ครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อฯ เตรียมจัดเวที
“ยุทธศาสตร์ชาติใหม่ : ประเทศไทยหลังเลือกตั้ง”
ที่ประชุมคณะกรรมการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ รับทราบความคืบหน้าการจัดงานครบรอบ 26 ปีสภาการสื่อมวลชนฯ โดยจัดเวที “ยุทธศาสตร์ชาติใหม่ : ประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” และปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับกฎหมายจริยธรรมสื่อ รวมถึงการจัดเวทีเสวนา“เสรีภาพสื่อมวลชนกับกระบวนการยุติธรรม” ที่ประชุมยังได้หารือถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศในตอนนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทย เห็นควรจัดเสวนาวงปิดเพิ่มความตระหนักรู้แก่สื่อมวลชน
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2566 ว่า ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติได้แจ้งต่อที่ประชุมเรื่องที่สำนักงานกสทช. ได้ขอความร่วมมือในการติดตามตรวจสอบและกำชับแนวทางการนำเสนอเนื้อหารายการเกี่ยวกับเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์หรือผู้ปกครองหรือบุคคลในครอบครัวของเด็ก อันเข้าข่ายเป็นการทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ อันอาจขัดต่อพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ เช่น กรณีเด็กชายอายุ 8 เดือนหายตัวจากบ้าน และเด็กชายอายุ 6 ขวบและครอบครัวประสบอุบัติเหตุทำให้ร่างของเด็กตกจากทางด่วน โดยควรหลีกเลี่ยงและใช้ความระมัดระวังอย่างสูงสุดในการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจบ่งชี้ถึงตัวเด็กหรือผู้ปกครองหรือบุคคลในครอบครัวของเด็ก นอกจากนี้ได้แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานการรับเรื่องร้องเรียน 3 สภาวิชาชีพ มีสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) และรายชื่อคณะทำงานร่วมสภาการสื่อมวลชนฯและสภาทนายความ เพื่อสานต่อความร่วมมือกันของทั้ง 2 องค์กรให้ที่ประชุมทราบ
นางสาวนิภาวรรณ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการจัดงานครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อมวลชนฯ ในวันที่ 3-4 กรกฎาคมนี้ โดยวันที่ 3 กรกฎาคม จัดเวที “ยุทธศาสตร์ชาติใหม่ : ประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” ปาฐกถาพิเศษ “การเมืองหลังเลือกตั้ง ทิศทางเศรษฐกิจไทยและทิศทางสังคมไทย” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนวันที่ 4 กรกฎาคม เป็นปาฐกถาพิเศษและเวทีเสวนาเกี่ยวกับพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการจัดเวทีเสวนา “เสรีภาพสื่อมวลชนกับกระบวนการยุติธรรม” ร่วมกับวุฒิสภา การเสวนานี้สืบเนื่องจากประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงความกังวลกรณีที่มีความพยายามใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
นางสาวนิภาวรรณ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงความขัดแย้งและปัญหาระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในเวลานี้ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ควรมีการจัดเสวนาวงปิดแก่สื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องด้านสื่อ เพื่อเพิ่มการรับรู้ความตระหนักรู้และรับทราบสถานการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้รู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม โดยประธานสภาการสื่อมวลชนฯ ระบุว่าในการประชุมอนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ ของสภาการสื่อมวลชนฯ ที่ผ่านมา ก็ได้เสนอว่าควรจะเชิญองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลจริยธรรมสื่อในอาเซียนมาร่วมหารือกัน ซึ่งเคยจัดมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่เรามีกำหนดพบหารือกับสภาการสื่อมวลชนของอินโดนีเซีย ซึ่งก็จะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือกัน.