เลขาฯ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ชี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจ่อคอหอยไทย ทั่วโลกรุนแรงขึ้น มองช่องว่างระหว่างเจนฯ ส่งผลความตระหนัก ขณะที่ผู้บริหารประเทศไม่ชัดเจนด้านนโยบาย มองเป็นเรื่องรูทีน หวังมีกองทุนให้สื่อเจาะข่าว และส่งเสริมด้วยรางวัล ด้านนักวิชาชีพระบุคนไทยสนใจข่าวสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มองการทำหน้าที่สื่อต้องจับประเด็นเชื่อมโยงมิติอื่นในสังคม ขณะที่นักวิชาการห่วงปัญหาสื่อใช้แหล่งข่าวซ้ำ เตือนระวังเบื้องหลังผลประโยชน์ทับซ้อน หนุนคนข่าวเพิ่มทักษะความรู้เฉพาะทาง
รายการ รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2567 ทาง FM 100.5 อสมท. พูดคุยประเด็น “สิ่งแวดล้อม”กับการทำหน้าที่ของสื่อ ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และ จินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และเครือข่ายพลังงานและนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล กองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี และ อดีตประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (ผู้สอนวิชาการรายงานข่าววิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิทัล)
ข่าวกากแคดเมียมจำนวนนับหมื่นตัน ซึ่งถูกเจ้าของบริษัทขุดขึ้นมาขายให้กับบริษัทหลอมโลหะแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร ก่อนพบว่ามีการกอง เก็บกากแคดเมียมไว้ในโรงงานและโกดัง รวมทั้งหมด 6 จุด ใน จ.สมุทรสาคร จ.ชลบุรี และเขตบางซื่อ กรุงเทพฯ เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.2567 กลายเป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สร้างความตระหนกให้กับสังคมอีกครั้ง จนนำไปสู่การตรวจสอบและเร่งแก้ปัญหาผลกระทบในระดับรัฐบาล ขณะที่การทำข่าวของสื่อมวลชนในเรื่องดังกล่าว ได้เกาะติดอย่างต่อเนื่อง
วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ สะท้อนภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงมากขึ้น และมีปัญหาทุกระดับ ระดับโลกที่เรียกว่าภาวะโลกร้อน เลขาธิการยูเอ็นถึงกับบอกว่าควรจะเรียกว่าโลกเดือด และยังมีปัญหาระดับภูมิภาค ระดับท้องถิ่น เช่น ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 บ้านเราติดท็อป 10 มาตลอด ทั้ง กทม.และเชียงใหม่
ปัญหาสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นเรื่องที่จ่อคอหอยเรามาก จะแก้ไขอย่างไรก็ยังไม่เห็นคำตอบที่ชัดเจน และยังเจอปัญหารายวัน อย่างกรณีแคดเมียม ยังไม่รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจปล่อยน้ำเสีย หรือเกิดการรั่วไหลของมลพิษต่างๆ ในท้องถิ่นทั่วประเทศ
เจนเนเรชั่นช่องว่างตระหนักสิ่งแวดล้อม
ส่วนการตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมของคนไทย วิฑูรย์ มองว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับเจนเนอเรชั่นของคนที่เติบโตในยุคเบบี้บูมเมอร์จะไม่ค่อยตระหนักมาก แต่จะสนใจเรื่องปากท้องการกินอยู่มากกว่า และถูกสอนว่าต้องพัฒนาเศรษฐกิจ แต่พอมาในยุคหลังๆ คนรุ่นใหม่เริ่มตระหนักมากกว่า เพราะเขาเกิดมาก็เจอปัญหามลพิษเลย และเริ่มตั้งคำถามว่า มันคือมรดกที่คนรุ่นก่อนทิ้งไว้ให้เขา คือเขาเกิดมาก็ต้องเผชิญปัญหา ฉะนั้นตรงนี้ จึงเกิดช่องว่างของการรับรู้ และการตระหนักระหว่างวัยและคนรุ่นต่างๆ มากขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะสังคมไทย แต่เป็นทั่วโลก ซึ่งจะพบว่า ในระดับโลกมีกระบวนการของคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาถือป้ายประท้วง และตั้งคำถามถึงรัฐบาล นักการเมือง เป็นต้น
สำหรับสังคมไทย คนที่กำลังมีอำนาจ และบริหารเศรษฐกิจอยู่ เป็นคนรุ่นที่อาจจะยังเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อม สำคัญน้อยกว่าปัญหาอื่น แต่ตอนนี้เขากำลังเริ่มเผชิญปัญหา ตัวอย่างในอุตสาหกรรม เราเริ่มพบว่าการส่งออกสินค้าไปในยุโรป อเมริกา เริ่มมีภาษี CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism : ภาษีนำเข้าคาร์บอน เป็นมาตรการปรับราคาสินค้านำเข้าบางประเภท ก่อนเข้าพรมแดน เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามา)
เขาจะดูกระบวนการผลิตทั้งหมดว่ามีส่วนในการทำให้โลกร้อนมากน้อยแค่ไหน พลังงานที่ใช้ ถ้าไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นสีเขียว เขาจะเก็บภาษีหนักขึ้น จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มตระหนักมากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้หากเราไม่ตระหนัก แต่โลกเขาตระหนัก ก็จะเริ่มใช้มาตรการในการปกป้องสิ่งแวดล้อมเข้ามา และก็จะถึงตัวเราอยู่ดี ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็คืออยู่บนโลกใบเดียวกัน มันกระทบถึงกัน
เรื่องไกลตัวเมื่อผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญ
เมื่อถามว่า คนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว วิฑูรย์ ระบุว่า เราไม่ได้รับสัญญาณที่ชัดเจนจากผู้นำ ผู้บริหาร จริงๆ ทั่วโลกในขณะนี้ ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องกรีน ถือเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ถึงขนาดมีคนพูดว่า ถ้าประเทศไหนไม่พูดถึงกรีนกับดิจิทัล คุณไม่มีที่ยืนในโลกต่อจากนี้ไปอีก 10 ปี เป็นต้น
“บ้านเรา เราไปสัญญากับเขาเอาไว้ แล้วมีการลงนาม ว่าเราจะต้องลดภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อไหร่จะเป็น Carbon Offset เมื่อไหร่ต้องเป็น Net Zero แต่เรายังยึกยัก กลัวว่าจะเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล”
