50ปี ‘14ตุลา16’ เสรีภาพสื่อยังต้องผลักดันต่อ ‘ยุคดิจิทัล’ ความคาดหวังยิ่งสูงกดดันให้ต้องเร่งปรับตัว สื่อรุ่นใหญ่ระบุสิทธิการสื่อสารในสังคมควรจะพัฒนาดีขึ้นกว่านี้ องค์กรสื่อและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคต้องรวมตัวช่วยกัน
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาองค์กรของผู้บริโภค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) และสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS จัดงาน Media Forum #20 50 ปี “14 ตุลา 2516 กับสิทธิการสื่อสารในสังคมไทย” ณ ชั้น 5 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) และถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก ThaiPBS, Cofact โคแฟค, สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสภาองค์กรของผู้บริโภค
ผศ.ดร.ชยกฤต อัศวธิตานนท์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต้อนรับ โดยระบุว่า ถึงแม้จะผ่านมา 50 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยังให้บทเรียนอะไรไว้บ้าง ซึ่งงานในครั้งนี้จะได้รับฟังมุมมองต่อเหตุการณ์ที่เชื่อกันว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของประชาชนเมื่อครึ่งศควรรษที่แล้วจากคนทั้ง 5 รุ่น โดยเฉพาะในมิติสิทธิเสรีภาพทางการสื่อสารในสังคมไทย
“ในการจัดเสวนาครั้งนี้ ผมรู้สึกได้ถึงความตั้งใจของผู้จัดที่จะนำเสนอความรู้ที่สำคัญให้กับผู้เข้าร่วมทุกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับความรู้และมุมมองที่แตกต่างหลากหลายจากงานเสวนาในวันนี้ ในนามของวิทยาลัยนวัตกรรม เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสได้เปิดพื้นที่วิทยาลัยให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและสังคมต่อไป” ผศ.ดร.ชยกฤต กล่าว
น.ส.นาตยา เชษฐโชติรส รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านมา 50 ปี หากเทียบเป็นมนุษย์ก็เข้าสู่วัยกลางคนแล้ว เช่นเดียวกับตนที่เฝ้ามองสังคม ทั้งในฐานะสื่อและในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่ง ซึ่งได้สัมผัสทั้งความก้าวหน้าในทิศทางที่ดีและอุปสรรคความท้าทายที่ยังต้องเผชิญอยู่ ในประเด็นสิทธิเสรีภาพการสื่อสารในสังคมไทย อันเป็นหัวข้อหลักในการเสวนาครั้งนี้
รองประธานสภาการสื่อมวลชนฯ กล่าวว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นสัญลักษณ์ของสังคมไทย เมื่อนักศึกษาและประชาชนลุกขึ้นมาทวงถามหาเสรีภาพ ซึ่งรวมถึงเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ที่ทำหน้าที่คานดุลกับอำนาจรัฐ ในขณะที่สื่อกระจายเสียงและโทรทัศน์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างเข้มข้น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของสิทธิเสรีภาพ แต่ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โศกนาฎกรรมที่สื่อของรัฐถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ จากนั้นยังมีการออกประกาศ ปร.42 มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ กระทั่งในอีกทศวรรษถัดมาจึงเข้าสู่ยุคปรองดองและการเปิดเสรีสื่อ เวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันที่เปลี่ยนผ่านจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เข้าสู่ยุคดิจิทัล สมาร์ทโฟน สื่อสังคมออนไลน์ จนล่าสุดคือปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ-AI) ที่กำลังเข้ามาทำหน้าที่บางประการแทนสื่อมวลชน ซึ่งมีทั้งเรื่องน่าตื่นเต้น น่าตระหนก และเป็นความท้าทายในยุคที่การแข่งขันสูง
