[wptab name=’จดหมายข่าวประจำเดือนกรกฎาคม 52′]
แถลง
ก่อนอื่นขอชี้แจงเพื่อนสมาชิกและท่านผู้อ่านทุกท่านทราบการปรับปรุงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นกับ ”จดหมายข่าวสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” ที่อยู่ในมือท่านเวลานี้ ที่ระบุเป็นฉบับประจำเดือนกรกฎาคม 25 ด้วยเจตนารมณ์สองสามประการ
- หนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับรอบการปิดต้นฉบับและจัดพิมพ์ออกมาแจ้งข่าวสาร คือไม่ตกกรอบพ้นเวลานานเกินไปเช่นที่ผ่านมา
- สอง เป็นความตั้งใจยิ่งของคณะผู้จัดทำที่ต้องการเพิ่มความถี่เป็น ”รายเดือน” ให้ได้
- และ สาม การปรับปรุงเป็นจุดเริ่มต้นของการขยับปรับเปลี่ยน เพื่อเขย่าให้บังเกิดสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าต่อไปและต่อไป
ขอทุกท่านติดตามความมุ่งมั่นของพวกเราอย่างใกล้ชิด
สำหรับ ”จดหมายข่าวสภาการหนังสือพิมพ์ฯ” ฉบับนี้ วันที่ 4 กรกฎาคม 52 นี้ เป็นวาระครบรอบ 12 ปีการก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยังคงมีกิจกรรมตามปกติในการเฉลิมฉลอง โดยจะมีงานเชิงวิชาการตั้งแต่หลังเที่ยงวันเป็นต้นไป ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ ปีนี้เริ่มต้นเอาฤกษ์เอาชัยกับการปาฐกถาพิเศษ โดย พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) ในหัวข้อเรื่อง “บทบาทสื่อกับความแตกต่างทางความคิดในสังคม”
เรื่องของ”สื่อ”กับสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิด ตลอดจนกระแสวิพากษ์วิจารณ์บทบาทสื่อมวลชน เป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันตลอดมายังไม่เป็นที่ยุติ ปีนี้ขอตั้งหลักพักฟังข้อคิดอิงธรรมะกันก่อน เพื่อจะได้เป็นการปูพื้นวางฐานการคิดให้ได้หลักยึดที่มั่นคง ก่อนจะก่อเติมเสริมแต่งตัวอาคาร คือองค์ความรู้ว่าด้วย บทบาทสื่อในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนี้ได้อย่างถูกต้อง
เวทีถัดมาเป็นการสนทนากลุ่ม” 12 ปีสภาการหนังสือพิมพ์ :อนาคตการกำกับดูแลตัวเองของสื่อไทย” คราวนี้เป็นวงของคนหนังสือพิมพ์และสื่อด้วยกันเอง มานั่งถกกันบ้าง เพราะปีก่อน ๆ หน้า เป็นเวทีเชิญคนวงนอกมาช่วยมองคนสื่อไปพอสมควรแล้ว รายละเอียดงานพลิกดูได้ด้านใน วันนี้ สื่อมวลชนเราน่าจะมี ”ข้อสรุป” ได้แล้ว
[/wptab]
[wptab name=’อนุกรรมการจริยธรรมตรา 5 กฎเหล็กล้างกลิ่นพนัน’]
อนุกรรมการจริยธรรมตรา 5 กฎเหล็กล้างกลิ่นพนัน แนวปฏิบัติข่าวกีฬาใกล้คลอด
สืบเนื่องจากโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) ได้ทำการศึกษาการายงานข่าวกีฬาในช่วงฟุตบอลยูโร 2008 ที่ผ่านมา พบว่ามีการรายงานข่าวที่นำไปสู่การเล่นการพนัน โดยแบ่งเป็น 4 ระดับคือ
- ข้อมูลที่ไม่สามารถนำไปใช้ในการพนันได้
- ข้อมูลที่ต้องตีความก่อนนำไปใช้พนัน
- ข้อมูลที่นำไปใช้ในการพนันได้ทันทีโดยไม่ต้องตีความ และ
- ข้อมูลเพื่อการรับพนันโดยตรง
ดังนั้นจึงทำเรื่องเสนอมายังสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติสมัยที่ 5 จนกระทั่งนำไปสู่การร่างแนวปฏิบัติการเสนอข่าวกีฬาออกมาโดยมีสาระสำคัญ 5 ข้อคือ
โดยนายสุนทร จันทร์รังสี รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติคนที่ 1 และประธานอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา อนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแนวปฏิบัติการเสนอข่าวกีฬา 2 กลุ่มคือ ช่วงเช้าเวลา 10.00 น. กลุ่มของบรรณาธิการ หัวหน้าข่าว ผู้สื่อข่าวกีฬา หนังสือพิมพ์ส่วนกลางซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานจริงในสนาม และกลุ่มนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ สำนักปลัดกระทรวงวัฒนธรรม องค์กรด้านเด็ก และสตรี ที่จัดรับฟังความเห็นในช่วง 13.00 น.