อย่างเรื่องรถยนต์ที่พูดกันถึงอีวี แต่เราเป็นฐานผลิตรถสันดาป ภายในเราก็ยังยึกยัก และสัญญาณไม่ชัด เรื่องของการผลิตไฟฟ้าเรายังห่วงว่าถ้าก๊าซในอ่าวไทย โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชาเอาขึ้นมาได้ เราจะมีก๊าซมหาศาล สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราไม่ได้มองปัญหาในเชิงยุทธศาสตร์ ที่จะสื่อสารกับโลกได้อย่างชัดเจน เราปล่อยให้กลุ่มต่างๆ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถเลือกทางเดินของตัวเอง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ระบบไฟฟ้าของเขาไม่มั่นคงเท่ากับเรา โครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างของเขายากลำบากกว่าเรา แต่เขาก็ไปลงนามสัญญาที่ล้ำหน้าเราเป็น 10 ปี และมีอะไรที่โลกตะวันตกถือว่าเป็นเรื่องสัญญาณสีเขียว เขาจะกระโดดเข้าเซ็นและทำเลย ฉะนั้นจึงเป็นเหตุที่เราได้ยินตลอดว่า ทำไมนักลงทุนวิ่งไปเวียดนาม นี่คือสิ่งที่เป็นตัวอย่างว่า เขารู้ว่า จะได้ประโยชน์จากกระแสสีเขียวสิ่งที่เรียกว่ากรีนอีโคโนมี เขาโดดเข้าไปเลย ทั้งที่จริงเขาไม่พร้อมเท่าเราที่มีศักยภาพมีความพร้อม แต่เรายังไม่ชัด สิ่งเหล่านี้ โลกก็ส่งสัญญาณกันมาพอสมควร แต่เราก็ปล่อยให้เวลาสูญเปล่า จนรอมาจ่อคอหอย สุดท้ายก็ทำไม่ทัน
ถูกมองเป็นเรื่องรูทีนตามฤดูกาล
สำหรับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมกับทำหน้าที่ของสื่อ วิฑูรย์ บอกว่า เขาทำหน้าที่ในงานสิ่งแวดล้อมมา 30 กว่าปี อยากจะบอกว่า ทุกๆ ปีมันมีปัญหาตามฤดูกาล ที่คนทำข่าวก็รู้ คนทำสิ่งแวดล้อมก็รู้ ว่าเมื่อไหร่น้ำจะท่วม จะแล้ง แต่พอทำเรื่องไฟป่าอยู่ดีๆ พอฝนตกก็หยุดเลยเรียกว่าระฆังช่วย หลังจากนั้นก็รอคราวหน้า เพราะฉะนั้นบทบาทของข่าวกับสังคม ในเรื่องสิ่งแวดล้อม มันมีระฆังช่วยตลอด พอฤดูกาลผ่านไป คนก็ไม่สน รัฐบาล นักการเมือง เข้ามาชั่วคราว ก็เลยสบายใจ
เมื่อถามถึงแนวทางจะแก้อย่างไร วิฑูรย์ ระบุว่า หลายปัญหาเป็นเรื่องที่ต้องไปแตะโครงสร้าง เพราะฉะนั้นการแก้ตามฤดูกาล และฤดูกาลเปลี่ยน มันแก้ไม่ได้ ตนจึงอยากจะตั้งคำถามฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะราชการ ที่มีกระทรวงผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งข้าราชการไม่ได้เปลี่ยนไปตามนักการเมือง แต่เขาอยู่ตรงนั้น งานบางด้าน ไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนทำงานประจำ จำเป็นต้องให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหา
หวังมีกองทุนให้สื่อหาข้อมูลเจาะข่าว
