คนสื่อสะท้อนข่าวลวงช่วงการเมืองร้อน ช่วงหาเสียงเลือกตั้งสถานการณ์รุนแรงจากเหตุใส่ร้ายป้ายสี หวังดิสเครดิต ส่วนหลังเลือกตั้งจงใจปล่อยข่าวเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง “ศูนย์ต้านข่าวปลอม” ชี้มิจฉาชีพฉวยกระแสนโยบายหาเสียง หลอกลวงเอาข้อมูล ทรัพย์สินประชาชน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐร่วมมือดีขึ้น ส่งผลแจงข้อมูลจริงได้เร็ว ระงับความเสียหายวงกว้าง ด้าน“โคแฟค”และเครือข่ายขยายวงร่วมมือกว้างขึ้น เตรียมรวบรวมสถิติ 4 ปี ประเมินผลกระทบ
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “รู้ทันข่าวลวง ในช่วงการเมืองร้อนแรง” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ดร.สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เอกพล บรรลือ บรรณาธิการข่าว สำนักข่าว THE STANDARD กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact checker) ประจำกองบรรณาธิการโคแฟค
สถานการณ์ข่าวลวง ในช่วงหลังเลือกตั้ง มีประเด็นที่มาแรงและคนสนใจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะนโยบายพรรคการเมือง ที่เคยประกาศในช่วงหาเสียง โดยเฉพาะดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่มีการแพร่กระจายข้อมูลเรื่องอย่างรวดเร็ว หลังการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ และกลายเป็นช่องทางมิจฉาชีพที่สร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมาหลอกลวงประชาชน
ดร.สันติภาพ ฉายภาพถึงสถานการณ์นี้ จากการมอนิเตอร์ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยระบุต้นตอว่า เริ่มจากแอพพลิเคชั่นตัวหนึ่งที่ลงในเพลย์สโตร์ของมือถือระบบแอนดรอยด์ ลักษณะแอพฯ ทำมาน่าเชื่อถือ กลายเป็นไวรัลแพร่กระจาย ยิ่งมีการโหลดก็ยิ่งติดเทรนด์ทำให้เกิดการโหลดเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ภาพรวม เรื่องที่มากขึ้น จะเกี่ยวข้องกับการหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล แล้วนำไปดำเนินการด้านอื่น เรามองแม้ไม่ใช่เป็นช่วงการเมืองแรง ก็ยังมีการหลอกลวงเรื่องพวกนี้อยู่ แค่ว่าบริบทของข่าวปลอม เอาเรื่องการเมืองมาอิงกับกระแส
เรื่องดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 เราพอจะเดาได้อยู่แล้ว ว่าจะกลายเป็นเทรนด์ที่มิจฉาชีพจะนำมาหลอกลวงประชาชน เราจึงเตรียมการป้องกันไว้เป็นอย่างดี จึงใช้เวลาในเคสนี้ไม่นาน แต่เรื่องของกระบวนการในการตรวจสอบเรื่องนี้ หากรัฐบาลดำเนินการ 2 รูปแบบ ให้ประชาชนได้รับเงินต้องระมัดระวัง
- คืออาจไม่ต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน แต่สามารถดูได้จากฐานข้อมูล
- การที่ระบุว่า อาจมีแอพพลิเคชั่นกลางขึ้นมาตัวหนึ่ง ควรประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนระมัดระวัง และติดตามข่าวสารจากทางรัฐบาล เหมือนตอนที่ฉีดวัคซีนโควิด ต้องประชาสัมพันธ์ว่าใช้แอปเดียว
ส่วนข่าวปลอม หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพรรค จะออกมาแก้ข่าวเอง ส่วนมากจะเป็นข่าวส่วนบุคคล ทางศูนย์ฯ จึงไม่ได้มีการดำเนินการใดใด
เน้นรวดเร็วในการตรวจสอบแจ้งเรื่องจริง
ขณะที่กระบวนการและขั้นตอนที่จะระงับการเผยแพร่ของศูนย์ มี 2 ส่วน คือ รีบประชาสัมพันธ์ แจ้งข้อมูลที่เป็นความจริงให้ประชาชนทราบโดยเร็วที่สุด ส่วนอีกฝั่ง ด้านกฎหมาย หลังพิสูจน์ทราบแล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง เป็นการหลอกลวงประชาชน ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอีกแบบหนึ่ง โดยขอเอกสารเพื่อปิดแอพฯ ให้เร็วที่สุด ไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม ดร.สันติภาพ ยอมรับว่า กระบวนการทำงานของกระทรวงดีอีเอสค่อนข้างยากลำบาก เพราะมีขั้นตอนต้องประสานต้นทางเจ้าของเรื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้น ๆ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และด้วยระบบราชการกว่าจะอนุมัติลงมา ความเสียหายอาจจะลุกลามใหญ่โตไป
ทั้งนี้การตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็แยกเป็น 2 เรื่อง มีทั้งจริง และไม่จริง แม้ในส่วนที่จริงแต่ศูนย์ฯ ก็ไม่สามารถตอบเองได้ในทุกข่าวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงดีอีเอส เช่น เรื่องสุขภาพ โรค อาหารเสริม ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญ มีหน้าที่ในการรับผิดชอบเรื่องนั้นเป็นคนตอบคำถาม เพราะเป็นมาตรฐานสากล
ทลายข้อจำกัดกระบวนการระหว่างหน่วยงาน
เหล่านี้เป็นข้อจำกัดในการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ที่ต้องพัฒนาอีกมาก ยังมีเรื่องระยะเวลาในการต้องหาคำตอบ ให้เร็วยิ่งขึ้น เพราะกระบวนการที่ต้องหาข้อมูลให้ครบถ้วนและชัดเจนที่สุด บางเรื่องอาจจะช้า รีบไม่ได้เพราะถ้าออกจากศูนย์ ถือว่าได้รับการตรวจสอบถูกต้องที่สุด
จากประสบการณ์ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดำเนินการมา 4 ปี ได้เรียนรู้การแก้ปัญหา โดยลดขั้นตอนเอกสาร ดร.สันติภาพ ระบุว่าได้ให้แต่ละหน่วยงาน ของกระทรวง มอบหมายผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการตอบคำถาม เพื่อลดเรื่องการเดินเรื่องตามสาย การขอคำสั่งผู้บังคับบัญชา ขออนุญาตต่างๆ
อีกทั้งยังมีกลุ่มที่เป็นโฆษกแต่ละกระทรวง ที่ช่วยประสานงานติดต่อเรื่องเร่งด่วนได้ อย่างช้าที่สุดในการรับเคส ต้องภายใน 24 ชั่วโมงเพราะแต่ละเคสต้องใช้เวลาตรวจสอบ หรือที่อาจจะต้องเข้าห้องปฏิบัติการ บางทีใช้เวลาเป็นเดือน
อย่างไรก็ตาม ดร.สันติภาพ ระบุว่า แม้ภาครัฐ หน่วยงานจะป้องกันเต็มที่อยู่แล้ว แต่ก็อาจจะมีช่องว่างช่องโหว่อยู่ดี เพราะฉะนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ประชาชนจะต้องดูแลป้องกันตัวเองด้วย
บทบาทสื่อช่วยประชาสัมพันธ์เข้มแข็ง
ขณะที่บทบาทของสื่อ ดร.สันติภาพมองว่า สื่อมวลชนได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทุกช่องทางในการช่วยประชาสัมพันธ์ และยังน่าจะทำได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับภาคีต่างๆ ในการตรวจสอบข่าวปลอม ทั้ง โคแฟค ชัวร์ก่อนแชร์ และกองทุนสื่อสร้างสรรค์
“ต่อไปอาจจะมีการส่งข่าวให้ช่วยกันกระจาย ในแต่ละกลุ่มที่มีฐานแฟนคลับให้มากขึ้น โดยทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจะทำบันทึกความร่วมมือ กับสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วแจ้งเตือนในแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ด้วย เพื่อให้ไปถึงประชาชนมากที่สุด”
ขณะที่ในด้านกฎหมาย ว่าด้วยบทลงโทษกรณีข่าวปลอม ดร.สันติภาพ มองว่า ตามมาตรา 14 (1-5) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทเป็นโทษที่ถือว่าหนัก ถึงแม้การบังคับใช้กฎหมาย หากรุนแรงไปก็อาจไม่ได้แก้ที่ต้นตอ ซึ่งที่พอจะแก้ได้ก็คือ เราต้องให้ภูมิต้านทาน โดยให้ความรู้ประชาชน พยายามจัดการเรื่องพวกนี้ให้เร็ว หากทุกคนรู้ว่าข่าวนี้ปลอม ก็จะไม่มีการเผยแพร่ส่งต่อ แล้วมิจฉาชีพ และพวกที่ทำ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขในระยะยาว
ปรับยุทธศาสตร์เอื้อกระบวนการป้องกัน-แก้ปัญหา
ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน ข่าวลวง ข่าวปลอม ยังไม่ลดลง ทางกระทรวงดีอีเอส ก็ได้ปรับยุทธศาสตร์เพิ่มเติม และกฎหมายเพื่อให้กระบวนการและสิทธิต่างๆในการระงับ และปิดรวดเร็วยิ่งขึ้น
“เราพูดคุยเรื่องนี้กันมาพักหนึ่งแล้ว และตั้งใจจะทำออกมา เพื่อทำให้ประชาชนปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่การทำกฎหมายพวกนี้ จะต้องระวัง ต้องคิดให้รอบคอบด้วยว่า หากภาครัฐมีอำนาจมากเกินไป จะให้ประชาชนรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพของตัวเองลดน้อยลงหรือไม่ด้วย ถ้าสามารถปิดเว็บอะไรก็ได้ แล้วประชาชนรู้สึกว่าไม่สามารถเข้าไปดูได้แล้ว หรือชัตดาวน์โพสต์หรือคอมเมนต์ต่างๆได้ คนจะรู้สึกว่า ไม่มีสิทธิเสรีภาพ หรือไม่ ฉะนั้นต้องนำเรื่องนี้มาวิเคราะห์อีกที”
ดร.สันติภาพ ทิ้งท้ายว่า ถึงประชาชนว่า ภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จะดำเนินการอย่างเต็มที่ ให้เร็วขึ้น ให้ได้ดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งอยากให้ประชาชนระมัดระวังตัวเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อของความโลภ หรือการให้ข้อมูลส่วนบุคคล ต้องระมัดระวัง ป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี และอีกเรื่อง คือการเสพสื่อต่างๆ ต้องรู้เท่าทันสื่อด้วย
ข่าวลวงช่วงหาเสียงแรงกว่าหลังเลือกตั้ง
