เมื่อสื่อ “ร่วมวง”รับรองคุณภาพข้าวให้รัฐบาล โฆษกทำเนียบฯ ผิดหวังอคติบางสื่อด้อยค่า สร้างเฟกนิวส์ ชี้ในตลาดโลกซื้อขายข้าวเกิน 10 ปี เป็นเรื่องปกติ ยันรัฐบาลตรวจสอบผ่านแล็บ “สารี” หวังสื่อขยายผลในมิติการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ รัฐบาลต้องมีกระบวนการโปร่งใส “เทพชัย” ชี้ความพลาดของรัฐบาลที่สังคมไม่เชื่อ บทเรียนสื่อต้องรู้ทันนักการเมือง ย้ำบทบาทตรวจสอบต้องรอบด้านทุกมิติ ตื่นตัวตั้งคำถามให้มาก “กอบกิจ”ระบุทฤษฎีกลบข่าวลบ ด้วยข่าวใหญ่กว่าไม่ได้ผล เตือนสื่ออย่าหลงกลการเมือง ย้ำหลักการมืออาชีพ หากพลาดต้องแก้ไขทันที
รายการ รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2567 ทาง FM 100.5 อสมท. พูดคุยประเด็น เมื่อสื่อ “ร่วมวง” รับรองคุณภาพข้าวให้รัฐบาล ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค เทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาสมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีกลุ่มวิชาการสอง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
จากกรณีที่สื่อมวลชนร่วมทำข่าวตรวจสอบคุณภาพข้าว โครงการรับจำนำซึ่งถูกเก็บไว้ในโกดังเอกชนใน จ.สุรินทร์ยาวนาน 10 ปี ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์สื่อมวลชนว่ามีลักษณะรับรองคุณภาพข้าวให้รัฐบาลหรือไม่
ปรากฎการณ์ในการนำเสนอข่าวดังกล่าวของสื่อมวลชนเป็นอย่างไร ในมุมมองของ ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นว่า ในความหลากหลายของสื่อ บางสำนักก็เสนอพอดี เป็นไปตามข้อเท็จจริง บางสำนักใส่สีตีไข่เกินจริง ทั้งนี้ในยุคเสรีประชาธิปไตย ประชาชนเองก็ต้องใช้ดุลพินิจให้มาก ว่าเรื่องนั้นๆ อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงหรือไม่
การนำเสนอผลทดสอบคุณภาพข้าวเป็นความเห็นของคนที่ไปสัมผัสจริง ส่วนคนที่ไม่ได้ไปกลับใช้จินตนาการ ถ้าไม่มีอคติก็ยังพอรับได้ แต่ถ้ามีอคติ ไม่ชอบโครงการ โจมตีว่าข้าวเน่า จึงหาวิธีดิสเครดิตเต็มที่ โดยพยายามไซโคสังคมให้คล้อยตามว่า กินได้อย่างไร ข้าวรมยา ส่วนนี้ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีอเจนด้าซ่อนเร้น
เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนั้น เครื่องมือประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลเพียงพอหรือไม่ โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ในยุคนี้ต่อให้มีเครื่องมือดีแค่ไหน มีเหตุผล มีหลักฐาน มีผู้สื่อข่าวไปเป็นสักขีพยาน ถ่ายทอดให้ดู แต่คนที่ไม่เชื่อเสียอย่าง หรือตั้งป้อม จะด้อยค่า ฉะนั้นต่อให้มีเครื่องมือขนาดไหนก็หยุดไม่ได้ โลกทุกวันนี้คนที่มีอคติสามารถเสนอข่าวได้ตลอดเวลา ถ้าไปตีความว่า การที่คนวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบแสดงว่าเราสื่อสารไม่ดี คงไม่ใช่ เพราะต่อให้สื่อสารได้ดีขนาดไหน ก็หนีไม่พ้นการวิพากษ์วิจารณ์ของคนที่อยากด้อยค่า
เมื่อถามต่อว่า มอง 2 มุม ในมิติการค้า และมิติการเมือง การทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวต้องนำเสนออย่างไร โฆษกรัฐบาล ระบุว่า ก็รายงานตามข้อจริง จากการลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ และหากมีคนแสดงความเห็น เช่นคัดค้าน ก็ต้องระบุว่า กลุ่มนี้ไม่ได้ไปดู แต่เขาคิดอย่างนี้ ทั้งนี้เพื่อให้คนเสพข่าวได้รู้ว่าความเห็นของกลุ่มคนคัดค้าน ไม่ได้ไปดู เกิดจากจินตนาการเป็นหลัก ส่วนคนที่วิจารณ์ทันทีก็ต้องไปดูว่า มีข้อมูลอะไรในมือ
