นักอาชญาวิทยา ห่วงสังคมรับข่าวสารรุนแรงซ้ำๆ มีผลต่อความคิด ซึมซับ จดจำ เสี่ยงเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ เสนอสื่อรายงานข่าวเหตุการณ์รุนแรง รูปแบบข่าวปกติแทนไลฟ์สด นักวิชาชีพยอมรับจุดอ่อน ไลฟ์สดควบคุมเนื้อหาไม่ได้ เสนอใช้วิธีรายงานแบบมีสคริป หวังสื่อหลักยกระดับสังคม นักวิชาการหนุนองค์กรสื่อทำงานเชิงรุก เปิดช่องสื่อโซเชียลเรียนรู้วิชาชีพ-จริยธรรม
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “อีกครั้งกับภารกิจ Live สด สารวัตรกานต์” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯมหาวิทยาลัยรังสิต คณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
เหตุการณ์ “สารวัตร” ยิงปืนออกจากบ้าน ย่านสายไหม เมื่อช่วงสายวันที่ 14-15 มี.ค.2566 ระยะเวลา 28 ชั่วโมง ตำรวจใช้ตั้งแต่สันติวิธีด้วยการเจรจา หวังให้ยอมวางอาวุธ แต่ก็ไม่เป็นผล เกิดการยิงตอบโต้ ก่อนตัดสินใจนำกำลังบุกเข้าจับกุม และจบลงด้วยสารวัตรรายนี้ เสียชีวิตที่โรงพยาบาล เป็นอีกครั้งที่ภารกิจ Live สดของสื่อ ในคดีสารวัตรรายนี้ ถูกจับจ้องเรื่องความเหมาะสม และผลกระทบในการนำเสนอข่าวนี้ โดยเฉพาะรูปแบบไลฟ์สด
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ให้ความเห็นถึงกรณีการไลฟ์สด เหตุการณ์ก่ออาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ทั้งกราดยิง ซุ่มยิง ทางจิตวิทยาในเชิงอาชญาวิทยา จะส่งผลต่อผู้รับชมอย่างไรบ้าง จะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่อย่างไรว่า มีข้อมูลการศึกษาวิจัยว่า ถ้านำเสนอภาพแบบถี่ๆ ซ้ำๆ เช่นภาพการใช้ความรุนแรง การยิง กราดยิง หรือบางส่วนอาจจะไลฟ์สด ได้ยินเสียงปืน นำเสนอเป็นภาพคลิปวิดีโอซ้ำๆ กันทุกช่อง สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนที่รับสื่อ รับข้อมูลต่อเนื่อง ซ้ำๆ จะมีผลต่อความคิด ความจดจำ การรับรู้เหล่านี้อาจจะซึมซับ ทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้
อย่างไรก็ตาม ก็เข้าใจในมุมของสื่อมวลชนเอง ที่พยายามนำเสนอข้อมูลข่าวสารไปถึงผู้รับสาร ขณะเดียวกันเชื่อว่าสื่อกระแสหลักเองหลายสื่อมีความระมัดระวังพอสมควร แต่จะต้องสื่อสารทำความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้นว่า เราควรจะต้องตัดภาพที่ไลฟ์สด เป็นรายงานที่ทอดระยะห่าง 1-2 ชั่ั่วโมง รายงานทีหนึ่งจะดีกว่าหรือไม่ แทนที่จะไลฟ์สดต่อเนื่อง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ไม่ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้
กรณีล่าสุด เรื่องสารวัตร ตนอาจจะไม่ได้ทราบข้อมูลทั้งหมดว่า มีสื่อใดบ้างที่รายงานสด แต่คิดว่าน่าจะมีทั้งสื่อกระแสหลัก อินฟลูเอนเซอร์ที่เข้าไปในพื้นที่ เพราะเดี๋ยวนี้ทุกอย่างง่ายหมด สามารถที่จะไลฟ์สดได้
สุ่มเสี่ยงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
เมื่อถามถึง กรณีพฤติกรรมการแสดงออกของผู้ก่อเหตุรุนแรงต่างๆ มีโอกาสที่จะถูกหยิบยกไปใช้ในการก่ออาชญากรรมได้หรือไม่ ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า มีการศึกษาเช่นกันว่า หลายกรณี อย่างเช่นที่เกิดเหตุในสหรัฐอเมริกา พบว่าถ้ามีการก่อเหตุ แล้วคนที่ก่อเหตุได้รับการกล่าวถึง ทำให้คนทั่วไปรู้จัก ก็จะทำให้คนที่คิดจะก่อเหตุคล้ายๆ กัน รู้สึกว่าตัวเองเป็นที่จดจำ อาจจะนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบได้ โดยการเรียนรู้จากการก่อเหตุในครั้งก่อน ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่เท่าที่สังเกตดู เชื่อว่าตอนนี้สื่อหลายสำนักก็เรียนรู้ แล้วพยายามไม่เอ่ยชื่อผู้ก่อเหตุ ว่าเป็นใคร เหมือนคดีก่อนๆ ก็มีการสื่อสารเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้กัน
ต่อข้อถามถึง กรณีพฤติกรรมเลียนแบบ อย่างเช่นจากเกม มีหรือไม่ อย่างไร ดร.กฤษณพงค์ ระบุว่า จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่ากรณีและเด็กเยาวชน ชอบเล่นเกมที่นิยมใช้ความรุนแรง และปรากฏว่า เล่นทุกวัน วันละหลายชั่วโมงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ถี่ๆ ซ้ำๆ โดยเฉพาะบางเกมมีความรุนแรง เช่น ในเกมบอกว่า ถ้าไปฆ่าคนขับแท็กซี่ เพื่อชิงรถ แล้วจะได้แต้ม ปรากฏว่าพฤติกรรมที่อยู่ในเกมเหล่านั้นกลายเป็นเด็กในบ้านเรา ในประเทศไทยมาก่อเหตุในสังคมไทยจริงๆ ย้อนกลับไปดูได้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่เคยเป็นข่าว และได้สอบถามน้องๆ ผู้ก่อเหตุ เค้าก็บอกว่า เค้าดูมาจากเกม อันนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะกลายเป็นว่า ทำแล้วได้รางวัล แต่ไปทำจริงในสิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ตรงนี้ผู้ปกครองเองจะต้องเอาใจใส่ลูกหลาน เด็ก เยาวชนมากยิ่งขึ้น
แนะเสนอข่าวช่วงปกติ งดภาพรุนแรง
สำหรับกรณีพฤติกรรมของผู้บริโภคกับสื่อ ที่มักจะอ้างเรตติ้ง ความจำเป็นที่ต้องนำเสนอ ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า เข้าใจในมุมของความพยายามติดตามสถานการณ์ของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพื่อให้สังคมประชาชนได้รับรู้ รับทราบ เพียงแต่ว่า รูปแบบในการสื่อสารก็คือ สารที่ส่งต่อไปยังผู้รับสาร ตรงนี้มีความสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสื่อหนึ่งนำเสนอภาพ กำลังยิงกัน เสียงปืนดังตลอดเวลาและรายงานว่าชุดปฏิบัติการ ตอนนี้อยู่ตรงนั้น ตรงนี้ ก็จะทำให้ผู้รับสารซึมซับพฤติกรรม รับรู้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา
โดยเฉพาะถ้าผู้รับสารท่านนั้น ชอบดูสื่อช่องนั้น หรือชอบติดตามอินฟลูเอ็นเซอร์คนนั้น ก็จะทำให้เขาเรียนรู้ ซึมซับพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกันถ้าสื่ออีกสำนักหนึ่งนำเสนอเหมือนการเล่าข่าวปกติ นำเสนอแค่ภาพ ไม่มีภาพความรุนแรง หลังจากนั้นก็นำเสนอเป็นรายการข่าวปกติ เป็นช่วงเวลาข่าวธรรมดา กรณีอย่างนี้ ผู้รับสารก็ได้รับข้อมูลข่าวสารเหมือนกัน
ชี้สื่อกระแสหลักปรับตัวหลังมีบทเรียน
เพียงแต่ข้อสังเกตคือ ปัจจุบันเนื่องจากเมื่อมีอินฟลูเอ็นเซอร์ ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ด้วยตัวเอง สื่อที่ไม่ได้เป็นสื่อกระแสหลัก ตรงนี้น่ากังวลมากกว่า เพราะบางทีอาจจะเน้นในการนำสารไปยังผู้รับสาร เพียงเพื่อต้องการเพิ่มยอดไลค์ ยอดแชร์ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องรายได้ ตรงนี้น่ากลัว เชื่อว่าสื่อกระแสหลักเอง เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมาพอสมควรว่า การนำเสนอควรจะเป็นรูปแบบทิศทางไหน
ต่อข้อถามควรจะออกระเบียบกฏเกณฑ์อะไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อให้การทำงานของสื่อไม่มีเสียงตำหนิ ดร.กฤษณพงค์ ระบุว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าสื่อก็จะมีสภาวิชาชีพกำกับดูแลกันเองอยู่แล้วส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเชื่อว่า การที่สื่อสื่อสารกันเอง น่าจะเป็นเรื่องที่ตรงประเด็น และเข้าใจกันมากที่สุด ขณะเดียวกันก็อาจจะฟังมุมมอง ทั้งในฝั่งของคนที่เห็นด้วย หรือคนเห็นต่าง เพื่อจะนำข้อคิดเห็นเหล่านั้นมาพิจารณาในกลุ่มวิชาชีพของตัวเอง เพื่อมาช่วยกันคิดหาทางออก รวมทั้งศึกษาประเด็นในต่างประเทศ แล้วก็จะรู้มาตรฐานว่า สุดท้ายถ้าต่อไปในวันข้างหน้า เกิดเหตุแบบนี้ อีกจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล ระหว่างความรวดเร็วในการนำสารไปสู่ผู้ชมผู้ฟัง ขณะเดียวกันไม่ให้นำไปสู่พฤติกรรมคนรับสาร รู้สึกเป็นความดุดันเกินไป
หนุนองค์กรสื่อให้ความรู้สื่อโซเชียล
ตนเห็นด้วยกับ กรณีที่องค์กรสื่อเปิดช่องให้ผู้ที่สื่อสารทางโซเชียล เข้ามาเรียนรู้ ทั้งแนวปฏิบัติ และการอบรมในการทำหน้าที่สื่อสารในควรจะสื่อสารกับสื่ออิสระ อินฟลูเอ็นเซอร์ และผู้ที่พยายามนำสารไปยังผู้รับสารได้เข้าใจหลักคิด แนวคิดตรงนี้ ส่วนจะทำอย่างไรที่จะทำให้เขาเข้าใจแนวปฏิบัติให้ชัดเจน เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ตรงนี้เราอาจจะต้องทำงานเชิงรุก เช่น ถ้าสื่ออิสระใด อินฟลูเอ็นเซอร์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ที่มักจะชอบไลฟ์สดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ก็อาจจะติดต่อไปว่า เรามีการอบรมแบบนี้ และก็อาจจะสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติม เช่น อบรมแล้ว อาจจะได้ใบประกาศ
ขณะเดียวกัน เราก็จะได้รู้ความต้องการของสื่ออิสระคนนั้นๆ อินฟลูเอ็นเซอร์คนนั้นว่าต้องการอะไร เราก็ไปดูแรงจูงใจให้ตรงกับความต้องการตรงนั้นด้วยก็ได้ เผื่อจะได้เป็นการดึงดูด สร้างความสนใจ ใส่ใจ และจะได้เข้าใจในหลักเกณฑ์ในหลักปฏิบัติมากยิ่งขึ้น
เสนอองค์กรวิชาชีพทำงานเชิงรุก
สนับสนุนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพสื่อ ควรจะทำงานเชิงรุก ในการเข้าหากลุ่มคนเหล่านี้ และไม่เฉพาะองค์กรสื่อเท่านั้น แต่องค์กรอื่นๆ ก็เช่นกัน เช่นองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ก็ควรจะทำงานเชิงรุก เช่นทำอย่างไร ให้คนมีโอกาสตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมน้อยที่สุด นอกเหนือจากหน่วยงานทางราชการ ที่เพียงแค่บอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ 1 2 3 4 แต่ปรากฏว่า สถิติการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางออนไลน์กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าการสื่อสารของเรา ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบในการสื่อสาร ถ้ามัวแต่สื่อเท่านี้ออกไป ให้ระมัดระวังตัวเองอย่างเดียว บางทีก็เข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย
ไลฟ์สดสะท้อนการแข่งขันสูงขึ้น
ขณะที่ในมุมมองผู้บริหารสื่อ “คณิศ” จากไทยพีบีเอส มองว่า กรณีล่าสุด เรื่องสารวัตร ต้องยอมรับว่าตอนนี้สื่ออยู่ในภาวะที่แข่งขันค่อนข้างสูงมาก การไลฟ์ เวลาเจอเหตุการณ์สำคัญ หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่างๆ สื่อมักจะเลือกวิธีการคือ ไลฟ์เหตุการณ์สดๆ ไม่เฉพาะสื่อกระแสหลัก แต่รวมทั้งใครก็ตามที่มีโทรศัพท์ติดตัว เวลาคนเหล่านั้นเจอเหตุการณ์ อย่างแรกทุกคนอาจจะหยิบโทรศัพท์มาบันทึกภาพก่อน อย่างที่สอง ถ้าเค้ารู้สึกว่าสิ่งที่เขากำลังถ่ายภาพ มันเป็นเหตุการณ์ และเขาสามารถบอกเล่าเหตุการณ์ กับคนอื่นได้การใช้เครื่องมือไลฟ์สดจะตามมาทันที
ถ้าเป็นเหตุการณ์ทั่วๆ ไป คงจะไม่เป็นปัญหา และบางครั้งการไลฟ์ก็เป็นประโยชน์ แต่บางเหตุการณ์การไลฟ์ต้องมีความตั้งใจในบางเรื่อง บางราว บางเหตุการณ์ ยกตัวอย่าง กรณีเหตุการณ์สำคัญ เช่นการจับตัวประกัน มีเหตุการณ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของคน อย่างกราดยิงโคราช เหตุการณ์ศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู และล่าสุด กรณีสารวัตร ก็เป็นอีกเหตุการณ์ที่ถูกตั้งคำถามเหมือนกันว่าจริงๆ แล้ว สื่อควรจะไลฟ์เหตุการณ์แบบนี้หรือไม่
แนะรายงานสดมีสคริปคุมเนื้อหาได้
ต่อข้อถามว่า กรณีสารวัตรที่เกิดขึ้น สื่อจำเป็นต้องรายงานสดหรือไม่ คณิศ มองว่าเมื่อมีเหตุการณ์ สื่อก็ต้องถูกคาดหวังให้รายงานข่าวให้เร็วที่สุด ทุกวันนี้รายงานไลฟ์สดได้ แต่ก็ต้องรายงานตามความเหมาะสมกรณีสารวัตรผู้สื่อข่าวก็รายงานสดไปเพียงช่วงแรกเท่านั้นหลังจากนั้นไม่เน้นรายงานสดแล้ว จนกว่าจะเข้าข่าวต้นชั่วโมง ก็จะรายงานเป็นช่วงๆ
การไลฟ์ตลอดเหตุการณ์การพูดการรายงานการเล่าเรื่องมันไม่สามารถควบคุมเนื้อหาได้ แต่ถ้าเป็นรายงานสด สามารถเตรียมสคริป เตรียมเนื้อหาได้ และพอจบเหตุการณ์ ผู้สื่อสารจะได้รับคำสั่งว่าให้ไลฟ์ได้จะจำเป็นหรือไม่ มันอยู่ในรายละเอียด ส่วนใหญ่ก็ให้ทันเหตุการณ์ให้เร็วที่สุดก่อน
แนะสื่อโซเชียลเรียนรู้จากสื่อหลัก
มองว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้หนึ่ง สื่อก็ต้องใช้ความระมัดระวังข่าว สถานการณ์ใดรายงานสด หรือไลฟ์เหตุการณ์ มันส่งผลเสียหรือไม่จะทำให้เหตุการณ์ดีขึ้นหรือไม่ หรือจะทำให้แย่ลง ถ้ามีแนวโน้มอย่างหลัง ต้องหยุด แล้วมาทบทวนดูว่า จะต้องทำอะไรบ้าง คาดหวังว่าเราจะช่วยกันพัฒนาวงการสื่ออาชีพ วิชาชีพสื่อ นักข่าว และควรจะพัฒนาคนที่อยากจะเป็นสื่อด้วยว่า เขาสามารถเรียนรู้ได้ ศึกษาได้ ลองมอนิเตอร์ว่า สื่อทำอะไร ไม่ทำอะไร ทำอะไรดี ไม่ดี ขณะเดียวกันสื่อก็ต้องดูกระแสสังคมด้วย สังคมชอบไม่ชอบอะไร ไม่เห็นด้วยกับเรื่องแบบไหน ทั้งสองฝ่ายต้องมอนิเตอร์ซึ่งกันและกัน
สำหรับไทยพีบีเอส จะกำชับทีมข่าวภาคสนาม ให้ใช้ความระมัดระวังในการไลฟ์สด จะมีหลักอยู่ 2-3 อย่างต้องระมัดระวังมากขึ้น กรณีเหตุการณ์ที่มีคนอยู่ข้างใน แล้วเจ้าหน้าที่รอปฏิบัติการอยู่ข้างนอก บางเรื่องถ้าไลฟ์ ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของสื่อ บางครั้งอาจเป็นผลร้ายต่อสถานการณ์ที่กำลังหนักหน่วงขึ้น
ส่วนคนที่เป็นผู้ก่อเหตุ เราก็ไม่รู้ว่า เขากำลังติดตามข่าวสารแบบไหน อย่างไร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เค้าอาจจะติดตามดูก็ได้ เราอยู่ข้างนอก จะไม่รู้ว่าข้างในเกิดอะไรขึ้น คนก่อเหตุอาจจะมอนิเตอร์อยู่ ดูทุกคนรายงานเค้าอยู่ เพราะฉะนั้นการไลฟ์ก็จะมีข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกับการรายงานสด หรือไลฟ์เหตุการณ์สดทั่วไป กรณีแบบนี้ก็ต้องเป็นกรณีเฉพาะ ที่ต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก
สื่อกระแสหลักปรับการทำงาน
คณิศ มองว่าสื่อกระแสหลักระมัดระวังกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ในกลุ่มของผู้สื่อข่าวที่ทำงานด้วยกันในภาคสนาม นักข่าวเค้าก็จะเตือนกันเองด้วย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกรณีสารวัตร สื่อก็เตือนกันเองว่า ตรงไหน ขอไม่ไลฟ์ และรายงานสดเป็นช่วงๆ และในภาคสนามก็ยังประสานมายังกอง บก.ด้วยซ้ำ ว่านักข่าวภาคสนามมีข้อตกลงกันว่าจะไม่ไลฟ์ จะไม่พูดว่าเจ้าหน้าที่กำลังจะทำอะไร มีแผนปฏิบัติการอย่างไร ประเด็นเหล่านี้นักข่าวในภาคสนาม จะรู้กันว่า ต้องหลีกเลี่ยงการรายงานที่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง หรือแม้กระทั่งสัมภาษณ์คนแวดล้อม เพื่อตำหนิผู้ก่อเหตุ ในจังหวะเวลาที่เจ้าหน้าที่ทำงาน เค้าก็ใช้ความระมัดระวังมาก
สำหรับกรณีของสื่อทั่วไป อาจจะมองโลกในแง่บวกว่า เค้าก็จะมีความระมัดระวังกัน ถ้าเรามอนิเตอร์ดู ก็จะเห็นปรากฏการณ์ว่า คนในโซเชียลมีเดียก็เตือนกันอยู่เช่นกัน แต่ก็ยังมีเล็ดลอดให้เห็นอยู่บ้าง ก็ต้องยอมรับว่า ทุกคนมีโอกาสเป็นสื่อได้ ในจังหวะเวลาแบบนั้น มีคนติดตาม มียอดวิวได้มากในช่วงเวลาแบบนั้น
สื่อยกระดับ สังคมยกระดับตาม
เมื่อถามว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้มักจะถอดบทเรียนกันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เกิดจากฝั่งไหน ฝั่งผู้รับสาร หรือผู้ส่งสาร คณิศ มองว่า ไม่อยากสรุปว่าเป็นเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจจะต้องร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ว่าใครที่กำลังจะทำหน้าที่เป็นสื่อ ที่ไม่ใช่วิชาชีพ การรายงานเหตุการณ์ การโพสต์ภาพ หรือการไลฟ์สด ก็ตาม ถ้าเค้าตระหนักว่า สิ่งที่กำลังพูดออกไป มันส่งผลต่อสถานการณ์ จะกระทบกับใครบ้าง ถ้าทุกคนช่วยกันระมัดระวัง ก็จะช่วยกันยกระดับคนติดตามด้วย แน่นอนว่า คนในวิชาชีพย่อมเป็นโจทก์ และถ้าคนในวิชาชีพช่วยกันยกระดับการรายงานข่าว ก็จะทำให้คนที่ติดตามตามข่าว ปรับมุมมองว่า ต่อไปนี้เราจะไม่ดูข่าวแบบนี้แล้ว ถ้าใครทะลุกลางป้อง หรือฉีก แหวกแนวมา ในกรณีที่ไม่เหมาะสม ไม่ควร คนเหล่านี้ก็จะย้อนกลับไปที่สื่อกระแสหลักเหมือนกัน ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์กัน ซึ่งกรณีแบบนี้ก็เกิดขึ้นบ่อยในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีการมอนิเตอร์ด้วยซ้ำว่า สื่อไม่ควรทำแบบนี้ แน่นอนก็ทำให้คนในอาชีพสื่อต้องเรียนรู้ด้วย
ในเวลาเดียวกันคนที่เป็นผู้ติดตามข่าวสาร ถ้าเค้าเลือกที่จะรับสารที่ดูมีประโยชน์ ที่เป็นเหตุเป็นผล วิพากษ์วิจารณ์ข่าวที่มันดูผิดจริยธรรม หรือไม่ถูกต้อง ทั้งสองฝ่ายก็จะช่วยกันยกระดับ การรายงานข่าวก็คาดหวังถึงการยกระดับข่าวสารในบ้านเราด้วยว่า ข่าวประเภทไหนควรนำเสนอ ถ้าสื่อยกระดับมาตรฐานตัวเอง สังคมก็จะยกมาตรฐานตามไปด้วย
พฤติกรรมสร้างตัวตนของคนข่าว
ขณะที่นักวิชาการด้านสื่อ รศ.สุรสิทธิ์ ให้ความเห็นว่า การไลฟ์สด ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของงานสื่อ โดยนักข่าวภาคสนามลงพื้นที่ ก่อนจะนำข้อมูลเผยแพร่ หรือนำเสนอในรายการ บางทีก็ไลฟ์สดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในสังกัดของเค้าเอง บางกรณีก็เป็นการไลฟ์ผ่านเพจ หรือช่องทางโซเชียลของสำนักข่าวสถานีเดียว บางครั้งก็จะเป็น Account ของนักข่าวคนนั้นเองก็มี ซึ่งในปัจจุบันแต่ละองค์กร แต่ละสังกัด สนับสนุนให้สร้างความมีตัวตนในพื้นที่สื่อ เขาก็พยามสร้างฟอลโลวเวอร์ เอ็นเกจเมนต์ อย่างน้อยที่สุด ก็จะสนับสนุนในการทำงานของเค้า ขณะเดียวกันก็อาจจะส่งผลดีแต่ช่องของเขาด้วย เพราะเป็นการทำงานลักษณะเอื้อกันให้คนติดตาม มาชมที่ช่องด้วย
อีกส่วนหนึ่ง ก็จะเป็นกรณีเกิดเหตุการณ์ ก็ใช้ระยะเวลาของเหตุการณ์ ก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้สื่อข่าวที่อาจจะเรียกตัวเองว่าเป็นผู้สื่อสารอิสระ หรือบางทีก็เป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์ หรือ ยูทูบเบอร์ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ยังไม่รวมคนที่ใช้โทรศัพท์เป็นผู้ที่สื่อสารข้อมูลได้ อาจจะเรียก User generated content (UGC) อาจรวมไปถึง กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า เป็นอิสระแต่จริงๆ กลุ่มนี้กว้างมาก UGC จะรวมไปถึงประชาชนที่เห็นเหตุการณ์ และรายงานผ่าน Account ของตัวเอง
หนุนองค์กรสื่อให้ความรู้สื่อโซเชียล
ที่พูดประเด็นนี้ เพราะเวลาที่เราจะคุยกันว่า เวลาเหตุการณ์แบบนี้สื่อทำหน้าที่เหมาะสมควรทำหรือไม่ควรทำ จะสรุปบทเรียนอย่างไร ฉะนั้นต้องดูก่อนว่า จริงๆ แล้วในส่วนนี้ เรากำลังจะโฟกัสไปที่กลุ่มไหน เพราะการที่จะต้องมีคนแสดงความรับผิดชอบ ทั้งในทางกฎหมาย และจริยธรรม ถ้ามีผลกระทบ ก็จะไปยึดโยงอยู่กับว่า เขาคือใคร คนที่ผลิตคอนเทนท์นั้น
การที่สมาคมนักข่าวเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ใช่สื่ออาชีพเข้ามาอบรมความรู้ เป็นเรื่องที่ดีหากจะพัฒนาทักษะฝีมือตอกย้ำให้เกิดความตระหนักว่า เค้าก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่าสื่อที่เป็นสื่อวิชาชีพ ในเรื่องเนื้อหาที่นำเสนอ ที่สามารถให้คุณให้โทษได้เช่นเดียวกัน
ข้อดีถอดบทเรียนคือสรุปการทำงาน
