อัพเดตกฎหมาย PDPA กับการทำงานของคนสื่อ สำนักงาน PDPC เผยสถานการณ์สื่อ ธุรกิจสื่อ ปรับตัวได้ดี ส่วนนิยามสื่อมวลชนภายใต้กฎหมาย ให้ขึ้นอยู่กับสภาวิชาชีพ องค์กรสื่อ ขณะที่นักวิชาการสื่อเห็นแย้ง รัฐควรกำหนดนิยามตามกฎหมายเอง เพื่อให้ชัดครอบคลุมสื่อโซเชียล สื่อส่วนบุคคลหรือไม่ ชงสภาการสื่อฯ ยกระดับมาตรฐานจริยธรรมสื่อไทยเทียบเท่าสากล ด้านผู้บริหารสื่อชี้กฎหมายใหม่ส่งผลดีสื่อรอบคอบมากขึ้น เสนอมีไกด์บุ๊กรายงานสด
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “อัพเดตกฎหมาย PDPA กับการทำงานของคนสื่อ” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และจินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาการสื่อสารดิจิทัลคอนเทนต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
กฎหมาย Personal Data Protection Act หรือ PDPA คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เริ่มบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่สามารถระบุถึงตัวเจ้าของข้อมูลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ทั้งข้อมูลในรูปแบบเอกสาร รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ รูปถ่าย บัญชีธนาคาร อีเมล ไอดีไลน์ บัญชีผู้ใช้ของเว็บไซต์ ลายนิ้วมือ ประวัติสุขภาพ เป็นต้น
สำหรับ “สื่อมวลชน” ซึ่งทำหน้าที่รายงานข่าว ภายใต้จริยธรรม และแนวปฏิบัติ ของสภาวิชาชีพ และองค์กรสื่อ เป็นตัวกำกับดูแล แม้จะได้รับข้อยกเว้นตามกฎหมายนี้ แต่ก็ยังอยู่ภายใต้กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงมาพูดคุยถึงสถานการณ์ปัจจุบันหลังผ่านมาแล้วปีเศษ
ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือที่รู้จักในชื่อ PDPC บอกเล่าถึงพัฒนาการของสังคม และสื่อมวลชน กับกฎหมายฉบับนี้ ตั้งแต่ 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี 2562 โดยในช่วง 2 ปีแรก 2562-2564 คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก และขณะนั้นก็ประสบปัญหาเรื่องโควิด ปลายปี 2564 บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ภาคการเงิน เตรียมความพร้อม สังคมและสื่อจึงให้ความสำคัญตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้
ตลอดปี 2566 สื่อมวลชนเข้าใจมากขึ้น เนื่องจากสภาวิชาชีพสื่อ สมาคมสื่อ องค์กรสื่อ เริ่มร่วมกันจัดฝึกอบรมให้ผู้สื่อข่าว โดยผ่านกลไกความร่วมมือของ สคส. ขณะเดียวกัน บริษัทสื่อซึ่งมีอีกบทบาทด้านธุรกิจ ก็เริ่มปรับตัว เช่น รายการ เกมโชว์ ทำการตลาด บอกรับสมาชิก ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นประโยชน์ของบริษัท ไม่ได้อยู่ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ บริษัทสื่อต่าง ๆ ก็เริ่มปรับตัวเช่นกัน
ปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้ ขอคำปรึกษา สอบถามเรื่องสิทธิตามกฎหมายฉบับนี้เพิ่มมากขึ้น 70% บริษัทเป็นเอกชนขนาดใหญ่ และหน่วยงานของรัฐก็เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ต้นปี PDPC ได้เก็บสถิติ ที่มีคนโทรเข้ามา
“เป็นเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไป สังคมให้ความสนใจกับกฎหมายฉบับนี้มากขึ้น ความสนใจ ก็เริ่มจากเรื่องการถ่ายรูป ถ่ายคลิป เราเองได้พยายามประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชนก็ช่วยอย่างต่อเนื่อง ปีนี้เทรนด์จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวข้อมูลโดยตรง โดยเฉพาะปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็จะเข้าใจถึงความสำคัญของตัวข้อมูลมากขึ้น แม้แต่สื่อมวลชนเวลานำเสนอข่าว ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้อมูลรั่วไหล จากที่แต่ก่อนอาจไม่ทันระวัง มีการเผยแพร่แหล่งข่าวต้นทาง ละเมิดเจ้าของข้อมูล ซึ่งกลายเป็นว่าประชาชนที่ถูกละเมิดไปแล้ว ก็ยังถูกสื่อเผยแพร่อีกรอบหนึ่ง” ดร.สุนทรีย์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม PDPC ได้มอนิเตอร์สถานการณ์ หลังจากกฎหมาย PDPA บังคับใช้เต็มที่ กลุ่มเป้าหมาย คือ หน่วยงาน องค์กรที่มีการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล โดยทำงานเชิงรุก ดูตามโซเชียล แพลตฟอร์มต่าง ๆ ตามเว็บไซต์สาธารณะทั่วไป เราจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับทางสังคมถึงเจตนารมย์กฎหมาย เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
เมื่อถามถึงกรณีสื่อมวลชนจำเป็นต้องทำข่าวการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และธุรกิจต่าง ๆ กรณี ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แถลงข่าวแล้วสื่อนำไปเผยแพร่ มีการถ่ายทอดสด ไลฟ์สด ดร.สุนทรีย์ ให้ยึดหลัก ว่าการนำเสนอข่าวที่อยู่ในกรอบจริยธรรม ภายใต้นิยามของสภาวิชาชีพ และองค์กรสื่อ สามารถทำได้ โดยการรายงานข่าวนั้น เป็นประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบ แต่ทั้งนี้ หากมีกรณีละเมิดสิทธิสิทธิส่วนบุคคล ทำให้เจ้าของข้อมูลเสียหาย เขาก็มีสิทธิฟ้องร้องตามกฎหมายอื่นได้ เช่น หมิ่นประมาท ทั้งทางแพ่งและอาญา
โทษในกฎหมาย PDPA 3 รูปแบบ
สำหรับในกฎหมาย PDPA ก็มีโทษอยู่ 3 แบบ คือ
1. โทษทางแพ่ง ซึ่งศาลสามารถสั่งให้จ่ายสินไหมทดแทนเพิ่มเติมได้อีก 2 เท่า
2. โทษอาญา ถ้านำข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ (Sensitive Personal Data) ในมาตรา 26 เช่น ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลสุขภาพจิต ข้อมูลประวัติอาชญากรรม พฤติกรรมทางเพศ ความเชื่อในลัทธิ ศาสนา ปรัชญา นำไปแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบ ก็ถูกลงโทษทางอาญาได้
3. โทษปรับทางปกครอง ที่สามารถร้องเรียนได้ที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ตามกระบวนการรับเรื่อง เพื่อวินิจฉัยว่าผู้กระทำผิดละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายข้อมูลคุ้มครองส่วนบุคคลหรือไม่ ซึ่งในปีแรก (2565) ตัดสินไปแล้ว 60 กว่าเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการนำข้อมูลที่ผูกเรื่องความยินยอม กับสัญญาใช้บริการไปรวมกัน
ทั้งนี้ กรณีตัดสินถึงที่สุด จะเป็นการลงโทษทางปกครอง จะไม่เรียกว่าคำพิพากษาอย่างในศาลยุติธรรม ยังมีประเด็นอื่น ๆ อยู่ในกระบวนการ และหลังจากมีข้อสรุป สำนักงาน สคส. ก็จะเผยแพร่ เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติ เพื่อนำไปใช้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ดร.สุนทรีย์ เน้นย้ำ กฎหมาย PDPA กับการทำงานของคนสื่อว่า “กฎหมาย PDPA เป็นกฎหมายกลางที่ครอบคลุมบังคับใช้กับทุกกลุ่มกิจการทุกประเภท ทุกธุรกิจ จึงเป็นการวางหลักเกณฑ์กลางไว้ แต่ก็จะมีความเฉพาะอย่าง เรื่องของการนำเสนอข่าว ที่มีข้อยกเว้นอยู่ในกฎหมายว่า ไม่บังคับใช้กับเรื่องเสรีภาพสื่อมวลชน แต่ต้องยึดโยงกับประมวลจริยธรรม ที่สภาวิชาชีพกำกับดูกันเองด้วย ว่าได้วางแนวปฏิบัติอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องเสรีภาพของการนำเสนอข่าว”
ขณะที่กลุ่มสื่อส่วนบุคคล อาทิ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ต่าง ๆ ครอบคลุมด้วยหรือไม่ ดร.สุนทรีย์ ระบุว่า ในกฎหมาย PDPA ไม่มีนิยามสื่อมวลชนไว้เฉพาะ แต่ใช้คำว่ากิจการสื่อมวลชน ที่มีประมวลจริยธรรม ดังนั้นนิยามคำว่าสื่อมวลชน ต้องขึ้นอยู่กับสภาวิชาชีพ หรือองค์กรวิชาชีพ ว่านิยามคำว่าสื่อมวลชนไว้อย่างไร
สนับสนุนคนข่าวมีไกด์บุ๊กรายงานสด
ทางด้านผู้บริหารสื่อ คณิศ บุณยพานิช บอกเล่าถึงแนวปฏิบัติในการทำข่าวการแถลง ที่สุ่มเสี่ยงต่อละเมิดสิทธิส่วนบุคคลว่า สิ่งแรกที่ไทยพีบีเอส รวมทั้งสื่อ ยึดหลักคือ ข่าวนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่ แม้ว่าเรื่องนั้นอาจจะพาดพิงไปยังบุคคลที่สาม หรือมีการพูดถึงกรณีอื่น ๆ ถ้าเป็นสิ่งที่สาธารณชนรับรู้ แล้วเป็นประโยชน์ในด้านต่าง ๆ หากพาดพิงไปถึงส่วนใด ก็จะตรวจสอบเพิ่มเติม เราใช้หลักนี้ กับข่าวลักษณะนี้
“กรณีคุณชูวิทย์ กับการไลฟ์สด ที่พาดพิงคุณเศรษฐา และแสนสิริ อีกด้านหนึ่งนักข่าวก็พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติม ว่าเขามีประเด็นชี้แจงอย่างไร เพื่อรายงาน อาจจะเร็วไม่ทันข้อมูลที่แถลงขณะนั้น แต่เมื่อได้ข้อมูลก็ต้องรายงาน เพื่อไม่ให้เป็นการทำข่าวด้านเดียว”
คณิศ เห็นว่า ข่าวลักษณะนี้สามารถเป็นกรณีตัวอย่างได้ และผู้สื่อข่าวควรมีไกด์บุ๊กในการรายงานสด คือ ต้องรายงานด้วยว่า แม้นายชูวิทย์จะเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ประชาชนก็ควรจะต้องฟังข้อมูลอีกด้านเช่นกัน ซึ่งผู้สื่อข่าวควรพูดในขณะที่รายงานสด หรือไลฟ์ ถึงแม้ว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลที่สาม อาจจะยังไม่ได้ชี้แจงทันท่วงทีในเวลานั้น แต่เมื่อไหร่ที่ผู้สื่อข่าว มีข้อมูลอีกฝ่ายชี้แจง ก็ต้องรายงานเช่นกัน ไม่ว่าจะในแพลตฟอร์มใด ก็ต้องให้พื้นที่อีกฝ่าย ซึ่งไทยพีบีเอสก็ยึดหลักแนวปฏิบัตินี้
“ประเด็นเหล่านี้ อยู่ที่ว่าเราทำหน้าที่อย่างไร มีวิธีรายงานแบบไหน ให้บาลานซ์ เรามีวิธีเติมข้อมูลเนื้อหา หรือบริบทของการไลฟ์ในช่วงจังหวะเวลานั้นอย่างไร เพื่อให้คนดูเข้าใจว่า เวลาเราทำหน้าที่ ก็ทำอย่างระมัดระวัง บนความรับผิดชอบในด้านอื่นๆ ด้วย” คณิศ กล่าว
กฎหมายใหม่ส่งผลดีสื่อรอบคอบมากขึ้น
สำหรับกฎหมาย PDPA กับการทำงานของคนสื่อ ก่อนและหลังการบังคับใช้ การทำงานต่างกันอย่างไรนั้น คณิศ ระบุว่า สื่อระมัดระวังขึ้น รอบคอบขึ้น ซึ่งในช่วงก่อนบังคับใช้ องค์กรได้ให้ความรู้ทุกวิธีการ เวิร์กชอปทั้งนักข่าว และกองบรรณาธิการ เพื่อเรียนรู้อย่างเข้มข้นมาก มีการลงรายละเอียดว่า การรายงานข่าว การนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคล ต้องระมัดระวังอะไรบ้าง เช่นกรณีผู้ต้องหา ที่ตำรวจยังต้องติดตามจับกุมตัว เรื่องนี้ก็ถกกันมากว่า จะเปิดเผยได้ไหม เมื่อสื่อมีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือกับทางการ เพื่อแก้ปัญหาสังคม
เหล่านี้ เราคุยกันกับผู้สื่อข่าว ว่าทำได้ แต่ที่ต้องระมัดระวัง คือตัวชื่อผู้ต้องหา และนามสกุล เมื่อก่อนเราอาจจะใช้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันเราจะเลี่ยงนามสกุล เพื่อไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ ยุคนี้เป็นยุคสื่อออนไลน์ ข้อมูลข่าวสารเปิดเผยมาก สามารถเอาข้อมูลไปค้นหาถึงครอบครัว จนเกิดการล่าแม่มด ทั้งที่ครอบครัวเขาไม่ได้เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ ต้องระมัดระวังมาก
กรณีที่อาจมีข้อยกเว้น คือบุคคลสาธารณะ หากไม่พูดข้อมูลเกี่ยวข้อง สื่อก็จะถูกตั้งคำถาม อย่างเช่น กรณีเจ้าสัวคนหนึ่งที่เข้าป่าล่าสัตว์ที่ในองค์กร ก็คุยกันเยอะมาก ซึ่งการเป็นผู้ต้องหาเราพยายามหลีกเลี่ยงภาพใบหน้า โดยทำเบลอ หรือไม่เปิดเผยชื่อนามสกุล แต่กรณีนี้การเปิดเผยก็ต้องมีข้อยกเว้น เพราะบุคคลสาธารณะ ควรเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม ควรจะมีจริยธรรม จรรยาบรรณของการประกอบกิจการ ยิ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็ต้องยิ่งมีธรรมาภิบาล ฉะนั้นเรื่องแบบนี้จึงเปิดโอกาสให้ในกอง บก.ได้ถกเถียง แลกเปลี่ยนกัน จนมีข้อสรุป
ยึดหลักขยายประเด็นเป็นความรู้ให้สังคม
ขณะที่อีกกรณีตัวอย่าง ล่าสุด เรื่องการลางานของพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่ง ที่หัวหน้าไม่ให้ลาไปจัดการเรื่องศพมารดา จนกลายเป็นกระแสสังคม คณิศ ระบุถึงแนวปฏิบัติของไทยพีบีเอสว่า เรื่องนี้เราหลีกเลี่ยง ทั้งภาพ ทั้งชื่อนามสกุล พนักงานและหัวหน้างาน แม้ว่าพนักงานจะเป็นผู้เสียหาย สามารถให้สัมภาษณ์เปิดเผยได้ แต่เราไม่เปิดเผยทั้งตัวบุคคล และชื่อของโรงแรมแห่งนั้น
“เราไม่ได้พูดถึง วิธีคิดในการทำงาน ความขัดแย้งระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง แต่เรากำลังพูดถึงประเด็นที่สังคมเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายแรงงาน เรื่องสิทธิของพนักงาน ที่พยายามนำไปสู่ประเด็นว่า โซเชียลมีเดียกำลังทำหน้าที่ ในการจัดระเบียบสังคมเมื่อมีความคิดเห็นจากคนในสังคมจำนวนมาก ทำให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน กรมแรงงาน กรมคุ้มครองสวัสดิการแรงงานแม้แต่นายจ้างเอง มองเห็นเรื่องสิทธิของลูกจ้างที่ชัดเจนมาก ซึ่งเคสแบบนี้อาจจะไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เมื่อเป็นข่าวโด่งดังก็ทำให้คนตระหนักรู้ว่า การเป็นพนักงานมีสิทธิอะไรบ้าง นายจ้างและหัวหน้างาน ควรจะมีธรรมาภิบาลต่อพนักงานแบบไหน อย่างไร รวมถึงแม้กระทั่งตัวโรงแรมผู้ประกอบการ ซึ่งมีสาขาทั่วโลก ก็ปรากฏว่าดาวลดลงอย่างรวดเร็วมาก ทำให้สังคมได้เห็นพลังของโซเชียลมีเดีย นี่คือสิ่งที่เราพยายามนำเสนอข่าว ไปไกลกว่าเรื่องการได้ลางานหรือไม่ได้ลางาน หรือผลกระทบต่อหัวหน้างาน เราไม่มีหน้าที่ไปขุดคุ้ยว่าคนที่เป็นหัวหน้าเป็นใคร จากไหน มีครอบครัวอย่างไร ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น หรือต่อการเรียนรู้เรื่องแบบนี้”
