แนวปฏิบัติ การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๖๗

แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

เรื่อง การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๖๗

          เนื่องในสถานการณ์ปัจจุบัน การผลิตข่าวและการพัฒนาบริบทข่าวของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และเว็บไซต์ข่าวสารต่าง ๆ ได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ : Artificial Intelligence (AI) โดยนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตเนื้อหาข่าว ตั้งแต่การแสวงหาข้อมูล รวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การเรียบเรียงและปรุงแต่งข้อมูล การสร้างสรรค์เนื้อหา การผลิตข่าวจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกหลากหลายรูปแบบ ไปจนถึงการเผยแพร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างสรรค์ผลงานข่าวสารเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ แต่การใช้ประโยชน์จาก AI ในงานสื่อสารมวลชนยังมีข้อจำกัดที่ต้องทำความเข้าใจ จึงเห็นสมควรให้มีแนวปฏิบัติในการใช้ AI ให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลข่าวสาร เนื้อหาข่าวที่เผยแพร่ออกไปนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและความน่าเชื่อถือ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความระมัดระวังในการพัฒนาด้านงานสื่อมวลชนและการใช้เทคโนโลยี AI อย่างเหมาะสมภายใต้กระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ และเพื่อให้เกิดการตระหนักถึงจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน

          ดังนั้นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จึงกำหนดให้มีแนวปฏิบัติ เรื่อง การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๖๗ ดังต่อไปนี้

หมวดที่ ๑ บททั่วไป

ข้อ ๑ แนวปฏิบัตินี้ เรียกว่า “แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๖๗”

ข้อ ๒ แนวปฏิบัตินี้ให้มีผลบังคับใช้ถัดจากวันที่ประกาศใช้

หมวดที่ ๒ บทนิยาม

ข้อ ๓ ในแนวปฏิบัตินี้

 เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ : Artificial Intelligence (AI) หมายถึงเทคโนโลยีการสร้างระบบประมวลผลคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องจักรให้มีคุณลักษณะ หรือพฤติกรรมเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ มีสติปัญญาความฉลาดใกล้เคียง หรือเหนือกว่ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการคิดได้แบบมนุษย์ การกระทำได้แบบมนุษย์ การคิดอย่างมีเหตุผล และการกระทำอย่างมีเหตุผล

Generative AI หมายถึง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการสร้างเนื้อหาใหม่ ๆ โดยใช้ข้อมูลที่ได้รับการฝึกฝนมา ซึ่งอาจเป็นการสร้างข้อความ ภาพ เสียง วิดีโอ หรือเนื้อหาประเภทอื่น ๆ ขึ้นใหม่โดยไม่เพียงแต่เลียนแบบ หรือวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้น แต่ยังสามารถสังเคราะห์เพื่อสร้างเนื้อหาใหม่ ข้อมูลใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นข้อมูลที่ไม่มีอยู่จริงก็ได้

องค์กรสื่อมวลชน หมายถึง องค์กรสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และองค์กรสื่ออื่น ๆ ที่ยอมรับแนวปฏิบัตินี้

ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร ตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร และเจ้าของที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นปกติธุระ โดยมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญตามหลักวิชาชีพ มีความรับผิดชอบทางกฎหมายและสามารถกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน

กองบรรณาธิการ หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติงานสื่อมวลชนโดยรับผิดชอบกระบวนการผลิต และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตั้งแต่การค้นหาข้อมูล รวบรวม ตรวจสอบ คัดเลือก วิเคราะห์ สร้างสรรค์ และนำเสนอผ่านสื่อมวลชน

ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชน หมายถึง กองบรรณาธิการ บรรณาธิการ หัวหน้ากองบรรณาธิการ บรรณาธิการบริหาร หรือตำแหน่งอื่นใดที่ทำหน้าที่ควบคุม คัดกรอง ตรวจสอบข้อมูลตามบทบาทหน้าที่ของกองบรรณาธิการ รวมถึงผู้สื่อข่าว ผู้เขียนข่าว ผู้เขียนบทความ ช่างภาพ ผู้เขียนภาพ นักสร้างสรรค์ภาพประกอบ กราฟิก การ์ตูนข่าว หรือตำแหน่งอื่นใดที่มีบทบาทในการค้นหา รวบรวม ตรวจสอบ สร้างสรรค์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นปกติธุระตามหลักวิชาชีพสื่อมวลชนที่ต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและมีการกำกับดูแลให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน

ผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานสื่อมวลชน/ผู้สนับสนุนงานข่าว หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำงานสนับสนุนกระบวนการผลิตและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการงานกองบรรณาธิการ อาทิ พนักงานจัดหน้าหนังสือพิมพ์ ฝ่ายกราฟิก ผู้พิสูจน์อักษร นักตัดต่อภาพและเสียง พนักงานควบคุมเสียง พนักงานควบคุมแสง นักสร้างสรรค์มัลติมีเดีย นักสร้างสรรค์เนื้อหา (Content Creator) แอดมิน หรือตำแหน่งอื่นใดที่มีบทบาทสนับสนุนการค้นหา รวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อมวลชน

ข่าว หมายถึง เนื้อหาที่เป็นการรายงานข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์หรือความคิดเห็นของบุคคลที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่มีความคิดเห็นของผู้สื่อข่าว นักข่าว การมีข้อมูล หรือหลักฐานในการอธิบายถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน โดยนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อเสียง สื่อภาพ สื่อเคลื่อนไหว กราฟิก ภาพจำลองเหตุการณ์ สื่ออินเตอร์แอคทีฟ และรูปแบบอื่น ๆ ผ่านทางสื่อมวลชน

เนื้อหาข่าว หมายถึง การนำเสนอข้อมูล ข่าวสารในรูปแบบต่างๆ สื่อสารให้เข้าใจได้ทั้งตัวอักษร รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อเสียง สื่อภาพ สื่อเคลื่อนไหว รูปแบบการนำเสนอเฉพาะของสื่อดิจิทัล กราฟิก แอนนิเมชั่นจำลองเหตุการณ์ ภาพเสมือน (Immersive) สื่ออินเตอร์แอคทีฟ และรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเนื้อหาข่าวนั้น

เนื้อหา หรือ คอนเทนต์ (Content) หมายถึง การนำเสนอข้อมูล หรือ เรื่องราว ในรูปแบบต่างๆ ทั้งตัวอักษร ภาพ ภาพเคลื่อนไหว แสง เสียง รูปแบบการนำเสนอเฉพาะของสื่อดิจิทัล กราฟิก แอนนิเมชั่นจำลองเหตุการณ์ ภาพเสมือน (Immersive) สื่ออินเตอร์แอคทีฟ และรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเนื้อหา นำเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อ ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้ มีความสร้างสรรค์ ให้คุณประโยชน์ มีความรับผิดชอบ และไม่ขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน

 ภาพข่าว หมายถึง รูปที่ปรากฏเห็น สิ่งที่วาดขึ้นเป็นรูป สิ่งที่ถ่ายแบบไว้ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว แสดงเรื่องราว เหตุการณ์ เพื่อประโยชน์ในการรายงานข่าว สามารถสื่อความหมายได้โดยตรง สร้างความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว ดึงดูดความสนใจ ก่อให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ จากสิ่งที่ปรากฏในภาพ ใช้เป็นหลักฐานสำคัญ หรือหลักฐานประกอบในการอธิบายเนื้อหา ผลิตตามหลักวิชาชีพสื่อมวลชน มีความรับผิดชอบทางกฎหมายและมีการกำกับดูแลให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน

ภาพประกอบข่าว หมายถึง รูปที่ปรากฏเห็น สิ่งที่วาดขึ้นเป็นรูป สิ่งที่ถ่ายแบบไว้ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว แผนภูมิ อินโฟกราฟิก ข้อมูลอินเตอร์แอคทีฟ ที่ถูกนำมาใช้แสดงประกอบเนื้อหาข่าว บอกเรื่องราวให้เข้าใจข่าวได้ดีขึ้น การบรรยายถึงสถานที่ อธิบายเหตุการณ์ การกล่าวถึงตัวบุคคล เพื่อประโยชน์ในการนำเสนอข่าว สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนเข้าใจ ทราบได้เป็นการทั่วไป ผลิตตามหลักวิชาชีพสื่อมวลชน มีความรับผิดชอบทางกฎหมายและมีการกำกับดูแลให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน

การผลิต หมายถึง กระบวนการสร้างเนื้อหา ตั้งแต่ การวางแผน การจัดหาข้อมูล การศึกษาข้อมูล การวิเคราะห์ การแปลข้อมูล การเรียบเรียง สร้างขึ้นด้วยการเขียน วาด ถ่ายภาพ หรือ การนำส่งข้อมูลเข้าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โปรแกรมประยุกต์ แอปพลิเคชั่น เพื่อให้เกิดเนื้อหาขึ้นมาใหม่ เช่น บทความ รูปวาด ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว อินโฟกราฟิก เสียง โฮโลแกรม ฯลฯ

