ข่าว “ซีเซียม-137” สะท้อนการบริหารงาน การสื่อสารภาครัฐ

การรายงานข่าว “ซีเซียม-137” สะท้อนการบริหารจัดการ การสื่อสารภาครัฐ “รองโฆษกรัฐบาล” ยอมรับข้อบกพร่อง ล่าช้าจากกระบวนการทำงานระหว่างหน่วยงาน หวังมีกลไกกระจายข่าวให้ถึงประชาชนโดยเร็ว ขณะที่นักวิชาการชื่นชมสื่อพยายามเจาะข่าว ใช้วิธีให้ผู้เชี่ยวชาญอธิบายความ เน้นย้ำสื่อเข้าพื้นที่กรณีมีสารอันตราย ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันตัว ขณะที่ PPTV เกาะติด เน้นนำเสนอเรื่องยากให้เข้าใจง่าย เพื่อให้ปชช.ตระหนัก ไม่ตระหนก เผยต้องบาลานซ์เรตติ้ง และแบรนด์ดิ้ง เพื่อประโยชน์สังคม

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง การรายงานข่าว “ซีเซียม -137” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ จินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุศรินทร์ วรสมิทธิ์ หัวหน้าผู้สื่อข่าว PPTV ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

กรณีวัสดุบรรจุสารกัมมันตรังสี ซีเซียม – 137 หายไปจากโรงงานไฟฟ้า ย่านนิคมอุตสาหกรรม 304 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี จนเป็นที่กังวลของประชาชนว่า จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หรือไม่ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจวัดหาการปนเปื้อนของรังสีทั้งในดิน น้ำ อากาศ อาหาร รวมทั้งติดตามหาวัสดุดังกล่าว

     ปัญหาสำคัญที่ประชาชนอาจไม่รู้ถึงคุณและโทษของซีเซียม -137 รวมทั้งสัญลักษณ์วัตถุอันตรายที่ต้องระมัดระวัง เรื่องดังกล่าว รศ.ดร.เจษฎา ได้อธิบายถึง “ซีเซียม-137” ว่า เป็นแร่ธาตุหนึ่งในธรรมชาติ ปกติเลขจะเป็น 133 แต่เมื่อไปผ่านกระบวนการทางด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ให้มันปลดปล่อยรังสีออกมา ก็กลายเป็น “ซีเซียม-137” ติดตั้งไว้ในอุปกรณ์วัดระดับ ติดไว้ในไซโลโรงไฟฟ้าเพื่อวัดระดับขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาชีวมวล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

หลังจากมีรายงานว่า แท่งเหล็กที่บรรจุซีเซียม 137 หายไป ปัจจุบันก็ยังไม่ชัดเจนว่า ใช่ที่หายไปหรือไม่ แต่อย่างน้อยเราเจอสารปนเปื้อนของซีเซียม-137 ในบริเวณโรงงานไฟฟ้าที่ปราจีนบุรี จริงๆ ซีเซียม 137 ก็ไม่ต่างกับโคบอลต์ 60 ที่มีประโยชน์ในการปล่อยรังสีออกมา แล้วนำไปใช้ในการทำเครื่องกำเนิดต่างๆ มากมาย แต่ที่เป็นประเด็น คนสับสนว่า เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ จะมีสารกัมมันตรังสีหรือไม่

บทเรียนสะท้อนความไม่รู้ของประชาชน

จึงอยากสะท้อนถึงความรู้ของประชาชน เกี่ยวกับเรื่องรังสี อาจไม่ทราบเมื่อเห็นเครื่องหมาย ใบพัดสามแฉก ซึ่งเป็นตรารังสี เมื่ออุปกรณ์บรรจุรังสีตกลงมา คนจึงไม่ตกใจ แล้วคนที่ขโมยออกจากโรงงานไปขาย ก็ไม่รู้เลยว่าเอาของอันตรายออกไป ที่สำคัญคือโรงงานที่รับซื้อต่อไปเพื่อไปหลอมเหล็กโลหะ ก็ไม่รู้เลยว่า อันนี้อันตราย รวมทั้งเรื่องของความเข้มงวดกวดขัน ในการจัดเก็บดูแลด้วย

ขณะที่การทำงานของสื่อในการรายงานข่าวซีเซียม- 137 รศ.ดร.เจษฎา ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์ หลังจากโพสต์ข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ความรู้และทำความเข้าใจกับคนในสังคม ระบุว่า เมื่อดูตามไทม์ไลน์ กว่าจะรู้ว่าหายไปก็ผ่านมาหลายสัปดาห์ สื่อจึงได้มาถามว่า ควรรายงานและชี้แจงสังคมอย่างไรดี เพราะยังไม่มีใครรู้เท่าไหร่ และกว่าทางจังหวัดปราจีนบุรี จะออกมาแถลงข่าวก็ข้ามวันไปแล้ว

ชมสื่อหลักเจาะข่าว-สื่อโซเชียลช่วยได้ดี

           ในภาพรวม การรายงานข่าวของสื่อ ยังถือว่าใช้ได้ ขณะที่สื่อโซเชียลก็ช่วยกันได้ดีมาก ในการกระจายความรู้เรื่องนี้ให้ประชาชน เพราะถ้ารอรัฐแถลงมันช้าไป ซึ่งก็มักจะบอกว่าไม่มีอะไร พร้อมกันนี้ ก็ขอชมหลายสื่อที่ไปเจาะข่าว ตั้งข้อสังเกตว่ามันน่าจะหละหลวม ซึ่งหลายทีมก็ทำได้ดี มีภาพให้เห็นถึงสภาพโรงงานว่าเป็นแบบไหน 

“จริงๆ ต้องรีบตระหนักว่า ของอย่างนี้หลุดหายไป ต้องช่วยกันเชื่อมโยง เพราะเคยมีกรณีตัวอย่างโคบอลต์ 60 สเต็ปแรกมองว่า สื่อทำงานได้ดีทีเดียว และการให้ความรู้เรื่อยๆ ค่อนข้างดีขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ว่า ถ้าพูดกันตรงๆ หน่วยงานภาครัฐเอง กลับเป็นฝ่ายที่ให้ข้อมูลได้ไม่ชัดเจน แม้สื่อพยายามจะรวบรวมเพื่อนำเสนอ แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากการแถลง รวมทั้งเอกสารที่ให้มาไม่ค่อยเข้าใจ จึงต้องให้นักวิชาการหลายๆ คน ช่วยกันอธิบายมากหน่อย”  

อย่างที่สอง ที่เป็นเรื่องดีก็คือ นักวิชาการได้มีโอกาสช่วยกันให้ข้อมูลมากขึ้น สเต็ปที่สาม ที่เริ่มมีปัญหาคือ เริ่มมีบางสื่อที่ขยายไปไกลเกินจริง เช่นไปเชื่อมโยงเรื่อง “เชอร์โนบิล” (โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์) ว่าจะกระจายไปในรัศมี 1,000 กิโลเมตร มันจะมีความเสียหาย อันนี้คือเกินไปแล้ว เพราะแทนที่คนจะตระหนักถึงอันตราย หรือสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น กลายเป็นตื่นตระหนก 

ก็ต้องยอมรับว่า เป็นผลจากการที่รัฐเองก็เพิ่งจะมาเทคแอ็คชั่น หรือออกมาแถลงข่าวหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นมาแล้วเป็นสัปดาห์ เรื่องจึงย้อนกลับมาว่า ตกลงที่แท้จริงแล้วขนาดไหน 

“มันไม่ได้อันตรายถึงขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้ ไม่อันตราย เพราะบางสื่อทำข่าวแบบไม่ต้องห่วง ไม่มีอันตรายใดๆ เลย ซึ่งไม่ถูกต้อง โดยรวมควรเป็นอุทาหรณ์ ที่สื่อจะต้องกลับมาทบทวนตัวเองด้วยว่า การทำข่าว เบ้ไปทางไหนมากหรือเปล่า” 

แนะการทำข่าวอันตรายต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน

เมื่อถามถึงการลงพื้นที่ไปทำข่าวของสื่อมวลชนในเหตุการณ์ลักษณะนี้ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวอย่างไรหรือไม่ รศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า จากที่ดูเหตุการณ์ตั้งแต่วันแรกๆ และวันถัดมา พบว่ามีความไม่เป็นมืออาชีพค่อนข้างเยอะ อย่างตนทำงานเกี่ยวกับเรื่องรังสี จะรู้เรื่องว่าระดับปริมาณของซีเซียม-137 มันต่ำกว่าโคบอลต์ 60 มาก และปริมาณที่หายไปจากแท่งเหล็กน้ำหนัก 25 กิโลกรัม ก็มีไม่เยอะ สื่อก็อาจจะชิลๆ เหมือนกับที่เราทำงานกันมา แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น 

หากเปรียบเทียบกับในต่างประเทศเมื่อไม่นานมานี้ ในออสเตรเลียก็มีเรื่องสารรังสีหายเหมือนกัน เค้าก็ระดมคนเต็มที่ พร้อมเครื่องมือ ชุดเครื่องแต่งกายต่างๆ มันเห็นความจริงจังของรูปแบบการทำงาน อย่างบ้านเรา การแถลงข่าวของหน่วยงาน ก็เหมือนแค่แถลงข่าวของหายเฉยๆ ไม่ได้แถลงข่าวในเชิงเป็นวิกฤติที่จะต้องเร่งแก้ไข หรือตามหา

ขณะเดียวกัน การลงพื้นที่เจ้าหน้าที่ ก็พอเข้าใจได้ว่า ในหน้างานชุดแรกที่เข้าไป อาจจะแต่งตัวธรรมดาไปนิดนึง อันนั้นก็ถูกคนวิจารณ์เยอะ แต่หลังจากรู้แล้วว่า มันมีสาร ฉะนั้นเพื่อให้เป็นมืออาชีพ มันต้องเปลี่ยนหมด ต้องแต่งเป็นพีดีเอ เหมือนกับตอนที่เราเจอวิกฤติโควิด ใส่หน้ากากที่สามารถกรองสารรังสีได้ให้ถูกต้อง คนนอกต้องไม่เข้าไป 

ในด้านของสื่อ รศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า ต่อไปสื่อก็ต้องเรียนรู้ว่า การจะไปทำข่าวแต่ละประเภท ต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องมีการอบรมกันบ้าง อีกทั้งในการรายงานข่าวก็ต้องทำให้ประชาชนได้เห็นตัวอย่างที่ดีด้วย ฉะนั้นตัวอย่างที่ต้องดูแลตัวเองอย่างไรในสถานการณ์นี้ ที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่ก็ต้องเป็นตัวอย่างให้สื่อ สื่อก็กระตุ้นเขาได้ ซึ่งก็เห็นมีบางสื่อตั้งข้อสังเกตต่อเจ้าหน้าที่ว่า ใช้วิธีนี้จริงหรือ ซึ่งก็เป็นเรื่องดี ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ตระหนักว่าทำตัวไม่มืออาชีพ ไม่อย่างนั้นต่อไปชาวบ้านที่เจอเรื่องเกี่ยวกับรังสี ก็ไม่กลัวอะไร เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เห็นกลัว เราก็ไม่ต้องกลัวหรือไม่

เน้นข้อมูลความรู้ให้ตระหนัก-ไม่ตระหนก

ขณะที่ บุศรินทร์ ​ได้เล่าถึงกระบวนการทำงานในข่าวที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของทั้งคนสื่อและประชาชนในพื้นที่ว่า กอง บก.ได้ประชุมกันทันทีที่ทราบเรื่องการแจ้งความซีเซียม-137 หายไป จากผู้สื่อข่าวพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้น ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดหรือในพื้นที่ก็ได้รายงานข่าวเบื้องต้นเข้ามา ขณะที่ทีมข่าวส่วนกลาง ก็ได้ขยายประเด็นในมิติต่างๆ เพื่อประกอบให้ข่าวนี้มีหลายมิติมากขึ้น เราก็วางแผนเบื้องต้นกันอย่างนี้

จากนั้นเราก็ติดตามอย่างต่อเนื่อง และให้น้ำหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ในทุกช่วงข่าว แต่สัดส่วนอาจจะไม่ได้มาก โดยเกาะติดสถานการณ์หายไปอย่างไร แล้วตำรวจ จังหวัดดำเนินการอย่างไร ประชาชนต้องระมัดระวังอย่างไรบ้าง

          “เราได้คุยกันในกองบก.ว่า หนึ่ง เราต้องให้น้ำหนักกับเรื่องนี้ให้มากกว่าเดิมแล้ว เพราะมันมีหลายมุมมาก ที่ประชาชนอาจจะไม่รู้ว่าซีเซียม -137 คืออะไร สอง เราไม่รู้ว่าผลกระทบมันไปไกลแค่ไหน อีกทั้ง ยังมีข้อมูลที่ไม่ตรงกันอยู่ว่าสารฯ ถูกหลอมไปแล้วหรือยัง ซึ่งมันจะกระทบอย่างไรบ้าง สำหรับการแถลงข่าววันแรก เราก็รู้สึกว่ามันสับสนอยู่ในข่าวนี้มาก จึงให้น้ำหนักข่าวนี้มากขึ้น

โดยให้ผู้รู้อธิบายให้อย่างละเอียด ให้เข้าใจ หลังจากกองบก.หาข้อมูลเบื้องต้นว่า สารนี้มีไว้ทำอะไร ก็คุยกับนักวิชาการนักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การจะสื่อสารเรื่องนี้อย่างไร มันเป็นความยากมากๆ จากที่มันเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว และยังจับต้องได้ยากไปอีก รวมถึงผลกระทบก็ไกลมาก ถึงแม้ว่าสมมุติมีประชาชนได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อน แต่มันไม่ได้ส่งทันที หรือได้เห็นโดยตรง แต่มันเป็นลักษณะของการสะสมไว้ในอนาคต ซึ่งมันไม่เห็นภาพเลย

สื่อสารเรื่องที่ยากให้เป็นเรื่องเข้าใจง่าย

ขณะที่ผู้บริโภคสื่อในปัจจุบัน ก็อาจจะรู้สึกว่ามันไกลตัว สื่อจึงมีหน้าที่ทำให้เห็นว่ามันใกล้ตัว ต้องหันมาสนใจมัน ซึ่ง กองบก.ก็คุยกันว่า มันใกล้ตัวมาก แล้วจะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกว่ามันไม่ได้ไกลตัวขนาดนั้น แต่มันอาจส่งผลกระทบในอนาคต โดยเฉพาะคนในพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องบาลานซ์ว่า ไม่ต้องตื่นตระหนก ไม่สร้างความตกใจไปกันใหญ่ เราก็จะแบ่งพาร์ทในการทำงาน เป็นการเปรียบเทียบ อดีต ปัจจุบัน อนาคต เพื่อเป็นการสื่อสารกับนักข่าวในภาคสนามที่ยังเป็นเด็กอยู่ เราพยายามทำเรื่องยากให้มันง่ายก่อน แล้วถึงจะสื่อสารออกไปถึงผู้บริโภคข่าว

บุศรินทร์ ระบุว่า เราต้องทำข่าวให้รอบด้านจริงๆ รู้จริงๆ แม้เราจะไม่ได้รู้ทุกเรื่อง แต่เราก็ต้องไปถามคนที่รู้ แล้วมีหน้าที่ในการสื่อสารให้ง่ายเพื่อให้คนดูในทุกระดับ ทุกชนชั้น ทุกอาชีพ ได้รู้เท่าทัน

“วันแรกที่หน่วยงานสื่อสารออกมา จะมีศัพท์เทคนิคเยอะมาก ซึ่งคนทำข่าวก็จะมีแหล่งข่าวอยู่ในแวดวงต่างๆ ก็คุยเพื่อขอความรู้จากเขา เช่นขอดูหน้าตาของเครื่องหลอม หรือฟุตเหล็ก หน้าตาเป็นอย่างไร เพื่อทำความเข้าใจและสื่อสารออกมา”

ประเมินความปลอดภัย-ผลกระทบคนข่าว

ส่วนความระมัดระวังของผู้สื่อข่าวในการเข้าพื้นที่ บุศรินทร์ ระบุว่า พีพีทีวี ตัดสินใจไม่ส่งนักข่าวส่วนกลางลงไปในพื้นที่ แต่ก็ให้น้ำหนัก และเวลาในการสื่อสารเรื่องนี้ ในรายการข่าว ทุกช่วงข่าว รวมถึงเพิ่มเวลา โดยขยายประเด็นเป็น 3-4 ชิ้น 

“หลักแรกที่เราประเมินคือ มันปลอดภัยหรือไม่ มันเป็นเรื่องใหม่มาก ไม่รู้ว่าจะกระทบกับสุขภาพในอนาคตของเขาหรือไม่ จึงตัดสินใจว่าไม่ส่งทีมลงไป อีกทั้งเทคโนโลยีสมัยนี้ การแถลงจาก จ.ปราจีนบุรี ก็ไลฟ์สดอยู่แล้ว ก็รู้สึกว่าเราสามารถดึงแหล่งข่าวจากตรงนั้นได้ และเราก็มีผู้สื่อข่าวในพื้นที่อยู่แล้ว ที่ตามเรื่องนี้ อาจจะรู้ดีกว่าด้วยซ้ำ ฉะนั้นทีมส่วนกลางก็จะขยายมุมมองต่างๆ เพื่ออธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

“ส่วนที่เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีดีมากๆ ตอนที่เค้าลงไป ก็เก็บภาพทั้งหมดมาให้อยู่แล้ว ต่อให้เราลงไปก็ไม่สามารถจะเข้าไปในโรงงานได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้นอาจไม่มีความจำเป็นในการไป อย่างงานไหนที่รู้สึกว่าจำเป็นต้องไป เพราะจะทำให้ได้ข้อมูล หรือได้สิ่งที่ลึกมากกว่ามานำเสนอ ก็จะมีอุปกรณ์ครบหมด แต่ในการประเมินหลักแรกคือ เราจำเป็นต้องไปไหม เราจะไปเพิ่มความเสี่ยงไหม ถ้าเรารู้สึกว่ามันยังอยู่ในขั้นแรก ว่าเราพอเพียงแล้ว แต่ถ้าจำเป็นต้องไป อุปกรณ์ก็ต้องครบ แล้วก็ต้องประเมินว่า ไปอยู่ได้แค่ไหน” 

บาลานซ์ เรตติ้ง-แบรนด์ดิ้งเพื่อประโยชน์สังคม

บุศรินทร์ ยังตอบข้อถามถึงเรตติ้งกับข่าวนี้พิจารณาอย่างไรว่า เป็นเรื่องใหญ่มากๆ เราให้น้ำหนัก และคิดว่าต้องเกาะเรื่องนี้ไว้ต่อเนื่อง แต่ว่าในวันที่เราตัดสินใจ ว่าเราต้องเล่นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราก็ต้องขยาย และอธิบาย แต่เรารู้อยู่ในใจแล้วว่าเรตติ้งข่าวเราไม่ได้แน่ๆ เพราะคนอาจรู้สึกว่ามันไกลตัว แต่เราก็คุยกัน แล้วตัดสินใจว่า เราคงต้องให้น้ำหนักมันเพิ่มมากขึ้น ก็ตัดสินใจนำเสนอแบบที่น้ำหนักเยอะมากๆ ผลปรากฎ ก็เห็นเลยว่าไม่ได้(เรตติ้ง)เลย

“แต่ถึงอย่างไร ก็ยังนำเสนอต่อเนื่องจนกระทั่งวันนี้ เราไม่ได้รู้สึกว่าพ่ายแพ้ ในวันที่เรานำเสนอเยอะๆ แล้วเรตติ้งเราตก เรารู้สึกว่า การทำสื่อทีวีอาจจะควบคู่กันไป 2 อย่าง คือเรตติ้งกับแบรนด์ดิ้ง เรารู้สึกว่า เราตอบตัวเองต่อผู้บริหารที่เขาเป็นคนลงเงิน หรือตอบสังคมได้ว่า ในจุดที่สังคมต้องการคำตอบ หรือคำอธิบาย เราต้องทำแบรนด์ดิ้งให้ข้อมูล ให้ความรู้ส่วนในจังหวะปกติ เราก็ต้องทำเรตติ้ง ก็ต้องบาลานซ์ 2 ส่วน เราเชื่อว่า เราต้องทำข่าวนอกจากดี มีคุณภาพแล้ว ก็ต้องมีคนดู คือทำอย่างไรให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย”

รองโฆษกรัฐยอมรับปัญหาสื่อสารล่าช้า

ทางด้านภาครัฐ ดร.รัชดา ระบุว่า เรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งนายกรัฐมนตรีก็ได้กำชับ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบกันอย่างเอาจริงเอาจังถึงที่สุด ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งหาคนที่รับผิดชอบ

ในด้านการสื่อสารกับประชาชน รวมทั้งสื่อ ดร.รัชดา ยอมรับว่า ทีมโฆษก(รัฐบาล)ของเราเอง ก็ยอมรับว่า มีบางจุดที่เราต้องขยายความให้มีประสิทธิผลมากกว่านี้ ซึ่งเรื่องของซีเซียม-137 เราต้องแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ

     1 เรื่องของการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ทราบเรื่องว่าสูญหายไปตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ก็จะเป็นเรื่องของกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เขาตรวจสอบเรื่องสภาพแวดล้อมและการปนเปื้อนอยู่แล้ว

ส่วนที่ 2 คือการให้ข้อมูลกับประชาชน หน่วยงานก็มีการให้ แต่ยอมรับในข้อจำกัดของการสื่อสารในยุคนี้ว่า มีข่าวสารมากมาย และช่องทางที่ประชาชนจะบริโภคข่าวต่างๆ มีมากมาย เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่า เราได้ให้ข้อมูลแล้ว มันก็ยังไม่เพียงพอ ก็ต้องก็ต้องมาดู Impact ของข่าวที่ให้ไป มันถึงประชาชนหรือไม่ ถึงในวงกว้าง จนทำให้เขาเข้าใจสถานการณ์ คลายความกังวลได้หรือเปล่า 

ในส่วนที่ 3 ยอมรับว่าเราต้องปรับปรุง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงาน เพื่อติดตามสถานการณ์อยู่แล้ว แต่ระหว่างที่ศูนย์ทำงาน กับการให้ข่าวไปถึงประชาชน อันนี้ก็ต้องยอมรับว่า มันต้องทำให้ดีกว่านี้ ในเรื่องของการดำเนินงาน ถ้าเช็คข้อมูลกลับไป ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเค้าติดตามข้อมูล อย่างเกษตร พาณิชย์ เค้าก็มาตรวจแล้ว บอกว่าไม่มีการปนเปื้อน กับผักผลไม้ ออร์เดอร์กลับมาได้แล้วเป็นต้น แต่ทีนี้มันเหมือนกับการพูดกับคนเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่คนส่วนมากไม่ได้ยิน

อันนี้ก็ต้องยอมรับว่า ถ้าเราตั้งโต๊ะแถลงข่าว ได้เร็วกว่านี้ ก็น่าจะดี แต่ก็ต้องเข้าใจว่า คนที่เขาปฏิบัติงานก็ต้องทิ้งช่วงเวลาของการที่จะออกมายืนยันว่า พบสารปนเปื้อนไหม ตอนนี้ปลอดภัยจริงๆ ไม่ใช่ว่าตรวจปุ๊บแล้วได้คำตอบ บางครั้งมันต้องเอาเข้าห้องแล็บก็มีช่วงที่เป็นช่องว่างของการรอผลตรวจก่อนการแถลงข่าวอยู่

หวังมีกลไกขยายข่าวให้มีอิมแพค

แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า บางเรื่อง ก็ควรจะมีกลไกในการขยายข่าวให้มันมี Impact มากกว่าการส่งข่าวตามช่องทางปกติ หรือบางทีหน่วยงานราชการ อย่างเช่น สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เขาก็รายงาน และด้วยความเร็ว เค้าก็ขึ้น Facebook ของเค้าแต่ก็คงไม่ได้มีใครไปนั่งตาม Facebook ของหน่วยงาน กว่าจะมารู้อีกที บางทีก็เมื่อมีสำนักข่าวนำมาขยายความแล้ว

ในส่วนของสำนักโฆษกเอง ก็เห็นประเด็นว่า บางทีช่องการเชื่อมระหว่างหน่วยงานผู้ให้ข่าว กับสำนักโฆษก บางทีเราก็ไม่ได้ต่อกันสนิทในทุกกรณีไป อันนี้ก็เป็นปัญหาของการสื่อสารในระบบราชการด้วยว่า บางทีเค้าไปแล้วแต่ไม่ได้แจ้งเรา เพราะหน่วยงานราชการวันๆ หนึ่งเค้าให้ข่าวเยอะมาก ถ้าไม่ได้ส่งมาที่ส่วนกลาง เราก็ไม่ทราบ อย่างเรื่องนี้มันเป็นปัญหาตรงที่ว่า เป็นเรื่องที่คนกังวลใจ เรื่องใหญ่โตแต่เราให้ข้อมูลที่จะคลี่คลายความกังวลใจ อาจดูเหมือนช้าไปนิดนึง ทั้งที่คำตอบมันมีอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่เป็นปัญหา ที่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะการสื่อสารในประเทศไทยเท่านั้น ในโซเชียลมีเดียการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน ระหว่างในงานภาครัฐกับประชาชน มีปัญหาทุกที่ เพราะเราอยู่ในยุคของ Information overload มีทั้งสื่อหลัก แพลตฟอร์มออนไลน์ มีข่าวด่วนที่โผล่ขึ้นมาใน LINE มี YouTube ถ้าไปดูแต่ละรายการ บันเทิงคนดูเป็นแสนเป็นล้าน ก็ยังนึกไม่ออกว่าเค้าจะมีช่วงเวลาไหนมาบริโภคข่าวที่มีสาระ

สื่อให้ความร่วมมือภาครัฐอย่างดี

สำหรับสื่อมวลชนที่ร่วมมือกันในการรายงานข่าวซีเซียม 137ดร.รัชดา ระบุว่า ทั้งสื่อและทุกภาคส่วนก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ สำหรับข้อเสนอต่อสื่อและประชาชนนั้น ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในรอบตัวเรา มันเป็นประสบการณ์ให้เราได้เรียนรู้ ทั้งเรื่องที่ต้องกังวล การวางแผนเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้น หรือเรียนเพื่อให้รู้ว่าความจริงว่า มันเป็นแบบนี้ มันมีประโยชน์ในการเรียนรู้ทั้งนั้น ฉะนั้นอะไรที่เป็นประโยชน์ อยากให้สื่อนำเสนอช่วยกัน

ส่วนประชาชนหากจะให้คนมาสนใจในเรื่องที่ไม่น่าสนใจมันก็ยากอยู่ ก็ต้องย้ำว่าบางทีวันนี้ เรื่องอาจจะไม่น่าสนใจ แต่มันคือการเรียนรู้ วันหนึ่งมันก็เป็นประสบการณ์ เพราะข้อมูลหนึ่งคือ ประกอบการตัดสินใจ รวมถึงข่าวต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญ อยากให้ประชาชนเจียดเวลาอ่านกันบ้าง เพราะเป็นประโยชน์ทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องซีเซียมอย่างเดียว โดยเฉพาะมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ สิทธิประโยชน์ การขับเคลื่อนนโยบาย ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราทั้งนั้น บนความน่าเบื่อ หากเจียดเวลาสักนิดมาสนใจ ยืนยันว่าเป็นประโยชน์แน่นอน

+++++++++++++++