เสวนาสัญจรครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ จ.ขอนแก่น เนื้อหาแน่น ครอบคลุมทั้งการพัฒนาสื่อภูมิภาค สื่อในภาพรวม และมุมมองการพัฒนาเศรษฐกิจอีสาน ตามแนวทาง BCG “ดร.เจษฎ์”เรียกร้องสื่อ องค์กรสื่อ ช่วยกันทำให้สังคมกลับมาสู่ภาวะที่เหมาะสม แตกต่างกันได้ แต่ไม่แตกแยก เห็นไม่เหมือนกันได้ แต่ทำความเข้าใจร่วมกัน สานเสวนาได้ ไม่ใช่ทะเลาะเบาะแว้งกัน “ดร.สิขเรศ” ชี้ยุคนี้เป็นรุ่งอรุณของนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ห้องคำแก่นคูณ โรงแรมเลอ แคสเซีย จังหวัดขอนแก่น มีการจัดเสวนาสัญจรในส่วนภูมิภาค ในโอกาสครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดย นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับ มีสื่อมวลชน ข้าราชการ และนักธุรกิจในพื้นที่เข้าร่วมเสวนา เนื้อหาครอบคลุมทั้งการพัฒนาสื่อภูมิภาค สื่อในภาพรวม และมุมมองการพัฒนาเศรษฐกิจอีสานตามแนวทาง BCG
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า การจัดงานในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สื่อและผู้คนในวงการต่าง ๆ ได้รับทราบเกี่ยวกับกิจกรรมของสภาการฯ การเสวนาวันนี้จะได้ครบทั้งมุมมองเศรษฐกิจในการพัฒนาภาคอีสาน และการพัฒนาสื่อภูมิภาค สภาการฯ มีหน้าที่หลัก คือ การกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรม เป็นองค์กรอิสระที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็น 1 ใน 4 ประเทศอาเซียน+ติมอร์เลสเต ที่มีองค์กรคล้ายกัน ไม่มีงบประมาณภาครัฐสนับสนุน ต้องพึ่งตัวเอง
ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ จะจัดเสวนากึ่งหาทุนที่กรุงเทพฯ เพื่อให้สภาการฯ สามารถดำเนินกิจกรรมไปได้ มีปาฐกถาเรื่อง “อนาคตของประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง” โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ใครสนใจสามารถซื้อบัตรฟังออนไลน์ และแบบออนไซด์ แต่ก็จะมีการตัดต่อลงเผยแพร่ในเพจของสภาการฯ ส่วนวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับวันสถาปนา จะมีกิจกรรมเสวนาที่ฟังฟรีในหัวข้อ “กฎหมายจริยธรรมสื่อจำเป็นหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน” ซึ่งปลายรัฐบาลที่แล้ว มีการเสนอกฎหมายฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ซึ่งทำเสร็จตั้งแต่ปี 2562 แต่กว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ปาเข้าไปต้นปี 2566 คนร่วมร่างออกจากองค์กรสื่อไปหมดแล้ว คนเข้ามาใหม่ก็ไม่เข้าใจว่า เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางที่ไม่ได้ลงรายละเอียดในตัวบทกฎหมายมากนัก ทั้งที่ตัวกฎหมายเองไม่ได้มีส่วนใดจำกัดเสรีภาพของสื่อเลย แต่เน้นการส่งเสริมการทำหน้าที่ของสื่อ จริยธรรม มาตรฐานวิชาชีพ เป็นที่น่าเสียดายว่า กฎหมายตกไปตั้งแต่ขั้นรับหลักการ กฎหมายก็ค้างอยู่ ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลใหม่จะหยิบขึ้นมาหรือไม่ เราก็จะคุยกันว่า มันจำเป็นไหม ถ้าไม่จำเป็น เราจะทำยังไง ให้การกำกับดูแลกันเองของสื่อเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “BCG โอกาสของการพัฒนาอีสาน” ฉายภาพบริบทต่าง ๆ ให้เห็นความสำคัญของ BCG ซึ่ง B คือ Bioeconomy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ C คือ Circular economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G คือ Green economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมีประโยชน์ต่อภาคเกษตรและอาหาร,พลังงานและวัสดุสมัยใหม่,สุขภาพและการแพทย์ และการท่องเที่ยว
ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า แผนพัฒนาประเทศของสภาพัฒน์ล่าสุดเขียนไว้ชัดเจนว่า ให้การพัฒนายึดโยงกับเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย และ BCG จะนำมาซึ่งงบประมาณ การพัฒนากำลังคน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จึงเป็นโอกาสของอีสาน ของขอนแก่น ซึ่งเรื่องใหญ่แบบนี้ต้องหาเจ้าภาพให้เจอ ฝากสื่อมวลชนช่วยนำไปคิดต่อด้วยว่า ทำอย่างไรให้จังหวัดที่มีศักยภาพอย่างขอนแก่น เดินหน้าเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับอีก 19 จังหวัดของอีสาน
ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทสื่อและองค์กรสื่อที่สังคมคาดหวัง” ใจความสรุปว่า สิ่งที่สังคมคาดหวัง คือ ความเป็นกลาง นำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เที่ยงตรง ไม่เข้าข้างใคร หากจะแสดงความคิดเห็น ก็อยู่ภายใต้จริยธรรมการเป็นสื่อมวลชนที่ดี แต่ปัญหาคือ มีคนบางกลุ่มไม่ต้องการได้สื่อแบบนี้ อยากได้สื่อที่เข้าข้างตัวเอง เอนเอียงไปในทางที่ตัวเองเชื่อ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากของสื่อมวลชน เช่นเดียวกับประเด็นที่ว่า ใครเป็นสื่อ องค์กรสื่อคือใคร ใครห้ามใครได้บ้าง มากน้อยแค่ไหน ในยุคที่ใครก็เป็นสื่อได้ บทบาทสื่อมืออาชีพจะทำอย่างไร เช่น ออกบัตรควบคุมกันเอง หรือผ่านองค์กรสื่อ หรือใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเข้ามาจัดการ
ดร.เจษฎ์ ฝากทิ้งท้ายว่า สื่อจะปรับสังคมอย่างไรให้กลับมาอยู่บนฐานที่เหมาะสม จากปัจจุบันที่มีความแตกแยก เลือกข้าง ต้องการให้สื่อเป็นพวกของตน นำเสนอในสิ่งที่ตัวเองอยากให้นำเสนอ สังคมแบบนั้นเราไม่ต้องการ สื่อและองค์กรสื่อ จะต้องแก้ปัญหา ช่วยกันทำยังไง ให้สังคมกลับมาสู่ภาวะที่เหมาะสม กลาง ๆ ที่แตกต่างกันได้ แต่ไม่แตกแยก เห็นไม่เหมือนกันได้ แต่ทำความเข้าใจร่วมกัน สานเสวนาได้ ไม่ใช่ทะเลาะเบาะแว้งกัน
จากนั้นตัวแทนในพื้นที่จากสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ขอนแก่นลิงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกรรมการสภาการสื่อมวลชนแหงชาติ ได้ร่วมกันเสวนาในหัวข้อ “จริยธรรมสื่อกับความอยู่รอดทางธุรกิจของสื่อภูมิภาค”
ปิดท้ายด้วย ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ นำเสนอทิศทางอนาคตของสื่อปี 2023 เนื้อหาสำคัญบางตอน ระบุว่า การพัฒนาระบบการสื่อสารจากยุค 2G สู่ 5G และกำลังจะไปสู่ยุค 6G อัตราในการยอมรับนวัตกรรมสื่อใหม่ เครือข่ายสังคมออนไลน์ ของประชาชนทั่วโลกและคนไทย พุ่งทะยานอย่างสูง การอุบัติขึ้นของโควิด 19 ทำให้เกิดโอกาสและเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับดิจิทัลโปรไฟล์ประเทศไทยในห้วง 5 ปี ตั้งแต่ 2562 – 2566 โดยปี 2562 ประชาชนที่ใช้อินเทอร์เน็ต 47.5 ล้านคน แต่ปีนี้พุ่งทะยานมาที่ 61 ล้านคนแล้ว เรื่องนวัตกรรมสื่อ สิ่งที่มีนัยสำคัญที่สุด คือ การเปิดตัวของ Apple Vision Pro และ Meta guest3 ซึ่งเป็นกระแสที่เราต้องจับตามอง การเปิดตัวของ Apple จะทำให้โลกดิจิทัลของเรา โลก VR หรือ เมตาเวิร์ส อาจจะมีอัตราก้าวหน้าพอสมควร เพราะฉะนั้นให้จับตามองตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไปจนถึงต้นปีหน้า
ดร.สิขเรศ นำเสนอว่า ยุคนี้เป็นรุ่งอรุณของนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยกตัวอย่างสื่อใหญ่ในเยอรมัน กำลังจะเลย์ออฟพนักงาน 200 ตำแหน่งเพื่อทดแทนด้วย AI หรือการใช้ AI ในกระบวนการผลิตรายการโทรทัศน์
ที่ประเทศเกาหลีใต้ มีนักร้อง AI กล้อง AI และผู้สื่อข่าว ผู้ประกาศข่าว AI
——————————————————-