เข้าสู่ปี 27 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ “ชวรงค์”เผยงานด้านจริยธรรมสื่อยังเข้มข้น หลังยกร่าง-ปรับปรุงแนวปฏิบัตินับสิบ ความร่วมมือวิชาชีพ-วิชาการอัพเดตหลักสูตร “3 สภาวิชาชีพ”ผนึกแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน 3-4 ก.ค.เวทีปาฐกถาทิศทางการเมืองไทย เศรษฐกิจ สังคม ขณะที่ “ดร.เสรี” เปิดภารกิจ 5 ปีงานปฏิรูปฯสื่อ 6 เรื่อง รู้เท่าทันสื่อ-จริยธรรม-อุตสาหกรรมสื่อ-ความปลอดภัยไซเบอร์ – เตือนภัยพิบัติ – จัดการข่าวสารภาครัฐ
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง ‘26 ปี สภาการสื่อมวลชนฯ’ VS ‘5 ปี การปฏิรูปฯ สื่อ’ ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และ จินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ
ในวาระที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติจะครบรอบ 26 ปี วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 และก้าวเข้าสู่ปีที่ 27 ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้สรุปถึงภารกิจในรอบปีที่ผ่านมาว่า ได้จัดทำแนวปฏิบัติเพิ่มเติม ในการกำกับดูแลกันเอง คือ แนวปฏิบัติเรื่องการนำเสนอข่าวสงครามหรือการสู้รบระหว่างประเทศ พ.ศ.2565 และแนวปฏิบัติเรื่อง การนำเสนอข่าว ภาพข่าวการเมืองและการเลือกตั้ง พ.ศ.2566 ซึ่งทั้งสองเรื่องถือเป็นภารกิจสำคัญ
ทั้งนี้หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ก็มีสถานการณ์สำคัญ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก สื่อมวลชนได้รายงานข่าวในแง่มุมต่างๆ เราก็พบว่ามีสำนักข่าวบางแห่ง นำเสนอข่าวสงคราม โดยนำมาจากข่าวที่ข้อมูลผิดมาแปล จึงเสนอกันในที่ประชุมสภาการสื่อมวลชนฯ ว่าเราน่าจะมีแนวปฏิบัติเรื่องรายงานข่าวสงครามความขัดแย้งระหว่างประเทศ จากนั้นจึงตั้งคณะทำงานขึ้นมายกร่าง โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญฝ่ายต่างๆ ทั้งผู้แทนสถานทูตต่างๆ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ มาร่วมให้ความเห็นเมื่อทำเสร็จเรียบร้อย มีการรับรอง และประกาศใช้ ก็ได้ส่งให้สมาชิกได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติ สถานการณ์หลังจากนั้นเป็นต้นมาการรายงานข่าวสงครามรัสเซีย ยูเครน ก็มีการปรับปรุงดีขึ้น มีการตรวจสอบมากขึ้น
.
อีกเรื่องที่สำคัญ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา จึงคิดว่าในสถานการณ์ที่จะมีการเลือกตั้งเราควรจะมีแนวปฏิบัติเรื่องการทำข่าวการเมืองการเลือกตั้ง เราเห็นว่า เริ่มมีสัญญาณมาตั้งแต่ปีที่แล้ว น่าจะมีความดุเดือด เพราะมีการแข่งขันเรื่องการสื่อสาร การใช้สื่อ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ ค่อนข้างมาก จึงเสนอให้ร่างแนวปฏิบัติเรื่องการเสนอข่าวการเมืองและการเลือกตั้งขึ้นมา โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมทำแนวปฏิบัตินี้ ก็ทันเวลาก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งก็จะเป็นแนวทางการรายงานข่าว ให้ระมัดระวังเรื่องใดบ้าง และน่าจะใช้ไปอีกระยะยาว เพราะข่าวการเมืองก็ยังมีความเข้มข้น
วิชาการ-วิชาชีพปรับปรุงหลักสูตร
ทั้งนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมา สภาการสื่อฯ ก็ได้ปรับปรุงแนวปฏิบัติต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว กว่า 10 ฉบับ เพื่อให้ทันยุคทันสมัย เพราะฉะนั้นเวลานี้ เรื่องของกรอบจริยธรรมในการปฎิบัติหน้าที่ของบรรดาสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และแนวปฏิบัติเหล่านี้ เรายังสื่อความไปยังบรรดาสื่อต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก สามารถใช้เป็นแนวทางได้
“ปกติมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้นำข้อบังคับจริยธรรม และแนวปฏิบัติของเรา ไปใช้เป็นแนวทางในการเรียนการสอนนิสิต นักศึกษา ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเรามีแนวปฏิบัติ จริยธรรมใหม่ๆ ออกมา เค้าอาจจะยังไม่รู้ โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้พัฒนา และก้าวหน้าไปถึงไหน เราจึงมีโครงการ ซึ่งเตรียมไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว คาดว่าปีนี้น่าจะทำได้ คือ การสัมมนา การปรับปรุง การเรียนการสอนทางด้านจริยธรรมในยุคใหม่ ระหว่างคณาจารย์ทางด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ร่วมกับนักวิชาชีพ ที่เป็นสมาชิกของเรา ซึ่งจะเป็นอีกเรื่องหลักที่เราทำ
ร่วมขับเคลื่อน 3 สภา เรื่องร้องเรียน
นอกจากแนวปฏิบัติใหม่ ทั้งสองเรื่องนี้ ที่เป็นภารกิจสำคัญในรอบปี อีกงานหลักของเรา คือ การรับเรื่องร้องเรียน ที่ผ่านมา ยังไม่มีเรื่องร้องเรียนสมาชิกสภาการสื่อฯ โดยตรง จะเป็นเรื่องในส่วนที่ไม่ใช่สมาชิกของสภาการฯ แต่เราก็ได้ร่วมมือกับอีก 2 สภาวิชาชีพ ในการทำหน้าที่กำกับดูแลกันเอง ของสื่อทีวี วิทยุ คือ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลรายการข่าว สถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุที่เป็นสมาชิก กับสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)
ซึ่งมีสมาชิกเป็นสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง รวมทั้งโปรดักชั่นเฮาส์ ที่ผลิตเกมโชว์ ละครต่างๆ ในส่วนนี้จะครอบคลุม ทั้งข่าว รายการเกมโชว์ ละคร สารคดีต่างๆ ซึ่งสามารถร้องเรียนไปได้
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนไม่สับสน ต่อการกำกับดูแลกันเองของสื่อว่าจะไปร้องเรียนที่เรื่องต่างๆ ที่ใด เราจึงตั้งคณะทำงานประสานงานระหว่าง 3 สภาวิชาชีพดังกล่าว หากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ไม่ว่าผ่านทาง 3 สภา หรือผ่านทางกสทช. ก็จะพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นเรื่องของสภาวิชาชีพใด หากสื่อนั้นเป็นสมาชิกทั้ง 3 สภา เราก็จะมีหลักเกณฑ์คือ ให้สมาชิกนั้นเลือกว่าจะให้สภาใดพิจารณา