“จึงอยากหวังว่าสื่อเอง ก็ต้องสื่อว่า ถ้าเราทำเรื่องนี้มาหลายครั้ง แล้วเราจะหยุดอยู่แค่เหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งความจริง ความรู้คุณเพิ่มขึ้นสามารถเจาะข่าวได้ คุณรู้ว่าเกือบจะถึงคำตอบแล้ว ทำไมคุณไม่ทำต่อ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือการวิจัย การที่จะให้เรามีชุดความรู้ที่ชัดเจน ต่อการแก้ปัญหา ที่จะวางแผนและปฏิบัติได้ มันถูกฤดูกาลพัดพาไปทุกครั้ง”
เมื่อถามว่าควรมีมาตรการจูงใจหรือไม่ เพื่อให้คนหันมาตระหนักมากขึ้น วิฑูรย์ มองว่า ต้องมีทั้งรางวัลและไม้เรียว ทั้งสองด้าน รางวัลอาจรวมถึงการสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัย ซึ่งนักข่าวก็ตามเรื่อง แต่ไม่มีทุนที่จะไปศึกษา เพราะสำนักข่าวก็คงมีไม่พอ เพราะฉะนั้นหากมีกองทุนให้นักข่าวไปทำเป็นกรณีศึกษาต่างๆ แล้วรายงานออกมา เชื่อว่าเรื่องพวกนี้จำเป็น และมีประโยชน์มาก และถ้าเข้าทำดี ก็ต้องยกย่อง
หนุนยกย่องให้รางวัลมาตรการส่งเสริม
“ปัญหาสิ่งแวดล้อม มีทั้งคนได้ คนเสีย ทำไปเรื่อยๆ อย่างเช่นแคดเมียม เป็นของใคร ใครอนุญาต ใครซื้อ ใครขาย จะเอาไปทำอะไรที่ไหน มันมีโจทก์ มีจำเลย ตรงนี้คือปัญหา ฉะนั้นรางวัลควรจะให้กับคนที่เขาสามารถชนกับผลประโยชน์ได้ แต่เราพบว่า รางวัลที่เรามี มักจะเป็นรางวัลที่สปอนเซอร์ คือคนที่อาจไม่พร้อม ที่จะเปลี่ยนมัน ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตลอด”
วิฑูรย์ ยังเชื่อว่า นักข่าวตีประเด็นเรื่องนี้แตก ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องไม่ใช่เรื่องเทคนิค เรื่องวิศวกรรม เคมี เท่านั้น แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังมีอีกหลายมิติ เช่น การจับประเด็นเรื่องใครได้ใครเสีย ใครคอร์รัปชัน ก็เป็นข่าวรายวันได้ และสามารถเป็นข่าวการเมืองได้
นอกจากนี้ เรื่องพวกนี้เราปล่อยให้ข้าราชการประจำ ซึ่งเขาต้องปฏิบัติตามกฏหมายทำฝ่ายเดียวไม่ได้ มันต้องการอำนาจหน้าที่มากกว่านั้น ต้องการนักการเมือง พรรคการเมือง รัฐบาลที่จะเข้าใจปัญหา อย่างน้อยที่สุดต้องเห็นปัญหา ต้องมีทางออก
ข่าวสิ่งแวดล้อมในมิติอื่นๆคนสนใจ
จากปรากฎการณ์ข่าวแคดเมียม ในมุมมองของคนสื่อ ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล เห็นว่า คนไทยให้ความสนใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ และติดต่อกันมาหลายปี ถ้านำเสนอข่าว และจับประเด็นดีๆ เรียกได้ว่า “ขายได้” โดยเฉพาะการนำเสนอข่าว และเผยแพร่ข่าวสิ่งแวดล้อมในทางออนไลน์ ซึ่งมีคนไลก์ คนแชร์หลาย 100 คือทำให้เรื่องนั้นๆ กระทบใจคนให้ได้
สำหรับเทรนด์ข่าวสิ่งแวดล้อมที่คนสนใจ เขามองภาพรวมว่า ข่าวที่จะได้รับความสนใจ ก็ต่อเมื่อ 1.ข่าวสิ่งแวดล้อมมีโอกาสขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์ กรณีเป็นเรื่องร้ายๆ เรื่องไม่ค่อยดี และเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับมิติอื่น ที่ไม่ใช่มิติสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น ประเด็นทางการเมือง หรือทางเศรษฐกิจ
