สื่อสร้างคนเป็นฮีโร่-ผู้ร้ายได้ แนะตระหนักสังคมได้ประโยชน์อย่างไร

นักข่าวภาคสนามสะท้อนปัญหาการทำคอนเทนต์ ด้วยการพึ่งพาเพจต่าง ๆ สร้างให้คนเป็นฮีโร่-ผู้ร้ายได้ เผยเบื้องหลังคนดังหวังเป็นข่าวในกระแส หลังออกสื่อทิ้งเคส โดยส่วนใหญ่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจนสุดทาง ขณะที่สื่อมวลชนมืออาชีพที่ทำข่าวช่วยสังคม เป็นแค่แมสเซนเจอร์ ด้านนักวิชาการยอมรับสื่อปั้นได้ ยกตัวอย่าง นักการเมือง คนในกระแส แนะสื่อต้องตระหนักสุดท้ายสังคมได้ประโยชน์อะไรหรือไม่ ชวนคิดธุรกิจสื่อในยุคปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่นักข่าว ด้านประธานสภาการสื่อฯ ชี้ผลสรุปกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว เป็นบทลงโทษทางสังคม และบทเรียนองค์กรสื่อ 

รายการ “รู้ทันสื่อ” กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทาง FM 100.5 อสมท. พูดคุยประเด็น “คำวินิจฉัย กรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว” / “ฮีโร่หรือผู้ร้าย สื่อฯ ปั้นได้จริงหรือ?” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และสืบพงษ์ อุณรัตน์

ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ภัคพล เมธีภักดี ผู้สื่อข่าวภาคสนาม เนชั่น STORY และ รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากกรณีสภาวิชาชีพสื่อได้เปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติท่านหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่าง ๆ โดยมีข้อสรุปจากคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง (สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสมาชิกละ 2 คน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเป็นประธานคณะกรรมการ รวมเป็น 7 คน

กระทั่งการตรวจสอบเสร็จสิ้น คณะกรรมการฯ ได้ส่งผลสรุปให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนพิจารณาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 โดยแต่ละสภาวิชาชีพได้นำผลไปพิจารณา ตามกระบวนการขององค์กร

สำหรับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาฯ เปิดเผยว่า เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เรื่องดังกล่าว ได้ทำหน้าที่เสมือนคณะกรรมการจริยธรรมของสภาการสื่อมวลชนฯ จึงนำผลการตรวจสอบเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการฯ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เพื่อทำคำวินิจฉัย ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า นักข่าวที่ถูกพาดพิงทั้ง 2 ราย ทั้งที่มีสังกัด และไม่มีสังกัด รับเงินจากรอง ผบ.ตร.ตามข่าวจริง

รายแรกที่ถูกพาดพิง ไม่มีต้นสังกัด ให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ โดยยอมรับว่าเคยรับเงินจากรอง ผบ.ตร. ท่านนี้ 2 ครั้ง ๆ ละ 10,000 บาท ครั้งแรกเป็นเงินช่วยเหลือขณะที่บิดาป่วยเข้าโรงพยาบาล ส่วนอีกครั้งเป็นการรับเงินระหว่างไปทำข่าว โดยยืนยันว่า เป็นการรับแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่ได้ร้องขอ และยอมรับว่ากระทำการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน

ส่วนอีกราย แม้ไม่ได้มาให้ข้อมูลคณะกรรมการฯ แต่องค์กรต้นสังกัด ได้ให้ข้อมูลเป็นเอกสารแก่คณะกรรมการฯ ระบุว่า มีการสอบสวนตามกระบวนการในองค์กรโดยทันที และพบว่าการกระทำของนักข่าวคนดังกล่าว เข้าข่ายละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งต่อมานักข่าวคนดังกล่าวได้แสดงความรับผิดชอบ ขอลาออกจากการเป็นพนักงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566

