมผล ไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน เพราะประชาชนเริ่มกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพของสื่อหลักใหญ่ต้องไม่ถูกปิดกั้น”นายเสรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”