“แม้ภาพรวมสื่ออาจมิสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่ความคาดหวังของสังคมไทยก็ยังไม่ลดลง และยิ่งมากขึ้นในภาวะความสับสนของข้อมูลข่าวสารที่ผู้บริโภคต้องการความจริง แต่ใครจะเป็นคนกลั่นกรองข้อเท็จจริงนั้น แน่นอนคือบทบาทของสื่อมวลชน เราจึงมีคำถามว่าผ่านมา 50 ปีแล้ว สื่อมวลชนยังคงทำหน้าที่เป็นฐานันดรที่ 4 ในการนำเสนอความจริงได้อย่างเข้มข้นเช่นเดิมหรือไม่” รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมาหลายสิบปี จะเห็นว่าสื่อมิสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่กำลังเห็นในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งสื่อมวลชนที่เป็นวิชาชีพ Influencer Content Creator จนถึงทุกคนที่ทำหน้าที่สื่อสาร ซึ่งจะมีความเข้มข้นที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ผู้บริโภคอยากเห็นและคาดหวัง คือความจริง ถูกต้องและเป็นธรรม ที่จะต้องให้กับทุกคน
ซึ่งท่ามกลางเสรีภาพ ความรับผิดชอบ จริยธรรมต่างๆ ต้องตามมา รวมถึงปัญหาที่มากับยุคดิจิทัล ล่าสุดแม้แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคก็ยังถูกปลอมบัญชีไลน์ หรือเป็นเรื่องน่าคิดว่าเพจเฟซบุ๊กของสื่อหรือของบุคคลต่างๆ จะรู้ได้อย่างไรว่านั่นคือเพจจริง เพราะเราอยูท่ามกลางความซับซ้อน ความเปลี่ยนแปลง และอิทธิพลที่มีมากในทางดิจิทัล เช่น อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงก็ต้องพยายามอย่างมากเพื่อให้ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสังคมทุกวันนี้กระจายเป็นกลุ่มเฉพาะย่อยๆ เต็มไปหมด
“แม้กระทั่งความเปลี่ยนแปลงที่ควรจะเดินไปข้างหน้าก็ยังเป็นเรื่องยาก ยกตัวอย่างเรื่องโลกร้อน เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ทุกคนไม่ว่าเป็นใครก็ควรจะเห็นร่วมกัน เราอยู่ท่ามกลางบรรยากาศการทำงานที่ยากขึ้นโดยถ้วนหน้า เพราะฉะนั้นก็หวังว่าสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน จะเป็นพลังขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงในส่วนเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็งต่อไป” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว
นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และอดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “มองสื่อไทย 5 ทศวรรษ จากฐานันดรที่สี่สู่วารสารศาสตร์ยุคเอไอ เรามาไกลหรือยัง?” ฉายภาพสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารในประเทศไทยที่ลุ่มๆ ดอนๆ เปลี่ยนไป-มา ตามแต่บริบททางการเมืองในขณะนั้น เช่น ในทศวรรษ 2480-2490 บางยุคมีการเพิ่มสิทธิในการพิมพ์ การจัดตั้งพรรคการเมือง การชุมนุมสาธารณะ แต่บางยุคก็มีการตัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ออกไป หรือแม้แต่ถึงขั้นลอบสังหารนักการเมืองฝ่ายค้านและสื่อมวลชน
พอล่วงเข้าสู่ปี 2500 เข้าสู่ยุคเผด็จการทหารอย่างยาวนานหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจากนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นผู้สืบทอดอำนาจ ถูกเรียกว่ายุคมืด มีการจับกุมคุมขังคนทำงานสื่อเป็นจำนวนมาก และมีการออกมาตรา 17 ให้อำนาจผู้นำรัฐบาลสั่งการใดๆ ก็ได้ ขณะที่การร่างรัฐธรรมนูญก็ล่าช้า อีกทั้งเมื่อประชาชนโดยเฉพาะนิสิต-นักศึกษาเรียกร้องทวงถามกลับถูกจับกุม ในที่สุดประชาชนก็ไม่ทนอีกต่อไปและนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
แต่เสรีภาพก็เบ่งบานเพียงสั้นๆ เพียง 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งจบด้วยการรัฐประหาร มีการสั่งปิดและควบคุมสื่อด้วยประกาศ ปร.42 ส่วนใครที่ทนไม่ได้ก็ต้องหนีเข้าป่าไป กระทั่งต่อมา รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกนโยบาย 66/23 ทำให้คนที่หนีเข้าป่าได้กลับออกมาอยู่ในสังคม ตามด้วยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีการยกเลิกประกาศ ปร.42 เสรีภาพสื่อกลับมาอีกครั้ง แต่ในปี 2534 รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ก็ถูกรัฐประหาร ตามด้วยการเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 ซึ่งเหตุการณ์นี้นำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญ 2540
โดย รธน.40 ถูกเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ท่ามกลางกระแสสังคมยังตื่นตัวด้านสิทธิเสรีภาพมากขึ้น รวมถึงด้านการสื่อสาร นำไปสู่การมีกฎหมายข้อมูลข่าวสารของรัฐ กฎหมายจัดสรรคลื่นความถี่ จากนั้นก็เกิดรัฐประหารในปี 2549 ก็มีกฎหมายใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.องค์กการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ดูเหมือนจะมีเสรีภาพ แต่ก็มีกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง เกิดขึ้นด้วย
ในทศววรษ 2550-2560 เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน มีการเปิดประมูลช่องทีวีดิจิทัล ขณะที่สื่อออนไลน์ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น “จากสื่อกระดาษสู่สื่อกระจก” แต่สิ่งที่ตามมาคือการแข่งขันทางธุรกิจเพื่อความอยู่รอด ถูกพูดถึงมากกว่าการผลิตเนื้อหาอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็มีสำนักข่าวออนไลน์บางแห่งที่ได้รับการยอมรับ เช่น สำนักข่าวอิศรา ถึงกระนั้น ด้วยความที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มของต่างชาติ จึงมีความกังวลเรื่องอธิปไตยทางไซเบอร์ กระทั่งหลังรัฐประหาร 2557 ก็มีกฎหมายใหม่ๆ อย่างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เป็นต้น
แต่โดยสรุปแล้ว กฎหมายต่างๆ ที่ออกโดยภาครัฐ มักมุ่งควบคุมจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มากกว่าจะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ อีกทั้งสื่อและประชาชนยังเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ยาก เพราะระบบรัฐยังปิดและชั้นความลับยังมีผลมาก ขณะที่บทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อ แม้จะเติบโตขึ้นมาเป็นลำดับแต่ก็มีบทบาทจำกัดในการรักษามาตรฐานทางจริยธรรมและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกับสื่อที่ถูกตั้งคำถามเรื่องจริยธรรม ส่วนพลังของสังคมก็ยังใม่แข็งแรงพอ แม้เทคโนโลยีจะทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้นก็ตาม
