สะท้อนปัญหา 10 ปี ทีวีดิจิทัลเห็นตรงกันไม่ควรมีการประมูลอีก

รายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2567    FM 100.5 อสมท.พูดคุยประเด็น “อีก 5 ปี ทีวีดิจิทัลจะอยู่อย่างไร” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านโทรทัศน์

ครบรอบ 10 ปีทีวีดิจิทัล สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้ร่วมกันจัดเวที “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล Beyond the Next Step” แลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ และมองทิศทางอนาคต ก่อนและหลังใบอนุญาตทีวีดิจิทัลภาคเอกชน ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช.จะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2572 โดยปัจจุบันมีสมาชิกทีวีดิจิทัลที่ยังประกอบธุรกิจเหลืออยู่ 15 ช่อง และทีวีดิจิทัลสาธารณะ 5 ช่อง

สุภาพ คลี่ขจาย เล่าถึงที่มาการจัดเวทีนี้ว่า เป็นการนำเรื่องประสบการณ์ 10 ปีที่ผ่านมา ทบทวนกันตั้งแต่เริ่มต้น ต้องต่อสู้อย่างไร และอีก 4 ปีกว่าจะอยู่กันอย่างไร และหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ภูมิทัศน์สื่อทีวีทั้งหมดจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในยุคที่เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เป็นเวทีที่มาหาคำตอบกัน

นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลฯ ยังเล่าถึงภูมิหลังของสถานการณ์ว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราประมูลขึ้นความถี่ 24 ช่อง มูลค่ารวมกัน 35,000 กว่าล้านบาท เพื่อนำสัญญาณส่งไปให้คนดูทั่วประเทศ ตามข้อตกลงเป็นเฟส เฟสแรกจังหวัดที่ดูได้ก่อน เฟสที่ 2 จังหวัดต่อๆมา เฟสที่ 3 ดูได้ทั่วประเทศ โดยผ่านเครือข่าย ที่ใช้กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล SET TOP BOX เริ่มแรกมีการแจกกล่องฯให้ประชาชน แต่สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น คือหลายสถานที่ดูไม่ได้ เพราะปัญหากล่องไม่มีคุณภาพ และยังมีองค์ประกอบอื่นที่ต้องตั้งเสา 6 เมตร ซึ่งคอนโดฯ ก็ไม่สามารถทำได้ เป็นต้น 

จึงเป็นลักษณะการส่งของไม่ถึงมือคนดู และการประมูลของ ไม่ได้ของที่ประมูล คือความถี่ เพื่อส่งไปถึงทีวีทุกบ้าน เมื่อคนดูไม่ได้ ก็มีผลต่อการโฆษณา เรื่องนี้จึงเป็นปฐมบทของความผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น

“เมื่อคนดูผ่านกล่องได้ไม่ถึง 10-20% ก็ผิดเงื่อนไขการประมูล กสทช.จึงชดเชย ด้วยกฎ Must Carry คือ ผู้ให้บริการทีวีทุกประเภท ทั้งโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต (IPTV) ต้องนำสัญญาณของช่องทีวีดิจิทัลซึ่งเป็นฟรีทีวีไปเผยแพร่ด้วย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงทีวีดิจิทัลได้ ไม่ว่าประชาชนจะดูทีวีผ่านช่องทางการแพร่ภาพแบบใด แต่ถึงจะชดเชยเยียวยาอย่างไร เราก็ได้เรียกร้องให้ กสทช.เยียวยา โดยขอไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตงวดสุดท้ายที่เหลือ” สุภาพระบุ 

สถานการณ์ต่อมา สุภาพบอกว่า ช่องที่ไปไม่ไหว ได้ถอนตัวออกไป 7 ช่อง ซึ่งลงทุนไปมาก เมื่อคืนคลื่น กสทช.ก็เอาไปใช้ประโยชน์ในด้านโทรคมนาคม นำไปประมูล 4G 5G จึงเกิดกระบวนการ เยียวยาชดเชยให้กับคนที่ขอยกเลิก 

สำหรับสถานการณ์เวลานี้ สุภาพ ระบุว่า แม้จะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ดีขึ้นไม่มาก เพราะต้องเผชิญสถานการณ์ดิสรัปชัน ที่คนที่ดูจากจอทีวีเปลี่ยนมาดูจากมือถือ ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และยังดูย้อนหลังได้ สามารถรับรู้ข่าวสารได้ จึงเป็นปัญหาต่อมาสำหรับทีวีที่ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกา กสทช.ต่างกับการเสนอผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ไม่มีกฎกติกา” 

สุภาพมองว่า ระหว่างกิจการทีวีที่มีการประมูลเข้ามา ลงทุนทั้งคน และอุปกรณ์ แต่ต่อมามีคู่แข่งที่ต้นทุนต่างกัน จึงเป็นทางเลือกของผู้บริโภค

สุภาพ ระบุว่า วันนี้จึงเหลือโจทย์สุดท้าย คือจากนี้ไปจนครบกำหนดใบอนุญาต เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ ที่เรา (สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลฯ) ไปพบคณะกรรมการ กสทช. มาหลายครั้งแล้ว ไปอธิบายเหตุผลให้ฟัง และขอคำตอบว่าจะเอาอย่างไร จะประมูลต่อ หรือใช้ต่อใบอนุญาต หรือประเมินกันอย่างไร แล้วจะให้ต่อหรือไม่อย่างไร แต่ยังไม่มีคำตอบ

เขาบอกได้เพียงว่า ยังมีเวลาอีกเยอะ ตั้ง 4 ปีกว่า ค่อยๆ ตัดสินใจ แต่เราเห็นว่า พอถึงเวลานั้น ไม่รู้ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร ขณะที่ผู้ประกอบการมองว่า 4-5 ปีสำหรับการลงทุนและการเตรียมตัว มันแป๊บเดียว เราก็อยากขอคำตอบ ซึ่งประธาน กสทช. (นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์) จึงบอกว่า จะรีบไปพูดคุยกันใน กสทช.

สุภาพ ระบุว่า จากการพูดคุยกับหลายๆ คนในวงการมองว่า ไม่น่าจะให้ประมูลอีกแล้ว เพราะการเปลี่ยนผ่านจากแอนะล็อก (Analog) มาดิจิทัล ในทั่วโลกไม่ประมูล ใช้วิธีเลือกคนที่มีศักยภาพเข้ามาทำ แต่ กสทช.เมื่อครั้งยุคเก่าบอกว่า เรื่องนี้ทำไม่ได้เพราะนักร้องเยอะ ดีที่สุดคือการประมูล

เราคิดว่าไม่ควรประมูลอีก สิ่งที่ต้องทำคือต้องแก้กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เพราะกฎหมายกำหนดให้มีประมูล ซึ่งการแก้กฎหมายก็ไม่ง่าย เพราะถ้าแก้ไม่ได้ และต้องประมูลอย่างเดิม สถานการณ์จะวนกลับไปที่เดิม สมาชิกทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการเคยหารือกับทุกภาคส่วน และมองว่าถ้าไม่ประมูล แต่เป็นการต่อใบอนุญาต จะต้องจ่ายอย่างไร ถึงเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน อย่างน้อยควรมีคำตอบคร่าว ๆ       

“ต้องเป็นที่ยอมรับด้วยกัน ระหว่าง กสทช. สมาคมผู้ประกอบการ หรือทีวีแต่ละช่อง ทั้ง 3 ภาคส่วน รวมถึงภาคสังคม เอ็นจีโอทั้งหลาย ผมเป็นคนทำสื่อ ถ้าอะไรที่เป็นการเอาเปรียบสังคม เห็นแก่ได้ ต่อใบอนุญาตแล้วจ่ายเงินถูกๆ ผมไม่เอาด้วย ผมก็บอกกับผู้ประกอบการทุกคนไปว่า ถ้าจะต่อใบอนุญาตจะต้องให้สังคมยอมรับ ทุกฝ่ายยอมรับว่า ว่านี่คือตัวเลขที่สอดคล้องกับความเป็นจริง มีรายได้เท่าไหร่ แล้วลงทุนเท่าไหร่ คิดสูตรออกมาให้หมด ใครก็ได้มาช่วยคิดให้ที แล้วบอกมาว่าเท่าไหร่ นี่คือ ถ้าต่อใบอนุญาต” 

อย่างไรก็ตาม สุภาพยกตัวอย่างด้วยว่า ค่าต่อใบอนุญาต แต่ละช่อง หรือช่องแต่ละประเภท อาจไม่เท่ากันก็ได้ เช่น หากเป็นช่องที่เน้นรายการดี มีคุณภาพ เนื้อหาสาระเป็นประโยชน์กับสังคม ประเทศชาติ ถึงแม้เรตติ้งไม่ค่อยดี ไม่ค่อยมีโฆษณา รายได้น้อย แบบนี้ควรจะได้รับการดูแลในการต่อใบอนุญาต อาจราคาถูกหน่อย แต่ถ้าเป็นช่องบันเทิง สนุกสนาน ละคร เกมโชว์ ประกวดร้องเพลง เรตติ้งดี มีรายได้มาก อาจจะเก็บค่าใบอนุญาตสูงหน่อย 

ขณะที่่นักวิชาการด้านสื่อ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์  มองว่า 10 ปีทีวีดิจิทัล มีทั้งคุณภาพ ความหลากหลาย และบกพร่อง สำหรับข้อดี ตัวอย่างเช่น ปัญหาอุทกภัย ได้มีการรายงานสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ เป็นการบริการสาธารณะที่ดี และรายการต่างๆ ประชาชนสามารถเข้าถึงในราคาถูก ไม่ต้องเสียเงิน เช่นกีฬา พระราชพิธี ขณะที่เหตุการณ์บ้านเมืองในรอบ 10 ปี หลายช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญ ทีวีดิจิทัลให้ความร่วมมืออย่างดีมาก

ในเรื่องเกี่ยวกับสื่อสร้างสรรค์ มีการยกระดับคุณภาพละครไทยหลายๆ เรื่อง ในแง่โปรดักชั่น บท แม้อาจจะมีข้อด้อยบ้าง เช่น การโฆษณาเกินความจำเป็น เกินกฎและมาตรฐานของวิชาชีพที่ควรจะเป็น ความสุ่มเสี่ยงในการพูดคุย โดยเฉพาะรายการข่าว ซึ่งไม่มีสคริปต์ซึ่งอยู่ที่วุฒิภาวะการดำเนินรายการ แต่ก็มีพัฒนาการปรับปรุงถ้าเอาทั้ง 2 ส่วนมาเฉลี่ยกัน การทำหน้าที่ของสื่อมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นคิดว่าใน 5 ปีต่อไปนี้ ก็คงจะได้เห็นการพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีองค์กรกำกับดูแลขึ้นใหม่คือประชาชน

อย่างไรก็ตามในการไปต่อ ก็ต้องมองย้อนไปใน 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาคือระบบคิด เราต้องมองตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันสิ้นสุดใบอนุญาต และหลังจากนี้จะทำอย่างไร 1.ในการสร้างระบบของเรามัน Over Supply  2.การแบ่งสัดส่วน การแบ่งประเภท ไม่สะท้อนเรื่องความเป็นจริงของสภาพอุตสาหกรรม

จึงคิดว่า การจูนในครั้งนี้ การวางระบบใหม่ ต้องมีระบบคิดที่ถูกต้อง ที่ดีก่อน ตอนนี้น่าจะเป็นเวลาที่จริงจัง ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการกำกับดูแล ซึ่งคุณสุภาพได้ฉายภาพให้เราเห็นแล้ว 

การคิดว่า เรามีเวลาอีก 4-5 ปี แต่อยากจะบอกว่า กสทช. ชุดนี้อยู่ถึงปี 2571 ฉะนั้น แผนต่างๆ จะต้องเกิดขึ้นในระยะเวลาเทอมไทม์ของ กสทช. ฉะนั้นเราต้องลบมาอีก 1 ปี ไม่ใช่เป็นการลบอายุของกสทช. แต่เพราะในรายละเอียดเรามีเวลาแค่ 3-4 ปี ใกล้เคียงกับเวลาของรัฐบาล ฉะนั้นในการประกาศจัดระบบใบอนุญาตใบที่สอง ต้องทำให้เสร็จภายใน 2-3 ปีนี้แล้ว เพราะจะต้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ อีกส่วนหนึ่งก็คือ แม้จะมีกสทช. ชุดใหม่เข้ามาหลังเมษายน 2571 แต่ชุดใหม่ก็ไม่สามารถไปเริ่มต้นได้ ก็ต้องรับแผนจากชุดนี้

สิ่งที่สำคัญในการประมวลสถานการณ์ทั้งหมด ตอนนี้เป็นเวลาสำคัญ ที่ทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล กสทช.และภาครัฐ ต้องมาคุยกันว่า แผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ใบอนุญาตช่วงที่สอง ควรจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามถึงเสียงสะท้อนว่า ทีวีดิจิทัลปัจจุบันมีมากเกินไป ในอนาคตเป็นไปได้ไหมที่จะมีการควบรวม หรือลดจำนวนช่องลง หรือจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร ดร.สิขเรศ มองว่า จากที่ประมวลจากการแสดงความเห็นบุคคลที่เกี่ยวข้อง ถึงวิธีการได้มาซึ่งใบอนุญาตครั้งที่ 2 ควรเป็นอย่างไร ตนจำแนกไว้ 3 ส่วน ที่สำคัญ

1. คือการประมูล 2.ไม่ต้องประมูล 3.วิธีการผสมผสาน เพราะถ้าเรายังออกแบบการประมูลอยู่ ก็ต้องตั้งโจทย์ด้วยจำนวนสถานี คลื่นความถี่ และจำนวนเงินเป็นที่ตั้ง ถ้ามาคุยกันว่า อาจจะไม่ใช้วิธีประมูล เช่นการพิจารณาคุณสมบัติ หรือการมีข้อเสนอ เช่นมีประโยชน์อะไรต่อสาธารณะเพิ่มเติม ก็เป็นเกณฑ์การพิจารณาได้ 

ส่วนการผสมผสาน แม้กระทั่งมีข้อเสนอในเวทีนักวิชาการ ผู้ประกอบการ ในการต่อใบอนุญาต ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งด้วยเช่นกัน การต่อใบอนุญาต จะมีวิธีการใด จะทำให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม ฉะนั้นเราก็ได้จำนวนพอสมควร คนที่ต้องการต่อใบอนุญาต มีกี่ช่อง ฉะนั้นตรงนี้ แก็ปต่างๆ และผู้ประกอบการใหม่ ที่จะเข้ามาในตลาด มีกี่ช่อง คิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าจะขบคิด ก่อนจะออกแบบการต่อใบอนุญาต ว่าจำนวนควรจะมีมากน้อยแค่ไหน

เมื่อถามว่า ระหว่างยังไม่หมดสัมปทาน จะอยู่กันอย่างไร ดร.สิขเรศ ระบุว่า ส่วนแรก เรายังมี ม.44 เงินที่ลงไปในแต่ละงวด มีการช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าโครงข่ายทั้ง Must Carry จากเวลานี้เป็นต้นไปจนถึงต้นปี 2572 ควรจะทำอย่างไร ในสภาพการณ์ปัจจุบัน ตอนนี้ทุกคนมุ่งสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เวลา ณ ปัจจุบัน กสทช.และรัฐบาล ก็มีอเจนด้าและนโยบายตรงนี้อยู่แล้ว

รัฐบาลที่กำลังจะประกาศนโยบาย และมีหน่วยงาน รัฐบาลสามารถ Endorse นโยบาย เช่น รายการใด อยู่ในสเปก หรือโครงข่ายเอื้ออำนวย เกี่ยวกับวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สร้างสรรค์ หรือมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ คิดว่ามีโมเดลทั้งในยุโรป และในเกาหลีใต้ ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ หรือมีมาตรการในการจูงใจตรงนี้ได้

ส่วนที่สอง การช่วยเหลือโดยไม่ผิดรัฐธรรมนูญ เรามีกองทุนอยู่จำนวนมาก เช่นกองทุนวัฒนธรรม กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉะนั้นตรงนี้มันอยู่ภายใต้และเป็นของรัฐบาล และอยู่ในกำกับดูแลของกสทช. ในส่วนตรงนี้ รายการที่เข้ากับนโยบายของรัฐบาล หรือยุทธศาสตร์ของ กสทช.คิดว่า สามารถใช้กองทุนตรงนี้มาสนับสนุนได้อีกอัน

ที่สำคัญคือ เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย หรือการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ บางประการ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ระบบนิเวศใหม่ ก็ควรจะทำ  

ดร.สิขเรศ กล่าวต่อว่า อีกส่วนที่ยังไม่ได้พูดถึงคือ มีการเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับ OTT (Over the top : การให้บริการเนื้อหา ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต) และสตรีม มิงต่าง ๆ แพลตฟอร์มของประเทศเราเอง อุตสาหกรรมเราเอง ซึ่งทาง กสทช. เรียกว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับชาติ (National streaming platform) ประเด็นตรงนี้ก็ควรจะทำให้สำเร็จ โดยผ่านทางสมาคมทีวีดิจิทัลได้ เราจะได้มีแพลตฟอร์ม ที่เป็นแพลตฟอร์มกลาง สามารถทำหน้าที่เปลี่ยนผ่านสู่ระบบต่อไปได้ 

แม้ในหลายประเทศเริ่มเตรียมความพร้อมในการบูรณาการระหว่างระบบอินเทอร์เน็ต กับระบบโทรทัศน์ ตอนนี้ระบบพื้นฐานเทคโนโลยีมันไปได้หมดแล้ว ที่เราใช้ในกิจการโทรทัศน์ เขาก็อัพเกรดสัญญาณจากที่เป็น DVD ที่ทีวีธรรมดาสามารถที่จะ Streaming และรับชมในคลื่นความถี่แบบดั้งเดิมได้ เพราะฉะนั้นในหลายประเทศเขาทำภาคอุตสาหกรรม องค์กรกำกับดูแลนั้นๆ สามารถบังคับกำหนด เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมทีวีได้ 

กรณีศึกษาของอังกฤษช่อง BBC เป็นเจ้าภาพ ในการเตรียมความพร้อมสู่โลก Streaming มองไปไกลกว่านั้น เค้าทำโครงการ Beatbox ทำคอนเทนต์กิจการโทรทัศน์ประเทศของเขา ไปจำหน่าย ไปวางในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย แอฟริกา และประเทศต่างๆ คิดว่านี้คือมาตรการอย่างรวดเร็ว ในภาพ 3-4 ปี อยู่ที่เราจะทำอย่างไร ให้อุตสาหกรรมของเราไปได้ และพัฒนาต่อ

สิ่งที่ทำได้ และประกาศให้ชัดเจน ก้าวต่อไปการต่อใบอนุญาต จะใช้รูปแบบไหน ควรคุยกันให้เรียบร้อยก่อน และสิ่งที่เขาทำได้เลยเรื่องเกี่ยวกับการเงิน เรื่องทุนกอง อยากถามว่า ที่เราทำงานมา ได้รับการสนับสนุนทางตรง จากกองทุนมากน้อยขนาดไหน หรือสอบถามในภาคอุตสาหกรรมสื่อได้ว่า เราสามารถใช้เงินตรงนี้ มาใช้ในอุตสาหกรรมได้มากน้อยขนาดไหน สิ่งที่สำคัญ กสทช.สามารถทำได้เลย 

ต่อมาอีกส่วน คืออำนาจหน้าที่ของ กสทช.ในการส่งเสริมสนับสนุนในมาตรา 27 เหมือนกัน อำนาจหน้าที่กสทช. มีอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่อำนาจบังคับอย่างเดียว แต่การส่งเสริมต้องมีบทบาทให้มากยิ่งขึ้น

เมื่อถามถึงความเหมาะสมจำนวนช่องทีวีดิจิทัล และควรใช้หลักอะไรเป็นพื้นฐานในการวัด ดร.สิขเรศ ระบุว่า เกณฑ์วัดตอนนี้อยู่ใน 2-3 ส่วน ที่สำคัญ คือ 1.คุยกันก่อนว่า ช่องที่จะไปต่อ มีจำนวนเท่าใด 2.สมการ หรือสูตร ต้องยอมรับว่าประเทศเราเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประมูลทีเดียว 24 ช่อง ไม่เคยมีการประมูลโอเวอร์ซัพพลายขนาดนี้มาก่อน ฉะนั้นเป็นการถอดบทเรียนในส่วนตรงนี้ ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ อาจจะเป็นความคิดในสมัยนั้นว่า ต้องมีจำนวนช่องขนาดนี้ หรือต้องมีประเภทช่อง ซึ่งทั่วโลกไม่มีการดีไซน์ ว่าจะต้องเป็นประเภทช่องไหนแต่อยู่ที่สัดส่วน และวิธีการของเขาในการดำเนินกิจการ

คิดว่าตรงนี้ให้ตลาดเป็นตัวไดรฟ์ดีกว่า ว่าทั้งตลาดและผู้ประกอบการเอง ตอนนี้แบนวิชต่างๆในแผนคลื่นความถี่ของกสทช. ยิ่งดิจิทัลในยุคที่ 2-3 จำนวนช่องไม่ได้จำกัดอยู่แล้ว คิดว่าถ้าอยู่ในช่องหลักหน่วยได้ ไม่เกิน 10 ช่องก็ยังได้ หรือสูงสุดก็ไม่ควรจะมากเกินไปไปกว่า 24 ช่องอีกต่อไปแล้ว.