[wptab name=’จดหมายข่าวประจำเดือนก.ค – ส.ค 51′]
แถลง
4 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบ 11 ปีการก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และเป็นประจำทุกปีที่จะมีการจัดกิจกรรมในวาระดังกล่าว
โดยในช่วงเช้าคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดห้องประชุมพบปะพูดคุยกับผู้แทนหนังสือพิมพ์ที่เป็นสมาชิกจากต่างจังหวัด ซึ่งปีนี้มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเข้าร่วมจำนวนมาก
นอกจากจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบถามเรื่องที่ยังไม่เข้าใจ หรือเสนอแนะข้อคิดเห็นและมุมมองต่าง ๆ เพื่อให้งานของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เกื้อหนุนวงการวิชาชีพหนังสือพิมพ์อย่างทั่วถึง
จากนั้นในช่วงบ่ายก็ร่วมรับฟังรายการเชิงวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับงานของวิชาชีพ ปีนี้เป็นการสนทนากลุ่มในหัวข้อ “สงครามข่าวสารกับการรู้เท่าทันของสื่อมวลชน”
โดยมีผู้ร่วมสนทนาคือ 3 คณบดีจาก 3 สถาบัน ที่เปิดการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์ กับอีกหนึ่งแกนนำองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อสะท้อนมุมมองต่อบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเวลานี้ ซึ่งเป็นภาวะความขัดแย้งทางความคิดเห็นอย่างรุนแรงยิ่งอีกครั้งหนึ่งในสังคมไทย และสื่อมวลชนเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
คำถามหนักหน่วงต่อบทบาทสื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นกลางหรือสื่อเลือกข้าง และที่หนักหน่วงไปยิ่งกว่า คือ สื่อบิดเบือน เติมเชื้อความรุนแรง
มุมมองและข้อเสนอของวิทยากรผู้ร่วมสนทนา ย้ำและประยุกต์หลักวิชานิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ กับการทำงานของสื่อในสถานการณ์จริงว่า หากใครยึดมั่นและกล้าหาญในหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพดังประกาศของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก็สามารถยืนตัวตรงทานกระแสรุนแรงของความคาดหวังและแรงกดดันต่าง ๆ โดยไม่หวั่นไหว และไม่ต้องตั้งคำถามกับใจตัวเองว่า เรายังเป็นสื่อมวลชนอยู่อีกหรือ
คณะผู้จัดทำ
[/wptab]
[wptab name=’“การทำข่าวไม่ใช่ธุรกิจ”’]
“การทำข่าวไม่ใช่ธุรกิจ”
“คนที่มีปฏิญญาแห่งวิชาชีพที่เข้ามาสังกัดเป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ทั้งๆ ที่มีหนังสือพิมพ์อยู่หลายพันฉบับ แต่หนังสือพิมพ์ที่เป็นที่ยอมรับมีอยู่ไม่กี่ฉบับ เพราะฉะนั้นเราต้องปกป้องศักดิ์ศรี และสิทธิเสรีภาพที่นำจากประชาชนมาใช้ ด้วยการมีจรรยาบรรณ และการไม่ลำเอียง” {mosimage}
นักหนังสือพิมพ์เป็นอาชีพอิสระตามระบอบประชาธิปไตย มีการต่อสู้กับอำนาจทุนและอำนาจต่าง ๆ มานาน กระทั่งปัจจุบันทุกคนสามารถจดทะเบียนทำหนังสือพิมพ์ได้ และเรียกตนเองว่าเป็น “นักหนังสือพิมพ์” ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมาสามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจนระหว่างหนังสือพิมพ์ที่เป็นมืออาชีพ หนังสือพิมพ์อุดมการณ์ หนังสือพิมพ์ที่มีอุดมคติ คำปฏิญาณของนักหนังสือพิมพ์ที่มีจริยธรรมกำกับ จะหลิ่วตาหรือเบี่ยงเบนไม่ได้โดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีสื่อมวลชนหลากหลายสาขาเกิดขึ้นมา โดยเฉพาะวิชาชีพหนังสือพิมพ์เองนั้น ทุกคนสามารถยื่นความประสงค์ขอออกหนังสือพิมพ์ได้ ทำให้มีสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา แล้วอ้างสิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์เพื่อเข้ามาแสวงหาผลกำไร นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อสื่อมวลชนในขณะนี้ หากปล่อยปะละเลยเท่ากับไม่ปกป้องรักษาสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรี ในขณะที่มีสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เป็นกรอบอยู่ จึงไม่สามารถยอมให้คนที่ไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์แต่เรียกตนเองว่านักหนังสือพิมพ์ เพื่อหาผลประโยชน์ให้ผ่านเลยไปได้ เพราะทำให้นักหนังสือพิมพ์ที่แท้จริงเกิดความเสียหาย เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียง และถูกกล่าวหาอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นการที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ส่งหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอความร่วมมืองดให้สิ่งของค่าตอบแทนการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวอย่างที่ออกไป คือการแก้ปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาที่ทำไปนั้นย่อมเกิดการต่อต้านจากกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีศักดิ์ศรี หรือคนที่ไม่เข้าใจในศักดิ์ศรี ว่ามาจากจริยธรรม มาจากการต่อสู้ของคนหนังสือพิมพ์ และเห็นว่าการทำข่าวเป็นธุรกิจ แต่ความจริงแล้วการทำข่าวไม่ใช่ธุรกิจ การทำหนังสือพิมพ์ต่างหากที่มีส่วนเป็นธุรกิจแต่เป็นธุรกิจที่มีอุดมการณ์กำกับ การทำข่าวเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจหนังสือพิมพ์ หากใครสมัครใจที่จะมีศักดิ์ศรีของการเป็นนักหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าวส่วนภูมิภาคหรือของหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง ก็ต้องยอมรับในกติกาดังกล่าวด้วยเช่นกัน
