‘ศ.วุฒิสาร’ ประเมินทิศทางการเมืองไทยในอนาคต ชี้ปัญหาสำคัญคือการออกกติกาไม่สากล-ไม่แฟร์ ปชช.ขาดความเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง-ประชาธิปไตย ลั่นไม่เห็นด้วยยุบพรรคการเมือง
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 27 ปี โดยจัดเวทีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ความท้าทายรัฐบาล” โดย ศ.วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาเรื่อง “ทิศทางการเมืองไทย” ตอนหนึ่งว่า ที่มาพูดวันนี้ไม่ได้มาทำนายการเมืองไทย แต่คำถามใหญ่ต่อคนไทย ถ้าพูดถึงการเมืองไทย ย้อนไปปี 2540 ที่นับเป็นการเมืองสมัยใหม่ของสังคมไทย จะพบว่าปี 2540 การตื่นตัวของประชาชนเกี่ยวกับกลไกระบบการเมืองใหม่ มีเครื่องมือใหม่ ดึงสิ่งที่ดีทั่วโลกไว้ในการเมืองไทย มีองค์กรอิสระ แต่คำถามคือตั้งแต่ปี 2540 ถึงบัดนี้ เราพอใจการเมืองปัจจุบันหรือยัง มันดีขึ้น หรือแย่ลง หลายคนบอกดีขึ้น อะไรคือดีขึ้น ทุกวันนี้ทำให้คนเบื่อหน่ายการเมือง ปฏิเสธการเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง ก็คือการไม่ลงสมัคร คำถามคือชุดความคิดชุดนี้ เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือไม่
“เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์เชิงประจักษ์ชัดเจนแล้ว ใช่หรือไม่ จึงคิดว่า Perception (การรับรู้) ทางการเมืองเมือง สำคัญกว่าความจริง คนพร้อมจะเชื่อบนพื้นฐานของ Perception ว่าพูดไปแล้วใช่หรือไม่ใช่ ค่าใช่หรือไม่ใช่ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ขึ้นกับหลักคิดสำคัญคือชอบใคร และไม่ชอบใคร” ศ.วุฒิสาร กล่าว
ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า ในทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องของการมีฝักฝ่าย มีพวก มีขั้ว แต่คำถามสำคัญของการเมืองไทยถ้าเทียบกับหลายประเทศ ขั้วทางการเมืองในหลายประเทศ เป็นขั้วเชิงอุดมการณ์และความเชื่อ เรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ทฤษฎีทางการเมืองบางอย่าง เชื่อเรื่องเสรีนิยม อนุรักษ์นิยม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น เป็นชุดความเชื่อที่เป็นอุดมการณ์ทางสังคม แต่ขั้วการเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์เสียทีเดียว แต่เป็นเรื่องความชอบหรือไม่ชอบ มันคือทัศนะต่อตัวคน มันคือทัศนะที่ทำให้รู้สึกดีหรือไม่ดี หลายเรื่องอาจจะไปถึงคำว่าอคติทางการเมือง
ศ.วุฒิสาร กล่าวอีกว่า คำถามต่อไปคือการเมืองไทยมีอะไรดีขึ้นหรือไม่ ในทัศนะของตน เราอาจรู้สึกว่า ประเทศไทย ผ่านรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ใช้เปลือง อายุขัยเฉลี่ย 7-8 ปี แต่ถามว่า ถ้ามองด้วยสายตาที่เป็นธรรมมากขึ้น เราอาจบอกว่า รัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดยการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 2550 2560 เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เติบโตมากขึ้นและเราอาจไม่รู้สึกคิดว่ามี 2-3 เรื่อง
1.สิทธิเสรีภาพของคนมากขึ้น สื่อมวลชนไม่เคยมีสิทธิเสรีภาพแบบนี้ ไม่เคยได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพประชาชนก้าวหน้าไปถึงขนาดสมรสเท่าเทียม นี่คือการพัฒนาทางการเมือง 2.กระจายอำนาจไปจากรัฐกลางไปสู่พื้นที่ดีขึ้น 3.การมีช่องทางหรือกลไกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดีขึ้น กว้างขวางขึ้น