และสุดท้าย 50 ปี 14 ตุลา ให้บทเรียนอะไร? กับใคร? ให้บทเรียนกับทุกฝ่าย 1.ผู้มีอำนาจรัฐ หากใช้อำนาจล้นเกิน ใช้อำนาจโดยมิชอบ ปิดกั้นเสรีภาพ ปิดปากสื่อ ในที่สุดก็ไปไม่รอด ประชาธิปไตย เสรีภาพภายใต้ความรับผิดชอบจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด 2.สื่อมวลชน ต้องทำให้เกิดสำนักข่าวอิสระที่เข้มแข็ง ดำเนินบทบาทไปอย่างเข้มข้นคู่ขนานกับสื่อกระแสหลัก ทำให้วาระประชาชนคนเล็กคนน้อยถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นให้มากขึ้น ไม่ใช่เน้นแต่วาระของชนชั้นนำ ข่าวที่มีสาระควรมาแทนข่าวประโลมโลกหรือข่าวเรื่องแปลกพิสดาร
“สิทธิการสื่อสารในสังคม วารสารศาสตร์ยุคดิจิทัล ควรจะพัฒนาดีขึ้นกว่านี้ ความคาดหวังจึงอยู่ที่พลังอันเกิดขึ้นจากการรวมตัวขององค์กรสื่อและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้พลังความจริง พลังข่าวสาร พลังสื่อสารมวลชนทุกแขนง นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของพลังประชาชนในที่สุด” นายสมหมาย กล่าว
จากนั้นเป็นการเสวนา หัวข้อ “การทบทวนบทเรียนและก้าวต่อไปสู่ความจริงและความเป็นธรรม ผ่านมุมมองของคน 5 เจเนอเรชั่น” โดย นายกวี จงกิจถาวร กรรมการผุ้ทรงคุณวุฒิ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ชี้ 3 สถานการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน คือ 1.ข้อมูลข่าวสารท่วมท้น จากการเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ ส่งผลให้มีข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก แต่ขาดการกลั่นกรอง ไม่รู้ว่าข่าวไหนจริง-ปลอม ไม่ได้ประเมินคุณภาพข่าว คนทำข่าวเองจากเดิมในอดีตต้องลงพื้นที่เองจึงจะรายงานข่าวได้ แต่ทุกวันนี้สามารถรายงานผ่านข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์
2.ทักษะของคนข่าวในไทยยังต้องเพิ่มพูนอีกมาก ผู้สื่อข่าวในไทยชอบทำเพียงการรายงานเหตุการณ์สดๆ ณ ขณะนั้น เมื่อรายงานเสร็จแล้วก็จบไปวันๆ หนึ่ง หากไม่มีประเด็นเพิ่มเติมวันต่อไปก็ไม่รายงานอีก แม้ว่าปัญหาเดิมๆ ในสังคมที่เคยรายงานเป็นข่าวจะยังคงปรากฏอยู่ก็ตาม ทั้งนี้ คนทำข่าวต้องเข้าใจบริบทแวดล้อมของข่าวหรือสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่มีแนวคิดในต่างประเทศ แนะนำให้สำนักข่าวออนไลน์จ้างผู้สื่อข่าวอาวุโสทำหน้าที่บรรณาธิการ เพื่อให้การรายงานข่าวไม่ได้เน้นแต่ความเร็วอย่างเดียว และ 3.ปัญญาประดิษฐ์ คือศัตรูของสื่อ
“สถานการณ์ที่รุมเร้าอยู่ขณะนี้ทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งกองบรรณาธิการด้วยสภาพธุรกิจด้วย ล้วนแล้วเป็นปัจจัยที่ทำให้นักข่าวของเราจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อให้สมกับเสรีภาพที่เรามี แล้วอย่าไปโทษ เวลาเราไม่มีฝีมือชอบไปโทษสังคมไทยไม่มีเสรีภาพ สังคมไทยมีเสรีภาพแต่ขีดความสามารถของสื่อยังไต่ขึ้นไปเท่ากับเสรีภาพที่เรามีอยู่ไมได้ คือมันมีช่องว่าง บางประเทศไม่มีเสรีภาพเลยหรือมีนิดหน่อย แต่สื่อเขามีขีดความสามารถ อย่างสิงคโปร์ มีเสรีภาพแค่นี้ แต่ขีดความสามารถสื่อทัดเทียมกันก็เลยไม่มีช่องว่าง” นายกวี กล่าว