เราจึงรับฟังได้ว่านักข่าวทั้ง 2 คน รับเงินจริงตามที่รอง ผบ.ตร.กล่าวถึง

ประธานสภาการสื่อฯ ยังกล่าวถึงการดำเนินการหลังจากมีข้อสรุปว่า ตามข้อบังคับของสภาการฯ ต้องดำเนินการผ่านต้นสังกัด หากพบว่านักข่าวกระทำความผิด ต้องให้ต้นสังกัดไปดำเนินการต่อ แต่เนื่องจากขณะนี้ ทั้ง 2 คน ไม่มีต้นสังกัด สภาการสื่อฯ จึงไม่สามารถเข้าไปจัดการเรื่องการรับเงินได้ 

อย่างไรก็ตาม แม้กระบวนการนี้ ดูเหมือนจะทำอะไรไม่ได้ แต่สำหรับสภาการสื่อมวลชนฯ คือการตรวจสอบ และลงโทษทางสังคมเพราะฉะนั้นนักข่าวทั้ง 2 คนที่รับเงิน วันนี้ก็ยากลำบาก จากนี้จะไปทำข่าวให้สื่อใด สื่อนั้นก็ต้องคิดว่า สมควรจ้างนักข่าวคนนี้อีกหรือไม่ ขณะที่นักข่าวซึ่งเคยมีสังกัดทีวี เมื่อลาออกไปแล้ว จะมีที่อื่นรับทำงานหรือไม่ ก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน ฉะนั้นในทางสังคม ถือว่าเขาถูกลงโทษพอสมควรแล้ว

นอกจากนี้ สภาการฯ ยังเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ว่า องค์กรสื่อมวลชนต้องไม่ว่าจ้าง ไม่ซื้อข่าวและไม่สนับสนุนนักข่าวอิสระ ที่มีพฤติกรรมละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ อย่างกรณีนี้เป็นต้น 

ขณะที่นักข่าวอิสระต้องเปิดเผยตัวตนให้ชัดเจนว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ และไม่หลีกเลี่ยงการถูกกำกับดูแลด้านจริยธรรมจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งบางทีการไม่เปิดเผย ก็อาจเลี่ยงเพื่อไม่ให้ถูกตรวจสอบ เพราะฉะนั้นถ้าจะไปทำข่าว ก็ต้องให้ชัดเจนว่า เป็นนักข่าว ทำข่าวให้สำนักข่าวใด ซึ่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแล

นอกจากนี้ ในข้อเสนอแนะ ยังระบุถึงองค์กรสื่อควรพิจารณาให้ผลตอบแทน สวัสดิการแก่นักข่าวอย่างเหมาะสม และเพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งการไปรับเงิน เพราะค่าตอบแทนไม่เพียงพอหรือไม่ จึงทำให้เขาต้องไปรับเงินจากแหล่งข่าว โดยเฉพาะนักข่าวภูมิภาค นักข่าวท้องถิ่นสตริงเกอร์ ที่ไม่มีเงินเดือน แต่มีค่าตอบแทนเป็นรายข่าว รายชิ้น

อีกข้อเสนอแนะคือ การซื้อข่าวจากนักข่าวภูมิภาคหรือนักข่าวท้องถิ่น ต้องให้ค่าตอบแทนเหมาะสมและมีสัญญาที่ชัดเจนอีกด้วย

ชวรงค์ เน้นย้ำว่า สภาการสื่อมวลชนฯ มีแนวปฏิบัติในการทำหน้าที่ของสื่อครอบคลุมแต่ละเรื่อง ครบถ้วน หากนักข่าวไม่แน่ใจว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ เช่น การไปทำข่าวที่มีของชำร่วย งานเลี้ยงขอบคุณสื่อฯ รับของรางวัลได้หรือไม่ ในแนวปฏิบัติจะเขียนไว้ชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีองค์กรสื่อที่มีแนวปฏิบัติ มีมาตรฐานกำหนด ในการดูแลนักข่าวของตัวเองเช่นกัน 

ขณะที่ปรากฏการณ์สื่อ ที่ถูกมองว่าการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนสามารถปั้นบุคคลให้เป็นฮีโร่ หรือผู้ร้ายได้ ในมุมมองของนักวิชาชีพ “ภัคพล เมธีภักดี” ยอมรับว่า การนำเสนอของสื่อ ถ้าจะปั้นให้ใครเป็นคนดัง หรือเซเลป ให้มีภาพลักษณ์ที่ดี หรือทำให้ใครเป็นผู้ร้าย ก็ทำได้ จากการทำหน้าที่สื่อโดยตรง ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันข่าวของคนดังในสื่อโซเชียล ถ้าไม่หาข้อมูลให้รอบด้าน ไม่ตรวจทาน แต่นำเสนออย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจจะทำให้เขาถูกมองจากสังคมในอีกมุมหนึ่ง อาจมีผลทั้งลบและบวกได้

เมื่อถามว่า คำกล่าวที่ว่าทุกวันนี้ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ อาจมีลักษณะเช่นเดียวกับใครๆ ก็เป็นดาราได้ หากจะเลือกดารา อินฟลูเอนเซอร์ คนดังมาปั้น สื่อทำได้หรือไม่ ภัคพล มองว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านงานข่าวทีวีมา และปัจจุบันเป็นนักข่าวออนไลน์ภาคสนาม การที่เราจะนำเสนอคอนเทนต์ในแต่ละวัน ถ้าเป็นทีวี ก็จะมองเรื่องเรตติ้งเป็นหลัก ถ้าเป็นสื่อออนไลน์ ก็จะมองเทรนด์ หรือกระแสที่คนกำลังสนใจ ก็จะไปตามประเด็นที่เกี่ยวข้อง กองบรรณาธิการก็จะให้ธง ไปหาประเด็นมาเพิ่มเติมมานำเสนอ 

ทั้งนี้การเลือกแหล่งข่าว เลือกประเด็น ภัคพล ระบุว่า ก็ยังอยู่ในรูปแบบกอง บก. และหัวหน้างาน นักข่าวเองอาจนำเสนอประเด็นได้ แต่ในที่สุดก็ขึ้นอยู่กับกอง บก.

ส่วนการที่สื่อมวลชน (ภาคสนาม) จะให้ความสำคัญกับคนดัง และสามารถสร้างความนิยมให้กับบุคคล หรือแหล่งข่าวคนใดได้มากน้อยแค่ไหน ภัคพล มองว่า อาจจะเป็นในแง่ของการตั้งคำถามในเชิงบวกหรือเชิงลบ พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า กรณีข่าวของคนในวงการบันเทิง ที่เกี่ยวข้องกับคดีความ ก็จะอยู่ในขอบเขตการทำงานของนักข่าว 2 สาย คือ สายบันเทิง และอาชญากรรม 

“เคยเจอบรรยากาศนี้ คือนักข่าวบันเทิงไป นักข่าวอาชญากรรมไป และธรรมชาติของนักข่าวอาชญากรรม เราก็จะถามเกี่ยวกับเรื่องคดีบางครั้งการถามแรง ถามตรง อาจกระทบแฟนคลับของเขา ขณะที่นักข่าวบันเทิงอาจถามซอฟต์ แหล่งข่าวก็อาจจะไม่ตอบคำถามแบบอาชญากรรม ซึ่งอาจทำให้เป็นภาพลบกับแฟนคลับ และนักข่าวที่ถามแรง ก็จะเป็นนักข่าวที่ไม่น่ารัก ส่วนบางคนถามอวยก็เป็นเสมือนพีอาร์ให้ อาจถูกมองเป็นนักข่าวน้ำดี ซึ่งก็มีความรู้สึกแบบนั้นในบางครั้ง”   

