สื่อไทยยุคนิวนอร์มัลยังมีดีเอ็นเอนักสู้ให้สังคมพึ่งได้

วันนักข่าว ‘สื่อไทย’ ในยุค New Normal ยังเป็นที่พึ่งหวังให้สังคม นักวิชาการชี้สื่อไทยยังมีดีเอ็นเอนักสู้เพื่อประโยชน์สังคม วิกฤติโควิด-ดิสรัป ส่งผลสื่อปรับวิธีคิด ดิจิทัลมายด์เซ็ต ทักษะ มุมมอง เพื่อรับการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ภารกิจสภาวิชาชีพสื่อฯ เชื่อมเครือข่ายกำกับดูแลกันเองครอบคลุมทุกสื่อเป็นผล ผุดแนวปฏิบัติเป็นคู่มือการทำงาน ทันสมัย ทันเหตุการณ์ 

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง  “วันนักข่าว ‘สื่อไทย’ในยุค New Normal” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุลผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ผศ.ดร.อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันนักข่าว หรือวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ในประเทศไทยตรงกับวันที่ 5 มีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันสถาปนาสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เมื่อ 5 มีนาคม 2498 และต่อมาได้รวมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงกลายเป็น “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2542 แต่ยังคงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสมาคมฯ และวันนักข่าวจนถึงปัจจุบัน ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 68 

พัฒนาการของสื่อมวลชนไทย รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ซึ่งเป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพ
มองว่า คนสื่อเป็นนักสู้ในทุกรูปแบบ ทั้งการค้นหาความจริง การเป็นปากเสียงให้ประชาชน ต่อสู้เพื่อการยืนหยัดในวิชาชีพนี้ ต้องดำรงอยู่ได้ต่อไป อันนี้จิตวิญญาณความกล้าหาญ ฝังอยู่ในคนทำสื่อทุกประเภท ทุกรูปแบบ

     ในระยะ 7-8 ปีนี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก และมารุนแรงในระยะ 2-3 ปีที่เผชิญโควิด การปรับตัวของสื่อก็ไม่พ้นเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่มองว่าเป็นจุดบวก ถ้าเราปรับตัวได้ทัน ทำงานด้วยดิจิทัลมายด์เซ็ท ทั้งวิธีคิด ทักษะและมุมมองต่างๆ ก็จะปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ นี่เป็นประเด็นใหญ่

โควิดโอกาสสื่อพิสูจน์ตัวเองเป็นที่พึ่งสังคม 

ในช่วง 2-3 ปี ที่มีวิกฤติโควิด เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว เป็นโอกาสที่สื่อได้พิสูจน์ตัวเอง ขณะที่สังคมโหยหาคำตอบ โหยหาคนที่ช่วยทำหน้าที่ในการนำเอาข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริง คำอธิบายต่างๆ มาให้เขาได้รับทราบ ยิ่งบวกกับเทคโนโลยีเชิงดิจิทัลที่สามารถจัดทำข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น ในรูปแบบที่เหมาะสมไปยังผู้รับกลุ่มต่างๆ มากขึ้น ตรงนี้คือโอกาสที่ทำให้คนสื่อทำงานได้เร็วขึ้น และยังเป็นที่ต้องการมากขึ้น อีกทั้งในช่วงที่มีวิกฤติ สถานการณ์ซับซ้อน สังคมเรียกร้องหาสื่อที่น่าเชื่อถือ พึ่งได้ หรือมั่นใจว่าเป็นอิสระ ไม่ได้ถูกกดดันจากอิทธิพลต่างๆ ก็เป็นอีกประเด็นที่เชื่อว่า สื่อต้องใช้โอกาสนี้ ในการสร้างการยอมรับ และความน่าเชื่อถือกลับคืนมา

เมื่อถามว่าสื่อกระแสหลักถูกลดความสำคัญลงไปมากหรือไม่ หลังจากที่มีช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้น รศ.ดร.วิลาสินี มองว่าถ้าสื่อกระแสหลักไม่ปรับตัว และติดอยู่กับรูปแบบเดิมๆ ที่เป็น Linear Program คือต้องรอเวลาก่อนถึงจะเผยแพร่ข่าว หรือนั่งรอให้คนมาหา อันนี้ไม่รอดแน่ เพราะฉะนั้นสมัยนี้ ไม่มีสื่อกระแสหลักกระแสรองแล้ว แต่เป็นสื่อที่ใช้รูปแบบไหนในการทำงานมากกว่า 

เชื่อว่าขณะนี้สื่อทุกประเภทเป็นดิจิทัลเฟิร์สเกือบหมดแล้ว คือการให้ความสำคัญกับเนื้อหา การลงทุนต่างๆ ให้น้ำหนักไปที่ดิจิทัล หรือออนไลน์เป็นหลักเกือบทุกค่าย ซึ่งเห็นสถานการณ์อย่างนี้อยู่ ถ้าคิดว่าสื่อที่เคยเป็นกระแสหลักก็ยังอยู่รอด ด้วยความที่เป็นสื่อที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า มีการลงทุนในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร บุคลากร กระบวนการตรวจสอบข้อมูลมากกว่า เพียงแต่ต้องปรับตัว ที่จะใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งตอนนี้ก็พูดกันเรื่อง AI เรื่อง Machine learning เอาเครื่องมือเหล่านี้ มาทำให้ข้อมูลข่าวสารของเรา นำเสนอถึงประชาชนหลากหลายกลุ่มได้ดีขึ้น 

หัวใจสำคัญที่สุด เมื่อประชาชนรู้สึกว่าเวลาที่เขาต้องการเช็คข่าวสารแล้วเค้าพึ่งสื่อเหล่านี้ได้ ซึ่งใช้คำว่าสื่อกระแสหลักถ้าประชาชนเขายังรู้สึกอย่างนี้ได้อยู่ คิดว่ากลไกในการตรวจสอบตัวเอง กลไกในการตรวจเช็คข้อมูลก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

คนทำสื่อยุคนี้ต้องมี Digital Mindset

รศ.ดร.วิลาสินี เห็นด้วยว่า คนที่จะก้าวเข้ามาในแวดวงสื่อปัจจุบันนี้ จะต้องมีทั้งความสนใจเรื่องข่าว และเทคนิค ในการสื่อสารในรูปแบบโซเชียลด้วยอย่างมาก และมากกว่านั้น คนทำสื่อต้องมี Digital Mindset ก็ต้องทำงานแบบ Seamless อย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่แค่

Seamless เชิงเทคโนโลยี ว่าใช้ได้ทุกแพลตฟอร์ม แต่เป็นเรื่องของการมองเห็นตัวเองอยู่ในระบบนิเวศสื่อ ที่ไม่มีช่องว่าง เราไม่ได้มีหน้าที่เดียว แค่ทำหน้าที่นักข่าวภาคสนาม ส่งข่าวแล้วจบ โดยบทบาทเรา เสนอข่าวแล้วโพสต์ขึ้นไป มันกระทบทั้งระบบอย่างไร จากบทบาทนักข่าวคนหนึ่ง สามารถสร้างหรือจุดประกาย ให้เกิดการขยับเขยื้อน และเปลี่ยนแปลงได้ คิดว่าตอนนี้คนทำสื่อเห็นภาพตัวเองในระบบนิเวศใหม่ โดยอาศัยเทคโนโลยีและสกิลของตัวเองใหม่ๆ ในการผลักดันงานไปได้ไกลขึ้น

ต้องเป็น Data Scientist ในตัวเอง

อีกด้านที่สำคัญมาก คือต้องเป็น Data Scientist ในตัวเองด้วย ต้องมีความเข้าใจ ในการเสาะแสวงหา จัดเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ หรือใช้ข้อมูลได้อย่างเหมาะสมถูกต้อง คิดว่าจากนี้ไป สื่อคงต้องลงทุนกับระบบฐานข้อมูล ที่เยี่ยมยอดขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าถึงวันนั้น ต่อให้มีแหล่งข่าวมาเปิดประเด็น สื่อก็มีข้อมูลเชิงลึกที่อยู่ในฐานข้อมูลของตัวเอง ในการไปต่อกับประเด็นเหล่านี้ได้  อันนี้เป็นสิ่งที่คิดว่าต้องลงทุน ซึ่งสื่อขนาดเล็กอาจจะมีความสามารถจำกัดในการลงทุนกับระบบข้อมูลเหล่านี้ ถ้าเป็นไปได้ ควรจะมีความร่วมมือกันในวงการสื่อ เพื่อทำให้การใช้ระบบฐานข้อมูลเชิงลึก เพื่อช่วยในการทำหน้าที่สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ คงจำเป็นมากขึ้น

