นักวิชาการสื่อชี้แนวโน้มเด็กเยาวชนชุมนุมทางการเมืองเพิ่มขึ้นจาก 3 สาเหตุ โดยเฉพาะม็อบระดับชาติ สุ่มเสี่ยงพัฒนาไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่อายุลดลง ห่วงกลุ่มคนเบื้องหลังเซ็ตสถานการณ์ หวังชิงพื้นที่ข่าว ย้ำสื่อยึดกระบวนการบรรณาธิการไม่ตกเป็นเครื่องมือ ปล่อยความรุนแรงสู่สังคม ขณะที่สภาการสื่อฯ เล็งเพิ่มแนวปฏิบัติการทำข่าวม็อบเด็ก เหตุสุ่มเสี่ยงกฎหมาย
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง การทำข่าว “ม็อบเด็ก-เยาวชน” ในยุคข้ามเส้น ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และสืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล วีรศักดิ์ โชติวานิช ประธาน คณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นรพร พจน์จำเนียร ผู้สื่อข่าวสำนักข่าววันนิวส์
การชุมนุมของเด็กและเยาวชน ที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มทะลุวัง” เพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง เชิงสัญลักษณ์ที่หน้าพรรคเพื่อไทย และเกิดเหตุกระทบกับการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว ถูกลูกหลง กลายเป็นประเด็นถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุม ขณะที่สื่อมวลชนก็ได้รับผลกระทบในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องใช้ความระมัดระวัง ทั้งเนื้อหาข่าว ภาพข่าว ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก รวมทั้งแนวปฏิบัติของสื่อมวลชนเอง
ธาม เชื้อสถาปนศิริ ตั้งข้อสังเกตถึงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนว่า การรวมตัวทางการเมืองทำกิจกรรมในยุคหลัง ได้เห็นพัฒนาการระดับความรุนแรงมากขึ้น และอายุผู้เข้าร่วมชุมนุมลดลงเรื่อย ๆ โดยจะเห็นเด็กเป็นองค์ประกอบหนึ่งของม็อบ หรือกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งถ้าใช้คำว่าเป็นม็อบ จะมีความหมายลบ แปลว่ามวลชนที่บ้าคลั่ง แต่ถ้าเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม ก็แสดงว่าไม่มีการทำลายทรัพย์สินราชการ บุกรุกพื้นที่สาธารณะ ชุมนุมค่อนข้างสงบเรียบร้อย
“ในช่วงระยะหลัง เราเห็นเด็ก ๆ เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในม็อบการเมืองระดับชาติ ระดับการเลือกตั้ง ระดับรัฐบาล และพัฒนาไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น”
ขณะที่การชุมนุมยุคนี้่ อ.ธาม ระบุว่า ไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนอดีต “ที่สำคัญปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงแค่เกิดเหตุการณ์ แล้วสื่อมวลชนไปรายงาน แต่มีการเซ็ตเหตุการณ์ เช็ตอีเวนท์ เพราะหวังพื้นที่สื่อทางการเมือง เขาอาจไม่ได้บอกตรงไปตรงมาเหมือนม็อบแต่ก่อน ที่เรียกร้องอะไรตรงไปตรงมา แล้วนักข่าวก็ไปทำข่าว แต่ปัจจุบันมีการวางหมากวางกล เพื่อชิงพื้นที่ข่าว ชิงประเด็น ต้องได้ข่าว ภาพเหตุการณ์ จึงทำให้นักข่าวปัจจุบันทำงานลำบากมากขึ้น ไหนจะต้องได้ข่าว ได้พื้นที่ข่าวแล้ว สื่อที่ไปทำข่าวกลับกลายเป็นผู้ประสบภัยจากการไปทำข่าวม็อบเสียเอง”