เมื่อถามว่าหากประเด็นคอนทราสต์กันตัดสินใจอย่างไร ภัคพล ระบุว่า ก็จะส่งให้กอง บก.พิจารณา เพราะนักข่าวแต่ละสายก็จะมี บก.ก็คงต้องให้โต๊ะกลางสรุปว่า จะใช้ข้อมูลประเด็นไหนอย่างไร โดยเราก็จะส่งข้อมูลทั้งหมดในภาคสนามที่เกิดขึ้นเข้าไปให้ ส่วนจะตัดสินใจนำเสนอแค่ไหนก็อยู่ที่อำนาจหน้าที่ของกอง บก.

เมื่อถามว่า ในการทำข่าวเคยมีประสบการณ์ ที่คนใกล้ชิดแหล่งข่าว ล็อบบี้ให้ช่วยถามคำถามที่สร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวกให้แหล่งข่าวหรือไม่ ภัคพล ยอมรับว่ามีลักษณะดังกล่าว 

“ถ้าเป็นคนดัง หรือดาราส่วนใหญ่จะมีพีอาร์มาประกบ ว่าขอคำถามนี้ อย่าถามแรง อย่าถามเรื่องนี้ได้ไหม ขอเฉพาะคำถามแบบนี้ได้ไหม มีอยู่บ่อยครั้ง ดารา นักแสดง พวกเขาเหล่านี้มีผู้จัดการส่วนตัว มีทีมงาน มาบอกนักข่าว และถามนักข่าวว่ามีคำถามอะไรบ้าง ขอฟังคำถามหน่อย คำถามนี้ตอบไม่ได้นะ คำถามนี้อย่าถามเลย เป็นต้น แต่ถึงแม้ เราจะพยักหน้าว่าโอเค แต่เวลาเรายื่นไมค์ เราก็อาจจะมีคำถามที่ไม่อยู่ในข้อตกลงบ้าง ในประเด็นที่เราต้องการ” 

เมื่อถามว่า หากมีปัญหา การนำเสนอข่าว ที่กอง บก.เสนอในมุมที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งข่าว ไม่พอใจ แก้ปัญหาอย่างไร ภัคพล ระบุว่าเรื่องลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นกับเขา ก็ใช้วิธีชี้แจงว่า เรานำเสนอข้อมูลตามที่ให้สัมภาษณ์ ส่วนการวิเคราะห์จากข้างในไปสู่สาธารณะ เราไม่สามารถกำหนดได้ว่า ต้องออกมาแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งกองบก.อาจจะมีข้อมูลที่รอบด้านมากกว่าเรา เราเพียงหาวัตถุดิบบางส่วน ซึ่งในข่าวหนึ่ง อาจมีองค์ประกอบหลายอย่าง เพื่อให้เห็นหลายหลายแง่มุม งานนักข่าวภาคสนามเป็นการตามหาวัตถุดิบ ส่งเข้าไปให้กับกองบก.นำเสนอในรูปแบบ ของแต่ละองค์กร เราไม่สามารถทำได้อย่างที่เขาต้องการทั้งหมด แต่การนำเสนอก็ต้องให้พื้นที่เขาด้วย ก็มีอยู่บ้างที่เคยโดนแบบนี้ แหล่งข่าวติดต่อกลับมา บางคนก็ด่าเลยว่า น้องไม่น่ารักเลย และจะไม่ได้สัมภาษณ์อีกแล้ว

เมื่อถามว่าเคยเจอหรือไม่ กรณีที่บางคนถูกมองว่าเป็นฮีโร่ แต่พอไปเจอตัวจริงอาจจะไม่ใช่ ภัคพล ยอมรับว่า กรณีนี้ มีให้เห็นในสนามมากมาย บางคนหน้ากล้องกับหลังกล้องอาจไม่เหมือนกัน ไม่ได้เจาะจงใคร 

“บางคนไปรับเคสมา จูงแขนเหยื่อที่ถูกกระทำไปออกสื่อ หน้าที่เขาคือฮีโร่ แต่พอหลังจากออกข่าวจบ ก็ปล่อยผู้เสียหายลอยแพ ไม่ช่วยเหลือต่อ หลังจากที่เขาได้ออกทีวี หลังกล้อง หลังไมค์ มีอยู่หลายเคส อยากให้ทุกคนรับทราบด้วยว่า อย่างทนายบางคน หน้าจออาจจะมองว่าเขาเป็นฮีโร่แต่หลังจากจบงาน เหยื่อที่เป็นผู้เสียหายถูกช่วยเหลือจริง ๆ ตามกระบวนการจนถึงขั้นตอนสุดท้ายหรือไม่ น้อยเคสที่จะได้รับความช่วยเหลือตรงนั้น และสุดท้าย เขาก็เป็นฮีโร่ ส่วนสื่อก็เป็นเหมือนแมสเซนเจอร์ ผมมองอย่างนี้

เมื่อถามว่า สื่อเป็นฮีโร่ได้หรือไหม หากพาผู้เสียหายไปร้อง หรือให้พื้นที่กับผู้เสียหาย ภัคพล มองว่า สื่อช่วยเหลือได้ แต่ก็ตั้งข้อสงสัยว่า ในยุคปัจจุบัน ทำไมสื่อต้องทำข่าวผ่านเพจของบุคคลต่าง ๆ แล้วให้เขาเป็นคนทำหน้าที่แทนผู้เสียหาย แล้วก็ออกทีวี ขณะที่สื่อเองกลับทำหน้าที่แค่นำส่งข้อมูลแบบนั้น ทั้งที่นักข่าว ก็ทำข่าวช่วยสังคม ช่วยเหลือให้คนได้รับความเป็นธรรม ซึ่งจริง ๆ ก็มีนักข่าวที่ช่วยผู้คนอยู่ในมุมนี้ ภัคพลมองว่า อาจเป็นไปตามเทรนด์ ที่สื่อจะต้องไปหาข้อมูลจากเพจต่าง ๆ มานำเสนอแทนการหาข่าวเอง 

ทางด้านนักวิชาการ รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม ระบุว่า ย้อนกลับไปในยุคที่เคยทำข่าวการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาล ก็จะเห็นกันว่า มีนักการเมืองบางคนที่เป็นผู้ร้ายในสายตาของประชาชน แล้วก็มีนักการเมืองบางคน เป็นพระเอก เป็นฮีโร่ ในสายตาประชาชน แต่ในข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง จะเป็นอย่างไรนั้น มีทั้งหน้าฉาก หลังฉาก 

ดังนั้นถ้าจั่วหัว “ฮีโร่หรือผู้ร้าย สื่อฯ ปั้นได้จริงหรือ?” มองเชิงทฤษฎีสื่อกับการประกอบสร้างความจริงทางสังคม ก็เป็นไปได้อย่างแน่นอน และคิดว่าน่าจะมีคำตอบให้เห็น ตัวเป็นๆ ที่เดินอยู่ในสังคม

เมื่อถามว่า ควรตั้งรับอย่างไร หากมีการล็อบบี้นักข่าวอย่าตั้งคำถามลักษณะที่ทำให้มีปัญหาภาพลักษณ์ รศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าวว่า แม้นักข่าวกับแหล่งข่าวจะเป็นคู่ตรงข้ามกัน แต่ทั้งสองฝั่งก็มีเส้นของบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ในการทำข่าว เรารู้กันอยู่ว่า สัมพันธ์ระหว่างแหล่งข่าวกับนักข่าว ก็มีความเป็นพี่เป็นน้องกัน แต่ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝั่งก็เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน 

“จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ ถ้าเป็นการพูดเชิงหยอกเล่น ๆ ได้หรือไม่ ก็อาจจะมีกระเซ้าเย้าหยอกกันเล่นรอบนอก ทำนองว่า ให้น้อย ๆ หน่อย เบา ๆ หน่อย แต่จริง ๆ พอถึงหน้าฉาก ทุกคนก็ต่างเป็นมืออาชีพ และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง ต่อองค์กรที่ตัวเองสังกัด ที่สำคัญที่สุดคือ รับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นจริง ๆ แล้ว ไม่สามารถขอกันได้ อย่างเช่น เวลาสัมภาษณ์เดี่ยว หรือเอ็กคลูซีฟ แล้วแหล่งข่าวบอกว่า สัมภาษณ์เสร็จแล้วส่งมาให้ดูก่อน ถ้าหากแหล่งข่าวที่เป็นมืออาชีพ เขาจะรู้มารยาท จะไม่มีการบอกว่า ให้ส่งมาให้ดูก่อน” 

รศ.ดร.วิไลวรรณ ยังหยิบยกกรณีข่าว “ท่านพี่กับน้องหญิง” (ชาย-หญิง เปิดดินแดนธรรมที่บ้านโนนตาแสง ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี รักษาโรคให้แก่ประชาชน โดยอ้างว่าสื่อสารพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ เรียกคลื่นพลังบุญ ดึงพลังบุญรักษาได้ทุกโรค จนเป็นกระแส) ว่าดังเพราะใคร ดังเพราะทีวีหรือไม่ ตอนที่เขาอยู่ของเขา ก็ยังไม่ค่อยดังเท่าไหร่ แต่จะสร้างให้เป็นฮีโร่ หรือผู้ร้าย เขาก็ไม่สนใจ แต่ดังแล้วได้อะไร 

รศ.ดร.วิไลวรรณ ยังสะท้อนปัญหาระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าวด้วยว่า ปกติจะเป็นการพึ่งพิงกันไปมา แต่ระยะหลังมาก็จะมีการฟ้องร้องกันจากการทำข่าว 

“ลักษณะการฟ้องร้องนักข่าว จะเริ่มต้นตั้งแต่ในยุคของรัฐบาลทักษิณ ที่กลัวกันมากก็คือถูกฟ้องทั่วประเทศ ต้องไปขึ้นศาลทั่วประเทศ ซึ่งจะต้องเดินทางไป และมีเงินไปประกันตัว หากในยุคนี้ซึ่งธุรกิจสื่อไม่ได้กำไรเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ภัยคุกคามมาในหลายรูปแบบองค์กรวิชาชีพสื่อจะช่วยกันอย่างไร อยากจะฝากกลับไปองค์กรวิชาชีพสื่อด้วย” 

จริง ๆ แล้วตัวที่เป็นผู้ร้ายที่สุดน่าจะคือระบบทุนนิยมหรือไม่ ธุรกิจสื่อที่เข้ามาวันนี้หรือไม่ อย่างนักข่าวที่แชร์ประสบการณ์ (ภัคพล) ทุกวันนี้ ทุกคนต้องทำเพื่อตอบโจทย์หัวหน้าหัวหน้า ต้องตอบโจทย์นายจ้าง ต้องตอบโจทย์เจ้าของธุรกิจ แต่ในยุคของเรา เป็นยุคที่มีอุดมการณ์แบบหนึ่ง แต่พอวันนี้มันไม่ใช่อุดมการณ์ มันถูกวางแล้วทุกอย่าง ทุกคนถูกบีบ ทุกคนต่างต้องเอาตัวรอด แล้วจะทำอย่างไร ภาพมันก็ปรากฏอย่างที่เห็น ถ้าจะบอกว่าถ้าอยู่ไม่ได้ เราออกไปแล้ว คนที่อยู่ได้ก็เลยกลายเป็นว่า เป็นคนที่ปรับตัวได้กับสิ่งที่เป็นหรือ แล้วสังคมก็ตั้งคำถามกับอุตสาหกรรมสื่อ.