“หมอยง” ฉายภาพสถานการณ์โควิดในไทย เมื่อกลายเป็นโรคประจำฤดูกาล ยอดติดเชื้อจะพุ่งฤดูฝน วอนสื่อให้ความสำคัญข่าวโควิดมากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระสาธารณสุข ขณะที่สื่อชี้การเมืองเลือกตั้งใหญ่ส่งผลสนใจข่าวโควิดวูบหนัก ชี้จุดอ่อนไร้ศูนย์ให้ข้อมูลสื่อเหมือน ศบค. แหล่งข่าวมีน้อย สื่อต้องระวังข้อมูลทำสังคมตื่นตระหนก ด้าน “อ.ธาม”ชี้ อัลกอรึทึมส่งผลข่าวการเมืองท่วมท้น ข่าวโควิดต้องค้นหา ชี้กลุ่มโซเชียลตามการเมือง 80% แนะประชาชนตื่นตัวหาข้อมูลเพื่อระวังภัย
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ยังไงกัน ข่าวการเมืองกับข่าวโควิดคัมแบค” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และ วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัฒนะชัย ยะนินทร Content Editor & Webmaster ผู้จัดการออนไลน์ ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ฉายภาพสถานการณ์โควิดในขณะนี้ว่า ไม่ได้ผิดจากที่คาดการณ์เอาไว้ หลังจากที่โควิดเข้าสู่โรคประจำฤดูกาล ต่อไปก็จะเป็นไปตามฤดูกาลของมัน จะมีระยะเวลาสงบช่วงเดือนมีนาคม เมษายน พอเข้าสู่กลางเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม ก็จะขึ้นพีค จำนวนคนติดเชื้อจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่พอถึงฤดูกาลของมันก็เยอะขึ้น ที่เป็นอย่างนี้เพราะ 1.เข้าสู่ฤดูฝน 2.นักเรียนเปิดเทอม ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่แพร่กระจายได้เร็ว ซึ่งเหมือนโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ เพราะเป็นแล้ว เป็นได้อีก ทั้งนี้ เป็นไปตามผลการศึกษาวิจัยในประเทศไทย ข้อมูลปลายปีที่แล้วคนไทยติดเชื้อไปแล้ว 80%
เมื่อโควิดเป็นโรคประจำฤดูกาลแล้ว ฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจในประเทศไทย จึงเกิดขึ้นในฤดูฝน เพราะเราไม่มีฤดูหนาว ฉะนั้นจึงเกิดตั้งแต่กลางพฤษภาคม และจะสูงสุดมิถุนายน-สิงหาคม พอเดือนกันยายนจะเริ่มลดลง พอฤดูหนาว มกราคม-กุมภาพันธ์ อาจจะโผล่มาอีกนิดแต่ไม่พีคใหญ่ จะเป็นอย่างนี้ทุกปี
สำหรับความรุนแรงของโรค ขณะที่ยังมีรายงานผู้เสียชีวิต ศ.นพ.ยง อธิบายว่า โรคนี้ตั้งแต่เริ่มอุบัติขึ้นเมื่อ 3 ปีครึ่ง ตั้งแต่ประเทศจีน ตอนนั้นทุกคนไม่มีภูมิต้านทานเลย ความรุนแรงของโรคสูงมาก ในจีนครั้งแรกเสียชีวิต 5% ลดลงมาเหลือ 3% พอไปในยุโรป อิตาลี ตอนแรกก็เสียชีวิตกันระนาว แต่เมื่อโรคระบาดนานเข้าคนจำนวนหนึ่งติดเชื้อ แล้วก็มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น เราก็พัฒนาวัคซีนขึ้นมา ให้มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น เป็นบางส่วน แล้วก็ไม่มีวัคซีนตัวไหนในโลกเป็นวัคซีนเทพ ไม่มีวัคซีนตัวไหนต่างกัน ไม่มีวัคซีนตัวไหนป้องกันการติดเชื้อได้ เป็นเพียงแค่ลดความรุนแรงของโรค