ต่อข้อถามว่าถึงกรณีที่หลายคนแนะนำให้ส่งข้าวในโกดัง จ.สุรินทร์ ไปเข้าแล็บตรวจสอบดีหรือไม่ โดยวันที่นำตัวอย่างข้าวออกมา ให้มีสื่อไปด้วย เพื่อให้ทุกคนมีข้อมูลเท่ากันจากแล็บ เป็นไปได้หรือไม่ โฆษกรัฐบาล ระบุว่า ตนอยากให้ทำ เมื่อทำแล้ว พอมีผลออกมา สื่อก็ต้องรายงาน สื่อเองก็ต้องช่วยด้วย หลายๆ ครั้งพิสูจน์แล้วว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่สื่อก็ไม่เล่นข่าวต่อ ละความสนใจ ครั้งนี้หากพิสูจน์แล้ว อยากให้สื่อขยายผล และอยากเรียกร้องคนเสนอข่าวไม่ตรงความเป็นจริง รับผิดชอบ
ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาล ยอมรับว่า รัฐบาลได้เตรียมนำข้าวจากโกดังดังกล่าวเข้าตรวจสอบในแล็บ
ชี้บางสื่อคติ สร้างเฟกนิวส์ ด้อยค่า
เมื่อถามต่อว่า คาดว่าเรื่องนี้จะจบโดยผลจากแล็บหรือไม่ อย่างไร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทางเราคิดว่า มันจบแล้ว แต่คนที่ไม่จบ ก็จะหาเหตุ ยกวาทกรรมข้าว 10 ปี บางทีก็ทำเฟกนิวส์ เอารูปข้าวมาจากโกดังไหม้ใน จ.กำแพงเพชรมาลง เขียนข่าวทำนองว่าเป็นข้าวจากสุรินทร์ ซึ่งจับได้อย่างรวดเร็วว่าเป็นเฟกนิวส์
ล่าสุด ก็มีลักษณะข่าว ทำนองมีการตรวจหาสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) แต่ไม่ได้บอกว่า เก็บตัวอย่างจากไหน ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ยืนยันว่า ยังไม่เคยมีใครส่งตัวอย่างมา แล้วใช้แล็บอะไร เก็บตัวอย่างข้าวจากไหน ปริมาณที่ตรวจ ซึ่งความน่าเชื่อถือต่ำมาก แต่มีการนำเสนอทำนองว่า ข้าว 10 ปีพิสูจน์แล้วมีสารอะฟลาท็อกซิน วิธีการนี้เป็นการทำลาย ด้อยค่าสมบัติชาติ หวังเพียงกลบแผลตัวเองที่หลอกประชาชนมาตลอด 10 ปีว่าข้าวเน่า
เมื่อถามว่า ข่าวนี้ไม่ได้ดังเฉพาะในประเทศ แต่ไปทั่วโลก ในมุมมองของการสื่อสารไปยังตลาดโลก มีแนวทางอย่างไร โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ตลาดโลกเขารู้ และไม่ได้ตื่นเต้นไปกับเรื่องนี้เลย พ่อค้าข้าวที่อยู่ในวงการรู้ว่าในตลาดโลกข้าวอายุ 10 ปี เขาก็เคยซื้อ ไม่ใช่เคสแรกเขาซื้อแล้วไม่ได้ขายทันที เขามีกระบวนการไปปรับปรุงคุณภาพข้าว ซึ่งจะมีเกรดของมัน และในตลาดโลกก็มีขายกันอยู่ เพราะมีกำลังซื้อที่หลากหลาย
ล่าสุดมีข่าวบริษัท ธนสรร ไรซ์ ผู้ส่งออก 1 ใน 5 ยักษ์ใหญ่ของไทย ผู้บริหารสูงสุดของเขา ซึ่งวันนั้นก็ไปที่สุรินทร์ เขาก็บอกว่า ข้าวล็อตนี้ ถ้าไม่ต้องประมูลขายให้เขาในกิโลกรัมละ 15 บาทหรือไม่ เขาซื้อเลย ปีที่แล้วเขาส่งข้าวออก 100,000 ตัน เขาก็แปลกใจว่าวิจารณ์อะไรขนาดนี้ ข้าว 10 ปีทำไมจะปรับปรุงแล้วขายไม่ได้ ที่เขาพูด เพราะอยู่ในวงการค้าข้าว และไปชิมในวันนั้น เขาเห็นข้าวโดยตรง
“แล้วที่บอกว่าล้าง 15 ครั้ง ผมบอกเลยว่า ของจริงคือการสื่อสาร เวลาไปถามคนกำลังล้าง คนฟังก็เข้าใจว่า เขากำลังเอามือถูข้าว เขาอาจจะตอบว่าถู 15 ครั้ง เขาไม่ได้เปลี่ยนน้ำ 15 ครั้ง ก็มาเป็นตุเป็นตะ จากสื่อว่า 15 ครั้งก็แปลว่า 15 น้ำ ซึ่งมันไม่ใช่ เต็มที่ก็แค่ 5-6 น้ำ แต่ตอนถูในน้ำ เขาถู 10-15 รอบ” โฆษกรัฐบาลระบุ
หวังสื่อขยายประเด็นด้านวิทยาศาสตร์
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง ตอบคำถามเดียวกันถึงการนำเสนอข่าวของสื่อเรื่องข้าวเก็บ 10 ปีว่า ผู้สื่อข่าวมีบทบาทสำคัญในแง่ของการทำให้ความจริง ที่ถูกต้องปรากฏ ซึ่งเราก็คาดหวังแบบนั้น เช่นถ้าดูจากปรากฏการณ์เรื่องข้าว สภาองค์กรของผู้บริโภคเองก็มีโอกาส กึ่งออกแถลงการณ์ว่า เรื่องนี้ไม่ควรใช้อารมณ์ หรือเทคนิคแบบเดิม หมายความว่า เช่น ตอนเรามีปัญหาเรื่องไก่ ก็มีการกินไก่โชว์ มีปัญหาข้าวก็กินข้าวโชว์ มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ขณะที่เรามีหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์มากมาย