ด้านนักวิชาชีพ เอกพล บรรลือ ประเมินสถานการณ์ว่า ตั้งแต่ช่วงจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นต้นมา ข่าวหรือข่าวปลอมถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับช่วงหาเสียงที่มากกว่านี้ เพราะมีการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง ใช้ข่าวปลอม เพื่อดิสเครดิตกันทางการเมืองค่อนข้างมาก ส่วนหลังเลือกตั้งจะเป็นเรื่องของข่าวที่จงใจปล่อย เพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองบางอย่างมากกว่า
ส่วนที่ตามมา คือข่าวลวง เพื่อหลอกเอาข้อมูลจากผู้ใช้งาน สร้างความเสียหายทางการเงินค่อนข้างเยอะ ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งแม้จะมีคนที่หลอกเอาข้อมูลโดยการให้โหลดแอปฯ แต่ก็มีประชาชนที่รู้เท่าทันค่อนข้างมาก และพยายามเตือนกัน ตรวจสอบกันเองสะท้อนให้เห็นความรู้เท่าทันของประชาชนมากขึ้น
จากกระบวนการหลอกลวงเหล่านี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนตื่นตัว และภาคส่วนอื่นๆ ภาครัฐ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ รวมถึงสื่อเองก็ต้องก็ต้องทำหน้าที่ต่อไป มีแพตเทิร์นบางอย่าง ที่จะเห็นตามหน้าข่าวช่วงที่ผ่านมา สื่อนำเสนอค่อนข้างเยอะ จะมีกรณีใดบ้าง แบบใดบ้าง เพื่อให้เป็นอุทธาหรณ์เตือนใจ พอนานๆ เข้า คนที่ไม่ประสงค์ดี ก็เปลี่ยนวิธีการไปเรื่อย ๆ ก็ต้องอัพเดทกันเรื่อย ๆ
ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ อาจจะมีจุดอ่อนในการป้องกันข่าวปลอม เรื่องเคลื่อนไหวช้า ชี้แจงช้า หรือบางครั้งสื่ออยากได้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากหน่วยงานโดยตรง ก็ยังต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ กว่าจะได้คำตอบ บางทีสื่อทวงถามไป กว่าจะใช้เวลาก็เสียหายในวงกว้างไปแล้ว
เอกพล ยังชี้ให้เห็นความน่าเป็นห่วงของ แพลตฟอร์ม ที่รูปแบบทำให้เกิดการ วนซ้ำข่าวเก่า จนสร้างความสับสน โดยชี้ว่า ทางแก้คือต้องระบุวันที่ เวลาให้ชัดเจน สิ่งนี้จะช่วยได้ ทำให้ตรวจสอบกลับไปได้ เพราะข่าวเปลี่ยนแปลงบ่อย สำหรับหน่วยงานต่างๆ ก็ควรใช้ลักษณะนี้เช่นกัน
“TikTok ค่อนข้างน่ากลัว เพราะลักษณะอัลกอริทึม ไม่เรียงตามเวลา แต่เรียงตามความสนใจ และบางทีขุดคลิปเก่ามาให้ดู บางทีโพสต์ไป 2-3 เดือนแล้วก็ยังเห็นอยู่ เพราะเป็นไปตามความสนใจของคนในช่วงนั้นๆ เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกันว่า จะจัดการอย่างไร เช่น หากมีสถานการณ์ทางการเมือง มีม็อบ มีการประท้วง มีภาพความรุนแรง หรือการเรียกร้องอะไรบางอย่าง ถ้าเป็นช่วงเหตุการณ์นั้น แล้วคลิปก็ยังวนกลับมา ก็อาจจะสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน เกิดความตื่นตระหนก โกรธแค้นขึ้นมา กลายเป็นกระแส ก็อาจจะลุกลามใหญ่โตได้เช่นกัน เป็นเรื่องที่น่าคิดและต้องเฝ้าระวัง”
ต้องเน้นความจริงมาก่อนความเร็ว
ยุคที่ข่าวลวง ข่าวปลอมเพิ่มจำนวนมากขึ้น กระบวนการทำงานของ THE STANDARD มีแนวทางว่า เราไม่ต้องการความเร็วทุกเรื่อง เราต้องการความชัวร์ เป็นอันดับหนึ่งมากกว่าความเร็ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่น้อง ๆ ต้องทำกันคือการเช็ค ไปที่ต้นทาง แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ เช่นหน่วยงานรัฐ องค์กรต่างๆ หากได้ข้อมูลมาแล้ว เกิดความเอ๊ะ เราไม่รีบเด็ดขาด โดยเฉพาะเรื่องที่อ่อนไหว เราจะยิ่งใช้ความระมัดระวัง เพื่อกลั่นกรอง ไม่อย่างนั้นความน่าเชื่อถือในระยะยาวจะหมด
ในอีกด้าน สถานการณ์รู้เท่าทันข่าวปลอมของสังคมในปัจจุบัน เอกพล มองว่าประชาชนตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดี นอกจากนี้ การเผยแพร่เคสต่างๆ ที่ประชาชนโดนหลอกเอาทรัพย์สินไป เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้อีกหลายคน ตอนนี้ระดับความรับรู้ในเรื่องนี้ค่อนข้างดีขึ้นมาก แต่ขณะเดียวกันมิจฉาชีพก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ฉะนั้นก็อยากให้ประชาชนตระหนักถึงข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีความอ่อนไหว ที่มิจฉาชีพน่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องไม่ให้ใครง่ายๆ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน
เครือข่ายตรวจสอบพบข้อมูลผิด-เท็จ
กุลธิดา สามะพุทธิ Fact checker อธิบายถึง “โคแฟค” COFACT (Collaborative Fact Checking) ว่า คือเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการตรวจสอบข่าวลวงและข้อเท็จจริง มีการร่วมมือกันของหลายๆ ฝ่าย ได้แรงบันดาลใจในการก่อตั้ง มาจาก
จากการรวมตัวของภาคประชาสังคมในไต้หวัน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันคือเป็นภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน
โคแฟค ก่อตั้งในปี 2562 โดยมี 8 องค์กรร่วมก่อตั้ง จากภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิและเสรีภาพ องค์กรสื่อมวลชน สถาบันการศึกษา ที่ทำงานด้านนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ ปัจจุบันเราทำงานหลายด้าน ทั้งเรื่องการสร้างเครือข่ายนักตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีกองบรรณาธิการเล็กๆ ในการตรวจสอบข่าวลวง และตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
4 ปีที่ผ่านมา เบื้องต้นช่วงปีแรกๆ เนื้อหาที่เราตรวจสอบ เน้นข้อมูลด้านสุขภาพ และผู้บริโภค เพราะช่วงโควิดจะมีข่าวลวงมาก สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางด้านการเมือง เราเริ่มจริงจังเมื่อต้นปี 2566 พร้อมรับการเลือกตั้งช่วงเดือน พ.ค. การตรวจสอบข้อเท็จจริงทางการเมือง หรือ Political disinformation ในช่วง 7 เดือน ก่อนการเลือกตั้งข่าวลวงหนาแน่นมากกว่าช่วงหลังเลือกตั้ง ถึงจะเยอะกว่าแต่ช่วงหลังก็ไม่น้อย แต่เปลี่ยนรูปแบบ โดยช่วงก่อนเลือกตั้งอาจจะเห็นข่าวลวงที่เป็นเชิงนโยบาย แต่หลังเลือกตั้งมุ่งเป้าไปที่ตัว สส.ที่ได้รับเลือกมา ในเชิงบุคคลมากขึ้น
มีข้อสังเกต 3 ประการ ทั้งช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง ถึง Political disinformation อย่างแรก คือเราพบว่ามีจำนวนมาก แพร่หลายอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม เปิดแอพไหน แพลตฟอร์มไหน ก็เจอหมด ทั้งข่าวลวง หรือข้อมูลเท็จทางการเมือง
ในการทำงานด้าน Fact Checking เราจะแบ่งข้อมูลเป็น 2 ประเภท คือ Misinformation คือข้อมูลผิด หรือข้อมูลเท็จ ที่เผยแพร่โดยคนเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้มีจุดประสงค์ร้าย เผยแพร่ต่อเพราะเชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริง กับอีกแบบ Disinformation คือข้อมูลที่บิดเบือน ที่เผยแพร่อย่างจงใจ มีเจตนาร้ายเพื่อสร้างความเสียหาย
ชี้ข้อมูลเท็จจัดการยาก เหตุเป็นความจงใจ
โคแฟคพบว่าประเด็นทางการเมือง Disinformation มีมากกว่า Misinformation และจัดการได้ยากกว่า เนื่องจากจงใจเผยแพร่ ดังนั้นแม้จะมีคนที่รู้ว่าเท็จ ก็ยังคงเผยแพร่ต่อ เนื่องจากมันสอดคล้องกับเป้าหมายของเขา คือสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
ข้อสังเกตที่ 2 คือ ข่าวลวงส่วนใหญ่ ฆ่าไม่ตาย แม้จะหักล้าง ชี้แจงแล้ว ก็ยังมีการเผยแพร่ต่อ แบบที่เราควบคุมไม่ได้
สุดท้าย ข้อ 3 เป็นเรื่องดี ที่พบว่าชาวเน็ตจำนวนมากมีพลัง แอคทีฟในการช่วยหักล้าง ในคอมเมนต์ก็จะพบว่า มีคนให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่แตกต่างออกไป และโคแฟคก็ได้ใช้ประโยชน์จากเบาะแสที่ชาวเน็ตทิ้งไว้ในคอมเมนต์ในการสืบเสาะหาข้อเท็จจริงได้อย่างดีมาก
สำหรับข่าวบิดเบือนส่วนใหญ่ มีทั้งการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย คือบุคคลทั่วไป รวมถึงจากบัญชีทางการของพรรคการเมือง หรือนักการเมือง และเป็นข้อความที่ส่งต่อกันในไลน์
เล็งรวบรวมสถิติเพื่อประเมินผลกระทบ
เมื่อถามถึงผลกระทบจากสถานการณ์ กุลธิดา ระบุว่า โคแฟคเริ่มต้นทำงาน เป็นองค์กรแรกๆ ที่มาจากข่าวลวงทางการเมือง เรายังไม่มีข้อมูลในเชิงปริมาณ หรือศึกษาไปถึงผลกระทบ ว่ากว้างขวางขนาดไหน ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่เราทำได้คือ การหักล้างข้อมูลเท็จเหล่านั้น โดยใช้กระบวนการทำงานเหมือนกับสื่อมวลชน คือหาต้นตอที่มา และตรวจสอบกับบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยเฉพาะคนที่เป็นเป้าหมายของข่าวเท็จนั้น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่เราทำงานในช่วงนี้ ก็คงจะได้รวบรวมในเชิงสถิติ เป็นตัวเลขมากขึ้น รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้แนวโน้มการใช้บริการโคแฟคของประชาชนที่ส่งข้อมูลให้ตรวจสอบ กุลธิดา ระบุว่า ในปีนี้เพิ่มขึ้นมาก และเป็นประเด็นเรื่องการเมืองเยอะ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เราอยากเป็นคนช่วยตอบข้อสงสัย และหาข้อเท็จจริงให้ได้มากกว่านี้ เราคงจะต้องทำงานหลายอย่าง