การเผยแพร่ หมายถึง การส่งต่อ “ข่าว” “เนื้อหา” ผ่านช่องทางต่าง ๆ สู่การรับรู้ของผู้รับสาร เช่น ประชาชนทั่วไป เป็นการเผยแพร่ทั้งในสื่อของตนเอง หรือ หน่วยงานที่ตนสังกัด หรือในช่องทางในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ แพลตฟอร์มดิจิทัล ของผู้อื่นที่มีกลไกบริหารจัดการการเผยแพร่ (Algorithm) เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือช่องทางอื่น ๆ

การตรวจสอบข้อมูล (Fact-checking) หมายถึง กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูล เพื่อยืนยันความถูกต้อง ความครบถ้วน ความน่าเชื่อถือ และป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาดของข้อมูล โดยเป็นกระบวนการทำงานของผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนและกองบรรณาธิการตั้งแต่ขั้นการรวบรวมข้อมูล (Newsgathering) การวิเคราะห์ข้อมูล (Analyzing) การตรวจสอบยืนยันข้อมูล (Verification) และการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร (Presentation)

หมวดที่ ๓ การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขององค์กรสื่อมวลชน

ข้อ ๔ การใช้ประโยชน์จาก AI ในกระบวนการผลิตเพื่อการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ต้องยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ อย่างเคร่งครัด

ข้อ ๕ การนำเสนอข่าวโดยการใช้ AI ในการบริหารจัดการ และใช้งานข้อมูลจากแหล่งข้อมูล ฐานข้อมูล ในระบบสารสนเทศ ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีแนวทางให้องค์กรสื่อมวลชนถือปฏิบัติ ดังนี้

๕.๑ องค์กรสื่อมวลชนต้องจัดระบบกระบวนการผลิต และวิเคราะห์เนื้อหา ตัวอักษร คลิปเสียง คลิปวิดีโอ ภาพดิจิทัล อย่างรู้เท่าทันข้อมูล โดยตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากหลายแหล่งที่มาก่อนนำไปสร้างสรรค์ ประมวลผลด้วย AI จนถึงการเผยแพร่ ต้องมีมนุษย์เป็นผู้กำกับดูแล และรับผิดชอบในทุกกระบวนการ

๕.๒ องค์กรสื่อมวลชนต้องตรวจสอบเนื้อหาจากแหล่งข้อมูลก่อนนำมาผลิต หรือนำมาประกอบ
การรายงานข่าว เพื่อให้การใช้ AI เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สร้างความเสียหายต่อแหล่งข่าว หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน

๕.๓ ภาพข่าว ภาพประกอบข่าว ขององค์กรสื่อมวลชนที่ผลิตด้วย Generative AI ต้องระบุให้ทราบอย่างชัดเจน ด้วยข้อความ การใส่ลายน้ำ หรือตราสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งลงในภาพที่สื่อความหมายว่า “ผลิตด้วย AI” เพื่อให้ผู้อ่าน หรือผู้รับสารทราบ และเพื่อแสดงความโปร่งใส และความรับผิดชอบด้านมาตรฐานวิชาชีพขององค์กรสื่อมวลชน

๕.๔ หากพบว่าการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ภาพข่าว ภาพเคลื่อนไหว สื่อดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ ที่สร้างจาก AI เกิดความผิดพลาด จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลหรือองค์กรอื่น องค์กรสื่อมวลชนต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยดำเนินการแก้ไขความผิดพลาดนั้นทันที พร้อมประกาศให้สาธารณะทราบเพื่อลดผลกระทบจากการกระจายข้อมูลที่ผิดพลาดในวงกว้าง

๕.๕ องค์กรสื่อมวลชนต้องไม่ใช้ AI ในการเสนอข่าว และภาพข่าวที่อาจก่อให้เกิดอคติ นำไปสู่ความเกลียดชัง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ ข่าวและภาพข่าวเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง ชาติพันธุ์ ศาสนา สถานะทางเพศ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็กและสตรี การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การกระทำซ้ำ ตอกย้ำความรุนแรง เร้าอารมณ์ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง และความน่าเชื่อถือในคุณภาพของการนำเสนอข่าวตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน

๕.๖ องค์กรสื่อมวลชนต้องไม่สร้างภาพข่าว หรือภาพประกอบข่าว ด้วย AI โดยไม่รู้แหล่งที่มาของภาพ