สำหรับสื่อหลักจำเป็นจะต้องถอดบทเรียนกันอีกหรือไม่ ที่ผ่านมาถอดกันมามาก หรือครั้งนี้เพียงแค่มาทบทวนกันดู รศ.สุรสิทธิ์ มองว่า การถอดบทเรียน เป็นเรื่องที่ดี เพราะเวลาเกิดอะไรขึ้น การทำงานไม่ว่าจะเป็นสื่อ หรือใครก็ตาม เราน่าจะต้องสรุปบทเรียนให้กับตัวเองให้เป็นเรื่องปกติ แต่ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสื่อวิชาชีพ จะถูกสังคมคาดหวัง จนแบกภาระบทบาทหน้าที่ เพราะในวิชาชีพสื่อ ปัญหาที่ต้องมาถอดบทเรียน ไม่ใช่เพื่อดูว่าใครเก่ง ไม่เก่ง มุมไหนดี ไม่ดี แต่อยู่ตรงที่ เราประเมินสิ่งที่นำเสนอผ่านสื่อ เพื่อไปสู่สาธารณะในรูปแบบไหนมากกว่า
ประเด็นที่คุยกันทุกครั้งที่ถอดบทเรียน คือสิ่งที่เคยพลาดมาแล้ว จะพลาดซ้ำอีกหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น เพราะกรณีเหตุการณ์แบบนี้ มันมีเหตุการณ์คล้ายกัน ในกรณีไลฟ์สด เช่น กรณีอาจารย์ที่ยิงตัวเอง ซึ่งขณะนั้น ทั้งสภาวิชาชีพก็มีแถลงการณ์ และเคลื่อนไหวทบทวนการทำงานกันครั้งใหญ่ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลสื่อ กสทช.ก็เรียกสื่อไปชี้แจง ทำความเข้าใจกับทีวีช่องต่างๆ ที่มีผู้สื่อข่าวไปรายงานสดในภาคสนาม รวมทั้งไลฟ์สดผ่านทางสังคมออนไลน์
ตระหนักจริยธรรม ข้อกฎหมาย
คราวนั้น ก็คุยกัน มีการคาดโทษด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือเหตุการณ์ในโคราช สังคมและวงการสื่อ ก็คุยกันครั้งใหญ่ ให้ระมัดระวังเรื่องการทำงานของสื่อ กระทั่งมาถึง เหตุการณ์ล่าสุดสารวัตร เป็นลักษณะคล้ายกัน ก็คิดว่าท้ายที่สุด การพูดคุยกันระหว่างวิชาชีพสื่อ และสังคมน่าจะมาดูว่า อะไรที่ผิดพลาดแล้ว ผิดพลาดซ้ำ ประมาณนี้ นี่คือความหมายของการถอดบทเรียน หากจะมีเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องใดๆ ก็ตาม การถอดบทเรียนคือ เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น แต่เรื่องที่จะต้องรับผิดชอบก็คือจริยธรรม หากเสนอข้อมูลที่นำไปสู่ความเสียหาย กระทบต่อสิทธิ นำไปสู่การละเมิดใดๆ อันนี้เราก็จะต้องพูดคุย และดูแลกัน ซึ่งก็อาจมีกรณีความผิดในข้อกฎหมายด้วย
ขอปชช.มอนิเตอร์ สะท้อนองค์กรกำกับ
สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ รศ.สุรสิทธิ์ ระบุว่า สื่อทีวีช่องต่างๆ รวมทั้งนักข่าวที่ลงไปทำข่าวภาคสนาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่หนักหนาเท่า 2-3 เหตุการณ์ก่อนหน้านั้น แสดงว่าสื่อก็ฉุกคิด ระมัดระวัง เพราะเคยมีบทเรียนผิดพลาดกันมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอความเห็นใจ และความเข้าใจจากคนที่รับสื่อด้วยว่า ทุกวันนี้ มีความหลากหลายของสื่อ หลากหลายช่องทาง มีสื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น อยากให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา อะไรที่คิดว่าล้ำไปเกินไป ไม่ว่าจะเป็นสื่อหลัก หรือสื่ออิสระ ขอให้ผู้ที่รับสื่อ ที่มีข้อกังวลห่วงใย ช่วยสะท้อนไปยังองค์กรวิชาชีพ องค์กรกำกับ อย่างเช่น กสทช. สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติด้วย