“คนให้ความสนใจกับการที่จะหาข้อเท็จจริง และไม่เชื่อเนื้อหาต่างๆ ที่มาทั้งหมด แต่การที่แต่ละคนมาช่วยตรวจสอบ ก็ยังมีข้อสังเกตว่าถ้าเป็นเรื่องการเมือง ที่ข้อมูลจะส่งผลไม่ดีต่อฝ่ายที่ตนเองสนับสนุน แต่จริงๆเราอยากให้ไปถึงขั้นที่ว่า ไม่ว่าข่าวลวงนั้น หรือข้อมูลเท็จนั้นเป็นข้อมูลเกี่ยวกับใคร ฝ่ายใด คนที่เราชอบหรือไม่ชอบ ก็อยากให้ยึดความจริงเป็นหลัก ต่อให้เป็นข่าวเท็จเกี่ยวกับฝ่ายที่เราไม่ชอบ หรือไม่เห็นด้วย เราก็จะต้องช่วยกันหักล้าง เราอยากจะผลักดันให้สังคมไปถึงจุดนั้น”
ความร่วมมือภาครัฐ-ประชาชนดีขึ้น
ส่วนความร่วมมือจากองค์กรหน่วยงานต่างๆ กุลธิดา ระบุว่า ได้รับความร่วมมือดีมาก จากผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ หรือบุคคลที่มีข้อมูลในเรื่องนั้นๆโดยตรง คิดว่าอาจจะเป็นเพราะสังคมเรามีคนที่ให้ความสำคัญกับการให้ข้อเท็จจริงเป็นนิมิตหมาย มิติที่ดีมาก
เมื่อถามถึงข่าวบิดเบือน การปล่อยข่าวเรื่องการเมือง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องตัวบุคคลหรือนโยบาย กุลธิดา ระบุว่า มีทั้ง 2 ส่วน ในช่วงก่อนเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นการพูดถึงนโยบายการปราศรัยหาเสียง จึงนำเนื้อหามาบิดเบือน เป็นเรื่องเชิงนโยบายเยอะ เช่น เป็นการอ้างผลงานในอดีต ซึ่งอาจจะเป็นความจริงแค่ส่วนเดียว
ส่วนหลังเลือกตั้ง เนื่องจากเราเห็นหน้าตา สส.แล้ว ก็จะมุ่งไปที่ตัวบุคคล เนื้อหาที่เป็นข่าวลวงเกี่ยวกับตัวบุคคล มีทั้งการขุดอดีต เช่นเคยร่วมชุมนุม การนำภาพบุคคลอื่น ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแล้วบอกว่าบุคคลในภาพนั้นคือนักการเมือง ก็มีหลากหลาย ทุกรูปแบบ
สำหรับอุปสรรค ปัญหา กุลธิดา ระบุว่า มีบางกรณีตัวอย่าง ที่เป็นข้อจำกัดในการทำงานของเรา บางประเด็นที่เราไม่สามารถตรวจสอบได้จริงๆ หากว่าเรารู้ว่าศักยภาพในการตรวจสอบไม่ถึงจริงๆ ในเรื่องนั้น ที่จะเอาข้อเท็จจริงมาบอกได้ เราก็จำเป็นต้องพัก ปล่อยไว้ก่อน ดีกว่าที่จะตรวจสอบได้ไม่สุด แล้วมาให้ข้อสรุป อาจจะยิ่งเป็นการทำให้ข้อมูลที่ไม่จริงเผยแพร่ต่อไป สร้างความปั่นป่วนในโลกออนไลน์ต่อไป ฉะนั้น ก็จะมีประเด็นทั้งที่ปล่อยผ่านเลย เพราะนอกเหนือจากขอบเขตที่เราจะทำได้
“กรณีที่ ถ้าไม่ใช่แหล่งข่าวที่เป็นนักการเมืองใกล้ชิดหรือสื่อก็ยากที่จะได้ข้อเท็จจริง เราจะเลือกประเด็นที่มันกระทบต่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ ถ้าไม่กระทบก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและเวลาไปตรวจสอบในเรื่องนั้นๆ ”
นอกจากการออกคำเตือนประชาชน โคแฟคมีโอกาสพัฒนาไปสู่การช่วยเหลือประชาชนอย่างอื่นได้หรือไม่ กุลธิดา ระบุว่า ในส่วนของตนทำงานเรื่องเกี่ยวกับข่าวลวงทางการเมืองมากหน่อย ที่เรากำลังทำงาน คือร่วมกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เช่น TikTok Facebook หรือทางผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลทั้งหลาย มีช่องทางสื่อสารกับองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้ เพื่อรายงานข้อมูลที่น่าจะผิดนโยบายของผู้ให้บริการ ก็จะขอให้ดำเนินการ เป็นต้น.