สภาการสื่อฯ เตรียมเปิดรับฟังความเห็น ร่างแนวปฏิบัติการใช้ AI ของสื่อมวลชน 22 ต.ค.นี้  

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2567 ว่า ที่ประชุมรับทราบเรื่องที่ประธานแจ้งให้ทราบตามที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อนุมัติเพื่อดำเนินโครงการ “สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์” และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เห็นชอบเพื่อดำเนินโครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : กระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อหลังโลกาภิวัตน์” รุ่นที่ 2

รองประธานสภาการสื่อมวลชนฯ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการจัดทำ ร่างแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ของสื่อมวลชน เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และเว็บไซต์ข่าวสารต่างๆได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) นำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตเนื้อหาข่าว ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล จนถึงการสร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างสรรค์ผลงานข่าวสารให้เกิดความน่าสนใจ แต่การใช้ประโยชน์จาก AI ยังมีข้อจำกัดที่ต้องทำความเข้าใจ จึงควรมีแนวปฏิบัติในการใช้ AI เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลข่าวสาร เนื้อหาข่าวที่เผยแพร่ออกไปนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและความน่าเชื่อถือ พึงระวังการเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสมและความจำเป็นของกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ ตระหนักถึงจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนและความรับผิดชอบ โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชน นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ เห็นชอบในการประชุมเดือนพฤศจิกายน 2567

รองประธานสภาการสื่อมวลชนฯ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังรับทราบโครงการศึกษาแนวทางปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้ผลิตข่าว โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ประธานสภาการสื่อมวลชนฯ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ และประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ ได้พบปะหารือกับ Professor Anya Schiffin จาก Columbia University และ Professor Joseph Stiglitz เรื่อง Fair Treatment ระหว่างสื่อไทยและ Platform Company  เนื่องจากที่ผ่านมา เนื้อหาที่สื่อไทยผลิต ยังไม่เคยคำนวณค่าเป็นตัวเงินที่ผลิต ความน่าเชื่อถือ และเผยแพร่ แต่ถูกนำไปหล่อเลี้ยงสร้างรายได้ให้กับ Platform Company จึงควรคำนวณมูลค่าที่ Platform Company ควรจ่ายให้สื่อหรือจ่ายกลับมาที่สังคมนั้นๆ ทั้งนี้ได้รับคำแนะนำให้หาเครือข่ายจากประเทศในเอเชียและอาเซียนเพื่อเทียบเคียงเรื่องต่างๆ ทั้ง Platforms และเรื่อง AI โดยรวมกลุ่มประเทศต่างๆ เพื่อต่อรองต่อไป และศาสตราจารย์ทั้ง 2 ท่านยังแนะนำให้ศึกษาโมเดลจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเคสที่น่าสนใจ และเทียบเคียงกับเราได้ในบางมิติ.