ปรับเปลี่ยน ปรับตัว ยังเป็นงานหลักของคนสื่อ ภายใต้การแข่งขันสื่อหลัก – สื่อโซเชียล

การปรับเปลี่ยน ปรับตัว ยังเป็นงานหลักของคนสื่อ ท่ามกลางสถานการณ์แข่งขันสื่อหลัก สื่อโซเชียล นักวิชาชีพ-วิชาการ-นักกฎหมายเห็นพ้องข่าวสืบสวนฯ ยังจำเป็นในการทำหน้าที่สื่อ แม้ต้องเผชิญปัญหาถูกฟ้องปิดปากหลังขุดคุ้ยเรื่องเป็นประโยชน์ต่อสังคม ขณะที่สมาคมนักข่าวฯเดินหน้าเพิ่มทักษะทั้งคนสื่อ คนอยากเป็นสื่อ ให้ความรู้ด้านจริยธรรมวิชาชีพ นักวิชาการสื่อชี้“คอนเทนต์”กำลังมาแทนเนื้อหา“ข่าว” และเป็นยุค“คนหน้าจอ”ชี้นำสังคม แนะควรใช้โอกาสในการเติมความรู้ เตือนภัยสังคม ผ่านการเล่าข่าวสีสัน

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2567 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง  “ปรับเปลี่ยน ปรับตัว ยังเป็นงานหลักของคนสื่อ” ดำเนินรายการโดย ณรงค์ สุทธิรักษ์  วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ชำนาญ ไชยศร อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วีระศักดิ์ โชติวานิช ประธานคณะกรรมการจริยธรรมสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

จากกรณี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผย “รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2566 : ปีแห่งการปรับตัวของสื่อ” ท่ามกลางสถานการณ์เปลี่ยนผ่านทางการเมือง และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้สื่อมวลชนปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยเน้นเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ และเฉพาะเจาะจงเพื่อเข้าให้ตรงถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งของตัวเองและโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้และความอยู่รอด 

ขณะเดียวกันก็ยังถูกตั้งข้อสังเกตว่า สื่อกระแสหลักยังมีจำนวนน้อยที่รายงานข่าวเชิงสืบสวน เพราะแรงกดดันด้านกำลังคน และการอยู่รอดในทางธุรกิจผ่านเรตติ้ง และจำนวนยอดคนดูและชมผ่านช่องทางต่างๆ 

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณการแทรกแซงการแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนจากรัฐบาล ลิดรอนการแสดงความเห็นต่าง ยังมีปัญหาการถูกคุกคามทางวาจา ทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าวจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ถูกข่มขู่จากการนำเสนอข่าวสาร การฟ้องปิดปากสื่อ โดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย ให้ยุติการเสนอข่าว รวมถึงการถูกกล่าวหาว่าสื่อมวลชนรับเงินแลกกับการนำเสนอข่าว

ชำนาญ ไชยศร มีมุมมองต่อการปรับตัวของสื่อในยุคดิจิทัลว่า สื่อจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้าสถานการณ์ ทั้งสื่อเก่า และสื่อใหม่ จะอยู่นิ่งไม่ได้ สำหรับสื่อเก่า หรือสื่อหลัก เขาเชื่อว่าจากประสบการณ์ทำงานมายาวนาน เมื่อยุคดิจิทัลมาก็ปรับตัวได้ไม่ยาก แม้จะเน้นเรื่องเรตติ้งมากขึ้น เน้นการมีคนติดตามมากขึ้น แต่การนำเสนอ ยังต้องเป็นแบบ 360 องศา เพื่อให้เนื้อหาข่าวรอบด้าน โดยเฉพาะสื่อหลัก  

“เมื่อต้องการเรตติ้ง แม้ยังต้องตามกระแส แต่ก็ยังทำหน้าที่เป็น Gatekeeper ขณะที่ตัวผู้สื่อข่าวเอง การทำข่าวอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ยังต้องเพิ่มทักษะ ทั้งถ่ายรูป ไลฟ์สดได้” ชำนาญ ระบุ

เขายังตั้งข้อสังเกต ถึงความท้าทายในการทำงานสื่อยุคนี้ว่า แม้หน้าที่หลักของสื่อคือการหาข่าวแต่ปัจจุบันเรื่องที่เป็นข่าวได้เข้ามาหา ฉะนั้นการทำหน้าที่กลั่นกรองเนื้อหา และต่อยอดเพื่อให้เป็นคุณค่าข่าว จึงเป็นเรื่องสำคัญ 

“หากเปรียบเป็นการล่าเนื้อ แต่ปัจจุบันแทบไม่ต้องล่าเพราะมีคนโยนให้ เช่น ส่งเอกสารข่าวให้ โดยก็ลอกไปใช้ จึงทำให้ปัจจุบันเนื้อหาข่าวสาร เป็นไปตามทิศทางที่หน่วยงานนั้นๆ กำหนด หรือแม้กระทั่ง บุคคลที่หิวแสง ก็เป็นตัวกำหนดวาระข่าวสาร พยายามชี้นำให้สื่อไปทางไหน หากสื่อลงไปตามนั้น ก็จะกลายเป็นเครื่องมือของคนหิวแสง ที่ต้องการจะดึงให้คล้อยตามประเด็นที่ตัวเองกำหนด ฉะนั้น สื่อก็ต้องทำหน้าที่ตัวเองในการสืบค้น เจาะลึก ขยายผลเพิ่มเติม จากเนื้อหาข่าวสารที่แจกมา” 

นอกจากนี้ ชำนาญ ยังกล่าวถึง “สื่อใหม่” ที่ส่วนหนึ่งก็ย้ายจากสื่อหลัก ไปทำสื่อใหม่ หรือกลุ่มคนที่มีศักยภาพ เรียนรู้เรื่องข่าวสารได้ ก็สร้างสำนักข่าวของตัวเอง ในส่วนนี้ก็อาจมีปัญหา เพราะต้องปรับตัวด้านวิชาชีพ และเพื่อความอยู่รอด ฉะนั้นการทำหน้าที่ของสื่อวิชาชีพก็จะลดน้อยลง เพราะต้องพึ่งพาการสนับสนุน

ความคาดหวังข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน

เขามองว่า การทำงานของนักข่าวรุ่นใหม่ ไม่เหมือนกับรุ่นเก่าที่มักจะใช้วิธีฝังตัวในหน่วยงาน องค์กรต่างๆ เพื่อใช้เวลาหาข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนนำเสนอ แต่ปัจจุบันการทำข่าวของนักข่าวรุ่นใหม่ จะเป็นรูปแบบโฉบไปมา ฉะนั้นสิ่งที่ขาดหายไปในปัจจุบัน คือข่าวเชิงสืบสวน สอบสวน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสมาคมนักข่าวฯ พยายามผลักดัน การนำเสนอข่าวประเภทนี้ให้เพิ่มมากขึ้น โดยผ่านการประกวดข่าว ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีจำนวนลดน้อยลงไปมาก

แม้ปัจจุบันก็จะพบปัญหา กระบวนการทำข่าวสืบสวนสอบสวน ที่ต้องหาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่หน่วยงาน นอกจากนี้องค์กรต้นสังกัดของนักข่าว ก็ต้องสนับสนุนด้วย เพราะพบว่าสื่อเก่า ที่พยายามลดค่าใช้จ่ายลงมาก ต่างกับสมัยก่อนที่ทุ่มเทอย่างมาก และมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์สมัยก่อน ที่แต่ละสำนักข่าว ต้องการเปิดข่าวสืบสวนสอบสวน เมื่อทำได้ดีกว่าคู่แข่งก็ถือว่าได้ชัยชนะ ต่างกับปัจจุบันนี้ ที่มุ่งข่าวเรตติ้ง เพื่อเพิ่มยอดคนติดตาม เพราะเป็นเรื่องรายได้ จึงทำให้ข่าวส่วนใหญ่เป็นไปตามกระแส ขณะที่ข่าวสืบสวนที่คนจะสนใจ ต้องเจ๋งจริง คนจึงจะติดตาม 

อย่างไรก็ตาม แม้ข่าวตามกระแสก็ต้องมี แต่อยากให้สื่อทั้งสื่อเก่า และสื่อใหม่ ย้อนมาดูเรื่องข่าวเชิงสืบสวนฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ด้วย เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข

เมื่อหยิบยกถึงประเด็น นักการเมืองทุจริตฯ ที่ถูกแฉ พร้อมหลักฐาน แต่สุดท้ายคนถูกกล่าวหา กลับรอด และอยู่ในสังคมได้ จะเป็นเหตุให้สื่อมองว่า แล้วจะทำข่าวไปทำไม หรือไม่ ชำนาญ ระบุว่า หากมองมุมกลับ ถ้าไม่มีการแฉ เปิดเผยเรื่องที่สืบสวนออกมา สังคมจะเลวร้ายกว่านี้ 

เขาเชื่อว่า อย่างน้อยในความรู้สึกของประชาชน อาจจะเห็นว่าบทลงโทษน้อย แต่อย่างน้อยความรู้สึกลึกๆ ก็จะรู้ว่า บุคคลใดเคยมีพฤติกรรมทุจริต แม้กระบวนการยุติธรรมจะลงโทษได้ไม่มาก แต่สังคมก็จะจับตาบุคคลนั้นๆ ในทางทุจริต เมื่อสื่อได้เปิดมุมมืด ให้ถูกจับจ้อง เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข รวมถึงจับจ้องการทำงานเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะหากเรื่องนั้นๆ ไม่ปรากฎเป็นข่าว เรื่องนั้นก็ยังจะเป็นมุมมืด

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ต้องใช้ต้นทุนสูง ทั้งคน ทั้งเวลา ชำนาญมองว่า องค์กรต้องให้ความสำคัญจริง ๆ เพราะต้องใช้เวลา และทุ่มทรัพยากร ขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกส่วนที่สื่อสามารถได้ประโยชน์จากประเด็นในโซเชียล ที่หากมองเป็นการทำงานแบบสอดประสานกัน ก็จะให้สังคมได้รับรู้ ในเรื่องที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน

ภารกิจเพิ่มทักษะคนสื่อ-คนอยากเป็นสื่อ

สำหรับภารกิจของสมาคมนักข่าวในปี 2567 นี้ ชำนาญ ระบุว่า ล่าสุด สมาคมนักข่าวฯ ได้ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการเสริมสร้างจริยธรรมและพัฒนาศักยภาพ สำนักข่าวขนาดเล็กเพื่อความยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 26-28 ม.ค. เพื่อเสริมทักษะวิชาชีพสื่อมวลชนและความรู้ต่าง ๆ ให้กับผู้ที่สนใจสร้างสำนักข่าวขนาดเล็กของตนเอง

กิจกรรมนี้ เปิดรับประชาชนทั่วไป ที่สนใจการสร้างสำนักข่าวขนาดเล็กของตนเอง และผู้ประกอบการสื่อที่สนใจเรียนรู้หรือทบทวนเกี่ยวกับหลักวิชาชีพสื่อมวลชน และอัพเดตความรู้เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจของสื่อขนาดเล็กในปัจจุบัน และสื่อภาคพลเมืองที่ต้องการยกระดับคุณภาพงานด้านสื่อมวลชนให้เป็นที่ยอมรับ 

เพื่อเรียนรู้ทักษะและประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานด้านสื่อมวลชน การหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนสำนักข่าวของตนเอง หลักจริยธรรม และจรรยาบรรณสื่อตามหลักสากล การบริหารจัดการสำนักข่าวขนาดเล็ก การบริหารสื่อออนไลน์และการหารายได้ การผลิตเนื้อหาข่าวบนแพลตฟอร์ม TikTok การเรียนรู้ Success Model โมเดลธุรกิจ และหลักการบริหารสื่อ

ชำนาญ ระบุว่า การส่งเสริมสื่อขนาดเล็ก ในการทำสื่อใหม่ ทั้งการพัฒนาศักยภาพ หลักจริยธรรม ข้อกฎหมาย การหารายได้ ถือเป็นการสร้างนักข่าวพลเมือง เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบสิ่งผิดปกติในสังคมได้ 

โดยเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป ที่ประสงค์จะเป็นนักข่าว ที่มีเพจของตัวเอง เป็นช่องทางการสื่อสาร นำเสนอข่าว ซึ่งเปิดรับสมัครแล้วเป็นรุ่นที่ 2 มีคนสนใจจำนวนมาก และจะคัดเหลือ 20 อาจจะเพิ่มรุ่น และเพิ่มจำนวน โดยจะมีการอบรมระหว่างวันที่ 26-28 ม.ค. ซึ่งความสนใจจำนวนมาก อาจจะพิจารณาจัดเพิ่มเติมในรุ่นต่อๆ ไป 

ปัญหา“ฟ้องปิดปาก”ยังปรากฎในวงการ

ทางด้าน วีระศักดิ์ โชติวานิช มองสถานการณ์สื่อตามรายงานของปี 2566 ที่สื่อตกเป็นเป้าถูกฟ้องร้อง ถูกแทรกแซงการทำงาน แม้กระทั่งถูกทำร้ายว่า ในบริบทวิชาชีพ สื่อไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ไม่ใช่คู่กรณี และพยายามหลีกเลี่ยงการพิพาทในการทำหน้าที่ กรณีถูกกระทำ ก็มักจะอดกลั้น เพราะไม่ต้องการเป็นโจทก์ไปฟ้อง สื่อส่วนใหญ่จึงตกเป็นจำเลย กรณีไปฟ้องกลับมีน้อยมาก ที่ทำก็เพราะต้องปกป้องสิทธิตัวเองจริงๆ 

เขายกกรณี ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา มีสื่ออาวุโส ถูกคู่กรณีฟ้องแพ่งจากการนำเสนอข่าว โดยเรียกร้องค่าเสียหาย พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยให้สื่อนั้นๆ ยุติการนำเสนอข่าว ต่อมาในเบื้องต้นศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และห้ามนำเสนอข่าวคู่กรณีทุกเรื่อง ทำให้สื่อต้องยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ ถึง 2 ครั้ง โดยอ้างรัฐธรรมนูญ ในเรื่อง สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ทำให้ศาลเปลี่ยนคำสั่งที่ห้ามเสนอข่าวคู่กรณีทุกเรื่อง เป็นห้ามเสนอข่าวเฉพาะกรณีพิพาทกับคู่กรณีเท่านั้น

เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะกรณีที่สื่อจะตอบโต้ ถ้าถูกทำร้าย คือฟ้องอาญา พ้องแพ่งได้ แต่ก็มีปัจจัยคือ เวลาดำเนินคดีกับสือ ก็จะดำเนินคดีกับเจ้าของธุรกิจ หรือบรรณาธิการ(บก.) แม้ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองการทำหน้าที่สื่อ พ.ร.บ.การพิมพ์ ถูกยกเลิกไปแล้ว

บก.ที่เคยถูกสันนิษฐานว่าจะต้องรับผิดต่อบทความที่สื่อนำเสนอ โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่า มีส่วนร่วมหรือไม่ ไม่ว่าเจ้าของคอลัมน์จะเป็นใคร คนฟ้องต้องการให้ บก.รับผิดชอบ

เมื่อต่อมากฎหมายนั้นถูกยกเลิก และออกเป็นพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ทำให้ความรับผิดของ บก.หมดไป แต่ก็ยังเกิดปัญหา จากกรณีตัวอย่าง อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่มียศทหาร ฟ้องร้อง บก. ฟ้องร้องเจ้าของสื่อด้วย แต่ที่สุดศาลฎีกาได้ยึดแนวทางเดิม คือโจทก์ต้องมีหน้าที่ในการพิสูจน์ว่า บก.มีส่วนรู้เห็นอย่างไร เพราะใน พ.ร.บ.จดแจ้งฯ ไม่ได้กำหนดให้ บก.รับผิดโดยข้อสันนิษฐาน

ขณะที่อีกส่วน เมื่อสื่อจะโต้กลับในคดีอาญา กรณีผู้สื่อข่าวถูกทำร้ายร่างกายคือผู้เสียหาย ส่วนเจ้าของสื่อ และบก.ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีสิทธิฟ้อง

ส่วนกรณีนักข่าวลงพื้นที่ แล้วได้รับผลกระทบเมื่อถูกทำร้ายร่างกาย เวลาฟ้องร้องก็ต้องเห็นใจ ถ้าเจ้าของสื่อ และกองบก.ไม่ช่วยดูแลค่าใช้จ่ายดำเนินคดี ก็จะเกิดปัญหา เพราะผู้เสียหายที่แท้จริงคือผู้สื่อข่าว ซึ่งต้องเข้าใจว่าค่าตอบแทนในวิชาชีพนี้ไม่ได้มากนัก แต่ทำหน้าที่ด้วยจรรยาบรรณ จิตวิญญาณจริงๆ 

ขณะเดียวกัน การฟ้องคดีแพ่ง ก็สามารถฟ้องเรื่องการละเมิด กรณีถูกทำรายร่างกายได้ เช่นเดียวกันทั้งเจ้าของสื่อ กองบก.ก็ไม่สามารถมาเป็นโจทก์ฟ้องร้องได้ เว้นแต่กระทบโดยตรงเจ้าของ และ บก.จึงจะเข้ามาเป็นคู่ความได้

ความร่วมมือช่วยเหลือด้านกฎหมาย “สื่อ-ทนาย”

เขายังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพ และสภาทนายความ ได้ทำบันทึกข้อตกลงไว้นานแล้ว ไม่ว่านักข่าว กอง บก. เจ้าของธุรกิจ หากถูกฟ้องเรื่องการประกอบวิชาชีพ ไม่ว่าคดีแพ่ง คดีอาญา สามารถขอรับความช่วยเหลือจากสภาทนายความได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทางวิชาชีพทนาย

เมื่อถามถึงความเห็นเกี่ยวกับรายงานสถานการณ์สื่อของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 2566 ที่ระบุว่า เป็นปีของการปรับตัวของสื่อฯ ที่มีหลายหัวข้อ ยังพบปัญหาการแทรกแซง ริดรอน การแสดงความเห็นต่าง ถูกคุกคามทางวาจา ทางด้านสภาการสื่อพบประเด็นเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อฯ ระบุว่า หากเป็นในส่วนของสภาการสื่อฯ ไม่มาก และหาดูจากสถิติที่ทางสภาทนายความรับเรื่องขอความช่วยเหลือ ปี 2566 เท่าที่ทราบ มีประมาณ 5-6 คดี อาจเป็นได้ว่า สื่อเองได้แจ้งความร้องทุกข์โดยตรงในกรณีที่ถูกละเมิด จึงไม่ได้มาขอความช่วยเหลือ

เมื่อถามถึงกรณีสื่อถูกกล่าวหาละเมิดบุคคลที่สาม วีระศักดิ์ ระบุว่า ในช่วงหลังๆ เบาบางลง แต่ขณะเดียวกันเนื่องจากการทำหน้าที่ของสื่อ ในการปกป้องผลประโยชน์ประเทศย่อมหนีไม่พ้นการถูกตอบโต้โดยฟ้องปิดปาก แต่กลไกดำเนินคดีเรื่องที่สื่อไปขุดค้นมานั้น เท่าที่ปรากฎก็มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังต้องปรับปรุง โดยเฉพาะเรื่องข้าราชการทุจริต ถ้าสื่อไม่นำเสนอข่าว สังคมก็จะไม่รู้เลยว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศชาติ 

ต้องปรับตั้งแต่หลักสูตรการเรียนการสอน

ทางด้านนักวิชาการสื่อ รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ มีมุมมองต่อรายงานประจำปีของสมาคมนักข่าวฯ กรณีที่สื่อต้องปรับตัว โดยย้อนกลับไปตั้งแต่การปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัย สร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือเป็นไฟต์บังคับ แต่ละมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับให้ทันกับความเป็นไปของสภาพสื่อ หรือตลาดแรงงาน ที่สำคัญลึกๆ คือสังคมที่เปลี่ยนเป็นสังคมดิจิทัล มีการดิสรัปฯ ในเรื่องการรับสื่อในปัจจุบันค่อนข้างมาก เชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยมีการปรับหลักสูตร 

ทว่า ปัญหาใหญ่คือ ภาพรวมของสิ่งที่จะต้องเรียน ต้องสอน นอกจากเทคโนโลยีที่ทำให้คนประกอบวิชาชีพสื่อต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายแล้ว เหล่านี้ยังส่งผลต่อในมหาวิทยาลัยด้วยว่า จะสอนอะไรให้กับเด็กรุ่นใหม่ 

ยกตัวอย่าง เรื่องข่าวในปัจจุบัน ยังมีให้เห็นอยู่หรือไม่ ข่าวที่เป็นข่าวจริงๆ ไม่ได้เจือปนเรื่องธุรกิจ เรื่องแนวคิดค่านิยมที่เป็นการปลูกฝังเป็นการเฉพาะ ยังมีอยู่หรือไม่ 

คอนเทนต์มาแทนคำว่าเนื้อหาข่าว

ระยะหลังหากสังเกตดีๆ คำว่าข่าวมันแผ่วเบาลงไป แต่คำว่าคอนเทนต์มันมาแทนที่ ซึ่งคอนเทนต์ คือความหลากหลาย นี่คือจุดแรกด่านแรกในแวดวงวิชาชีพสื่อสารมวลชน เราจะสอนอะไรกัน ลำพังแค่แนวคิดว่า ข่าวยังมีอยู่หรือไม่ ถ้ามองลึกๆ เราบอกว่าสถานการณ์สื่อปี 2566 สมาคมนักข่าวฯ ให้นิยามว่าสื่อยังต้องปรับตัว จริงๆ ก็ปรับแล้ว ปรับอีก ปรับมาตลอด

ขณะที่ข่าวเชิงสืบสวนฯ เราพูดถึงกันทุกปี และในวิชาชีพ วิชาการ พวกเรารับทราบกันอยู่ เราเคยคิดกันหรือไม่ว่า สังคมยังต้องการข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนอยู่หรือไม่ มีคนที่ต้องการรับทราบเนื้อหาทำนองนี้มากน้อยแค่ไหน ที่จะทำให้สื่อเปลี่ยนทาง หันทิศทางจากเนื้อหาที่ประเดี๋ยวประด๋าวแนวดราม่า มาสนใจเรื่องนี้

ในมุมนักวิชาการที่สอน และติดตามเรื่องการทำข่าว เราอยากเห็นข่าวในแนวที่แตกต่างออกไปแล้วได้สาระ ได้ประโยชน์ ในบทบาทหน้าที่ของสื่อ ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายระแวดระวัง ที่ชวนคิดประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะทุกครั้ง ทุกปี ก็จะมีคนถามหาข่าวเชิงสืบสวนฯ แต่ในสภาพความเป็นจริง มันมีให้เห็นน้อยเหลือเกิน เพราะต้องลงทุน กำลังคน เวลา รวมทั้งทรัพยากรอื่นๆ

“ในความเป็นจริง ระดับผู้บริหารสื่อ ใหญ่ๆ ให้เลือกระหว่างทำข่าวที่มีคนดูเยอะๆ ได้ความนิยมตามมาในแง่เรตติ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องดัง ในธุรกิจซึ่งแข่งขันสูงมาก กับการจะต้องอดใจรอ เพื่อให้ได้เนื้อหาดีๆ แล้วมานำเสนอ เขาช่างน้ำหนักอย่างไร ถ้ามองในระดับคนติดตามข่าว เราย่อมหวังอยากได้อาหารที่ตามหา แต่ถ้ามองร้านอาหารที่จะทำอร่อย แล้วขายลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้จริงๆ จะมีซักกี่แห่งที่จะยอมลงทุนเพื่อให้คนมาซื้อแล้วคุ้มกับเขา” รศ.สุรสิทธิ์ ระบุ

ตั้งคำถามสังคมต้องการข่าวสืบสวนฯหรือไม่

รศ.สุรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า อยากชวนคิดว่าเอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่เราเรียกร้อง อยากให้มี อยากให้ทำ เหมือนเป็นกับดัก เหมือนมันย้อนแย้งระหว่างสิ่งที่ต้องทุ่มไป กับสิ่งที่จะได้คืนมา โดยหลักการที่สอนข่าวเชิงสืบสวนฯ อยากให้ทำข่าวแนวนี้มาก เรารู้ดีว่า มันต้องอดทนที่จะรอคอยในการเก็บข้อมูล ต้องตรวจสอบจนกระทั่งแน่ใจ ถึงจะนำเสนอมัน ต้องใช้คนที่มีความมุ่งมั่นไม่น้อยทีเดียว เพราะข่าวเชิงสืบสวนเป็นข่าวใช้สรรพกำลังในการขุดคุ้ยเรื่องที่เขาปกปิดเอาไว้ แต่เรานำมาเปิดเผยแล้วเป็นประโยชน์กับสังคม อยากให้ประชาชนช่วยกันคิดตามว่า มันมีเนื้อหาทำนองนี้ให้เราเห็นมากน้อยแค่ไหนในปัจจุบัน

ทั้งหมดทั้งมวลที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมา มันอยู่ในบริบทภูมิทัศน์สื่อที่มันเปลี่ยน การแข่งขันกับเรื่องเทคโนโลยีด้วย เพราะเทคโนโลยีมันมามากมาย สามารถใช้ได้ง่ายในการเข้าถึงข้อมูล ขณะเดียวกันก็อาจจะมาทดแทนบางอย่างที่คุ้นเคย  ขณะเดียวกันการแพร่ข่าวสาร ข้อมูลก็เข้าถึงอย่างรวดเร็ว มันมีเหรียญสองด้าน มีได้ มีเสีย

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราพบเห็นทุกวันนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันมันนำไปสู่เรื่องการแย่งชิงผู้ฟังผู้อ่านผู้ชม ยอดติดตามที่จะมองเห็นฟีดแบคกับผลสะท้อนกลับมาค่อนข้างจะรวดเร็ว จึงมองว่า เหมือนเรากำลังมีปัญหากับสภาพที่เป็นอยู่ในการปรับตัว ในแง่การแข่งขัน และภูมิทัศน์สื่อ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ข้อสังเกตระหว่างข่าวการประชุมสภาฯ กับเรื่องประเดี๋ยวประด๋าว เรตติ้งมันห่างกันต่างกันแบบถล่มทลาย และเราก็อยากทำข่าวดีๆ แต่เอาเข้าจริง แบบอื่นมันได้ยอดเร็วมาก

คนหน้าจอเติมความรู้-เตือนภัย ให้คนดู

อย่างไรก็ตามตนยังเชื่อว่า การเสพข่าวที่มีสาระกับข่าวประเดี๋ยวประด๋าว ก็มีทั้งคนที่เป็นกลุ่มเดียวกัน และเป็นคนต่างกลุ่ม ซึ่งในส่วนของกลุ่มเดียวกันสังเกตได้ว่า ที่เรารู้เรื่องเหล่านี้ เพราะเราติดตามข่าว ว่าเกิดอะไรขึ้น มีเหตุการณ์ใด จริงๆ แล้ว ถ้าเราจะแปลงสภาพ ว่ามีการรายงานข่าว เกาะติดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเติมแง่มุมในข่าวเชิงสืบสวนอีกนิดเนื่อง จากคนชอบอะไรที่มีสีสันสักนิด ดูแล้วไม่จืดชืดแบบแนวดราม่า  หามุมสักนิดที่จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ทั้งในเชิงแง่มุมข้อกฎหมาย สิ่งที่พึงระวัง ลักษณะเหมือนการเตือน ให้ความรู้ก็จะได้ประโยชน์ เหมือนเวลาขายของ ถ้าฮาร์ดเซลล์มากเกินไป บางทีคนก็หนี

ถ้าเราทำเรื่องสีสันในระดับที่คนสนใจ แต่ไม่ใช่เป็นเคสเอาคนในวงการบันเทิงมาไลฟ์อย่างเดียว เป็นเรื่องที่มนุษย์สนใจ แล้วให้พ่วงท้ายตามไปด้วยไอเดีย สาระในเรื่องการเตือนภัยสังคม เรื่องอันตราย จะเป็นในข่าวหรือสอดแทรก บทบาทพิธีกรสำคัญมาก เพราะสคริปต์มาอยู่มือแล้ว 

ผลสำรวจบอกว่าเวลาคนติดตามข่าว เนื้อหามาท้ายสุด สิ่งที่มาอันดับหนึ่ง กลายเป็นแอ็คชั่นของพิธีกร คือสีหน้า แววตา น้ำเสียง ความน่าเชื่อถือ ต่างๆที่ออกมา ถ้าตรงนี้เราแปลงให้เป็นดราม่าเพิ่มซักหน่อย ในการเตือนให้ตระหนัก อันตราย ในเวลาสั้นกระชับ แต่ได้แง่มุมที่จะเป็นประโยชน์ คือแปลงสภาพ จากฮาร์ดเซลล์ให้ดูซอฟต์ๆ ลงน่าจะเป็นศิลปะในการนำเสนอด้วย นอกจากฝีมือผู้ดำเนินรายการหรือพิธีกร โปรดิวเซอร์อาจจะมีส่วนในการช่วยกันคิด

มีการสำรวจกันในวงการสื่อระบุว่า ตัวผู้ดำเนินรายการ หรือผู้ประกาศ ถ้าคิดเป็น 100% จำนวนน่าจะประมาณเกินครึ่งหนึ่ง หรือถึง 80% ของน้ำหนัก พลังผู้ดำเนินรายการสำคัญมาก ในการทำให้คนรู้สึกว่า ยังต้องตรึงอยู่ 

ท้ายที่สุดทั้งหมดทั้งมวล ถ้าสามารถแปลงสภาพของพลังผู้ดำเนินรายการ ผู้ประกาศข่าว ผู้ดำเนินรายการ ในการอธิบาย ช่วงที่มีสีสันลักษณะตบท้าย วิธีการนำเสนอในรูปแบบที่เตือนภัย ให้แง่คิด บางครั้งอาจจะมีอินโฟกราฟิกเข้ามาเสริม เพื่อให้เป็นองค์ประกอบ อย่างเช่น กรณีเหตุที่สยามพารากอน ที่สื่อต่างประเทศนำเสนอข้อมูลในลักษณะเป็น Data Journalism เป็น Information มีข้อมูลที่เป็นลักษณะใบอนุญาตปืน ข้อกฎหมาย สถิติที่ผ่านมา เป็นอย่างไร ลักษณะการนำเสนอแบบนี้ แม้ไม่ได้เป็นเจาะลึกในลักษณะ Investigates  แต่เป็น Information คือเป็นการรายงานข่าวที่ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแค่สีสันแต่ได้ความรู้ ข้อคิดก็จะดี

สื่อยังมีบทบาทและความเชื่อถือในสังคม 

เมื่อถามว่าในปี 2567 สื่อจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง รศ.สุรสิทธิ์ มองว่าภายใต้การทำงานที่ยังยุ่งยากพอสมควร ไม่ง่ายที่จะอยู่รอดได้ในสภาพการณ์อย่างนี้ แม้ในรายงานจะมีแนวโน้มที่ีคนสนใจคนเป็นสื่อมากขึ้น ส่วนหนึ่งสังคมก็มองว่า สื่อยังมีบทบาทอยู่ แต่จะมองว่ามีบทบาทแบบไหน ในทางที่จะให้ข้อมูลความรู้ หรือเป็นเรื่องแนวเอนเตอร์เทนท์ หรือสร้างแรงบันดาลฯ แต่ยังเห็นได้ว่าสื่อยังมีบทบาท 

จึงอยากฝากว่า พยายามทำงานของเราให้ครบถ้วน ถ้าทำข่าวก็ต้องรอบด้าน เพราะที่ผ่านมาข่าวที่ไม่รอบด้าน มันนำไปสู่เรื่องที่ทำให้สังคมสับสน  อีกเรื่องสำคัญมาก ควรบาลานซ์ข้อมูลให้ได้ มีงานบางชิ้นทำดี แต่ปรากฏว่ามีข้อมูลฝ่ายเดียว โดยไม่ถามอีกฝ่ายหนึ่ง ก็จะนำไปสู่การตั้งคำถามของสังคมว่า เชื่อถือได้หรือไม่ เพราะความน่าเชื่อถือสำคัญที่สุด.