หนุนทุกฝ่ายร่วมมือสร้างความเข้าใจกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับใหม่

รายการ รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 27 กันยายน 2567 ทาง FM 100.5 อสมท. ประเด็น “สื่อต้องรับมือกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างไร?” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และวิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ผู้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วีระพันธ์ โตมีบุญ สื่อมวลชนอาวุโส และกรรมการสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ หัวขบวนในการขับเคลื่อนจนกฎหมายสมรสเท่าเทียม ประสบความสำเร็จ มีผลใช้บังคับ 22 ม.ค.2568 ได้มองบริบทสังคมไทยต่อการยอมรับความหลากหลายทางเพศว่า โดยภาพของประเทศเรา ดูเหมือนจะยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่จากรายงานของ UNDP (โครงการพัฒนาของสหประชาชาติ) ช่วงปี 2009 รายงานว่า เป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไข เช่น ถ้าเป็นคนรวย คนสวย คนเก่ง อยู่ในมาตรฐานที่สังคมยอมรับ ความหลากหลายทางเพศก็จะถูกยอมรับไปด้วย ขณะที่ผู้ชายผู้หญิง ไม่ว่าอยู่ในสถานะใด จะถูกยอมรับ นั่นคือสิ่งที่แตกต่าง 

ต่อมาปี 2019 ก็มีรายงาน ที่เป็นการยอมรับ แต่พอเกิดปัญหา ก็อาจไม่ได้เห็นอกเห็นใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อันนี้คือรายงาน แต่ตนเชื่อว่าในปัจจุบันมีการยอมรับความหลากหลายทางเพศที่เป็นวงกว้างมากขึ้น

สำหรับการนำเสนอของสื่อมวลชน เรื่องความหลากหลายทางเพศ หลายปีที่ผ่านมา ธัญวัจน์ มองว่า ช่วงแรกเป็นเรื่องของการใช้ภาษาประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศ เราพูดกันในสื่อน้อย อย่างเช่น คนที่นิยามตัวเอง ไม่อยากระบุเพศ ว่าเป็นนางสาว นาย อย่างตนเองก็ไม่อยากระบุ แต่บางครั้งเวลาที่เราเป็นข่าวในสื่อ สื่อก็อาจจำเป็นต้องทำตามกติกาของข่าว ที่จะต้องใส่คำนำหน้าชื่อ เราเข้าใจ 

“การใช้คำต่างๆ ก็ต้องลองพิจารณา เรื่องคำที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น หรือเคารพอัตลักษณ์ทางเพศมากขึ้น อย่างคนที่เป็นคนข้ามเพศเวลารายงานข่าว ดูตามบัตรประชาชนใช้คำว่านาย ในขณะที่เพศสภาพเค้าเป็นผู้หญิง คิดว่าเรื่องตรงนี้ ก็ยังมีการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงอยู่ แต่ก่อนหน้านี้ค่อนข้างแข็งมาก เช่น มีคำว่า ชายแต่งตัวคล้ายหญิง เป็นต้น ซึ่งค่อนข้างเป็นคำที่ไม่เคารพ อัตลักษณ์ทางเพศของคนนั้น ที่นิยามตัวตนของเขา นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง” ธัญวัจน์ ระบุ

ประเด็นคำนำหน้าชื่อ ธัญวัจน์ เห็นด้วยว่า หากไม่ใช่คำนำหน้า โดยใช้ชื่อเลย ก็เป็นทางเลือกที่ดีมาก รวมทั้งหากใช้คำที่เป็นกลางทางเพศ ก็แสดงให้เห็นการเคารพอัตลักษณ์ทางเพศ แต่คำบ่งบอกเพศ ก็ยังสามารถมีได้กรณีผู้หญิงผู้ชาย ไม่อยากให้มีความรู้สึกว่า เราไปเปลี่ยนแปลงผู้ชายผู้หญิง เราเพียงแค่อยากให้สื่อ ได้พูดถึงเรื่องประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศ ที่พูดกันน้อยในสังคม

ธัญวัจน์ บอกว่า ร่างกฎหมาย“คำนำหน้านามตามสมัครใจ” ที่ตกไป ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่ตนยื่น เป็นเพราะสังคมยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ ทั้งนี้ เชื่อว่าสื่อมวลชนสามารถสร้างการเรียนรู้ และองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับสังคมได้ สื่อมีผลต่อการรับรู้ของสังคม ถ้าสื่อตระหนักรู้ถึงตรงนี้ และพร้อมใจกันร่วมกันผลักดันวาระอัตลักษณ์ทางเพศ เชื่อว่าจะทำให้สังคมเราขับเคลื่อนไปข้างหน้า