ทราบว่าจะมีการคุยกับนักวิชาการจากนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ อาจจะเรียกร้องสถาบันวิชาการ ให้ผลิตคนที่เป็น Data Scientist Journalist มากขึ้นก็ได้ ตัวอย่างความสำเร็จของการเปิดคดีดังระดับโลกมากมาย ก็มาจากการเก็บข้อมูลชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาประกอบกัน ซึ่งไม่ใช้สื่อเจ้าเดียวทำ แต่สื่อหลายเจ้าทำร่วมกัน จับมือกัน และทำงานกันเป็นเครือข่าย ในการวิเคราะห์โยงใย เก็บข้อมูลเหล่านี้ สำคัญมากๆ ในยุคที่ข้อมูลซับซ้อนขึ้น การทุจริตก็ซับซ้อนขึ้น การเข้าถึงข้อมูลก็ยากขึ้น คิดว่าต้องทำงานกันในรูปแบบนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ อาจจะต้องออกแบบกลไก หรือความร่วมมืออะไรทำนองนี้

การเสนอข่าวเชิงตรวจสอบยังไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ การนำเสนอข่าวเชิงตรวจสอบ ในเชิงประเด็นทุจริต เรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติในยุคนี้ รศ.ดร.วิลาสินี คิดว่ายังไม่พอ แม้แต่ไทยพีบีเอส ที่ทำสำรวจความเห็นประชาชนหลักหมื่น เพื่อประเมินผลการทำงานทุกปี ประเด็นหนึ่งที่เป็นเสียงเรียกร้องจากประชาชน ก็คืออยากเห็นไทยพีเอสเป็นปากเสียงให้ประชาชน เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญคือ อยากเห็นสื่อเป็นพื้นที่ที่ดึงการมีส่วนร่วมจากประชาชนให้มากขึ้น ก็ยังเป็นข้อเรียกร้องที่ได้รับมาอย่างเสมอ แสดงว่าที่มีอยู่ยังไม่พอ

ที่สุดแล้วก็คงต้องกลับมาที่การออกแบบวิธีทำงาน ว่าเราจะทำงานโดยมีฐานข้อมูล เราจะใช้ประโยชน์ และมั่นใจอย่างที่สุดว่า ทำเสร็จแล้วไม่โดนฟ้องได้อย่างไร แต่ถึงจะถูกฟ้อง ก็เชื่อว่าสื่อพร้อมจะต่อสู้ ถ้าเรายืนหยัดในข้อมูลที่ถูกต้องและปราศจากอคติในการทำงาน

ทิศทางของข่าวในปี 2566 และความน่าจะเป็นของสื่อในยุคนิวนอร์มัล รศ.ดร.วิลาสินี ระบุว่า ข่าวคงเป็นลักษณะออนดีมานด์มากขึ้นแต่ไม่ได้หมายถึงความเร็ว ชิงเสนอให้เห็นข่าวเราก่อน แต่หมายถึง สิ่งที่รู้อยู่ว่าประชาชนต้องการข่าวอะไร ถ้าเราทำได้ดีจริงๆ เชื่อว่าเราจะค่อยๆ เปลี่ยนค่านิยมที่มากำหนดข่าวเราว่า เค้าอยากเห็นข่าวอะไร เพราะฉะนั้นมันต้องไปกันทั้งสองทาง และถ้าสื่อเร็วมาก ถ้าผิดหรือพลาด ถูกกระแสสังคมตีกลับ ก็จะเป็นการเรียนรู้ ที่จะต้องปรับ และเปิดรับ พร้อมที่จะถูกวิจารณ์ เพื่อพัฒนาตัวเอง

ภารกิจสภาการสื่อกำกับดูแลกันเองได้ผล

ขณะที่ ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี กล่าวถึงการดำเนินงานของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติว่า คณะกรรมการชุดปัจจุบัน ทำงานมา 2 ปี เหลือวาระอีก 1 ปีถึงต้นเดือนมีนาคม 2567 ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสมัยแรกของการเปลี่ยนชื่อ และปรับองค์กรจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มาเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีสมาชิกหลากหลาย ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์เดิม ที่ขยับไปทำทีวี และมีสมาชิกใหม่ทั้งจากทีวี จากออนไลน์ ซึ่งไม่เคยทำสื่ออื่นมาก่อน ถือว่าเป็นมิติใหม่ ที่เราได้ขยายขอบเขตการทำงานของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กว้างขวางออกไปและครอบคลุมทุกสื่อ

ขณะที่การกำกับดูแลกันเอง เช่นเรื่องร้องเรียน ถือว่ามีน้อยมาก เพราะสมาชิกของเราที่เป็นหนังสือพิมพ์ ก็ต้องยอมรับว่ามีบทบาทน้อยลง การจับจ้องมองต่างๆ ก็น้อยลง ข้อร้องเรียนปีที่ผ่านมา ก็มีเพียง 2-3 กรณีเท่านั้น และมีเพียงกรณีเดียวที่สภาฯ มีมติให้ตักเตือนสมาชิกในการนำเสนอข่าว ส่วนอื่นๆ เป็นการหยิบยกขึ้นมาโดยคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ เรื่องการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ ซึ่งก็มีสมาชิกเราที่เป็นสถานีโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหลายๆ เรื่อง สมาชิกก็ดำเนินการเอง และก็เป็นกรณีตัวอย่างของการกำกับดูแลกันเองของสื่อ โดยไม่ต้องให้ใครมากำกับ 

สร้างเครือข่ายรับเรื่องร้องเรียนครอบคลุมทุกสื่อ

ส่วนกรณี ที่เป็นเรื่องของทีวี แต่บางส่วนไม่ได้เป็นสมาชิกสภาการสื่อฯ แต่ขณะนี้เรามีความร่วมมือกับอีก 2 สภาวิชาชีพ คือสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กับสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและกิจการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่ง 2 สภานี้ มีสถานีโทรทัศน์ วิทยุ ที่เป็นสมาชิกต่างหาก ก็จะมีความแตกต่างนิดหนึ่ง

ในส่วนของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็จะรับเรื่องร้องเรียนเฉพาะ เกี่ยวกับรายการข่าว หรือข่าว ส่วนสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพ และกิจการกระจายเสียง(ประเทศไทย) ก็รับเรื่องได้ ทั้งส่วนที่เป็นข่าว และส่วนที่เป็นรายการ รวมถึงละครต่างๆ ถ้ามีเรื่องร้องเรียน แต่ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับข่าว ก็จะส่งมาให้ทางสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยดำเนินการก่อน ยกเว้นว่าสถานีนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพข่าวฯ ก็จะส่งสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพฯ รับเรื่องร้องเรียนไป

เราก็พบว่าในระยะหลัง มีเรื่องร้องเรียนเกี่่ยวกับสถานีโทรทัศน์ไปที่อีกสองสภาค่อนข้างมาก และเราก็ได้จัดทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างสามสภานี้ ในรูปแบบคณะกรรมการประสานงานรับเรื่องร้องเรียนของสามสภา เพื่อที่จะให้การรับเรื่องร้องเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เดิมคนก็ไม่รู้จะไปร้องที่ไหนแต่คราวนี้ร้องมาที่ไหนก็เหมือนกันเราก็จะส่งไปตามช่องทางในสภาที่มีสมาชิกถูกร้องเรียน 

เรื่องนี้ก็ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว มีการประชุมมีข้อตกลงการประชุมทุกเดือนเพื่อติดตามเรื่องร้องเรียนว่า เราส่งไป หรือมีเรื่องร้องเรียนโดยตรงของแต่ละสภา ก็จะทำให้การรับเรื่องร้องเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อถามถึง มาตรฐานการทำงานของคนทำสื่อที่สะท้อนเข้ามายังสภาการสื่อฯ มากน้อยแค่ไหน ชวรงค์ กล่าวว่า เรามอนิเตอร์อยู่ตลอด เพราะเรามักจะเป็นด่านหน้าในการรับเรื่องร้องเรียน หรือเวลามีปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรม บางเรื่องแม้ไม่ใช่เป็นเรื่องของสมาชิกสภาการฯ แต่เค้าจะนึกถึงเราก่อน เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถ้ามีสมาชิกเราเกี่ยวข้อง ก็จะดำเนินการทันที โดยแจ้งต้นสังกัดให้ใช้กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนภายใน ในการสอบสวนก่อน แล้วรายงานให้เราทราบ เราก็จะเข้าไปชาร์จทันที

แนวปฏิบัติกลไกช่วยเหลืองานข่าวสมาชิก

อีกประเด็นสำคัญ คือการทำแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดจริยธรรม เช่นเมื่อเห็นว่าเริ่มมีปัญหา ก็จะทำแนวปฏิบัติขึ้นมา ที่ผ่านมา เช่น การนำเสนอข่าว ภาพข่าว การฆ่าตัวตาย เพราะมีหลายสื่อรวมถึงสมาชิกของเรา นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย และถูกวิพากษ์วิจารณ์ เราก็มาหาแนวทางว่า ควรนำเสนอแบบไหน ที่น่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อสังคม อยู่ในกรอบจริยธรรม ไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นต้น อย่างล่าสุด คือแนวปฏิบัติ การทำข่าวสงคราม ซึ่งสาเหตุมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นมาปีเศษ แล้วก็มีการนำเสนอข่าวที่ส่วนใหญ่แปลมาจากสำนักข่าว มีการปล่อยข่าว ใช้สงครามข่าวไอโอของทั้งสองฝ่าย ก็ทำให้สื่อก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น และขณะนี้เรากำลังทำแนวปฏิบัติการนำเสนอข่าวการเมืองและการเลือกตั้ง ซึ่งกำลังเข้ากับสถานการณ์ ที่กำลังจะมีขึ้นเร็วๆ นี้ เพื่อเตรียมไว้ก่อน

เมื่อถามถึงข้อจำกัดในการขับเคลื่อนงานของสภาการสื่อมวลชนฯ ชวรงค์ ระบุว่า เนื่องจากการขยายงาน ปัญหาก็คือเรื่องงบประมาณซึ่งเราไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ได้จากสมาชิก ซึ่งสมาชิกเก่าโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ก็ประสบภาวะยากลำบาก ทำให้การจ่ายค่าบำรุง ก็ลดน้อยลง และยังเผชิญภาวะโควิดในช่วงที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจก็ยากลำบาก ถ้าสภาวะยังเป็นแบบนี้ต่อไป ทุนที่เราเคยหามาไว้ ก็จะร่อยหรอลง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ ไม่ว่าจะอย่างไร เราก็ต้องทำหน้าที่กันต่อไป เท่าที่เราสามารถจะทำได้ 

งบประมาณ-ทีมบริหารสภาการสื่อรุ่นใหม่

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือต้องพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะเข้ามาบริหารสภาการสื่อมวลชนฯ ขณะที่ภูมิทัศน์สื่อได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ฉะนั้นจำเป็นต้องมีบุคลากรรุ่นใหม่ๆ ที่มีความเข้าใจในภูมิทัศน์สื่อ และเรื่องจริยธรรมของสื่อ ซึ่งทุกวันนี้ก็ซับซ้อนมากขึ้น ต้องยอมรับว่า เมื่อมีสื่อโซเชียล ก็ไม่ได้เหมือนเดิม และไม่ง่ายเหมือนเดิม มันมีมิติของความซับซ้อนซ่อนเงื่อน และมีบุคคลภาคประชาชนต่างๆ เข้ามามีส่วนกำหนดวาระข่าวสารมากขึ้น แล้วสื่อก็ไปตามความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียมานำเสนอเป็นข่าว  จึงต้องระมัดระวังอย่างสูงมากขึ้น ฉะนั้น 2 เรื่องนี้ ทั้งทรัพยากรงบประมาณ และเรื่องบุคลากร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเร่งพัฒนา เพื่อให้การทำหน้าที่ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติในชุดต่อไปจากชุดที่ปัจจุบันที่วางรากฐานไว้ ซึ่งเหลือเวลาแค่หนึ่งปี

