สภาทนาย ผนึกสภาการสื่อฯ-สมาคมนักข่าว จัดเสวนา แนะอย่าตกเป็นเครื่องมือทนายหิวแสง งัด “มรรยาทข้อ 17” ห้ามทนายตั้งโต๊ะแถลงข่าวคดีความ ชี้โทษหนักสุดลบชื่อจากบัญชีทนาย นักข่าวรับเงินถือว่าผิดจริยธรรม
วันที่ 6 เม.ย. 2566 มีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “สิ่งที่สื่อมวลชนควรทราบ เกี่ยวกับมรรยาททนาย” ที่ห้องประชุม ชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจัดโดย สภาทนายความฯ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ สภาทนายความฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า การจัดเสวนานี้เพราะปัจจุบันมีทนายความหรือผู้ที่อ้างตัวเป็นทนายได้รับความสนใจจำนวนมาก ทำให้เส้นแบ่งระหว่างอาชีพทนายกับเส้นแบ่งของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์หมิ่นเหม่ในมรรยาททนายความ และยังกระทบวิชาชีพสื่อมวลชน จึงเล็งเห็นปัญหานำไปสู่การจัดเสวนานี้ เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างไม่รู้ตัว
ดร.วิเชียร ชุบไธงสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่าเข้าใจบริบทสื่อที่ต้องทำกำไรและเรทติ้ง แต่สื่อต้องระวัง รู้ทัน ถ้ารู้ทันมรรยาททนาย เพื่อป้องกันตัวเอง เท่าที่ได้รับฟังรายงาน มีผู้ประกอบวิชาชีพทนายและผู้อ้างว่าเป็นทนาย ทำให้เส้นแบ่งอาชีพทนายกับผู้มีอิทธิผลทางความคิดหมิ่นเหม่มรรยาททนาย กระทบจริยธรรมสื่อ ทั้งนี้ ในส่วนของสภาทนายความมีคณะกรรมการสองชุด คือ 1. คณะกรรมการบริหาร และ 2. คณะกรรมการมรรยาท ซึ่งมีหน้าที่จัดเลือกตั้งกรรมการบริหารและควบคุมมรรยาททนายความคดีมรรยาท ต้องมีผู้ร้องมาที่คณะกรรมการมรรยาททนาย โดยต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหาย จากทนายความ หรือความปรากฏ จะถูกหยิบยกเป็นคดีมรรยาททนาย ซึ่ง “มรรยาททนายความ พ.ศ. 2529″ เป็นกฎหมายลูกบัญญัติอยู่ใน พ.ร.บ. ทนายความ 2528
บทลงโทษ 3 สถานของมรรยาทนาย หากฝ่าฝืน ละเมิด กรณีเบาสุด คือ ภาคฑัณฑ์ ถัดมาคือ ห้ามการเป็นทนายความ 3 ปี และหนักสุด คือลบชื่อออกจากการเป็นทนาย หากจะกลับมาต้องผ่านกระบวนการสอบสวนหลังผ่านไป 5 ปี สามารถยื่นขอกลับมาได้ แต่โอกาสน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่คณะกรรมการฯ และที่ผ่านมามีทนายความโดนลบชื่อออกไปเยอะพอสมควร และมีทุกเดือน มีเยอะมาก แต่ที่กลับเข้ามาได้มีส่วนน้อย
นายกสภาทนายความ บอกด้วยว่า กำลังจะมีการแก้ไขข้อบังคับการพิจารณาคดีมรรยาททนาย เพราะพบว่าหลังกรรมการรับเรื่องไปไม่มีกรอบระยะเวลา บางเรื่องใช้เวลานานเกิน 10 ปี เราต้องแก้ข้อบังคับ กำหนดกรอบระยะเวลาไม่ควรเกิน 1 ปี แต่เห็นต่างอย่างไรต้องไปว่ากันที่ศาลปกครอง เพราะคนที่ร้องเขารอกระบวนการที่มีข้อจำกัด ทำให้เขาเสียโอกาสจากการใช้เวลานานในการพิจารณา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกำหนดกรอบระยะเวลาให้เร็วขึ้น
นอกจากนี้มีแนวคิดและจะออกเป็นนโยบาย คือถึงเวลาการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองก่อนรับคดีมรรยาทได้แล้ว เพื่อลดปริมาณคดีลงไป ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย สามารถชี้แจงคู่กรณีและสังคมได้
ส่วนประเด็นของทนายอาสาที่มีทนายบางคนอ้างตัวเป็นทนายอาสาเพื่อช่วยเหลือคดีกับประชาชนนั้น นายกสภาทนายความ อธิบายว่า ทนายอาสาของสภาทนายความมีทั่วประเทศ 6,400 คน แต่ทั้งนี้ทนายความอาสา ต้องผ่านการอบรมจากสภาทนายความ หากไปตั้งเองอาจจะหมิ่นเหม่มรรยาท เพราะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของสภาทนายความ
“ใครจะไปอ้างเป็นทนายอาสา โดยไม่ได้ผ่านการอบรมโดยสภาทนายความ มีความหมิ่นเหม่ คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะไปทำ ต้องมีคนร้อง มีผู้เสียหาย หรือความปรากฏ ในการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการ”
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้เป็นความต่อเนื่องจากความร่วมมือของสภาทนายความกับองค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่งความร่วมมือมีมาโดยตลอดในส่วนของการช่วยเหลือคดี เมื่อสื่อโดนละเมิด ฟ้องร้องดำเนินคดี และยังมีการหารือเกี่ยวกับปัญหาของทนายหรือคนอ้างตัวเป็นทนายความที่ใช้พื้นที่สื่อโฆษณาตัวเองจนทำให้สังคมสับสน อาทิ มีการรับจ้างแถลงข่าว ทำให้สงสัยว่าถูกต้องตามมรรยาทของทนายความหรือไม่ เมื่อสื่อเข้าใจก็จะได้นำความคิดเห็นไปทำข่าวได้อย่างถูกต้อง
“ถ้าจะแก้ปัญหานี้ สภาการสื่อมวลชนฯ องค์กรสื่อ เสนอแนะไปยังสภาทนายความ ในการจัดทำบัญชีทนายความในการทำคดีประเภทต่าง ๆ เพื่อให้สื่อติดต่อ ขอความเห็น แทนที่จะติดต่อคนที่อ้างว่าเป็นทนาย มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันแล้ว เพราะหากสื่อนำความเห็นทนายความหรือคนอ้างเป็นทนายอาจหมิ่นเหม่การละเมิดจริยธรรมสื่อ”
ด้าน นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมนักข่าวฯ มีหน้าที่ปกป้องเสรีภาพของสื่อ และสื่อต้องใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบ และตามโจทย์ของการเสวนาในวันนี้ คือเรื่องมรรยาททนาย แต่ขณะเดียวกันสื่อและสังคมต้องรู้ว่าใครคือสื่อมวลชน แน่นอนว่าใครอยากเป็นสื่อมวลชนเป็นได้ แต่อาจจะมีส่วนช่วยทำร้ายสังคมหากไม่มีความรับผิดชอบ ดังนั้น ใครที่อยากเป็นสื่ออยากให้ตระหนักจริยธรรมสื่อ และมาเรียนรู้มรรยาททนายเพื่อไม่เผลอไปสร้างดาวเด่นแต่ทำลายสังคม
นายเกษม สรศักดิ์เกษม ประธานกรรมการมรรยาททนายความ ให้ความเห็นว่าคดีมรรยาททนาย ผู้ได้รับความเสียหายจากเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นประชาชน ทนายความทะเลาะกันเองมีน้อย ซึ่งประชาชนสามารถมาร้อง ประธานกรรมการมรรยาทได้โดยตรง
ทั้งนี้ข้อบังคับสภาทนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 17 ระบุว่า ห้ามประกาศโฆษณา หรือ ยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณาใดใด เช่น ทนายความแถลงข่าว เอาเรื่องข้อมูลในคดีมาแถลงข่าวด้วยวัตถุประสงค์อะไรก็แล้วแต่ แต่ทนายก็มีที่อยากโตเร็ว อยากมีชื่อเสียง ดังนั้น การรับเป็นทนายความไม่มีเหตุใดเลยต้องนั่งแถลง การว่าความต้องไปศาล ต้องสู้กันในศาล ต้องตั้งคำถามว่าการแถลงข่าวเพื่อชื่อเสียงหรือไม่
“อยากดังหรือเป็นยาจกก็ห้ามแถลง แต่ห้ามนำเรื่องในคดีลึก ๆ มาเล่าให้คนฟัง การนั่งแถลงแบบนั้น เพื่ออวดศักดา อวดฝีมือ แสดงว่ามีค่าตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ เรียกค่าทนายได้ แบบนี้เป็นเจตนาไม่ค่อยดี ถ้าเป็นทนายมีความประพฤติดีควรหลีกเลี่ยงตรงนี้ กรณีสื่อได้รับเชิญจากทนายไปแถลงข่าว แนะนำว่าสื่ออย่าไป ปิดประตูตรงนี้เพราะไม่ได้เป็นประโยชน์กับสังคมเลย เพราะเป็นเรื่องของคู่กรณีที่มีได้มีเสียกัน ถ้าสื่อไม่ไปก็จะไม่เกิดปัญหา”
ส่วนกระบวนการพิจารณาคดีมรรยาทที่ล่าช้านั้น ประธานกรรมการมรรยาททนาย ยอมรับว่า กระบวนการช้ามาก บางคดีใช้เวลาเป็น 10 ปี และพบว่ามีคดีผู้ร้องคดีมรรยาทในปี 2566 ประมาณร้อยคดีแล้ว
นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ สภาทนายความ กล่าวว่า เหมือนเราเป็นจำเลยของสังคมยังไงก็ไม่รู้ เพราะเดินทางไปไหนก็มีคนถาม ยืนยันว่าเรากำลังจะจัดการทนายหิวแสง จึงฝากบอกสื่อล่วงหน้าตอนนี้กำลังจะมีทนายร้องทนายหิวแสง เป็นอีกสเต็ป จึงอยากเตือนสื่อขอให้อย่าไปหลงกล
“มีทนายกำลังร้องทนายหิวแสง ซ้อนความหิวแสงไปอีกชั้น ขอให้สื่อต้องระวัง”
อุปนายกฯ อธิบายว่า ต้องทราบก่อนว่ากรรมการบริหารสภาทนายความ ไม่ได้มีหน้าที่รับคำกล่าวหาเรื่องมรรยาท ตามดำเนินคดี เพราะจะส่งเรื่องให้กับประธานกรรมการมรรยาทเท่านั้น
ทั้งนี้ ยอมรับว่าโลกมีวิวัฒนาการ สมัยก่อนสื่อไม่กี่ช่อง เมื่อสื่อจะถามข้อกฎหมายส่วนใหญ่จะติดต่อมาที่สภาทนายความ เพื่อให้เราจัดทนายความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับสื่อในการให้ความเห็น แต่ปัจจุบันสื่อไม่ได้ประสานมาที่สภาทนายความ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ความผิดของสื่อ แต่เราก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
“ทนายความมีแสนคนทั่วประเทศ ประพฤติผิดในโซเชียลมีเยอะมาก แต่ถ้าสามารถจับไม่กี่เคสเชื่อว่าเคสอื่น ๆ เขาจะหยุด เราต้องป้องปราม”
รศ.ดร. วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วันนี้จริง ๆ อยากฟังทนายความพูดมากกว่า เห็นด้วยว่าสื่อและทนายกำลังเป็นจำเลยสังคม ต้องตั้งคำถามว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรื่องนี้ ส่วนตัวมองว่า “มรรยาททนายความ” เป็นคำที่รู้ในสังคมทนาย แต่เป็นคำใหม่ของสังคม เชื่อว่าคนทำสื่อไม่รู้ และประชาชนคนในสังคมไม่รู้
เมื่อได้ฟังตัวแทนจากสภาทนายความถึงการร้องคดีมรรยาททนายที่ 1. ผู้เสียหายสามารถร้องได้ด้วยตัวเอง แต่เราทราบดีว่าวัฒนธรรมคนไทย ไม่ร้องเพื่อหาเรื่องใส่ตัว 2. ทนายร้องกันเอง ซึ่งจะเป็นเรื่องแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน เช่นเดียวกับสื่อ 3. ต้องปรากฏความผิด ซึ่งส่วนใหญ่ได้ทางจอทีวี ข่าวออนไลน์ทุกวัน
รศ.ดร. วิไลวรรณ ตั้งคำถามอีกว่านักข่าวไม่รู้ หรือแกล้งไม่รู้มรรยาททนาย และถามว่าเมื่อทนายเข้ากระบวนการคดีมรรยาททนาย สื่อจะตกเป็นจำเลยด้วยหรือไม่ เพราะเชื่อว่าอาจจะไม่ใช่แค่การถอดใบทนาย แต่มันคือการละเมิดด้วย แล้วสื่อทำผิดกฎหมายด้วยหรือไม่
นิเวศสื่อที่เปลี่ยนไป หลังจากทีวีอนาล็อก สู่ การเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล และกลายเป็นสื่อออนไลน์ มีการแข่งขันการทำคอนเทนต์ ก็มีการแข่งขันเรื่องรายได้ ระบบนิเวศข่าวเปลี่ยนไป จากมีข่าวอาชญากรรม ก็เพิ่มเป็นมีข่าวอาชญากรรมสังคม มีข่าวบันเทิงที่ส่วนตัวเรียกว่าข่าวดารา และแหล่งข่าวหลักของข่าวกลุ่มนี้คือทนายความ เมื่อย้อนไปสมัยที่ยังเป็นนักข่าว เราจะนึกถึงสภาทนายความเวลาเกิดคำถามเรื่องกฎหมาย
“มีข่าวดารา มีข่าวอาชญากรรมสังคม ทำให้เกิดซุปเปอร์สตาร์ ทนายหน้าจอเกิดขึ้น จึงเสนอให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ สภาการสื่อมวลชนฯ และสภาทนายความ จับมือกันเพื่อจัดอบรมให้ความรู้ให้กับนักข่าวด้วย”
นอกจากนี้ อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ มธ. ตั้งคำถามถึงการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อว่าทำได้เข้มแข็งแล้วหรือยัง พร้อมกับเรียกร้องให้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนรุ่นใหม่เข้าไปทำงานในสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ มากกว่านี้
นายนพปฎล รัตนพันธ์ รองเลขาธิการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เล่าว่า ก่อนหน้านี้สภาการสื่อมวลชนฯ นำประเด็นมาหารือกับสภาทนายความเรื่องการผิดมรรยาททนายความ เพราะมองว่ามรรยาทของคนที่ก้าวออกมาบอกว่าตัวเองเป็นทนายความเพื่อช่วยเหลือคนไม่ได้รับความเป็นธรรม เราในฐานะคนทำข่าว ดูแลการทำข่าว รู้สึกหมิ่นเหม่ที่ทนายหรือคนนั่งแถลงให้ข้อมูลบางอย่าง เพื่อเป็นประเด็นให้สื่อนำไปเสนอ เพราะเขาเข้าใจในความกระหาย ความอยากของสื่อไม่ว่าในมิติไหน การกล่าวหาฝ่ายตรงข้าม กล่าวหา เจ้าหน้าที่รัฐ และแนะนำว่าในส่วนของสื่อต้องมีวิจารณญาณของกองบรรณาธิการ กลั่นกรองการนำเสนอทุกครั้ง
นอกจากนี้ยังพบว่าสิ่งที่ควบคุมได้ยากคือ การถ่ายทอดสด การปล่อยข้อมูลในกลุ่มไลน์ อาทิ ในกลุ่มองค์กรการกุศล ที่เมื่อมีการนำเสนอแล้วได้เรตติ้ง ก็ต้องระวัง
“3 – 4 ปีที่ผ่านมา สื่อโดนลงโทษจากผู้บริโภคค่อนข้างเยอะ หากสื่อไหนไปละเมิดสิทธิ์ สื่อก็รู้ตัว แก้ไข ปรับเปลี่ยน แต่พบว่าบางรายการข่าวยังใช้วิธีเดิม ๆ เพื่อเรียกเรตติ้ง ด้วยการเอาทนายและเหยื่อไปออกอากาศ แล้วเรียกสื่อไปทำข่าว องค์กรสื่อก็หารือสภาทนายความว่าผิดมรรยาททนายหรือไม่”
นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า เรื่องจริยธรรมสื่อกับมรรยาทของทนายที่เป็นกฎหมาย คือ สีดำกับขาว ที่ออกมาแล้วจะเป็นสีเทา ๆ ส่วนตัวมักใช้คำว่า มันมีความหมิ่นเหม่ อ่อนไหว ในทางจริยธรรม และทั้งสองอาชีพมีความเหมือนและความต่าง
อาทิ ทนายความต้องจบนิติศาสตร์โดยตรง แต่สื่อไม่ต้องจบนิเทศก็ได้ หรือไม่จบก็ยังได้ เพราะเป็นเรื่องของเสรีภาพพื้นฐานกำหนดในรัฐธรรมนูญ ทนายความต้องจดทะเบียนและมีใบอนุญาตจากสภาทนายความ แต่สื่อไม่ต้องจดทะเบียนวิชาชีพ ยกเว้นสื่อสิ่งพิมพ์ สภาทนายความมีบทลงโทษตามมรรยาททนายความ แต่สื่อมวลชนมีกรรมการสภาวิชาชีพ ไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะเรากำกับดูแลกันเองด้วยความสมัครใจ และสมาชิกสภาการสื่อมวลชนฯ เป็นองค์กร แต่ทุกสื่อไม่ได้เป็นสมาชิกทั้งหมด
ส่วนกรณีทนายความรับจ๊อบแถลงข่าว 3.5 แสนบาทนั้น จะพูดถึงในส่วนของสื่อเท่านั้น คือ กรณีองค์กรสื่อ ถ้ารับส่วนแบ่ง นำเสนอข่าวแล้วล้อมกรอบขึ้นหัวรายการนี่คือ “ข่าวธุรกิจ” ถือเป็นโฆษณา รับได้ เพราะเป็นที่รู้กันว่าคือพื้นที่โฆษณา แต่หากรับแล้วไม่แจ้งผู้รับสารรู้ ถือว่ามีประเด็นทางจริยธรรม และกรณีองค์กรนักข่าวรับเงินเมื่อใด ก็ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนทันที มีลาภมิควรได้ ขัดต่อจริยธรรมค่อนข้างรุนแรง