ธัญวัจน์ ยังเห็นด้วยว่า กรณีนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า ควรสอบถามผู้ที่ให้สัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมา ว่าควรใช้คำนำหน้าชื่ออย่างไร แบบไหน จะเป็นเรื่องที่ดีกับทุกฝ่าย เพราะในต่างประเทศก็ทำแบบนี้ ซึ่งสื่อต่างประเทศก็มีแนวทางเช่นนี้ อย่างตนเคยสัมภาษณ์กับ BBC อังกฤษ ก็จะส่งข้อความมาถามเลยว่า Identify ตัวเองเป็นอะไร ซึ่งผู้มีความหลากหลายทางเพศก็จะรู้สึกว่า เรามีพื้นที่ในสื่อจริงๆ เพราะตอนนี้เรื่องเล่าในข่าว ในสังคมเรา มันอาจจะเปลี่ยนไปหมด

เมื่อถาม นอกจากเรื่องการเคารพอัตลักษณ์ทางเพศ เรื่องคำนำหน้าชื่อ กฎหมายฉบับนี้ สื่อมวลชนควรต้องระมัดระวังการนำเสนอในเรื่องใดอีกบ้าง ธัญวัจน์ ระบุว่า ไม่ควรตั้งคำถาม กรณีคู่สมรสว่า ใครเป็นผัว ใครเป็นเมีย เขาก็เป็นคู่สมรสกัน เป็นคนรักกัน ใช้ชีวิตร่วมกันได้ ไม่จำเป็นต้องถามเรื่องบทบาททางเพศ 

หรือไม่จำเป็นต้องเสนอเรื่องของชีวิตสมรสกันอย่างเดียว อาจจะนำเสนอความท้าทาย ความสำเร็จของพวกเขา เพื่อที่จะทำให้สังคมเห็นว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในสังคมต้องเผชิญความท้าทายอะไรบ้าง เพื่อทำให้สังคมตระหนักรู้ว่า ปัญหาของเขาคืออะไร 

หรือการนำเสนอ เรื่องการลดอคติ ภาพเหมารวม ที่ค่อนข้างเห็นสื่อทำกันเยอะ อย่างในแง่บริบทของโรคฝีดาษลิง มีการนำเสนอบางอย่าง พออีกวันหนึ่ง สื่อก็เปลี่ยนวิธีการนำเสนอทันที สมมุติเวลานำเสนอว่าฝีดาษลิง เกิดจากชายรักชาย ตนก็บอกว่า มันอาจจะเกิดจากชายรักชาย 1.5% หรือไม่ แต่ชายรักชายอีก 98.5% เขาไม่ได้เป็นผู้แพร่เชื้อ 

เวลานำเสนอข่าว ที่เกิดการตีตรา หรือเกิดผลลบ ต้องระมัดระวังว่า ไม่ใช่กลุ่มชายรักชายทั้งหมดอีก 98% เช่นโรค HIV ก็ถูกตีตราว่าเป็นชายรักชาย จริงๆเราก็ต้องดูว่า ยังมีชายรักชายอีก 96% ที่ไม่ได้เป็น ดังนั้นการนำเสนอ การตีตราที่เป็นผลลบต่อกลุ่มคนดังกล่าวก็ต้องระมัดระวัง

“คิดว่าสื่อมีบทบาทสำคัญมาก ตรงนี้จะเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลง เวลาเนื้อข่าว ที่ถือว่าเป็นตัวอักษร ที่จะอยู่บนโลกนี้ตลอดไป ทุกคนสามารถกลับมาค้นหาข่าวตรงนี้ได้เสมอ ถ้าต้องการการอ้างอิง ข่าวมันเป็นทั้งข้อเท็จจริง แล้วก็จะกลายเป็นข้อเท็จจริงที่เคารพคนทุกเพศ และข่าวก็พร้อมที่จะถูกนำไปศึกษาต่อยอด ของนักศึกษา หรือการทำงานต่อต่างๆ และถ้ามันมีประเด็นในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ที่ถูกให้พื้นที่ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงมากๆ คิดว่าเป็นไอเดียที่ดีมาก ถ้าสื่อจะมีการพูดคุย” ธัญวัจน์ ระบุ  

