จดหมายข่าวประจำเดือนพ.ย – ธ.ค 50

[wptab name=’จดหมายข่าวประจำเดือนพ.ย – ธ.ค 50′]

แถลง

ตลอดปี 2550 นี้ จดหมายข่าวฯได้เป็นสื่อกลางเผยแพร่รายงานข่าวสารความเคลื่อนไหวการดำเนินการต่าง ๆ ของคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และเรื่องราวเกี่ยวเนื่องในวงวิชาชีพหนังสือพิมพ์โดยรวม มายังท่านผู้อ่านรวม 6 ฉบับ หรือเฉลี่ยสองเดือนครั้ง ซึ่งต่ำกว่าความตั้งใจเดิมที่จะเพิ่มความถี่ให้ได้เดือนละครั้ง

แม้ยังไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ แต่คณะผู้จัดทำก็พยายามที่จะให้เนื้อหาที่นำเสนอเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติทั้งมวล รวมถึงนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ตลอดจนสังคมโดยรวม ที่จะได้รับรู้ความเป็นไปของวงการหนังสือพิมพ์ และร่วมเป็นภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เพื่อช่วยส่งสียงบอกกล่าววงการหนังสือพิมพ์ด้วย

สื่อดีช่วยให้สังคมแข็งแรง สังคมเข้มแข็งช่วยให้สื่ออยู่ในกรอบที่ดี

จดหมายข่าวสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติฉบับนี้ มีรายละเอียดพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา กฎหมายใหม่นี้เกิดจากการผลักดันของคนในวงการหนังสือพิมพ์อย่างแท้จริง ซึ่งมีผลให้ยกเลิกพ.ร.บ.การพิมพ์ ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2485 และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอีก 2 ฉบับ ที่เคยใช้”ควบคุม”คนหนังสือพิมพ์

กฎหมายใหม่นี้เปลี่ยนแนวคิดใหม่ จากเดิมที่คนจะออกหัวหนังสือพิมพ์ต้องไปยื่นขออนุญาตจากภาครัฐ เปลี่ยนเป็นไปแจ้งให้ทราบเท่านั้น ถ้าผู้ยื่นมีหลักฐานครบตามข้อกำหนด เจ้าหน้าที่ต้องรับจดแจ้งแล้วออกหนังสือพิมพ์ได้เลย

อีกส่วนนั้นเป็นการรวบรวมข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และแนวปฏิบัติหรือประกาศต่าง ๆ ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเคยออกมาทั้งหมด เพื่อนำมารวมไว้ในที่เดียวกัน และในโอกาสเปลี่ยนพ.ศ.ใหม่ รวมไปถึงนักข่าวรุ่นใหม่ ๆ ที่เพิ่งเข้ามาสู่วิชาชีพ จะได้มีโอกาสได้ศึกษาทบทวนกันอีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องสำคัญของพวกเรา  จึงขอเรียกร้อง

โปรดอ่านอีกครั้งหนึ่ง

[/wptab]
[wptab name=’สภาการ นสพ. ลงมติ 2 เรื่องร้องผจก.-มติชน’]

สภาการ นสพ. ลงมติ 2 เรื่องร้องผจก.-มติชน
ยันไม่มีนโยบายแตกสาขาย่อยระดับจังหวัด

ที่ประชุมบอร์ดสภาการนสพ.นัดส่งท้ายปี 2550 มีมติ 2 ข้อร้องเรียน เตือน”ผู้จัดการ”ดูแลการใช้ภาษาของคอลัมนิสต์ต้องระวังไม่ใช้คำหยาบคายหรือส่อเสียด พร้อมยกคำร้องเรียน”มติชน” กรณีเสนอข่าวความขัดแย้งในมหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมย้ำไม่เกี่ยวข้องและไม่มีนโยบายตั้งสภาการหนังสือพิมพ์จังหวัด

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา  ได้มีการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 5 ครั้งที่ 11/2550 ประจำเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของปีนี้ โดยมีนายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

ระหว่างการประชุมนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้รายงานที่ประชุมว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น  ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมนี้ และมีผลให้ใช้บังคับแล้ว ซึ่งที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า มีภารกิจต่อเนื่องที่ต้องรีบดำเนินการ คือ หนึ่ง การพิจารณาผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ใหม่นี้ องค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์ควรเสนอนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง และการเผยแพร่ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพื่อให้ปรับตัวรับกฎหมายใหม่นี้ต่อไป ซึ่งเลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รับที่จะไปหารือกับผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ร่วมกันผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ร่วมกันมา และการจัดเวทีประชุมชี้แจงแก่เจ้าของ บรรณาธิการ และผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายอรุณ ลอตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนที่คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ได้ดำเนินการถึงขั้นตอนที่ต้องเสนอให้คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพิจารณา รวม 2 เรื่อง คือ กรณีร้องเรียน “ยอดรัก ตะวันรอน” คอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการแสดงความเห็นที่ข่มขู่คุกคามประชาชน และกรณี รศ. ดร. วิวัฒน์ชัย  อัตถากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ร้องเรียนการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์มติชน

ทั้งนี้ ในกรณีแรกคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่า บทความที่ถูกร้องเรียนดังกล่าวแม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นติติง แต่การใช้ภาษาพึงต้องหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่ไม่สุภาพหรือมีความหมายส่อเสียดเหยีดหยาม ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์  ข้อที่ 30 จึงมีมติให้ตักเตือนคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการให้ระมัดระวังการนำเสนอบทความในลักษณะเช่นนี้ต่อไป

ส่วนกรณีที่สองที่รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ร้องเรียนการเสนอข่าวความขัดแย้งในสถาบันของหนังสือพิมพ์มติชนว่าทำให้เกิดความเสียหาย และปฏิเสธการเปิดเผยแหล่งข่าว ขัดต่อเจตนารมณ์ของข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งหนังสือพิมพ์มติชนชี้แจงว่า ได้เสนอข่าวถูกต้อง ครบถ้วนและให้ความเป็นธรรมทุกฝ่ายและไม่อาจเปิดเผยแหล่งข่าวได้ ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ตรวสอบพิเคราะห์แล้วไม่ปรากฎหลักฐานที่แสดงว่ามีการเสนอข่าวผิดพลาด และการปกปิดชื่อแหล่งข่าวของหนังสือพิมพ์นั้นก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้รับการคุ้มครอง คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพิจารณาแล้วมีมติให้ยกคำร้องเรียนนี้ ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์เสนอ

ประธานอนุกรรมการฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือกันถึงกรณีมีผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคที่จังหวัดเชียงรายส่วนหนึ่ง ได้รวมตัวกันจัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์จังหวัดเชียงรายขึ้น โดยระบุว่าเพื่อเป็นองค์กรวิชาชีพควบคุมกันเอง และจะดำเนินการตามแนวทางของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติอย่างแข็งขัน รวมทั้งใช้ตราสัญลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาตินั้น คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขอย้ำว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นการดำเนินการกันเองในพื้นที่ และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติไม่มีนโยบายจัดตั้งเครือข่ายในระดับย่อยลงไปในทุกระดับ ทั้งนี้ การรวมตัวเพื่อควบคุมกันเองให้อยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์เป็นสิ่งที่ดีหากดำเนินการได้จริง และทุกภาคส่วนของสังคมควรเข้ามามีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบในทุกระดับด้วย
ประกาศในราชกิจจาฯแล้ว/พ.ร.บ.จดแจ้งฯเริ่มใช้บังคับ19ธ.ค.2550
วางกติกาใหม่วงการนสพ.

นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2550 ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ในวาระสองและสามโดยไม่มีผู้ใดอภิปรายไปแล้วนั้น วงการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนเฝ้าติดตามรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์ต่อไปด้วยใจจดจ่อนั้น

จนกระทั่งในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 93 ก วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา ได้ลงประกาศพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 แล้ว โดยพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

กฎหมายใหม่นี้ได้วางกรอบในการดำเนินการหนังสือพิมพ์ใหม่ ที่เปิดกว้างและสอดคล้องกับการให้หลักประกันในด้านสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนยิ่งขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนในวิชาชีพหนังสือพิมพ์ทุกคนที่ควรจะได้ศึกษาในรายละเอียดของกฎหมายใหม่ฉบับนี้ ดังต่อไปนี้


พระราชบัญญัติ
จดแจ้งการพิมพ์
พ.ศ.๒๕๕๐
____________________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๖ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

(๒)  พระราชบัญญัติการพิมพ์ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๕

(๓)  พระราชบัญญัติการพิมพ์ (ฉบับที ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๘

(๔)  คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๕ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช
๒๕๑๙

(๕)  คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๓๖ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม
พุทธศักราช ๒๕๑๙

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“พิมพ์” หมายความว่า ทำให้ปรากฎด้วยตัวอักษร รูปรอย ตัวเลข แผนผังหรือภาพโดย
วิธีการอย่างใด ๆ

“สิ่งพิมพ์”  หมายความว่า สมุด หนังสือ แผ่นกระดาษ หรือวัตถุใด ๆ ที่พิมพ์ขึ้นเป็นหลายสำเนา

“หนังสือพิมพ์” หมายความว่า สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงนิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่นทำนองเดียวกัน

“ผู้พิมพ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์

“ผู้โฆษณา” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า

“บรรณาธิการ” หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหา ข้อความ หรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย

“เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับกับสิ่งพิมพ์ ดังต่อไปนี้ คือ

(๑) สิ่งพิมพ์ของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ

(๒)  บัตร บัตรอวยพร ตราสาร แบบพิมพ์ และรายงานซึ่งใช้กันตามปกติในการส่วนตัว
การสังคม การเมือง การค้า หรือสิ่งพิมพ์ที่มีอายุการใช้งานสั้น เช่น แผ่นพับหรือแผ่นโฆษณา

(๓)  สมุดบันทึก สมุดแบบฝึกหัด หรือสมุดภาพระบายสี

(๔)  วิทยานิพนธ์ เอกสารคำบรรยาย หลักสูตรการเรียนการสอน หรือสิ่งพิมพ์อื่นทำนอง
เดียวกันที่เผยแพร่ในสถานศึกษา

มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๑
สิ่งพิมพ์
______________
มาตรา ๗ ผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณาสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่ในราชอาณาจักรต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

(๒)  มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร

(๓)  ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๔)  ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสาม
ปี หรือเป็นความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณา กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่งด้วย

มาตรา ๘  ในสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์และพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักรให้แสดงข้อความ ดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์

(๒)  ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา

(๓)  เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติได้ออกให้
ข้อความตามวรรคหนึ่งให้พิมพ์ไว้ในลักษณะที่เห็นได้ชัด และบรรดาชื่อตาม(๑) และ (๒)
มิให้ใช้ชื่อย่อ หรือนามแฝง

สิ่งพิมพ์ตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงสิ่งพิมพ์ที่บันทึกด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขายหรือให้เปล่าด้วย

มาตรา ๙ ให้ผู้พิมพ์ส่งสิ่งพิมพ์ตามมาตรา ๘ จำนวนสองฉบับให้หอสมุดแห่งชาติภายในสามสิบวันนับแต่วันเผยแพร่

มาตรา ๑๐ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์ใด ๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะกำหนดเวลาห้ามไว้ในคำสั่งดังกล่าวด้วยก็ได้

การออกคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นำข้อความที่มีลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาแสดงไว้ด้วย

สิ่งพิมพ์ที่เป็นการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจริบและทำลาย

หมวด ๒
หนังสือพิมพ์
________________มาตรา ๑๑ หนังสือพิมพ์ซึ่งพิมพ์ขึ้นภายในราชอาณาจักรต้องจดแจ้งการพิมพ์ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

ผู้ยื่นจดแจ้งการพิมพ์หนังสือพิมพ์ต้องยื่นแบบการจดแจ้งการพิมพ์และหลักฐานซึ่งต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ของผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์
แล้วแต่กรณี

(๒)  ชื่อของหนังสือพิมพ์

(๓) วัตถุประสงค์และระยะเวลาออกหนังสือพิมพ์

(๔) ภาษาที่หนังสือพิมพ์จะออกใช้

(๕)  ชื่อและที่ตั้งโรงพิมพ์หรือสถานที่พิมพ์

(๖) ชื่อและที่ตั้งสำนักงานของหนังสือพิมพ์
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบการจดแจ้งการพิมพ์และหลักฐานตามวรรคสองแล้ว ให้
รับจดแจ้งและออกหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งให้แก่ผู้ยื่นจดแจ้งโดยไม่ชักช้า เว้นแต่ผู้ยื่นจดแจ้งยังดำเนินการไม่ถูกต้องหรือครบถ้วนตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แนะนำให้ผู้ยื่นจดแจ้งดำเนินการให้ถูกต้องและครบถ้วนทุกเรื่องในคราวเดียวกันภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแบบการจดแจ้งการพิมพ์และหลักฐานการจดแจ้ง เมื่อได้ดำเนินการถูกต้องและครบถ้วนให้รับจดแจ้งพร้อมออกหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งให้แก่ผู้แจ้งโดยพลัน

หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นจดแจ้ง การจดแจ้ง การเปลี่ยนรายการหลักฐานการจดแจ้ง การยกเลิกหลักฐานการจดแจ้ง การกำหนดแบบการจดแจ้งการพิมพ์และอัตราค่าธรรมเนียมการจดแจ้งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๑๒ ในหนังสือพิมพ์ให้แสดงข้อความ ดังต่อไปนี้

(๑)  ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์

(๒)   ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา

(๓)  ชื่อของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์

(๔)  ชื่อและที่ตั้งของเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์
ข้อความตามวรรคหนึ่งให้พิมพ์ไว้ในลักษณะที่เห็นได้ชัด และบรรดาชื่อตามวรรคหนึ่งมิ
ให้ใช้ชื่อย่อหรือนามแฝง

มาตรา ๑๓ ชื่อของหนังสือพิมพ์ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อ
พระนามาภิไธยย่อ หรือนามพระราชวงศ์

(๒)  ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของบุพการี
หรือของผู้สืบสันดาน

(๓) ไม่ซ้ำกับชื่อหนังสือพิมพ์ที่ได้รับจดแจ้งไว้แล้ว

(๔) ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
มาตรา ๑๔ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

(๒)  มีสัญชาติไทย หรือสัญชาติแห่งประเทศซึ่งมีสนธิสัญญากับประเทศไทย

(๓)  มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร

(๔)  ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๕)  ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสาม
ปี หรือเป็นความผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

ผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยผู้ใดประสงค์จะเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๑๕ เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้พิมพ์ หรือผู้โฆษณาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

(๒)  มีสัญชาติไทย

(๓)  มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร

(๔)  ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๕)  ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสาม
ปี หรือเป็นความผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

มาตรา ๑๖ เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นนิติบุคคลต้องมีบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ ของหุ้นทั้งหมด และต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเป็นผู้มีสัญชาติไทยด้วย

ห้ามมิให้บุคคลใดถือหุ้นแทนบุคคลซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยในนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ตามวรรคหนึ่ง

เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นนิติบุคคลมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นหรือมีกรรมการเป็นผู้มีสัญชาติไทยน้อยกว่าจำนวนที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพิกถอนการจดแจ้ง ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๑๗ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดเปลี่ยนแปลงรายการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้ง ภายในสามสิบวันนับแต่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าว

มาตรา ๑๘ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้ง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์

หมวด ๓
บทกำหนดโทษ
__________________
ส่วนที่ ๑
โทษทางปกครอง
___________________มาตรา ๑๙ ผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณาผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ หรือมาตรา ๙ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา ๒๐ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา ๒๑ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินสองหมื่นบาท

มาตรา ๒๒ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินสามหมื่นบาท

มาตรา ๒๓ ถ้าการกระทำผิดซึ่งมีโทษปรับทางปกครองเป็นความผิดต่อเนื่องและพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งลงโทษปรับทางปกครองสำหรับความผิดนั้น ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษปรับรายวันอีกนับแต่วันที่มีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองดังกล่าวตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องในอัตราดังต่อไปนี้

(๑) กรณีโทษปรับทางปกครองตามมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ ให้ปรับอีกวันละไม่เกิน
หนึ่งพันบาท

(๒)  กรณีโทษปรับทางปกครองตามมาตรา ๒๑ ให้ปรับอีกวันละไม่เกินสองพันบาท

(๓)  กรณีโทษปรับทางปกครองตามมาตรา ๒๒ ให้ปรับวันละไม่เกินสามพันบาท
มาตรา ๒๔ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองแก่ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา
บรรณาธิการ หรือเจ้าของสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนด

ส่วนที่ ๒
โทษอาญา
_____________

มาตรา ๒๕ ผู้ใดออกหนังสือพิมพ์โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับจดแจ้งตามมาตรา ๑๑ หรือรู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ แล้วได้เป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ โดยฝ่าฝืนมาตรา ๗ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับมาตรา ๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ วรรคสอง มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกการร่วมประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้เลิกการถือหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วน แล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละห้าหมื่นบาทถึงสองแสนห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา ๒๗ ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามมาตรา ๑๐ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล
________________มาตรา ๒๘ หนังสือพิมพ์ซึ่งได้แจ้งความแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้จดแจ้งการพิมพ์ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้แล้ว