จึงถือเป็นหน้าที่ของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ที่เปรียบเสมือนร่มใบใหญ่ ที่คอยดูแลด้านคุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณของหนังสือพิมพ์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่เป็นสมาชิก ที่ต้องบอกกล่าวตักเตือนได้ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องว่า การให้สิ่งของค่าตอบแทนเป็นสิ่งที่ผิดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อ
อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์ต้องมีวิจารญาณที่จะดูแลตัวเอง คือบรรณาธิการดูแลการเสนอข่าว มีวิจารณญาณควบคุม และดูแลผู้สื่อข่าวส่วนภูมิภาค และผู้สื่อข่าวส่วนภูมิภาคมีหน้าที่สวมจิตวิญญาณนักหนังสือพิมพ์ และทำให้ได้ออกมาอย่างมีคุณภาพ และเลือกข่าวที่มีคุณค่ามานำเสนอ ส่วนทุนเรื่องการเดินทาง หรือการได้สิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานถือเป็นสิทธิ แต่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาในลักษณะของการรีดไถ หรือขอเงินจากผู้อื่น ซึ่งทำให้บุคคลเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างขาดความเป็นธรรม เพราะผู้สื่อข่าวตกอยู่ภายใต้อิทธิพล อยู่ภายใต้ความเกรงใจ ไม่ว่าจะเป็นการรับซองขาวหรือไม่ก็ตาม
“คนที่มีปฏิญญาแห่งวิชาชีพที่เข้ามาสังกัดเป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ทั้งๆ ที่มีหนังสือพิมพ์อยู่หลายพันฉบับ แต่หนังสือพิมพ์ที่เป็นที่ยอมรับมีอยู่ไม่กี่ฉบับ เพราะฉะนั้นเราต้องปกป้องศักดิ์ศรี และสิทธิเสรีภาพที่นำจากประชาชนมาใช้ ด้วยการมีจรรยาบรรณ และการไม่ลำเอียง”
เพราะฉะนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ควรทำความเข้าใจกับองค์กรสมาชิกว่า สิ่งที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ทำเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่อาจมีการคลาดเคลื่อนในกระบวนการส่งสาร หรือด้วยเจตนาอย่างอื่นก็ตาม นอกจากนี้ยังเป็นหน้าที่ขององค์กรสมาชิก ที่ต้องอธิบายให้บุคลากรในสังกัดเข้าใจ และปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความแตกต่างที่ชัดเจน ระหว่างหนังสือพิมพ์ที่แท้จริงกับสิ่งที่เสมือนหนังสือพิมพ์ และใช้ประโยชน์จากการป้องกันหรือการปรามนั้นให้เกิดประโยชน์กับตนเอง แต่หากอธิบายแล้วยังไม่เข้าใจ แสดงว่าประโยชน์ของบุคคลเหล่านั้นคือ การหารายได้จากการทำข่าว ทำประชาสัมพันธ์ ทำหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่จากศักดิ์ศรีของการทำหนังสือพิมพ์
“เมื่อเป็นเช่นนี้เรายังต้องการคนเหล่านี้ให้อยู่ในแวดวงการทำงานของสื่อหรือไม่ เพราะฉะนั้นเราต้องแยกตัวเราเองให้ออกว่าเราเป็นหนังสือพิมพ์ในสังกัดสภาการหนังสือพิมพ์ที่มีมาตรฐาน ส่วนคนอื่นจะเป็นอย่างไร จะโวยวายอย่างไรถือเป็นเรื่องของเขา”
……………………………………………………………………………………………………………
เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของคำอภิปรายของอ.พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ที่ปรึกษาคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในการประชุมร่วมกับผู้แทนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นองค์กรสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งจัดการหารือขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ในวาระวันครบรอบ 11 ปีการก่อตั้ง โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนกรณีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีหนังสือเวียนแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานต่าง ๆ ขอความร่วมมือให้งดการแจกซองค่าเดินทางหรือค่าน้ำมันแก่ผู้สื่อข่าวในการจัดแถลงข่าวต่าง ๆ จนมีปฏิกิริยาจากสื่อมวลชนสาขาต่าง ๆ ในหลายจังหวัด
[/wptab]
[wptab name=’คำประกาศเกียรติคุณหนังสือพิมพ์ส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๑’]
คำประกาศเกียรติคุณหนังสือพิมพ์ส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๑
ด้วยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จากการริเริ่มของคณะอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม ได้จัดให้มีโครงการประกาศเกียรติคุณ “หนังสือพิมพ์ส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพดีเด่น” ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๕๐ โดยความร่วมมือของ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ Media Monitor
ต่อมาในปี ๒๕๕๑ คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการดังกล่าวนี้ เป็นโครงการที่สมควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงได้ขอความร่วมมือไปยัง โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม อีกครั้ง เพื่อดำเนินการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาการนำเสนอข่าวหน้า ๑ และการตีพิมพ์โฆษณาของหนังสือพิมพ์ภาษาไทย ทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาคแยกประเภทดังนี้
– หนังสือพิมพ์รายวันจำนวน ๑๕ ฉบับ ศึกษาระหว่างวันที่ ๑ เมษายน – ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ รวมระยะเวลา ๒ เดือนเต็ม
– หนังสือพิมพ์ราย ๓ วันจำนวน ๔ ฉบับ ศึกษาระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม – ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ รวมระยะเวลา ๓ เดือนเต็ม
– หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์จำนวน ๗ ฉบับ ศึกษาระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม – ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ รวมระยะเวลา ๓ เดือนเต็ม
– หนังสือพิมพ์ราย ๑๐ วัน/๑๕ วันและรายเดือนรวมจำนวน ๑๔ ฉบับ ศึกษาระหว่างวันที่ ๑ มกราคม – ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ รวมระยะเวลา ๖ เดือนเต็ม
ทั้งนี้ ในการศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าว คณะผู้ศึกษาได้ยึดหลักจริยธรรมวิชาชีพที่ระบุไว้ในข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ.๒๕๔๑ จำนวน ๑๐ ข้อ (จากทั้งหมด ๓๐ ข้อ) อาทิ การไม่แต่งเติมเนื้อหาสาระของข่าวจนคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง การไม่สอดแทรกความคิดเห็นลงในข่าว การไม่เสนอข่าวด้วยความลำเอียงหรือมีอคติ การเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาแสดงข้อเท็จจริงของฝ่ายตน และการทำให้เกิดความชัดเจนกรณีตีพิมพ์ข้อความโฆษณาแอบแฝงที่มาในรูปของการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็น ฯลฯ เป็นต้น
จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า มีหนังสือพิมพ์ที่ผ่านการศึกษาด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว และมีการนำเสนอข่าว ภาพข่าว และข้อความโฆษณาที่อาจเข้าข่ายละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ข้างต้น น้อยที่สุด สมควรได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็น “หนังสือพิมพ์ส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพดีเด่นประจำปี ๒๕๕๑” ดังต่อไปนี้
ประเภทหนังสือพิมพ์รายวัน
รางวัลดีเด่น ได้แก่
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
รางวัลชมเชย มี ๒ รางวัลได้แก่ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์
ประเภทหนังสือพิมพ์ราย ๓ วัน
รางวัลดีเด่น ได้แก่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
รางวัลชมเชย ได้แก่
หนังสือพิมพ์โคราชรายวัน จังหวัดนครราชสีมา
ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
ประเภทหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์
รางวัลดีเด่น พบว่า ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใด สมควรได้รับรางวัลดีเด่น แต่มีหนังสือพิมพ์ที่ได้รับ รางวัลชมเชยจำนวน ๒ รางวัลได้แก่ หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ จังหวัดสงขลา และหนังสือพิมพ์สมิหลาไทม์ จังหวัดสงขลา
ประเภทหนังสือพิมพ์ราย ๑๐ วัน/๑๕ วันหรือรายเดือน
รางวัลดีเด่น ได้แก่หนังสือพิมพ์สมาร์ทนิวส์ จังหวัดยะลา
ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
รางวัลชมเชย มี ๒ รางวัล ได้แก่ หนังสือพิมพ์เสียงสาริกา จังหวัดนครนายกและหนังสือพิมพ์เม็งราย จังหวัดเชียงรายได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
[/wptab]
[wptab name=’เปิดแฟ้มเรื่องร้องเรียน’]
โดย ชาย ปถะคามินทร์
เลขานุการคณะอนุกรรมการฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์
พาดหัวข่าวอย่าเอาแต่มัน
กรณีเรื่องสืบเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่า หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2549 ได้เสนอภาพและข่าวในหน้า 3 พาดหัวข่าว “แคชเชียร์แสบ” พร้อมด้วยภาพสตรี โดยระบุ ชื่อ นามสกุล ว่าเป็นใคร อายุ 18 ปี และบรรยายใต้ภาพว่า แคชเชียร์ร้านสะดวกเซเว่นอีเลฟเว่น ในปั้มน้ำมันปิโตรเลียม อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ทำแผนประกอบคำรับสารภาพภายหลังขโมยเงิน 7,000 บาท ไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นการกระทบกระเทือนเสียหายต่อประวัติชีวิต และครอบครัว ญาติพี่น้องของผู้ตกเป็นข่าว
คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นการเสนอข่าวสุภาพสตรีอายุ 18 ปี ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงจะไม่ปรากฏชัดเจนว่าเป็นผู้เยาว์หรือไม่ก็ตาม ก็เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว ซึ่งถือว่าละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2541 ข้อ 15 จึงมีมติให้ตักเตือนการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หมวด 2 ข้อ 26 (4) ให้ระมัดระวังการเสนอข่าวเช่นนี้ต่อไป ผู้ร้องเรียนและหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ผู้ถูกร้องเรียน ไม่ติดใจอุทธรณ์ จึงเสนอให้คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพิจารณา
คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่า การนำเสนอภาพและข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว แม้ไม่เป็นการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ในประเด็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้เยาว์ แต่เห็นว่าคำบรรยายใต้ภาพที่ระบุว่า “แคชเชียร์แสบ” เป็นการใส่ความเห็นในข่าว เพราะถือเป็นการตัดสินไปเองก่อน ทั้งที่ขณะนั้นผู้ตกเป็นข่าวเป็นเพียงผู้ต้องหา ยังไม่อาจถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดจนกว่าศาลจะได้พิพากษา การเสนอข่าวเช่นนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ข้อ 7 และข้อ 8