ธัญวัจน์ ยังสนับสนุนให้มีความร่วมมือกันหลายฝ่าย โดยระบุว่า มีหลายองค์กรสื่อ ที่ร่วมมือกัน เป็นมาตรฐานของชุมชนสื่อ รวมทั้งเปิดเวที ที่มีทั้งสื่อทั้ง กสทช. มาร่วมพูดคุยกัน ในเรื่องประเด็นความหลากหลายทางเพศ การนำเสนอที่อาจจะต้องลดอคติ ลดการนำเสนอการเหมารวม ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดี และหากสามารถพูดคุยกับกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย ที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชนหลายแขนง ก็น่าจะเป็นการทำงานร่วมกันได้มากขึ้น

“น่าจะต้องเห็นว่าเทรนด์ตอนนี้ เทรนด์ในการเปลี่ยนแปลงความเท่าเทียมทางเพศ สื่อและการศึกษาต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง จึงคิดว่าต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย และมีพื้นที่ร่วมกัน วันนี้สื่อจะเปลี่ยนแปลง แล้วถ้าการศึกษายังไม่เปลี่ยนแปลงบทเรียนการสอนที่มีบทเรียน คนที่จะเป็นนักข่าวในยุคต่อๆ ไป ก็ยังมีอคติ จากการศึกษาแบบดั้งเดิม ดังนั้นจึงต้องเริ่มจากเด็ก ให้เข้าใจว่า สังคมเรามีความหลากหลาย

ในมุมมองสื่อ หลังมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลต่อการทำงานของสื่ออย่างไร วีระพันธ์ โตมีบุญ มองว่าเป็นเรื่องใหม่ที่มีผลทั่วทุกวงการ ทั้งบุคคลทั่วไป หน่วยราชการต่างๆ และสื่อมวลชน ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เสียทีเดียว เพราะมีบริบทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาโดยตลอดอยู่แล้ว เช่น กรณีนักเรียนนักศึกษาที่เรียกร้องเรื่องการเกณฑ์ทหาร เป็นต้น เราก็มีความเข้าใจ รับทราบกันมาโดยลำดับ เพียงแต่ตอนนี้ อยู่ในช่วงที่ต้องปรับตัวกันอย่างจริงจัง และเข้าสู่กระบวนการปรับตัวแบบเป็นทางการ

สำหรับการทำงานของสื่อ เท่าที่มองเห็น ได้มีความพยายามระมัดระวังเรื่องนี้อย่างดี ซึ่งเรามีกรอบ และอยู่ในกรอบ เวลาทำงานก็คำนึงถึงเรื่องนี้ ทุกถ้อยคำ ทุกเรื่องราวที่สื่อออกไป มันย่อมมีผลถึงความรู้สึกของบุคคลทั้งหลาย อย่างคำนำหน้านาม เราคงต้องปรับตัวกันมากพอสมควร เท่าที่ทำมา จะใช้วิธีถาม เลือกถ้อยคำในการพูดคุย เพื่อจะถามเค้าว่าจะใช้อย่างไร 

เมื่อกฎหมายมีผล จะมีเรื่องอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่สิ่งที่ตนกังวลอยู่ ถ้าเป็นเรื่องการสัมภาษณ์ เรื่องที่มีการเตรียมตัวไว้ก่อน ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าเป็นข่าวอาชญากรรม ที่มีความซับซ้อน มีเรื่องเกี่ยวกับเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง นักข่าวที่ไปตามข่าว แล้วเลือกแนวทางการสืบสวนสอบสวน ก็จะเห็นว่า บางทีก็อาจจะหลุด ดังนั้นจึงควรมีวิธีการ ในการใช้ถ้อยคำ ในการนำเสนอ ก็อาจจะลำบากใจกันพอสมควร ก็อาจใช้วิธีระบุชื่อเท่านั้น ซึ่งก็อาจจะทำให้ผู้ติดตามข่าว เกิดความรู้สึกแปลกๆ เหมือนกัน  