อย่างไรก็ตาม กระบวนการพิจารณาของแต่ละสภาวิชาชีพ ก็คล้ายกัน เมื่อมีเรื่องเข้ามา ก็จะส่งไปยังต้นสังกัดดำเนินการ ซึ่งในส่วนของทีวี ทาง กสทช. ได้กำหนดไว้เป็นเงื่อนไข ในใบอนุญาตว่า ทุกสถานีจะต้องมีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร หรือออมบุดแมน ฉะนั้นกระบวนการนี้จะมีเวลา 30 วันในการพิจารณา ถ้าไม่เสร็จ เรื่องก็จะกลับมายังสภาวิชาชีพ ซึ่งแต่ละสภาฯ ก็จะมีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียน คือ คณะกรรมการจริยธรรม ที่ทำหน้าที่พิจารณา จะมีกรอบเวลาไม่เกิน 90 วันในการสอบสวน และมีข้อสรุปว่าผิดจริยธรรมหรือไม่
ชวรงค์ ระบุว่า ปีที่ผ่านมา เรามีการพูดคุยกันระหว่าง 3 สภาวิชาชีพ เป็นระยะ เพื่อประสานงานติดตามแต่ละเรื่องร้องเรียนที่เข้ามา และถูกส่งไปยังแต่ละสภาวิชาชีพฯ มีความคืบหน้าอย่างไร
ช่วยเหลือองค์กรสื่อเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ยังมีภารกิจในต่างประเทศ ที่เราช่วยเหลือสื่อกัมพูชาที่อยากจะตั้งสภาวิชาชีพขึ้นมากำกับดูแลกันเอง เราได้ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ มูลนิธิไทย ในการเชิญเขาเข้ามาเรียนรู้ เรื่องการกำกับดูแลกันเองของสื่อไทย เป็นต้น อีกทั้งยังมีงานด้านวิชาการ ที่ร่วมมือกับคณะทำงานด้านอนุประชาสัมพันธ์ ทำโครงการความรู้ต่างเรื่องสื่อมวลชน
สมาชิกสื่อใหม่ออนไลน์-ทีวีท้องถิ่น
ชวรงค์ กล่าวอีกว่า นับแต่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยกฐานะขึ้นมาเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อด้านอื่นๆ นอกจากหนังสือพิมพ์เข้ามาเป็นสมาชิก เราได้มีสมาชิกที่เป็นสื่อออนไลน์เข้ามาเพิ่มเติม ทั้ง THE STANDARD , Spring News , The Story Thailand ก็เป็นสื่อใหม่
ที่น่าสนใจก็คือ ปีที่ผ่านมา เรามีสมาชิกใหม่ที่เป็นสถานีวิทยุท้องถิ่น ในเชิงพาณิชย์ธุรกิจ แต่อยู่ในภาคท้องถิ่น วันนี้ยังไม่ได้รับใบอนุญาตถาวรจากทาง กสทช. แต่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของเราแล้ว เพื่อให้ช่วยกำกับดูแล มี 10 กว่าสถานีนำร่อง ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย หรือ วทท. ซึ่งมีทั่วประเทศ จำนวนสมาชิกอยู่ประมาณ 50 กว่าสถานี
สำหรับแผนงาน ในปีที่ 27 ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ชวรงค์ กล่าวว่า ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของคณะกรรมการสภาการสื่อฯ ชุดแรกนี้ (หลังยกระดับจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ) คงปรับปรุงการเผยแพร่เรื่องจริยธรรมที่เรามีพัฒนาการพอสมควร
เช่นเดียวกับเรื่องโซเชียลมีเดีย การกำกับดูแลคงจะมีความร่วมมือกับหลายๆ ภาคส่วน เพราะวันนี้ก็มีสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เราจะชักชวนเข้ามาเป็นสมาชิกอย่างไร จะส่งเสริมให้เขาอยู่ในกรอบจริยธรรม ที่เราเป็นคนบัญญัติขึ้นมา แม้ว่าเค้าจะไม่ได้เป็นสมาชิกก็ตาม สิ่งนี้เราจะต้องเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบ ซึ่งเป็นแนวทางที่คณะกรรมการสภาการสื่อฯ ได้วางยุทธศาสตร์ไว้ เพื่อจะให้เห็นถึงความสำคัญของสื่อสมาชิกเรา เรื่องความน่าเชื่อถือ เป็นที่พึ่งได้ ในช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญ หรือเกิดความสับสนเกี่ยวกับข่าวขึ้นในสังคม ในโซเชียลมีเดีย
กิจกรรมส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค
สำหรับโอกาสครบรอบ 26 ปี ได้จัดกิจกรรมทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เริ่มที่ จ.ขอนแก่น มีปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “BCG : โอกาสของการพัฒนาอีสาน” โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ และ “บทบาทสื่อและองค์กรสื่อที่สังคมคาดหวัง” โดย ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก และการเสวนาหัวข้อ “จริยธรรมสื่อกับความอยู่รอดทางธุรกิจของสื่อภูมิภาค” เป็นเรื่องจริยธรรมกับสื่อท้องถิ่นจะอยู่รอดได้อย่างไรภายใต้ข้อบังคับจริยธรรมที่มีอยู่
ถัดมาเป็นกิจกรรมในส่วนกลาง วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ เวทีปาฐกถาพิเศษ “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” เริ่มด้วย เรื่อง “ทิศทางการเมืองไทยในบริบทการเมืองโลก” โดย ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข “ทิศทางเศรษฐกิจไทย” โดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล และ“ทิศทางสังคมไทย” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งกิจกรรมวันนี้ จะเป็นการระดมทุน เพราะสภาการสื่อไม่ได้มีงบประมาณจากรัฐบาล เราต้องหางบมาดำเนินการกิจกรรมต่างๆ เอง
ส่วนวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 26 ปี เวลา 12.00-16.00 น. ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ ปาฐกถาพิเศษ โดย มานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เสวนา หัวข้อ “กฎหมายจริยธรรมสื่อจำเป็นหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน” วิทยากร ประกอบด้วย 1.นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2.นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา 3.รศ.สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เวทีนี้จะแลกเปลี่ยนกันว่า ยังมีความจำเป็นในการใช้กฎหมายมาช่วยในการกำกับจริยธรรมสื่อหรือไม่ เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวในรัฐบาลที่แล้ว ก็ตกไปแล้ว ก็มาดูว่ามันยังมีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร
ไล่เรียงภารกิจ 5 ปีงานปฏิรูปฯ สื่อ
ขณะที่ภารกิจของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ ในกรอบเวลา 5 ปี ได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว ดร.เสรี วงษ์มณฑา อดีตประธานคณะกรรมการฯ ได้เปิดเผยว่า แนวคิดที่พยายามปฏิรูปสื่อ ได้ทำแผนปฏิรูปฯ เริ่มขึ้นจริงจัง ตั้งแต่ปี 2561 มีเวลาทำงาน 5 ปี มีคณะกรรมการ 11 คน บทบาทหน้าที่ คือ คณะกรรมการแนะนำเท่านั้นเอง ส่วนสิ่งที่จะปฏิรูปจริงๆ ก็ต้องเป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คนปฏิบัติ เพราะถ้าเค้าจะไม่ปฏิบัติ เราซึ่งเป็นคณะกรรมการให้คำแนะนำ ไม่มีอำนาจใดไปสั่งการ หรือลงโทษ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บางเรื่องก็ได้รับความร่วมมือดี บางเรื่องก็กระท่อนกระแท่น บางเรื่องเพิกเฉยก็มี ฉะนั้นที่เคยถูกวิจารณ์ว่า ปฏิรูปไม่เห็นมีอะไรเลย ยืนยันว่ามี แต่เป็นในลักษณะที่เกิดขึ้นกับกลุ่มไหน อย่างไร เราไม่ใช่เป็นผู้ปฏิบัติ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลาย เกิดจากฝ่ายผู้ปฏิบัติให้ความร่วมมือกับเราเท่านั้นเอง จำนวนไม่ถึงครึ่งที่ให้ความร่วมมือ ทำตามคำแนะนำ
ดร.เสรี ระบุว่า ในการประชุมกันครั้งแรก ได้วางแนวคิดว่าจะทำอย่างไร ตนเป็นคนเขียนแผนเข้าไป โดยมองว่า
- สื่อคือครูของสังคม ไม่ว่าสื่อจะสื่อสารอย่างไรก็จะมีคนเข้ามาเรียนรู้ ส่วนจะทำตามหรือไม่ก็แล้วแต่
- เนื่องจากเวลานี้เรามีโซเชียลมีเดียเกิดขึ้น ก็มองว่าตอนนี้สื่อเป็นสื่อเปิดแล้ว ไม่เหมือนช่วงที่เป็นแมสมีเดีย ที่มีระบบบรรณธิการ มีเรื่องค่าใช้จ่าย แต่พอมีโซเชียลมีเดียเกิดขึ้น ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ได้ ไม่มีระบบ บก.ไม่มีค่าใช้จ่ายใด นอกจากค่าอินเทอร์เน็ต เราก็สร้างมุมมองว่า คนทุกคนปัจจุบันเป็น“โปรซูเมอร์” ซึ่งโปร ก็คือโปรดิวเซอร์ ผู้ผลิต “ซูมเมอร์” ก็มาจากคอนซูมเมอร์ หรือผู้เสพ แปลว่าตอนนี้เราเป็นทั้งผู้ผลิต และผู้เสพสื่อ เราจึงเป็นโปรซูเมอร์
ระหว่างสองความคิดนี้ เรามองดูว่า องคาพยพสื่อในสังคม ประกอบด้วย 3 ส่วน รัฐบาล – สื่อ- ประชาชน ถ้าเขียนสามเหลี่ยมขึ้นมา มีรัฐบาลอยู่มุมหนึ่ง สื่อมุมหนึ่ง “รัฐบาลกับสื่อ” ก็แปลว่ารัฐบาลนั้นต้องกำกับดูแลสื่อ แต่จะต้องให้สิทธิเสรีภาพ ห้ามใช้คำว่าก็คุมเด็ดขาด ขณะที่ถ้าเป็น”รัฐบาลกับประชาชน” ก็คือให้เสรีภาพในการรับรู้และแสดงออก ขณะเดียวกัน “สื่อกับประชาชน”ก็คือให้ข้อมูลข่าวสารด้วยสำนึกความรับผิดชอบ
วางกรอบปฏิรูปสื่อ 6 เรื่อง
ต่อมาในการตีกรอบการปฏิรูป ก็ได้มา 6 เรื่อง ดังนี้
- เราจะต้องทำเรื่องรู้เท่าทันสื่อ เนื่องจากสื่อเปิด จึงมีสื่อปลอม ข่าวปลอม ข่าวปล่อย ข่าวลือ ข่าวผิด ข่าวบิดเบือน เต็มไปหมดเราจึงให้ความสำคัญกับการรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันข่าว
- เราต้องการให้มีหลักสูตรเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ ตั้งแต่ในโรงเรียน ระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย และมหาวิทยาลัยต้องการให้มีวิชานี้เป็นวิชาบังคับของการศึกษาพื้นฐาน ฉะนั้นเราจึงต้องพบกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ซึ่งขยับเร็วกว่า ศธ. ก็ขยับในระดับหนึ่ง มีการจัดนิทรรศการ ทำหลักสูตร มีโครงการนอกหลักสูตรต่างๆ เกิดขึ้นก็ถือว่าได้ในระดับหนึ่ง
- ต้องฝึกอบรมผู้ใหญ่ ในหลักสูตรต่างๆ อาทิ วปอ. กปร. ก.พ.และหลักสูตรต่างๆ ที่มีมากมายเราคิดว่าต้องเอาเรื่องนี้ไปอยู่ในหลักสูตรต่างๆ ที่พวกเขาต้องเรียน สถาบันต่างๆ ก็ขานรับกัน และตนก็เป็นผู้บรรยายหลายแห่ง พอมันเกิดขึ้นแล้ว คนที่ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่รู้ เพราะเป็นการบรรยายตามหน่วยงาน ฉะนั้นอันนี้ก็ได้อีกส่วนหนึ่ง
- เราต้องการให้รายการวิทยุโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐทั้งหลาย 11 – 5 -9 -ไทยพีบีเอส วิทยุทหาร ตำรวจ อสมท. กรมประชาสัมพันธ์ มีรายการประเภทนี้เกิดขึ้น แล้วก็ใช้บรรดาเซเลบทั้งหลาย ช่วยกันพูดสื่อสารสิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือขอให้รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ของรัฐช่วย มีรายการประเภทนี้บ้าง ปรากฏว่าส่วนนี้เราได้น้อยมาก อ้างว่าได้สัมปทานให้เอกชนไปหมดแล้ว จึงไม่สามารถมาทำรายการอย่างนี้ได้ ทีวีบางช่องพอมีบ้าง แต่ไม่มาก ขณะที่บางสถานีโทรทัศน์ไม่ให้ความร่วมมือแม้แต่น้อย คือไม่ทำให้เลย ส่วนรายการวิทยุแทบไม่มีเลย ทั้งที่เป็นของรัฐเกือบหมด
อย่างไรก็ตาม ดร.เสรี ชี้ว่า ได้ถูกวิจารณ์ว่า ปฏิรูปแล้วไม่เห็นมีอะไร ซึ่งคนทั่วไปที่ไม่เห็น เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นหลักสูตรในโรงเรียน ตอนนี้ไทยรัฐวิทยามีโครงการนี้เยอะมาก ราชภัฎ ราชมงคล มีหลักสูตรเหล่านี้ ส่วนที่ยังไม่มีหลักสูตรก็มีการจัดกิจกรรม งานนิทรรศการ เป็นงานสัมมนาสารพัด เกิดขึ้นแล้วหลายโรงเรียน หลายมหาวิทยาลัย หลายองค์กร ขยับแล้ว แต่ถึงขยับแค่ไหน ก็อาจไม่มีใครรู้เห็น เพราะไม่ใช่คนที่เรียน เกิดขึ้นแล้ว เดินหน้าแล้ว แต่จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
ร่างกฎหมายจริยธรรมสื่อตกไป
- เรื่องจริยธรรมของสื่อ ซึ่งเราต้องการให้มีกฎหมาย กำกับอย่างชัดเจน เราได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมา มีคุณมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธานร่างกฏหมายจริยธรรมสื่อ แล้วเราก็เชิญตัวแทนสื่อ นักวิชาการ สื่อ มาช่วยกันร่าง จนเสร็จ จากนั้นจึงไปขอให้คณะปฏิรูปกฎหมายของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรโณ มาช่วยดู ช่วยเติมให้ ผ่านครม.แล้วก็ส่งให้กฤษฎีกา แล้วไปถึงกระบวนการสภาฯ ปลายปีที่แล้ว 2565 ไม่ได้บรรจุเข้าวาระ และตกไป ซึ่งในส่วนของเราเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ร่างกฎหมายไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ
- เรื่องอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ ตอนที่เราเข้ามาคือหลังจากมีการประมูลคลื่นกันไปเรียบร้อยแล้ว ทีวีดิจิทัล กำลังอ่อนล้าย่ำแย่ จากลงทุนประมูลคลื่น และการสร้างเทคโนโลยีด้วยตนเอง เพราะมันไม่มีพูลให้ใช้ตอนนั้น มีการไปซื้อสารคดีเก่าๆ มาลงฉะนั้น กู๊ดคอนเทนต์ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้
ตอนนั้นเราเห็นว่ามีจำนวนมาก เราจึงจัดสัมมนาเรื่องนี้ขึ้น จนกระทั่งในที่สุด เป็นอันว่าใครไปไม่ไหว ก็คืนคลื่นก็แล้วกัน อันนี้ต้องบอกเลยว่าได้ผล 100% ไม่อย่างนั้นเราจะเจอคนล้มละลายอีกเท่าไหร่ ไม่เช่นนั้นก็มีคดีกับภาครัฐเพราะไม่จ่าย
เมื่อเราจัดสัมมนาก็เหมือนกับเป็นหัวเชื้อให้คนที่มีอำนาจนำไปพิจารณา จนในที่สุดก็ตัดสินว่า ไม่ไหวก็คืน ก็มีคนคืนหลายเจ้า
- เรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ มีการบูลลี่กัน ปล่อยเฟกนิวส์ เพราะการที่ปั่นเป็นโปรซูเมอร์ และเป็นสื่อ ทำให้มีปัญหาพวกนี้มากมาย เราคุยกับกระทรวงดีอีเอสตำรวจไซเบอร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแฮ็คเกอร์ต่างๆที่เกี่ยวกับส่วนนี้ข้อเสนอแนะของเรามีแต่เขาก็ทำไม่ได้เราอยากจะมีแพลตฟอร์มของตัวเองเหมือนจีนแต่ขนาดของเราไม่ใหญ่พอในแง่ไซด์ของเศรษฐกิจฐานลูกค้าไม่เพียงพอที่จะทำให้คุ้มทุน ก็เลยล้มไปในส่วนนี้
เราก็ได้คุยเรื่องของกระทรวงกับตำรวจเราก็สามารถทำได้ในระดับหนึ่งคนก็มีสำนึกในเรื่องนี้มากขึ้น ส่วนกระทรวงดีอีเอส น่าเห็นใจ เพราะเป็นฝ่ายมอนิเตอร์ไม่สามารถที่จะดำเนินการเองได้ เพราะไม่ใช่เจ้าของเรื่อง กรณีเมื่อเจอเฟกนิวส์ ต้องแจ้งให้เจ้าของเรื่องทราบ และรอส่งข้อมูลที่ถูกต้องกลับมาเพื่อนำไปเผยแพร่ให้ แต่ขั้นตอนก็ล่าช้าอีกทั้งก็ไม่มีอำนาจฟ้องร้องแทน เพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย กรณีเว็บผิดกฎหมาย ก็ต้องใช้อำนาจศาลไล่ปิด แต่ส่วนที่มาอยู่ต่างประเทศดีอีเอสก็ไม่สามารถทำอะไรได้
- เรื่องการเตือนภัยพิบัติ ก็เป็นบทเรียนจากครั้งสึนามิ ที่เราไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในการเตือนให้คนรับรู้ถึงปัญหานี้ จะต้องมีกฎหมาย มีการปฏิบัติอย่างไร เราได้เต็ม 100 เพราะกฎหมายว่าด้วยเรื่องของการเตือนภัยไซเบอร์มีแทบทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
- การจัดการข่าวสารภาครัฐ หรือการประชาสัมพันธ์ภาครัฐ เรื่องที่ยังด่ากันอยู่ทุกวันนี้ ที่คนบอกว่าห่วยแตกมาก เราก็หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา
เราทำได้เกินกว่า 50-60% คือการพัฒนาบุคลากร ด้านประชาสัมพันธ์ จัดอบรมเรื่องการประชาสัมพันธ์สมัยใหม่ ทั้งคอนเทนท์ครีเอชั่น การใช้ดิจิทัลพีอาร์ เราทำทั้งในแง่ให้โรงเรียนของกรมประชาสัมพันธ์ ทำหลักสูตร ส่งไปให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้ผล แม้ยังไม่ถึงระดับที่พอใจ แต่ก็มีการปรับปรุง
งบ-คน-ระบบราชการ อุปสรรค
อ.เสรี ยังกล่าวถึงอุปสรรค ในภารกิจปฏิรูปสื่อฯ ที่ผ่านมา คือ 1.งบประมาณประชาสัมพันธ์น้อยมาก 2.เราเจอผู้บริหารบางหน่วยงานไม่เห็นคุณค่าของการประชาสัมพันธ์ ไม่แยแสภาพลักษณ์ชื่อเสียงจะเป็นอย่างไร 3.หลายหน่วยงาน ผอ.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไม่มีความรู้ประชาสัมพันธ์พื้นฐานเลยแต่ขึ้นมาเพราะว่าได้ซี 7 แต่ไม่รู้จะไปลงตรงไหน
ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ระบบราชการไม่รองรับดิจิทัลพีอาร์ หัวใจสำคัญก็คือเรียลไทม์ เจอคนด่าปั๊บต้องตอบปุ๊บ แต่เราทำไม่ได้ เพราะต้องรายงานเจ้านาย รอคำสั่ง ตรวจสอบ ตอบโต้กลับ เรื่องการไปถึงไหนต่อไหน ตนจึงพูดเสมอว่ามาสอนให้รู้วิธีการแต่ไม่มีความหวังมากมายว่าจะได้ทำ เพราะวัฒนธรรมราชการกับดิจิทัลพีอาร์มันไปด้วยกันไม่ได้ อีกทั้งระบบราชการยังกำหนดตัวบุคคลว่า ใครเป็นคนพูด
นี่คือระบบราชการที่เป็นตัวขวางเรื่องการประชาสัมพันธ์ อีกเรื่องก็คือ ไม่เข้าใจความสำคัญของโซเชียลมีเดียแม้แต่น้อย สนใจแต่ว่าได้ออกทีวี ได้เข้าสายรายการวิทยุ ได้ลงหนังสือพิมพ์ ไม่รู้จักแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ นี่คือปัญหา
ฉะนั้นเราพัฒนาคนได้ เรายืนยันว่าประสบความสำเร็จ แต่เราไม่ประสบความสำเร็จในการจะไปเปลี่ยนวัฒนธรรมราชการ ที่มันไม่เอื้อต่อดิจิทัลพีอาร์ ให้ความสำคัญกับเรียลไทม์ หลายอย่างมันขยับ เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่มันยังไม่ผ่านกรณีแห่งการรับรู้ของความต่าง