นักวิชาการชี้ โซเชียลมีเดีย ไม่มีความเป็นส่วนตัว 100 เปอร์เซ็นต์
นักวิชาการด้านกฎหมายชี้โซเชียลมีเดียไม่มีความเป็นส่วนตัว 100% แต่เป็นกึ่งสาธารณะ แนะตั้งค่าเป็นส่วนตัวเพื่อเป็นสัญญะป้องกันถูกนำไปใช้ แนะสื่อยึดหลัก 3 ข้อพิจารณาข้อมูลส่วนบุคคลก่อนนำเสนอเป็นข่าว นักวิชาชีพเน้นสื่อต้องรู้กฎหมายเพิ่มขึ้น ยึดหลักประโยชน์สาธารณะ เห็นพ้องกรณีใช้ข้อมูลโซเชียลมีเดียควรแชร์ต้นฉบับ สัมภาษณ์เจ้าของแหล่งข้อมูลตามหน้าที่สื่อ
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 16 กันยายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “พื้นที่บน Social Media ส่วนตัว/สาธารณะ” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ ที่ปรึกษา ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และอาจารย์พิเศษด้านสื่อสารมวลชน รศ.สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
เมื่อเนื้อหาในโซเชียลมีเดียของคนดังในวงการบันเทิง กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมอีกครั้งว่า สื่อมวลชนสามารถนำไปเผยแพร่เป็นข่าวสารสาธารณะได้หรือไม่ เมื่อเจ้าของเพจเฟซบุ๊กออกมาทวงถามความรับผิดชอบจากสื่อต่าง ๆ ที่นำเนื้อหาไปนำเสนอเป็นข่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่โพสต์ดังกล่าว เจ้าตัวได้เปิดเป็นสาธารณะ และมีชาวโซเชียลเข้าไปแสดงความคิดเห็นหลากหลายทั้งด้านบวกและลบ
กรณี เพลงเก่า “คนจนมีสิทธิไหมคะ” ถูกนำมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียอีกครั้ง ซึ่งมีเนื้อหาระบุถึงอวัยวะเพศ ทำให้นักแสดงชายรายหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม และต่อมาเจ้าตัวได้ลบเนื้อหาดังกล่าวไป พร้อมกับตั้งประเด็นถึงสื่อที่นำเรื่องดังกล่าวได้นำบทความในพื้นที่ส่วนตัวของเขา ไปต่อยอดรายงานข่าว และตัดต่อรูปคู่กับนักร้องเพลงดังกล่าว พร้อมทั้งระบุว่าได้รับผลกระทบ ทำให้สังคมเข้าใจผิดและเกิดความขัดแย้ง เพราะทำให้เนื้อหาที่เขาต้องการจะสื่อสาร ถูกบิดเบือนไปจากเจตนารมย์ จึงตั้งคำถามกับสื่อที่นำไปเผยแพร่ว่า จะรับผิดชอบต่อการกระทำครั้งนี้อย่างไร
กรณีนี้ จึงมีประเด็นว่า พื้นที่ในโซเชียลมีเดียของบุคคล เป็นพื้นที่ส่วนตัว หรือสาธารณะ สื่อมวลชนนำข้อมูลมานำเสนอข่าวได้หรือไม่
รศ.สาวตรี สุขศรี นักวิชาการ อธิบายในแง่มุมกฎหมายว่า โซเชียลมีเดีย ทุกแพลตฟอร์ม ทุกรูปแบบ และบริการในสื่อสังคมออนไลน์ ไม่มีอะไรที่เป็นความเป็นส่วนตัว 100% อย่างน้อยที่สุดก็กึ่งสาธารณะ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่เราได้ทิ้งร่องรอยดิจิทัลฟุตปรินท์ เอาไว้ทุกที่ทุกแห่งอยู่แล้ว เพราะเวลาที่เราทำอะไรลงไปในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ใด หรือแพลตฟอร์มใด จะมีการเก็บข้อมูลในกิจวัตรประจำวัน ในการใช้งาน ซื้อของ สืบค้นข้อมูล อย่างน้อยที่สุดผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจะรู้ว่าเราทำอะไร
“เพราะฉะนั้นต้องระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีโลกส่วนตัว 100% ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นความคิด อุดมคติ หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เราโพสต์ลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือไม่ส่วนตัว ถ้าไปอยู่ในโลกออนไลน์แล้วจะมีคนรับรู้ จึงเป็นพื้นที่ค่อนข้างสาธารณะ หรือกึ่งสาธารณะนั่นเอง” รศ.สาวตรี ระบุ
โลกออนไลน์พื้นที่กึ่งสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม รศ.สาวตรี ระบุว่า แม้จะไม่มีความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ แต่ในทางกฏหมาย ก็ไม่ได้หมายความว่าการโพสต์ จะกลายเป็นเรื่องสาธารณะทั้งหมด เพราะยังพอมีพื้นที่ในการจัดการ หรือกำหนดขอบเขตของความเป็นส่วนตัว หรือสาธารณะได้ ด้วยการตั้งค่าระบบในแพลตฟอร์มของตนเองเท่าที่เทคโนโลยีจะอนุญาตให้เราทำได้ การตั้งค่าให้เห็นเฉพาะตัวเอง เพื่อนในกลุ่ม ก็คือการจัดกรอบขอบเขต ให้พอมีพื้นที่ส่วนตัว แต่ถึงจะตั้งค่าแล้ว ก็ยังมีคนที่เห็นข้อมูลเราได้อยู่ แม้จะไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่อยากให้คนอื่นเห็น แต่อย่างน้อยที่สุด ผู้ให้บริการต้องเห็น
รศ.สาวตรี ระบุด้วยว่า การตั้งค่าเป็นส่วนตัว ในทางกฎหมาย คือสัญญะอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้ผู้คนรับรู้ว่า ข้อมูลที่ใส่ลงไปในพื้นที่ ที่ตั้งค่าเป็นส่วนตัว ไม่ได้เปิดเผยสาธารณะ ในทางกฎหมายจะรับรู้ว่า เป็นการแสดงเจตนา แต่ถ้าเปิดเป็นสาธารณะ ในทางกฎหมายก็อนุมานเบื้องต้นได้ว่าต้องการเผยแพร่ และใครก็ตามที่เข้ามาในแพลตฟอร์มนี้ ก็สามารถเห็นข้อมูล ข้อความของเราได้
อีกกรณีหากเจ้าของโพสต์จัดการไม่ดีพอ เพราะไม่มีความรู้เรื่องดิจิทัล แพลตฟอร์ม หรือไม่ได้จัดการตั้งค่าใด ๆ ทำให้โพสต์ถูกเผยแพร่ไปในพื้นที่สาธารณะ ก็อาจเป็นคำถามในทางกฎหมาย และจริยธรรมสื่อได้ว่า ถือเป็นเรื่องสาธารณะหรือไม่ และใครจะนำไปใช้ โดยไม่ต้องขออนุญาตได้หรือไม่
ดู 3 ข้อหลักใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข่าว
กรณีนี้ สื่อมวลชนสามารถหยิบเอาความเห็นของเขาไปใช้ได้หรือไม่ ต้องดู 3 องค์ประกอบ ที่ต้องคำนึงถึงคือ
1.ต้องดูว่าบุคคลนั้นเป็นใคร สถานะเจ้าของข้อมูล หรือข้อความนั้น ๆ แม้กฎหมายให้ความคุ้มครองความเป็นส่วนตัว แต่ระดับของความคุ้มครองอาจไม่เท่ากับบุคคลทั่วไป ถ้าเป็นบุคคลสาธารณะ เช่น ดารา นักร้อง เรื่องความเป็นส่วนตัว จะอยู่ในความสนใจของประชาชน ดังนั้นแม้กฎหมายคุ้มครอง แต่ระดับอาจจะน้อยกว่าคนทั่ว ๆ ไป
2.เรื่องราวที่สื่อจะนำไปใช้ เป็นข้อมูลส่วนบุคคลขนาดไหน หากเป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ เรื่องครอบครัว รสนิยมทางเพศ ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ค่อนข้างอ่อนไหว ลักษณะนี้จะได้รับความคุ้มครองสูง หากสื่อนำไปเปิดเผย จะมีปัญหาแน่นอน หากไม่ใช่เรื่องสาธารณะ แต่เป็นเรื่องส่วนตัว สื่อต้องชะงักนิดหนึ่ง อาจไม่มีสิทธิหยิบไปก็ได้
แต่หากเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ไม่มีผลกระทบมากกับบุคคลนั้น ก็จะมีความผ่อนคลายต่อการที่สื่อจะนำความคิดเห็น หรือข้อความนั้น ๆ ไปเผยแพร่ต่อ
3.ดูสถานที่ ที่นำข้อมูลมาเปิดเผยควบคู่ไปกับความคาดหวังของเจ้าของข้อมูล ถ้าเขาแสดงเรื่องนี้ในกลุ่มลับ สื่อย่อมไม่มีความชอบธรรม ที่จะแอบไปส่อง แล้วหยิบเรื่องราวที่เขาพูดในกลุ่มลับออกมา เพราะถือเป็นสถานที่่ปิด เปรียบเสมือนการจัดงานในบ้านส่วนตัว แล้วมีคนแอบเข้าไป ต่อให้เขาเป็นบุคคลสาธารณะ และสิ่งที่ทำไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เขาทำในสถานที่ปิด สื่อย่อมไม่มีสิทธิ ไปหยิบ ไปแอบ ไปส่อง แล้วเอามา
รศ.สาวตรี เน้นย้ำว่า ต้องดู 3 เรื่องนี้ประกอบกัน ทั้งนี้ ยังมีกรณีที่สื่อประเมินเองว่า หากเป็นบุคคลสาธารณะอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เจ้าตัวจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ฉะนั้นแต่ที่สื่อจะนำไปเผยแพร่ต่อ ต้องขออนุญาต เพราะบางทีจะเห็นไม่ตรงกัน ในองค์ประกอบที่ 3
“เรื่องนี้ต้องขออ้างอิง เรื่องของ Professor Alan F. Westin (Professor of Public Law & Government Emeritus, Columbia University) ได้อธิบายไว้ว่า การละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสื่อออนไลน์ ในโลกเสมือนจริง เราจะต้องดูว่า คนที่เป็นเจ้าของข้อมูล เขายังสามารถควบคุมข้อมูลของเขาได้อยู่หรือไม่ เพราะสุดท้าย มันมีข้อมูลบางอย่างที่ถกเถียงกันได้ว่า นี่เป็นข้อมูลส่วนตัว หรือสาธารณะ แต่วิธีการที่เอาไป การไปตัดการควบคุมข้อมูลของเขาทิ้ง อาจเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวได้”
ดังนั้น สื่อมีสิทธิหรือไม่ ที่จะไปดึงข้อมูลมาเป็นข่าว รศ.สาวตรี ระบุว่า วิธีการ คือ กดแชร์ เพราะจะทำให้เจ้าของ ยังควบคุมข้อมูลของเขาได้ เพราะหากมีกรณีเจ้าของแก้ไข หรือลบทิ้ง สิ่งที่สื่อแชร์ ก็จะหายไป แต่หากเราใช้วิธีแคปหน้าจอ แล้วเราเอาไปลง หากมีข้อถกเถียงกัน ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เอาไปได้อย่างไร ก็จะเกิดปัญหา หรือถ้าไปตัดการควบคุมข้อมูลของเขา อันนี้ก็จะเป็น 3-4 สเต็ป ที่ขอแนะนำอย่างนี้
ยึดจริยธรรมสื่อป้องกันถูกฟ้อง
รศ.สาวตรี เน้นย้ำว่า โดยทั่วไปที่ควรทำคือ จะเน้นเรื่องจริยธรรมสื่อ เข้ามาเกี่ยวข้อง คือต้องขออนุญาต ถ้าเป็นประเด็นก้ำกึ่งว่า การที่จะนำเสนอ อาจส่งผลกระทบกับเจ้าของข้อมูลหรือไม่ แม้เขาจะเผยแพร่ในที่สาธารณะก็ตาม ก็ต้องขออนุญาตก่อน
เมื่อถามถึงกรณี ที่สื่อนำข้อความของนักการเมือง นักวิชาการ ที่โพสต์ในโซเชียล ที่ตั้งใจที่จะเผยแพร่ข้อมูลมาใช้ รศ.สาวตรี ระบุว่า แม้จะเป็นความตั้งใจ เพราะเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่หลักสากล การทำอะไรในที่สาธารณะ ไม่ได้หมายความว่าเขาสละสิทธิความเป็นส่วนตัวแต่เราอาจจะอนุมานได้ว่า เขาไม่ซีเรียส แต่หากเขาต้องการเปิดเผยเฉพาะบุคคลในแพลตฟอร์มที่เผยแพร่เท่านั้น แต่พอสื่อนำเสนอออกไป ทำให้คนทั่วไปอาจเห็น ฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นเรื่องของกรอบสาธารณะ ที่ความคาดหวังของเจ้าตัวต้องการให้ใครเห็นได้กันแน่
