นักวิชาการชี้ ความน่าเชื่อถือสื่อสำคัญกว่า ไม่เป็นกลาง

“คำว่ากลางของสื่อ คืออะไร ?” ผลสำรวจความเป็นกลางของสื่อ ยังอยู่ในมุมบวกเกิน 50% ผอ.นิด้าโพลชี้ ภาพสะท้อนต่อสื่อมวลชนไทยสามารถนำไปปรับปรุงได้ หวังลดการรายงานข่าวปั่นกระแส สร้างดราม่า ห่วง 33.59% พบปัญหาสื่อลำเอียง ตัวเลขใกล้เคียงความเป็นกลางนิดเดียว ขณะที่ “นักวิชาชีพ” เผยปัญหาร้องเรียนการละเมิดสิทธิจากการนำเสนอข่าวยังสูง โดยเฉพาะคดีอาชญากรรม ด้าน “นักวิชาการสื่อ” สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อ – อัลกอริทึมยุคดิจิทัล ส่งผลข่าวกระจัดกระจายจนสื่อถูกมองเสนอข่าวไม่เป็นกลาง ชี้ความน่าเชื่อถือสำคัญกว่าการวัดความเป็นกลาง แนะแก้ปัญหาสื่อเลือกข้าง ด้วยข้อมูลที่สมดุลรอบด้าน

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “คำว่ากลางของสื่อ คืออะไร ?” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล วัฒนะชัย ยะนินทร อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ Content Editor & Webmaster ผู้จัดการออนไลน์ ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากกรณีศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “สื่อไหนเป็นกลาง ยกมือขึ้น” เกี่ยวกับเสรีภาพและความเป็นกลางของสื่อมวลชน ระหว่างวันที่ 21 – 24 พฤศจิกายน 2566 จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง จากกลุ่มประชาชนทั่วไป 

โดยมีผลสรุปว่า ความคิดเห็นของประชาชนถึงการทำข่าว หรือรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยในปัจจุบัน เรื่องความเป็นกลางในการทำข่าว หรือรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.70 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นกลาง รองลงมา ร้อยละ 32.06 ระบุว่า ไม่ค่อยเป็นกลาง ร้อยละ 13.90 ระบุว่า เป็นกลางอย่างมาก ร้อยละ 12.67ระบุว่า ไม่เป็นกลางเลย และร้อยละ 2.67 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ที่มาและวัตถุประสงค์ในการทำโพล เรื่อง “สื่อไหนเป็นกลาง ยกมือขึ้น” ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ อธิบายว่า เนื่องจากการทำหน้าที่ ผอ.นิด้าโพล ในทางวิชาการจึงต้องติดตามข่าวทุกวัน เพื่อนำมาจับประเด็นว่าสังคมคิดอะไร และนำมาตั้งคำถามโพล ในฐานะสื่อเก่า เรารู้กันอยู่ในใจว่า สื่อไม่มีทางเป็นกลางได้ 100% ยุคก่อนจะไม่มีลักษณะเอนเอียงเลือกข้างแบบชัดเจน จะนำเสนอหลายแง่มุม แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่เอนเอียงไปมุมเดียว ลักษณะเล่นกันเป็นแผง อีกทั้งช่วงหลัง มักสร้างประเด็นดราม่า เรื่องเหล่านี้ อยู่ในใจมานาน อยากรู้ว่าปัจจุบันประชาชนมองสื่ออย่างไร จึงเป็นที่มาของการทำโพลเรื่องนี้ 

ผศ.ดร.สุวิชา ระบุว่า การสำรวจครั้งนี้ เป็นการสำรวจจากสื่อมวลชนอาชีพ ที่เป็นสื่อกระแสหลัก หนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี รวมถึงออนไลน์ ไม่รวมถึงสื่อส่วนบุคคลจึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามว่า ดู ฟัง อ่าน สื่อทั้งหลาย รู้สึกอย่างไรกับการทำข่าว รายงานข่าว ก็พบว่า ร้อยละ 38.93 ระบุว่า ทำข่าว/รายงานข่าว เพื่อปั่นกระแส/สร้างดราม่า บางช่องเรื่องเล็ก ๆ กลับสร้างดราม่า 7 วันไม่จบ ช่วงหลังชอบปั่นกระแส สร้างดราม่ากัน 

ขณะที่ร้อยละ 30.69 ระบุว่า ทำข่าว/รายงานข่าว จากข้อมูลที่ยังไม่ตรวจสอบความจริง อันนี้สำคัญ เพราะการทำข่าวต้องเข้าถึงแหล่งข่าว สถานที่ เพื่อสัมภาษณ์ แต่ทุกวันนี้เอาข้อมูลที่มีคนโพสต์  เอาคลิปต่าง ๆ มาเสนอเป็นข่าว โดยไม่รู้จริงหรือปลอม แม้จะเข้าใจว่ายุคนี้มีเทคโนโลยีมาช่วยในการทำข่าว แต่คำถามคือ ในการนำข้อมูลมาใช้ แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นข้อมูลจริง ทั้งที่ใน 1 ข่าวต้องมีให้ครบทุกมุม ปัจจุบันจึงมีคนมองว่าสื่อเอาข้อมูลมานำเสนอโดยไม่ตรวจสอบความจริง อย่างกรณีการเสนอข่าวว่า แป้ง นาโหนด ถูกยิงตายบนเขา แต่เจ้าตัวกลับเผยแพร่คลิป อย่างนี้สะท้อนว่าไม่ได้ตรวจสอบก่อนนำเสนอ 

ร้อยละ 17.63 ระบุว่า ทำข่าว/รายงานข่าวอย่างไม่รับผิดชอบ หากมีความผิดพลาดในการนำเสนอข้อมูล ในทางวิชาการแม้จะไม่มากไม่น้อย แต่สำคัญ เวลาสื่อรายงานผิดพลาด ข้อมูลเท็จ สื่อจำนวนหนึ่งกลับนิ่งเงียบ ปล่อยผ่าน ให้คนลืมไปเอง ทั้งที่ควรรับผิดชอบ ชี้แจง แก้ไขสิ่งที่รายงาน ซึ่งสร้างผลกระทบ

ร้อยละ 14.81 ระบุว่า ทำข่าว/รายงานข่าว แบบไม่สนใจสิทธิของผู้อื่น ร้อยละ 14.05 ระบุว่า ทำข่าว/รายงานข่าว ไม่ให้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น บางคนไม่สนใจเลย ในข่าวเดียวกันบางช่องเบลอหน้า บางช่องไม่เบลอ หลักการคืออะไร 

ร้อยละ 13.82 ระบุว่า ทำข่าว/รายงานข่าว ที่สร้างความแตกแยก เกลียดชังในสังคม ผลสำรวจก็ระบุว่ายังมีลักษณะนี้ ตนเห็นว่าข่าวต้องแบ่งเป็น 2 อย่าง รายงานข่าวทั่วไป กับกลุ่มคอลัมนิสต์ นักวิพากษ์วิจารณ์ บางส่วนแม้จะมีเอนเอียงตามแนวคิดตัวเอง แต่กรณีสัมภาษณ์ก็ต้องบาลานซ์ทั้งสองฝ่าย 

ผอ.นิด้าโพล ระบุว่า ประชาชนบางส่วนก็มองโลกในแง่ดี โดยชมเชยการแก้ไขข้อมูล มองว่าสื่อจำนวนหนึ่งก็มีความรับผิดชอบ โดยร้อยละ 10.76 ระบุว่า ทำข่าว/รายงานข่าว อย่างรับผิดชอบ หากมีความผิดพลาดในการนำเสนอข้อมูล และร้อยละ 10.00 ระบุว่า ทำข่าว/รายงานข่าว เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งก็เห็นว่าสื่อจำนวนหนึ่งก็ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ แม้จะน้อยมาก และร้อยละ 9.47 เท่านั้นที่มองว่าทำข่าว/รายงานข่าว แต่ความจริง ร้อยละ 6.34 เท่านั้น ที่ระบุว่า ทำข่าว/รายงานข่าว ที่สร้างความสามัคคีในสังคม

ด้านเสรีภาพในการทำข่าวหรือรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยในปัจจุบัน ที่พบว่าตัวอย่าง ร้อยละ 39.08 ระบุว่า ค่อนข้างมีเสรีภาพ รองลงมา ร้อยละ 28.86 ระบุว่า มีเสรีภาพมาก รวมกันก็ 60-70% แล้ว ผอ.นิด้าโพล ระบุว่า ตนเห็นสอดคล้องว่า สื่อไทยมีเสรีภาพมาก เวลาเกิดคดีอาชญากรรม สื่อไทยถ่ายภาพเข้าถึงได้อย่างใกล้ชิดเกินเหตุ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสื่อเรามีเสรีภาพสุด ๆ จะมีแค่ร้อยละ 24.73 ระบุว่า ไม่ค่อยมีเสรีภาพ ร้อยละ 6.11 ระบุว่า ไม่มีเสรีภาพเลย

ความเป็นกลางของสื่อยังอยู่ในมุมบวก

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเป็นกลางในการทำข่าวหรือรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยในปัจจุบัน จะเห็นว่าคนไทยมองโลกในแง่ดีร้อยละ 38.70 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นกลาง รองลงมา ร้อยละ 32.06 ระบุว่า ไม่ค่อยเป็นกลาง ร้อยละ 13.90 ระบุว่า เป็นกลางอย่างมาก ร้อยละ 12.67 ระบุว่า ไม่เป็นกลางเลย ถ้าเอาส่วนที่ค่อนข้างเป็นกลางรวมกับเป็นกลางอย่างมาก ประมาณ 52% มองสื่อมวลชนปัจจุบันว่าความเป็นกลางยังอยู่ในมุมบวก

โพลครั้่งนี้สื่อมวลชนไทยสามารถหยิบส่วนใดของโพลไปปรับปรุงได้บ้าง ผศ.ดร.สุวิชา ระบุว่า ควรมองทั้งหมดในภาพแรก สื่อควรจะแฮปปี้ที่ตัวเองมีเสรีภาพ มีความเป็นกลาง แต่การมีเสรีภาพ ความเป็นกลาง กับการที่ประชาชนมองว่า เวลารายงานข่าวปั่นกระแส สร้างดราม่า เพื่อให้สามารถขายข่าวได้เรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ บางสื่ออาจจะชอบเพราะถ้าไม่สร้างดราม่าจะขายไม่ออก ก็ต้องปล่อยไป หรือร้อยละ 33.59 ระบุว่า ทำข่าว/รายงานข่าว อย่างลำเอียงซึ่งห่างกันนิดเดียวกับความเป็นกลาง 

คนในวงการสื่อก็อาจจะนำมาพินิจพิจารณาว่า ประชาชนมองอย่างนี้ การรายงานข่าวต้องลดดราม่าลงหรือไม่ ต้องรายงานทุกมุมหรือไม่ ควรตรวจสอบให้รอบด้านก่อนหรือไม่ หากล่าช้าไปสัก 5 นาที อะไรคือความจริงสื่อก็ควรรายงาน วิเคราะห์แบบไม่เอนเอียง 

ความเป็นกลางขึ้นกับทัศนคติผู้บริโภคสื่อ

ในมุมมองนักวิชาชีพ วัฒนะชัย ยะนินทร มองความเป็นกลางของสื่อในยุคนี้ว่า ยังเป็นคำถามในใจว่า ยังเป็นกลางอยู่ใช่ไหม คำว่าเป็นกลางของสื่อในยุคดิจิทัล อาจจะเป็นเหมือนแนวคิดหนึ่ง ที่เราอยากให้สื่อเป็นกลาง ไม่มีอคติในการนำเสนอข่าว หรือรายงานข่าว และสามารถเป็นกลางได้ หากไม่มีการใส่ความคิดเห็นไปในการรายงานข่าว

วัฒนะชัย เห็นด้วยกับข้อสังเกตที่ว่า รูปแบบการนำเสนอข่าวในสมัยก่อน โดยเฉพาะทีวี ผู้ดำเนินรายการจะใช้สคริปต์จากกอง บก. โดยมีหน้าที่นำข่าวที่กอง บก. กำหนดไปรายงานให้ประชาชนรับรู้ แต่ปัจจุบันขึ้นอยู่กับผู้ดำเนินรายการ 

“สมรภูมิข่าวทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะทีวี ที่เรื่องเรตติ้งเป็นหลัก ได้รับทราบข้อมูลจากพี่น้องในวงการว่า ข่าวนี้จะดราม่าอย่างไรขนาดไหน จะต้องขยายความให้ได้ ถ้าเสนอข่าวแบบไม่มีดราม่า ไม่มีคนดู ไม่มีเรตติ้ง ซึ่งส่วนหนึ่งผมก็มองในประเด็นของผู้ชมด้วยว่า มีส่วนสำคัญ เพราะผู้ชมก็ไม่รู้สึกเป็นกลาง ในการเลือกเสพข่าวที่ตัวเองชอบ ถ้าข่าวไหนดูแล้วชอบ ประทับใจ  ก็อาจมองว่าข่าวนั้นเสนอเป็นกลาง หรือข่าวนี้ไปกระทบบุคคลที่เราชอบ ก็อาจจะมองว่าไม่เป็นกลางก็ได้ อยู่ที่ฐานของผู้ชมที่เปลี่ยนไปในการเสพข่าว หรือผู้ดำเนินรายการทุกวันนี้ เล่าข่าวค่อนข้างใส่ความคิดเห็นส่วนตัวมาก ใส่อารมณ์ไปด้วย ทำให้ทุกวันนี้ข่าวก็เลยกลายเป็นเหมือนละคร เรื่องดราม่าไปแล้ว” วัฒนะชัย ระบุ

ธุรกิจสื่อก็เป็นปัจจัยสำคัญ วัฒนะชัย ระบุว่า เดี๋ยวนี้ถ้าทำรายการไม่มีเรตติ้ง รายการนั้นก็อาจจะถูกถอดในไม่ช้า เพราะไม่มีรายได้ พิธีกรก็อาจจะถูกเปลี่ยน  จึงมีส่วนผสมหลายอย่าง เราปฏิเสธสังคมตลาด การเสพข่าว หรือโฆษณาไม่ได้ เพราะการอยู่รอดของสื่อ บางครั้งก็ต้องอาศัยปัจจัยเหล่านี้ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้คือ ดราม่าทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เกินเลยไปมาก เช่นการนำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งทุกวัน ก็ต้องให้มันพอดี พอเหมาะ  มีส่วนผสมที่รู้สึกว่าเป็นข่าวจริงๆ ไม่ใช่ละคร

ขณะที่ปัจจัยเรื่องผู้ดำเนินรายการ วัฒนะชัย ยอมรับว่า มีอิทธิพลต่อคนดู ที่เป็นแฟนคลับ และส่งผลต่อเรตติ้ง เพราะการรายงานข่าวก็อยากทำให้กลายเป็นกระแสดึงคนดู ให้มีความรู้สึกร่วม แต่บางครั้งข้อมูลอาจจะเกินเลยไป 

สถานการณ์ร้องเรียนสื่อละเมิดยังมีสูง

สำหรับประเด็นสำรวจความเห็นในนิด้าโพล ที่มีผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 17.63 ระบุว่า ทำข่าว/รายงานข่าวอย่างไม่รับผิดชอบ หากมีความผิดพลาดในการนำเสนอข้อมูล วัฒนะชัย ระบุว่า ยังมีปรากฎการณ์นี้ จากเรื่องร้องเรียนที่ส่งเข้ามา โดยเฉพาะการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายพีดีพีเอ ขณะที่การร้องเรียนผ่านช่องทางสมาคมนักข่าวฯ ก็ได้ตักเตือนสมาชิกไปตามหน้าที่ของเรา

แม้จะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ถึงจำนวนร้องเรียน แต่สถานการณ์ก็มากขึ้น ในหลายสื่อหลายแพลตฟอร์มก็เกิดปัญหาในการนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลที่ผิดพลาด อาทิ ข่าวจากสตริงเกอร์ภูมิภาค ที่สื่อใช้ข้อมูลมาจากแหล่งเดียวกัน เมื่อผิดมาตั้งแต่ต้นทาง แล้วนำมาใช้ก็ผิดกันหมด แล้วยังถูกเผยแพร่ไปทางโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือการใช้ภาพประกอบข่าว ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ตัวอย่างการรายงานข่าวภาพหมูเถื่อน ที่ใช้ภาพร้านอาหาร ร้านค้า ที่ไม่เกี่ยวข้องก็ถูกร้องให้นำออก จึงต้องระมัดระวังการถูกฟ้องร้อง

“ในปีนี้ อาจจะมีข่าวหลายประเภท ที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างมาก ในส่วนที่ผมดูเรื่องเว็บไซต์ แจ้งเข้ามาเกือบทุกวัน ว่าละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล บ้าน ที่อยู่ ชื่อตัวเอง ชื่อญาติ โดยเฉพาะข่าวอาชญากรรม บางคนเป็นผู้ต้องหาสื่อก็อยากเปิดเผยชื่อให้สังคมรับรู้ แต่ก็มีกฎหมายว่า เราไประบุหน้าตา ที่อยู่เขาไม่ได้ เขายังไม่ถูกตัดสิน อันนี้มีมากขึ้นกว่าปีก่อน ๆ เยอะ” 

ความเป็นกลางไม่มีอยู่จริง องค์กรสื่อยังห่วง

เรื่องความเป็นกลางของสื่อจากผลสำรวจ วัฒนะชัย ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าปัจจุบันแทบไม่มีอยู่จริง เป็นเหมือนแค่แนวคิดทฤษฎีหนึ่ง ที่เราอยากให้มี แต่บางสื่อเลือกข้างตามกลุ่มเป้าหมายที่เขาต้องการนำเสนอ จึงกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม เพียงแต่ความเป็นสื่อวิชาชีพแม้ว่าจะเลือกข้างไหน แต่ก็ต้องรายงานข่าวด้วยการยึดหลักวิชาชีพ การไปกำหนดว่าต้องเป็นกลาง สื่อปัจจุบันก็คงไม่ฟัง เพราะมีปัจจัยเรื่องเรตติ้ง เรื่องรายได้เป็นหลัก

“เราพยายามพูดคุยกันในวงการสื่อหลัก ในกลุ่มสมาชิกที่เป็นสื่อวิชาชีพ หากมีอะไรที่ผิดพลาดในการนำเสนอข่าว ก็ตักเตือนกันในกลุ่มวิชาชีพ พยายามจะให้องค์กรสื่อช่วยกันส่งเสริมคุณภาพข่าวดี ๆ ที่มีคุณภาพ เราพยามส่งเสริมเรื่องนี้ เชิดชูกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกวดข่าว ที่อยากให้เกิดขึ้นในสังคม ในแวดวงสื่อมวลชนของเรา” วัฒนะชัย ทิ้งท้าย

พฤติกรรมผู้บริโภคสื่อ-อัลกอริทึม ส่งผล 

ในมุมมองนักวิชาการด้านสื่อ ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม มองผลสำรวจนิด้าโพลว่า ไม่ค่อยแปลกใจเพราะเป็นสถานการณ์ที่เราถกเรื่องนี้กันมาหลายครั้งแล้ว ก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่จริง แต่มองอีกครั้ง ก็ทราบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคเอง เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลกับสิ่งที่เกิดขึ้น

“ก็เป็นพฤติกรรมของผู้รับสารยุคนี้เหมือนกัน ที่ในบางเรื่อง พอสิ่งที่สื่อนำเสนอ ในบางมุมอาจไม่ตรงกับความคิดเห็นของเขา ก็จะถูกมองว่าไม่เป็นกลางได้ทันที คนสื่อก็มักจะได้ยินคำนี้ ทั้งที่นำเสนอทั้งสองฝ่าย แต่ก็จะถูกมองว่าลำเอียง หากได้ดูเพียงข้อมูลอีกฝ่าย ก็จะถูกว่าสื่อลำเอียง นั่นเป็นเพราะรูปแบบของการสื่อสารยุคดิจิทัล ข่าวจึงเป็นชิ้น ๆ กระจัดกระจาย ไม่ได้รวมกันครบถ้วน มีข้อมูลรอบด้าน จบอยู่ในชิ้นเดียว เหมือนอ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี” 

ผศ.ดร.สกุลศรี ชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้เราจะพบคอนเทนต์เยอะมาก ที่ทำแยกคนละเรื่อง คนละมุม จริงๆ ถ้าคนดู คนอ่าน ได้ครบทุกชิ้นก็จะรู้ว่า สำนักข่าวพยายามที่จะมีมุมมองหลาย ๆ ด้านประกอบกัน และในยุคนี้เวลาที่สื่อนำเสนอข่าว ที่ต้องแข่งกับความเร็วเพื่อตอบสนองความเป็นดิจิทัลด้วย ก็จะออกมาเป็น Breaking News ข่าวเร็ว ๆ ก่อน ที่จะมีเนื้อหาเพิ่มเติมบริบทเข้ามา มีเรื่องราวมากขึ้น มีมุมมองหลากหลายมากขึ้น 

“แต่ปัญหา คือคนไม่ได้เห็นครบชิ้น ที่สำนักข่าวพยายามทำ เพราะฉะนั้นก็เป็นไปได้ที่การเห็นข่าวบางชิ้น บางมุม ที่ตรงหรือไม่ตรงกับความรู้สึกของคนอ่าน คนดู ก็ทำให้เกิดความรู้สึกได้ว่า สื่อลำเอียงหรือไม่ เพราะฉะนั้นก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับสำนักข่าวเช่นกัน เพราะบางครั้ง ข่าวที่ขึ้นมาในฟีดโซเชียลมีเดียของเรา อาจจะไม่ใช่ข่าวทั้งหมด ที่สำนักข่าวทำ ถ้าเราสนใจว่าข่าวของสำนักข่าวไหน ดูแล้วน่าสนใจ เราลองตามเข้าไปอ่านในเพจ ในเว็บไซต์ของเขาเพิ่มเติม ว่ามันมีข้อมูลอื่นๆ หรือไม่” นักวิชาการสื่อ สะท้อนปัญหาพร้อมทั้งมีข้อแนะนำ

สื่ออาชีพยังพยายามรักษาความเป็นกลาง

ผศ.ดร.สกุลศรี ระบุว่า จากประสบการณ์ที่เคยเป็นสื่ออาชีพ และยังอยู่ในแวดวงและทำงานกับสื่อมวลชนอยู่ ได้เห็นความพยายามของสำนักข่าว ที่จะรักษาคำว่าเป็นกลาง เพราะความเป็นกลางในที่นี้ อาจไม่ได้เป็นกลางแล้วถูกใจใครทุกคน 100% แต่ในความเป็นกลางก็คือ ความสมดุลของข้อมูล ในกระบวนการที่พยายามรวบรวมข้อมูล และนำเสนอข้อมูลนั้น ไม่ได้ตัดสินในข่าวนั้นทันทีว่า ใครถูกใครผิดใครดีหรือไม่ดี แต่เรานำชุดข้อมูลจากหลาย ๆ ด้าน มาประกอบเป็นจิ๊กซอว์รวมกันในข่าวของเรา เพื่อให้ผู้รับสารสามารถใช้ข้อมูลนั้นประกอบในการตัดสินใจได้

ถ้าเรื่องไหนที่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับคนหลายกลุ่ม มีคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นหลาย ๆ กลุ่มก็จำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลจากทุกฝ่ายให้รอบด้าน แต่ถ้าเรารู้ว่าจะผลักดันประเด็นไหน แล้วทำเฉพาะมุมเดียว ด้านเดียว โดยที่ลืมคิดไปว่า จริง ๆ แล้วมีมุมของฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ถ้าเราลืมทำสิ่งเหล่านั้นไป เราจะต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่า ความสมดุลมันหายไป 

แก้ปัญหาสื่อเลือกข้าง ด้วยข้อมูลที่สมดุล

ต่อข้อถามถึงประเด็นสื่อที่เลือกข้าง ผศ.ดร.สกุลศรี ระบุว่า เรื่องนี้ ปฏิเสธไม่ได้ เพราะไม่ใช่แค่บริบทในเมืองไทยที่มีสื่อเลือกข้าง สื่อตะวันตกเอง เวลาจะสนับสนุนฝ่ายไหน ก็ประกาศชัดเจนว่ายืนอยู่ข้างไหน ฝ่ายไหน ส่วนเราถึงไม่ประกาศ แต่ก็ชัดเจนอยู่ ก็รู้กันอยู่ แต่ปัญหาคือ สื่อที่เลือกข้างในการทำงาน ในบริบทของความเป็นวารสารศาสตร์ ต่อให้เลือกข้างก็ยังต้องมีข้อมูลจากหลายฝ่ายมาประกอบกันเพราะมันคือชุดข้อมูล ที่ทำให้คนได้รับข้อมูลที่หลากหลาย ส่วนเรื่องของทัศนคติ จุดยืนการสนับสนุนมันมี แต่เราก็จะนำเสนอเฉพาะมุมของด้านที่เราสนับสนุนอย่างเดียว ก็ไม่ถูกหลักจริยธรรมที่ควรจะเป็น เพราะหน้าที่ของสื่อคือ การรวบรวมข้อมูลที่หลากหลาย แล้วเราก็ไม่มีหน้าที่ตัดสิน ว่าใครเป็นอย่างไร แต่มีหน้าที่ให้ข้อมูลให้มากพอที่สังคมจะใช้เป็นชุดข้อมูล ที่ตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมว่านั่นคือหน้าที่เรา

ขณะที่การกำหนดประเด็นข่าว ผศ.ดร.สกุลศรี มองว่า ปัจจุบันกองบก. กับนักข่าว รวมถึงผู้ดำเนินรายการข่าว สามารถกำหนดประเด็นร่วมกันได้ นักข่าวในภาคสนามก็ต้องถูกฝึกให้มีทักษะในการคัดเลือกข้อมูลข่าวสาร การตัดสินใจในข้อมูลนั้น ๆ ตั้งแต่กระบวนการหาข่าวเพราะนักข่าวสามารถรายงานได้จากพื้นที่ ฉะนั้นนักข่าวไม่เฉพาะต้องมีทักษะในการรวบรวมข่าว และรายงานข่าวเท่านั้น แต่ต้องมีทักษะในการบรรณาธิกรณ์ข่าวอยู่ในตัวด้วย ก็คือ คัดเลือก ตัดสินข้อมูลข่าวได้ 

เช่นเดียวกับ ผู้ประกาศ ที่ไม่ใช่ยุคอ่านตามสคริปต์ แต่เป็นการเล่าข่าว เพราะฉะนั้นก็จะมีจังหวะที่แสดงความคิดเห็น ซึ่งจะพบตลอดเวลาในการเล่าข่าว แต่การแสดงความคิดเห็นนั้น ต้องเอาตัวเราออกจากเรื่องนั้น ๆ ทุกคนรู้ว่าตัวเองมีจุดยืนอะไร สนับสนุนใคร อยู่ฝ่ายไหน แต่เวลาปฏิบัติหน้าที่ ต้องเอาตัวเราเองออกไป และใช้ข้อมูลที่มีในมือให้มากที่สุด วิธีการที่จะลดความอคติส่วนตัว คือพยายามมีข้อมูลอยู่ในมือให้มากที่สุด และทุกครั้งที่จะแสดงความเห็น หรือนำเสนออะไร ให้มีหลักฐานอ้างอิงข้อมูลนั้น ๆ ประกอบ เพราะเวลาที่มีข้อมูลประกอบ ก็จะลดความเห็นส่วนตัวลงไปโดยปริยาย ลดความสุ่มเสี่ยง ด้วยเพราะมันมีข้อมูลอ้างอิง ซึ่งถือเป็นหลักพื้นฐาน แม้กระทั่งสัมภาษณ์ ก็ควรตั้งคำถามถามกลับ ผู้ถูกสัมภาษณ์ว่ามีข้อมูลสนับสนุนหรือไม่ อย่างน้อยก็จะลดทัศนคติส่วนตัวลงไป และสร้างความน่าเชื่อถือได้ 

ความน่าเชื่อถือสำคัญกว่าการวัดความเป็นกลาง

ผศ.ดร.สกุลศรี เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญมากกว่าความเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง ยากมากในความรู้สึกของคนอ่านคนฟัง และของตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่วัดได้อย่างชัดเจน คือความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะมาจากข้อมูลที่นำเสนอ และกระบวนการที่ได้มาของข้อมูล และวิธีการนำเสนอออกไป เป็นอารมณ์ หรือเป็นไปด้วยเหตุผล หากเป็นเหตุเป็นผลจะมีการอธิบายบริบทเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งทำให้ความน่าเชื่อถือสูง  แต่ถ้านำเสนอแล้วมีแต่อารมณ์ความรู้สึก ความน่าเชื่อถือก็จะหมดไป 

สำหรับความเป็นกลางของสื่อ ที่มีตัวเลขจากผลสำรวจ ความเป็นกลาง รวมกับเป็นกลางอย่างมาก ประมาณ 52% ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าวว่า ก็ยังอุ่นใจได้ ในภาวะที่อัลกอริทึมก็มีผลกับการสกรีนข้อมูลให้คน และคนก็มีความคิดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่คนครึ่งหนึ่งยังมองว่า สื่อนำเสนอได้เป็นกลาง เราก็จะต้องยึดหลักนี้เอาไว้ว่า สิ่งที่เราทำ แล้วคนรู้สึกว่าเป็นกลาง เรายังทำได้อยู่ และทำให้มันชัดเจนขึ้นเพราะสุดท้ายมันคือจุดยืนเรื่องความน่าเชื่อถือของสำนักข่าว

ให้คะแนน 7 เต็ม 10 เรื่องความรับผิดชอบ

ขณะที่ความรับผิดชอบต่อสังคมของสื่อ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย หากเทียบสถานการณ์กับปีที่ผ่านมา จะให้คะแนนอย่างไร ตอบว่า ผศ.ดร.สกุลศรี ระบุว่า ถ้าเต็ม 10 ปีนี้อาจจะให้ประมาณ 7 เพราะเรายังเห็นว่า  ความหลากหลายของข่าวที่มีประโยชน์กับสังคมอาจจะยังไม่มากพอ แต่มีความพยายามในลักษณะการเช็คประเด็น การกลัวตกข่าวก็มีน้อยลง ก็ฉีกประเด็นในมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งเริ่มเห็นแล้วในฐานะที่เป็นกรรมการตัดสินการประกวดข่าว มีข่าวที่ประเด็นหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ปีที่แล้วอาจจะได้ 5 แต่ปีนี้ขึ้นมา 7

ขณะที่อีกด้าน เราก็อาจจะยังเห็นข่าวดราม่า ที่ผลิตซ้ำความรุนแรงอยู่  ข่าวประเภทที่ตามคนมีชื่อเสียง คนที่เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด ใครพูดอะไรในออนไลน์ ก็หยิบมานำเสนอ โดยไม่มีขยายความ ต่อยอด ยังเห็นว่ามีค่อนข้างมาก รวมถึงข่าวที่พยายามเรียกยอดวิวยอดไลค์โดยไม่มีเหตุผลในการนำเสนอ 

“เพราะความรับผิดชอบไม่ได้หมายความว่า เรานำเสนอความจริงเท่านั้น ยุคนี้การนำเสนอความจริงแล้ว ทำให้คนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวแล้วเอาไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งการเปิดประเด็นใหม่ๆ ที่สังคมควรสนใจ ยังไม่มีคนพูดถึง ก็จะเป็นการกำหนดวาระข่าวสารในสังคมอย่างชัดเจน ซึ่งเรายังเห็นอยู่น้อย ถ้าปีหน้าพัฒนาตรงนี้ได้อีก คะแนนก็จะเพิ่มขึ้น” ผศ.ดร.สกุลศรี ทิ้งท้าย.