โดยทั้ง 2 กลุ่มมีความเห็นตรงกันว่าการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ไม่ได้มีส่วนชักจูงให้เล่นการพนันมากนักเพราะผู้ที่สนใจเล่นการพนันส่วนใหญ่จะมีแหล่งข้อมูลของตนเองอยู่แล้ว แต่ก็ยังเห็นด้วยกับการออกแนวปฏิบัติการเสนอข่าวกีฬาเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรทำให้มีความชัดเจน และมีความเข้มข้นขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์ฯ ให้ความสำคัญกับสังคมและอยากมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ด้วย
และในที่สุดที่ประชุมได้สรุปยกร่างแนวทางปฎิบัติของการนำเสนอข่าวกีฬาออกมา ดดยมีสาระสำคัญ 5 ข้อด้วยกันคือ 1. พึงระลึกเสมอว่า กีฬา คือกิจกรรมที่สร้างสรรค์ กีฬาไม่มีความหมายและความมุ่งหวังทางทำลาย 2. พึงระลึกเสมอว่า กีฬาสร้างคน สร้างมิตรภาพ สร้างสันติภาพ สร้างความรัก ความสามัคคีในมวลหมู่มนุษย์ได้ทุกชาติทุกภาษา โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ผิวสี ตลอดจนความเชื่อถือ ศาสนาและสังคม
และข้อ3. พึงระลึกเสมอว่า การรายงานข่าวกีฬา จักไม่นำความมัวหมองมาสู่การกีฬาด้วยประการใด ๆ 4. พึงระลึกเสมอว่า จักไม่รายงานข่าวกีฬาที่โน้มเอียงหรือชี้นำ ชักจูงให้ประชาชนเห็น คล้อยตามไปในทางที่ไม่ดีงาม หรือฝักใฝ่ในการพนัน ข้อสุดท้าย 5. พึงระลึกเสมอว่า ผู้รายงานข่าวกีฬาไม่ว่าประเภทใด ควรมีความละอายต่อการบิดเบือนเจตนารมณ์แท้จริงของกีฬา
ประธานอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม กล่าวต่อว่า แนวทางปฎิบัติใน 5 สาระสำคัญดังกล่าวทางคณะอนุกรรมการจริยธรรมจะนำไปรับฟังความเห็นอีกครั้งหนึ่ง และหลังจากรับฟังความเห็นแล้ว ขั้นตอนต่อไปสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะนำความเห็นที่ได้จากการหารือทั้งสองกลุ่มมาประมวลผล เพื่อปรับปรุงแนวปฏิบัติก่อนจะประกาศบังคับใช้ในโอกาสต่อไป
[/wptab]
[wptab name=’ใบเหลืองข่าวสด-คม ชัด ลึก’]
คดีคลิปฉาวไฮโซ เชียงใหม่
สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ทำหนังสือเตือน “ข่าวสด – คม ชัด ลึก” เสนอข่าวและภาพข่าวที่ละเมิดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ในข้อ 15, ข้อ 17 และข้อ 27 ก่อนลงมติรับ “เอเอสทีวีผู้จัดการ” และ “ลานนาโพสต์” เข้าสังกัดองค์กรสมาชิก โดยให้มีผลแต่วันนี้เป็นต้นไป พร้อมองค์กรต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างแนวปฏิบัติการเสนอข่าวกีฬาวันที่ 9 มิ.ย. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 6 ครั้งที่ 4/2552 ประจำเดือนมิถุนายน โดยมีนายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม นอกจากการพิจารณา ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในด้านต่างๆ แล้วนายสุนทร จันทร์รังสี รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติคนที่ 1 และประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมจริยธรรม ได้หยิบยกเอาการเสนอข่าวและภาพข่าวของหนังสือพิมพ์สมาชิกสองฉบับ คือข่าวสด-คมชัดลึก ที่เสนอข่าวและภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2552 มาเสนอต่อที่ประชุมกรรมการฯ เพื่อพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ซึ่งผู้แทนจากหนังสือพิมพ์สมาชิกหนึ่งในสองฉบับดังกล่าวที่เข้ามาเป็นกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เห็นว่าหนังสือพิมพ์ต้นฉบับของตนกระทำผิดจริงจึงขอยอมรับความผิดทั้งหมด และพร้อมที่จะนำข้อตักเตือนกลับไปถือเป็นข้อปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นอีก
นายสวิชย์ บำรุงสุข ประธานอนุกรรมการฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ต่อกรณีดังกล่าวที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และเห็นว่าหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับกระทำผิดฐานละเมิดข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2541 ข้อ 15 ที่ระบุว่าการเสนอข่าวหรือภาพข่าวต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส และต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง
ข้อ 17 ระบุว่าต้องไม่เสนอภาพข่าวที่อุจาด ลามกอนาจาร หรือน่าหวาดเสียว โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชนอย่างถี่ถ้วน และข้อ 27 หนังสือพิมพ์พึงละเว้นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่กรณีเพื่อประโยชน์สาธารณะ
เพื่อให้ถือเป็นหลักปฏิบัติแก่หนีัังสือพิมพ์สมาชิก คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จึงมีมติให้ทำหนังสือเตือนหนังสือพิมพ์ท้ังสองฉบับ และยังได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหนังสือพิมพ์สมาชิกทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อให้ระมัดระวังในการเสนอข่าวที่สุ่มเสียงต่อการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2541
ประธานอนุกรรมการฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นที่ประชุมยังได้พิจารณารับหนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการ และหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ เข้าเป็นสมาชิก ซึ่งหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับ มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่าด้วยการเป็นสมาชิก พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2546 จึงมีมติรับเป็นสมาชิก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2552 เป็นต้นไป
[/wptab]
[wptab name=’เตือน นสพ. ระมัดระวัง’]
เตือน นสพ. ระมัดระวัง การเสนอภาพข่าวดาราดัง