เปิดช่องทางให้ประชาชนร่วมกำกับดูแลสื่อได้

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงด้านประชาสัมพันธ์และสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการกำกับดูแลจริยธรรมของสื่อมากขึ้น ซึ่งเราเตรียมไว้ คือการสัมมนาด้านวิชาการ ทบทวนจริยธรรมของสื่อ ที่จะไปเกี่ยวข้องกับภาควิชาการ ที่จะไปสอนนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ๆ ว่าประเด็นทางด้านจริยธรรม พัฒนาไปอย่างไร และมีสื่อดิจิทัล สื่อโซเชียลมีเดียเข้ามา คณาจารย์ต่างๆ ด้านวารสารสื่อดิจิทัลจะต้องไปสอนอย่างไร และปัจจุบันนักข่าวก็มีการเลือกใช้คำว่าคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ จะต้องมีจริยธรรมอย่างไร สิ่งเหล่านี้เราก็ต้องทำ

ฉะนั้นการทำแนวปฏิบัติ ก็เพื่อเป็นการป้องกัน เป็นเรื่องเชิงรุก และทำความเข้าใจเรื่องออมบุดแมนของแต่ละองค์กร เพื่อให้แอคทีฟมากขึ้น ในการเข้ามาตรวจสอบดูแลกันเอง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำในเวลาที่เหลืออยู่

ความน่าเชื่อถือหัวใจสื่อหลัก ยังเป็นที่พึ่งสังคม

ส่วนทิศทางของสื่อในยุคนิวนอร์มอล ประธานสภาการสื่อฯ มองว่า แนวโน้มประชาชนที่เสพสื่อก็จะหันไปทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สื่อหลักที่เป็นสื่อวิชาชีพจะหายไป ในทางกลับกันสื่อวิชาชีพเองก็ต้องปรับบทบาทของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องความน่าเชื่อถือ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของสภาการสื่อมวลชน ที่เราจะเดินไปทำอย่างไร ที่จะสร้างความน่าเชื่อถือ ในการนำเสนอข่าวของสมาชิกของเราให้เป็นที่พึ่งที่หวัง  เวลาเกิดวิกฤติของสังคมขึ้นมา ประชาชนไม่รู้ว่าจะหันไปพึ่งใคร หรือเชื่อใคร ก็ต้องให้สมาชิกเราทำหน้าที่เป็นหลัก ให้ประชาชนพึ่งพิงได้ เรื่องความน่าเชื่อถือ ข้อมูลข่าวสารที่ออกมา ตรงนี้เป็นหลัก ที่เราจะต้องเดินหน้าต่อไป

ทั้งนี้ ก็ฝากพวกเราให้ยึดมั่นอยู่ในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่มีจริยธรรมวิชาชีพกำกับ ขณะเดียวกัน เราก็ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคม เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เราสามารถทำหน้าที่ของเราได้ ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

สื่อไทยยังมีดีเอ็นเอนักสู้เพื่อประโยชน์สังคม

ด้าน ผศ.ดร.อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ สะท้อนมุมมองจากนักวิชาการ ที่ผันตัวมาจากนักวิชาชีพสื่อ มองว่า จากที่เคยอยู่ข้างในวงการสื่อและมาเป็นนักวิชาการ เมื่อมองกลับเข้าไป คิดว่าตอนนี้สื่อทำงานหนักมาก ในความหนักไม่รู้ว่าจะไปถึงไหน แต่สื่อเรายังมีดีเอ็นเอที่เป็นเรื่องการค้นหาความจริง ต่อสู้ เพื่อขุดคุ้ยประเด็น นำเสนอสาธารณะ 

ตอนนี้เนื่องจากเราเจอดิจิทัลดิสรัปชั่น ก็ต้องปรับรูปแบบ แพลตฟอร์ม การนำเสนอ รวมถึงวิธีการเล่าเรื่องที่มีความรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นความคาดหวังตอนนี้ คิดว่าเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย สมัยก่อนถ้าได้รับมอบหมายคือต้องมี Nose for news แต่ทุกวันนี้ต้องมีทั้ง Eyes ทั้ง Ears ทุกอย่าง เพื่อให้รู้ว่าในโลกออนไลน์เกิดอะไรขึ้น ไปจนถึงกระแสสังคม กลายเป็นความท้าทายนิยามของข่าว ตามที่เราคุ้นเคยว่า ต้องถูกนำเสนอเฉพาะสื่อหลัก คิดว่าคนก็ยังเชื่ออยู่ว่าใครๆ ก็อยากเป็นนักข่าวได้ แต่นักข่าวที่คุณภาพ นักข่าวพลเมือง หรือที่ได้รับการอบรมจริงๆ แล้วเป็นอย่างไรจึงเป็นคำถามที่ชวนคิด

เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ ความน่าเชื่อถือ ทันทีที่เราถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า ข่าวของเราที่นำเสนอไปไม่ถูกต้อง เราจะหมดราคาทันทีฉะนั้นสิ่งที่จะบอกคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่วงการสื่อได้ก็คือ ตอนนี้อาจจะไม่คิดว่าจะเป็นนักข่าว แต่เรียนนิเทศศาสตร์ต้องสื่อสารเป็น ต้องเล่าเรื่องเป็น และเล่าเรื่องอย่างไร การค้นหาข้อมูลอย่างไร

แนะสื่อตั้งหลักให้ทันในยุคดิสรัป

ขณะที่มุมมองต่อสถานการณ์ในการนำเสนอข่าวบ้านเราทุกวันนี้ ผศ.ดร.อลงกรณ์ ระบุว่า ถ้าย้อนไปเมื่อก่อนยุคออนไลน์ ก่อนยุคดิจิทัล ก็จะมีทีวี 5-6 ช่อง หนังสือพิมพ์ประมาณ 10 ฉบับหลากหลาย แต่พอมายุค 2000 มันมีช่องทางให้เลือกมากมาย ตอนนี้สื่อเก่าก็เข้าไปใช้พื้นที่ของสื่อใหม่ รวมทั้งสื่อใหม่ที่เปิดพื้นที่ขึ้นมา ก็อาจใช้ขนบการเขียนข่าวแบบเดิม รวมทั้งมีการเล่าข่าวแบบใหม่ รวมทั้งผู้ที่เคยเป็นนักอ่านของเรา ก็มาเป็นผู้เขียนข่าวให้เรา จะสังเกตเห็นว่าบางข่าวก็ไปเอาทวิตเตอร์ของดาราคนนั้น นักการเมืองคนนี้ เอามาเขียนต่อ หรือแม้แต่ไปหยิบยืมสิ่งที่อยู่ในวิกิพีเดีย ซึ่งใครก็ทำได้ แล้วก็ใส่ประวัติลงไปทั้งหมด

ดังนั้นเราต้องตั้งหลักให้ทัน ในช่วงที่ดิสรัปฯ ทุกระดับ ตั้งแต่ปัจเจก หน่วยงาน องค์กรอื่นๆ ในการรายงานข่าวมันบาลานซ์พอหรือไม่คิดว่ามันคงไม่มีจุดที่จะบอกได้ชัดเจน แต่ตนกำลังรู้สึกว่ามีความพยายามจะสร้างบาลานซ์อยู่ ในกลุ่มที่เป็นสื่อเก่า หรือสื่อกระแสหลัก ซึ่งยังเป็นหลักยึดให้หลายๆ คนได้ เวลามีกระแสอะไรต่างๆ สังเกตโดยการถามนิสิตว่า วันๆ ดูอะไรบ้าง แล้วเราจะเชื่อใครดี เค้าก็บอกว่า สุดท้ายก็ต้องกลับไปดูทีวี ดูสื่อที่เป็นกระแสหลัก เพื่อจะรีเช็คกับออนไลน์

Data Journalism – Solution Journalist

ทุกวันนี้สื่อมีความพยายาม แต่คนก็เรียกร้องจากสื่อมากเช่นกัน ในฐานะที่เคยเป็นผู้สื่อข่าว เรารู้เลยว่าแค่ทำงานปกติก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ฉะนั้นคิดว่า ควรจะมีระบบ Support ช่วยเหลือ เช่น นักข่าวอาจจะไม่ต้องทำมากชิ้น อาจจะต้องทำลึกขึ้น หรืออาจจะต้องมีระบบ Coaching มากกว่า Training สังเกตว่าหลายครั้ง จะมีหน่วยงาน สมาคม เรียกร้องให้อบรม แต่เรารู้สึกว่าอบรมแล้วจบ แต่รู้สึกว่าระบบ Coaching ที่รุ่นพี่พารุ่นน้องไป รุ่นเก่าไปเรียนกับนักข่าวรุ่นใหม่ เกี่ยวกับ Data Journalism ที่สำคัญที่สุดคือต้องเป็น SolutionJournalist ด้วย คือพยายามหาคำตอบด้วย

สำหรับความอยู่รอดของธุรกิจของสื่อในยุคปัจจุบัน ผศ.ดร.อลงกรณ์ ระบุว่า เคยมองว่าหนังสือพิมพ์อยู่ในยุค Sunset เราก็ไม่แน่ใจว่ามันได้ Set ไปแล้วหรือยัง แต่ที่เห็นในช่วงโควิดที่ผ่านมา ช่วงดิสรัป คนไปใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น ซึ่งก็มีโอกาสที่จะดูเรื่องที่หลากหลาย แต่อย่างหนึ่งที่อาจจะสู้สื่อกระแสหลักไม่ได้ คือเรื่องข่าว จะเห็นว่าช่องกระแสหลัก สื่อหรือหนังสือพิมพ์ที่เน้นเรื่องข่าวสาร ก็จะเน้นความเข้มข้นเรื่องข่าว

ตนเห็นปรากฏการณ์ว่า ข่าวที่เอามาขาย จะเป็นข่าวที่กระตุ้นต่อมอยาก ต่อมเผือก ความสนใจเรื่องชาวบ้านค่อนข้างมาก ก็ดีเบตกันมาตลอดว่า ข่าวไม่ดีแต่ขายได้ แต่ข่าวดีคนไม่ซื้อแล้วจะอย่างไร บังเอิญช่วงดิจิทัลดิสรับชั่นกับช่วงโควิดมันมาใกล้ๆ กัน เราจะเห็นว่า ทีวีหลายช่อง หรือหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ก็จะไปเน้นเรื่องข่าวง่ายๆ ข่าวชาวบ้าน ข่าวสนุก ข่าวกระตุ้นอารมณ์ที่มีดราม่าเยอะๆ ตอนนี้ออนไลน์แล้ว และไปต่างประเทศเสียเยอะ ทำให้เงินก้อนที่มีอยู่ในประเทศ ก็กระจายน้อยลง สื่อโฆษณาก็วิ่งไปที่ออนไลน์เยอะเพราะเป็นสิ่งที่คนจะเห็นเยอะ ตนเห็นว่าข่าวที่ยังเป็นคอนเทนต์หลัก อาจจะยังจะเป็นจุดขาย แต่จะทำอย่างไรที่จะหลบเรื่อง Sensational   

ทั้งนี้ ความท้าทายของนักข่าวรุ่นใหม่ ที่จะต้องหาทั้งข่าวและกระจายข่าว ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ขณะเดียวกันก็มีเสียงเรียกร้องมากเช่นกันว่า ต้องรับผิดชอบ แต่ไม่มีระบบอะไร ที่จะมาช่วยเลย หรือมีระบบที่ไม่เข้มแข็ง ทั้งที่นักข่าวก็อยู่ในภาวะเปราะบางเหมือนกัน.

+++++++++++++++