ปธ.สภานสพ. ยัน TCIJ ตีความผิดไปเอง เนื้อหาผลสอบสื่อรับผลปย.ซีพีเอฟ ยันไม่มีการบิดเบือน ระบุเรื่องนี้ตรวจสอบยุติแล้ว แต่จะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นในอนาคต ด้าน เจษฎ์ โทณะวณิก หนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ รับเดินทางไปขอข้อมูล ‘สุชาดา’ จริง แต่ไม่เห็นรายชื่อสื่อชัดเจน ส่วนปัญหาคนไม่มาให้ข้อมูล เป็นเรื่องที่องค์กรวิชาชีพ ต้องไปหารือสมาชิกวางกรอบกติกาควบคุมกำกับดูแลกันเอง
จากกรณีที่ TCIJ ออกแถลงการณ์ตอบโต้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กรณีคำวินิจฉัยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ 1/2559 เรื่อง ข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชน ระบุว่า ยังไม่มีพยานหลักฐานชี้ชัดและสื่อบางส่วนไม่มาให้ถ้อยคำ จึง ยังไม่สามารถมีข้อยุติว่า มีการรับผลประโยชน์หรือไม่ ดังนั้นจึงมีมติให้ยุติเรื่อง
โดยTCIL ยืนยันว่า หลักฐานธุรกิจจ่ายเงินสื่อเป็นของจริง ขณะที่รายงานของสภาการหนังสือพิมพ์ได้ บิดเบือนและให้ข้อมูลเท็จแก่สาธารณะหลายประการ
(อ่านประกอบ : แถลงการณ์ TCIJ ตอบโต้สภาการนสพ. ยันหลักฐานธุรกิจจ่ายเงินสื่อ-ของจริง!)
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า ประเด็นที่สภาการ นสพ.ถูกวิจารณ์จากทาง TCIJ ว่าพูดเท็จในกรณีที่ออกแถลงการณ์เรื่องการตรวจสอบการรับเงินจากบริษัทเอกชนของสื่อมวลชน ในใจความที่ว่า “เจ้าหน้าที่บริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ 1 ราย และผู้แทนTCIJ 1 ราย” นั้น เป็นการตีความไปเองของTCIJ ทางสภาการนสพ.ไม่ได้พูดเลยว่ามีการพูดคุยกับตัวแทน TCIJ ผ่านทางโทรศัพท์ ส่วนต่อมาที่ถูกวิจารณ์คือ ที่ TCIJ พูดว่าทำไมไม่ใช้ขบวนการของการสืบสวนในการตรวจสอบกรณีนี้ ขอตอบว่าเรื่องนี้สภาการนสพ.ไม่สามารถไปก้าวก่ายหน้าที่ของคณะอนุกรรมการอิสระได้ในการเลือกใช้วิธีการตรวจสอบ
นายชวรงค์ กล่าวต่อว่า อาจจะมีคำถามว่าทำไมไม่ตรวจสอบต่อ คำตอบคือ เพราะเรื่องนี้มัน 2 ปีแล้ว และอีกอย่างคือคนที่ถูกกล่าวหาสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าข้อกล่าวหาว่ารับเงินส่วนตัวนั้น แท้จริงแล้วเป็นการได้รับค่าโฆษณาและมีสัญญาที่ถูกต้อง แต่ทาง TCIJ ยังติดใจว่า คือข้อมูลนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่ตอนที่ทางสภาการนสพ.ไปขอข้อมูลจากทางTCIJ ทางนั้นก็ไม่ยอมให้ว่า 12 รายชื่อนั้นเป็นใครบ้าง ทางอนุกรรมการเลยต้องไปหารายชื่อทั้ง 12 คนมาเอง ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าข้อมูลที่หามาเองนี้ถูกต้องตรงกันหรือไม่ แล้วยิ่งการจะไประบุว่าเป็นใครบ้างออกสู่สาธารณะ ก็สุ่มเสี่ยงต่อการที่ถูกดำเนินคดี
” ดังนั้นทางอนุกรรมการสอบตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ คนที่มาให้ข้อเท็จจริงก็ตรวจสอบไป ส่วนคนที่ไม่ได้มานั้นก็ไม่สามารถไปกล่าวหาว่าผิดได้ หรือไปรับรองว่าเขาไม่รับผิดก็ไม่ได้เพราะเขาไม่มาให้ข้อมูล สำหรับคนกลุ่มนี้ไม่สามารถรับรองได้ว่าเป็นไปตามที่กล่าวหาหรือไม่” นายชวรงค์ ระบุ
นายชวรงค์ ยังกล่าวต่อไปว่า ผลการตรวจสอบครั้งนี้น่าจะยุติแล้ว เพราะดูแนวโน้มก็คงไม่ได้อะไรไปมากกว่านี้ แต่ถ้ามีพฤติกรรมอย่างอย่างที่กล่าวอ้างอยู่จริง ก็ควรที่จะต้องทบทวน มีการดูว่าจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลสอบจะออกมาจะไม่มีคนผิดแต่ก็สร้างผลสะเทือนว่าพฤติกรรมไหนควรทำหรือไม่ควรทำและในอนาคตจะมีสิ่งที่ตามมาคือการล้อมกรอบแนวทางปฎิบัติในวิธีการทำงานของสื่อ
ขณะที่ นายเจษฎ์ โทณะวณิก หนึ่งในคณะอนุกรรมการอิสระฯ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ตนได้เดินทางไปพบกับ นางสุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการ TCIJ เพื่อขอดูข้อมูลเอกสารหลักฐานต่างๆ จริง และคณะอนุกรรมการอิสระฯ ก็มีการเชิญนางสุชาดา มาให้ข้อมูล 1 ครั้ง ในฐานะผู้นำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ใช่กลุ่มสื่อมวลชนที่ถูกเกี่ยวข้องกับการรับเงิน
“ในการเดินทางไปขอดูข้อมูลจากนางสุชาดา ซึ่งที่ได้รับทราบก็เป็นข้อมูลเอกสารหลักฐานชุดเดียวกับที่ TCIJ นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะชน ซึ่งมีการทำแถบดำ ปิดบังรายชื่อสื่อมวลชนไว้ อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดของรายงานตรวจสอบเรื่องนี้ทางคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการตกลงกันว่า จะไม่พูดถึงรายละเอียดในสำนวนสอบหรือแสดงความเห็นอะไร เพราะการทำหน้าที่ของเราถือว่าจบสิ้นไปแล้ว หลังจากที่ส่งรายงานให้ทางสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยไปแล้ว”
เมื่อถามว่า ในรายงานผลการตรวจสอบ ระบุว่า มีสื่อมวลชนไม่มาให้ข้อมูลหลายราย นายเจษฎ์ ตอบว่า “ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ทางองค์กรวิชาชีพสื่อ และสมาชิกจะต้องพูดคุยตกลงในรายละเอียดถึงแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจน ว่าจะควบคุมดูแลกันอย่างไร เพราะในส่วนของคณะอนุกรรมการฯ เราไม่มีอำนาจเหมือนกับหน่วยงานตรวจสอบของรัฐ อาทิ สตง. หรือ ป.ป.ช. ที่หากว่าใครไม่มาจะต้องมีบทลงโทษได้ เมื่อไม่มีกฎข้อห้ามอะไร เขาไม่มาเราก็ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะคนที่มาและพร้อมให้ความร่วมมือ ก็จะถูกมองเหมารวมในแง่ไม่ดีไปด้วย”
ขอบคุณภาพจาก: chaoprayanews
ขอบคุณข่าวจาก : สำนักข่าวอิศรา