“กลไกพวกนี้ทำให้ระบบความตื่นตัวของประชาชนในทางการเมืองเปลี่ยนแปลง นี่เป็นพัฒนาการอันหนึ่งที่เราอาจไม่ค่อยรู้สึก เราชอบหรือไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ต้องยอมรับว่าปี 2540 ออกแบบหนึ่ง มีกลไกองค์กรอิสระ แต่ให้ สว.แก้ปัญหานี้ แต่ขณะเดียวกันบอกว่า สว.ต้องเป็นกลาง ห้ามหาเสียง ให้แนะนำ สุดท้ายเราก็พบว่า มีการครอบงำ เราก็มาแก้เรื่อง สว.” ศ.วุฒิสาร กล่าว
อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เชื่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพัฒนาทางการเมืองก้าวหน้าขึ้น โดยยกตัวอย่างในรัฐธรรมนูญ มีการให้สิทธิเสรีภาพสื่อมากขึ้น ล่าสุดคือกรณีการสมรสเท่าเทียม เป็นต้น และเมื่อสถาปนาในรัฐธรรมนูญแล้ว ยากที่จะถอยกลับ การมีหลักประกันกับประชาชนเรื่องสุขภาพ การศึกษา การเข้าถึงบริการของรัฐ คิดว่าก้าวหน้าขึ้น อาจไม่ได้ก้าวหน้าเรื่องหนึ่งคือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่เรายังไม่เห็นความชัดเจน
ศ.วุฒิสาร อธิบายว่า คำถามต่อการเมืองไทย อย่าตัดสินบนพื้นฐานของด้านใดด้านหนึ่งบนความชอบหรือไม่ชอบ แต่ที่สำคัญมากที่พบคือ วงจรที่เราคุ้นเคยในทางการเมืองไทย คือการเลือกตั้ง แล้วมีภาพเล่นพรรคเล่นพวก มีความขัดแย้งในสังคม มีคอร์รัปชัน และเกิดการปฏิวัติ เมื่อปฏิวัติเสร็จ ออกกติกา และปล่อยให้มีเลือกตั้ง
“คำถามคือวงจรนี้มันวนอยู่อย่างนี้ ผมเป็น กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เชื่อว่าหลัง 2550 จะไม่มีปฏิวัติ แต่ 7 ปีต่อมามี วงจรนี้เป็นวงจรที่สังคมไม่ปฏิเสธ และยอมรับ อัศวินม้าขาว คิดว่านี่คือจุดอ่อนอันหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยไทย คือยอมรับในอำนาจที่ไม่ได้มาจากกลไกประชาธิปไตย และรับรองอำนาจนั้น ที่สำคัญมากคือเรามีความอดทนน้อยต่อความไม่สมบูรณ์ของระบบการเมือง” ศ.วุฒิสาร กล่าว
ศ.วุฒิสาร กล่าวอีกว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ล่าสุดเราเห็นคำหนึ่งที่เท่มากคือ เปราะบาง เราเห็นความเปราะบางทางการเมืองบ่อย ทำไมการเมืองไทยไม่ราบรื่น ไม่ต่อเนื่องเลย มีคนตั้งคำถามคดียุบพรรค นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตออกมาแล้วจะโดนอะไรหรือไม่ ตกลงจะแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ต้องถามประชามติประชาชนก่อน เสีย 3 พันล้านบาท ไม่เสียได้หรือไม่ แต่ถ้าเขาร้องไปแล้วถ้าศาลว่าผิดก็ทำฟรี นิรโทษกรรมทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
ล่าสุด การได้มาและการรับรอง สว.ใหม่ ตกลง สว.ใหม่จะได้หรือไม่ หลายคนที่ไม่ชอบ สว.ชุดเดิม บอกว่า อะไรก็ได้เอามาก่อน คนเก่าได้ไปสักที ชุดวิธีคิดแบบนี้คือความเปราะบางของการเมืองไทย รัฐบาลไม่สามารถเดินอะไรแบบราบรื่น มีหินให้สะดุดอยู่ตลอดเวลา นายกฯจะถูกออกหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เรื่องเหล่านี้ควรเกิดขึ้นหรือไม่
ศ.วุฒิสาร กล่าวด้วยว่า เมืองไทยต้องกลับมาพูดการเมืองที่มีทัศนะทางบวกบ้าง ต้องมองว่าการเมืองเป็นเรื่องปกติ ขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีทางเห็นตรงกัน สังคมสมานฉันท์ ไม่ได้หมายความว่าสังคมต้องเห็นพ้องต้องกัน แต่คนเห็นต่างกันแสดงความเห็นได้ และมีทางออก และไม่ใช้ความรุนแรง จุดแข็งของระบอบประชาธิปไตยมันแก้ไขตัวเองได้ มันฟื้นตัว ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ โดยยังคงหลักการของประชาธิปไตย คือรัฐธรรมนูญ
“คิดว่าสังคมยังขาด Core Value (ค่านิยม) ที่เป็นคุณค่าสำคัญของความเชื่อเรื่องประชาธิปไตย และเราตีความว่าการเลือกตั้งไม่ดี แล้วประชาธิปไตยจะดีได้อย่างไร แต่ประชาธิปไตยคือวิถีชีวิต ที่ยึดความหลากหลาย เคารพเสรีภาพคน ตรงนี้คิดว่าถ้าเราไม่ทำอะไร ก็จะบ่นแบบเดิม” ศ.วุฒิสาร กล่าว
อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวอีกว่า ข้อเสนอทางออกในอนาคตของการเมืองไทย เราต้องเข้าใจว่า ประชาธิปไตยเป็นอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน จุดสำคัญสุดอันแรกคือ เราต้องเชื่อก่อนว่าประชาชนมีความบริสุทธิ์ใจจะใช้อำนาจ การแบ่งอำนาจ ถ่วงดุล และตรวจสอบ โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่การเขียนกติกาบ้านเมือง การแบ่งอำนาจ การออกแบบองค์กรอิสระ รัฐสภา แล้วเราบอกว่าต้องมีถ่วงดุล แต่คิดว่าของเราอาจไม่ค่อยสมดุล เราอาจวางน้ำหนักไปในทางหนึ่งทางใดมากเกินไปหรือไม่ เหตุผลที่วางน้ำหนักแบบนั้นเพราะอะไร ย้อนไปคือมายาคติ และวิธีคิด ที่เรามองว่าทุกคนจะโกง เราจะเขียนกติกาที่ป้องกันเยอะ ถ้าคิดว่าทุกคนดี เราจะเขียนกติกาอีกแบบ คือให้เปิดเผย
ศ.วุฒิสาร ชี้ให้เห็นถึงทางออกของปัญหานี้ว่า ต้องเริ่มจากการออกแบบกติกาให้เป็นสากล โดยกติกาที่ใหญ่ที่สุดคือรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอย่าไปบอกว่าใครคนใดคนหนึ่ง มันไม่ได้ โทษไม่ได้ว่า การเมืองสกปรก ก็กติกาเราออกแบบนี้ เมื่อกติกาออกให้มีช่อง เขาก็ทำตามช่อง เพราะวัตถุประสงค์คือทำให้เขาเข้าสู่อำนาจรัฐ ผ่านการชนะการเลือกตั้ง และคนสำคัญที่สุดคือกรรมการ ซึ่งต้องตัดสินตามกติกา เมื่อกติกาเป็นธรรม กรรมการคุมกติกาละเอียด แม่นยำขึ้น โดยไม่ต้องใช้ดุลพินิจ
“มีคนตั้งคำถามว่า ตกลงพรรคการเมืองไทยเป็นอย่างไร ถ้ากลับไปดูพัฒนาการกฎหมายพรรคการเมืองไทยคือ พรรคเกิดง่าย โตยาก ตายง่าย ยุบพรรคง่าย ตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคมาตั้งแต่ปี 2550 เพราะพรรคเป็นของประชาชน ถ้ากรรมการบริหารพรรคทำผิดควรลงโทษรายบุคคล” ศ.วุฒิสาร กล่าว
ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า การออกแบบกติกาที่เป็นธรรม แฟร์ทุกเรื่อง คีย์เวิร์ดสำคัญคือ 1.เราต้องมีภาพกติกา เห็นภาพที่เป็นองค์รวม จะต้องถูกออกแบบว่ากลไกใดควรมีอำนาจแค่ไหน ใครถ่วงดุลใคร ทุกคนต้องถูกตรวจสอบได้ ที่ผ่านมาเราอาจบอกว่า เรื่องนี้เราไม่ได้สัดส่วน ไม่ได้สมดุล การเมืองถูกตรวจสอบเยอะ แต่องค์กรอิสระไม่ได้ถูกตรวจสอบ กติกาแบบนี้คือการมององค์รวม เราอยากเห็นการเมืองเป็นอย่างไร เจตจำนง ออกแบบกติกาอย่างไรให้ไม่ต้องแก้บ่อย ๆ ทุกอย่างต้องออกกติกาเป็นกลาง แล้วปล่อยให้เขาเล่นกัน ส่วนคนคุมกติกาก็กำกับดูแลให้ดีแล้วกัน 2.การเสริมสร้างสถาบันทางการเมืองให้เข้มแข็งจริง กลไกการพัฒนาระบบรัฐสภา กลไกให้พรรคการเมืองเติบโตต่อเนื่อง และกลายเป็นพรรคที่ประชาชนมีส่วน เป็นเรื่องสำคัญ ทำไมต้องออกแบบให้พรรคมีสาขา 4 ภาค สถาบันทางการเมืองต้องพัฒนาตัวเองด้วย แต่ต้องให้โอกาสเขาต่อเนื่อง3.การเมืองจะดีขึ้นเรื่อย ๆ บนพื้นฐานว่าคนทุกคนดี และทุกคนปรารถนาอยาเป็นนักการเมืองที่ดี คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า Social Control หรือการสร้างการควบคุมทางสังคม ให้การเมืองเป็นระบบเปิด บทบาทสื่อสำคัญมาก การถ่ายทอดการอภิปรายในสภาฯทุกครั้งเป็นเรื่องดี เป็นการเปิดให้ประชาชนเฝ้าดู อยู่ในสายตาตลอด
“ยืนยันว่า ผมมองโลกในทางบวกว่า การเมืองไทยดีกว่าเก่า เรามีพรรคการเมืองใหม่ ๆ เข้ามาทำให้ระบบการเมืองเปลี่ยน ถ้าเราอดทนกับมันต่อไป ยอมให้มันผิดถูกบ้าง แล้วปรับปรุงแก้ไข โดยไม่ใช้อำนาจอื่น การเมืองไทยยังมีแสงสว่างในปลายทาง” ศ.วุฒิสาร กล่าว