3 สาเหตุการชุมนุมของเด็กเพิ่มขึ้น
สาเหตุที่เยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น อ.ธาม มองว่า หลัก ๆ คือ 1.ทุกประเทศมีกฎหมายเลือกตั้ง และอนุญาตให้เด็กอายุ 18 ปีขึ้นไปมีสิทธิในการเลือกตั้ง จึงมีความตื่นตัวทางการเมือง
2.การเปลี่ยนแปลงของสื่อ ที่ทำให้เด็ก ๆ มีช่องทางสื่อสารเป็นของตัวเอง ไม่ได้ถูกจำกัดแค่กิจกรรมในชั้นเรียน ในโรงเรียน ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ และต้องยอมรับว่าเด็กไม่ได้เสพสื่อแบบคนรุ่นเก่า แต่เขามีช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีทั้งการชี้นำ มีความเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง ซึ่งความคิดเห็นที่ชี้นำ อาจมีอคติ มีความเกลียดชัง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ เป็นหมากของกลุ่มของขั้วทางการเมือง ฉะนั้นเด็ก ๆ ที่ใช้สื่อมาก ๆ เหล่านี้ อาจเริ่มอินทางการเมือง
ที่สำคัญในระยะหลัง คือเหตุผลข้อที่ 3.การชุมนุมในปัจจุบัน ไม่ได้ตรงไปตรงมา อาจมีการใช้เด็กเป็นเหยื่อ หรือเป็นตัวล่อทางการเมือง ต้องยอมรับว่าถึงแม้อนุสัญญาสิทธิเด็ก จะให้สิทธิเด็กสามารถพูดถึงเรื่องการเมืองได้ แต่เด็กก็ยังเป็นผู้เยาว์ วุฒิภาวะการใช้เหตุผลอาจจะยังน้อย ที่สำคัญกฎหมายก็ยังพูดถึงพ่อแม่ในฐานะที่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองทางกฎหมาย ฉะนั้นความขัดแย้งทางการเมือง การที่เรามีอคติความเกลียดชังทางการเมือง หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือทางการเมือง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่
สื่อเสี่ยงถูกใช้ประโยชน์จากคนเบื้องหลัง
ขณะที่ในมุมสื่อ อ.ธาม มองว่า นักข่าวปัจจุบัน ก็ดูเหมือนจะถูกใช้ประโยชน์จากการที่มีเด็ก คือ ต้องได้ภาพข่าว ได้ประเด็นดราม่าในการไปทำข่าว ซึ่งทุกวันนี้เหมือนการทำข่าวประกอบการรับสารภาพ ที่มีนักข่าวไปมุงกันจำนวนมาก มีการปะทะกัน จึงทำให้บรรยากาศข่าว และการทำงานของสื่อมวลชนปัจจุบันสลับซับซ้อน ยากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามสำหรับสื่อมวลชน แม้จะมีแนวปฏิบัติขององค์กรวิชาชีพสื่อเรื่องการทำข่าวม็อบ แต่เรามาถึงจุดที่ยังไม่มีแนวปฏิบัติการทำข่าวม็อบเด็กโดยเฉพาะ เรามีแต่ม็อบผู้ใหญ่ ซึ่งปัจจุบันม็อบเด็กยากกว่า เพราะเด็กเป็นผู้เยาว์ โดยกฎหมายเราต้องปกป้อง แต่เมื่อเด็กในกรณีแบบนี้เป็น Protester (ผู้ต่อต้าน) ซึ่งในหลายประเทศก็มีเหมือนกัน นักข่าวก็ต้องรู้เท่าทันว่า กลุ่มการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีทั้งทุน ฐาน ความคิด แรงผลักดัน ที่ไม่ได้ตรงไปตรงมา
เน้นย้ำกระบวนการบรรณาธิการ
“ฉะนั้น กรณีที่นักข่าวไปรายงานข่าวเชิงปรากฎการณ์ การกระทำเชิงสัญลักษณ์ ที่มีทั้งโดยสันติ และโดยรุนแรง การทำลายสถานที่ การใช้สีสาด การทำลายอุปกรณ์ต่าง ๆ การใช้วาจาก้าวร้าวรุนแรง สื่อต้องคิดก่อนว่า การที่เราไปไลฟ์สด ที่เห็นสัญญาณความรุนแรง เราจะใช้ช่องทางสื่อของเรา ปล่อยเรื่องเหล่านี้ คำพูดพวกนี้ แล้วมีคนดูจำนวนมาก ได้เรตติ้ง หรือเราจะเป็นสื่อที่รายงานความเกรี้ยวกราด ความโกรธขึ้งเหล่านี้ หรือเราควรจะเซ็นเซอร์ตรงนี้ไหม” อ.ธามกล่าว พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงกระบวนการบรรณาธิการข่าว ที่สื่อควรต้องคัดกรองก่อนนำเสนอ
“เราควรจะรายงานข่าวลักษณะนี้ โดยตัดภาพความรุนแรง คำพูดที่เป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงออกไป ตัดเนื้อหาถ้อยคำความเกลียดชังออกไปให้หมดหรือไม่ เพราะในทางหนึ่ง เด็ก ๆ พวกนี้ ก็ต้องได้รับการปกป้อง บางทีเขาไม่รู้หรอกว่า กำลังพูดอะไรที่เกรี้ยวกราดออกไป” อ.ธาม กล่าว
ผู้สื่อข่าวมีหน้าที่บอกว่า เด็กมีสิทธิพูดได้ แต่สื่อก็มีสิทธิคัดกรอง เพราะเขาไม่รู้ถึงผลลัพธ์ที่สื่อสารออกไป จะกระทบกับตัวเอง ถูกสังคมมองกลุ่มพวกเขาอย่างไร การสื่อสารจะเป็นประเด็นที่ตรงไปตรงมา โดยไม่จำเป็นต้องมีความรุนแรง ถ้าสื่อมวลชนทำหน้าที่คัดกรองและไม่ทำหน้าที่เหมือนแค่แมสเซ็นเจอร์
สภาการสื่อฯ เล็งเพิ่มแนวปฏิบัติม็อบเด็ก
มุมมองของประธานจริยธรรม สภาการสื่อฯ ต่อการชุมนุมของเยาวชน ที่ท้าทายการทำหน้าที่สื่อ วีรศักดิ์ โชติวานิช ระบุว่า ล่าสุดได้มีการหารือกันเป็นการภายในองค์กรวิชาชีพ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ปี 2561-62 สื่อมีบทเรียนในการทำข่าวต่าง ๆ และออกแนวปฏิบัติเรื่องการนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ หลายรูปแบบ รวมทั้งการนำเสนอข่าวสารในภาวะวิกฤต ซึ่งรวมถึงการชุมนุม
ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภา 2566 ก็มีการชุมนุมประท้วงมากมาย หากย้อนกลับไป การทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าว ในการประท้วงปี 2565 ช่วงการประชุมเอเปก ก็ได้รับผลกระทบ ได้รับบาดเจ็บจากการปฎิบัติหน้าที่ แต่แนวปฏิบัติที่จะคุ้มครองสื่อมวลชนภาคสนาม เรื่องเกี่ยวกับการชุมนุมโดยตรง เรายังไม่มี
กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หน้าพรรคการเมือง ซึ่งมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มทะลุวัง เข้าไปแสดงความประสงค์เรียกร้องต่อพรรคการเมือง แม้จะเป็นสิทธิทางการเมือง ที่มีความคุ้มครองทางกฎหมาย แต่การกระทำอะไรก็ตามที่ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ก็เป็นดาบสองคมกับผู้ชุมนุมเช่นกัน