๕.๗ องค์กรสื่อมวลชนต้องระมัดระวังการสร้างสรรค์งานเสียงหรือ เนื้อหาในรูปแบบเสียง ด้วย AI หรือ “Generative AI” แทนมนุษย์ หรือบุคคลที่ทำหน้าที่ในงานสื่อมวลชน อาทิ ผู้ดำเนินรายการ พิธีกรฯลฯ หากจำเป็นต้องใช้ AI ต้องแจ้งให้ผู้รับสารรับทราบ

๕.๘ องค์กรสื่อมวลชนต้องไม่นำข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ทั้งทางตรง     หรือทางอ้อม เข้าสู่ระบบประมวลผล AI หรือ สั่งให้ AI นำข้อมูลไปประมวลผลซ้ำ หรือวิเคราะห์ข้อมูลโดยไม่ได้รับการยินยอม

๕.๙ องค์กรสื่อมวลชน พึงจัดตั้งทีมงานรับผิดชอบการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและเนื้อหาที่ผลิตโดย AI

๕.๑๐ องค์กรสื่อมวลชนพึงประเมินผล ปรับปรุงมาตรฐานการใช้ AI ให้สอดคล้องต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการแจ้งประกาศให้ทราบถึงการปรับปรุง หรือการปรับเปลี่ยนการใช้ AI เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน

๕.๑๑ องค์กรสื่อมวลชนพึงระมัดระวังการใช้ AI ในการนำเสนอข่าวด่วน ข่าวสถานการณ์ที่จำเป็นต้องรายงานทันที (Breaking News) โดยการผลิต หรือเผยแพร่ข่าวดังกล่าว ให้คำนึงถึงจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนโดยเคร่งครัด

๕.๑๒ องค์กรสื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการใช้ภาพที่สร้างจาก AI แทนการใช้ภาพจริง และตระหนักถึงการใช้ภาพที่สร้างจาก AI อย่างเหมาะสม

๕.๑๓ องค์กรสื่อมวลชนพึงเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสม รู้เท่าทันแหล่งที่มาของฐานข้อมูลที่นำมาพัฒนา AI และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้งในระดับองค์กร และตัวบุคคล อาทิ การใช้คำสั่งสำเร็จรูป (Prompt) โปรแกรมประยุกต์ AI แอปพลิเคชั่น AI เว็บไซต์บริการ AI รวมถึงกระบวนการสืบค้นข้อมูลด้วย AI

๕.๑๔ เมื่อนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI องค์กรสื่อมวลชนพึงให้ความรู้ คำแนะนำแก่ประชาชนในการใช้ประโยชน์จาก AI พร้อมทั้งทำหน้าที่ตรวจสอบ แจ้งเตือนสังคม และประชาชนผู้รับสาร ในสิ่งที่เป็นผลกระทบจาก AI

๕.๑๕ องค์กรสื่อมวลชนพึงจัดทำมาตรฐานการใช้ AI รวมถึงให้การศึกษา อบรมเผยแพร่ความรู้   แก่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความพร้อมในการใช้งาน โดยไม่ขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน

๕.๑๖ องค์กรสื่อมวลชนพึงมีที่ปรึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ AI หรือทำงานร่วมกับบุคลากร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสามารถให้         คำแนะนำในการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพ

๕.๑๗ องค์กรสื่อมวลชนพึงมีบุคลากรที่ผ่านการศึกษาอบรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ AI ตาม    มาตรฐานที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานขององค์กรสื่อมวลชน เพื่อให้มั่นใจว่า AI ที่นำมาใช้มีความน่าเชื่อถือ    และสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย พร้อมให้คำแนะนำการพัฒนาทักษะ และการใช้เครื่องมือ AI อย่างมี  ประสิทธิภาพ โดยเป็นการทำงานร่วมกับ AI ที่มีมนุษย์เป็นผู้กำกับดูแล

ข้อ ๖ องค์กรสื่อมวลชนที่ยอมรับแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๖๗ พึงประกาศ หรือแสดงสัญลักษณ์ให้สาธารณชนรับทราบผ่านทางเว็บไซต์ขององค์กร หรือช่องทางอื่นตามความเหมาะสม

หมวดที่ ๔

การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน/ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชน/ผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานสื่อมวลชน/ผู้สนับสนุนงานข่าว

ข้อ ๗ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฯ ต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในหมวดที่ ๓ และแนวปฏิบัติขององค์กรที่สังกัด และต้องระมัดระวังการใช้ AI ในการผลิต การเรียบเรียง การแปลภาษา รวมถึงการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ด้วยทักษะการใช้เอไอโดยเข้าใจ และสามารถทำงานร่วมกับ AI ได้