วีระพันธ์ ระบุว่า เขาก็อยากฟังองค์กรสื่อพูดถึงเรื่องนี้ และกำหนดกรอบอย่างไร เรื่องคำนามนาม เพราะมันจะกระทบหลากหลาย แต่เนื้อหาอื่นใด ก็คือสิ่งที่เราจะต้องระมัดระวัง และคิดตลอดและเสมอ คือความเคารพในความหลากหลายในสิทธิ กรณีเรื่องนี้ เท่าที่ดูจากกฎหมายที่มีการแก้ไขแล้ว จะเห็นได้ว่า มีความเปลี่ยนแปลงมาก หลากหลาย โดยเฉพาะสถานะต่างๆ และมีกระแสข่าวหลากหลายที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ 

ต่อประเด็นอธิบายเนื้อหาของข่าว กรณีแหล่งข่าว คนที่อยู่ในข่าวเป็น LGBTQ แล้วนักข่าวจะต้องอธิบายรายละเอียดพอสังเขป ว่ามีลักษณะแบบไหนอย่างไร วีระพันธ์ ระบุว่า เป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะในความเป็นจริง การระบุแค่ชื่ออย่างเดียว ก็ไม่ได้ ระบุพฤติการณ์อย่างเดียว ก็ไม่ได้ เวลาที่เราทำงาน ฝึกฝนกันมา อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่บอกลักษณะของแหล่งข่าว ผู้ที่อยู่ในข่าว เป็นอย่างไร ต้องชัดเจน ไม่อย่างนั้น ผู้ติดตามข่าวก็สับสน 

“ที่เราคุยกันเรื่องนี้ ยกประเด็นขึ้นมา ได้สะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่า พวกเราที่เป็นสื่อ ใส่ใจ ระมัดระวัง บนพื้นฐานของการเคารพ ให้เกียรติในเรื่องความเท่าเทียมกัน ภาพรวมโดยทั่วไปเขาก็ให้ความสำคัญ มองในมุมกว้างอาจจะไม่เห็น แต่ภาพย่อยๆ แต่ละบุคคลก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ” 

“เค้าสมรสกัน การใช้ถ้อยคำก็ต้องเปลี่ยนไป แล้วจะใช้ คำว่าสามีภรรยาก็ไม่ได้แล้ว หรือจะมีอีกประเด็นหนึ่ง จะไปกระทบกับความรับรู้ ความรู้สึก ในเชิงวัฒนธรรม ที่เราคุ้นชินกันมาในอดีต และที่ยังห่วงอีกอย่างหนึ่งคือ ทางด้านศาสนาก็เป็นอีกประเด็นเช่นกัน เวลาที่เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกัน หรือกรณีใดขึ้นมา สื่อก็จะต้องคำนึงรอบด้าน นอกเหนือจากประเด็นคำนำหน้านาม หรือเรื่องความเท่าเทียม” วีระพันธ์ กล่าว

วีระพันธ์ ยังเห็นด้วยว่า การนำเสนอเกี่ยวกับเพศสภาพในปัจจุบัน หรืออนาคต ให้เป็นเรื่องปกติ ที่คนทั่วไปเข้าใจ ทุกฝ่าย และคนทั่วไปก็ต้องรับรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะหน่วยงานต่างๆ ต้องรีบปรับ ทำความเข้าใจในช่วงระยะเวลา 120 วันก่อนถึง 22 ม.ค.2568 ที่กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้  

เราอยู่กับความเปลี่ยนแปลง ที่มันมีความเปลี่ยนแปลงโดยบริบท วิธีคิด ซึ่งอาจจะต้องอยู่กับคนที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมดั้งเดิมมา เมื่อมีของใหม่ขึ้น และเป็นเรื่องที่เป็นทางการแล้ว เราต้องศึกษา ต้องปรับการรับรู้ ต้องเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพทางด้านสื่อ ก็ควรหันมาสนใจศึกษา และให้คำแนะนำกับสื่อโดยทั่วไป ให้รับรู้ในวงกว้างมากขึ้นด้วย 