บก.บห. ไทยพีบีเอส เน้นย้ำว่า การทำหน้าที่สื่อทุกวันนี้ ต้องมีทั้งจริยธรรม และต้องคำนึงถึงข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หนุนเสริมกัน เพราะตัวจริยธรรมจะละเอียดกว่า PDPA มาก เพียงแต่จริยธรรมไม่มีบทลงโทษทางกฎหมาย แต่มีบทลงโทษในองค์กร อย่างไทยพีบีเอส ถ้ามีเรื่องร้องเรียน ก็มีการสอบ ถ้าผิดจริยธรรม ผิดวินัยร้ายแรง มีการลงโทษ และสำหรับ PDPA เราก็ต้องปรับเนื้อหาให้เป็นคู่มือปฏิบัติงานด้วย
แนะสื่อตระหนักมากกว่ากฎหมาย PDPA
ด้านนักวิชาการสื่อ ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ฉายภาพสถานการณ์สื่อหลังจากกฎหมาย PDPA มีผลบังคับใช้ สิ่งที่มองเห็นชัดเจน คือความตื่นตัว ในช่วง 3-6 เดือนแรก สื่อระมัดระวัง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์หลากหลาย มีเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อน ที่สื่อนำเสนอค่อนข้างมาก แม้สื่อมวลชนจะได้รับการยกเว้นในสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะและอยู่ภายใต้กรอบจริยธรรม สื่อก็จะได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้จริยธรรมของสื่อมวลชนก็ต้องไปดูต่อถึงนิยามว่าสื่อมวลชนในปัจจุบันนิยามตรงนี้ครอบคลุมถึงกลุ่มอื่น ๆเช่นยูทูบเบอร์ เพจต่าง ๆ ด้วยหรือไม่ที่มีการนำภาพออกมาใช้และบางครั้งไม่เบลอบุคคลในภาพตรงนี้ค่อนข้างหมิ่นเหม่
แต่กระบวนการกฎหมายของประเทศไทยผู้เสียหายเท่านั้นที่จะเป็นผู้ร้องเรียนได้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับความเดือดร้อนแต่ไม่รู้กฎหมายและไม่รู้ช่องทางที่จะเข้าไปร้องเรียนเป็นมุมที่ละเอียดอ่อนจึงทำให้ภาพในตรงนี้ค่อนข้างเบา
ส่วนกรณีที่ยังเป็นเรื่องน่าห่วง และเป็นปัญหาที่ต้องคำนึงถึง อ.สิงห์ ชี้ว่า การนำเสนอข่าว ภาพข่าวของผู้ชุมนุมไม่ว่ากลุ่มใดก็ตาม ที่มีการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง อาจจะได้เห็นภาพเยาวชนที่ถูกเผยแพร่ออกมา จึงอยากให้สื่อคำนึงถึงความสุ่มเสี่ยงกฎหมายอื่นด้วย ไม่เฉพาะ PDPA เพราะกรณีที่เยาวชนเป็นผู้กระทำผิด ไม่ว่าลักษณะใดก็ตาม กฎหมายคุ้มครองเด็กจะระบุชัดว่า ห้ามถ่ายภาพ ไม่ใช่การเผยแพร่เท่านั้น และรวมถึงการห้ามระบุให้รู้สถานที่เรียนของเด็ก แม้แต่ชื่อเล่น
ชงสภาการสื่อฯ ยกระดับมาตรฐานสื่อ
ที่สำคัญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ อาจต้องมองถึงการให้ความรู้กับสื่อมวลชนไทย ให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับสื่อนานาชาติ ไม่ละเมิดสิทธิคนที่เป็นข่าว เหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ในสหรัฐอเมริกา ภาพเด็กที่ถูกทำร้ายจะไม่หลุดออกมาทางสื่อ แม้แต่ภาพผู้ที่กราดยิง จะไม่ระบุชื่อเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำพฤติกรรมเลียน ให้กลายเป็นคนดังขึ้นมา ถือเป็นการตัดตอนตรงนั้น
ขณะที่สื่อมวลชนไทยอาจจะต้องมองว่า ในสื่อต่างชาติ มีกฎหมายใดบ้าง ที่สามารถหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณา ทั้งนี้ประเทศไทยเองก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาต่าง ๆ มีข้อกำหนดใด ที่นำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้บ้าง สำหรับกฎหมาย PDPA เราก็ดูจากยุโรป และนำมาปรับใช้ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจำเป็นต้องมี เพราะเราอยู่ในสังคมโลกที่กฎเกณฑ์อยู่
กรณีชูวิทย์แถลงข่าวไลฟ์สด เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ในทางวิชาการ อ.สิงห์ มองว่า มี 2 ส่วน การทำหน้าที่ของคุณชูวิทย์ ที่ไม่ได้เป็นสื่อ กับกรณีสื่อมวลชนไปทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ การที่บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาเป็นบุคคลสาธารณะ ขณะเดียวกันก็ต้องดูไปถึง จริยธรรมของสื่อมวลชน ที่มีแนวปฏิบัติว่านำเสนอได้มากน้อยแค่ไหน
จากที่ติดตามการนำเสนอของสื่อมวลชนในปัจจุบัน กรณีการแถลงข่าวของนายชูวิทย์ สื่อทำหน้าที่คัดกรอง เป็นเกตคีปเปอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องชื่นชม ถึงการนำเสนอข้อมูลบางส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เมื่อสื่อทำตามหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมก็ไม่มีปัญหา
อย่างไรก็ตาม กรณีเกี่ยวเนื่อง คือบุคคลที่ถูกอ้างอิงถึง รปภ. แม่บ้าน สื่อมวลชนสามารถปิดชื่อได้ แต่การที่บางสื่อ ไปติดตามสัมภาษณ์ ถึงบ้าน ถ่ายให้เห็นสภาพแวดล้อม ในส่วนนี้ ก็ต้องขออนุญาต ในการนำภาพมาใช้ เพราะสุ่มเสี่ยงกับกฎหมายพีดีพีเอ ควรมีการขออนุญาตให้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือบันทึกเสียงที่เขาอนุญาต โดยแจ้งว่า ขอสัมภาษณ์เพื่อนำไปเผยแพร่ในช่องทางใด สื่อใด อย่างน้อยก็เป็นการหลักฐานยืนยันได้ว่าเราได้ขออนุญาตเขาแล้วและเขาตอบรับแล้ว
“อัดไว้เป็นคลิปจะดีมาก เป็นการป้องกันตัวเองของสื่อมวลชนอีกทาง เพราะบางครั้งเราอาจจะขอเขา และขณะนั้นเขาอาจยินยอม แต่ภายหลังหากมีปัญหา เขาอาจจะมาฟ้องร้องสื่อมวลชนได้ แต่ถ้ามีคลิปที่ระบุว่า เราได้ขออนุญาตนำข้อมูลไปใช้แล้ว สามารถนำข้อมูลไปยืนยันในชั้นศาลได้ ว่าเราปฏิบัติรอบคอบตามกฎหมายแล้ว”
เสนอรัฐนิยามสื่อมวลชนตามกม.PDPA
ปัจจุบันนิยาม สื่อมวลชน ที่ถูกตั้งข้อสงสัยถึงสื่อส่วนบุคคล ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายพีดีพีเอหรือไม่ ฝ่ายใดควรจะเป็นฝ่ายกำหนดนิยามสื่อมวลชนในปัจจุบัน อ.สิงห์ มองว่า ตามปกติกฎหมายทุกฉบับ จะมีนิยามในกฎหมายอยู่แล้ว แต่นิยามนั้น อาจยังไม่ชัดเจนพอ ถ้าเป็นไปได้
พ.ร.บ.หลายฉบับ มักจะปรับปรุงเพิ่มเติมหลังใช้ไปแล้ว แม้แต่ PDPA เชื่อว่าตอนนี้ผู้ที่ใช้ประโยชน์ หรือผู้ดูแล ได้เห็นแล้วว่า ปัญหาอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นไปได้ อาจจะต้องฝาก ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ ทำร่างกฎหมายฉบับปรับปรุงขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาจุดบอดต่างๆ ของพ.ร.บ.ตนมองว่าเป็นจุดสำคัญมากกว่า
“กฎหมายทุกฉบับ ไม่มีอะไรสมบูรณ์ แต่อยู่ไปสักพักก็จะรู้ว่า ปัญหามีอะไรบ้าง แล้วมีอะไรที่ต้องอัพเดต เนื่องจากบริบทของสังคม เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กฎหมาย PDPA ก็ต้องอัพเดตให้เห็นว่า สิ่งที่ปัญหาตอนนี้ อย่างเช่น นิยามของสื่อมวลชนคืออะไร ใครจะเป็นผู้กำหนด อยู่ ๆ สภาการสื่อมวลชนจะกำหนดเองก็คงไม่ได้ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐ ฉะนั้นรัฐจะต้องเป็นผู้กำหนด คำว่าสื่อมวลชน ครอบคลุมถึงกลุ่มใดบ้าง” อ.สิงห์ ทิ้งท้าย.