หลายฝ่ายเห็นพ้องสื่อละเมิดสิทธิผู้ตกเป็นข่าวหนักขึ้น
สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จับมือกรรมการสิทธิฯ และองค์กรที่เกี่ยวข้องจัดเวทีเสวนา “สื่อกับการละเมิดสิทธิผู้ตกเป็นข่าว” พื้นที่ภาคเหนือ หวังสร้างมาตรฐานวิชาชีพสื่อและองค์กรสื่อให้มีจรรยาบรรณ จิตสำนึกรับผิดชอบ หลายส่วนระบุชัดปัจจุบันแย่แล้ว หลังเหตุล่าสุดจากกรณีดาราดังเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ห้องเชียงแสน (ชั้น 3) โรงแรมดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายสื่อเพื่อเด็กและสื่อมวลชนท้องถิ่นเชียงใหม่ จัดเสวนา “สื่อกับการละเมิดสิทธิผู้ตกเป็นข่าว” โดยมี นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บรรยายพิเศษเรื่อง “สิทธิมนุษยชนกับสื่อมวลชน” นางอุบลนัดดา สุภาวรรณ รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวต้อนรับ และนางสุวรรณา จิตประภัสสร์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวชี้แจงความเป็นมาและวัตถุประสงค์การจัดงาน
นายวัส กล่าวว่า กฎหมายที่มีส่วนในการกำกับจริยธรรมในการทำงานของสื่อและการคุ้มครองสิทธิผู้ตกเป็นข่าวมีมานานทั้งในและระดับนานาชาติ แต่ก็มักจะมีเหตุอยู่ประจำ กับการทำงานของสื่อรวมทั้งภาวะแวดล้อมทำให้เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิตลอดเวลา ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและสื่อทุกแขนงต้องเข้าใจในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นเราก็จะเจอปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างล่าสุดกรณีการเสียชีวิตของดาราชื่อดัง ทั้งนี้กฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติ รัฐธรรมนูญก็บัญญัติเรื่องสิทธิเอาไว้ สื่อควรระมัดระวังการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและตระหนักถึงจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพนี้ให้มาก และต้องมีการท้วงติงตรวจสอบการทำงานระหว่างกันของสื่อ และภาคสังคมอย่างจริงจังด้วย
ขณะที่ นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าการละเมิดสิทธิกระทำมาอย่างต่อเนื่องนานแล้ว โดยที่ไม่ได้แก้ไขใดๆ ยกเว้นการท้วงติงเป็นกรณีๆ ไป เมื่อมีเหตุเช่นกรณีล่าสุดการเสียชีวิตของดาราดัง ซึ่งสื่อต่างประเทศจะระวังมากกว่า ไม่มีการนำเสนอภาพ ชื่อหรือการระบุตัวตน เพราะจะเป็นการละเมิดและเลี่ยงการพิพากษาชี้นำทางสังคม แต่สื่อไทยมีทั้งนำเสนอ บางองค์กรก็แถลงข่าวการจับกุมเพื่อให้สื่อนำเสนอ ซึ่งทำจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ ไม่มีการทักท้วงจริงจัง มักจะมีคำตอบออกมาว่า เพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นอุธาหรณ์เตือนสังคม จึงทำให้มีการละเมิดประจำ โดยเฉพาะที่พบบ่อยมากคือการระบุเหมารวมอาชีพหรือกลุ่มบุคคลทำให้เสียหายในภาษาข่าว เช่น ผู้ใหญ่บ้านโหด…,ม้งค้ายา…,ตำรวจเลว…,ข้าราชการขี้ฉ้อ…, เป็นต้น จึงเห็นว่า สังคมและองค์กรสื่อควรตระหนักและแก้ไขเพื่อคุณภาพของการทำหน้าที่
ส่วนในเวที เสวนาเรื่อง “สื่อกับการละเมิดสิทธิผู้ตกเป็นข่าว” มี นายชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารมวลชน นายสันทัด ศักดิ์สูง บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการเสวนาโดย นางกรรณิการ์ เพชรแก้ว ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Asia Calling ประจำประเทศไทย ต่างให้มุมมองและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขอย่างจริงจังและสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ดีขึ้น โดยมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ร่วมประชุมจากสื่อต่างๆ ในภาคเหนือจำนวนมาก
นอกจากนี้ช่วงบ่ายยังมีการเสวนากลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กรณีการละเมิดสิทธิ คือ กลุ่มที่ 1 การละเมิดสิทธิผู้เสียหาย (เด็กและสตรี) กลุ่มที่ 2 การละเมิดสิทธิผู้ต้องหา และกลุ่มที่ 3 การละเมิดสิทธิผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต พร้อมนำเสนอผลการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้สรุปผลและปิดการเสวนาครั้งนี้เพื่อจะนำสู่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและเป็นการพัฒนาคุณภาพการทำงานของสื่อมวลชนต่อไป
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
26 มกราคม 2559
สามารถดาวน์โหลดข่าวได้ที่
https://www.presscouncil.or.th