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร นายสุนทร จันทร์รังสี รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คนที่ 1 และประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม ได้กล่าวถึงกรณีที่ญาตินายเดวิด คาร์ราดีน ดาราภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ดชื่อดังชาวอเมริกัน แสดงความไม่พอใจในการลงข่าวและภาพข่าวการเสียชีวิตของนายเดวิด คาร์ราดีน ว่า การลงตีพิมพ์ภาพข่าวดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2541 ข้อ 15 ที่ระบุว่า“การเสนอข่าวหรือภาพข่าวใดๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาส ในการเสนอข่าวตามวรรคแรก ต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์ หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่เด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาสนั้นไม่ว่าทางใดหรือหนึ่ง”
และข้อที่ 17 ที่ระบุว่า “หนังสือพิมพ์ต้องไม่เสนอภาพข่าวที่อุจาด ลามกอนาจาร หรือน่าหวาดเสียว โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชน อย่างถี่ถ้วน”
นายสุนทร กล่าวด้วยว่า แม้ในข้อเท็จจริงพบว่า หนังสือพิมพ์ได้ใช้เทคนิคการพราง เพื่อมิให้เห็นภาพศพของผู้ตายได้ชัดเจน และยังเห็นว่าการเสนอภาพข่าวดังกล่าว เป็นการนำเสนอเพื่อประกอบเนื้อหาข่าว ซึ่งเป็นความพยายามปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อย่างไรก็ตามตนเห็นว่า หากการพรางภาพให้มีลักษณะสีดำทึบ หรือเสนอเพียงภาพบรรยากาศของสถานที่เกิดเหตุเท่านั้นก็จะเป็นการดีกว่า
“กรณีที่เกิดขึ้นญาติของผู้ตายสามารถร้องเรียนจริยธรรมของหนังสือพิมพ์มาได้ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หรือจะเลือกใช้ช่องทางตามกฎหมายก็ได้ แต่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะยุติการพิจารณาเรื่องร้องเรียน
[/wptab]
[wptab name=’เครือข่ายฯ ภาคเหนือรวมพล’]
เครือข่ายฯ ภาคเหนือรวมพล
เมื่อวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2552 เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้จัดประชุมสัญจรครั้งที่ 4 ที่โรงแรมแม่กกรีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมี พ.อ.อ. นพดุล ใจอารีย์ ประธานเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด นาย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาเครือข่ายฯ เข้าร่วมประชุมด้วยมีคณะกรรมการบริหารเครือข่ายฯ ที่ปรึกษา พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่ายกว่า 40 คน
พ.อ.อ. นพดุล ใจอารีย์ ประธานเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26-27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด ครั้งที่ 4 ที่โรงแรมแม่กกรีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย โดยในที่ประชุมมีหารือในหลายเรื่องและได้มีมติแต่งตั้งที่ปรึกษาเครือข่ายฯ เพิ่มอีก 2 คน คือนายสุขสัณห์ ภิชัย อุปนายกสมาคมสมาพันธ์สื่อสารมวลชน จ.เพชรบูรณ์ นาย วันชัย ศรีเหนี่ยง เลขาธิการสมาคมสื่อสารมวลชนเพชรบูรณ์ เพื่อให้มาช่วยทำงานวางกรอบในการขับเคลื่อนเครือข่ายฯ ตามแนวทางของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้สนับสนุนงบประมาณเครือข่ายฯ แต่ละปี นอกจากนี้ยังได้พิจารณาวาระการจัดงานครบรอบ 7 ปี การก่อตั้งเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด ที่จะถึงในตุลาคมนี้ด้วย แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน
ประธานเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ กว่าวต่อว่า ปัจจุบันมีหนังสือพิมพ์ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯ ทั้งหมด 50 ฉบับ และมีสมาชิกสมัครเพิ่มเข้ามาใหม่อีกหลายฉบับเมื่อครั้งจัดประชุมใหญ่ที่ อ.เมือง จ.พิษณุโลก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสมาชิกได้ให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันเป็นอย่างดีในทุกเรื่อง ทั้งนี้เป็นเพราะสมาชิกมีความศรัทธาในการทำงานร่วมกันว่าเป็นสิ่งที่ดี
นาย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด กล่าวถึงการสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมของเครือข่ายฯ ว่า ทางสถาบันอิศราฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยินดีที่สนับสนุนแต่ขอให้ทางเครือข่ายฯ ไปเขียนแผนงานมาเสนอ
[/wptab]
[wptab name=’ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุ-ทีวี ได้ฤกษ์บังคับ’]
ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุ-ทีวี ได้ฤกษ์บังคับ เร่งสรรหาคณะกรรมการภายใน 30 วัน
นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับผู้แทนฝ่ายข่าว จากสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุหลักที่มีฝ่ายข่าว ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 สำนักข่าวไทย อสมท (โมเดิร์นไนน์ ทีวี และ วิทยุ อสมท) สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(สทท 11) สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย(TPBS)สถานีข่าวเนชั่นแชนแนล สถานีโทรทัศน์ TNN สำนักข่าว ไอเอ็นเอ็น สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักข่าวที-นิวส์ ได้ประกาศเจตนารมณ์พร้อมทั้งลงนามท้ายบันทึกความเข้าใจให้จัดตั้ง “สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย” และจัดทำธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนั้น ขณะนี้ การจัดทำร่างธรรมนูญดังกล่าวเสร็จสิ้น และได้รับความเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้ายจากทุกองค์กรที่มาร่วมลงนามแล้ว จึงได้ประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายนนี้ เป็นต้นไป
นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวต่อไปว่า หลังจากประกาศใช้ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเลือกตั้งและสรรหาคณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าวฯ จำนวน 19 คน โดยแบ่งเป็น กรรมการจากสายวิชาชีพ 12 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ตามธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าวฯ อีก 7 คน จากนั้นจะเป็นการเลือกประธาน 1 คน รองประธาน 2 คน และ เลขาธิการ 1 คน เพื่อร่างข้อบังคับจริยธรรม การรับเรื่องร้องเรียน และการเข้าเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพฯ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกไม่เกิน 30 วัน
“จุดมุ่งหมายของการจัดตั้งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเพื่อยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ให้เป็นที่ยอมรับในสังคมมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระทำหน้าที่ดูแลควบคุมกันเองและจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพ ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 46 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 39”
สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ประกอบด้วย หมวด 1 บททั่วไป กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยในสังกัดขององค์กรสมาชิก เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพข่าวฯ โดยอัตโนมัติ ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพข่าว ที่องค์กรต้นสังกัดเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพข่าวฯ ย่อมถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมละเมิดจริยธรรมได้โดยตรง ส่วนในด้านคุณสมบัติขององค์กรสมาชิกนั้น ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าวฯ กำหนดให้สถานี หรือรายการที่เกี่ยวข้องกับข่าวสามารถเป็นสมาชิกได้ และให้การกำกับดูแลครอบคลุมไปถึงสื่ออื่นๆในสังกัดสมาชิกด้วย อาทิ การออกอากาศผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ การให้บริการส่งข่าวทาง SMS ทั้งนี้ องค์กรสมาชิกจะต้องมีสถานีหรือเวลาในการออกอากาศในช่องทางวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ หรือ เคเบิลทีวี เป็นหลักก่อน
ส่วนหมวด 2 สมาชิก ของ ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าวฯ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.สมาชิกก่อตั้ง ได้แก่ ผู้บริหาร เจ้าของ หรือบรรณาธิการข่าวผู้มีอำนาจเต็มของสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์หรือรายการข่าวและรายการที่เกี่ยวเนื่องกับข่าว หรือสมาคมวิชาชีพด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
ที่ได้ลงนามในบันทึกเจตนารมณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพ เรื่องการจัดตั้งสภาวิชาชีพฯ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 และยังคงดำเนินกิจการข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์นั้นอยู่ต่อเนื่องตลอดมา 2.สมาชิกสามัญ ได้แก่ องค์กรสมาชิกที่ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกตามข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สำหรับหมวด 3 คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าวฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการ ไม่เกิน 19 คน โดยมาจากสายวิชาชีพ 12 คนและผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ อีก 7 คน แต่ต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ส่วนการลงมติของคณะกรรมการสภาฯ นั้นในเรื่องทั่วๆ ไป สามารถใช้เสียงข้างมากของกรรมการที่มาประชุมในครั้งนั้นๆ ได้ แต่ถ้าเป็นการลงมติเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกหรือผู้ประวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ในสังกัด ประพฤติผิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ หรืออย่างน้อย 10 คนขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่า การที่สภาวิชาชีพฯ จะตัดสินว่าองค์กรสมาชิก หรือผู้ประกอบวิชาชีพข่าวคนใด ละเมิดจริยธรรมนั้น จำเป็นต้องใช้เสียงข้างมากอย่างแท้จริง
หมวด 4 การพิจารณาเรื่องร้องเรียน ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าวฯ กำหนดให้ ผู้ได้รับความเสียหายจากข้อความ เสียง หรือภาพที่ปรากฏในข่าวหรือรายการข่าวที่ผลิตโดยสมาชิกหรือจากพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ที่สังกัดสมาชิก ซึ่งผู้เสียหายเป็นว่าขัดแย้งต่อข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าวฯ ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพฯ ให้แจ้งเป็นหนังสือพร้อมด้วยพยานหลักฐานต่อสถานีหรือผู้ผลิตรายการนั้นโดยตรงก่อน เพื่อให้สถานีหรือรายการนั้นดำเนินการบรรเทาความเสียหายตามควรแก่กรณี แต่หากสถานีหรือต้นสังกัดเพิกเฉยที่จะดำเนินการใดๆ หรือผู้เสียหายเห็นว่าการบรรเทาความเสียหายของสถานีหรือผู้ผลิตรายการ ไม่เป็นที่พอใจจนเห็นได้ชัด ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อคณะกรรมการสภาฯ ได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบความเสียหายนั้น
หมวด 5 ความรับผิดทางจริยธรรม สาระใจความสำคัญของความรับผิดทางจริยธรรมตามกรอบธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าวฯ คือ เมื่อคณะกรรมการมีมติว่า องค์กรสมาชิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพข่าว ละเมิดจริยธรรมในเรื่องใด ในมตินั้นๆ จะต้องระบุให้มีการรับผิดทางจริยธรรมด้วย ซึ่งกำหนดไว้ 2 ระดับคือ 1.การตักเตือนหรือตำหนิ 2.ให้สถานีหรือผู้ผลิตรายการที่ถูกร้องเรียน เผยแพร่ข้อความ เสียงหรือภาพที่ผู้ร้องเรียนหรือได้รับความเสียหายต้องการในระยะเวลาและช่วงเวลาที่เหมาะสมภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัย โดยสภาวิชาชีพข่าวฯ และผู้ร้องเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
สำหรับความเป็นมาในการดำเนินการจัดตั้งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้เตรียมการเรื่องนี้มาตั้งแต่กลางปี 2548
[/wptab]
[wptab name=’สัมภาษณ์พิเศษ 12 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ฯ’]
สัมภาษณ์พิเศษ 12 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ฯ แตกต่างแต่ไม่แตกแยก
นายสมาน สุดโต กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และประธานจัดงานครบรอบ 12 ปีสภาการหนังสือพิมพ์ฯ
ในวาระครอบรอบ 12 ปี ตามหลักโหราศาสตร์ แล้ว เลข 12 มีความหมายอย่างไร
12 ปี หมายถึงรอบปีนักษัตร ที่เวียนมาบรรจบครบรอบหนึ่ง เป็นตัวเลขบ่งบอกถึงความเป็นมงคล ใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นองค์กร หรือ บุคคล ที่อยู่มาจนถึง 12 ปี ถือว่า มีความเจริญ เมื่อองค์กรของเราครบ 12 ปี ก็ถือว่ามีความเจริญ และผมมีความปรารถนาให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงการฉลองครบ 5 รอบนักษัตร หรือ 60 ปี ในอนาคต เมื่อถึงวันนั้นคงจะมีการทำแซยิด มีงานฉลองใหญ่ แต่ผมคงไปก่อนนานแล้ว
องค์กรของเราที่สถาปนามาครบ 12 ปี ในปีนี้ บ่งบอกให้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างตั้งแต่เกิดมาเมื่อ 4 กรกฎาคม 2540 สิ่งแรกคือความสามัคคีของอค์กรสมาชิกที่สนับสนุนสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ที่เป็นองค์กรของเขาอย่างสม่ำเสมอ สิ่งต่อมาเป็นการแสดงถึงการทำงานที่มีศักยภาพ และประสิทธิภาพขององค์กร จนเป็นเป็นที่ยอมรับขององค์กรสมาชิก ทั้งหมดนี้ประมวลให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้า ที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อควรภาคภูมิใจ
ขอทราบความเห็นในการใช้ประเด็นเรื่อง “ความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก” เป็น Theme ในการจัดงานครบรอบ 12 ปีสภาการหนังสือพิมพ์ฯ
ชื่อนี้มีความหมายเกือบไม่ต้องอธิบาย แต่เพื่อให้อ้างอิงได้ก็ขออธิบายว่าการทำงานครบรอบ 12 ปีในครั้งนี้เราทำหลายอย่างที่แตกต่างจากที่เราเคยฉลองกันมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นวาระครบ 6 ปี หรือปีต่อ ๆ มา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเราเติบโตและเจริญขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องทำอะไรที่ให้เห็นความคิดใหม่แตกต่างจากอดีต
เรื่องแตกต่างที่พอจะพูดได้คือ 1. การหาวิทยากรที่โดดเด่นมาพูดและมาตรวจสอบพวกเรากันเองกันเอง เช่นท่าน ว.วชิรเมธี (พระมหาวุฒิชัย) หรือวิทยากรที่เชิญมาร่วมเสวนาทั้ง 3 ท่านได้แก่ คุณเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ คุณสุนทร จันทร์รังสี และคุณไพศาล ศรีจรัสจรรยา ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือพิมพ์ และเป็นผู้ก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์ฯ
ทั้งสามท่านคงให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ต่อการบริหารงานสภาการหนังสือพิมพ์ในอนาคต ว่าจะเป็นอย่างไร นี่คือความแตกต่างที่เราจะนำเสนอให้มวลสมาชิก
เมื่อเราตรวจสอบคนอื่น หรือตรวจสอบพวกเรากันเอง แต่ในวันเกิดอย่างนี้ เราให้ผู้ที่อยู่ในวงการ หรือคนนอกอย่างท่านว. วชิรเมธี มาตรวจสอบเราบ้างจะได้เห็นข้อบกพร่อง เหมือนผงเข้าตา เราเขี่ยเองไม่ได้แม้จะเป็นเพียงผงเท่านั้น ต้องอาศัยผู้อื่นมาเขี่ยออก
ส่วนคำว่า “ไม่แตกแยก” นั้นคือ ไม่ว่าเราจะตรวจสอบกันเอง หรือให้คนอื่นมาตรวจสอบ เราก็ยังยึดมั่นในหลักการควบคุมกันเอง โดยไม่แตกแยกและรักกันเสมอ
ในฐานะที่ พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) เป็นพระสงฆ์ที่อยุ่นอกวงการสื่อ แล้วการที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ เชิญท่านมาเป็นองค์ปาฐกนั้น มองว่าท่านจะให้ข้อคิดเห็นในการเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ดีได้อย่างไร
ท่าน ว.วชิรเมธี ท่านเป็นคนที่มีมุมมองในด้านต่างๆ ทางด้านสังคม และภาคประชาคมที่เฉียบคม และแสดงความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ตลอดเวลา การที่เรานิมนต์ท่านมาพูดมาแสดงความคิดเห็นเพราะหวังว่า ท่านจะบอกให้พวกเราได้เห็นตัวเองว่าเรามีจุดบกพร่องตรงไหน จุดแข็งตรงไหน และควรจะดำเนินการอย่างไร
“คนเราเมื่อรู้จักตัวเราเอง หรือมีคนมาบอกให้เรารู้จุดบกพร่อง เราก็อยู่ในฐานะไม่ประมาท สามารถปรับปรุงและพัฒนาตนเองได้”
สภาการหนังสือพิมพ์จะให้ความสำคัญอะไรมากกว่ากันระหว่างองค์กรสมาชิก และภาคสังคม ต่อจากนี้ไป
เรื่องนี้เป็นนโยบาย ต้องฟังความเห็นจากคณะกรรมการทั้งคณะที่มีท่านปราโมทย์ ฝ่ายอุประเป็นประธาน ผมคนเดียวให้ความเห็นไม่ได้ นอกจากเป็นความเห็นส่วนตัว
ต่อคำถามนี้ผมว่าเราต้องทำทั้งสองด้าน เพราะมีความสำคัญเท่าเทียมกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ค้างคาใจ และเป็นคำถามกันเอง หรือจากวงนอกตลอดเวลาคือพวกเราทำกันจริงแค่ไหน ถ้าพวกเราทำกันอย่างจริงจังคำถามก็คงไม่เกิดขึ้นมาบ่อยๆ ที่เขาถามเขาพูดเพราะคิดว่าว่าพวกเราลูบหน้าปะจมูก ทำอย่างไรจะให้ความจริงปรากฎว่าพวกเรากรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ทำด้วยความตั้งใจดีกันทุกคน โดยให้เกียรติสมาชิก และผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่สื่อ ว่าเป็นผู้มีการเติบโตทางวุฒิภาวะ และคุณธรรม เข้าใจจริยธรรมของวิชาชีพดีเสมอ
การที่ยังมีคำถามว่าเราเอาจริงหรือไม่ อาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของสภาฯอย่างลึกซึ้งว่ามีขั้นตอนอย่างไรก็เป็นได้
ดังนั้นสิ่งที่เราต้องเดินหน้าต่อไปคือต้องมีแนวรุกให้สังคมเห็นว่าสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เอาจริงเอาจังเมื่อมีการละเมิดจริยธรรม จนกระทั่งสังคมหมดข้อสงสัย แต่จะรุกอย่างไร ต้องเป็นการบ้านของกรรมการทุกท่านครับ
[/wptab]
[wptab name=’ประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.จดแจ้งฯ’]
ประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.จดแจ้งฯ
สภาฯ นสพ.ย้ำจุดยืนห้ามใช้ควบคุม
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 52 ที่ผ่านมาสำนักหอสมุดแห่งชาติจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อการบังคับใช้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ณ ห้องประชุมสำนักงานสำนักหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ต.ท.สุทธิพงศ์ แจ้งอริยวงศ์ รอง ผกก.ฝอ.4 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ บนเวที และนางสาวมาลีภรณ์ คุ้มเกษรม นิติกรระดับชำนาญการกลุ่มนิติกร สำนักงานเลขานุการกรม กรมศิลปากร ร่วมสัมนาแสดงความคิดเห็นและซักถามข้อข้องใจ
นางสาวมาลีภรณ์ คุ้มเกษรม นิติกรระดับชำนาญการกลุ่มนิติกร สำนักงานเลขานุการกรม กรมศิลปากร กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เนื่องจากได้มีการบังคับให้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ มา ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีนางลัดดา ตั้งสุภาชัย หัวหน้า ได้ตรวจพบสื่อประเภทวารสาร นิตยสารหลายฉบับที่ลงภาพข่าวไม่เหมาะสม อาทิ ภาพโป๊ เปลือยรวมถึงการโฆษณาโหลดคลิป ภาพโป๊ต่างๆ ประกอบกับได้รับการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวจากประชาชน ดังนั้นจึงได้ส่งเรื่องมายังกรมศิลปากร เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดสิ่งพิมพ์เหล่านั้น ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานจดแจ้งการพิมพ์ นอกจากนี้เมื่อประมาณต้นปี 2552 นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ประชุมเรื่องการใช้พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ เข้าไปควบคุมและจัดระเบียบสิ่งพิมพ์เหล่านี้ และมีผู้เสนอว่า ควรออกกฎกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ เข้าไปจัดระเบียบเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ภาพยนต์และวิดีทัศน์
นางสาวมาลีภรณ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรมศิลปากรมีหน้าที่เพียงเป็นผู้รับจดแจ้งการพิมพ์เท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจในการลงโทษ หรือดูแลสิ่งพิมพ์ลามกอนาจาร ดังนั้นจากปัญหาดังกล่าวท่านจึงเสนอว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.หรือไม่ วันนี้จึงจัดสัมมนาผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ พ.ต.ท.สุทธิพงศ์ แจ้งอริยวงศ์ รอง ผกก.ฝอ.4 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า แม้สื่อมวลชนจะมีสิทธิเสรีภาพอย่างไรก็ยังมีข้อจำกัดว่าต้องไม่ไปละเมิดบุคคล ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย เพราะสิทธิเสรีภาพต้องควบคู่กับความรับผิดชอบ และปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสื่อมีความรับผิดชอบมาก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบ และปัจจุบันมีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเป็นองค์กรที่ควบคุมจริยธรรมได้ดีอยู่แล้ว ที่ผ่านมาหากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบหนังสือพิมพ์ที่ไม่เหมาะสมจะทำหนังสือไปยังสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เพื่อให้ตรวจสอบกันเองมากกว่า
รอง ผกก.ฝอ.4 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามกรณีการลงโฆษณาหนังสือพิมพ์จะมีหลักเกณฑ์การพิจารณา แต่ที่ผ่านมายังมีบางส่วนที่ไม่เหมาะสม และแม้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการเอาผิดได้ แต่ยังมีกฎหมายฉบับอื่นๆ เช่น การอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 2 วรรค 3 ระบุว่า การลงโฆษณาห้ามใช้การโฆษณาที่มีการสนับสนุนโดยตรงและโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมที่นำไปสู่ความเสื่อมเสียวัฒนธรรมของชาติ ดังนั้นศูนย์เฝ้าระวังเมื่อตรวจพบการกระทำที่เข้าข่ายลามกอนาจารสามารถส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการโฆษณาพิจารณาได้ สามารถดำเนินการได้ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการได้กับหนังสือที่ลามกอนาจารจริงๆ เท่านั้น เช่น หนังสือใต้ดิน เป็นต้น
ด้านนายมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 เพื่อต้องการให้มีการจดแจ้งเอาไว้เพื่อการตรวจสอบว่าใครเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และลักษณะสิ่งพิมพ์เป็นอย่างไรเท่านั้น แต่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อควบคุม หรือลงโทษสิ่งพิมพ์ อย่างไรก็ตามเสรีภาพของสื่อมวลยังมีจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเป็นตัวกำกับ และในรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาได้ให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชนเอาไว้แต่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 45 ระบุว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น แต่การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ปัจจุบันมีกฎหมายประมาณ 30 ฉบับ อาทิ ประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว วิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา พรบ.รักษาความมั่นคง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฯลฯ
อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวต่ออีกว่า แม้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ไม่ได้ให้อำนาจในการดูแลสิ่งพิมพ์ลามกอนาจาร แต่สามารถเอาผิดได้ตามกฎหมายอาญา มาตรา 287 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2525 วงเล็บหนึ่ง วงเล็บสอง และวงเล็บสาม ระบุว่าผู้ที่ผลิต หรือเผยแพร่ จำหน่ายสิ่งลามกอนาจารต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท โดยมีเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นหากท่านใดได้รับผลกระทบสามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อย่างไรก็ตามการจะพิจารณาว่าลักษณะอย่างไรถึงเรียกว่าลามกอนาจารนั้นเป็นเรื่องยากเพราะอยู่ที่มุมมองของแต่ละบุคคล แต่หากยึดเอาคำตัดสินของศาลฎีกาเป็นหลักคำว่าลามกอนาจารจะมี ๒ ลักษณะ คือ ๑. ภาพการร่วมเพศ ๒. ภาพที่เปิดเผยของลับทั้งชายและหญิง ทำให้ง่ายต่อการพิจารณามากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงการเปิดเวทีให้มีการซักถามข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามพรบ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ มีนักหนังสือพิมพ์หลายท่านคัดค้านการใช้ชื่องานสัมมนาว่า “การบังคับใช้พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 เพื่อควบคุมและจัดระเบียบหนังสือพิมพ์” เนื่องจากชื่อดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน จึงขอให้มีการเปลี่ยนชื่อการสัมมนามาเป็น “การบังคับใช้พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นแนวทางในการจัดระเบียบหนังสือพิมพ์”
[/wptab]
[wptab name=’แนะนำสมาชิก’]
แนะนำสมาชิก
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติรับหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ เข้าเป็นสมาชิกใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2552 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2551 โดยนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ภายใต้ชื่อบริษัท เอสเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด มีหนังสือพิมพ์ในเครือทั้งหมด 3 ฉบับคือหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายเดือน สำนักงานตั้งอยู่ที่ 102/1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทร. 0-2629-4488 โทรสาร 0-2629-4470 URL: http://www.manager.co.th
หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ราย 5 วัน เป็นหนังสือพิมพ์ประจำจังหวัดลำปาง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 โดยสุรศักดิ์ ภักดี สำนักงานตั้งอยู่ที่ 341 ซอยสามแยกเวียงทอง ถนนดวงรัตน์ ตำบลสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 52000 โทร. 0-5432-5068 โทรสาร. 0-5432-5068 URL: www.lannapost.net
ทั้งนี้สภาการหนังสือพิมพ์ฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับเข้ามาเป็นสมาชิกโดยสมัครใจเพื่อดูแลจริยธรรมในการเสนอข่าวสารอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนต่อไป
[/wptab]
[wptab name=’บทความพิเศษ : นักข่าวรับสินบน เรื่องจริงจากสนามข่าว’]
บทความพิเศษ โดย อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์
อนุกรรมการฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
นักข่าวรับสินบน เรื่องจริงจากสนามข่าว
การศึกษารายงานเฉพาะบุคคล เรื่อง “พฤติกรรมการเรียกรับสินบนของนักข่าวและขบวนการเรียกรับสินบน” ของนางสาวอัชณา จิณณวาโส หัวหน้าข่าวการเงิน – การคลัง – หุ้นจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 1 จัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของนักข่าวบางกลุ่ม ที่อาศัยวิชาชีพในการแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะการจัดสรรผลประโยชน์อย่างลงตัวระหว่างผู้ให้ คือหน่วยงานหรือ องค์กรด้านประชาสัมพันธ์ หรือพีอาร์ กับนักข่าวบางคน
สื่อมวลชนมีหน้าที่ในการกระจายข้อมูลข่าวสารไปยังมวลชนจำนวนมาก จึงมีอิทธิพลในการสร้างกระแสข่าวได้เป็นอย่างดี ทำให้สื่อมีความสำคัญในชีวิตประจำวันอย่างมาก หากสื่อนำเสนอข่าวแบบมีจรรยาบรรณ ตรงไปตรงมา เป็นกลาง ไม่ขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็พบว่ามีนักข่าวที่ไม่มีจรรยาบรรณอีกไม่น้อย คอยสร้างกระแสเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง และปัญหาของสื่อคือ คนทำสื่อขาดจิตสำนึกสาธารณะอย่างแท้จริง ไร้เกียรติยศและศักดิ์ศรี และปัญหาใหม่ที่พบในขณะนี้ก็คือ การใช้สื่อเป็นเครื่องมือหลอกลวงสังคม เป็นเครื่องมือทางธุรกิจและการเมือง จึงไม่สามารถเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่าสื่อมวลชนได้ เพราะความเป็นสื่อจะวัดกันได้ที่จิตสำนึกที่แท้จริงของคนทำสื่อ และพันธะสัญญาความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม จะต้องตรวจสอบสังคม ดังนั้นการอาศัยวิชาชีพสื่อเพื่อหาประโยชน์ จึงควรจะถูกประนามจากคนในวิชาชีพด้วย
เนื่องจากมีเจ้าของธุรกิจหลายรายที่ต้องการเป็นข่าว โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง คิดแต่ว่า “มีเงิน…อะไรก็ซื้อได้” ประกอบกับมีนักข่าวบางคน มีความต้องการในเรื่องนี้ ทำให้ผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่ายลงตัว นำเอาวิชาชีพของตัวเองมาหาผลประโยชน์ สร้างเป็นธุรกิจ และกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งพฤติกรรมที่พบว่าการรับสินบนแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เคยให้สินบนแก่สื่อมวลชนแบบตั้งใจ กลุ่มที่ 2 ให้สินบนด้วยความจำเป็น กลุ่มที่ 3 ไม่รู้วิธีการให้สินบน เนื่องจากยังเข้าไม่ถึงผู้รับ กลุ่มที่ 4 เป็นผู้รับสินบน ซึ่งช่วยยืนยันได้อย่างชัดเจนว่ามีการรับสินบนในวงการนักข่าวจริง
คำว่า “สินบน” ไม่ได้หมายถึง เงินหรือสิ่งของเสมอไป อาจเป็นการให้สิทธิพิเศษต่างๆ หรืออาจเรียกว่าเป็นการ “สร้างคอนเนคชั่นกับนักข่าว” เช่น การพานักข่าวไปเลี้ยงรับรองหวังสร้างความสนิทสนมส่วนตัว การให้ของขวัญนอกเทศกาลที่มีราคาสูงเป็นพิเศษ ให้นักข่าวมีสิทธิพิเศษในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าเป็นการเดินทาง ที่พัก หรือการยกเว้นค่าธรรมเนียมในเรื่องต่างๆ เป็นต้น โดยมีจุดหมายหลักในการได้เผยแพร่ข่าวหรือแก้ข่าวในด้านลบของหน่วยงานหรือองค์กรตัวเอง