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) และประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปรียบเทียบประเด็นเสรีภาพสื่อใน 2 ยุคสมัย คือยุค 1970 (ปี 2513-2522) ทั่วโลกอยู่ในภาวะสงครามเย็น ประเทศต่างๆ แบ่งขั้วกันระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายสังคมนิยม และทั้ง 2 ฝ่ายมีการสู้กันด้วยข้อมูลข่าวสาร ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาก็อยากกำหนดวาระการสี่อสารของตนเอง
ส่วนยุคปัจจุบัน แม้จะมีสถานการณ์แบบเดียวกัน แต่แพลตฟอร์มออนไลน์ได้เปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่าง เช่นเดียวกับรูปแบบของปัญหาที่เปลี่ยนไป เช่น ข้อมูลคลาดเคลื่อน (Misinformation) ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ข่าวลวง (Fake News) หรือการเข้าสู่ยุคหลังความจริง (Post-Truth) หมายถึงไม่รู้แล้วว่าอะไรคือความจริง แม้สื่อจะยังถูกคาดหวังให้นำเสนอความจริง แต่บางครั้งสื่อก็เป็นผู้ปล่อยข่าวลวงเสียเอง เพราะไปติดกับดักข่าวที่ส่งต่อกันมาในพื้นที่ออนไลน์
“สุดท้ายในเชิงโครงสร้าง เรามาไกลหรือยัง? ในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้มา 20-30 ปี ตั้งแต่หลัง 2540 มาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่ควรจะเป็นเกือบทุกฉบับ มีกลไกที่ควรจะเป็นทุกกลไก กองทุน องค์กรกำกับดูแล กฎหมาย มีทุกอย่างที่ควรจะเป็นหมด ดีมากๆ กว่าหลายประเทศ ใครมาดูงานต้องชื่นชม แต่คนก็ยังบ่นอีกว่าทำไมมันยังไม่ดี ก็เลยไม่แน่ใจว่าคนไทยคาดหวังสูงหรือจริงๆ เราเดินทางยังไม่ถูกทางเสียทีเดียว หรือถูกทางแล้วแต่ยังต้องไปต่อ เช่น เราปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง แต่ที่มันไม่เปลี่ยนแปลง 100% คือเชิงวัฒนธรรมหรือเปล่า?” น.ส.สุภิญญา กล่าว
นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการ The Nation Online กล่าวถึงมีความท้าทาย แบ่งเป็น “สื่อกับมวลชน” 3 ประการ คือ 1.การสร้างความน่าเชื่อถือ (Trust) ซึ่งระยะหลังๆ สื่อถูกตั้งคำถามค่อนข้างมาก 2.บทบาทของสื่ออาชีพจะอยู่ตรงไหนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น มีการถกเถียงกันว่า Journalist กับ Content Creator สามารถรวมกันได้หรือไม่ และ 3.สื่อเป็นองค์กรธุรกิจ ในอดีตการปิดกั้นเสรีภาพสื่ออาจใช้อำนาจเถื่อน เช่น การเข่นฆ่าทำร้าย แต่ปัจจุบันมีความซับซ้อน เช่น ใช้สปอนเซอร์ ใช้ความเกรงใจต่างๆ ทำให้สื่อทำงานได้ลำบาก
ขณะที่ “สื่อด้วยกันเอง” ก็มี 3 ประการเช่นกัน คือ 1.เจเนอเรชั่นในวงการสื่อ ความเห็นจะไม่เหมือนกันในบางเรื่อง 2.ความท้าทายเรื่องนิยามว่าใครเป็นสื่อบ้าง เช่น ที่ปรากฏในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สื่อ หรือการตีความสื่อที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีทั้งการนับเฉพาะสื่อที่มีโครงสร้างแบบเดิม กับการนับรวมสื่อสังคมออนไลน์ และ 3.การรวมกลุ่มกันของสื่อเพื่อต่อรองอะไรบางอย่าง ซึ่งถูกต้องแล้วหากสื่อจะรวมกลุ่มต่อรองทั้งเรื่องเสรีภาพและธุรกิจ แต่หลายครั้งก็มีข้อสังเกตว่า องค์กรที่รวมตัวกันไม่ใช่ตัวแทนของสื่อจริงๆ
“โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีหลัง จะมีหลายๆ เคสที่คนด่าสมาคมสื่อ ผมก็จะพูดตลอดว่าคนด่าเพราะคนคาดหวัง แต่ในเวลาที่คนต้องการ คุณอยู่ไหน? ซึ่งมันไม่มีคำตอบ จนถึงขนาดที่มีการประชุมกันเพื่อจะจัดตั้งสมาคมสื่อใหม่ขึ้นมาที่มันตอบโจทย์เขา ไม่รู้เป็นความโชคดีหรือโชคร้าย ผมไปนั่งอยู่ในวงอย่างน้อย 3 วง ในการพยายามจัดตั้งการรวมตัวของสื่อขึ้นมา เพื่อต่อรองอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพและสวัสดิภาพของการทำงานข่าวในภาคสนาม การลงไปหาข้อเท็จจริง” นายพงศ์พิพัฒน์ กล่าว
น.ส.อัญชัญ อันชัยศรี Digital Journalist สำนักข่าว Workpoint Today กล่าวว่า ตนเกิดในยุคอนาล็อกแต่ทำงานในยุคดิจิทัล พบความแตกต่างในการ “ดันเพดาน” ข่าวสารในบางเรื่อง แต่ผลคือการสื่อหลายสำนักถูกฟ้อง ไปจนถึงมีการติดตามข่มขู่ผู้สื่อข่าวและสำนักข่าว ซึ่งตนไม่สามารถนิยามว่าเป็นการจำกัดสิทธิหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วมีเสรีภาพในการนำเสนอ แต่เมื่อนำเสนอแล้วก็ต้องรับผลที่ตามมา ส่วนคำถามว่าอนาคตของสื่อจะไปในทิศทางใด ก็ต้องบอกว่าไม่สามารถคาดเดาได้ โดยเฉพาะผู้บริโภค ซึ่งก็เป็นความท้าทายของสื่อมาก
“อยากจะพูดในประเด็นเรายังมีความหวังกับการเป็นสื่อที่มีคุณภาพ สื่อที่มีเสรีภาพ รู้สึกว่ายังมีความหวัง ในช่วงอายุงาน 3 ปีเรายังมีความหวัง แต่เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ค้นหาอยู่ว่าความหวังนั้นมันจะไปอย่างไร มันจะมีวิธีแบบไหน มีโมเดลหรือเปล่า หรือมันจะต้องทำอย่างไร คือมันมีความหวังแต่เราไม่รู้วิธีการมันเลย เพราะมันไม่มีอะไรตายตัวรูปแบบเบ็ดเสร็จเลย แต่สิ่งที่จะเป็นแรงผลักดันพาสื่อไปได้ไกล โดยส่วนตัวของคนที่มีอายุการทำงานแค่ 3 ปี สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับนักข่าวคือการมีทีมงาน มี บก. ช่วยมองประเด็นที่มันรอบด้าน” น.ส.อัญชัญกล่าว
นายคุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) กล่าวว่า แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทำให้ปัจจุบันทุกคนเป็นสื่อด้วยตนเอง และแม้พัฒนาการของเสรีภาพสื่อจะขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่ยุคสมัย แต่สิ่งที่เหมือนกันทุกยุคคือคู่ขัดแย้งจะเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพ และแม้จะเป็นยุคหลังๆ ที่ดูผิวเผินสื่อจะมีเสรีภาพมากขึ้น แต่จริงๆ รัฐยังพยายามหาทางควบคุมสื่อเพียงแต่ยังตามไม่ทัน เมื่อเทียบกับในอดีตที่สื่อมีจำนวนน้อยจึงถูกรัฐควบคุมได้ง่าย
แต่อีกด้านหนึ่ง ด้วยความที่สื่อมีจำนวนมากและกระจายจนไม่สามารถควบคุมได้ ก็ทำให้พบปัญหาความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร รวมถึงประเด็นจรรยาบรรณสื่อ เพราะทุกคนสามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้านนิเทศศาสตร์-วารศาสตร์ศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีสิทธิเสรีภาพก็ไม่สามารถมีข้อมูลที่ถูกต้องได้เพราะจะมีเพียงข้อมูลด้านเดียว โดยสรุปคือขณะนี้เราเดินมาแล้วครึ่งทาง เริ่มมีสิทธิเสรีภาพ แต่ที่ต้องเดินต่อไปคือเรื่องความถูกต้องของข้อมูลและจรรยาบรรณสื่อ
“ความแตกกระสานซ่านเซ็นจนควบคุมไม่ได้ ความประหลาดของมันคือเป็นการกระจายแต่ขณะเดียวกันก็รวมศูนย์ด้วย เรามีสิ่งที่เรียกว่า Echo Chamber (ห้องเสียงสะท้อน) คือตอนนื้ทุกคนกระจายจริง ทุกคนมีสื่อเป็นของตัวเองก็จริง แต่บังเอิญการที่ทุกคนสามารถพูดได้มันดันรวมคนที่พูดเหมือนๆ กันเข้ามาหาจุดเดียวกัน มันเลยเป็นอีกความน่ากังวลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถ้าเราย้อนกลับไป หลัง 14 ตุลา ไม่นานก็มี 6 ตุลา เราจะพบว่าสื่อเป็นกลไกสำคัญในการนำไปสู่เหตุการณ์เหล่านั้น เราคงไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก Echo Chamber จะนำไปสู่สิ่งนั้นหรือเปล่า ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แม้แต่ประเทศที่ดูจะพัฒนาแล้ว หลายๆ ประเทศเขาก็มีปัญหาเรื่อง Echo Chamber” นายคุณากร กล่าว
ในช่วงท้าย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ รองประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวปิดงาน ระบุว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สังคมเห็นคุณค่าของเสรีภาพสื่อซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนคุณภาพสื่อแม้จะเป็นสิ่งที่คาดหวัง แต่การคาดหวังโดยไม่ช่วยกันดูแลให้สื่อมีเสรีภาพย่อมไม่อาจคาดหวังได้ เสรีภาพสื่อจึงมาพร้อมกับคุณภาพสื่อ ทั้งนี้ ในยุค 14 ตุลา นั้นเป็นยุครัฐบาลทหารประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ปัจจุบันเราก็ยังแสวงหาแสวงหาประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่มาจากประชาชนและฟังเสียงประชาชน
“วงสนทนานอกจากพูดถึงว่าเราต้องช่วยกันดันเสรีภาพสื่อให้สูงเต็มเพดานให้ได้ แล้วก็ช่วยกันดึงคุณภาพของสื่อ แต่สิ่งที่น่าชื่นชมคือ ในการพูดคุยของคนต่างรุ่น จากเบบี้บูมมอร์ เอ็กซ์ วาย มาจนถึงรุ่นเล็กที่สุด สิ่งที่มองในตอนท้ายก็คือมันเป็นความท้าทาย ความตื่นเต้น แล้วก็มีความหวัง แล้วภายใต้ความหวังนั้นเห็นคุณค่าการทำงานเชื่อมต่อกันระหว่างคนต่างรุ่น” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว
นอกจากนั้นยังมีการร่วมประกาศเจตนารมณ์ “สิทธิการสื่อสารในสังคมไทย ในวาระ 50 ปี 14 ตุลา 16” ว่า เสรีภาพสื่อ และสิทธิการสื่อสารของพลเมือง เป็นหนึ่งในหลักการสิทธิมนุษยชนสากล เป็นสิ่งที่สื่อและสังคมต้องการ ดังที่นักวิชาชีพสื่อ และประชาชนไทย ได้รวมพลังต่อสู้เรียกร้อง จากรัฐอำนาจนิยม โดยเฉพาะใน เหตุการณ์ 14 ตุลาคมปี 2516 ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการรวมพลังของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ
เวลาผ่านมาห้าทศวรรษ สิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน ได้รับการรองรับในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับ ในภาพรวม สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้น โดยลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัด ทั้งในตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ ที่ประเด็นด้านหลักนิติธรรม รวมถึงจริยธรรมของสื่อมวลชน ยังเป็นความคาดหวังจากสังคม ควบคู่กับการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชน อีกทั้งในยุคดิจิทัล สื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้ในการเผยแพร่เนื้อหาเช่นเดียวกับสื่อมวลชน บ่อยครั้ง การสื่อสารออนไลน์ ทำให้เกิดความสับสน ความเข้าใจผิด ความเกลียดชัง จนเป็นความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร ที่ไหลเวียนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นยุค 14 ตุลา 2516 หรือยุคตุลาคม 2566 สังคมยังปรารถนาให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง (accuracy) บนฐานของความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย (Fairness) เพื่อช่วยลดช่องว่างทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความขัดแย้งเกลียดชังกัน รวมทั้งยังคาดหวัง ความน่าเชื่อถือจากสื่อมวลชน การเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน และ การตรวจสอบถ่วงดุลกับอำนาจรัฐ
ในขณะเดียวกัน แม้ผู้บริโภคสื่อในยุคนี้มีทางเลือกในการรับสารและการสื่อสารที่หลากหลาย แต่ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องพัฒนาความรู้เข้าใจ ความเท่าทันข้อมูลข่าวสาร ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการไม่ส่งต่อข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อตนเองและสังคม ในวาระการรำลึกครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาคม ในปีนี้ เราขอแสดงเจตนารมณ์ต่อทุกภาคส่วนดังนี้
1.สิทธิเสรีภาพสื่อ เป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ขอให้รัฐบาล องค์กรกำกับดูแล หน่วยงานภาครัฐ ถือเป็นหน้าที่ในการคุ้มครอง สนับสนุน การทำงานของสื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ในการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างตรงไปตรงมา ภาครัฐต้องให้อิสระในการทำหน้าที่ขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับสื่อและการสื่อสาร เช่น กสทช. รวมทั้งองค์กรด้านวิชาชีพสื่อมวลชน
2.ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนง รวมถึงผู้มีบทบาทการสื่อสารในโลกออนไลน์ (Key Opinion Leaders/Influencers/Content Creators) ยึดมั่นในแนวปฏิบัติเชิงจริยธรรม ในการนำเสนอข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือนข้อมูลที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เคร่งครัดแนวทางในการกำกับดูแลตนเอง และกำกับดูแลกันเอง เพื่อธำรงคุณค่าความหมายของเสรีภาพ ที่ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ
3.ขอให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อ ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ในการวางแนวทางกำกับดูแลเนื้อหาที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ตามแนวทางของมาตรฐานชุมชน (Community Standard) บนหลักการธำรงสิทธิเสรีภาพ และ ความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน เพื่อลดทอนความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคม
4.ขอให้ภาครัฐส่งเสริมนโยบายสาธารณะในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค สิทธิพลเมือง และ สิทธิการสื่อสารในยุคดิจิทัล อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งสนับสนุนความเข้มแข็งของผู้บริโภค ด้วยการให้เข้าถึง การสื่อสาร และข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น และมากขึ้น
และ 5.ขอให้มีการทบทวนกฎหมาย ประกาศ และกฎกติกาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมสิทธิการสื่อสาร รวมถึงกลไกที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสื่อมวลชนและการสื่อสาร โดยกลไกรัฐสภา บนฐานของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ด้วยกลไก สสร.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และการกระจายอำนาจ ทั้งในมิติการปกครองท้องถิ่น และสิทธิการใช้คลื่นเพื่อสื่อภาคประชาชน สื่อของชุมชน ทั่วประเทศ.