ตนชอบใจที่ รมว.สาธารณสุข สมศักดิ์ เทพสุทิน ออกมาบอกว่า จะตรวจ และระบุว่าจะได้ผลตรวจภายใน 7 วัน เพื่อสรุปว่าข้าวปลอดภัยหรือไม่ จริงๆ ประเทศเราควรจะทำในลักษณะนั้น เพราะความปลอดภัยเป็นสิทธิพื้นฐานที่ถูกรับรองมา 40-50 ปี ตั้งแต่ปี 2522
ฉะนั้นเรื่องความปลอดภัยควรจะถูกตั้งคำถาม แม้กระทั่งสื่อมวลชนที่ไปที่นั่น ไม่ใช่แค่ถามว่า รับประทานได้หรือไม่ แต่เนื่องจากมันเก็บนานมาก และข้อมูลที่ออกมาว่า มีการรมยาข้าวทุก 1-2 เดือน ซึ่งสารที่รม บางตัวอาจไม่ตกค้าง บางตัวอาจตกค้าง แล้วที่เขาใช้ มันตกค้างหรือไม่ พวกนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งหมด หรือความชื้น จะมีอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่
ฉะนั้นเราสามารถทำได้ ห้องแล็บเราก็มี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เราก็มี นี่คือสิทธิที่เราคาดหวังว่า สื่อมวลชนควรช่วยทำหน้าที่ให้เกิดข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ว่าเป็นเรื่องที่ควรจะได้ข้อเท็จจริง หรือควรจะเป็นข้อมูลที่ถูกสื่อสารออกมา ไม่ใช่ใช้วิจารณญาณ เพราะเรื่องนี้ทำข้อเท็จจริงทำให้เกิดขึ้นได้
10 ปีมันก็นาน แล้วเราทำอะไรกับข้าวส่วนนี้ ทำไมเราต้องเสียค่าเช่าโกดังทุกเดือน ทำไมเราไม่ขายเมื่อนานมาแล้ว โจทย์มันมีเยอะแยะมากมาย รวมทั้งทำไมเราต้องใช้เทคนิคการกิน เพื่อจะสื่อสารกับคนว่ามันปลอดภัย ซึ่งอาจไม่ใช่ทางออกในการสื่อสารที่ควรจะเป็น ทั้งนี้การสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะ ไม่ควรใช้วิธีการแบบนี้ ควรจะอยู่ภายใต้พื้นฐานข้อเท็จจริง มันมีความเสียหายที่เกิดขึ้นมากมายในการดำเนินการในเรื่องนี้ ก็ควรบอกข้อมูลประชาชน เพื่อเป็นบทเรียนว่า คราวหน้าเราจะไม่ทำแบบนี้ เราควรจะดำเนินการอย่างไร จริงๆ การตรวจอาหาร ใช้เวลาไม่นาน
เมื่อถามว่าสภาองค์กรของผู้บริโภค ควรเข้าไปดำเนินการได้หรือไม่ สารี กล่าวว่า เราช่วยสนับสนุนการตรวจได้ เพียงแต่ขณะนี้การเข้าถึงแหล่งเก็บข้าว เราอาจจะมีข้อจำกัด เขาอาจจะไม่ให้เราเข้าไปจัดการ นั่นหมายความว่า กระทรวงพาณิชย์ หรือหน่วยงานที่คุมโรงสีก็ต้องอนุญาต
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคก็ได้ประสานงานกับทางกระทรวงสาธารณสุขแล้ว คิดว่าการที่จะมีหน่วยที่สามไปช่วยสนับสนุน น่าจะเพิ่มความน่าเชื่อถือ และทำให้อย่างน้อยก็ไว้วางใจได้ ที่จริงห้องแล็บที่น่าเชื่อถือ ที่เราใช้ในระดับส่งออก ก็มีอยู่ สามารถยืนยันได้
คิดว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร สารี กล่าวว่า คิดว่าข้อเท็จจริงเรื่องความปลอดภัยต้องออกมาก่อน แล้วดูว่า เราจะจัดการอย่างไร อย่าพูดเยอะว่าใครจะเป็นคนซื้อ จะขายให้ใคร ถ้ามันไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค มันก็ไม่ควรปลอดภัยกับใครเลย ก็ต้องรอเรื่องความปลอดภัยน่าจะตัวสำคัญที่สุด ฉะนั้นเราไม่ต้องรีบในส่วนนั้น เพราะเราช้ามาแล้ว 10 ปี ควรให้มีความมั่นใจ และถ้ามั่นใจแล้ว เราจะทำแบบไหน อย่างไรอะไรที่จะสร้างมูลค่าได้ หรือจะใช้วิธีแบบไหนก็จะตามมา
การตรวจสอบต้องโปร่งใสมากที่สุด
เมื่อถามว่า ในมุมมองของผู้บริโภค ทุกคนควรต้องรู้หรือไม่ว่า ข้าวล็อตนี้จะไปทางไหน อย่างไร สารี กล่าวว่า ต้องทำให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด ผลการตรวจแต่ละโกดังอาจไม่เหมือนกันก็ได้ เพราะต่างทั้งระยะเวลาที่เก็บ การดูแล เช่น บางแห่งก็บอกว่ารมยาทุกเดือน บางโรง รมทุก 2 เดือน ในส่วนนี้เราจะต้องตรวจอะไรบ้าง ก็ต้องตั้งโจทย์ตั้งแต่ส่วนนั้นก่อน ตรวจสิ่งที่มันเป็นอันตราย สารตกค้าง ถ้าออกมาแล้วมั่นใจ
ขณะนี้ดูเหมือนการตรวจโดยใช้ชุดทดสอบของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (อาจารย์อ๊อด) ก็บอกว่า ไม่ปลอดภัย แต่นั่นเป็นเป็นการทดสอบเบื้องต้น ยังไม่ได้ทดสอบยืนยัน ถ้ายืนยันแล้วคอนเฟิร์ม เราก็น่าจะหาทางจัดการ ซึ่งควรอยู่บนหลักการเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ เช่น เราบอกจะไม่ให้คนในประเทศรับประทาน โดยจะส่งออกอย่างเดียว ก็ไม่ควรส่งออก ควรจะนึกถึงเพื่อนเราที่เป็นผู้บริโภคในต่างประเทศ ถ้าเราต้องการให้ข้าวเรามีเครดิต มีคุณภาพ เราก็ไม่ควรส่งออกไปขาย
ควรมีวิธีอย่างอื่นในการเพิ่มมูลค่า ซึ่งมีหลายวิธีการ สภาฯเรา ไม่สนับสนุนการส่งออก หากไม่ปลอดภัย เราอยากให้เห็นตลอดเส้นทางว่า ข้าวนี้ถูกผสมกับข้าวของเราไหม ก็ขอให้มีความโปร่งใสในเรื่องเหล่านั้น ขณะนี้น่าจะหาทางออกที่จะทำให้ไปข้างหน้าได้ ยึดความปลอดภัยไว้เป็นเบื้องต้นก่อน ประเทศเราควรให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย ควรใช้หลักวิทยาศาสตร์ มันไม่ได้ยาก ควรจะทำ
ชี้รัฐบาลพลาด เหตุไม่มีใครเชื่อ
ด้าน เทพชัย หย่อง มองปรากฎการณ์นี้ว่า จากนี้ไปสื่อควรต้องตื่นตัวมากขึ้น ในการรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายการเมือง เพราะงานนี้ชัดเจนมากว่า วัตถุประสงค์รัฐบาลคือเรื่องการเมือง แต่เป็นการเคลื่อน ที่ถือว่าพลาดมาก ดูจาก 2-3 วันที่ผ่านมา เดือดร้อนคนทั้งพรรค ที่ต้องออกมาอธิบายความ และรับฟังจากที่โฆษกรัฐบาลให้สัมภาษณ์เมื่อครู่ ก็ยอมรับว่า ไม่มีใครเชื่อรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลจะชี้แจงอย่างไรก็ตาม ว่าเก็บข้าวมานาน 10 ปี ก็ต้องฉีดสารเคมีมาก
ในขณะนี้ เฉพาะข้อเท็จจริงตรงนี้อย่างเดียว ก็ทำให้เกิดคำถามมากมาย ซึ่งตนมีมุมมองต่อเรื่องนี้ 2 มุมมอง
มุมมองแรก เป็นเรื่องการเมือง ขั้นต่ำง่ายๆ คือข้าว 10 กว่าล้านตัน ที่ระบายขายออกไปก่อนหน้านั้น ไม่เคยมีหน่วยงานเชิญนักข่าวหรือใครไปพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่ทำไมเที่ยวนี้ข้าว 15,000 ตันที่เหลืออยู่ จะต้องเอานักข่าวมาชิม แล้วทำเป็นเป็นงานที่เอิกเกริกมาก คิดว่าโฆษกรัฐบาลเป็นคำตอบในตัวอยู่แล้วว่า ต้องการจะล้างคำครหา ว่ามีข้าวเน่า ฉะนั้นทางเดียวก็คือ ให้คนมายืนยันว่า ข้าวไม่เน่า ถามว่าทำไมต้องไปยืนยันกับเขาด้วย
จุดอ่อนไลฟ์สดข้อมูลไม่เพียงพอ
ประเด็นที่สองคือ บทบาทของสื่อ เพราะการที่สื่อไปทำข่าวเป็นเรื่องปกติ แต่ทำแล้วรายงานอย่างไร น้ำหนักอยู่ที่ไหน อย่างไร ให้ภาพครบถ้วนแค่ไหน อย่างไร มาตรฐานตรงนี้เป็นประเด็นซึ่งต้องกลับไปทบทวนตัวเองว่า คำพูดที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นตอนไลฟ์สด ตอนรายงานแล้วให้ข้อมูลที่รับได้เพียงพอ ในเชิงให้ประชาชนได้เข้าใจในบริบทของมันแค่ไหน
“เดี๋ยวนี้จากการแข่งขันกันมาก การไลฟ์สดค่อนข้างเสี่ยง การให้ข้อมูลรอบด้านแค่ไหน ไลฟ์สดอาจจะดูด้วยตาเปล่า แต่เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ใช่เป็นคำตอบเลยว่า ข้าวนี้กินได้หรือไม่ ปลอดภัย สะอาด แค่ไหน อย่างไร นี่เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งของสื่อ” เทพชัย กล่าว
เมื่อถามว่าเรากำลังทำหน้าที่สื่อไปรายงานข่าว หรือจะทำหน้าที่รับรองคุณภาพข้าวให้กับรัฐบาล เทพชัย กล่าวว่า เนื้อหาจริงๆ หลักๆของเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่ข้าวในโกดังที่สุรินทร์ กินได้หรือไม่ได้ แต่มันเป็นเรื่องของโครงการจำนำข้าวทั้งหมด ไม่ใช่กินได้ ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งเป็นปลายเหตุ แต่นี่เป็นโอกาสที่ดี ที่สื่อจะให้คนได้กลับไปดูโครงการนี้ว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร
แนะขยายประเด็นหลายมิติ-ย้อนรอย
โดยใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การนำไปกินข้าวทำให้เกิดความสนใจก็ได้ พิธีกรรมที่จัดขึ้น ไม่ได้ตอบโจทย์อะไร จริงๆสิ่งที่คนควรจะรับรู้คือโครงการนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ข้อกล่าวหาที่มีต่อรัฐบาลที่แล้ว รวมทั้งอดีตนายกฯ ทำไมจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองมากมายขนาดนี้
เมื่อถามถึงมิติการทำข่าวมืออาชีพ เคสอย่างนี้จากประสบการณ์ มีนักข่าวไปร่วมวงพิสูจน์ด้วยหรือไม่ เทพชัย กล่าวว่า คิดว่าเฉพาะงานนี้ ทั้งเป้าหมายและรูปแบบ มีข้อสงสัยมากมาย สื่อก็ไปกันเยอะ แต่ก็มีไม่กี่สื่อที่พยายามจะมีส่วนร่วมในการวินิจฉัยว่า ข้าวนี้อร่อย ไม่อร่อย หอม ไม่หอม ไม่ปลอดภัย ตรงนี้คิดว่าจะตอบคำถามเมื่อครู่ ก็เป็นสิ่งที่อันตรายมาก ที่สื่อร่วมและถูกอ้าง มีรูปซึ่ง Twitter ของรองนายกฯภูมิธรรม โพสต์รูปของสื่อ ซึ่งอาจจะไม่แฟร์กับคนนั้นก็ได้ เพราะเป็นจังหวะที่กำลังน่าจะยิ้มแย้ม ก็ถูกตีความด้วยคำพูดในทวิตตอร์ของคุณภูมิธรรม เสมือนนึกว่านักข่าวคนหนึ่ง เห็นชอบว่ามันปลอดภัย สะอาด กินได้
ประเด็นแฝงการเมืองเรื่องท้าทายสื่อ
ต่อข้อถามว่า ถ้าเปรียบเทียบกับกิจกรรมที่นักข่าวไปร่วมงานแถลงข่าวที่เดินทางไปทำข่าว ไปชิมข้าว กับกิจกรรมการทดสอบรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ การรีวิวอุปกรณ์ไอทีของนักข่าว เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เทพชัย ระบุว่า คิดว่าส่วนที่เป็นทางด้านธุรกิจ ไปรีวิว มือถือ รถยนต์ ก็มีความชัดเจนในตัวมันเองว่า เป็นการทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้งหลาย บางทีคนรับฟัง คนดูก็มีวิจารณญาณได้ว่า เป็นการโปรโมท แต่ในกิจกรรมที่เราพูดถึงตอนนี้ มีทั้งเรื่องการเมือง เรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่อยากจะเชื่อ ก็เชื่อ ไม่เชื่อก็จะไม่เชื่ออยู่แล้ว คิดว่าคงเปรียบเทียบกันได้ในระดับหนึ่ง ในกิจกรรมที่ยกตัวอย่าง แต่พอมีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง มีเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร ว่าสื่อจะจัดการอย่างไร
เมื่อถามต่อว่า โฆษกรัฐบาลได้เน้นย้ำเรื่องอคติของสื่อ ในมุมมองนี้จะอธิบายอย่างไร เทพชัย กล่าวว่า ถ้าให้ตอบความจริง คนที่ถูกตีความว่ามีอคติ ไม่ใช่สื่ออย่างเดียว ถ้าดูในโซเชียลปัจจุบัน ที่ออกมาตั้งคำถาม ก็เป็นประชาชนธรรมดาทั่วไป นักวิชาการก็ไม่น้อย ที่ออกมาตั้งคำถาม ความจริงรัฐบาลมีหน้าที่ต้องรับฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้ แทนที่จะปฏิเสธ ไม่รับฟัง แล้วอ้างว่าความเห็นเชิงลบเป็นการแสดงออกที่มีอคติ เรื่องเหล่านี้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็เจอ
หวังสื่อตื่นตัวในการตั้งคำถามมากขึ้น
สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุด คือบทบาทของสื่อ ที่ติดตามข่าวทางด้านการเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องข้าวก็เป็นเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากพอสมควร อยากจะเห็นสื่อมีความตื่นตัวในการตั้งคำถามให้มากขึ้น เวลาพูดถึงเรื่องความเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองและกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ทางด้านการเมือง
เมื่อถามถึงควรมีแนวปฏิบัติเรื่องกิจกรรมที่นักข่าวจะต้องทำร่วมกับแหล่งข่าวหรือรัฐบาล หรือไม่ เพราะเราอาจไม่ได้มีเขียนไว้ชัดๆ จะต้องกลับมาตั้งหลักและต้องให้แนวคิดวิธีการทำงานข่าวลักษณะนี้อย่างไรหรือไม่ เทพชัย ระบุว่า ในหลักการของสื่อ ที่เรียกว่าจริยธรรมสื่อค่อนข้างจะชัดเจนอยู่แล้ว เรื่องการมีระยะห่างระหว่างนักข่าวและแหล่งข่าว รวมถึงทางด้านการเมืองด้วย แต่ในทางปฏิบัติ ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของแต่ละองค์กร
ถ้าย้อนกลับไปหลายปีที่แล้ว จะมีช่วงเวลาหนึ่ง ที่สื่อก็ถูกแรงกดดันทางด้านการเมือง ทางธุรกิจ ที่เราก็ยอมผู้มีอำนาจขณะนั้น ไม่ตั้งคำถามอะไรเลย จนมีคนพูดในวงการสื่อเล่นๆ ที่แสบ ช่วงเวลาอย่างนั้นว่า สื่อควรจะมีหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน กลับกลายเป็นสุนัขละครสัตว์ คือคนเลี้ยงสั่งให้ตีลังกา กระโดดลอดห่วงก็ได้ ซึ่งเป็นห่วงสถานการณ์แบบนั้น ก็เริ่มมีสัญญาณว่า อาจจะกลับมาก็ได้ เพราะตัวละครเดิมๆ ที่เป็นคนที่ทำให้เกิดแบบนั้น ก็กลับมาแสดงบทบาทที่เราเห็นแล้ว ซึ่งมีแนวโน้ม
การตั้งคำถามของสื่อ การรายงานเหตุการณ์ทางด้านการเมือง การพาดหัว คิดว่าคนในวงการสื่อด้วยกันเอง ก็รู้ พาดอย่างนี้ เนื้อหาแบบนี้ โปรยแบบนี้ นำเสนอแบบนี้ มันตีความได้เลยว่า เชียร์อยู่หรือเปล่า ถือแอบเชียร์อยู่หรือเปล่า
เมื่อถามว่าต้องยึดมาตรฐานการทำหน้าที่ในวิชาชีพสื่อมวลชนที่ดีเอาไว้ และต้องมีจริยธรรม จรรยาบรรณ มีสำนึกตลอดเวลาที่เราทำงานใช่หรือไม่ เทพชัย กล่าวว่า นั่นคือกันพื้นฐานที่สุด ไม่ใช่ตรวจสอบเฉพาะฝ่ายที่มีอำนาจอย่างเดียว ฝ่ายที่เป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องถูกตรวจสอบด้วย กลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจ ก็ต้องถูกตรวจสอบด้วย เวลาพูดถึงบทบาทของสื่อ ไม่ใช่หมายถึงเราตั้งป้อมเล่นงานรัฐบาล หรือผู้มีอำนาจเพียงอย่างเดียว มันมีปัญหาสังคมเยอะที่เกี่ยวโยงในภาพใหญ่ ซึ่งสื่อเองก็ต้องให้ความสำคัญ
ต้องรู้เท่าทันนักการเมือง
ถามว่ากรณีนี้หากต้องกำหนดทิศทางในการทำข่าว จะมีนโยบายอย่างไรให้ทีมข่าวดำเนินการ เทพชัย กล่าวว่า อันดับแรกเราต้องรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องเหล่านี้ ว่าต้องการสื่ออะไร ต้องการให้สื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกระพือมากน้อยเพียงใด ถ้าตั้งโจทย์ถูกแต่ต้น ก็จะทำให้ทิศทางมีคำถามมากขึ้นในระหว่างทาง และโยงกลับมาถึงตอนนำเสนอด้วยว่า สิ่งที่จะพูดไป จะถูกตีความอย่างไร ง่ายๆ เป็นพื้นฐานการทำหน้าที่สื่อ ก็คือตั้งคำถามให้มากที่สุด อย่าไปเชื่อในสิ่งที่เราได้ยินทันที เพราะทุกอย่างมีที่มาที่ไป มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง
เมื่อถามว่า เคสนี้จะเป็นบทเรียนที่ทำให้การทำงานของสื่อมืออาชีพ เอาไปถอดได้หรือไม่ เทพชัย บอกว่า แน่นอน และดีใจที่มีนักข่าวหลายช่องไหวตัวทัน เห็นภาพที่ออกมาแล้ว มีคำถามเยอะ ก็ไปให้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านข้าว ให้ความเห็นต่อเนื่องและเกิดความสมดุลขึ้นมาทันทีในวันรุ่งขึ้นและวันต่อๆมา อันนี้ก็เป็นบทเรียน สิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นได้ ก่อนที่จะเป็นประเด็นขึ้นมา ก็จะดีที่สุด
นี่คือบทเรียนที่สำคัญ คือตั้งคำถามให้มากๆ โดยเฉพาะยุคที่ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้หมด ทางด้านการเมือง เราก็เดาไม่ถูกว่าจะเกิดอะไรจากนี้ไป แต่เราก็รู้ว่า มันมีภาพใหญ่ มันมีดีลอะไรบางอย่างที่สื่อไม่รู้ ก็ต้องมองเป็นส่วนประกอบของดีลที่งอกขึ้นมาเรื่อย ๆ มันเป็นภาวะที่ไม่ปกติของการเมืองบ้านเรา เพราะมันมีดีลที่เรารู้ๆ กันอยู่ ครอบตรงนี้อยู่ แต่จะอยู่ยงคงกระพันแค่ไหนไม่รู้ แต่เราต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ละเรื่อง ถูกโยงมาถึงเรื่องดีลนี้ มากน้อยแค่ไหน
ทฤษฎีกลบด้วยข่าวใหญ่กว่าไม่ได้ผล
ในมุมมองนักวิชาการ กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช อธิบายถึงแนวคิดที่ว่าข่าวใหญ่มักจะถูกข่าวที่ใหญ่กว่ากลบเสมอ ทุกวันนี้ยังมีอยู่หรือไม่ โดยมองว่า สำหรับกรณีเรื่องข้าว คนที่ริเริ่มให้ข่าว พาสื่อไปดู คงคาดว่าจะออกมาเป็นทางบวก แต่เท่าที่เราทราบกัน คงไม่บวก ผิดพลาดเชิงลบด้วยซ้ำ
ขอทำความเข้าใจว่า ในหลักทฤษฎีด้านสื่อสารมวลชน มีหลักคิดอย่างไรจึงทำให้เกิดการแถลงข่าวในลักษณะนี้ ในอดีตช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1-2 คนใช้สื่อมวลชนเชิงทำโฆษณาชวนเชื่อ โดยเรียกสื่อมาเยอะๆ ซึ่งมีทฤษฎีที่วงการเราพูดถึงคือ ทฤษฎีกระสุนปืน ทฤษฎีเข็มฉีดยา เพราะเชื่อว่าใครคุมสื่อได้คนนั้นสามารถทำได้สำเร็จ แต่ยุคนี้มันไม่ใช่แล้ว
ยุคที่สื่อมีความหลากหลาย มีความรู้มาก ขึ้นมีสื่อภาคพลเมือง คนทั่วไปที่เป็นสื่อด้วย คนที่เล่นออนไลน์เต็มไปหมด มันจึงไม่เป็นไป ตามเกมที่ผู้จัดงานอยากจะให้เป็น
ผู้จัดงานมีเบสที่อยากจะจัด คือเชิงมาร์เก็ตติ้งกับพีอาร์ ว่าข้าวนี้ปลอดภัย เอามาหุงโชว์ ทิศทางข่าวแบบนี้ การโชว์แบบนี้มันอยู่ประมาณปี 2540 หรือ 20-30 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมันเวิร์ก แต่นาทีนี้มันไม่เวิร์กแล้ว เพราะโลก แลนด์สเคปของสื่อมวลชนมันเปลี่ยนไปแล้ว เล่นแบบเดิมๆ ยุคนี้ไม่เวิร์ก ทำให้เกิดกระแสต่างๆ เกิดพลังในเชิงลบ ติดเทรนทวิตเตอร์ เด็กรุ่นใหม่ติดตามเรื่องนี้ ทั้งผลแล็บ เรื่องต่างๆ จากนักวิชาการ คิดว่าที่เราเห็นวิธีการแบบมาร์เก็ตติ้ง พีอาร์แบบเดิม ๆ พรรคการเมืองเมืองไทยต้องหาทีมงานคนรุ่นใหม่เข้าไปเสริม ถ้าจะทำให้ดี ทำแบบนี้ไม่รอดแน่นอน
คาดวอร์รูมการเมืองวางสล็อตข่าว
อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศทั่วโลก พรรคการเมืองจะมีการตั้งวอร์รูมด้านข่าวอยู่แล้ว ถ้าเป็นทฤษฎีสมคบคิด เชื่อว่ามีการตั้งวอร์รูมด้านข่าว ก็ย่อมต้องมีการวางสล็อตข่าวว่าจะเอาข่าวไหนกลบข่าวไหน ก็เป็นไปได้ แต่ข่าวนี้กลบแล้ว ผลเชิงลบต่อรัฐบาลสูงปรี๊ด คือไม่ค่อยดีน่าจะเป็นหมากที่พลาด มากกว่าจะเอามาเป็นหมากที่เอามากลบ เพราะเกิดกระแสตีกลับแรงกว่า คนล้วนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันว่าจะเป็นผลกระทบต่อสุขภาพ เด็กรุ่นใหม่มองแหล่งที่จะเอาข้าวไปขาย แม้จะเป็นแอฟริกา ประเทศอันไกลโพ้นที่ต้องการข้าวราคาถูก เขาไม่ได้มองแค่คนไทย เขามองทุกคนเป็นพลเมืองโลกหมด ข้าวคุณภาพไม่ดีไม่ควรมีใครได้กิน
เมื่อถามว่าแนวคิดของอาจารย์ จะเป็นกรณีศึกษาให้บรรดานักการเมือง พรรคการเมือง ว่าวิธีการเดิมใช้ในยุคก่อน อาจจะได้ แต่พอหันมายุคนี้มีโซเชียล มีวิธีคิดที่แตกต่างหลากหลาย ดังนั้นทุกคนต้องปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ท และวิธีการสื่อสาร เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ กอบกิจ ระบุว่า แน่นอน ซึ่งเดิมความเร็วมันไม่เท่า ความรู้ไม่เท่า ความเร็วไม่เท่า คือกว่าจะเอาข้อมูลมาหักล้างกัน ใช้เวลานานพื้นที่ในการจะหักล้างก็ไม่มี แต่ปัจจุบันในโลกออนไลน์ สื่อต่างๆ ที่แต่ละคนควบคุมตัวเองได้ มีพื้นที่ มีความเร็ว ทั้งสองอย่างทำให้สามารถเอาข้อมูลหักล้าง มาแย้งได้ทันที จับประเด็นมาเทียบ ไม่เข้าใจก็มีคนสรุปข่าวให้อีก ทุกอย่างมีทั้งความเร็วและพื้นที่และการออกมา แย้ง ฉะนั้นถ้ายังคิดแบบเดิม วิธีการแบบเดิม มันไม่สามารถใช้ได้ในยุคนี้
ร่วมทำข่าวแต่อย่าหลงกลการเมือง
ถามว่าการทำหน้าที่ของสื่อการทำกิจกรรมร่วมกับแหล่งข่าวลักษณะนี้ ประเด็นที่กำลังถกเถียงกันเรื่องข้าว 10 ปีกินได้หรือไม่ได้ สื่อควรลงไปร่วมวงด้วยหรือไม่ และการร่วมวงของสื่อจะตีความได้หรือไม่ว่า เป็นการการันตีให้รัฐบาล กอบกิจ มองว่า
1.ควรไปร่วมวงหรือไม่ องค์กรสื่อทั่วไปสอนกันอยู่ว่า วิธีการแบบนี้อย่าไปหลงกล อย่าไปเผลอตาม ต้องระวังอย่าไปเผลอตาม เอามาไตร่ตรองก่อนองค์กรสื่อที่เป็นสถาบันสื่อ หรือองค์กรขนาดใหญ่มีเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ช่วยกันคิด อบรม มีจรรยาบรรณองค์กรมากๆ แต่ปัจจุบันรูปแบบองค์กรสื่อเล็กลง มีความเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ หรือเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลุ่มเล็ก หรือคนฉายเดี่ยวมากขึ้น ตรงนี้อาจทำให้ขาดมิติในเรื่องการบอกกันว่า เรื่องนี้ต้องระวัง หรือถ้าเดินตามเกมแล้วพลาด ทั้งนี้ก็มีสื่อออนไลน์หลายคนที่ไปร่วมชิมข้าวด้วย เมื่อรู้แล้วว่าพลาด ก็ทำคลิปเพิ่มเติม ในมิติต่างๆ ค่อยๆ ไหลมาเติม ก็ถือว่ายังดี ถึงแม้จะเป็นสื่อเล็ก ที่ตอนแรกยังคิดไม่ทัน แต่พอรู้แล้วแก้ ก็ถือว่าใช้ได้
ย้ำหลักการสื่ออาชีพ หากพลาดต้องแก้ทันที
ส่วนอีกคำถาม 2.เป็นการการันตีให้รัฐบาลหรือไม่ การทำหน้าที่สื่อคือทำอะไร สื่อยุคใหม่บางคนไม่ได้เรียนจบด้านสื่อสารมวลชนโดยตรง ก็อาจไม่เข้าใจหลักการ สิ่งที่เป็นหน้าที่ของสื่อ ที่สั่งสอนกันมาในองค์กรสื่อ หรือในตำรา ก็ต้องกล้ารายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนต่างๆ เรื่องที่ต้องเจาะลึก แตกต่าง ข่าวที่ซับซ้อน นี่คือภารกิจ ที่สามารถทำได้ในเชิงลึก นอกจากนี้ ก็กล้านำเสนอในประเด็นแหลมคม เปิดประเด็นใหม่ ไม่ใช่ตามข่าวในโซเชียลมีเดีย
“ถ้าไปร่วมวงแล้วข้อมูลไม่ครบ หรือผิด ก็ต้องแก้ ต้องรายงานให้รอบด้านใหม่ ตรวจสอบให้รอบคอบใหม่ ต้องมีสิทธิเสรีภาพ ไม่อยู่ใต้ความกลัวของใคร ไม่มีใครมากดดันได้ สื่อเป็นตัวแทนของประชาชนแบบหนึ่ง” กอบกิจ ระบุ
เมื่อถามถึงการรายงานข่าวกรณีข้าวที่เกิดขึ้น กอบกิจ ระบุว่า กระแสข่าวนี้ที่ติดเทรนด์ ก็ถือว่าพี่น้องสื่อมวลชนทุกคนได้ทำหน้าที่สมบูรณ์พอสมควร ในการปกป้องมวลชนให้พ้นจากการเจอสิ่งอันตราย หรือโฆษณาชวนเชื่อ โดยใช้หลักการทางด้านวิทยาศาสตร์ ผลการวิจัย มานำเสนออย่างเที่ยงตรง คือสิ่งที่สื่อทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์
อย่างที่เป็นกระแสอยู่ในทุกวันนี้ ถ้าเขาไม่จัดอีเวนต์นี้ ปล่อยเงียบๆ ไป อาจไม่มีใครรู้เลยก็ได้ ซึ่งแรกๆ สื่อมวลชนอาจจะมีบทบาทแค่ผู้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากการแถลงข่าว แต่ตอนนี้สื่อทุกคนรายการเรื่องนี้ ก็ได้นำเสนอในบทบาทที่มากกว่านั้น คือเป็นการช่วยสืบสวนสอบสวนต่อ ชี้แนะแนวทางสังคมว่า ตอนนี้ประเด็นไปถึงไหนแล้ว ช่วยให้การศึกษาต่อสาธารณะ ว่าเหตุการณ์นี้ มีกี่มิติ มีประเด็นกระจัดกระจายอย่างไร ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของสื่อโดยตรงในยุคนี้.