ขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวคนดัง นักกฎหมายเตือน เสี่ยงละเมิดพื้นที่ส่วนตัว

รายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 19 เมษายน 2568 ทาง MCOT NEWS FM 100.5 พูดคุยเรื่อง “ข่าวส่วนตัวเยอะจัง PDPA อยู่ไหน ?” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และจินตนา จันทร์ไพบูลย์

ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย บุญยศิษย์ บุญโพธิ์ นักวิชาการด้านกฎหมาย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ ที่ปรึกษาชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ วีรศักดิ์ โชติวานิช ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

ในมุมมอง นักวิชาการด้านกฎหมาย บุญยศิษย์ บุญโพธิ์ มองปรากฎการณ์การนำเสนอข่าวของสื่อ เรื่องส่วนตัวคนดัง ดารา นักแสดง นักการเมือง บุคคลสาธารณะ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้อย่างต่อเนื่องหลายกรณี ว่า แม้การนำเสนอข่าวของสื่อ จะได้รับความคุ้มครองตามกฏหมาย แต่จะอ้างเสรีภาพอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความรับผิดชอบด้วย หากไปรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของแหล่งข่าวมากเกินไป แหล่งข่าวก็มีกฎหมายคุ้มครองด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันคือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือพีดีพีเอ (PDPA)

สำหรับเรื่องส่วนตัวบุคคล ไม่ใช่ว่า สื่อไม่สามารถนำเสนอได้ หากเรื่องส่วนตัวนั้นเป็นประโยชน์สาธารณะ เช่นคนร้ายกระทำความผิด แต่ตำรวจยังจับกุมไม่ได้ สื่อเปิดเผยหน้าได้ ก็ต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างประโยชน์สาธารณะที่สังคมจะได้รับ กับเรื่องส่วนตัวที่บุคคลนั้นๆ ต้องสูญเสียไป อะไรมากกว่ากัน 

สื่อปัจจุบัน จะใช้ Human Interest มากกว่า Public Interest เพราะเรื่องดราม่าคนให้ความสนใจ นำเสนอไปแล้วเรียกยอดเอ็นเกจเมนต์ ยอดไลก์ ยอดแชร์ได้มาก สื่อจึงมักหลงทาง จนข่าวกลายเป็นละคร คือ Dramatized news ถ้าไปรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเขานอกจากพีดีพีเอแล้ว ก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายละเมิดต่อชื่อเสียง สามารถดำเนินคดีได้ทั้งทางแพ่งและอาญา

สำหรับการนำเสนอ คลิปเสียง แชต ภาพส่วนตัว ที่เจ้าตัวไม่ยินยอม แม้จะปิดชื่อ เบลอแล้ว แต่โดยบริบทข่าวที่นำเสนอ ทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นบุคคลนั้น จะเข้าข่ายความผิดกฎหมายพีดีพีเอหรือไม่ บุญยศิษย์ ระบุว่า แม้สื่อวิชาชีพจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 (3) ของพ.ร.บ.พีดีพีเอ แต่ต้องยึดหลักว่า การนำเสนอข่าวนั้นๆ หากเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ เข้าตามมาตรา 4 ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่การจะตัดสินว่า เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่ อาจเป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่อ สภาวิชาชีพสื่อ นั้นๆ พิจารณาว่ากรณีแบบใด ผิดหรือไม่ 

เสี่ยงพีดีพีเอและกฎหมายอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับความคุ้มครอง ไม่ได้ผิดกฎหมายพีดีพีเอในฐานะวิชาชีพสื่อ แต่ยังมีกฎหมายฉบับอื่น เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท ที่ทำให้บุคคลนั้นๆ เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ซึ่งมีโทษจำคุก หากมีการพูดในรายการ โพสต์ในโซเชียลด้วย ก็อาจถูกฟ้องร้องคดีได้ บางครั้งปิดชื่อ เบลอหน้า แต่ถ้าคนดู สามารถเดาได้ว่าเป็นใคร แค่นี้ก็เพียงพอที่จะฟ้องหมิ่นประมาทได้ สื่อจึงต้องระมัดระวังให้มาก

กรณีผู้ต้องหา เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังต้องเบลอหน้า เบลอกุญแจมือ ยังต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะตัดสิน ฉะนั้น หากสื่อไปตีตรา ว่าคนนี้ผิด ไปกระทบชื่อเสียงเขา แต่หากเป็นกรณีกระทำผิด เช่น ปล้นร้านทอง กล้องวงจรปิดจับได้ชัดเจน และหลบหนี ตำรวจพยายามสกัดจับ หรือผู้ต้องขังแหกคุก ลักษณะนี้ สื่อสามารถเปิดเผยหน้าได้ เพื่อการติดตามตัว เพราะเป็นประโยชน์สาธารณะ

สำหรับกรณีข่าวดารา ที่มีรายการส่งนักข่าวไปติดตามในห้อง เพื่อระบุถึงพฤติกรรมส่วนตัว มองว่าล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวของแหล่งข่าวเกินไปหรือไม่ บุญยศิษย์ ย้ำว่า สื่อต้องตระหนักเสมอว่า คอนเทนต์นี้ให้อะไรกับสังคม อาจมีสื่อมองว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ อะไรที่จะเป็น Dramatized news ได้ คนมาเอ็นเกจให้เยอะๆ อย่างนี้สังคมได้อะไร 

“การที่เขาอาจจะรักชอบกันช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะไปกันไม่ได้ ก็เป็นเรื่องของคนสองคน อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องกระทบต่อสังคม ในฐานะบุคคลสาธารณะนำเสนอได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ทำให้เขาเสื่อมเสีย ถึงขั้นต้องยกเลิกงาน พรีเซ็นเตอร์ เค้าฟ้องทางแพ่งได้ เพราะถือว่าทำให้เสื่อมเสียต่อชื่อเสียง เรียกค่าเสียหายได้ โดยเฉพาะพีดีพีเอ ถ้าเป็นทางแพ่ง ศาลตัดสินค่าเสียหายเท่าไหร่ จะคูณสอง” บุญยศิษย์ ระบุ

หากส่งผลกระทบงาน ฟ้องกลับสื่อได้ 

นักวิชาการด้านกฎหมาย ยังเน้นย้ำว่า กรณีบุคคลสาธารณะ เป็นบุคคลที่คนทั่วไปให้ความสนใจ จะมี 2 ประเภท คือ สมัครใจให้คนรู้จัก เช่น อินฟลูเอนเซอร์ ไอดอล ดารา และอีกประเภท คือกลุ่มผู้ต้องหา ที่อยู่ในคดีดัง แต่ไม่ว่าเค้าจะอยู่ในประเภทใด บุคคลสาธารณะก็คือบุคคลตามกฏหมาย ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำงานของเขา เช่น การแสดง แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว แล้วเราไปนำเสนอให้เขาเสียหายจนเขาโดนยกเลิกงาน เขาสามารถเก็บหลักฐาน แล้วฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียงได้ แม้กระทั่ง การไปคอมเมนต์ใต้โพสต์ไอจี แล้วทำให้เขาเสื่อมเสีย ก็ฟ้องได้ เพราะบุคคลสาธารณะไม่ใช่สนามอารมณ์ ที่จะไปพิมพ์อะไรก็ได้ เพียงแต่ว่าเข้าอยู่ในจุด Spotlight มีแสงสว่าง ที่คนมองเห็นมากกว่า แต่ถ้าวันหนึ่ง มีเรื่องส่วนตัวของเขา ที่ไม่อยากให้สาธารณะรู้ แล้วไปนำเสนอ เขาก็สามารถฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายได้เช่นกัน

บุญยศิษย์ สะท้อนปรากฎการณ์ การนำเสนอข่าวในลักษณะนำเรื่องส่วนตัวบุคคลมาเผยแพร่ โดยสื่อบางกลุ่ม บางสำนัก อาจเป็นเพราะ คนสนใจรายการข่าวมากขึ้น จนทุกวันนี้แทบแยกไม่ออกว่า อะไรเป็นข่าว อะไรเป็นละคร เพราะเรื่องส่วนตัวลักษณะนี้ มันขายได้ แม้ไม่ใช่บุคคลสาธารณะ บางทีสื่อไปปั่นจากบุคคลธรรมดา ให้เขาเป็นบุคคลสาธารณะก็มี ฉะนั้นหากคนยังดู ยังสนับสนุน ให้เกิดเอนเกจ มียอดไลก์ ยอดแชร์ มี เรตติ้ง ข่าวลักษณะนี้ก็คงไม่หมดไป 

สื่อออนไลน์มาแรง ปัญหาควบคุมยาก

บริบทของสังคมตอนนี้ สื่อออนไลน์มาแรงมาก ควบคุมยากมาก ทุกคนเข้าสื่อออนไลน์ 99% ด้วยความที่ไปเร็ว ภาครัฐควรจะมีมาตรการ เช่น ทีวี ที่มี กสทช. กำกับดูแลฯ หากเป็นเรื่องสื่อออนไลน์ ก็อยากให้มีมาตรการ หรือมีกฎหมาย ที่มีสภาพบังคับ เพราะปัจจุบัน เราก็ใช้อย่างเดียวคือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

บุญยศิษย์ ระบุด้วยว่า ทุกวันนี้มีนักข่าวพลเมืองเต็มไปหมด ใครมีสมาร์ทโฟนเจออะไรก็ถ่าย เป็นข่าวได้หมด

“แต่ถ้าใครอยากเป็นสื่อวิชาชีพ อยากให้มีการขึ้นทะเบียน มีใบประกอบวิชาชีพว่า เป็นผู้สื่อข่าวประเภทใด จะทำให้ควบคุมได้ง่ายขึ้น หากทำผิด ก็มีการลงโทษ ไม่ว่าทางกฎหมาย หรือจริยธรรม ทุกวันนี้สื่อออนไลน์กว้างมาก และเป็นอะไรที่ควบคุมยากมาก ทุกวันนี้ใครก็เป็นนักข่าวได้ ใครก็เป็นสื่อได้ แม้อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่อยากให้เริ่มต้น”

“สำหรับสื่อวิชาชีพ ในส่วนของสภาฯ หรือองค์กรวิชาชีพ ที่มีการกำกับดูแลกันเอง ตนอยากให้มีมาตรการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม เช่น มีบทลงโทษ เช่นเดียวกับผู้สนับสนุน ก็ต้องไม่สนับสนุนสื่อลักษณะนี้” บุญยศิษย์ ทิ้งท้าย

แนวปฏิบัติส่งผลสื่ออยู่ในกรอบมากขึ้น

ทางด้านประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อฯ วีรศักดิ์ โชติวานิช  สะท้อนสถานการณ์การนำเสนอข่าวเรื่องส่วนตัวบุคคลในสื่อว่า ก่อนที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จะออกแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวประเภทต่างๆในอดีต มีหลายเหตุการณ์ต่างๆ ที่สื่อนำเสนอข่าว ในลักษณะละเมิดจริยธรรม ละเมิดกฎหมาย เยอะมากทั้งสื่อหลัก สื่อรอง กระทั่งต่อมามีแนวปฏิบัติที่เสมือนเป็นระเบียบกลางทำให้การละเมิดต่างๆ ลดน้อย และเบาบางลง

ปัจจุบันจึงเห็นได้ว่า 1. สื่อวิชาชีพ มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น 2.การนำเสนอในลักษณะละเมิดน้อยลงมา แม้จะยังมีบ้างที่เผลอเรอ ดังนั้นโดยภาพรวม ปัญหาการละเมิดจริยธรรมต่างๆ ถือว่าดีขึ้นกว่าเดิมมาก แม้จะยังไม่ได้เข้าสู่จริยธรรมอย่างเต็มที่ ก็พอเข้าใจได้ในเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจ หรือลักษณะบุคลิกของพิธีกร จึงต้องคอยตักเตือน และเฝ้าระวังตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีสำหรับสื่อ อย่างการมี AI เข้ามาช่วยในงานสื่อในก็ตาม แต่การนำเสนอก็ยังต้องอยู่ในกรอบจริยธรรมวิชาชีพ ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่พัฒนาไปมาก จากหลายๆ เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น  เช่น สื่อหนังสือพิมพ์ยุคเก่า เสนอภาพข่าวเหตุการณ์ภัยพิบัติ อุบัติเหตุ ที่มีคนเจ็บ คนเสียชีวิต ก็จะลงให้เห็นชัดเจน ก็รณรงค์ว่าจะต้องเบลอภาพ ก็ทำให้ซาลง 

ปัจจุบันแม้จะไม่เสนอภาพ เช่น กรณีตึก สตง.ถล่มขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว แต่กลับพบว่า มีการรายงานข่าว อธิบายละเอียด ถึงลักษณะ ชิ้นส่วนร่างกาย ซึ่งมันเกินเลยไป ไม่ต้องบรรยายถึงขนาดนั้นก็ได้ 

คุ้ยเรื่องส่วนตัวเชิงลึก เสี่ยงละเมิด

หรือประเด็นเรื่องส่วนตัวดารา ที่ผู้สื่อข่าวไปหาร่องรอย ไปตรวจพิสูจน์หลักฐานถึงคอนโดห้องเกิดเหตุ ลักษณะที่นอน ฝาผนัง อะไรต่างๆ การทำอย่างนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ดำเนินรายการ ต้องการนำเสนอ ให้เห็นว่าตัวเองเจาะลึกเท่านั้น แต่สังคมไม่ได้ประโยชน์อะไร หากผู้ดำเนินรายการ เข้าใจว่าสังคมชอบเสพอย่างนั้น คิดว่าเข้าใจผิดแล้ว เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มปรับทัศนคติ อาจจะมีเพียงบางส่วนที่อยากเสพเรื่องอย่างนี้ 

ดังนั้น การนำเสนออย่างนี้ ควรตระหนัก เพราะมี 2 มิติ 1.การละเมิดจริยธรรม คือการนำเสนอข่าวที่ทำให้สังคมเสพในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง 2.การละเมิดกฎหมาย ตัวอย่างกรณีเรื่องส่วนตัวดารานักร้อง ผู้ดำเนินรายการช่องนั้นนี้นำเสนอลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ ต้องไปตรวจพิสูจน์ถึงคอนโดฯ ถึงเตียง ลักษณะการกระแทกของที่นอนต่างๆ มันมี 2 มิติ 1.ถ้ามีการเอ่ยชื่อตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข่าว นอกจากจะไม่ถูกต้องเรื่องจริยธรรมวิชาชีพแล้ว ยังละเมิดกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล หรือพีดีพีเอ และผู้ดำเนินรายการนั้น ยังผิดจริยธรรมวิชาชีพสื่อ

 “นอกจากการไปจำลองเหตุการณ์ ถ่ายเป็นคลิป ผู้ดำเนินรายการยังมีการใส่ความคิดเห็น มีการขยายประเด็นต่างๆ เอาเรื่องพฤติกรรมตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบ ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จึงอยากจะทำความเข้าใจกับสื่อว่า แม้ว่าเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เขาจะยินยอม แต่ใช่ว่าสื่อสามารถทำได้อย่างอิสระเสรี”

ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อฯ ยังหยิบยกเป็นกรณีตัวอย่าง เช่น หากแม่ที่ไม่มีเงินเลี้ยงดูลูกได้ และเอาลูกมาประกาศหาคนรับไปดูแล หรือขาย โดยอาจนำเรื่องไปให้สื่อเปิดเผย โดยแม่เป็นผู้ยินยอม เรื่องอย่างนี้ สื่อไม่สามารถนำเสนอเป็นข่าวได้ เพราะมีกฎหมายคุ้มครองเด็ก และยังเป็นการละเมิดจริยธรรม ที่เรากำหนดรูปแบบในการนำเสนอเกี่ยวกับเด็กด้วย 

แม้แต่กรณีผู้ป่วยในโรงพยาบาล แม้เจ้าตัว หรือญาติ จะยอมให้ถ่ายคลิป ส่งไปให้สื่อนำเสนอเป็นข่าว สื่อก็ทำไม่ได้ เพราะมีกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วย ที่กำหนดมาตรการ วิธีการ ดังนั้น สื่อจึงต้องตระหนัก เพราะถึงแม้เป็นวิชาชีพสื่อ ที่มีอิสระ มีอภิสิทธิ์ในการนำเสนอข่าว แต่พอมีประเด็นปัญหาขึ้นมา สังคมปัจจุบันมีการสื่อสารอย่างรวดเร็วความอ่อนไหว ก็อาจทำให้เรื่องกระพือขึ้นมา จนทำให้สื่อถูกมองว่า เอาอีกแล้ว 

อย่างไรก็ตาม สื่อส่วนใหญ่ มากกว่า 50% ในปัจจุบันปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาก จากที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยคณะทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอยู่ภายใต้กรรมการจริยธรรม ได้มอนิเตอร์ เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวโดยเฉพาะประเด็นเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา

ยกเคสตปท.หลักฐานชัดจึงนำเสนอ

ทางด้านนักวิชาชีพสื่อ ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ มองสถานการณ์สื่อทุกวันนี้ว่า จากเดิมที่เนื้อหา วาระข่าวสาร เกิดจากสื่อไปหาข้อมูลต่างๆ เอง แต่วันนี้พื้นที่สื่อที่เปลี่ยนไป สื่อจึงไปอาศัยพื้นที่ จากสื่อพลเมือง หรือผู้ผลิตคอนเทนต์ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งในทางดีหรือไม่ดี โดยเฉพาะหากมีเรื่องราวเกิดขึ้น กับคนในแวดวงบันเทิง ยิ่งทำให้คนสนใจ อยากรู้เรื่องราว มีตัวละครเยอะ ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ ไม่มีข้อสิ้นสุด ใครผิดใครถูก กลายเป็นพื้นที่ในสังคม เป็นกระบวนการยุติธรรม ตัดสินเรื่องไปแล้ว 

หากเทียบกับการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารลักษณะนี้ ในต่างประเทศ เรื่องบันเทิง เช่น การติดตามดาราท่านหนึ่ง หากไม่มีหลักฐานอ้างอิง เขาจะไม่นำเสนอ จนกว่าจะมีข้อพิสูจน์ มีหลักฐานยืนยัน หรือเจ้าตัวออกมาพูดเอง เพราะปาปารัสซี ก็มีกฎหมายที่กำหนดว่า อะไรทำได้หรือทำไม่ได้ อะไรคือการคุกคามความเป็นส่วนตัว ขณะที่พื้นที่ข่าวสารในบ้านเรา กลับถูกพูดโดยบุคคลที่ 4  ที่ 5 ซึ่งได้พื้นที่ข่าวมากกว่าคนต้นเรื่อง

การสร้างพื้นที่ข่าว ถ้าดูผลประโยชน์ ในการสร้างยอดเอนเกจเมนต์ เนื้อหาแบบนี้ จะไปเปิดพื้นที่ให้เห็นว่า ทราฟิกบนโลกออนไลน์ มันจะสร้างกลไกในการเอ็นเกจ เมื่อเทียบกับข่าวที่เป็นเชิงคุณภาพ ที่คนไม่สนใจ เอ็นเกจต่ำ ถ้าดูยอดวิว คอนเทนต์ที่เป็นลักษณะปุถุชน คนก็อยากรู้อยากเห็นเรื่องบุคคลอื่น 

 สำหรับสื่อหลักส่วนใหญ่ จะเลี่ยงการนำเสนอ ลดการพาดพิงเรื่องความเป็นส่วนบุคคล ข้อมูลที่ไม่ถูกรับรองว่ามาจากต้นฉบับจริง เป็นหลักฐานที่ไม่สามารถยืนยัน หรือระบุได้

พัฒนาการสื่อ ถอดกอสซิปส่วนตัว

ฐิติชัย ยกตัวอย่างในอดีตว่า ข่าวบันเทิง หรือกอสซิปต่างๆ จะมีพื้นที่ลักษณะการให้ข้อมูล เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนฟ้อง ถ้าย้อนหลังไปเมื่อ 20 ปีก่อน จะเห็นว่าเคยมีคอลัมนิสต์ เขียนเกี่ยวกับแวดวงบันเทิงใช้นามปากกาว่า“ซ้อ”นำเสนอเรื่องส่วนตัวคนบันเทิง และปัจจุบันก็ไม่มีอีกแล้ว เพราะมีผลกระทบอย่างอื่นตามมา สิ่งเหล่านี้ จึงถูกถอดออกจากพื้นที่สื่อ ยุติบทบาทการนำเสนอเนื้อหาลักษณะนั้นทำให้เห็นว่า ในพื้นที่สื่อก็มีการกรองออกไป

ในปัจจุบันกฎหมายต่างๆ ตั้งแต่พีดีพีเอ กฎหมายไซเบอร์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สื่อมวลชนก็เริ่มตระหนัก อีกทั้งยังมีการกำกับดูแลกันเอง และจากองค์กร หน่วยงาน เช่น ทีวี มี กสทช.กำกับดูแล มีการลงโทษ ถูกระงับออกอากาศ เพื่อให้ระมัดระวังมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้สื่อระวังกับเรื่องลักษณะนี้ เพราะค่าปรับค่อนข้างสูง มีโทษทั้งแพ่ง และอาญา

อย่างไรก็ตาม หากสื่อจะนำเสนอเรื่องความสัมพันธ์ ความลับในครอบครัว จะพิจารณาอย่างไรไม่ให้ละเมิดกฎหมาย ฐิติชัย มองว่า สภาวิชาชีพ สื่อมวลชน ได้ให้ความรู้ ที่แทรกไปตามการอบรมหลักสูตรต่างๆ ด้านวิชาชีพสื่อ บรรจุเนื้อหา ที่เป็นกรณีศึกษา ซึ่งมีตั้งแต่ระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูง หรือระดับผู้บริหาร เพื่อให้มีทักษะเหล่านี้มากขึ้น 

ขณะเดียวกันแต่ละองค์กร ก็เริ่มให้ความสำคัญ กับเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายใหม่ๆ ข้อมูลที่อ่อนไหว เรื่องเด็กเยาวชน สตรี ที่สื่อเห็นความสำคัญ และตระหนักถึง มีความระมัดระวังเนื้อหา ในกระบวนการทำงาน ตั้งแต่ระดับผู้สื่อข่าว ไปถึงบรรณาธิการ มีการคัดกรอง ตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องก่อนนำเสนอ เพราะหากถูกฟ้อง โทษก็จะหนักกว่าบุคคลทั่วไปด้วยซ้ำ.   

++++++++++++++++++++