ข้อ ๘ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฯ ต้องให้ความสำคัญกับข่าว เนื้อหาข่าว ในกระบวนการรายงานข่าว ที่ผลิตโดยมนุษย์

ข้อ ๙ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฯ ต้องศึกษากฎหมาย ข้อบังคับ ข้อกำหนด หรือข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ AI เพื่อมิให้การปฏิบัติงานข่าวกระทบต่อประโยชน์หรือความปลอดภัยสาธารณะ

ข้อ ๑๐ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฯ พึงระมัดระวังการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ชุดคำสั่งสำเร็จรูป (Prompt) โปรแกรมประยุกต์ แอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ ที่มีการใช้งาน Generative AI หรือการประมวลผล AI อย่างเหมาะสม รวมทั้งตระหนักถึงการรู้เท่าทันข้อมูล (DATA LITERACY) ที่ได้รับมา การใช้ข้อมูลสถิติ และตัวเลขต่าง ๆ วิธีทำงานกับข้อมูล และการค้นหาข้อมูล รวบรวมเนื้อหาข่าว จากแหล่งข้อมูลในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอเนื้อหาข่าว จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูล และพิจารณาเนื้อหาก่อนนำมาใช้ผลิต เรียบเรียงเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่ง หรือสาระสำคัญของข่าวสาร เพื่อความถูกต้อง และเป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน

ข้อ ๑๑ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฯ พึงหลีกเลี่ยงการนำข้อมูลจากผู้สร้างสรรค์เนื้อหาในแพลตฟอร์มออนไลน์ (User generated content) ได้แก่ ข้อความ ภาพ เสียง วิดีโอ ฯลฯ มาทำการปรุงแต่งข้อมูล สร้างสรรค์เนื้อหา ผลิตข่าว ผลิตเนื้อหาใหม่ จากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง หรือรูปแบบใหม่ ผ่านคำสั่งสำเร็จรูป (Prompt) ให้เกิดผลงานใหม่ หรือป้อนข้อมูลใหม่ผสมผสานเข้าด้วยกันเป็นเนื้อหาสาระใหม่ เพื่อการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ ตัวอักษร ภาพ กราฟิก วิดีโอ ภาพเคลื่อนไหว ด้วยการใช้งาน Generative AI หรือการประมวลผล AI มีความเสี่ยงต่อการลอกเลียน หรือละเมิดลิขสิทธิ์

ข้อ ๑๒ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฯ พึงระมัดระวังการใช้ AI ในกระบวนการผลิต เพื่อสร้างสรรค์เนื้อหา ในรูปแบบข้อความ ภาพ เสียง จากโปรแกรมประยุกต์ แอปพลิเคชั่น หรือ อุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องถ่ายภาพ วิดีโอ อุปกรณ์บันทึกเสียง ฯลฯ โดยจำเป็นต้องศึกษาคำสั่งการใช้งาน เพื่อมิให้การใช้ AI ในกระบวนการผลิตเนื้อหา ประมวลผล แก้ไข ปรับแต่ง จนเกิดผลลัพธ์เกินจริง อันมีผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรสื่อมวลชน

หมวดที่ ๕

การสนับสนุนวิชาชีพ และการพิจารณาเรื่องร้องเรียน

ข้อ ๑๓ แนวปฏิบัติฯ นี้ ต้องได้รับการตรวจทาน ปรับปรุง ให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มี AI เป็นส่วนร่วม เพื่อให้การใช้ AI สอดรับต่อการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน

ข้อ ๑๔ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน พึงจัดให้มีคณะทำงาน หรือที่ปรึกษาส่วนกลาง ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ AI ด้านความความปลอดภัยไซเบอร์ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นักวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล ฯลฯ เพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ติดตามประเมินผล และการพัฒนาวิชาชีพ แก่องค์กรสมาชิก เพื่อให้การใช้ AI สอดรับต่อการปฏิบัติงาน และตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแล AI อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน และทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ข้อ ๑๕ เมื่อมีเหตุร้องเรียนว่า การใช้ AI ขององค์กรสื่อมวลชนสร้างความเสียหายแก่ตน หรือ ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว อันเกิดจากการใช้ AI เป็นส่วนเกี่ยวข้อง ให้คณะกรรมการจริยธรรม ฯ จัดหาบุคลากร อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ AI ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นักวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล ฯลฯ ตามความจำเป็น ร่วมวินิจฉัยในกระบวนการทางเทคนิค หรือการตรวจสอบเนื้อหาจากแหล่งข้อมูล เพื่อให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนนั้นเป็นไปอย่างเที่ยงธรรมและรอบด้าน

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๗