สถานการณ์ลักษณะนี้ คิดว่าควรจะถึงเวลาที่องค์กรวิชาชีพต่าง ๆ จะต้องมาทบทวนการออกแนวปฏิบัติ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เพราะก่อนหน้านี้ เราจะเห็นถึง การทำหน้าที่ของสื่อที่กระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ซึ่งการทบทวนแนวปฏิบัติ ก็เพราะความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ปัจจุบันรวดเร็วมาก โดยเฉพาะวิกฤตทางการเมือง การจัดตั้งรัฐบาล ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความรู้สึกของผู้สนับสนุน สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่คาดคิดว่าจะเกิดความรุนแรง โดยเฉพาะการกระทำที่ส่งผลกระทบกับสื่อมวลชนในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น เราจึงพิจารณาว่า ควรจะออกแนวปฏิบัติใด เพื่อให้คุ้มครองการหน้าที่สื่อด้วย
“กรรมการจริยธรรมของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เตรียมพิจารณายกร่างแนวปฏิบัติ โดยจะนำไปหารือในที่ประชุมสภาการฯ ในครั้งหน้านี้ทันที” วีรศักดิ์ ระบุ
สื่อพร้อมรับฟังความเห็นเยาวชน
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องเชิญตัวแทนผู้ชุมนุมมาหารือกับองค์กรสื่อด้วยหรือไม่ วีรศักดิ์ ระบุว่า ในกระบวนการทำแนวปฏิบัติ เมื่อถึงขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็น อาจจะเชิญกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหารือ เพื่อทำความเข้าใจว่า สื่อไม่ได้เป็นคู่กรณี ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของฝ่ายใด การทำหน้าที่เป็นการนำเสนอข่าวให้สังคมได้รับทราบความถูกต้อง ข้อเท็จจริง ฉะนั้นเรื่องการชุมนุม ต่างฝ่ายต่างก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการกระทำ ที่อาจส่งผลกระทบกับสื่อที่ทำหน้าที่ เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนอยากจะฝากทำความเข้าใจประเด็นนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม กรณีมีข้อสังเกตว่า ในการทำข่าวสถานการณ์ อาจจะแยกได้ยาก ระหว่างสื่อวิชาชีพ กับสื่อส่วนบุคคลต่างๆ ที่ใช้มือถือถ่ายคลิป รายงานสด วีรศักดิ์ ระบุว่า องค์กรสื่อได้มีสัญลักษณ์ปลอกแขน สำหรับสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ เพื่อแสดงตน ให้เป็นจุดสังเกตได้ง่าย ทั้งของเจ้าหน้าที่ระหว่างปฎิบัติงาน ซึ่งหลายองค์กรวิชาชีพสื่อ ได้ทำความเข้าใจกันว่า ต้องสร้างอัตลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ของผู้ทำหน้าที่สื่อหลักในพื้นที่ชุมนุม อีกทั้ง ปัจจุบันการชุมนุมยังได้กระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ด้วย ไม่เฉพาะในส่วนกลาง
ฉะนั้น การมีสัญลักษณ์ ก็เป็นความจำเป็น และอาจมีสิทธิเข้าถึงแหล่งข่าวในการทำงานภาคสนาม เจ้าหน้าที่ก็จะสังเกตเห็นได้ง่าย และมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการปฎิบัติงาน
ความยากของสื่อสุ่มเสี่ยงกฎหมายเด็ก
เมื่อถามถึงความแตกต่าง ยากง่ายในการข่าวม็อบที่เป็นม็อบผู้ใหญ่กับม็อบเด็กเยาวชน วีรศักดิ์ มองว่า ลักษณะการกระทบกระทั่งกันบางครั้งม็อบสีเสื้อ ที่เป็นเยาวชนน่าจะรุนแรงกว่า ซึ่งต้องเข้าใจว่าพวกเขายังเป็นเยาวชน อาจจะไม่ได้หมายถึงประสบการณ์น้อย แต่ในเรื่องการแสดงออก อาจจะมีอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขณะที่การทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวก็ลำบากในเรื่องของเยาวชน เพราะทั้งการนำเสนอข่าว และการนำเสนอภาพ เรามีกฎหมายคุ้มครองเด็ก รวมทั้งมีแนวปฏิบัติของสภาการสื่อมวลชนเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวเด็กและเยาวชน เป็นกรอบในการทำงาน ขณะเดียวกันสื่อเองก็ต้องนำเสนอความจริงให้ปรากฏต่อสังคม จึงทำให้การทำงานยาก
อีกปัญหาที่ปรากฎในการทำข่าวที่มีเยาวชน และบางครั้งสื่อไม่ได้เบลอหน้า ได้มีการพูดคุยหารือ และมีข้อแนะนำอย่างไรหรือไม่ วีรศักดิ์ กล่าวว่า ในกฎหมาย มีกรอบอายุของเยาวชนและเด็ก ซึ่งแนวปฏิบัติเรา ก็อิงมาจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ เพราะฉะนั้นเรื่องภาพบางครั้งก็เกิดจาก เวลานำเสนอที่เป็นรายงานสด ไลฟ์สด ส่วนหนึ่งก็อาจหลุดรอดออกมา
อีกส่วน ที่เป็นการนำเสนอข่าวซ้ำ ก็ต้องมาดูว่า บุคคลที่อยู่ในข่าว ยกตัวอย่าง กรณีน้องหยกเวลาสื่อนำเสนอข่าว สื่อเองก็ปฏิบัติภายใต้กรอบจริยธรรมกว่า 90 เปอร์เซนต์ คือ นำเสนอข่าวที่ใช้ภาพด้านหลัง หรือถ้ามีด้านหน้า ก็จะเบลอภาพ แต่เนื่องจากเป็นการชุมนุมแล้วมีคนหมู่มาก ฉะนั้นก็อาจจะมีบางช็อตที่หลุดไปบ้าง สำหรับการทำหน้าที่สื่อในภาวะการณ์แบบนี้ ตนถือว่าสื่อก็เคารพในกติกาดีพอสมควร มากกว่าเมื่อก่อนเยอะ
ยึดกรอบจริยธรรมคุ้มครองการทำหน้าที่
อย่างไรก็ตาม องค์กรสื่อ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และอยากให้กำลังใจสื่อภาคสนาม ที่ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังตัวเองด้วย การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน มีข้อกำหนดทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ตรงกับบริบท การนำเสนอข่าวชุมนุมอย่างกลุ่มทะลุวังที่เกิดขึ้น แต่ก็อนุโลม สามารถนำแนวเหล่านั้นมาปรับใช้กับทำงานได้ เพราะจะทำให้ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล หรือพีดีพีเอด้วย เพราะหากสื่อทำหน้าที่ภายใต้กรอบจริยธรรม ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายนี้ด้วย
อย่างไรก็ตามในฐานะนักกฎหมาย วีรศักดิ์ ได้ให้แง่คิดว่า กรณีเด็กและเยาวชน ที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการชุมนุมต่าง ๆ แม้จะไม่ได้ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรมเหมือนผู้ใหญ่ แต่เรื่องของประวัติคดี ก็จะเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีมาตรการในการบันทึกประวัติ แม้จะไม่เข้มข้นเหมือนผู้ใหญ่ แต่ก็เป็นประวัติ ที่ตรวจสอบย้อนกลับไปยังสถานพินิจได้ ถึงการลงโทษ การควบคุม ซึ่งจะเป็นประวัติติดตัวเด็กด้วยเช่นกัน อย่ามองเพียแค่ว่า เป็นเด็กและเยาวชน ศาลต้องเมตตา แต่หากมีพฤติกรรมทำผิดซ้ำ ศาลก็เคยกำหนดมาตรการไว้ และศาลอาจใช้มาตรการเข้มงวดขึ้นได้ ตามดุลพินิจ
ถอดบทเรียนสื่อภาคสนามเพิ่มความระวัง
