กรรมการสิทธิฯ ชี้ ตร.นำผู้ต้องหาแถลงข่าวละเมิดสิทธิมนุษยชน
…………………………………………………………………………
กรรมการสิทธิฯ ชี้ ตร.นำผู้ต้องหาแถลงข่าวต่อสื่อไม่ได้ เหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน อาจถูกฟ้องร้องได้ ด้านอดีตรองนายกสมาคมผู้สื่อข่าวฯ อาชญากรรม เชื่อยังมีผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่หลายคนไม่ทราบ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความฯ หนุนทำหน้าที่บนหลักจริยธรรม
……………………………………………………………………….
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันเด็กและเยาวชน (สสย.) จัดเสวนา เรื่อง สื่อกับการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สื่อกับการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาเป็นประเด็นสำคัญที่ กสม. เห็นด้วย และได้จับประเด็นดังกล่าว เนื่องจากมีคำร้องเข้ามาตลอดเวลา ในลักษณะกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือสื่อมวลชน ได้กระทำต่อผู้ต้องหา โดยเฉพาะคดีอาญา มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กสม. ในฐานะองค์กรตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เห็นว่า กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยมาก และกลายเป็นเรื่องปกติหรือไม่ ทั้งนี้ คำร้องที่เกิดขึ้นมี 2 ประเด็นใหญ่ คือ การนำผู้ต้องหาชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพหรือทำแผนประทุษกรรม และการนำผู้ต้องหาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
กรรมการ กสม. กล่าวถึงการนำผู้ต้องหาชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพว่า มีความจำเป็นหรือไม่ หากจำเป็นควรมีลักษณะอย่างไร จึงจะชอบด้วยกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาระบุมีความจำเป็น แต่ควรคลุมโม่ง ไม่เปิดเผยเครื่องพันธนาการ ได้แก่ โซ่ตรวน โซ่ล่าม กุญแจมือ และกุญแจเท้า รวมถึงอัตลักษณ์ เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องให้ความระมัดระวัง
ส่วนการนำผู้ต้องหาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนนั้น กสม.ประชุมเรื่องนี้ 8 ครั้ง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานอัยการสูงสุด กรมการปกครอง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้แทนสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
“ ที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องร่วมกัน การนำผู้ต้องหาชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ สตช.มีระเบียบชัดเจนทำไม่ได้ แต่พบว่า การปฏิบัติสวนทางกับระเบียบดังกล่าว” นายไพบูลย์ กล่าว และว่า การแถลงข่าวทำได้ แต่ให้แถลงเฉพาะรายละเอียดการกระทำความผิด ความคืบหน้าของคดี หรือใช้ตัวละครสมมติ ห้ามถ่ายภาพที่บ่งบอกเอกลักษณ์ หรืออัตลักษณ์ และห้ามระบุชื่อ หรือเบอร์โทรศัพท์
ด้าน นายสุวิทย์ เชยอุบล อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงว่า สามารถเป็นเกราะป้องกันการฟ้องร้องได้ ตรงกันข้ามสื่อมวลชนนำเสนอข่าวเกินข้อเท็จจริง ‘ใส่ไข่’ ก็ต้องรับผิดชอบ และหากสื่อมวลชนเห็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงข่าวเป็นเท็จ อาจต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
ส่วนผู้ต้องหาที่ไม่มีความผิดเคยร้องขอให้สภาทนายความฯ ฟ้องร้องสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวละเมิดสิทธิ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความฯ กล่าวว่า มี แต่น้อย เพราะผู้ต้องหาที่ถูกละเมิดไม่มีทุนทรัพย์และช่องทางในการฟ้องร้องเอาผิด ซึ่งคนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงความเป็นธรรม แต่ใครที่มาขอความช่วยเหลือ สภาทนายความฯ ก็ยินดี