เมื่อประชากรส่วนใหญ่ติดเชื้อแล้ว ฉีดวัคซีนแล้ว ก็มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น ความรุนแรงของโรค เมื่อมาเจอกับภูมิต้านทานที่เรามีบางส่วนความรุนแรงของโรคก็ลดลง แล้วไวรัสเองโดยวิวัฒนาการ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายมันต้องปรับตัวเพื่อความเหมาะสม เพื่อความอยู่รอด โรคที่มันมาอาศัยอยู่ในร่างกาย มันไม่ได้อยากให้ที่อยู่อาศัยของมันตาย เพราะตัวมันเองก็เดือดร้อนด้วยเพราะฉะนั้นมันก็ต้องพัฒนาลดความรุนแรงของมันลง ไวรัสมันอยู่ไปนาน ๆ มันพยายามเลือกสายพันธุ์ที่อยู่กับเราได้ ให้อ่อนฤทธิ์ลง
ส่วนสถานการณ์ที่ยังมีผู้เสียชีวิต ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ถ้าเราเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตตอนนี้กับตอนปีแรกที่เป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น มันคนละเรื่องเลย ตอนนั้น 3-5% ตอนนี้อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1% หรือน้อยกว่าหรือ 1 ใน 1,000 มันต่างกันเยอะ ตอนยุคเดลต้าการเสียชีวิตอยู่ที่ 1% เมื่อมีการติดเชื้อมากขึ้น สมมุติว่าเดือนมีนา-เมษา ติดเชื้อวันละ 10,000 โอกาสเสียชีวิตแค่นิดเดียว แต่ถ้าเดือนนี้ ติดเชื้อวันละ 100,000 ก็ต้องเห็นคนเสียชีวิตเป็นอัตราส่วนที่สูงขึ้น มันเป็นอัตราตามตัวไม่ใช่ว่าตัวเลขถ้าเทียบเปอร์เซ็นต์แล้วอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
เรื่องอัตราการเสียชีวิต เราต้องยอมรับว่ากลุ่มที่เสียชีวิต 1. กลุ่มที่ไม่มีภูมิอยู่เลยในตัว ทั้งไม่เคยฉีดวัคซีน หรือเคยฉีดแล้ว ไม่เคยติดเชื้อ ส่วนการติดเชื้อซ้ำครั้งที่สอง อาการน้อยลง และ 2. กลุ่มเปราะบาง พอโดนอะไรนิดหนึ่ง อย่าว่าแต่โควิดเลย ถึงแม้เป็นไข้หวัดใหญ่ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้
“หมอยง” วอนสื่อให้พื้นที่ข่าวโควิดมากขึ้น
เมื่อถามถึงสถานการณ์โควิดที่กลับมา ขณะที่พื้นที่ข่าวกำลังให้น้ำหนักกับการเมืองในเวลานี้ การทำหน้าที่สื่อ ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารข่าวเรื่องโควิด ช่วงเวลานี้เป็นอย่างไร ศ.นพ.ยง มองว่า สื่อก็ต้องการทำข่าวที่คนสนใจ ตอนนี้คนสนใจการเมืองมาก ก็อาจจะเฮโลไปทางการเมือง สำหรับเรื่องสุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ หากสื่อหันมาช่วยอีกสักนิด ก็จะดีขึ้น แทนที่การระบาดจะมากมายถ้าเรามาช่วยกัน ก็อาจจะลดลงได้บ้าง จะได้ลดภาระเตียงโรงพยาบาลที่ขณะนี้เตียงโควิดบางแห่งก็เต็มแล้ว
ตอนนี้เราต้องยอมรับว่า เราไม่มีเตียงสนามแล้ว ใครป่วยอยู่บ้าน หนักเข้าโรงพยาบาล แล้วกันอยู่บ้านพัก ความรู้ไม่ดี สิ่งแวดล้อมแออัด ไม่เหมาะสม มันก็ติดกันทั้งบ้าน ฉะนั้นสิ่งสำคัญ ถ้าเรามาช่วยกันให้ความรู้ว่า ถ้าอยู่บ้านต้องทำตัวอย่างไร ต้องแยกตัวนานเท่าไหร่ถ้าทุกคนมีความรู้ แทนที่จะติดกันทั้งบ้าน ติดครึ่งนึงก็ยังดี ก็เป็นการลดลง
หรือแม้แต่คนที่อาการน้อย แต่จำเป็นต้องไปทำมาหากิน เราก็อยากให้ความรู้ว่า คนเพิ่งติดเชื้อ ถ้าออกไปนอกบ้าน จะทำอย่างไรที่จะลดการแพร่กระจายให้ได้มากที่สุด ถ้าจำเป็นต้องออกไป ข้อมูลต่าง ๆ พวกนี้ เป็นข้อมูลที่สื่อควรจะให้ บ้านเราที่สำคัญที่สุดก็คือ ระเบียบวินัยกับความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถควบคุมให้การระบาดน้อยที่สุด แล้วค่อยเป็นค่อยไป ภูมิคุ้มกันก็จะค่อย ๆ สูงขึ้น เพราะปีที่ 4-5-6 ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง มันไม่ได้หมดจากเราไป แต่ถ้าเราปล่อยผ่านไป ก็จะเป็นภาระของสังคมพอสมควร
ชี้สื่อมีส่วนช่วยในการสื่อสารอย่างมาก
ศ.นพ.ยง ยอมรับว่า สื่อมีส่วนช่วยในการสื่อสารอย่างมาก “สื่อที่ผมพยายามจะให้ข้อมูล ก็ต้องยอมรับว่า โซเชียลมีเดียมีผลมาก อย่างตนเองโพสต์ขึ้นไป สื่อมวลชนต่าง ๆ ก็นำไปขยายต่อ ไปโพสต์ต่อ อันนี้ก็มีประโยชน์ แต่ปัญหาอื่นที่พบก็คือการนำข้อมูลจากต่างประเทศมาเผยแพร่ บางครั้งก็มีผล ทั้งทำให้คนกลัว และมองเรื่องของโควิดในแง่ร้าย เพราะฉะนั้นจึงอาจเป็นดาบสองคม”
“การทำหน้าที่ของสื่อในการรายงานข่าวโควิดกลับมา ถ้ารู้ว่า รูปแบบมันกำลังจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอีก 1-2 อาทิตย์ข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นอีกเพราะฉะนั้นตอนนี้ถ้าสื่อมาช่วยกัน เราก็จะลดภาระต่าง ๆ จากหนักให้เป็นเบา ลดการแพร่กระจาย ยืดเวลาออกไป ให้ระบบสาธารณสุขของเรารองรับได้ ถ้าทุกคนช่วยกัน เพื่อให้คนเห็นถึงความสำคัญ” ศ.นพ.ยง กล่าว
สื่อชี้ความสนใจผู้คนเทตามกระแสการเมือง
วัฒนะชัย ยะนินทร ในฐานะนักวิชาชีพสื่อ ทิศทางข่าวเวลานี้ ต้องยอมรับว่าข่าวการเมืองกำลังได้รับความสนใจในสัดส่วนที่มากเนื่องจากสถานการณ์ เมื่อดูอัลกอริทึม (Algorithm) ของเว็บผู้จัดการ ข่าวการเมืองมีสัดส่วนถึง 70% ของข่าวทั้งหมด ขณะที่ข่าวโควิดที่กลับมาระบาดระลอกใหม่ แม้จะทำข่าวขึ้นแต่คนก็ยังให้ความสำคัญน้อยมาก
อาจเป็นเพราะผู้อ่าน หรือคนทั่วไปสนใจในเรื่องโควิดน้อยลง เหมือนเราอยู่กับมันมานาน จนชิน รู้สึกว่าเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ไม่ได้ตื่นตระหนก หวาดผวากันแล้ว เหมือนช่วงแรก ๆ ซึ่งหน้าเว็บไซต์ผู้จัดการ ได้ทำแถบข่าวเฉพาะขึ้นไว้เลยว่า เป็นข่าวสำคัญ แต่ยุคนี้พอคนรู้สึกว่าอยู่กับมันได้แล้ว การอ่านข่าวโควิดจึงน้อยมาก ถ้าเปรียบเทียบกับความสนใจของคน ที่เทมายังข่าวการเมือง โดยเฉพาะความสนใจเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ว่าที่นายกฯ ไปไหนก็เป็นข่าว
อย่างไรก็ตาม ข่าวโควิดเราก็ยังติดทำข่าวต่อเนื่อง กรณีโควิดถ้ามีเรื่องสายพันธุ์ใหม่มา หรือเกิดการระบาดหนัก ความสนใจของคนก็อาจจะกลับมาก็ได้
จุดอ่อนไม่มีศูนย์ให้ข้อมูลสื่อเหมือน ศบค.
สำหรับความห่วงใยของบุคลากรด้านสาธารณสุขที่อาจไม่สบายใจ ที่เรื่องโควิดในสื่อต่าง ๆ อาจมีน้อยลง วัฒนะชัย ระบุว่า ความจริงแล้วเวลาที่บุคลากรทางด้านสาธารณสุขเผยแพร่ข้อมูลเรื่องโควิด สื่อก็นำเสนออย่างต่อเนื่อง ทุกประเด็น เพียงแต่ตอนนี้คนอาจจะสนใจเรื่องทำมาหากิน เรื่องการเมืองมากกว่าจะสนใจเรื่องโควิด ว่าติดมากขึ้นแค่ไหน เหมือนคนเรารู้จักโควิดมากขึ้น รู้จักวิธีป้องกันมากขึ้น ระวังตัวเองมากขึ้น ทำให้ความรู้เท่าทันโควิดมีพอที่จะรับมือกับมันได้มากขึ้น เชื่อว่าส่วนใหญ่คิดอย่างนั้น
เมื่อถามว่าเกณฑ์ในการพิจารณาของกอง บก.ในการดันข่าวเรื่องโควิดขึ้นมาเป็นอย่างไร วัฒนะชัย ระบุว่า ข่าวสถานการณ์ที่กลับมาระบาดอย่างที่เกิดขึ้น เป็นข่าวที่ต้องดันขึ้นฟีดอย่างแน่นอน เช่นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ WHO มีประกาศ แต่จำนวนของข่าวโควิดเวลานี้มีน้อยลง หากเปรียบเทียบกับข่าวอื่น ๆ อีกทั้งเวลานี้เราก็ไม่ได้มีข้อมูลจากทางการ เช่น ศูนย์ ศบค.ของรัฐบาลที่เคยแจ้งผลเหมือนเดิม จึงทำให้ความสนใจของคนลดลง ประเด็นข่าวทุกวันนี้ จึงมีแค่การติดมากขึ้นหรือมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา
สื่อระมัดระวังข้อมูลสร้างความตื่นตระหนก
ยืนยันว่าสื่อมวลชนทำหน้าที่เต็มที่ และยังระมัดระวังการนำเสนอข้อมูล เพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกเสียด้วยซ้ำ อย่างเช่น ถ้ารายงานอะไรที่เป็นเรื่องน่าหวาดกลัว เกินความเป็นจริง คนก็จะตื่นตระหนก อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสื่อก็อาจถูกสังคมตำหนิอีกว่าเสนอข่าวเกินจริงหรือไม่ แต่ถ้ามีข่าว ข้อมูลจากสาธารณสุขสื่อเองก็พร้อมจะเผยแพร่ ถึงแม้ว่าสถานการณ์โดยภาพรวมยังไม่เข้มข้นเท่าไหร่ สื่อเราก็ยังเฝ้าระวังเรื่องโควิดตลอด มีข่าวเราก็ทำขึ้น และมีเซคชั่นเฉพาะ คือคุณภาพชีวิตและชุมชนเมือง รวมทั้งในโซเชียลมีเดียของเราเอง ที่เราเกาะติด
ขณะที่กระแสข่าวการเมืองที่กลับมาแรงขึ้นในช่วงนี้ ทำให้ปริมาณข่าวมากขึ้น และต้องเหนื่อยในแง่ของการครีเอทประเด็น เพราะในยุคที่การต่อสู้ในยุคในโลกโซเชียลมีมาก ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความแตกต่างกว่าครั้งอื่น ๆ คือการสู้กันด้วยโซเชียล ใครทำการเมืองแบบเดิม ๆ ใช้วีธีเดินหาชาวบ้านเท่านั้น กลายเป็นเรื่องล้าสมัย
ขณะที่งานข่าวของสื่อเองแม้จะง่ายขึ้น ในการหาข้อมูล มีช่องทางหลาย จากไลฟ์สด แหล่งข่าวก็มีโซเชียลมีเดีย พื้นที่ของตัวเองในการนำเสนอประเด็น เช่นโพสต์ในเพจของตัวเอง สื่อก็นำข้อมูลไปใช้ได้ เพียงแต่ว่าเราจะครีเอทประเด็นอย่างไรให้น่าสนใจ
อย่างไรก็ตามสำหรับการให้พื้นที่ข่าวการเมืองกับข่าวโควิดในขณะนี้ วัฒนะชัย ให้ความมั่นใจว่า เรื่องโควิด เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของประชาชน หากมีประเด็นนี้เชื่อว่า สื่อไม่ละเลยอย่างแน่นอน และพร้อมนำเสนอทุกแง่มุม แต่ก็อยากให้ช่วยกันตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อนรายงาน ด้วยความระมัดระวัง
ข่าวการเมืองท่วมท้น ข่าวโควิดต้องค้นหา
ขณะที่ในมุมมองของนักวิชาการ ธาม เชื้อสถาปนศิริ ต่อปรากฎการณ์ข่าวการเมืองกับข่าวโควิดในขณะนี้ เขาระบุว่า ถ้ามองแบบไม่มีสถิติ ก็ต้องบอกว่าข่าวการเมืองมาเยอะจริง ๆ ทุกวันนี้ไหลบ่าท่วมท้น ไม่ค้นหาก็เจอ แต่ฟีดข่าวโควิดแทบจะไม่เห็น ถ้าจะเห็นได้ต้องไปค้นหาเอง
ถ้าสังเกตโดยสถิติ iQNewsClip ค้นพบว่า สื่อมวลชนที่รายงานข่าวโควิด มีเฉพาะหนังสือพิมพ์กลุ่มคุณภาพเท่านั้นที่รายงาน เช่น มติชน ผู้จัดการ สยามรัฐ กรุงเทพธุรกิจ ประชาชาติ ส่วนเดลินิวส์ ไทยรัฐ ข่าวสด มีข่าวบ้าง แต่ประเด็นโควิดยังไม่แรงพอ
ขณะเดียวกัน หากไปดูเวิลด์โดมิเตอร์ (Worldometers) ประเทศไทย โควิดอยู่อันดับ 32 ไปดูเทรนด์ Twitter ไม่มีเรื่องโควิดปรากฏ ไปดูสถิติ Google Trend ในรอบ 7 วัน 30 วัน 3 เดือนที่ผ่านมา ข่าวการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจวันที่ 22 พฤษภาคมเป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้ข่าวโควิดมีผลการค้นหาชนะข่าวการเลือกตั้ง เหตุผลก็คือ WHO ประกาศเตือนให้เฝ้าระวังโควิดวันศุกร์ เช้าวันจันทร์ก็เป็นฟีดข่าวหนึ่ง
“ถึงบอกว่าถ้าจะอ่านข่าวโควิดตอนนี้ ถ้าปล่อยตามยถากรรม จะไม่เจอข่าว แต่ถ้าค้นหาจะเจอ เพราะฉะนั้นอัลกอริทึมที่ตามข่าวป็อบปูลาร์นิวส์ ฉะนั้นเมื่อคนสนใจข่าวประเภทไหน ก็จะเจอข่าวประเภทนั้นเยอะ แม้สื่อมวลชนกระแสหลักจะกลับมารายงานแล้ว แต่สู้อัลกอรึทึมไม่ได้” อาจารย์ธาม ระบุ
แหล่งข่าวไร้คนดังช่วยกระจายข้อมูล
นอกจากนี้ อีกข้อสังเกตที่อาจารย์ธามระบุคือ แหล่งข่าวที่พูดเรื่องโควิด ก็มีแต่หมอ และองค์กรรัฐ ต่างจากรอบแรกของโควิด มีดารา นักการเมือง อินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูปเบอร์ ออกมาพูดเยอะ ฉะนั้นข่าวโควิดจึงไหลเข้าไปสู่โซเชียลมีเดียมาก จึงทำให้ข่าวโควิดช่วงนี้มีการค้นหาเฉพาะช่วง 6-7 โมงเช้าเท่านั้นเอง ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ขณะที่ข่าวการเมือง จะถูกค้นหาระหว่างวันค่อนข้างเยอะ
ทุกวันนี้การ Contribute ข่าวมาถึงตาเรา ทำด้วย AI เป็นหลัก ทำด้วยเอ็นเกจเมนต์ ต่อให้สำนักข่าวหลักรายงานเรื่องโควิด แต่การแพร่กระจายไปถึงด้วยอัลกอริทึมเป็นหลัก ฉะนั้นข่าวโควิดจึงมีแต่พฤติกรรมคนเสพข่าวแบบรอ AI ป้อนมาให้เป็นหลัก
ขณะที่การค้นหาข่าว ข้อมูลที่น่าสนใจของ Google Trend พบว่าเป็นไปตามลักษณะพื้นที่ จังหวัดที่มีคนค้นหาข่าวโควิดมากที่สุดอันดับหนึ่ง คือ สมุทรปราการ นนทบุรี ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร นนทบุรีที่ตั้งกระทรวงสาธารณสุข สมุทรปราการพื้นที่กลุ่มแรงงาน ชลบุรีพื้นที่เขตอุตสาหกรรม กทม.พื้นที่เขตเมืองหลวง ฉะนั้น 4 จังหวัดนี้เป็นพื้นที่ค้นหาข่าวโควิดเยอะมาก นอกนั้น 73 จังหวัดของประเทศไทย ข่าวอันดับหนึ่งยังอยู่ที่เรื่องการเลือกตั้งอยู่เลย หมายความว่าตอนนี้โควิดเป็นเรื่องของเมือง เขตเศรษฐกิจ การปกครองหน่วยงานของกระทรวง ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ยังสนใจเรื่องการเลือกตั้งอยู่
กลุ่มโซเชียลมีเดียตามการเมือง 80%
จึงสะท้อน 2 สมมุติฐานว่า 1.สื่อมวลชนให้พื้นที่เพียงพอแล้วหรือยัง 2.พื้นที่ที่สื่อให้ ถูกสนใจมากเพียงพอไหม ในมุมของตนข่าวโควิดหากเทียบกันในตอนต้น อาจจะชิงพื้นที่ได้ประมาณ 20% แต่ 80% สนใจข่าวการเมืองมากกว่า ฉะนั้นนี่คือพฤติกรรมของการค้นหาของผู้คนในปัจจุบัน
งานวิจัยของต่างประเทศ Pure Research สะท้อนว่า ทำไมคนที่เสพข่าวในโซเชียลมีเดีย ติดตามข่าวโควิดน้อยมาก อธิบายได้ว่า คนที่เล่นโซเชียลมีเดีย TikTok Facebook Twitter LINE ตามข่าวเรื่องโควิดน้อย ในระดับประมาณ 20% ส่วน 80% คือข่าวเรื่องการเมือง เลือกตั้ง อะไรที่มันท็อปเท็น
บ่งชี้ว่าคนเหล่านี้ ตามข่าวที่ไม่ใช่สำนักข่าว อย่าลืมว่าข่าวการเมือง ไม่ได้พูดถึงนิวส์เอเจนซี แต่คนทั่วไปที่เป็น UGC User- generated Content ก็เป็นผู้ผลิต อาจจะไม่ได้ผลิตข้อเท็จจริง แต่ผลิตความคิดเห็น เพราะมันง่าย ความคิดเห็น การฟันธง การชี้นำ การวิเคราะห์ เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็มาเป็นกูรูทางการเมืองได้ ใคร ๆ ก็ปั่นตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลในการชี้นำ วิเคราะห์สูตรจัดตั้งรัฐบาล ปล่อยความคิดเห็น ทัศนคติทางการเมืองของตัวเอง ข่าวการเมืองจึงทำง่าย เสพง่าย กลั่นกรองไม่ต้องมาก
ไม่เหมือนข่าววิทยาศาสตร์ ข่าวสังคม คุณภาพชีวิต ซึ่งการเป็นกูรูทางข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มันไม่ใช่ง่าย ๆ มันมีเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ คำศัพท์ เทคนิค ที่สำคัญ ข่าวโควิดถูกผลิตออกมาจากแหล่งข่าวที่มีน้อย คนที่จะมาพูดยิ่งมีน้อย ไม่ใช่ว่าใครจะพูดก็ได้เพราะเป็นเรื่องภัยสาธารณะ ภัยสุขภาพ จะออกมาพูดสร้างความตื่นตระหนกตกใจก็ผิด พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ฉะนั้นคนจึงพูดเรื่องนี้น้อย
อัลกอริทึมส่งผลข้อมูลโควิดแทรกไม่ได้
ดังนั้นจึงอธิบายได้ว่า 1.คนที่เสพข่าวทางโซเชียลมีเดีย จะไม่ค่อยได้เห็นข่าวที่เป็นข่าวโควิด 2.โซเชียลมีเดีย เนื่องจากเอไอมันดันอัลกอริทึมด้วยยอดไลค์ ยอดคอมเมนต์ ยอดแชร์ ยิ่งทะเลาะกันในทางการเมืองมากเท่าไหร่ ตามหลักการของอัลกอริทึม ต่อให้ข่าวนั้นมีหรือไม่มีคุณภาพก็ตาม แต่ถ้าแอดมินหรือคนทำเพจปั่นดราม่าในข่าวการเมือง ต่อให้สำนักข่าวปั่นข่าวโควิด แต่ข่าวการเมืองที่ทะเลาะตบตีกัน ก็จะไปลบกลบข่าวโควิด อันนี้จึงอธิบายได้ว่า ทำไมข่าวการเมืองจึงได้รับความสนใจมาก
แนะประชาชนตื่นตัวรู้ข้อมูลเพื่อระวังภัย
สำหรับการทำหน้าที่ของสื่อ ไม่ว่าจะดี ไม่ดี ก็ยังนำเสนอข่าว มากน้อยแตกต่าง คุณภาพลดหลั่น แต่ประชาชนก็ต้องทำหน้าที่เหมือนกันเสพข่าวอย่างกระตือรือร้น อย่าปล่อยให้อัลกอริทึมมันกำหนดนิ้วโป้งและตาเรา ข้อเท็จจริงหาง่ายแค่ปลายนิ้ว เราไม่ค่อยตามข่าวกัน แม้นักข่าวจะพยายามหาข่าวมานำเสนอ เรามีหน้าที่ติดตามข่าวสารที่มีความจำเป็นต่อชีวิต เพื่อป้องกัน ระแวดระวังภัยที่จะเกิดขึ้น ฉะนั้นอยากฝากว่า เรื่องนี้ข้อมูลข่าวสารหาง่ายแค่ปลายนิ้ว แต่เราต้องเป็นผู้รับสารที่กระตือรือร้น
หากกังวลว่าจะแพนิค ผมว่าแพนิคเพื่อตั้งป้อมระวังภัย เราไม่ได้ไปตื่นตระหนก เหมือนรอบที่แล้วเพราะเรามีประสบการณ์ เรารับมือได้ดีขึ้น อย่าเพิ่งไปกลัวว่า หากรายงานมากเกินไป แล้วคนจะตื่นตระหนก เศรษฐกิจไม่ดี การท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว อย่าเลย รายงานตรงไปตรงมา ข้อเท็จจริงไม่ทำร้ายใคร มันทำให้เราเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์มากขึ้น
ข่าวการเมืองมันถูกผลิตด้วยความเชื่อ แต่ข่าวโควิดมันถูกผลิตด้วยความจริง ความเชื่อมันผลิตง่าย ต้นทุนน้อยที่สุด ความน่าเชื่อถือต่ำเพราะผลิตด้วยความเชื่อส่วนบุคคล แต่ข่าวโควิด นักข่าวต้องให้เวลากับมันมาก เพราะเป็นผลกระทบต่อสาธารณะไม่ว่าจะส้มเหลืองแดง