ในมุมมองนักนิเทศศาสตร์ ดร.ชเนตตี ทินนาม ระบุว่า การทำข่าวเขียนข่าวกลุ่ม LGBTQIA+ ได้ปรับตัว เตรียมตัว ตั้งแต่การเรียนการสอนมานานแล้ว ก่อนมีกฎหมายฉบับนี้ด้วยซ้ำ เพราะความหลากหลายทางเพศ ถูกใช้ความรุนแรง เลือกปฏิบัติ ถูกตีตรามาตลอด เพราะฉะนั้นการมีกฎหมาย ก็เท่ากับบรรทัดฐานในทางสังคม กระบวนการยุติธรรม สถาบันที่ทำหน้าที่ในการออกกฏหมายได้สร้างบรรทัดฐานขึ้นมาใหม่ นั่นหมายความว่า ก็เป็นความคาดหวังที่ว่า กฎหมายฉบับนี้ จะนำพาสังคมไทยไปสู่ยุคใหม่ ก็จะเป็นยุคที่เราเปิดกว้าง ยอมรับเกี่ยวกับความหลากหลายมากขึ้น ในฐานะของสื่อที่จะต้องทำหน้าที่ ในการถ่ายทอด เปิดประเด็นที่นำประเด็นในทางสังคม ต้องเตรียมความพร้อมอย่างมาก ทำความเข้าใจ

กฎหมายที่มีความก้าวหน้าฉบับนี้ ซึ่งก็มีความซับซ้อนมีรายละเอียด แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ ไม่ได้หมายความว่าการมีกฎหมายจะเป็นสัญลักษณ์ว่า สังคมยอมรับความเท่าเทียมโดยดุษฎี เอาเข้าจริงกฎหมายก็เป็นเพียงการควบคุมเชิงพฤติกรรมของมนุษย์แต่สิ่งสำคัญที่สื่อจะต้องร่วมกันขับเคลื่อน คือการเปลี่ยนมายเซ็ท ฐานคิดทัศนคติของคนในสังคม ถึงแม้จะมีกฎหมายปรากฏขึ้นแล้ว ก็มีแรงต้านจากหลายส่วนที่ยังคงแสดงอคติ ไม่ยอมรับการมีอยู่ของตัวตนของบุคคล ที่มีความหลากหลายทางเพศ 

ฉะนั้นสิ่งที่สื่อจะต้องระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ในการรายงานข่าว เพราะงานข่าวด้านหนึ่งเป็นงานที่นำเสนอข้อเท็จจริง แล้วคนในสังคมเมื่อเขาติดตามข่าว เขาก็จะมีความเชื่อว่า สิ่งที่เรารายงานออกไป มันคือความจริงที่ถูกพิสูจน์แล้ว จากการรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ มากมายในกระบวนการรายงานข่าวของสื่อนั่นเอง 

เพราะฉะนั้นความสำคัญของการมาถึงของกฎหมายฉบับนี้ หมายความว่า สื่อเองจะต้องเป็นผู้นำ จะต้องสร้างความเข้าใจในการใช้กฎหมายฉบับนี้ ไม่ให้นำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความรุนแรงกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยต่อไป

อันนี้คือสิ่งที่สื่อจะต้องทำงานต่อ และจะต้องเข้าใจว่า การมีกฎหมายฉบับนี้ แปลว่าสังคมไทยตระหนักในเรื่องความเท่าเทียมความหลากหลายทางเพศเหล่านี้ชัดเจนแล้ว ก็ไม่สามารถพูดอย่างนั้นได้ เพราะหลักฐานเชิงประจักษ์ ก็ยังพบว่า ยังคงมีความรุนแรงในทุกระดับ ไม่ว่าระดับครอบครัว มิติศาสนา พื้นที่การทำงาน แม้แต่หลังจากนี้จะมีกระบวนการที่ต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายตามมาอีกมาก สิ่งที่สื่อจะต้องทำงานอย่างมากเพื่อจะช่วยให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง 

ดร.ชเนตตี ย้ำว่าในประเทศไทย เพิ่งมีกฎหมายแค่ 2 ฉบับที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศ ฉบับที่หนึ่ง คือปี 2558 พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ นั่นคือฉบับแรก ที่พูดถึงเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลหลากหลายทางเพศ และฉบับนี้คือสมรสเท่าเทียม นั่นหมายความว่า กฎหมายที่เหลือของประเทศไทยทั้งหมด ยังอยู่ในระบบที่มีฐานคิดแบบ 2 เพศคือ Binary 

เริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ก็หมายความว่า สถานภาพความเป็นบุคคล ความเป็นพลเมืองของ LGBTQIA+ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer or Questioning, Intersex, Asexual, and more.) ยังไม่ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่เหลือที่เกี่ยวข้องกับความเป็นครอบครัวก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไข

ฉะนั้น หลังจากนี้ประเด็นสำคัญที่สื่อจะต้องรายงานและติดตามก็คือ จะต้องดูต่อว่าพอมี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมแล้ว หลังจากนั้นกฎหมายที่มีความเป็น Binary ยึดระบบสองเพศ คือ ชาย-หญิง ซึ่งอาจจะกระทบต่อความเป็นครอบครัวของ  LGBTQIA+ อย่างแน่นอนต้องติดตามต่อ เช่น การรับบุตรบุญธรรม ประเด็นการอุ้มบุญ หรือแม้แต่คู่รัก LGBTQIA+ ที่เขาเลือกไม่จดทะเบียนสมรส สุดท้ายแล้วเขาจะได้รับสิทธิทางกฎหมายเท่ากับคู่สามีภรรยาหญิงชายที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสหรือไม่

อันนี้มันมีประเด็นมะรุมมะตุ้มเรียงตามมากมายที่สื่อเองก็จะต้องนำเสนอ ให้อยู่ในทิศทางที่ไม่ไปตอกย้ำ ตีตรา ให้สร้างความรุนแรงแต่มุ่งที่จะเปลี่ยนผ่านสังคมไทย ก้าวเข้าสู่ระบบกฎหมายที่มีเลนส์สายตา ที่มีบุคคลหลากหลายทางเพศถูกรวมเข้าไปในระบบกฎหมายนั้น เช่นเดียวกัน อันนี้คิดว่าเป็นประเด็นใหญ่ที่จะต้องเริ่มก่อน นอกเหนือจากเรื่องยิบย่อยที่จะต้องตามมา

ดร.ชเนตตี กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศต่างๆ ก้าวหน้ามาก เช่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม แคนาดา ออสเตรเลีย มีแนวทางสำหรับสื่อมวลชน สังคมในประเทศที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศแล้ว และเป็นต้นแบบของกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมทั้งกฎหมายอีกฉบับ ที่เราพยายามผลักดันอยู่ ก็คือ พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพในประเทศ ที่เรื่องสิทธิมนุษยชน มีความก้าวหน้ามากๆ จะปรับฐานคิดของพลเมืองตั้งแต่เริ่มแรก ระดับการศึกษา เริ่มตั้งแต่ในโรงเรียนอนุบาล ระบบสังคมที่เขาหล่อหลอมขึ้นมาลักษณะอย่างนี้ ก็จะทำให้เกิดมายเซ็ทที่เป็นอัตโนมัติในตัวของผู้ปฏิบัติงานสื่อที่จะมีความระมัดระวังในส่วนนี้มาก

ขณะที่การเรียนการสอนในคณะนิเทศศาสตร์ ที่จุฬาฯ เราก็สอนเกี่ยวกับการรายงานข่าว ต้องคำนึงถึงเรื่องความอ่อนไหวทางเพศสภาพ มา 10 กว่าปี บัณฑิตที่จบทางด้านนี้ก็จะเรียนรู้ในเรื่องพวกนี้มายาวนาน

ที่สำคัญการเรียนรู้ที่จำเป็นมากสำหรับงานสื่อก็คือจะมีคำศัพท์ที่เกิดใหม่ขึ้นจำนวนมหาศาล มีความจำเป็นที่สื่อมวลชนต้องทำความเข้าใจ คลังคำที่อยู่ในชุดของ SOGIESC (เครื่องมือหนึ่งทางสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นกรอบทางความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับองค์ประกอบและความความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ และเพื่อรับประกันว่าบุคคลไม่ว่าเพศใดจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์) ซึ่งอยู่ในหลักการของยอกยากาตาร์ (Yogyakarta Principles ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ) เกี่ยวกับสิทธิความหลากหลายทางเพศ ที่ออกโดยสหประชาชาติ และประเทศไทยก็ร่วมลงนามกรอบ

ยอกยากาตาร์ด้วย เช่น ชุดคำศัพท์ที่อยู่ในกลุ่มของ SOGIESC เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนต้องทำความเข้าใจอย่างเร่งด่วน เพื่อทำให้การรายงานข่าว ไม่สร้างภาพเหมารวม ความรุนแรงมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้ รวมทั้งการเปลี่ยนมายด์เซ็ตในการมองเรื่องการสร้างครอบครัวของกลุ่ม LGBTQIA+ ให้เป็นเรื่องปกติ เหมือนเป็นเรื่องการสร้างครอบครัวของชายหญิง เช่นสมัยก่อน เราเห็นข่าว LGBTQIA+ แต่งงาน สื่อมักใช้คำที่มุมมองแบบ แปลก ฮือฮา ลักษณะแบบนี้ ก็ต้องรื้อถอนมายเซ็ทเหล่านี้

เมื่อถามว่าถ้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้แล้ว จำเป็นต้องมานั่งหารือสังคายนาเกี่ยวกับตำราหลักการเขียนข่าวในบ้านเราหรือไม่ ดร.ชเนตตี มองว่า ควรต้องทำ ประมาณปี 2558 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ส่วนตัวก็เป็นกรรมการที่ไปร่วมร่างฉบับนั้น ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราจะวางแนวกว้างๆ เอาไว้ ถ้าจัดทำเป็นคู่มือหลังจากนี้ โดยใส่รายละเอียดลงไป

ทั้งนี้ ก็มีคู่มือการรายงานข่าว ที่ภาคประชาสังคมซึ่งทำงานด้าน LGBTQIA+ ได้พยายามทำอย่างต่อเนื่อง เป็นแนวทางการนำเสนอเกี่ยวกับเนื้อหาความหลากหลายทางเพศ อาทิ โดยกลุ่มฟ้าสีรุ้ง เครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่ข้อมูลเหล่านี้อาจไปไม่ถึงสื่อ หรือไปถึงสื่อแต่อาจจะไม่ค่อยมีเวลาเปิดอ่านกันหรืออย่างไร และโดยส่วนตัวเมื่อปีที่แล้ว เคยทำคู่มือการรายงานข่าวที่คำนึงถึงความยุติธรรมทางเพศ ได้รับทุนจากมูลนิธิเวสมิสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ทำเรื่องนี้เผยแพร่ในโลกออนไลน์ 

ฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่าในโลกวิชาการ จะไม่ตื่นตัวในเรื่องพวกนี้ แต่ได้ขับเคลื่อนอยู่เป็นระยะ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สื่อจะต้องผลักดันหลังจากนี้คือ จะต้องจับตาดูกฎหมายครอบครัว เพราะเราเองก็อาจยังไม่สามารถไว้วางใจกระบวนการยุติธรรม กระบวนการออกกฏหมายได้ 100% จะมีมุมมองเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย ยังยึดติดอยู่กับระบบสองเพศ เริ่มตั้งแต่การผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญให้เพิ่มพลเมืองที่มีเพศสภาพที่หลากหลายเข้าไปด้วย ตรงนี้เป็นประเด็นที่คิดว่า ถ้าสื่อช่วยให้สถานภาพของความหลากหลายทางเพศสามารถมีอยู่ซึ่งตัวตน มีศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์ สื่อควรจะจะต้องทำประเด็นพวกนี้ให้เกิดความเข้าใจทั้งในมุมมองของประชาชน และมุมมองของผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย

สำหรับสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไปมองอย่างไร ดร.ชเนตตี มองว่า ในอนาคตจะต้องมีการกำกับดูแลสื่ออิสระต่างๆ ที่ไม่ใช่เป็นวิชาชีพสื่อด้วยการกำหนดมาตรฐานการฝึกอบรม การเรียนรู้ในเรื่อง Gender Sensitivity สำคัญมากกับทุกคน รวมทั้งผู้รับสาร ที่เป็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ด้วย เพราะมีส่วนในการผลิตซ้ำความรุนแรงผ่านการโต้ตอบ รีแอ็คชั่นลักษณะต่างๆ 

หลายครั้งเราจะพบว่า บางทีสื่อนำเสนอได้ดี แต่พอไปดูคอมเมนต์ที่เกิดขึ้นรีแอ็คชั่นต่างๆ ถ้อยคำของความเกลียดชัง เวลาเราเห็นสื่ออาจจะกำลังชื่นชมการนำเสนอความก้าวหน้าด้านกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่พอไปดูคอมเมนต์จะพบว่า ทิ่มแทงสาดใส่ด้วย Hate Speech ต่างๆ จากผู้คนต่างๆ ในส่วนนี้ก็คงจะต้องมีแนวทางกำกับดูแล ให้ความรู้ ความเข้าใจ และเปลี่ยนฐานคิดตรงนี้ไปพร้อมๆ กัน.