นายสุวิทย์ กล่าวด้วยว่า สภาทนายความฯ มีจริยธรรม ยกตัวอย่าง ทำให้ลูกความเสียหาย หรือนำความลับของลูกความไปเปิดเผยเป็นความผิด เช่นเดียวกับจริยธรรมของสื่อมวลชน ต้องนำเสนอข่าวที่ไม่ทำให้ผู้ถูกละเมิดหรือญาติของผู้ถูกละเมิดได้รับความเสียหาย เพราะเมื่อนำเสนอข่าวไปแล้ว สังคมจะพิพากษาทันทีว่า มีความผิด โดยชาวบ้านไม่รู้ว่าเมื่อขั้นตอนไปถึงศาลแล้ว คดีจะมีคำพิพากษาอย่างไร
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าวถึงสื่อกับการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา มี 6 ประเด็น เชิงจริยธรรม ได้แก่ 1.การละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิของบุคคลในเกียรติยศและชื่อเสียงของเหยื่อ ผู้ถูกกระทำ ผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย ในกระบวนการยุติธรรม
2.การให้รายละเอียดของเนื้อหาข่าว ที่เกี่ยวข้องกับคดี กระบวนการยุติธรรมที่เข้าใจผิด หรือบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมักมีสื่อมวลชนเปิดเผยอัตลักษณ์บุคคลอยู่บ่อยครั้ง
3.ภาษาภาพ มุมกล้อง ภาษาข่าว ซึ่งสมัยก่อนช่างภาพอยากได้ภาพที่ดีที่สุด โจรต้องเห็นโจร ศพต้องเห็นศพ ส่วนการเซ็นเซอร์ภาพค่อยทำภายหลัง จึงเข้าข่ายการละเมิดสิทธิเช่นกัน
4.วัตถุประสงค์ของข่าวที่มุ่งเน้นขายความเร้าอารมณ์ ดราม่า ซึ่งข่าวอาชญากรรมถูกพัฒนาโดยใช้กลวิธีการเขียนข่าวเชิงนวนิยาย มีโครงเรื่อง ตัวละคร บรรยายฉาก ประหนึ่งผู้สื่อข่าวอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ
5.การตีตราประทับเชิงต่อผู้ก่ออาชญากรรมในความหมายเชิงลบต่อสังคม ไม่เฉพาะผู้ต้องหา แต่รวมถึงชาติพันธุ์ เช่น ลาวโหด พม่าคลั่ง ทอมวิปริต
6.สิทธิที่จะลบข้อมูล สิทธิที่จะถูกลืม โดยกรณีผู้ต้องหาหรือผู้เคยผ่านในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้กระทำความผิด มีสิทธิขอลบข้อมูล ประวัติบุคคล อันเป็นเท็จออกได้ ดังเช่น ปี 2012 ผู้ชายชาวสเปนได้ฟ้องร้องกูเกิลต่อศาลสหภาพยุโรป และชนะคดีในเวลาต่อมา ทำให้กูเกิลต้องลบข้อมูลย้อนหลังถึง 10 ปี
สุดท้าย นายวัชรินทร์ กลิ่นมะลิ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และอดีตรองนายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงเวลา 12 ปี กับการเป็นผู้สื่อข่าวอาชญากรรมว่า ไม่รู้เรื่องจริยธรรมเลย และเชื่อว่า ผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ไม่รู้เรื่องด้วยเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้ปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมได้อย่างไร ผู้สื่อข่าวรุ่นเก่าปลูกฝังกันมา และคนไทยชอบเสพสื่อลักษณะนี้ โดยไม่มีใครให้ความรู้หรือชี้ช่องสิ่งที่ถูกต้อง
คล้ายกับการทำข่าวสิทธิเด็ก ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ กล่าวว่า หากวันหนึ่งไม่ได้เข้ารับการอบรมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศ หรือเป็นวิทยากรให้กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund :UNICEF) ผมก็ไม่รู้เรื่องสิทธิเด็ก เพราะองค์กรไม่ได้อบรมให้ความรู้ แม้มหาวิทยาลัยจะสอนมาในระดับหนึ่งก็ตาม
นายวัชรินทร์ ยังกล่าวถึงการนำเสนอภาพประกอบข่าวอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจว่า บางครั้งไม่จำเป็นต้องมีภาพประกอบข่าวก็ได้ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะนโยบายขององค์กรระบุให้มีภาพประกอบข่าวด้วย ทั้งนี้ หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้สื่อข่าวภาคสนามกับบรรณาธิการ หรือบรรณาธิการบริหารควรรับผิดชอบร่วมกัน และไม่เห็นด้วยกับข้อท้วงติงว่า เขียนข่าวเหมือนนวนิยาย เพราะข่าวที่นำเสนอไปไม่ได้นั่งเขียน แต่เขียนขึ้นตามแนวทางการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ .