ที่ประชุมคณะกรรมการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สนับสนุนให้สื่อทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ตรงไปตรงมาในการรายงานข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ ก่อนวันเลือกตั้ง อย่าปล่อยไปตามกระแสโซเชียลที่อาจมีการบิดเบือนข้อมูล พร้อมให้ตรวจสอบติดตามการทำหน้าที่ของกกต. เพราะเป็นหน่วยงานที่จะทำให้การเลือกตั้งผ่านไปอย่างเรียบร้อย ราบรื่น รับทราบการจัดเวทีเสวนา Media Forum # 19 “โค้งสุดท้าย สื่อกับการเลือกตั้ง ปี 66 : แนวปฏิบัติ vs ความจริง” ในวันที่ 10 พฤษภาคม
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 นายนพปฎล รัตนพันธ์ รองเลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2566 ว่า ที่ประชุมรับทราบผลการจัดเวทีเสวนา “เสรีภาพสื่อมวลชนกับกระบวนการยุติธรรม” ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติร่วมจัดกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานการรับเรื่องร้องเรียน 3 สภาวิชาชีพ ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา
นายนพปฎล กล่าวอีกว่า ที่ประชุมรับทราบการจัดเวทีเสวนา Media Forum # 19 “โค้งสุดท้าย สื่อกับการเลือกตั้ง ปี 66 : แนวปฏิบัติ vs ความจริง” ในวันที่ 10 พฤษภาคมผ่านระบบซูม ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ.ดร.ประกายกาวิล ศรีจินดา วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา เลขานุการคณะทำงานยกร่างแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การนำเสนอข่าว ภาพข่าวการเมืองและการเลือกตั้ง นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ที่ปรึกษาพิเศษ บริษัท เนชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด มหาชน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย นางสาวโสภิต หวังวิวัฒนา คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
นายนพปฎล กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนช่วงก่อนถึงวันเลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคมนี้ โดยสนับสนุนให้สื่อทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงที่โซเชียลมีเดียมีส่วนในการชี้นำสังคมอย่างมาก จนเกิดความรู้สึกกันว่าอาจจะมีการทุจริตในการเลือกตั้ง แม้การเลือกตั้งจะเสร็จ แต่ความรู้สึกของประชาชนอาจจะยังไม่จบลงได้ สื่อมวลชนควรต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมาตามหลักฐานข้อเท็จจริง ตรวจสอบและติดตามการทำงานของกกต. อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่างเป็นกลาง เป็นธรรมและโปร่งใส ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับกกต. ที่จะทำให้การเลือกตั้งผ่านไปอย่างเรียบร้อย ราบรื่น โดยมีการยกตัวอย่าง กรณีการเลือกตั้งในประเทศเพื่อนบ้าน ที่นักวิชาการด้านสื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตว่า สื่อกระแสหลักไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเพียงพอ ปล่อยไปตามกระแสโซเชียลมีเดีย จนทำให้ผู้สมัครที่ใช้โซเชียลมีเดียบิดเบือนข้อมูลได้รับการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น จึงคาดหวังว่าสื่อมวลชนของไทยจะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ในการให้ข้อมูลกับประชาชน.