เมื่อถามถึง การตีความเนื้อหาประโยชน์ต่อสาธารณะในทางกฎหมายวัดกันตรงไหน รศ.สาวตรี ระบุว่า เป็นเรื่องยาก เช่น ดาราสักคนคบซ้อน ถ้าประชาชนรู้มีประโยชน์หรือไม่ ตัวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น มีนักการเมืองคนหนึ่งหาเสียง จะทำนโยบายเรื่องความหลากหลายทางเพศความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อเข้าไปผลักดันเรื่องนี้ แต่ปรากฏว่า สื่อไปรู้ข้อมูลส่วนตัวว่าเป็นคนเหยียดเพศ พฤติกรรมแบบนี้ ส่งผลต่อนโยบายที่หาเสียง ค่อนข้างชัดว่า แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัวในบ้าน แต่ประชาชนควรได้รับรู้ เพราะเกี่ยวพันกับการตัดสินใจเลือกเข้าไปเป็นผู้แทนของประชาชนหรือไม่
สื่อจำเป็นต้องรู้กฎหมายมากขึ้น
ส่วนกรณี ใช้วิธีแคปหน้าจอแล้วไปเขียนเนื้อหาเพิ่มเติมมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน รศ.สาวตรี อธิบายว่า สิ่งแรก เจ้าของข้อมูลอาจมองว่าไปละเมิดความเป็นส่วนตัว 2.หากสื่อไปเขียนข่าวโดยเติมอะไรลงไปบ้าง หรือเข้าใจผิด ตีความผิด แล้วยืนยันข้อเท็จจริงบางอย่าง อาจกลายเป็นหมิ่นประมาท อาจทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง เกิดความเสียหาย เขาอาจจะฟ้องได้ โดยใช้มาตราทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหาย หรือใช้ความผิดฐานหมิ่นประมาท ทางอาญาฟ้อง
นักวิชาการด้านกฎหมาย ย้ำว่า ปัจจุบันนักสื่อสารมวลชนจำเป็นต้องรู้กฎหมายให้มากขึ้น เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อค่อนข้างมาก ตั้งแต่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลความเป็นส่วนตัว PDPA กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายหมิ่นประมาทเกี่ยวกับคอนเทนต์ทั้งหลายที่อยู่ในโลกออนไลน์ เพราะตอนนี้เราอยู่ในสังคมที่ต้องการเร็วๆ สื่อรีบทำงานแข่งกัน บางทีอาจจะไม่ได้รีเช็คข่าว บางทีเสนอข่าวผิดพลาด ไปละเมิดลิขสิทธิ์ ก็อาจเกิดการฟ้องร้องกันได้ง่ายขึ้น
นักวิชาชีพถกเถียงมายาวนาน
ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ อธิบายในมุมนักวิชาชีพว่า ตั้งแต่โซเชียลมีเดียเริ่มบูมขึ้นมา ก็มีข้อถกเถียงในนักวิชาชีพ ถึงประเด็นเรื่องพื้นที่ส่วนบุคคลที่สามารถนำมาสู่พื้นที่การรายงานข่าวสารได้หรือไม่ ทุกวันนี้พื้นที่บนโลกออนไลน์ ตนฟันธงได้เลยว่า ไม่มีความเป็นส่วนตัวเปรียบเสมือนเราเอาชีวิตไปสู่พื้นที่สาธารณะเรื่องที่ผู้คนในสังคมวิพากษ์วิจารณ์สามารถเกิดขึ้นได้ และเราอาจกระทบกระทั่งกับคนอื่นได้เช่นกันแม้การโพสต์จะกำหนดค่าความเป็นส่วนตัว ให้เฉพาะเพื่อนในกลุ่มเห็น แต่ก็อาจมีคนนำข้อมูลออกไปเผยแพร่ได้
หรือหากเปิดเป็นสาธารณะ แต่การจะโพสต์อะไรอาจต้องดูเจตนา โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นในมุมที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของเรา ยิ่งหากเป็นบุคคลสาธารณะ ก็ต้องพร้อมรับว่า เนื้อหาอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ข่าวได้
.
“สังคมไทยถกเถียง และหาคำตอบเรื่องความเป็นส่วนตัวในโซเชียลมีเดียมานาน จนเป็นข้อพิพาท สื่อเองก็มักจะเจอเรื่องแบบนี้มาตลอดเรามีวงถกกัน จนกระทั่งทำแนวปฏิบัติ การทำข่าวในสื่อออนไลน์ และยังมีกฎสำหรับคนทำงานภาคสนาม กองบรรณาธิการ ให้ปฏิบัติตามกรอบจริยธรรม รวมทั้งตัวองค์กรสื่อ และภาพใหญ่ ที่มีการกำกับดูแลกันเอง” ฐิติชัย ระบุ
เน้นยึดหลักประโยชน์สาธารณะ
กรณีสื่อมวลชน นำข้อมูลไปรายงานข่าว เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ต่อสาธารณะ ฐิติชัย มองว่าตอนนี้มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPD) ที่ระบุว่าเนื้อหาที่ไปดึงมาจากใครก็ตาม ที่เปิดเผยตัวตน ข่าวชิ้นนั้น ต้องเคารพสิทธิของผู้เป็นเจ้าของเนื้อหารวมถึงต้องพิจารณาว่าข่าวนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่ประเด็นนี้ ถ้ามองในแง่การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในโลกออนไลน์ อาจจะกระทบกระทั่งกันได้ระหว่างเข้าของข้อมูลและสื่อ
ทั้งนี้ก็ต้องมองฝ่ายต้นเรื่อง ด้วยว่าพร้อมที่จะยอมรับสภาพหรือไม่ ในการโพสต์ เพราะถึงแม้จะบอกว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัว แต่ในมุมอื่น ๆ เขาก็มีการแสดงความคิดเห็น แม้จะไม่ได้เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง แต่ก็ต้องพึงระวังว่า วันนี้นักข่าว หรือสังคมบนโซเชียล หรือบุคคลอื่น ๆ แม้ไม่ต้องไปปะทะ หรือมีรูปคู่กับใคร แต่ถ้ามีคนแชร์ออกไป อาจเกิดปมขัดแย้งได้เช่นกันหรือไม่
ในมุมของสื่อมวลชน เมื่อมีบุคคลสำคัญ ที่มีชื่อเสียง บุคคลสาธารณะ สื่อก็ย่อมมองเห็นว่า อาจเป็นเสียงในสังคมที่สามารถทำให้เป็นข่าวได้ทำให้สังคมมองเห็นบริบทบุคคลในสังคมที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นได้ ขณะที่ในมุมผู้โพสต์เอง หากไม่ต้องการเป็นกรณีกับใคร ก็อาจเขียนได้ว่า งดแชร์ต่อ งดสื่อห้ามลง เหมือนบอกเป็นสัญญะว่า เป็นเรื่องส่วนตัว
“บุคคลที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะศิลปิน นักแสดงนักการเมือง นักวิชาการ จากที่ผมติดตาม อันไหนที่เขาแสดงความคิดเห็น ก็จะระบุว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัว พื้นที่นี้ของเขา ห้ามสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ เค้าจะกำหนดเลยว่าสามารถแชร์ปิดโพสต์ ปิดคอมเมนต์ ให้รู้ว่า นี่คือพื้นที่ของเขา ถ้าใครนำไปเผยแพร่ โดยไม่ขออนุญาต เค้าก็มีสิทธิ์ตามกฎหมายการทำเช่นนี้คือการแสดงเจตจำนงของตัวเอง”
แนะร้องเรียนองค์กรสื่อตรวจสอบ
ขณะเดียวกัน กรณีที่เกิดขึ้นได้มีการทวงถามความรับผิดชอบจากสื่อ ฐิติชัย ระบุว่า ควรบอกให้ชัดเจนว่าเป็นสื่อใดสื่อแบบไหน เพราะสื่อออนไลน์ทุกวันนี้มีทั้งสื่อวิชาชีพ สื่อพลเมือง สื่อบุคคล และคนต้นเรื่องก็ไม่รู้ว่า วันนี้ต้นตอที่นำเนื้อหาไปแชร์คือสื่อใดบ้าง
“ผมมองในแง่ว่า ถ้าคนที่เป็นต้นเรื่อง อยากจะร้องเรียนสื่อ ก็ร้องเรียนได้ ดีกว่าเหมารวม แต่อยากให้ระบุชัดว่า เป็นสื่อใด สื่อสิ่งพิมพ์ใด สื่อออนไลน์ สื่อทีวี สื่อวิทยุ หากมีการตรวจสอบ ก็จะช่วยยกระดับความเป็นสื่อมวลชน เพื่อให้มีคนที่รับผิดชอบมากกว่าการกล่าวหาลอย ๆ เพราะถ้ากล่าวหาแบบนี้ ก็ไม่สามารถแก้ปมปัญหาได้ว่าสื่อแบบไหน ที่อยู่ในมาตรฐานวิชาชีพ”
ฐิติชัย มองทางออกว่า ไม่ว่าผู้โพสต์ และสื่อต่างฝ่ายต่างควรจะมีความรับผิดชอบ หรือมีความเคารพซึ่งกันและกัน หากไม่อยากให้เกิดเป็นข้อถกเถียงสื่ออาจจะขอสัมภาษณ์ผู้โพสต์โดยตรง ขณะที่ผู้โพสต์ ก็ต้องพร้อมรับแรงกระแทก และเสียงสะท้อนกลับมา เพราะทุกวันนี้สังคมเราค่อนข้างอ่อนไหวในการใช้โซเชียลมีเดีย และการไม่รู้เท่าทัน ยังต้องใช้ระยะเวลา และหากไม่รู้ในแง่กฎหมาย ก็มีความเสี่ยงต้องรับผิดชอบในแง่คดีเช่นกัน
พื้นที่สาธารณะบนโซเชียลมีเดียมีหลายระดับ
กนกพร ประสิทธิ์ผล ไทยพีบีเอส มองว่า พื้นที่บนโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ส่วนตัวหรือที่สาธารณะ เราพูดเรื่องนี้กันมาเป็น 10 ปีแล้ว คำว่าส่วนตัวหรือสาธารณะ ทุกวันนี้คนเริ่มยอมรับ และเห็นความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังเจอคำว่า พื้นที่นี้เป็นของตัวเอง จะโพสต์อะไรก็ได้ จริง ๆ คำว่าส่วนตัวยังมีอยู่ ถ้าตั้งเป็นส่วนตัว หรือเฉพาะตัวเองเห็นคนเดียวเพื่อบันทึกเอาไว้
แต่คำว่าพื้นที่สาธารณะ วันนี้มีหลายสเกลมาก อะไรก็ตามที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต จะมีหลักการ 3-4 ข้อ ลักษณะแรก เราต้องเข้าใจว่ามันฟุตปรินท์ 2.เป็นพื้นที่เข้าถึงได้ง่าย ถูกส่งต่อได้ง่าย สาม ส่งต่อแพร่กระจายได้ง่ายมาก สุดท้าย เป็นสิ่งที่ถูกค้นหาได้ง่าย แม้เวลาจะผ่านไปเท่าไหร่ก็ตาม
นอกเหนือจากนี้ เราพูดถึงคำว่าโซเชียลมีเดีย หรือสื่อโซเชียลมีเดีย ความเป็นสังคมไม่ใช่คนๆ เดียว ต้องมีคนจำนวนมาก ดังนั้นพอมีความเป็นโซเชียลมีเดียเข้ามา ก็ยิ่งต้องเข้าใจว่า มันมีปัจจัยเรื่องอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม อาทิ อัลกอริทึม การมองเห็นก็จะแตกต่างกัน และคำว่าสาธารณะ ก็มีหลายระดับ เช่นมีเพื่อนในเฟซบุ๊กหลัก 100 หรือหลักแสน ความเป็นสาธารณะในหนึ่งโพสต์ของเราก็อาจจะไม่เท่ากัน แม้จะกำหนดค่าความเป็นส่วนตัวทุกแพลตฟอร์ม
เน้นยึดจริยธรรม ทำหน้าที่สื่อมืออาชีพ
กนกพร มองว่า กรณีนี้ ดาราเรียกร้องให้สื่อรับผิดชอบ ประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวคลิปวิดีโอเพลง แต่น่าจะเป็นเรื่องบุคคลที่มาแสดงความคิดเห็นมากกว่า ซึ่ง 1. อยู่บนแพลตฟอร์มที่แพร่กระจายได้ง่าย สำคัญคือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปินดารา เป็นที่จับจ้องไม่เฉพาะประชาชนทั่วไป แต่เป็นกลุ่มสื่อโดยเฉพาะข่าวบันเทิง ซึ่งเป็นกลุ่มที่จับจ้องตามโซเชียลมีเดียของคนดังเป็นปกติ อาจไม่ต้องสามารถเข้าถึงแหล่งข่าว แต่ดูจากโซเชียลมีเดีย แล้วก็เกิดการส่งต่อข่าว และความคิดเห็นนี้ไปเรื่อยๆ เชื่อว่ามีทั้งเห็นด้วยและคัดค้านกับสิ่งที่ดาราผู้นั้นนำเสนอ
ประเด็นอยู่ที่ว่า หลังจากแหล่งข้อมูลลบโพสต์ไปแล้ว สิ่งที่สื่อมวลชนต้องนำมาขบคิด คือการนำข้อมูลมาใช้ หรือจริยธรรมสื่อที่มีการถ่ายทอดเนื้อหา ว่าครบถ้วนตามความคิดเห็นหรือไม่ มีการวิเคราะห์ต่อเติมหรือไม่ หรือได้เข้าถึงแหล่งข่าวด้วยวิธีที่ถูกต้อง รอบด้านหรือไม่ มีการนำเสนอโดยติดต่อเจ้าของโพสต์หรือไม่ เพราะบางทีข้อความที่แคปเจอร์มา กับการที่โทรสัมภาษณ์ เราอาจจะได้คำตอบที่ตรงไปตรงมามากกว่า ได้แหล่งข่าวที่ชัดเจนมากกว่า
“ต้องยอมรับว่า ความคิดเห็นหลังจากลบโพสต์ไปแล้ว สื่อน่าจะขบคิดเหมือนกันว่า มีบางส่วนที่เรามีการไปต่อเติม ชี้ประเด็น นำเสนอไปในด้านเดียวกันหมด” กนกพร กล่าว
แนะแชร์ข้อมูลประกอบข่าวแทนแคป
ประเด็นนี้ควรจะเป็นกรณีศึกษาหรือไม่ กนกพร มองว่า ส่วนใหญ่กรณีที่เป็นดราม่า เรื่องของพื้นที่ส่วนตัว กับพื้นที่สาธารณะ Digital literacy หรือการนำเสนอให้เกิดดราม่าในวงการ จากบุคคลดัง มีหลายเคสมาก ที่มีหลักคิด หรือหลักการ ที่มีปัจจัยรอบด้านพฤติกรรมคน ผู้เผยแพร่สื่อเอง ตัวแพลตฟอร์ม อัลกอริทึมต่าง ๆ ในแต่ละเคสที่เกิดขึ้น จะมีประเด็นความอ่อนไหว
“อย่างเคสนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเนื้อหา มีประเภทมีเดียด้วย ที่เราเจาะจงใช้ภาพประกอบเพิ่ม ประเภทมีเดียที่มีการไปสแนปภาพมา นำภาพมาขออนุญาตแล้วหรือยัง ในโลกออนไลน์การแคปภาพมา ถือเป็นการใช้แหล่งข่าว หรือวัตถุดิบโดยตัดตอน ไม่สามารถจะแก้โพสต์ หรือปรับอะไรได้”
กนกพร แนะนำว่า สื่อควรใช้วิธีการแชร์มาจากต้นฉบับ เพราะหากแหล่งข่าวเขียนอะไรเพิ่มเติม โพสต์ที่แชร์มา ก็จะอัพเดตตามไปด้วย สื่อก็จะได้ข้อความที่ครบถ้วน และเป็นการให้เครดิตกับต้นทาง เพราะหากใช้วิธีแคปเจอร์มา อาจทำได้ในบางกรณี ส่วนบางกรณีที่เป็นความคิดเห็นที่อ่อนไหว จะนำเสนอต้องคิดให้รอบด้านมากขึ้น หากไม่ใช่เชิงบวก เป็นความคิดเห็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว ก็อาจต้องมองถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วย ทั้งแหล่งข่าว และคนรับสารต่อจากเราด้วย.