เช่น กรณีนักธุรกิจชื่อดังล่าเสือดำในป่าทุ่งใหญ่ฯ เป็นข่าวที่สื่อเล่นหมด ขึ้นหน้า 1 ก็เพราะเชื่อมโยงกับผู้มีชื่อเสียงถ้าเป็นคนทั่วไป ก็อาจจะเป็นข่าวระดับหนึ่ง หรือกรณีนักการเมืองหญิงมีข่าวรุกที่ป่าสงวน ซึ่งก็เป็นข่าวสิ่งแวดล้อม แต่มันจะเป็นประเด็นข่าวก็ต่อเมื่อเชื่อมโยงกับคนดัง หรือคนรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้มีอิทธิพล ชนชั้นสูง
สำหรับกรณี”แคดเมียม” เป็นตัวอย่างหนึ่งของข่าวสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายๆ ข่าว โดยตัวของมัน เข้าใจยาก ซับซ้อน และต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งข่าวนี้ทำให้นึกถึงกรณี “ซีเซียม”เมื่อปี 2564 ซึ่งอยู่ในข่ายเดียวกัน คือมลพิษจากอุตสาหกรรม การปนเปื้อนของสารมลพิษ ที่อยู่ใกล้ตัวคน อยู่ใกล้หมู่บ้าน ถ้าอยู่ดีๆ จะนำเสนอ คนก็ไม่สนใจ หากเป็นข่าวดัง มีภาพชัดเจนถึงผลกระทบ ก็จะดึงดูดความสนใจคนได้
ภาพแรงเรื่องกระทบคนดึงดูดความสนใจ
หลายๆ กรณี ข่าวสิ่งแวดล้อมก็เป็นอย่างนี้ เช่น น้ำมันรั่วในอ่าวไทย ในปี 2565 และย้อนไปก่อนนั้น 10 ปี 2556 ก็รั่ว คนก็สนใจมากกว่าเพราะมีภาพอ่าวพร้าวที่ถูกฉาบด้วยสีของน้ำมันเผยแพร่ออกมา คนก็จะรู้สึกอิน และเข้าถึงได้ง่าย ข่าวแวดล้อม มักเป็นอย่างนี้ บางทีก็เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่เราต้องทำให้เราเห็นภาพที่มันรุนแรง คนถึงจะสนใจ
กรณีกากแคดเมียม ความจริงมีองค์ประกอบหลายอย่าง ที่เอื้อให้ทำข่าว และให้ตามประเด็น อย่างล่าสุด มีประเด็นเหมือนพล็อตหนังก็ว่าได้ หรือดราม่า เมื่อเริ่มมีข้อมูลออกมาลักษณะกลับตาลปัตร โรงงานต้นทางที่ควรจะเป็นผู้จ่ายเงินให้โรงงานปลายทางนำกากแคดเมียมไปกำจัด แต่กลับกลายเป็นว่า โรงงานปลายทางยินดีจะรับซื้อแคดเมียม คือสถานการณ์พลิกกลับ สวนทางกับความเสี่ยงอันตรายตามปกติ
“ถ้าใครที่ตามประเด็น หรือนักข่าวเก่งๆ สามารถนำมาเล่น เขียนข่าวให้น่าสนใจได้ เพราะมันจะเหมือนบทหนัง แต่โดยรวมแล้ว ก็ยังยากอยู่ดี เข้าใจยาก เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และมีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง”
เมื่อถามถึงกรณีสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ อย่างกรณีน้ำท่วมในทะเลทรายที่ดูไบ ฐิติพันธ์ ระบุว่า ข่าวนี้ถูกมองเป็นข่าวต่างประเทศอย่างน่าเสียดาย เขาอยากให้สื่อระดมกำลังกัน นำเสนอข่าว ลักษณะสืบค้นข้อมูล วิเคราะห์ แม้จะต้องใช้ความรู้ ทั้งวิทยาศาสตร์ ความรู้เรื่องสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลง ที่ต้องค้นหาข้อมูลด้านอุตุนิยมประเทศนั้นๆ เรื่องฤดูกาล สภาพภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝนฯ ซึ่งก็คือต้องอาศัยความรู้ ในการทำงานเพิ่มขึ้นอีกระดับ ข่าวสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ก็เช่นกัน สำหรับโลกร้อน แม้จะรายงานข่าวมากขึ้น แต่ก็ยังสามารถทำให้มากขึ้นได้อีก ซึ่งการทำข่าวสิ่งแวดล้อม เหมือนยังมีกำแพงบางอย่าง มีจุดอ่อน ซึ่งคนทำข่าวสิ่งแวดล้อมต้องพัฒนาต่อไป
สิ่งแวดล้อมต้องเชื่อมโยงปัญหาอื่น
เมื่อถามถึงกรณีข่าวสิ่งแวดล้อมที่สื่อนำเสนอจนเป็นเป็นรูทีน เช่น ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 น้ำท่วมบางพื้นที่ประจำทุกปี ในมุมที่จะหาประเด็นทำข่าว ให้คนสนใจมากกว่าการเป็นข่าวรูทีน ตามฤดูกาล ฐิติพันธ์ ระบุว่า ยอมรับว่า ข่าวลักษณะนี้ กลายเป็นเรื่องชินชา แม้เขาเองจะเคยเขียนข่าวลึกกว่านั้น สัมภาษณ์หลายฝ่าย แต่คนก็สนใจน้อย บางจังหวะก็อยู่นอกกระแส เช่นฝุ่นพีเอ็ม ถ้าเขียนช่วงนอกฤดูกาล หรือจัดเสวนา คนก็ฟังน้อย แต่ก็ยังมีทางออกอยู่ คือการหามิติหรือเหลี่ยมมุมอื่นๆ ได้
โดยการเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ เช่น ไฟป่าตอนนี้แทบจะกลายเป็นคำที่เชื่อมโยงกับฝุ่นพีเอ็ม และฝุ่นพีเอ็มก็เชื่อมโยงเรื่องอื่นได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ก็เป็นต้นตอหนึ่งเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยถูกแตะต้องเท่าไหร่ กับกลุ่มผลประโยชน์ อย่างโรงงานในกทม.ก็เกี่ยวข้องมากกับเรื่อฝุ่น อย่างกรณีโรงกลั่นน้ำมันใน กทม.มีส่วนทำให้เกิดพีเอ็ม 2.5 สูงมาก
ถ้าอีกสเต็ปหนึ่ง มีปัญหาบางอย่างที่สื่อไม่กล้านำเสนอหรือไม่ เพราะกระทบกับแหล่งทุนหรือไม่ ซึ่งเชื่อมโยงกับการเมืองได้ กับข่าวสิ่งแวดล้อม เช่นการย้ายท่าเรือคลองเตย ที่นายกฯพูดเองว่าควรย้ายโรงกลั่นหรือไม่ ก็เป็นข่าวที่่ผูกโยงให้คนติดตามได้อยู่
ในมุมของสื่อ ไม่หมดหวัง ยังมีกลุ่มคนอ่านฟัง รอให้นำเสนอข่าวอีกด้าน แม้จะไม่เป็นข่าวกระแสหลัก ในมิติที่ไม่แมส แต่ข่าวสิ่งแวดล้อมถ้าทำต่อเนื่อง บ่อยๆ สม่ำเสมอเป็นสิบๆ ปี จึงอยากให้ติดตามอ่านข่าวสิ่งแวดล้อม ที่สื่อพยายามนำเสนอ ซึ่งคนทำข่าวเอง ก็ยังรวมตัวเป็นเครือข่าย ช่วยกันคิดประเด็น
ตั้งข้อสังเกตปมประโยชน์ทับซ้อน
ขณะที่นักวิชาการ รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ มองว่าการทำข่าวสิ่งแวดล้อม ที่นักข่าวต้องไปสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็มีข้อสังเกตว่าในสังคมมีกลุ่มก้อนที่เรียกว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมกับผลประโยชน์ส่วนตน บางทีมีผลประโยชน์ทับซ้อน แม้กระทั่งนักวิชาการบางคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้รู้ เวลาสื่อไปถามเรื่องสิ่งแวดล้อม เชื่อเขาได้อย่างสนิทใจหรือไม่