มาตรา ๒๙ ผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่ได้จดแจ้งตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่ได้มีการจดแจ้งการพิมพ์ตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน กอปรกับพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๕ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๓๖ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ได้ประกาศใช้บังคับมานานแล้ว บทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสถานการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์อื่น ๆ อีกหลายฉบับบัญญัติรองรับไว้เพียงพอต่อการคุ้มครองประโยชน์ของรัฐและประชาชนแล้ว สมควรยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการพิมพ์ และคำสั่งของคณะปฏิรูปดังกล่าว และให้มีกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการรับจดแจ้งการพิมพ์เป็นหลักฐานให้ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของประชาชนผู้ที่ได้รับความเสียหายในการฟ้องร้องดำเนินคดี ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวกระทำผิดกฎหมายอันเนื่องมาจากเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้โปรดอ่านอีกครั้ง !
“ศีล”ของคนหนังสือพิมพ์

จากบันทึกเจตนารมณ์ร่วมกันของแวดวงผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ในการสถาปนาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขึ้นมา ให้เป็นองค์กรอิสระเพื่อควบคุมกันเอง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 และได้ประกาศใช้ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อตีกรอบให้หนังสือพิมพ์และผู้ประกอบวิชาชีพนี้ มีหลักในการประพฤติปฏิบัตินั้น  เป็นเสมือน”ศีล”ของคนหนังสือพิมพ์

ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์นั้น แบ่งเป็นจริยธรรมของหนังสือพิมพ์ 16 ข้อ และจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ 3 ข้อนั้น เป็นจริยธรรมพื้นฐาน เพราะระบุถึงสิ่งที่”ต้องทำ” หรือ”ต้องไม่ทำ” ผิดจากนั้นคือละเมิด

ถัดมามี”แนวปฏิบัติ” อีก 8 ข้อของหนังสือพิมพ์และผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ควรระมัดระวัง  เพราะไม่ชี้ชัดถึงกับว่าละเมิดจริยธรรม แต่ก็หมิ่นเหม่ว่าจะเกิดความเสียหาย จึงวางแนวปฏิบัติในสิ่งที่”พึงปฏิบัติ”หรือ”พึงละเว้น”  และตลอดห้วงสิบปีการก่อตั้ง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ออกแนวปฏิบัติหรือประกาศเพิ่มเติมอีกหลายกรณี เพื่อทำความชัดเจนในส่วนของพื้นที่สีเทาดังกล่าว เพื่อผดุงเกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือของสังคมต่อวงวิชาชีพหนังสือพิมพ์ตลอดไป

ในวาระใกล้สิ้นปี 2550 และขึ้นศักราชใหม่สู่ปี 2551 เป็นโอกาสอันดีที่คนหนังสือพิมพ์ทั้งที่อยู่มานาน หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักข่าวนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ที่เพิ่งก้าวสู่วิชาชีพนี้ ซึ่งอาจไม่เคยรู้ หรือรู้แต่ไม่ครบถ้วน จะได้ทบทวน อ่านใหม่ หรือทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

โปรดอ่านอีกครั้ง !

ข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ พ.ศ.๒๕๔๑

โดยที่เจ้าของ ผู้ประกอบการ บรรณาธิการ และผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ทั้งหลายได้พร้อมใจกันสถาปนาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้เป็นองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ควบคุมกันเอง เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ สถานภาพผู้ประกอบวิชาชีพและกิจการหนังสือพิมพ์ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการใช้สื่อหนังสือพิมพ์ เพื่อการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยส่งเสริมให้หนังสือพิมพ์ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชน รวมทั้งยึดถือความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมเป็นหลักในการประกอบวิชาชีพอาศัยความตามข้อ ๕ (๑) และข้อ ๑๔(๔) แห่งธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๐ คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้ตราข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ไว้ดังต่อไปนี้

หมวด ๑
หมวดทั่วไป

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ.๒๕๔๑

ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้

“ข่าว” หมายถึง เนื้อข่าว ความนำหรือตัวโปรย พาดหัวข่าว ภาพข่าว และคำ
บรรยายภาพข่าว

“หนังสือพิมพ์” หมายถึง หนังสือพิมพ์ตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
พ.ศ.๒๕๔๐ ข้อ ๓

“ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์” หมายถึง ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ตาม
ธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๐ ข้อ ๓

หมวด ๒
จริยธรรมของหนังสือพิมพ์

ข้อ ๔ หนังสือพิมพ์ต้องยึดถือข้อเท็จจริง ความถูกต้องแม่นยำและความครบถ้วน

ข้อ ๕ หนังสือพิมพ์ต้องเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหาผลประโยชน์
ส่วนตนหรือหมู่คณะ

ข้อ ๖ หนังสือพิมพ์ต้องแสดงความพยายามในการให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ข้อ ๗ หนังสือพิมพ์ต้องไม่แต่งเติมเนื้อหาสาระของข่าว จนคลาดเคลื่อนหรือเกินจากความเป็นจริง

ข้อ ๘ หนังสือพิมพ์ต้องละเว้นการเสนอข่าวเพราะความลำเอียง หรือมีอคติจนเป็นเหตุให้ข่าวนั้นคลาดเคลื่อนหรือเกินจากความเป็นจริงข้อ ๙ หนังสือพิมพ์ต้องไม่สอดแทรกความคิดเห็นลงในข่าว

ข้อ ๑๐ เมื่อคัดลอกข้อความใดจากหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ต้องบอกที่มาของข้อความนั้น

ข้อ ๑๑ การเสนอข่าวที่มีการพาดพิง อันอาจเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือองค์กรใด ๆ ต้องแสดงถึงความพยายามในการเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาแสดงข้อเท็จจริงด้วย

ข้อ ๑๒ ในกรณีที่มีการเสนอข่าวผิดพลาด หนังสือพิมพ์ต้องลงพิมพ์แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวโดยไม่ชักช้า

ข้อ ๑๓ หนังสือพิมพ์ต้องไม่เสนอข่าวโดยเลื่อนลอยปราศจากแหล่งที่มา พึงระบุชื่อบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวอย่างเปิดเผย เว้นแต่จะมีเหตุอันควรปกปิดเพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแหล่งข่าว และต้องเป็นประโยชน์ต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของสาธารณชนข้อ ๑๔ หนังสือพิมพ์ต้องปกปิดชื่อและฐานะของบุคคลที่ให้ข่าวไว้เป็นความลับ หากได้ให้คำมั่นแก่แหล่งข่าวนั้นไว้ หนังสือพิมพ์ต้องปกปิดนามปากกาหรือนามแฝงที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นไว้เป็นความลับ

ข้อ ๑๕ ในการเสนอข่าวหรือภาพใด ๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาส

ในการเสนอข่าวตามวรรคแรก ต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์ให้โศกนาฎกรรมอันเกิดแก่เด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาสนั้นไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

ข้อ ๑๖ การพาดหัวข่าวและความนำของหนังสือพิมพ์ ต้องไม่เกินไปจากข้อเท็จจริงในข่าว และต้องสะท้อนใจความสำคัญหรือเนื้อหาหลักของข่าว

ข้อ ๑๗ หนังสือพิมพ์จะต้องไม่เสนอภาพข่าวที่อุจาด ลามกอนาจาร หรือน่าหวาดเสียวฃโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชนอย่างถี่ถ้วน

ข้อ ๑๘ ในการแสดงความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์ หนังสือพิมพ์จะต้องให้ความเที่ยงธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิงเสมอ

ข้อ ๑๙ ข้อความที่เป็นประกาศโฆษณาที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ ต้องแสดงให้เห็นชัดว่าเป็นประกาศโฆษณา จะแอบแฝงเป็นการเสนอข่าวหรือความคิดเห็นมิได้

หมวด ๓
จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์

ข้อ ๒๐ ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ต้องไม่ประพฤติปฏิบัติการใด ๆ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

ข้อ ๒๑ ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ต้องไม่อวดอ้างหรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่ เพื่อเรียกร้องสิทธิหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ไม่ชอบธรรม

ข้อ ๒๒ ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใด ๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดอันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน

หมวด ๔
แนวปฏิบัติของหนังสือพิมพ์และผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ข้อ ๒๓ ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พึงละเว้นการรับอภิสิทธิ์ หรือตำแหน่ง เพื่อให้กระทำการ หรือไม่กระทำการใด อันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน

ข้อ ๒๔ การเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ พึงตระหนักถึงความสำคัญของข่าวต่อสาธารณชนและไม่เสนอข่าวในทำนองชวนเชื่อในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ข้อ ๒๕ การได้มาซึ่งข่าวสาร หนังสือพิมพ์พึงใช้วิธีที่สุภาพและซื่อสัตย์

ข้อ ๒๖ ในการแสดงความคิดเห็น หนังสือพิมพ์พึงกระทำโดยบริสุทธิ์ใจ และไม่มีพันธะกรณีอื่นใด นอกจากมุ่งปฏิบัติหน้าที่เพื่อสาธารณชนโดยไม่ยอมให้อิทธิพลอื่นใดมาครอบงำความคิดเห็น

ข้อ ๒๗ หนังสือพิมพ์ พึงละเว้นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่กรณีเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ข้อ ๒๘ หนังสือพิมพ์ พึงใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบ ให้ประกาศโฆษณาทั้งหลายอยู่ภายใต้ขอบเขตของศีลธรรมและวัฒนธรรม หนังสือพิมพ์พึงระมัดระวังที่จะไม่เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ประกาศโฆษณาที่น่าสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อสังคมหรือสาธารณชน

ข้อ ๒๙ หนังสือพิมพ์ พึงหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ประกาศโฆษณาที่มีเหตุให้น่าเชื่อว่าเจ้าของประกาศโฆษณานั้น เจตนาจะทำให้ผู้อ่านหลงเชื่อในสิ่งที่งมงาย

ข้อ ๓๐ ภาษาที่ใช้ในหนังสือพิมพ์พึงหลีกเลี่ยงคำที่ไม่สุภาพหรือมีความหมายเหยียดหยาม

ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

นสพ.กระโจนสู่อี-นิวส์เต็มตัว
สื่อใหม่ผนึกรวมทุกรูปแบบ

วิทยาการด้านสื่อสารที่ก้าวหน้าได้เปิดประตูให้ผู้บริโภคเลือกช่องทางใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง คนรุ่นใหม่สามารถอ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ หรือกระทั่งการรับส่งข่าวสารในกลุ่มที่มีความสนใจร่วมกัน โดยผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้สื่อดั้งเดิมที่เคยให้บริการอยู่ต้องปรับตัวขนานใหญ่ “ชุติมณฑน์ คำภา” ได้ฉายภาพการปรับตัวขนานใหญ่ของสื่อทุกประเภท ที่ต้องผนึกรวมผสมผสานและบุกเบิกพื้นที่ข่าวในโลกดิจิตอล เพื่อตอบรับกับแนวโน้มการบริโภคที่เปลี่ยนไป

อย.จับมือองค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์
วางแนวเขียนข่าวไม่ละเมิดกฎโฆษณา

เมื่อวันนี้  8 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา  ณ ห้องพีริดอท 2 ชั้น 3 โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล  เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พร้อมด้วย น.ส.นาตยา เชษฐโชติรส นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ น.ส.วิมล แซ่ตัน นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันในเรื่องการโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อ พ.ศ. 2551 และชี้แจงว่า จากการกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อย. ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยา  อาหาร เครื่องมือแพทย์  ผู้โฆษณาจะต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อนที่จะโฆษณา ตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม , พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 , และ พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2531 ส่วนการโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและวัตถุอันตราย  ผู้โฆษณาไม่ต้องขออนุญาตจาก อย. เพียงแต่ข้อความหรือภาพประกอบที่ใช้โฆษณา จะต้องไม่เป็นเท็จ หรือเกินจริง หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  ซึ่งปีที่ผ่านมาสื่อหนังสือพิมพ์ลงโฆษณาหรือนำเสนอข่าวที่คาบเกี่ยวกับการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.    ทำให้ถูกดำเนินคดีไปแล้วรวม 15 ครั้ง ได้แก่ กรณีโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต  จำนวน 8 ครั้ง โฆษณาเครื่องมือแพทย์เพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก อย.  จำนวน 6 ครั้ง และโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และแสดงสรรพคุณว่าเป็นยาบำรุงกาม จำนวน 1 ครั้ง

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อไปว่า เพื่อลดปัญหาดังกล่าว อย.จึงได้ประสานความร่วมมือกับทั้งสองสมาคม ในส่วนของการเสนอข่าวและประชาสัมพันธ์ ข้อความ ภาพ หรือบทความ  ก่อนที่จะโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องมือแพทย์ในสื่อหนังสือพิมพ์ ให้บรรณาธิการตรวจสอบกับผู้ประกอบธุรกิจในเบื้องต้นว่า ได้รับอนุญาตจาก อย.แล้วหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วมีใบอนุญาตให้โฆษณา  การโฆษณาของสื่อนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย  การเสนอข่าวและประชาสัมพันธ์ ข้อความ ภาพ หรือบทความ หรือการ-โฆษณาแฝง หากก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชน ซึ่ง อย.เห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไข จะให้สื่อเป็นผู้แก้ไข ชี้แจง หรืออธิบายข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย ทั้งนี้จะดูที่เจตนาเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ในเอกสารแนบท้ายบันทึกความเข้าใจ ยังให้แนวทางหรือตัวอย่างข้อความโฆษณาที่ อย. มักตรวจพบและไม่อนุญาตให้โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ  เพื่อให้สื่อนำไปพิจารณาก่อนลงตีพิมพ์  ซึ่งบันทึกความเข้าใจนี้           ทั้งสองฝ่ายจะประสานความร่วมมือและสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณาและ    การเสนอข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“ อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะมีการทำบันทึกความเข้าใจกับสื่ออื่นๆ รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อลดปัญหาการโฆษณาผิดกฎหมาย และเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค มิให้ผู้บริโภครับข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อนเกินความจริง ”  เลขาธิการ ฯ  กล่าวในตอนท้าย

 

“ทีวี บนเน็ต” สื่อผสมผสาน เทรนด์ใหม่ที่กำลังแรง

โดย ชุติมณฑน์ คำภา
หัวหน้าข่าวไอที ฐานเศรษฐกิจ

ด้วยวิวัฒนการของอินเตอร์เน็ตจาก narrow band หรืออินเทอร์เน็ตโมเด็มจากความเร็วอยู่ที่ 56 กิโลบิต ก้าวเข้าสู่ยุคบอร์ดแบนด์อินเตอร์เน็ต หรือ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ด้วยเทคโนโลยี ADSL (Asymmetric Digital Subscriber Line หรือ บริการส่งผ่านข้อมูลความเร็วสูงบนโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน สามารถรับข้อมูลด้วย 2 เมกะบิต) เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้บรรดาเว็บไซด์ต่างๆสามารถลิ้งค์ข้อมูลได้นับล้าน ๆ ลิ้งค์ หรือการถ่ายภาพจากกล้องดิจิตอล โทรศัพท์เคลื่อนที่ และ วีดีโอ นำมาเผยแพร่ในลักษณะ วิดีโอคลิป ,รวมไปถึงการสร้างเว็บบล็อก และ การทำไดอารี่ออนไลน์ เป็นต้นด้วยความแรงของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่รับ-ส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็วนี้เอง ส่งผลให้สื่อสิ่งพิมพ์แทบทุกค่าย หันมาปรับตัว ตามกระแสออนไลน์ นำคอนเท้นต์ลงจอเต็มรูปแบบE-newspaper หรือหนังสือพิมพ์ดิจิตอล เพื่อมุ่งตอบโจทย์ให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่มีวิถีชีวิตคนเมืองทำงานและใช้อินเตอร์เน็ตเป็นหลัก โดยในปัจจุบัน จะเห็นว่า การบริโภคสื่อออนไลน์ในรูปแบบของการอ่านข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ บวกกับการเข้าชมเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ก็มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นทุกๆปี

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์อีกหลายค่าย ได้พัฒนาเว็บไซต์ รุกคืบเข้าสู่ทีวี บนอินเตอร์เน็ต สื่อผสมผสานที่กำลังเติบโตในโลกออนไลน์ ซึ่งถือเป็นลูกเล่นใหม่ที่เป็นจุดขายสำคัญของสื่อออนไลน์

ขยับรุกทีวีบนอินเตอร์เน็ต

สื่อสิ่งพิมพ์ที่นำร่องปรับสู่สื่อออนไลน์เต็มรูปแบบไปก่อนใครๆ ได้แก่กลุ่มผู้จัดการ ด้วยการเปิด เว็บไซต์ www.manger.co.th และ เนชั่นกรุ๊ป ที่เปิดwww.nationgroup.com และเป็นค่ายแรกๆที่พัฒนาเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์อย่างจริงๆจัง

โดยล่าสุดทั้งสองค่ายยังพัฒนาทางเลือกเสริมฐานผู้อ่านเพิ่มเติม และที่โดดเด่นคือการขยับตัวสู่ทีวี บนอินเตอร์เน็ต ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสะพานเชื่อมโยงเครือข่ายผ่านเว็บไซต์ www.manager.co.th และ www.nationgroup.com เป็นสื่อกลางหากผู้ชมเข้ามาคลิกในเว็บดังกล่าวแล้วนอกเหนือจากอ่านข่าวออนไลน์แล้วยังสามารถคลิกเข้าไปชมทีวีผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ แม้กระทั่งคลิปวีดีโอภาพข่าวสั้น ๆ หรือ บทสัมภาษณ์ CEO ในแต่ละบริษัทที่ถ่ายทอดผ่านอินเตอร์เน็ตผู้ชมสามารถรับฟังได้ในรูปแบบมัลติมีเดีย คือ เสียง ภาพ และ ข้อมูล

นอกจากนี้ยังมีโพสต์ พับลิชชิ่ง อีกค่ายที่เต็มไปด้วยจุดแข็งในการพัฒนาให้เป็นสื่อผสมผสานได้อย่างมีเอกลักษณ์ นอกเหนือจากปรับโฉมเว็บไซต์ www.posttoday.com แล้วล่าสุดยังเปิดทีวีผ่านเน็ตภายใต้ชื่อ ” POST TV” รูปแบบก็คือมีผู้ประกาศข่าวอ่านข่าวสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้นเหมือนนั่งดูทีวีอยู่ที่บ้าน

เช่นเดียวกับค่าย”ฐานเศรษฐกิจ” สื่อสิ่งพิมพ์เศรษฐกิจราย3 วัน อีกฉบับที่สะท้อนให้เห็นถึงการไม่หยุดนิ่งของการพัฒนาสื่อออนไลน์ โดยล่าสุดได้เสริมจุดแข็งด้วย Breaking News อัพเดตข่าวด่วน ข่าวเด็น ประเด็นร้อน ประจำวัน ทำให้เว็บไซต์ www.thannews.th.com มีมติความสดและทันเหตุการณ์อย่างน่าสนใจ ก่อนที่จะเพิ่มลูกเล่น เช่นเดียวกับกลุ่มมติชน และ สื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ แม้กระทั้งสื่อสฃิ่งพิมพ์ในส่วนท้องถิ่นเองก็เริ่มเปิดเว็บไซต์เปิดของตัวเอง นำเสนอข่าวในรูปแบบดิจิตอลเช่นกัน

ทีวีออนไลท์ ลูกเล่นใหม่ฟรีทีวี

การรุกคืบสู่สื่อออนไลน์ เมื่อหันมามองสื่อทีวี ทางด้านฟรีทีวี แล้ว พบว่าค่าย ค่ายอสมท.หรือช่อง9 หรือย่างช่อง3,5,7,,11 และ TITV ต่างเดินหน้าพัฒนาเว็บไซต์ช่องกันอุตลุต นอกเหนือจากออกอากาศรายการผ่านจอทีวี ด้วยการขยับตัวสู่ช่องทีวีดิจิตอลเต็มรูปแบบ ทำให้สามารถรับชมรายการทีวีต่างๆผ่านอินเตอร์เน็ตได้อย่างสะดวกเหมือนช่องทีวีได้ตลอด24ชั่วโมง ทั้งยังให้ผู้ชมคลิกไปดูรายการข่าวย้อนหลังได้อีกด้วย ทำให้เว็บไซต์ของเดิมที่เป็นเพียงภาพ และข้อมูลทางเดียว กลายเป็นมัลติมีเดีย อันเป็นการเพิ่มมูลค่า เพิ่มสีสัน เพิ่มลูกเล่นให้กับช่องได้เป็นอย่างดี

ขณะที่วิทยุออนไลน์ ก็ถือเป็นอีกปรากฎการณ์หนึ่ง ที่มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การบริโภคคอนเท้นต์บันเทิง เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ของคนรุ่นใหม่ ที่นิยมใช้สื่ออินเตอร์เน็ตเป็นหลักในปัจจุบัน

ขุมรายได้ใหม่ที่ไม่ควรมองข้าม

หากวิเคราะห์ถึงกรณีที่สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อทีวีหันมาจับเทรนออนไลน์กันมากขึ้นนั้น นอกเหนือจากการตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่แล้ว ยังมองว่ายังเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ในการสร้างรายได้จากผู้สนใจลงโฆษณาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญมาระยะหลัง เม็ดเงินโฆษณาสินค้าที่ใช้จ่ายผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆจากรายงานของค่ายมีเดีย สเปนดิ้ง จำกัด ปรับตัวลดลงเรื่อยๆ โดยในปีนี้มีตัวเลขติดลบ มูลค่าโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ในช่วง 4 เดือนแรกพบว่าสื่อหนังสือพิมพ์ เติบโตลดลง 10.78% จากมูลค่ากว่า 3,903 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาเหลือ 3,482 ล้านบาทขณะที่สื่ออินเตอร์เน็ตมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 6.19% จากมูลค่ากว่า 46 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 48 ล้านบาทในปีนี้ นอกจากนี้มาจากปรากฎการณ์ของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่เมื่อ15ปีก่อนมีเพียง 30 คน ก้าวกระโดดเป็น 7 ล้านคนในปี 2549 ที่ผ่านมาและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ยุคที่ผู้บริโภคดิจิตอลฟีเวอร์ ยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน คลิกเว็บไซต์ เสพสุขขจ้อมูลขจ่าวสาร บันเทิง และสื่อสองทางมากขึ้น ทำให้ให้บรรดาสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับเทรนด์นี้ เริ่มเห็นทิศทางกันและโอกาสเติบโตของสื่อออนไลน์กันบ้างแล้วว่านี่ คือขุมรายได้ใหม่ ที่รอวันขุด

ผลศึกษาสงครามสื่อดั้งเดิม-สื่อดิจิตอล

นายสก็อต รัสเซล ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจบริการ บริษัทไอบีเอ็มประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ผลการศึกษาผลกระทบที่เกิดต่อภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิง ของกลุ่มธุรกิจบริการของไอบีเอ็ม ภายใต้ชื่อเรื่อง “การจัดการช่องว่างระหว่างสื่อ การสร้างสรรค์นวัตกรรมและการปรับใช้รูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ” ชี้ให้เห็นว่าสื่อรูปแบบใหม่ (New Media) จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2549-2553 ประมาณ 23% ซึ่งเติบโตมากกว่าสื่อดังเดิมประมาณ 5 เท่าตัว ขณะเดียวกันรายงานฉบับดังกล่าวยังระบุอีกว่าธุรกิจเพลงทั่วโลกสูญเสียรายได้ไป 90,000-180,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.06-5.44 ล้านล้านบาท (คิดที่อัตรา 34 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิตอล ส่วนอนาคตวงการโทรทัศน์ และภาพยนตร์น่าจะสูญเสียรายได้มากกว่านี้อย่างแน่นอนหากไม่มีแผนจัดการปัญหาช่องว่างระหว่างสื่อดั้งเดิมกับสื่อใหม่

ทั้งนี้แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ในอุตสาหกรรมสื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก ปัจจัยข้อแรก คือ อุปกรณ์สำหรับการเชื่อมต่อเข้าสู่สื่อและบริการเนื้อหา โดยปัจจุบันผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสื่อผ่าน พีซีบรอดแบนด์ สมาร์ทโฟน หรือ ไอโฟน ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ ผู้ผลิตคอนเท้นต์ ที่ปัจจุบันมีการผลิตคอนเท้นต์ใหม่ๆที่มีรูปแบบอินเตอร์แอกทีฟ หรือ โต้ตอบ 2 ทางกับผู้บริโภคได้ ขณะเดียวกันยังเกิดผู้ผลิตสื่อสมัครเล่นขึ้นมาแข่งขันกับผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ ขณะที่ปัจจัยที่ 3 คือ พฤติกรรมของผู้ซื้อสื่อโฆษณา ที่มุ่งไปยังสื่อรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างช่องทางการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีทางเลือกการเข้าถึงสื่อมากขึ้น

ส่วนรูปแบบธุรกิจของสื่อในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านั้นไอบีเอ็ม เชื่อว่าจะรูปแบบธุรกิจ 4 รูปแบบด้วยกัน คือ 1.สื่อแบบดั้งเดิม ที่มีผู้ผลิตคอนเท้นต์มืออาชีพ ผลิตรายการป้อนให้เจ้าของสถานี 2.สื่อที่มุ่งเน้นเฉพาะกลุ่ม ซึ่งผู้ผลิตเนื้อหาเกิดจากคนภายในกลุ่ม หรือ ผู้ผลิตเนื้อหามือสมัครเล่น , 3.แหล่งรวบรวมข้อมูล อาทิ เว็บไซต์สนุกดอตคอม และ 4.สื่อรูปแบบใหม่ ซึ่งแนวโน้มรายได้ที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แม้ว่าสื่อรูปแบบเดิมจะมีสัดส่วนรายได้สูงกว่า แต่การเติบโตจะไม่สูง ต่างจากสื่อรูปแบบใหม่ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ในอุตสาหกรรมไม่มากนักแต่มีแนวโน้มการเติบโตเฉลี่ยปีละ 33%

สำหรับแนวทางที่ไอบีเอ็มได้เสนอเพื่อให้อุตสาหกรรมสื่อ และบันเทิง สามารถปรับตัวเพื่อเข้าสู่สื่อยุคใหม่ ประกอบด้วย 1.ต้องยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคอนเท้นต์ , 2. แปลงข้อมูลลูกค้าให้กลายเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน ,3.ลดการควบคุมเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น , 4.นำเสนอประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้บริการนอกเหนือจากเนื้อหา , 5. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง ,6. ลงทุนในบริการและแพลตฟอร์มการโฆษณาที่วัดผลได้ในแบบอินเตอร์แอกทีฟ ,7.ออกแบบธุรกิจให้มีความคล่องตัวสูง., 8.แผนการลงทุนนั้นจะต้องมองการลงทุนช่องทางใหม่ๆ , 9คิดรูปแบบใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ และสุดท้ายคือการมองหาพันธมิตรที่ต่างจากเดิม

รายงาน
โดย กรรณิกา คุณากรเวโรจน์

อียู-สถาบันอิศราติวเข้ม
ปั้น10เหยี่ยวข่าวไทย เจาะเวทีประชุมนานาชาติ

ระหว่างวันที่ 19-23 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมความรู้และทักษะการทำข่าว ที่ร่วมกันจัดโดยสถาบันอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสหภาพยุโรป (อียู) ในโครงการศึกษาดูงานและทำข่าวการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 (อาเซียนซัมมิต) ที่ประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักข่าวรุ่นใหม่ ที่จะฝึกฝนทักษะการทำข่าวบนเวทีประชุมระดับนานาชาติในระดับภูมิภาค ได้เห็นการทำงานของเหล่านักข่าวมืออาชีพจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก และได้กระทบไหล่ผู้นำที่มาเข้าร่วมประชุม ไม่เฉพาะแต่ในแถบอาเซียน แต่ยังรวมถึงผู้นำทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย และสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งในการประชุมครั้งนี้นอกจากเป็นวาระพิเศษที่อาเซียนก้าวเดินมาจนครบรอบเป็นปีที่ 40 แล้ว ยังเป็นโอกาสพิเศษในวาระครบรอบ 30 ปีการสานสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-อียู (จึงเป็นโอกาสเหมาะเจาะในการจัดอบรมการทำข่าวงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งนี้นั่นเอง)

การอบรมในครั้งนี้ประกอบไปด้วยคณะสื่อมวลชนร่วมไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยกันทั้งหมด 10 คน ซึ่งมาจากสื่อหลากหลายฉบับ แตกต่างกันในเรื่องที่รับผิดชอบ เช่น ด้านข่าวต่างประเทศซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือมีทั้งที่มาจากการเมือง การเงิน และสื่อทีวี ทำให้การเดินทางร่วมกันไปในครั้งนี้มีความน่าสนใจจากความแตกต่างด้านการเนื้อหาที่แต่ละคนมีประสบการณ์มา จึงนำมาแลกเปลี่ยนร่วมกันและเสริมซึ่งกันและกันในการร่วมทำข่าวได้ด้วย

ด้วยความที่เป็นโครงการทำข่าวกึ่งการอบรม ก่อนการเดินทางไปทำข่าว ทางผู้ร่วมจัดการอบรมยังได้จัดการอบรมคอร์สสั้นๆ เป็นเวลา 2 วันเพื่อปูพื้นความรู้ก่อนล่วงหน้า 1 เดือน เกี่ยวกับความเป็นมาของอาเซียน และอียู ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายที่ผ่านมาและแนวทางในอนาคต โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งตัวแทนจากไทยและอียู แต่ที่ดูจะเป็นไฮไลท์และเป็นประโยชน์สำหรับผู้สื่อข่าวทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์ในการเดินทางไปทำข่าวที่เป็นการประชุมระดับนานาชาติเช่นนี้ น่าจะเป็นการให้คำแนะนำวิธีการหรือเทคนิคในการทำข่าว ตลอดจนการบรรยายบรรยากาศการทำข่าว และภาพโดยรวมของรูปแบบการประชุมลักษณะนี้เพื่อปูพื้นในนักข่าวได้เห็นภาพจากพี่ ๆ นักข่าวอาวุโสที่มีประสบการณ์มาก่อน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการเตรียมตัวไปก่อนล่วงหน้า

และก็เป็นที่น่ายินดีว่าการอบรมร่วมทำข่าวการประชุมอาเซียน ซัมมิตครั้งนี้ ทางผู้จัดการอบรมได้เชิญนักข่าวอาวุโสร่วมเดินทางไปกับคณะด้วย ไม่เพียงต้องทำข่าวส่งสำนักข่าวของตนเองแล้ว ขณะเดียวกันยังต้องแบ่งหมวกอีกใบเพื่อเป็นพี่เลี้ยงประกบนักข่าวอีกถึง 10 ชีวิต

หลังจากเดินทางไปถึงสิงคโปร์ในช่วงเย็นวันที่ 19 พฤศจิกายน ระหว่างนั่งรถออกจากสนามบินไปยังที่พักซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากโรงแรมแชงการี-ล่า ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประชุมมากเกินไปนัก ทันทีที่รถของคณะแล่นเข้าสู่บริเวณใกล้สถานที่จัดงาน จึงได้เห็นความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจสิงคโปร์ที่อยู่เป็นกลุ่ม ๆ ประมาณ 5-6 นายประจำตามแยกสัญญาณไฟที่มุ่งไปสู่แชงการี-ล่า ซึ่งนั่นก็เป็นบรรยากาศแรกของการต้อนรับสู่งานประชุมระดับนานาชาติ

พอเช้าวันรุ่งขึ้นของการปฏิบัติงานทำข่าวจริงก็เริ่มขึ้น คณะนักข่าว 10 คนเริ่มเดินทางออกจากที่พักพร้อมกระเป๋าถือ กระเป๋าสะพายที่หอบหิ้วเครื่องมือทำข่าวกันมาโดยพร้อมเพรียง แรกๆ ที่ดูเหมือนระยะทางใกล้ พอเอาเข้าจริงๆ เมื่อต้องเดินแบกโน้ตบุ๊กและสัมภาระอื่นๆ เดินขึ้น-ลงเนินไป 3-4 ร้อยเมตรก็เริ่มรู้สึกถึงอาการปวดเมื่อยหลังเป็นพักๆ ซึ่งตลอดทั้งทริปปรากฎว่าวันหนึ่ง ๆ ก็ต้องหอบหิ้วสัมภาระกันไปอย่างนี้ 3-4 รอบต่อวันทุกวันจนชิน เนื่องจากศูนย์ทำข่าวหรือสถานที่ฝังตัวในการเขียนข่าวส่งกับโรงแรมที่ประชุมนั้นอยู่กันคนละแห่ง แม้เจ้าภาพจัดประชุมจะอำนวยความสะดวกจัดรถเวียนรับ-ส่งแต่บางครั้งเวลาที่รถออกกับเวลาที่เราต้องการไปไม่ตรงกัน ดังนั้นยึด”คติตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”จึงดีที่สุด

หลังจากเดินทางไปถึงศูนย์รับรองนักข่าวเพื่อรับบัตรผู้สื่อข่าวที่มีรหัสสำหรับการเข้า-ออกงาน ด้วยความที่มากันถึง 11 คน ทำให้การจัดทำบัตรเป็นไปค่อนข้างล่าช้า เพราะต้องถ่ายรูปลงบัตร ทำให้ทีมเราต้องนั่งรอกันเกือบ 2 ชั่วโมงก่อนที่จะได้เดินทางไปโรงแรมที่ประชุมกันในท้ายที่สุด ซึ่งบรรยากาศในโรงแรมแชงการี-ล่าค่อนข้างจอแจ คราคร่ำไปด้วยแขกที่ร่วมประชุม เจ้าหน้าที่ติดตามผู้นำ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย นักข่าวจากหลากหลายชาติ ตลอดจนแขกทั่วไปที่เข้าพักในโรงแรม

ดีแต่ว่าได้พี่นักข่าวพี่เลี้ยงคอยช่วยติดต่อประสานงานกับแหล่งข่าว ทั้งที่เป็นรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมการประชุม เพื่อขอเวลาการสัมภาษณ์ หรือการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ประกอบการทำข่าว ทำให้การทำข่าวสำหรับมือใหม่มีความสะดวกและราบรื่นเป็นอย่างดี ต่างกับพี่นักข่าวซึ่งเป็นพี่เลี้ยงที่ต้องคอยติดต่อ ช่วยเหลือนักข่าวที่ร่วมอบรม และเขียนข่าวส่งให้หนังสือพิมพ์ของตัวเอง พอหมดวันก็ไม่ต้องสงสัยว่าพลังงานในตัวก็หมดตามไปด้วยเช่นกัน เป็นเช่นนี้ไปตลอดทั้งทริป

เมื่อพูดถึงการอำนวยความสะดวกในด้านการประสานงานแล้ว ทางคณะผู้ร่วมอบรมยังได้รับความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ผู้แทนอียู ที่ร่วมสนับสนุนการอบรมในครั้งนี้ ร่วมเดินทางมาด้วย ซึ่งให้ความช่วยเหลือในการติดต่อประสานงานกับทางคณะอียู เพื่อจัดตารางสัมภาษณ์ผู้แทนที่ร่วมเดินทางเข้ามาร่วมประชุมกับผู้แทนจากอาเซียนในครั้งนี้ด้วย

ประสบการณ์ในการเข้าร่วมอบรมและทำข่าวการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ที่นอกจากจะได้ร่วมทำข่าวระดับนานาชาติแล้ว ในขณะเดียวกันยังได้เรียนรู้เทคนิคที่เป็นประโยชน์ต่อการทำข่าวจากแบบอย่างของผู้สื่อข่าวอาวุโส และที่มีชั่วโมงบินสูงไปด้วยในตัว ทั้งได้ทำความรู้จักและเข้าถึงแหล่งข่าวในระดับนานาชาติ ซึ่งหากเป็นช่วงเวลาปกติคงไม่ได้มีโอกาสบ่อยนักที่จะได้เจอะเจอกันตามงานต่างๆ ในประเทศเราเอง

ที่สำคัญคือโอกาสที่ได้ทำความรู้จักกับเพื่อนในวงการเดียวกัน ไม่เฉพาะแต่คณะที่ร่วมไปด้วยทั้ง 11 คนเท่านั้น แต่ยังมีนักข่าวจากนานาชาติ  นอกจากจะได้เห็นการทำงานของนักข่าวชาติอื่นจากทั่วโลกจากหลายสื่อแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่ได้ทำความรู้จักกับเพื่อนในสายอาชีพเดียวกันที่มาจากคนละชาติ พูดกันคนละภาษา ซึ่งในวันหนึ่งก็อาจได้ร่วมงานและช่วยเหลือกันในโอกาสต่อไปได้อีกด้วย

สิ่งที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ จึงไม่เพียงเพื่อได้เรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาในการประชุมบนเวทีอาเซียน หรือการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและประเทศพันธมิตร เช่น อียู เพียงเท่านั้น เพราะนอกรอบการประชุม ยังเป็นโอกาสให้นักข่าวรุ่นใหม่ ๆ ได้สัมผัสประสบการณ์การทำข่าวในระดับเวทีนานาชาติ ตลอดจนได้เรียนรู้เทคนิค วิธีการทำข่าวจากผู้สื่อข่าวด้วยกันเองซึ่งสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับการทำข่าวในโอกาสต่อๆ ไปด้วย

นอกจากความรู้ที่ได้รับแล้ว ในลักษณะการทำข่าวบนเวทีใหญ่ๆ ยังทำให้ผู้สื่อข่าวต้องรู้จักปรับตัวให้ยืดหยุ่นกับตารางเวลาของการประชุม หรือการให้ข่าว ที่อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ ผู้สื่อข่าวจะต้องหู ตา ไว เปิดรับกับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่ออกมาอย่างสม่ำเสมอ และในบางครั้งก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ การกระตุ้นตัวเองให้มีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นสิ่งสำคัญพอ ๆ กับความรู้และทักษะการทำข่าวที่ได้จากเวทีอาเซียนซัมมิตด้วยเหมือนกัน

บทความพิเศษ
โดย บากบั่น บุญเลิศ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 48
สื่อมวลชนกับการเมือง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๐ ถือได้ว่าเป็นการเริ่มการปฏิรูประบบการตรวจสอบทางคุณธรรมและจริยธรรม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง   และได้มีการวางบทบัญญัติอีกหลายประการเพื่อป้องกันการขัดแย้งระหว่างอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพบางประการที่มีลักษณะขัดกันซึ่งผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการปฏิบัติตนให้ครองอยู่ในจริยธรรมที่ดีงามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆให้สาธารณะชนได้รับทราบ  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประพฤติตนให้ปลอดจากการเข้าไปเกี่ยวข้องหรือพัวพันกับการกระทำอันต้องห้าม และส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อสารมวลชน
โดยอิสระ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงได้กำหนดให้ผู้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนไม่อาจเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เพื่อป้องกันการขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ของส่วนรวม  ในการปฏิบัติหน้าที่สื่อสารมวลชนกับการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันอาจจะนำมาซึ่งการแทรกแซงสื่อสารมวลชน ปิดกั้น ขัดขวาง ไม่ให้มีการนำเสนอข่าวสารอย่างอิสระ และมีเสรีภาพ อันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนจากการปกปิดหรือบิดเบือนการนำเสนอข่าวสารแก่ประชาชนได้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงได้บัญญัติหลักการที่ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน ตามบทบัญญัติ มาตรา ๔๘  ดังนี้ว่า

“มาตรา ๔๘ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์
วิทยุกระจายเสียง  วิทยุโทรทัศน์  หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว”

ขณะนี้ นายวีระ สมความคิด นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอรัปชั่น
ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบการเป็นเจ้าของ หรือการถือครองหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เนื่องจากมีความเห็นว่าขัดต่อมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ถือเป็นการทำหน้าที่ตามสิทธิของท่านบนหลักการเพื่อความเปิดเผย โปร่งใส เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งต้องยอมรับและสนับสนุน ไม่ว่าจะร้องให้ตรวจสอบเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือตรวจสอบโดยทั่วไปทั้งหมดทุกกลุ่มที่อยู่ในข่ายมาตรา 48 และมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องก็ตาม

หากมีการตัดสินชี้ขาดออกมา ผลจากการนี้จะได้เป็นบรรทัดฐานนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป

ประเด็นนี้จึงกลายเป็นด่านสำคัญสำหรับคนในวงการสื่อมวลชน และคนที่ถือหุ้นธุรกิจสื่อและโฆษณา

ย้อนไปถึงมาตรา 48 บัญญัติว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคมมิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการ หรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว

ผู้ที่ถูกใช้บังคับตามมาตรานี้คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นเจ้าของถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม นั่นหมายถึงว่า เจ้าของ ผู้ถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ถามว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีความหมายกว้างแค่ไหน

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
มาตรา 4 ระบุให้หมายถึงบุคคลดังต่อไปนี้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก
ข้าราชการเมืองอื่นนอกจากนายกฯ และรมต. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง ซึ่งน่าจะได้แก่ เลขาธิการนายกฯ  รองเลขาธิการ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกฯ ฯลฯ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลนคร ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีรายได้หรืองบประมาณไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ครอบคลุมหลากหลาย ฉะนั้นผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ คนใด ตำแหน่งใด ไหนก็ตาม เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นกิจการดังกล่าวแม้แต่หุ้นเดียวแสดงว่ามีความเป็นเจ้าของ

ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงอภิปรายกันพอสมควรว่า ตีความรวมไปถึงภริยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ด้วยหรือไม่…..

สำหรับกิจการที่อยู่ในข่ายมาตรานี้ได้แก่ บริษัทหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์  บริษัทที่ทำรายการวิทยุ ทีวี ไม่ว่าฟรีทีวีช่อง 3, 5, 7, 9, อสมท., ทีไอทีวี หรือทีวีระบบบอกรับสมาชิก เช่น ยูบีซี, เคเบิ้ลทีวี, ทีวีผ่านดาวเทียม และวิทยุชุมชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศมากมาย รวมถึงบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งทำธุรกิจโทรคมนาคมด้วย ทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และไม่ได้จดทะเบียน รวมหลายสิบบริษัท

เรื่องนี้ยังเป็นที่สงสัยกันอยู่เหมือนกันว่าจะกินความรวมไปถึงกิจการบริษัทโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เอเยนซี่ เว็บไซต์ที่ทำเป็นธุรกิจ มีโฆษณามาสนับสนุนด้วยหรือไม่ และต่อไป ใครเป็นเจ้าของกิจการเหล่านี้ ถือหุ้นมากน้อยแค่ไหนก็ตาม โดยบังคับแห่งรัฐธรรมนูญถ้าไม่ขาย หรือโอนให้ผู้อื่นซึ่งต้องไม่เกี่ยวโยงกัน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แล้วหันไปทำอาชีพอื่น ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งทันที มิฉะนั้นจะขาดคุณสมบัติทันที

ขณะเดียวกันบทบัญญัติมาตรานี้เกิดประเด็นคำถามว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อ ต้องเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง ระหว่างลาออกกับขายหุ้นทิ้งหรือโอนให้ผู้อื่นหรือไม่

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวนหนึ่งเป็นผู้เข้าลักษณะการกระทำที่ต้องห้ามดังกล่าว ตามมาตรา ๔๘ คือ เป็นเจ้าของกิจการหรือเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน เช่น นายสราวุธ วัชรพล  หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  นางสุรางค์ เปรมปรีดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทกรุงเทพฯ โทรทัศน์และวิทยุ จำกัด นายประสาร มาลีนนท์ รองประธานกรรมการบริษัท บีอีซี เวิลด์  หรือนางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กิจการของบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ นอกจากบุคคลดังกล่าวยังมีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกจำนวนหลายคน   อันเป็นการดำรงตำแหน่งที่ขัดแย้งต่อการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน และเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญฯ

ถึงแม้บทบัญญัติมาตรา ๒๙๓ วรรคสี่ จะยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายบางเรื่องอันเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการกระทำอันต้องห้ามของการเป็นสมาชิกรัฐสภามาใช้แก่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ตาม แต่ก็หาได้ยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๔๘  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาใช้บังคับแต่ประการใดไม่

นี่คือความท้ายทาบทบทแรก และเชื่อว่าจะทอดยาวไปความวุ่นวายในอนาคตของสื่อแน่ๆ….

โลกรอบสื่อ
โดย รัตนศิริ สุขัคคานนท์

Co-branding ขององค์กรข่าว
อีกทางเลือกใหม่ เพิ่มช่องทางรายได้

กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีข่าวความเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ที่น่าสนใจของ 2 องค์กรสื่อสารมวลชนชั้นนำของโลก คือ รอยเตอร์ กรุ๊ป และอินเตอร์เนชั่นแนล เฮอรัลด์ ทริบูน (ไอเอชที) รายแรกเป็นสำนักข่าวแถวหน้า ก่อกำเนิดในประเทศอังกฤษ รายหลังเป็นหนังสือพิมพ์ชื่อดังในเครือ เดอะ นิวยอร์ค ไทมส์ ที่ได้รับความเชื่อถือไปทั่วโลก ทั้งคู่ประกาศจับมือทำข้อตกลงโค-แบรนดิ้ง (co-branding) ร่วมสร้างและใช้ประโยชน์จากแบรนด์ “รอยเตอร์” และ “อินเตอร์เนชั่นแนล เฮอรัลด์ ทริบูน” เคียงคู่กันไป วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อทะลวงปัญหาสุดแสนท้าทายที่องค์กรข่าวจำนวนมากกำลังเผชิญ นั่นคือ แนวโน้มรายได้ที่กำลังหดลง และการแข่งขันจากสื่อใหม่ ๆ

เป็นที่คาดหมายว่า ความร่วมมือโค-แบรนดิ้งครั้งนี้ ซึ่งครอบคลุมเฉพาะหน้าข่าวธุรกิจของไอเอชที จะก่อให้เกิดแบบจำลองใหม่เกี่ยวกับการแบ่งปันรายได้ระหว่างหนังสือพิมพ์และสำนักข่าว

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว รอยเตอร์จะป้อนข่าวให้กับหน้าข่าวธุรกิจของไอเอชที ทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และบนหน้าเว็บไซต์ ส่วนไอเอชที (ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส) ก็จะแบ่งปันรายได้จากโฆษณาซึ่งปรากฏอยู่ข้างๆ ข่าวให้แก่รอยเตอร์ แทนที่การจ่ายค่าธรรมเนียมซื้อข่าว ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำกันเป็นส่วนใหญ่และมีมาช้านานระหว่างหนังสือพิมพ์และสำนักข่าว ทั้งรอยเตอร์และไอเอชที ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขด้านการเงินของข้อตกลงนี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของข่าวอื่นๆ เช่น ข่าวการเมือง กีฬา และวัฒนธรรม ที่รอยเตอร์ผลิตป้อนให้ ทางไอเอชทีจะยังคงจ่ายค่าธรรมเนียมสมาชิกซื้อข่าวเหมือนเช่นเคย

ข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมนี้จะเริ่มมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2551 เป็นต้นไป นับเป็นการทดลองใช้ช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ให้กับองค์กรข่าวในยุคปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในจุดที่เผชิญความท้าทายเป็นอย่างมากเนื่องจากทุกวันนี้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ที่มีจำนวนมากมายโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อยู่แล้ว ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์แจกฟรีหัวใหม่ๆ ก็มีผุดเพิ่มขึ้นมาก กลายเป็นเทรนด์ที่โดดเด่นอย่างยิ่งตามเมืองใหญ่ของประเทศในแถบยุโรป ซึ่งผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนเช่น รถไฟใต้ดิน ในช่วงเช้า มักจะได้รับหนังสือพิมพ์แจกฟรีติดมือไปอ่านกัน

นาย ไมเคิล โกลเด้น บรรณาธิการผู้พิมพ์ของไอเอชที เปิดเผยว่า ข้อตกลงใหม่ที่ทำกับรอยเตอร์ทำให้บริษัทต้องยุติข้อตกลงที่เคยทำไว้กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ซึ่งผลิตข่าวธุรกิจป้อนให้กับไอเอชทีหลายชิ้นต่อวันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 สำหรับฉบับที่ผลิตในเอเชีย โดยใช้ชื่อหน้าข่าวว่า “บิสิเนส เอเชีย บาย บลูมเบิร์ก” (Business Asia by Bloomberg)ส่วนฉบับที่ผลิตในยุโรปนั้น บลูมเบิร์กป้อนข่าวให้ไอเอชทีมาตั้งแต่ปี 2545 ใช้ชื่อหน้าข่าวว่า “มาร์เก็ต เพลส บาย บลูมเบิร์ก” (Market Place by Bloomberg)

ดังนั้น หลังจากที่ทำข้อตกลงกับรอยเตอร์แล้ว ไอเอชทีจะเปลี่ยนชื่อหน้าข่าวธุรกิจเป็น บิสิเนส วิธ รอยเตอร์ (Business With Reuters) สำหรับฉบับที่ตีพิมพ์ในยุโรป ส่วนฉบับเอเชียจะใช้ชื่อหน้าธุรกิจว่า “บิสิเนส เอเชีย วิธ รอยเตอร์” (Business Asia With Reuters) ยิ่งไปกว่านั้น รอยเตอร์ยังจะผลิตภาพวิดีโอข่าวธุรกิจป้อนให้กับเว็บไซต์ของไอเอชทีด้วย

ผู้บริหารของไอเอชทีให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับความริเริ่มรูปแบบใหม่นี้ว่า “อาจจะ” ช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในส่วนของกองบรรณาธิการข่าว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะลดจำนวนชิ้นงานข่าวธุรกิจ-เศรษฐกิจที่ผลิตโดยนักข่าวของไอเอชทีเอง ทุกวันนี้ หนังสือพิมพ์ เดอะ เฮอรัลด์ ทริบูน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือ เดอะ นิวยอร์ค ไทมส์ สามารถทำยอดจำหน่ายประมาณวันละ 250,000 ฉบับ เนื้อหาข่าวส่วนหนึ่งจึงมาจากข่าวของหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ค ไทมส์ ด้วย

สำหรับรอยเตอร์ซึ่งมีฝ่ายข่าวที่เรียกว่า “รอยเตอร์ มีเดีย” (Reuters Media) เป็นหน่วยเล็กที่สุด และทำกำไรหลักๆ จากการขายข้อมูลข่าวสารทางการเงินให้กับธนาคาร สถาบันการเงิน และนักลงทุนที่บอกรับเป็นสมาชิก ประโยชน์เบื้องต้นที่จะได้รับจากข้อตกลงความร่วมมือกับไอเอชทีก็คือ โอกาสที่จะเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างรายได้จากข่าว และในขณะเดียวกันก็ได้โอกาสสร้างแบรนด์ข่าวธุรกิจรอยเตอร์ร่วมไปกับหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่รายนี้ด้วย

ยุทธวิธีโค-แบรนดิ้งนี้ โดยทั่วไปเป็นการที่เจ้าของแบรนด์สินค้าหรือบริการมากกว่า 1 แบรนด์จับมือร่วมกันสร้างประโยชน์จากสินค้าหรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การนำอาหารหลายแบรนด์เข้าไปรวมให้บริการภายในร้านเดียวกัน ซึ่งเมื่อลูกค้าเดินเข้าไปภายในร้านนี้เพียงแห่งเดียวก็สามารถสั่งซื้ออาหารหลากหลายแบรนด์นั้นได้ นอกจากนี้ในวงการเว็บไซต์ยังหมายรวมถึงการนำเครื่องหมายการค้า หรือชื่อตราสินค้า ของหลายๆ แบรนด์ หลายบริษัท ขึ้นไปแสดงไว้บนเว็บไซต์เดียวกัน ซึ่งเมื่อมีผู้เข้าชมเว็บไซต์ก็จะมองเห็นหลากแบรนด์เหล่านั้นในฐานะพันธมิตรธุรกิจซึ่งกันและกัน การทำโค-แบรนดิ้งที่ประสบความสำเร็จจะก่อให้เกิดพลังของแบรนด์ และประสิทธิภาพในการทำตลาดมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถส่งเสริมจุดแข็งของแบรนด์ให้ยิ่งโดดเด่นขึ้นด้วย

[/wptab]

[end_wptabset]