นอกจากนี้ การเสนอภาพและข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว แม้ว่าจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ตกเป็นข่าวในฐานะผู้เยาว์ แต่ในเมื่อฟังความได้ว่า ขณะที่มีการเสนอข่าว ผู้ตกเป็นข่าวยังมิได้ถูกศาลพิพากษาจนถึงที่สุด ย่อมส่งผลกระทบให้เกิดความเสื่อมเสียต่อผู้ตกเป็นข่าว ถือว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงเป็นการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ข้อ 15 ด้วย
คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงมีมติให้หนังสือพิมพ์…รับผิดทางจริยธรรม ด้วยการตักเตือนหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ให้พึงระมัดระวังการเสนอข่าวในลักษณะเช่นนี้ตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ข้อ 26 (4)
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
15 ตุลาคม 2550
สำหรับที่มาของคำวินิจฉัยนี้ สืบเนื่องมาจากการที่คุณวิไล อาภรณ์รัตน์ ได้ทำหนังสือร้องเรียนหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว มายังสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยเห็นว่าการนำเสนอข่าวและภาพดังกล่าว ขาดวิจารณญาณในการนำเสนอ เพราะทำให้เด็กอายุ 18 ปี ได้รับผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและครอบครัว ต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้ขอให้หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวชี้แจงข้อเท็จจริง และได้ส่งคำชี้แจงให้ผู้ร้องเรียนทราบตามขั้นตอน ก่อนมีมติตักเตือนให้ระมัดระวังในการนำเสนอข่าว โดยผู้ร้องเรียนและผู้ถูกร้องเรียนไม่ติดใจอุทธรณ์ และเมื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ก็ได้มีมติให้ตักเตือน โดยมีความเห็นเพิ่มเติมจากคณะอนุกรรมการฯ เป็นที่มาของคำวินิจฉัยดังกล่าว
[/wptab]
[wptab name=’หนึ่งปีเจอกันหนึ่งครั้ง นสพ.ต่างจังหวัดตั้งวงจับเข่าคุยสภาการฯ’]
แทบจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติประจำปีไปแล้ว สำหรับการจัดกิจกรรมวันครบรอบการก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ทุกวันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปี นอกจากกิจกรรมทางวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับแวดวงสื่อมวลชนในรูปแบบการจัดปาฐกถาพิเศษและเวทีสัมมนาในช่วงบ่ายที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่กรุงเทพฯแล้ว
สำนักงานเลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เห็นว่า เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น จึงเชิญชวนให้หนังสือพิมพ์สมาชิกจากต่างจังหวัดมาร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าวด้วย พร้อมทั้งจัดการประชุมหารือร่วมระหว่างคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กับผู้แทนหนังสือพิมพ์องค์กรสมาชิกจากต่างจังหวัดในช่วงเช้าด้วย
หลังกิจกรรมวิชาการในช่วงบ่ายแล้ว ยังได้จัดรายการพาเยี่ยมชมกิจการหนังสือพิมพ์ในส่วนกลางเพิ่มเติมในช่วงเย็นให้ด้วย เพื่อให้ผู้แทนหนังสือพิมพ์จากส่วนภูมิภาคได้ศึกษาดูงาน อาจได้แง่มุมเพื่อกลับไปพัฒนากิจการหนังสือพิมพ์ของตนเองต่อไป
ในปีนี้มีตัวแทนหนังสือพิมพ์สมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ฯจากต่างจังหวัดมาร่วมประชุมค่อนข้างหนาตา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการประกาศผลการประกวดรางวัดหนังสือพิมพ์ส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพดีเด่น ซึ่งปีนี้ขยายให้ครอบคลุมถึงหนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดด้วย และมีสมาชิกใหม่ประจำปี 2550 จำนวน 4 ฉบับ มาร่วมกิจกรรมและรับมอบข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ด้วย
ในช่วงการประชุมหารือซึ่งมีนายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธานที่ประชุม และมีที่ปรึกษาและอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ คือ อาจารย์พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร และนางบัญญัติ ทัศนียะเวช เข้าร่วมแลกเปลี่ยนด้วย เนื้อหาหลักเป็นการรายงานปฏิกิริยาของวงการสื่อมวลชนในต่างจังหวัดหลายแห่ง ต่อหนังสือของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่มีไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ขอความร่วมมือให้งดให้ค่าใช้จ่ายตอบแทนในการทำข่าวของนักข่าว
ทำให้มีความเคลื่อนไหวในหลายจังหวัด ออกมาตอบโต้ว่าสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติไม่มีอำนาจอะไรมาบังคับนักข่าวที่ไม่ได้เป็นสมาชิก และเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างหนังสือพิมพ์กับข้าราชการในพื้นที่ ปิดทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไม่ให้มีรายได้จากการประชาสัมพันธ์งานของหน่วยราชการ
ซึ่งกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ชี้แจงว่า การรณรงค์ในเรื่องดังกล่าว ได้ดำเนินการในส่วนกลางไปก่อนหน้านี้แล้ว และการขอความร่วมมือผู้ว่าฯและหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ก็เพื่อไม่ต้องการให้มีการเรียกรับค่าตอบแทนในการทำข่าว ทั้งนี้ หากหน่วยงานต้องการประชาสัมพันธ์ยังสามารถซื้อพื้นที่โฆษณาได้ตามปกติ เพียงแต่ทำให้ผู้อ่านแยกได้ชัดเจนว่า ส่วนไหนเป็นการรายงานข่าว ซึ่งนักข่าวต้องคัดเลือกข่าวที่ผู้อ่านสนใจมากที่สุด และส่วนไหนที่เป็นพื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่าง ๆ
ผู้แทนหนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดแจ้งว่า มีความเคลื่อนไหวของผู้สื่อข่าวในพื้นที่ ซึ่งนอกจากนักข่าวหนังสือพิมพ์แล้ว ยังมีนักข่าวสื่อประเภทอื่นด้วย ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น เตรียมตรวจสอบกลับนักข่าวหนังสือพิมพ์สมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ฯ นั้น
กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติยืนยันว่า การที่สังคมให้การยอมรับและยกย่องวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น เป็นเพราะนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ในอดีตได้ยืนหยัดอยู่ในปฎิญญาแห่งวิชาชีพมาแต่ก่อน นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ในวันนี้จึงต้องรักษาและเสริมสร้างต่อไป ซึ่งข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2541 นั้น ไม่เพียงแต่ใช้กำกับดูแลนักข่าวในสังกัดเท่านั้น แต่ยังเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติตนของนักหนังสือพิมพ์ที่มีมาตรฐานดีพอที่สังคมจะใช้กำกับผู้อยู่ในวิชาชีพนี้ทุกคน และขอให้หนังสือพิมพ์องค์กรสมาชิกได้ช่วยการทำความเข้าใจและเผยแพร่ความเข้าใจนี้ให้กับแวดวงสื่อมวลชนและสังคมต่อไป
ส่วนในช่วงเย็นนั้น ตัวแทนหนังสือพิมพ์จากจังหวัดต่าง ๆ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานกระบวนการทำงานของเครือสยามสปอร์ต ซินดิเคตฯ ผู้ผลิตสื่อด้านกีฬาและบันเทิงครบวงจร ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เนต ไปจนถึงการให้บริการกิจกรรมการแข่งขันและสันทนาการ ตลอดจนอีเวนท์ต่าง ๆ โดยนายระวิ โหลทอง ประธาน….. ได้มาต้อนรับด้วยตนเอง
จากนั้นจึงได้ไปชมขั้นตอนการผลิตสื่อประเภทต่าง ๆ อย่างทั่วถึง รวมทั้งเป็นคณะแรกที่ได้ชมเครื่องพิมพ์ระบบใหม่เอี่ยมที่เพิ่งติดตั้งแท่นเสร็จ และจะเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ สร้างความประทับใจแก่คณะผู้เยี่ยมชมกันถ้วนหน้า ซึ่งได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการเข้าเยี่ยมชมกิจการครั้งนี้ไปในหลายแง่หลายมุม สร้างแรงบันดาลใจแก่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่จะนำไปปรับใช้กับกิจการของตนเองต่อไป ปิดท้ายด้วยการเลี้ยงอาหารเย็นมื้ออร่อยจนอิ่มหนำกันถ้วนหน้า จนกว่าจะพบกันใหม่ในปีหน้า
[/wptab]
[wptab name=’ภาพข่าวเล่าเรื่อง’]
ภาพข่าวเล่าเรื่อง
ขอขอบคุณ
ทุกช่อดอกไม้ ทุกคำอำนวยพร ทุกแรงกายใจที่เกื้อหนุน ให้งานวันครบรอบ 11 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและภารกิจที่ทำมาต่อเนื่องสำเร็จลุล่วงมาเป็นลำดับ เพื่อช่วยสร้างสังคมพึงประสงค์ร่วมกันตลอดไป ขอขอบคุณจากใจจริง…
[/wptab]
[wptab name=’ต้อนรับสมาชิกใหม่’]
ต้อนรับสมาชิกใหม่
ตัวแทนหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับ สมาชิกใหม่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในรอบปี 2550 มารับมอบกรอบข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ในงานวันครบรอบ 11 ปีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 จากนายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
[/wptab]
[wptab name=’สภาการนสพ.พบผู้บริหาร สตช.’]
สภาการนสพ.พบผู้บริหาร สตช.
ผนึกความร่วมมือประสานการทำงาน
เมื่อไม่นานมานี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาตินำโดย นายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการฯ พร้อมคณะ เดินทางเข้าพบกับคณะผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยมี พล.ต.ท. วัชรพล ประสานราชกิจ ผช.ผบ.ตร. ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมคณะ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม…… เพื่อหารือและกระชับความร่วมมือใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.คำสั่ง ตร. ที่ 855/2548 เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าวต่อสื่อมวลชน 2. การสอบสวนและการประกันตัวนักข่าว 3. ปัญหาบัญชีดำห้ามบรรณาธิการไปต่างประเทศ ทั้งที่ถอนหมายจับแล้ว และ 4.การใช้บัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวที่ออกโดยสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เพื่อการเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ ทำให้ได้รับทราบข้อมูลของแต่ละฝ่ายเพื่อจะได้แก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อไป{mosimage}
โดยในประเด็นที่ 1. หลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งฉบับดังกล่าว เพื่อกำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานสอบสวน ในการแถลงข่าวหรือให้ข่าวแล้ว ตัวแทนสื่อมวลชนร้องเรียนว่าเป็นแนวปฏิบัติที่เข้มงวดเกินไป เป็นอุปสรรคต่อการรายงานข่าว ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพของสังคมไปด้วยนั้น ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งสตช.ที่ 465/2550 และทั้งสองฝ่ายได้ปรับการทำงานให้สอดคล้องกันแล้ว เนื่องจากต้องให้เกิดความสมดุล ระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง กับการรายงานข่าวเปิดเผยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและเรียนรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
จากนั้น ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ชี้แจงถึงการสอบสวนและการประกันตัวผู้สื่อข่าวว่า ได้ตรวจสอบไปยังสถานีตำรวจทุกแห่งแล้ว ได้รับรายงานว่า ไม่มีกรณีที่เป็นปัญหาหรือข้อขัดข้องในการให้ผู้สื่อข่าวใช้สิทธิประกันตัวหากตกเป็นผู้ต้องหาแต่อย่างใด รวมทั้ง หลังจากที่มีกฎหมายใหม่ที่กระทบถึงการทำข่าว อาทิเช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ที่ห้ามรายงานข่าวในทุกกรณีนั้น ยังไม่มีนักข่าวถูกฟ้องจากพ.ร.บ.นี้เลย
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ผู้แทนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอให้สตช.ย้ำแนวปฏิบัติ กับสถานีตำรวจ เรื่องการให้สิทธิบรรณาธิการที่ต้องคดีอาญาฐานหมิ่นประมาท ใช้ตำแหน่งบรรณาธิการและใบรับรองการเป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ในการประกันตัวแทนการใช้หลักทรัพย์ได้ ตามที่มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 260/2546 ลงวันที่ 24 เมษายน 2546 เนื่องจากมีสถานีตำรวจบางพื้นที่อ้างว่าไม่ทราบคำสั่งดังกล่าว
ส่วนข้อหารือที่ 3. คือ กรณีที่สื่อมวลชนถูกแจ้งดำเนินคดีหมิ่นประมาท ภายหลังคดีสิ้นสุดหรือมีการถอนหมายจับในชั้นศาลไปแล้ว เมื่อสื่อมวลชนหรือบรรณาธิการ จะเดินทางไปต่างประเทศ กลับไปไม่ได้ เพราะชื่อยังตกค้างในบัญชีที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เนื่องจากความล่าช้าของข้อมูลจากศาลไปยังสถานีตำรวจต้นทาง จึงขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดตามเรื่องดังกล่าวให้รวดเร็ว และพัฒนาสารบบให้รับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับบุคคลทั่วไปด้วย
และเรื่องที่ 4. ผู้แทนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แจ้งว่า บัดนี้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้จัดทำบัตรประจำตัวนักข่าวที่สังกัดหนังสือพิมพ์องค์กรสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเสร็จแล้ว โดยเป็นบัตรประจำตัวที่มีการตรวจสอบกลั่นกรองร่วมทั้งจากบรรณาธิการบริหารและสภาการหนังสือพิมพ์ฯ รวมทั้งสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปดูฐานข้อมูลเจ้าของบัตรได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากเว็บไซต์ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงขอให้นักข่าวที่ใช้บัตรประจำตัวที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติออกให้ เข้าไปทำข่าวในพื้นที่ได้ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับไปพิจารณาในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดในบางกรณีคือ การเข้าพื้นที่ในส่วนของงานพระราชพิธี โดยทางผู้แทนตำรวจสันติบาลแจ้งว่า เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ต้องถวายความปลอดภัย และต้องปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดไว้ว่า ผู้สื่อข่าวที่จะไปทำข่าวได้ต้องมีบัตรที่กรมประชาสัมพันธ์ออกให้ ซึ่งตำรวจสันติบาลต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ตราบที่ยังไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบดังกล่าว
[/wptab]
[wptab name=’สภาการนสพ.ยกทีมหารือผู้บริหารศาลยุติธรรม’]
สภาการนสพ.ยกทีมหารือผู้บริหารศาลยุติธรรม
จับมือส่งเสริมไกล่เกลี่ยพิพาทก่อนฟ้อง
สภาการหนังสือพิมพ์ฯยกทีมจับเข่าคุยคณะผู้บริหารศาลยุติธรรม ประสานความร่วมมือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เห็นพ้องแนวคิดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทลดจำนวนคดี เตรียมหารือต่อวางแนวปฏิบัติต่อไป ด้านคดีหมิ่นประมาทหนังสือพิมพ์นั้น ศาลย้ำตระหนักถึงการทำหน้าที่ของสื่อในการตรวจสอบนักการเมืองและบุคคลสาธารณะ{mosimage}
เมื่อวันพุธที่ 6 เมื่อวันที่ สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา นายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นหัวหน้านำคณะผู้แทนกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เข้าหารือกับนายพินิจ สุเสารัจ เลขาธิการศาลยุติธรรม พร้อมด้วย คณะผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม อาทิ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ช่วยทำงานในตำแหน่ง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์สำนักประธานศาลฎีกา ,นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ,นายเนติภูมิ มายสกุล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา , นายประสงค์ มหาลี้ตระกูล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม, นางพรพิมล จิรศิริเลิศ ผู้อำนวยการสำนักระงับข้อพิพาท เป็นต้น ณ ห้องประชุม 2 สำนักระงับข้อพิพาท ชั้น 5 อาคารศาลอาญา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางประสานงานร่วมกันในอนาคต
นายอรุณ ลอตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในประเด็นแรกเรื่องการประสานความร่วมมือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยที่ คณะอนุกรรมการฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ มาพิจารณา หาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีหลายกรณีที่สามารถเจรจาหาข้อยุติเป็นที่พอใจของคู่กรณี โดยไม่ลุกลามนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล จึงควรจะได้ประสานงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต
ในประเด็นนี้คณะผู้บริหารศาลยุติธรรมเห็นด้วยในภาพรวม โดยชี้ว่า มีแนวคิดตรงกันเรื่องการไกล่เกลี่ย เพราะเป็นการระงับข้อพิพาทที่ทั้งสองฝ่ายพอใจและช่วยลดจำนวนคดีความลงไปมาก อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เพราะคู่กรณีต้องเห็นชอบและสามารถยอมความในชั้นไกล่เกลี่ย แต่บางกรณีเรื่องที่ละเอียดอ่อนจึงต้องพิจารณาตามกฎหมาย จึงเห็นด้วยที่จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างศาลยุติธรรมกับสภาการหนังสือพิมพ์ฯ โดยยินดีให้ความร่วมมือทั้งการประสานงาน และสนับสนุนการทำงานทุกด้าน ซึ่งต้องแลกเปลี่ยนในขั้นการดำเนินงานในรายละเอียดในลำดับต่อไป อาจต้องจัดสัมมนาร่วมกันอีกครั้ง รวมทั้งอาจร่วมมือกันในเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ แก่ประชาชน
ประธานอนุกรรมการฝ่ายเผยแพร่กล่าวอีกว่า ในการหารือทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งในกระบวนการต้องมีการแต่งตั้งผู้ประนีประนอมที่เป็นคนกลาง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคดีความ ทั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประนีประนอม เพื่อรับรองว่าเป็นผู้มีความยุติธรรม และหากคู่กรณีเห็นว่าใครสามารถเป็นผู้ไกล่เกลี่ยก็สามารถเสนอรายชื่อได้ แต่ต้องเป็นคนที่ไม่เคยมีคดีความ เป็นที่ยอมรับนับถือ และสามารถประสานงานในการดำเนินคดีได้ อย่างไรก็ตามการไกล่เกลี่ยต้องขึ้นอยู่กับความประสงค์ของคู่ความ และมีความเข้าใจในกระบวนการไกล่เกลี่ยด้วย
ส่วนการประสานงานในประเด็นที่สองเรื่องการฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ นั้น ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า ส่วนใหญ่คู่กรณีของหนังสือพิมพ์จะเป็นนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะ ที่ถูกกระทบกระทั่งจากการที่สื่อมวลชนทำหน้าที่เสนอข่าวสาร ความถูกต้องเป็นธรรมแก่สังคม การทำงานของหนังสือพิมพ์เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ การฟ้องร้องหนังสือพิมพ์โดยนักการเมืองหรือผู้เสียประโยชน์ จึงไม่ควรใช้หลักคิดหรือกระบวนทัศน์ทั่วไปในการพิจารณาตัดสินคดีความ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าสื่อมวลชนมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น แต่หากสื่อไม่มีเสรีภาพเพราะเกรงกลัวไม่กล้าเสนอข่าว ประชาชนเสียประโยชน์เพราะไม่ได้รับรู้ข่าวสาร การพิจารณาคดีหมิ่นประมาทหนังสือพิมพ์จึงควรพิจารณาจากเจตนารมณ์ แทนการตัดสินตามตัวอักษรหรือตัวบท อย่างไรก็ตามการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนต้องมีขอบเขตและควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จึงพยายามสร้างระบบการควบคุมกันเองของสื่อ เพื่อให้หลักประกันกับสังคมว่า สื่อมวลชนจะไม่ใช้เสรีภาพเกินขอบเขต จนละเมิดสิทธิส่วนบุคคล พร้อมกับการสร้างความสมดุลและกลไกทางกระบวนการยุติธรรมด้วย
ในประเด็นนี้นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ยืนยันว่า จากกรณีดังกล่าวนับเป็นความคิดที่ตรงกัน หน้าที่ของสื่อมวลชนคือ การเสนอข่าวอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา และรวดเร็ว แต่การเสนอข่าวด้วยความรวดเร็วอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ และมีผลกระทบต่อบุคคลที่ตกเป็นข่าว ซึ่งบางครั้งเกิดความเสียหายรุนแรงมากกว่าชีวิตหรือเงินทอง จึงต้องมีการสร้างความสมดุลระหว่างคุณค่าของข่าวและความรวดเร็ว ทั้งนี้ การพิจารณาคดีความระหว่างคนที่มีชื่อเสียงกับบุคคลธรรมดามีการชั่งน้ำหนักอยู่แล้ว ความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม โดยหลักของกฎหมายหมิ่นประมาทมีการปกป้องสื่อ เพราะเห็นว่าเป็นการทำหน้าที่โดยชอบธรรม เพื่อให้ความจริงปรากฏ แต่เมื่อเกิดการฟ้องร้องศาลจึงต้องเข้าไปดูแล ดังนั้นประเด็นของการฟ้องร้องสื่อมวลชน จำเป็นต้องหารือกันว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อเป็นการดูแลให้เป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์ของทุกฝ่าย
ในช่วงท้ายนายนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง กล่าวสรุปว่า สื่อมวลชนเป็นองค์กรสำคัญที่ควรเป็นอิสระ ปราศจากแทรกแซง ส่วนเรื่องกระบวนทัศน์ต่าง ๆ นั้นหน่วยงานศาลเข้าใจ แต่กฎหมายบางอย่างย่อมมีข้อบกพร่อง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่า “กฎหมายเป็นกลไกของความยุติธรรม อย่าให้กฎหมายอยู่เหนือความยุติธรรม” ฉะนั้น หากเห็นว่าตัวกฎหมายหมิ่นประมาทมีความไม่เหมาะสม และสมควรได้รับการแก้ไขในวิธีการที่ถูกต้อง ส่วนการใช้สิทธิการเป็นสื่อมวลชนในการประกันตนแทนการใช้หลักทรัพย์ ในระยะหลังศาลพยายามประสานงานเพื่อทำความเข้าใจให้เพราะเป็นเรื่องสำคัญ
ส่วนอนาคตการพัฒนาระบบไกล่เกลี่ย การเสนอขอแก้กฎหมายหมิ่นประมาท ที่สื่อมวลชนเห็นว่าสมควรยกเลิกโทษจำคุก เพราะว่าสื่อมวลชนไม่ใช่อาชญากรที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำนั้น จำเป็นต้องหารือกันในรายละเอียดต่อไป
ด้านนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้แจ้งที่ประชุมด้วยว่า สภาการหนังสือพิมพ์ฯ มีข้อตกลงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่อง การให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนใช้สิทธิการเป็นบรรณาธิการประกันตนเองได้ ส่วนการประกันตัวในชั้นศาลนั้น อาศัยระเบียบว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราว ฉบับที่ 2 พ.ศ.2546 ที่กล่าวไว้โดยรวม ไม่ได้ระบุถึงอาชีพผู้สื่อข่าวโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้สมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด สามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่ประกันตนได้โดยใช้ใบรับรองการเป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมายื่น ซึ่งที่ผ่านมา สภาการหนังสือพิมพ์ฯไม่ได้รับผลตอบกลับว่า ศาลไม่รับพิจารณาใบรับรองจากสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เลย ดังนั้น จึงขอขอบคุณสำนักงานศาลยุติธรรมที่ให้ความร่วมมือตลอดมา แม้ไม่มีระเบียบออกมาใช้กับนักข่าวโดยเฉพาะ
ส่วนประเด็นคดีหมิ่นประมาทนั้น สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ต้องการให้มีการร่วมมือกันด้านวิชาการ ทั้งนี้สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ประสงค์จัดการสัมนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำวิจัยเรื่อง แนวคำพิพากษาของศาลในคดีหมิ่นประมาท ที่สิ้นสุดในชั้นต่าง ๆ เพื่อประสานงานการทำวิจัยเรื่องดังกล่าวให้เป็นระบบ โดยร่วมกับนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ เมื่อได้ข้อสรุปการวิจัยแล้วอาจจัดให้มีสัมมนากลุ่มย่อย เพื่อจำแนกประเด็นปัญหาดังกล่าวอีกครั้งว่า คดีหมิ่นประมาทมีปัญหาอย่างไร และมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อเชิญผู้พิพากษา 2-3 ท่านมาร่วมให้ความรู้ในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมได้แจ้งถึงปัญหาบรรณาธิการหรือผู้สื่อข่าวมีชื่อตกค้างอยู่ในบัญชีดำของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ ทั้งที่คดีสิ้นสุดหรือมีการถอนหมายจับไปแล้ว ซึ่งในคราวไปเยี่ยมคณะผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้หารือเรื่องดังกล่าว พบว่าปัญหาเกิดจากความล่าช้าในการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน เนื่องจากสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ขึ้นบัญชีดำห้ามเดินทางออกต่างประเทศจากต้นทางคือที่จุดเกิดเหตุ คือสถานีตำรวจ แต่เมื่อคดีเสร็จสิ้นหรือมีการถอนหมายจับจากศาลแล้ว การแจ้งข้อมูลดังกล่าวกลับมาถึงสถานีตำรวจมีความล่าช้า จึงทำให้มีรายชื่อตกค้างในบัญชีดำของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอยู่ ซึ่งทางตำรวจแจ้งว่าอยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างระบบงานภายในซึ่งจะได้บรรจุปัญหานี้ไว้เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องแก้ไข คาดว่าเร็ว ๆ นี้ทางสำนักงานตำรวจอาจประสานมาเพื่อวางระบบการสื่อสารระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น
[/wptab]
[wptab name=’สถาบันอิศราเปิดเว็บไซต์ข่าวเพื่อชุมชนเสริมศักยภาพสื่อท้องถิ่น’]
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวว่า โครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านการสื่อสารแก่สื่อภาคประชาชนและสื่อท้องถิ่น ถือเป็นส่วนหนึ่งในโครงการปฏิรูประบบสื่อสารเพื่อสุขภาวะ โดยสถาบันอิศรา มูลนิธิสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดทำโครงการผลิตข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อภาคประชาชนและสื่อท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไร เพื่อช่วยยกระดับและพัฒนาศักยภาพทางด้านผลิตข่าวสารที่เป็นองค์ความรู้ให้กับสื่อที่ต้องทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารไปยังประชาชนผู้รับสารให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง มีคุณค่า และช่วยให้ชุมชนและท้องถิ่นเกิดความรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างรอบด้าน
“การสร้างระบบการสื่อสารที่ดีถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีได้ แต่ระบบการสื่อสารที่มีอยู่ในปัจจุบันตอบสนองเฉพาะการรับรู้ของคนในสังคมเมือง ไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมได้เท่าที่ควร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างศูนย์รวมความรู้ให้เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาระบบการเข้าถึงและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างธรรมาภิบาลและสร้างศักยภาพให้แก่สื่อภาคประชาชน รวมทั้งช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆในสังคมกับสื่อมวลชน” ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าว
นายชวรงค์ กล่าวต่อว่า สถาบันอิศราจึงได้จัดทำเว็บไซต์
www.community.isranews.org ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยจะเป็นการสร้างหรือผลิตเนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ อาทิ ข่าวสารด้านการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ข่าวสารด้านเศรษฐกิจมหภาค ข่าวสารด้านการเกษตรและพืชผลทางการเกษตร ข่าวสารด้านสุขภาพ ข่าวด้านพลังงาน ข่าวสารเพื่อผู้บริโภค ฯลฯ ในรูปแบบข้อเขียน ภาพและเสียง เพื่อให้สถานีวิทยุชุมชน สถานีวิทยุท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสามารถนำไปใช้เพื่อเผยแพร่ในช่องทางสื่อของตนตามความเหมาะสม รวมถึงจะเป็นศูนย์กลางให้สื่อชุมชนและสื่อท้องถิ่นในเครือข่ายสามารถนำผลงานที่น่าสนใจมาเผยแพร่ต่อไปในช่องทางนี้ได้ด้วยสถาบันอิศรา
ISRA INSTITUTE
[/wptab]
[end_wptabset]