ส่วนการแก้ไขปัญหานั้นมีอยู่ แต่ไม่มีหน่วยงานใดขึ้นมาแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะผู้ที่อยู่เบื้องหลังเป็นผู้มีอิทธิพลและเข้าใจจุดอ่อนที่เป็นช่องว่างของ นักข่าวเทียมที่ไม่รักในศักดิ์ศรีของตนและทุจริตต่อวิชาชีพ ซึ่งมักจะอ้างว่า เงินเดือนน้อย สวัสดิการไม่ดี ไม่มีความก้าวหน้า ไม่รักในองค์กร คิดเพียงว่า ไม่เสียหายอะไร คนอื่นเขาก็ทำกัน หากนักข่าวทุกคนคิดเช่นนี้ อาชีพสื่อมวลชนคงเป็นเพียงอาชีพในฝันเท่านั้น เพราะสื่อจะกลายเป็นเพียง…ผู้รับ-ส่งเอกสาร ตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการให้เผยแพร่
นอกจากนี้ จะต้องมีการปลุกจิตสำนึกของผู้บริหารและพีอาร์ให้ใช้ความสามารถในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจของให้น่าสนใจ และควรจะเลิกกดดันฝ่ายประชาสัมพันธ์ (พีอาร์) เลิกวิธีการให้เงินพร้อมฝากข่าว หรือกดดันให้พีอาร์ต้องใช้ทุกกวิถีทางเพื่อให้ข่าวได้เผยแพร่ผ่านสื่อ ซึ่งเจ้าของธุรกิจสามารนำเสนอในรูปแบบของสกู๊ป หรือ Advertorial ในสื่อสิ่งพิมพ์ หรือ Tie in ในรายการโทรทัศน์ จะช่วยป้องกันปัญหายักข่าวที่จ้องรับเงินนอกระบบ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างฝ่ายโฆษณากับ กองบก.เพื่อปรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมการขายจะช่วยป้องกันการรับสินบนนอกระบบได้ และตัวแปรที่สำคัญ จะต้องสร้างเกราะป้องกัน “การรับเงินนอกระบบ” ของนักข่าว แต่ละองค์กรจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดช่องว่างในการทำงาน ต้องสร้างเกราะป้องกันการรับเงินนอกระบบให้แข็งแรง กำหนดค่าตอบแทนของนักข่าวให้เหมาะสมกับการทำงาน รวมทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยงานไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทนซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักข่าวทำผิดจรรยาบรรณได้
ดังนั้นในการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการเรียกรับสินบนในวงการสื่อมวลชนปัจจุบัน ซึ่งยืนยันได้ชัดเจนว่าการรับสินบน มีอยู่จริง ! และยังได้พัฒนาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งแพร่กระจายไปทุกวงการ ทุกสายงาน และมีวิธีการที่แตกต่างกันไป ซึ่งทางออกในแก้ปัญหาคงเป็นไปได้ยาก ต้องใช้ระยะเวลาในการขจัดระบบการรับสินบนให้หมดไป โดยเน้นการ “ปลูกจิตสำนึก” ของคนรุ่นหลัง และ “ปลุกจิตสำนึก” ของกลุ่มคนที่คิดว่าการรับสินบนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหรือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่ผู้รับอ้างเหตุโทษว่าเพราะเงินเดือนน้อยไม่พอกับค่าครองชีพ
จากคำจำกัดความคำว่า “สื่อมวลชน” หมายถึงการสื่อสารกับมวลชนโดยอาศัยเครื่องมือสื่อสารทั้ง หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ เพื่อเผยแพร่เนื้อหาสาระไปสู่มวลชนจำนวนมากได้รับรู้ หากสื่อไม่รับผิดชอบในการนำเสนอข่าวว่าจะเกิดผลเสียได้ และมีอีกไม่น้อย ที่ทำให้ผู้ประกอบในวิชาชีพสื่อได้รับความเสียหายมีมลทินจาก กลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามาแอบแฝงแสวงหาผลประโยชน์จากวิชาชีพ รวมทั้งสื่อที่หลงผิดไปแล้วสังคมให้อภัยคนที่สำนึกผิดได้เสมอ จำเป็นต้องช่วยกันปลูกจิตสำนึกให้นักข่าวรุ่นใหม่เพื่อให้ตระหนักถึงคำว่า “จรรยาบรรณของสื่อมวลชน” หากสังคมใดขาดจรรยาบรรณ สังคมนั้นจะขาดคุณธรรม หาความสงบสุขไม่ได้ เพราะไม่มีใครคอยสอดส่องดูแล มีแต่คนเห็นแก่ตัวครองเมือง
[/wptab]
[wptab name=’ตอบจดหมาย’]
ตอบจดหมาย
ไม่ทราบว่าบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติสามารถเปลี่ยนแปลงรายชื่อได้ทันทีหรือไม่ในกรณีทางหนังสือพิมพ์ได้มีการโยกย้ายและรับบุคลากรเข้ามาใหม่
เทพสิทธิ์ โมฬีชาติ
บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ
เรื่องบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ต้องยอมรับว่ายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันมาก ดังเห็นได้จากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดได้สอบถามเข้ามาก ซึ่งเข้าใจว่าผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ยังคงเคยชินกับบัตรประจำตัวของสมาคมต่างๆที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งสามารถไปขอใหม่หรือเปลี่ยนแปลงโยกย้ายได้ด้วยตนเอง
แต่บัตรของสภาการหนังสือพิมพ์ฯมิใช่เป็นเอกสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่เป็นเอกสิทธิ์ของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่เป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ดังนั้นบุคคลกรในกองบรรณาธิการทุกคน ยกเว้นฝ่ายสนับสนุนเช่นเลขานุการจึงต้องเป็นสมาชิกไปโดยปริยาย และต้นสังกัดต้องส่งรายชื่อบุคคลกรเหล่านี้มาให้สำนักงานเลขานุการสภาการหนังสือพิมพ์ออกบัตรประจำตัวให้
ดังนั้นการจัดทำบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวต้องส่งมาจากหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดและมีลายเซ็นต์บรรณาธิการรับรองเท่านั้น อีกทั้งเพื่อเป็นความสะดวกต่อกองบรรณาธิการและเพื่อความสมเหมาะด้านงบประมาณ ทางสภาการหนังสือพิมพ์จึงจัดช่วงเวลาให้มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อได้ตามช่วงเวลา ซึ่งจะมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
โดยรอบใหม่ที่จะเปิดให้มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อได้อยู่ในช่วงเดือนธันวาคม 2552-มกราคม 2553
อย่างไรก็ตามในกรณีรายชื่อกองบรรณาธิการที่เผยแพร่ทางเว๊ปไซส์ของสภาการหนังสือพิมพ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ขอขอบคุณ
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
[/wptab]
[end_wptabset]