กองทุนสื่อฯ จัดเสวนาและแถลงความร่วมมือบูรณาการเสริมพลังการทำงานเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง (Thai Fact-Checking Network) ตั้งเป้าระยะยาวให้มีมาตรฐานระดับสากล สร้างแรงจูงใจคะแนนความดี จูงใจให้มีคนร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงมากขึ้น พัฒนากฎหมายให้นำเงินค่าปรับกรณีที่เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนไปใช้เพื่อการต่อสู้ตรวจสอบข้อมูลบิดเบือน
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดงานเสวนาวิชาการ และแถลงความร่วมมือเพื่อบูรณาการและเสริมพลังการทำงานของเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง (Thai Fact-Checking Network) ที่โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท เพื่อรายงานผลการศึกษา แลกเปลี่ยนความรู้ และแนวทางการร่วมมือในการบูรณาการการทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสังคมไทย
ในงานเสวนา สเตฟาน เดลโฟร์ หัวหน้าสำนักข่าวเอเอฟพี ประจำกรุงเทพฯ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ข่าวปลอมในปัจจุบัน และความสำคัญของการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสื่อมวลชน นอกจากนี้ยังมีการรายงานผลการศึกษาแนวทางการทำงาน และออกแบบระบบสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อบูรณาการและเสริมพลังภาคีเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และการเสวนา ถอดบทเรียนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย สู่การสร้างความร่วมมือของภาคีเครือข่าย โดย กุลธิดา สามะพินธุ Fact checker ดร.สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. และดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ทั้งนี้ ผลการศึกษา ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรื่อง แผนงานบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาคีเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checking Network) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อบูรณาการการทำงาน ของหน่วยงานภาคีเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงให้สอดคล้องและร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างพลังในการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้นักวิชาการ นักวิชาชีพ และผู้เชี่ยวชาญ ในสาขาอาชีพต่าง ๆ เข้ามาเป็นสมาชิกในหน่วยงานภาคีเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น
ผลการศึกษา แบ่งเป็น ระยะสั้น พัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ให้มีความรู้ความสามารถด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Checking Skills) สร้างแรงจูงใจในการชวนผู้เชี่ยวชาญสาขาการแพทย์ สาธารณสุข การเงิน การป้องกัน อาชญากรรม ฯลฯ สาขาต่างๆ เข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้ความรู้ด้านทักษะ การรู้เท่าทันสื่อ และการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กับผู้บริหารกลุ่มสนทนา แนวทางการหาเงินทุน สนับสนุนจากภาครัฐ ทั้ง หน่วยงานราชการ องค์การมหาชน และรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือ ซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์ม ฯลฯ ที่ จำเป็นต่อการสนับสนุนงานตรวจสอบข้อเท็จจริง บริหารระบบการทำงานด้วยการจัดตั้งเครือข่ายเชิงพื้นที่ และเครือข่ายเชิงประเด็น เชื่อมต่อระหว่างศูนย์กลางกับภูมิภาคต่าง ๆ สร้างความร่วมมือด้วยการบูรณาการภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรจากภาคส่วนต่าง ๆ วัดความสำเร็จด้วยการกำหนด ตัวชี้วัด และการตรวจประเมินผลเป็นระยะ ๆ
ระยะกลาง พัฒนาบุคลากรด้านการบรรณาธิการการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Checking Editorial) พัฒนาผู้อบรมฝึกสอน (Train the Trainers) ให้ความรู้ด้านทักษะการรู้เท่าทันสื่อ และการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กับประชาชน สร้างแรงจูงใจในการขยายเครือข่ายให้ผู้เชี่ยวชาญ/สภา และสมาคมวิชาชีพต่างๆ เข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง ระดมทุนสนับสนุนจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสื่อ การให้บริการโทรคมนาคม และแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ขยายระบบงานเทคโนโลยีให้เชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกันอย่างบูรณาการ ในด้านการรับ เรื่องร้องเรียน การบูรณาการ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ฐานข้อมูล องค์ความรู้ด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง กระชับความสัมพันธ์ของระบบการทำงานด้วยการประชุมพบปะ เครือข่ายเชิงพื้นที่ และเครือข่ายเชิงประเด็น เชื่อมต่อระหว่างศูนย์กลางกับภูมิภาคต่าง ๆ เป็นครั้งคราว ยกระดับการบูรณาการภารกิจ หน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรจากภาคส่วนต่าง ๆ ให้ใกล้ชิดเพิ่มขึ้น วัดความสำเร็จด้วยการกำหนดตัวชี้วัด และการตรวจประเมินผลเป็นระยะ ๆ พร้อมปรับปรุงผลการดำเนินงาน
ระยะยาว พัฒนาบุคลากรด้านความรู้ในการบริหารจัดการองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Checking Organization Management) พัฒนาจัดหาบุคลากรใหม่ให้เหมาะสมกับภารกิจด้านการ ตรวจสอบข้อเท็จจริง สร้างแรงจูงใจคะแนนความดี เพื่อจูงใจผู้ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง พัฒนากฎหมายเพื่อให้นำเงินค่าปรับในกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนไปใช้เพื่อการต่อสู้/การตรวจสอบข้อมูล บิดเบือน/หน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริง พัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตและสื่อดิจิทัลที่เป็นฐานข้อมูลกลางในการเก็บข้อมูลผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง การบรรณาธิการผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง และฐานข้อมูลกลางเพื่อการ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง พัฒนาระบบ AI เพื่อสนับสนุนงานตรวจสอบข้อเท็จจริง สานสัมพันธ์ระบบการทำงานจัดประชุมพบปะเครือข่ายเชิงพื้นที่ และเชิงประเด็น เชื่อมต่อระหว่างศูนย์กลางกับภูมิภาคบ่อยครั้ง ยกระดับการบูรณาการภารกิจ หน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากร จากภาคส่วนต่าง ๆ ให้ใกล้ชิดเพิ่มขึ้น วัดความสำเร็จด้วยการบรรลุตัวชี้วัด ตรวจประเมินปรับปรุงผลการดำเนินงานสม่ำเสมอ ผลักดันให้เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงไทยมีมาตรฐานระดับสากล เช่น IFCN เป็นต้น.