ด้าน นรพร พจน์จำเนียร ผู้ได้รับผลกระทบจากการทำข่าวการชุมนุมของเด็กเยาวชนหน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย ได้บอกเล่าถึงสถานการณ์ ในการทำงานที่ได้รับผลกระทบจากการปาขวดน้ำของเยาวชนรายหนึ่งระหว่างการทำกิจกรรมว่า เข้าใจว่าไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ ซึ่งตนก็ได้พยายามจะระมัดระวัง หลบเลี่ยง ในการทำหน้าที่ในการชุมนุมแต่ละครั้ง
สื่อที่ลงไปทำข่าวในวันนั้นก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ เพราะอารมณ์มวลชนอาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถไปควบคุมได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเซฟตัวเองมากกว่า ซึ่งในวันดังกล่าว หลังเกิดเหตุ น้อง ๆ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็ได้เข้ามาขอโทษทันที ในเวลานั้น ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะบางสถานการณ์ที่พลาดมาโดน ไม่ได้เป็นเจตนากลุ่มผู้ชุมนุม ตนไม่ได้โกรธเคือง
เมื่อถามว่า ในการทำข่าวชุมนุม ที่มักจะมีคำแนะนำให้ไปอยู่ด้านหลัง ด้านข้าง ฝั่งเจ้าหน้าที่ หรือฝั่งผู้ชุมนุม หรืออยู่นอกกรอบ แต่ยุคนี้อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในจุดไหน ก็มีความเสี่ยงไม่ต่างกัน ทางต้นสังกัดได้มีแนวปฏิบัติอย่างไรในการทำหน้าที่ นรพร กล่าวว่า ทางสำนักข่าวได้เตรียมความพร้อม ในสถานการณ์เกี่ยวกับม็อบ ทั้งอุปกรณ์เซฟตี้ต่าง ๆ โดยเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก อีกทั้งมีปลอกแขนองค์กรสื่อ เป็นสัญลักษณ์แสดงตน ว่าเป็นผู้สื่อข่าว และพยามอยู่ในแนวที่ปลอดภัย สำหรับวันที่เกิดเหตุ ถือเป็นการโดนลูกหลง เพราะผู้ชุมนุมไม่ได้ตั้งใจ
จากประสบการณ์ในการทำงานข่าว 7-8 ปี ผ่านการทำข่าวการชุมนุมมาเป็นระยะ ไม่ว่าแนวโน้มการชุมนุมจะรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างไร นรพร ยึดหลักว่า สื่อเองก็คงไม่ไปปะทะ เมื่อมีประสบการณ์การมาแล้ว ก็จะต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้นเตรียมพร้อมให้มากขึ้น เวลาไปทำข่าวแต่ละครั้ง โดยเฉพาะข่าวม็อบ ต้องดูว่าอยู่ในแนวไหนที่จะปลอดภัยมากที่สุด เพราะบางสถานการณ์ หากอารมณ์ของมวลชนเริ่มคุและลุกลาม แกนนำอาจจะคุมไม่ได้
บรรดานักข่าวเอง ตนและเพื่อน ๆ ก็ได้ถอดบทเรียนร่วมกัน คุยกันเองว่า จากนี้เราจะป้องกันตัวเองให้มากขึ้นได้อย่างไร ในการไปทำข่าวแต่ละครั้ง เพราะเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่อยากเสี่ยง
ขณะที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และข้อแนะนำต่อสื่อว่า หากไม่รายงานข่าวม็อบเหล่านี้ พวกเขาก็จะไม่ได้รับความสำคัญ เป็นคนดัง นรพร ระบุว่า แม้จะเป็นคำถามที่ตอบยาก แต่ในฐานะสื่อ เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ก็เลี่ยงการทำหน้าที่ไม่ได้ การทำหน้าที่ก็คือการบันทึกเหตุการณ์ เพื่อรายงานออกมา และก็ขึ้นอยู่กับว่า เราเลือกจะรายงานในแบบไหน.