“เพราะบางคนรับทุนวิจัยของบริษัทเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และของสินค้าด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเราจะใช้ Mindset วิธีแบบเดิมๆ ทฤษฎีเดิมๆ เวลาเราทำข่าว ไม่ได้ เราไปถามผู้เชี่ยวชาญ แต่ผู้เชี่ยวชาญปัจจุบันแฝงไปด้วยอำนาจ ที่อวตารอยู่ข้างใน ผมจึงอยากจะชวนคิดไปถึงประเด็นว่า ทั้งตัวนักข่าวเอง และตัวคนทำสื่อเอง และผู้ที่จะรับสื่อ เราก็ต้องรู้เท่าทัน แม้ว่าจริงๆ แล้ว นักข่าวเองก็รู้เท่าทัน คนสื่อบ้านเราเก่งและรู้ แต่เราไปถึงจุดนั้น ที่จะเปิดเผยออกมาไม่ได้ เพราะมันมีเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์”
“เวลาเราย้อนไปดูแหล่งข่าวที่สัมภาษณ์ ชาวบ้านอาจจะไม่รู้ แต่นักข่าวรู้ ฉะนั้นจึงต้องตระหนักว่า เวลาจะเลือกแหล่งข่าวมาสัมภาษณ์ในการนำเสนอประเด็น หรือเลือกประเด็น มันชงได้ และปัจจุบันนักข่าวเอง ถามว่าขยันมากพอหรือไม่ ที่จะทำงานหนัก เพราะจริงๆลักษณะการรายงานข่าวในรูปแบบที่จะตอบโจทย์ชาวบ้านได้ มันต้องมีรูปแบบที่เรียกว่า คือเป็นสหวิทยาการ ซึ่งอาจจะมีการเชื่อมสังคมเศรษฐกิจเข้าไปด้วย”
ชี้ปัญหาสื่อใช้แหล่งข่าวซ้ำ
เมื่อถามว่าประเด็นสิ่งแวดล้อม อาจไม่ค่อยมีคนสนใจ มองอย่างไร รศ.สุรสิทธิ์ กล่าวว่า เวลาสื่อเลือกสัมภาษณ์ ก็คือคนซึ่งเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว อาจจะมองว่าจะทำให้เกิดอิมแพ็ค มียอดวิว แต่อาจไม่ได้มองเรื่องการให้ความรู้สังคมเพียงอย่างเดียว
“สังเกตหรือไม่ว่า บางทีแหล่งข่าวบิ๊กเนมเหล่านี้ สื่อใช้กันจนช้ำ ถามได้ทุกเรื่อง ตอบได้ทุกเรื่อง จึงรู้สึกว่า สื่อทำงานง่าย แทนที่จะไปสร้างแหล่งข่าวใหม่ๆ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เฉพาะอย่าง เช่น ถามเรื่องแคดเมียม กับแอมโมเนีย เท่าที่เห็น มีแต่ใช้แหล่งข่าวจนช้ำถามว่าแหล่งข่าวคนนั้นคลีนหรือไม่ อันนี้จึงต้องระมัดระวัง สื่อเองก็ต้องรู้เท่าทัน” รศ.สุรสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามถึงพัฒนาการในการทำข่าวสิ่งแวดล้อมของสื่อในบ้านเราเป็นอย่างไร รศ.สุรสิทธิ์ มองว่า การมีเวทีของนักข่าวสายสิ่งแวดล้อม ได้เห็นความมุ่งมั่นและตั้งใจ สมัยก่อนข่าวสิ่งแวดล้อมจะอยู่ในวงม็อบ เคยเห็นอดีตประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เขียนในวารสารประจำปีของชมรม เตือนสติน้องๆ นักข่าวสายสิ่งแวดล้อมว่า เวลาไปทำข่าวม็อบ เราอย่าไปทำตัวเป็นม็อบเสียเอง เพราะบางทีมันเป็นเรื่องที่เรามีต้องมีจุดยืนในฐานะที่เป็นสื่อ ซึ่งสมัยก่อนอาจจะเป็นอย่างนั้น คือส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่พอใจอะไร ก็ม็อบประท้วง เช่น การสร้างเขื่อน แต่เดี๋ยวนี้ประเด็นเหล่านั้นมีน้อยมาก
อีกทั้งเรื่องนี้ยังจะมีเอ็นจีโอเข้ามาเกี่ยวอีก ซึ่งจากที่ตนพูดถึงแหล่งข่าวด้านวิชาการ นักวิชาการ เรื่องนี้ก็มีเอ็นจีโอเข้ามาเกี่ยวอีก ในปัจจุบันซึ่งเราก็รู้กันอยู่ว่า มีสาย เป็นสาย ซึ่งก็สำคัญ เพราะปัจจุบันลักษณะของประเด็นข่าวสิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยน ถ้าจะไปต่อได้ ต้องไปทำข่าวสิ่งแวดล้อมในรูปแบบที่ไม่ใช่แนวเดิม
ในแนวเดิมเหมือนกับการนำผลวิจัยมาเสนอ นำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมานำเสนอ ซึ่งอาจจะพ่วงกับเรื่องการศึกษา หรือเรื่องของการแนะนำโปรดักส์ใหม่ ที่เป็นไฮเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันข่าวสิ่งแวดล้อมคล้ายกับข่าวไอที จะเป็นเรื่องของประโยชน์ใช้สอย อรรถประโยชน์ หรือจะเกิดอะไรขึ้น อิมแพ็คที่จะเกิดขึ้นกับสังคมในวงกว้าง โทนการนำเสนอข่าวมันต้องซอฟต์ลง เพราะแต่เดิม เวลาพูดถึงข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าววิทยาศาสตร์ ข่าวไฮเทคฯ ทั้งหลาย จะเป็นเรื่องความรู้เฉพาะ ซึ่งบางทีเราเองก็ต้องอธิบายลำบาก เพราะมีศัพท์ทางวิชาการสูงมาก
เทคโนโลยีเป็นเรื่องของต่างประเทศ ส่วนใหญ่ภาษาเป็นการอธิบายความหมาย อย่างเช่น พูดถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ มันมีศัพท์เซ็ตอีก เรื่องการขุดเหมือง ก็มีศัพท์เยอะมาก ตัวอย่างเช่นนี้ คนทำข่าวเองก็ต้องทำงานหนักขึ้น ในการเชื่อมให้เรื่องนี้เป็นสหวิทยาการ ไปถึงเรื่องใกล้ตัวของผู้ติดตามข่าวเราให้ได้ มันถึงจะเกิดประโยชน์ และไปต่อได้
แนะนักข่าวควรมีความรู้เฉพาะทางเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม รศ.สุรสิทธิ์ มองว่า ในระยะหลังรู้สึกมีข่าวสิ่งแวดล้อมน้อยลง มีการแบ่งสายข่าวเฉพาะเจาะจง ซึ่งข่าวสายสิ่งแวดล้อมที่น้อยลงอาจจะไปพ่วงอยู่กับสายสังคม หรือสายสกู๊ป สายที่เกี่ยวกับเรื่องการศึกษา เป็นต้น แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ก็เป็นสายสังคมไปเลย
ในมุมของการศึกษาในมหาวิทยาลัย เมื่อถามถึงการให้ความสำคัญกับหลักสูตรที่เฉพาะเจาะจง อย่างสายสิ่งแวดล้อม รศ.สุรสิทธิ์ ระบุว่า ปัจจุบันหลักสูตรของทุกมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไป มีการปรับหลักสูตรเป็นระยะ ไม่มีการแบ่งวิชา ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เพราะหน่วยกิตมีจำกัด วิชาเรียนน้อยลง แต่ละวิชาจึงต้องเบียดเสียดยัดเยียดกันไป วิชาเลือกให้เด็กเรียนได้น้อยลง โดยจะมีเรื่องใหม่เข้ามา เช่นเรื่องการทำคอนเทนท์ เป็นต้น
ในการทำงานจริง ก็ไม่ได้จำเพาะเจาะจงตรงสายที่เรียน เพราะลักษณะการทำงานจะมีความเชื่อมโยง ปัญหาบ้านเรามีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งเรื่องการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ดังนั้นในวงการสื่อก็มีการคุยกันว่า บางครั้งนักข่าวที่ต้องรายงานข่าวเฉพาะทาง อาจจำเป็นต้องมีองค์ความรู้เฉพาะด้าน เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีในการทำงาน.