“ข่าวน้องต่อ vs บ้านกกกอก” นักวิชาชีพ นักวิชาการ ประเมินบทเรียนข่าวเด็กหายในอดีต ส่งผลสื่อระมัดระวัง รอบคอบในการนำเสนอมากขึ้น ชี้ประเด็นดราม่ามากกว่าเด็กหาย ต้องระมัดระวังหลุดประเด็นหลักออกนอกทางข่าว และตระหนักกฎหมายสิทธิเด็ก ขณะที่นักวิชาการด้านเด็กและครอบครัว ติงตำรวจทบทวนแนวปฏิบัติ การเปิดเผยข้อมูลอ่อนไหว ที่ไม่จำเป็นต่อรูปคดี มีความสุ่มเสี่ยงละเมิดกฎหมายเสียเอง
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ข่าวน้องต่อ vs บ้านกกกอก” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และสืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย เสด็จ บุนนาค บรรณาธิการบริหารด้านข่าวภูมิภาค สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นพปฎล รัตนพันธ์ รองเลขาธิการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
จากกรณีเด็กชายวัย 8 เดือนหาย จนถูกขยายกลายเป็นข่าวดราม่าเรื่องลูกใคร เมื่อตำรวจให้ข้อมูลการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว มีการเปิดเผยผลตรวจดีเอ็นเอเด็ก เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามถึงการเปิดเผยข้อมูลของเจ้าหน้าที่จนนำมาสู่การนำเสนอข่าวของสื่อ ที่ออกนอกคดีเด็กหาย
เสด็จ บุนนาค บรรณาธิการบริหารด้านข่าวภูมิภาค ที่มีบทบาทในการทำร่างแนวปฏิบัติการเสนอข่าวเด็กและเยาวชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มองในมุมคุณค่าข่าว รวมถึงจริยธรรม ข้อห่วงใยในเรื่องกฎหมาย ทั้งเรื่องสิทธิเด็กและกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พีดีพีเอ โดยระบุว่า แม้การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน อาจจะได้รับข้อยกเว้น แต่ในทางจริยธรรมในการทำข่าวเรื่องเกี่ยวกับเด็กก็ต้องตระหนัก
คดีนี้ เริ่มต้นด้วยการทำข่าวเด็กอายุเพียง 8 เดือนหาย แนวทางข่าวย่อมต้องหาข้อมูลว่า มีใครเป็นผู้นำพาไป แต่พอเรื่องนี้ถูกขยายวงมากขึ้น จึงไปไกลจากเรื่องเด็กหาย กลับกลายเป็นการสาวต่อเรื่องตรวจดีเอ็นเอ หากเทียบกับคดีน้องชมพู่ บ้านกกกอก ก็มีการขยายวงออกไป แต่ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
“ประเด็นเรื่องเด็ก 8 เดือน ไม่จำเป็นต้องสาวต่อ ว่าเด็กเป็นลูกใครกันแน่ แต่กลับกลายเป็นว่า เรื่องเลยเถิดไปอีก เป็นเรื่องการค้าประเวณี ยิ่งไปกันใหญ่ สมมุติว่าเด็ก 8 เดือน ถูกนำกลับมาได้ เค้าจะอยู่ในสังคมตรงนี้ได้อย่างไร เมื่อถูกตั้งคำถามถึงเรื่องในครอบครัวเรื่องแม่” เสด็จ กล่าว
.
ชี้มุ่งประเด็นหลักเด็กหาย งดดราม่า
สำหรับกอง บก.ไทยพีบีเอส เราได้หารือ และมีข้อสรุปกันว่า จะไม่นำเสนอเรื่องเหล่านี้ แต่จะมุ่งประเด็นการตามหาเด็กหายอย่างเดียวไม่ไปตามขุดคุ้ย เจาะประเด็นใด ๆ ทั้งสิ้น เด็กอาจถูกใครนำไป ยังมีชีวิตหรือไม่ เท่านั้น จะไม่ออกนอกเส้น เพราะดูแล้วจะไปกันใหญ่ ซึ่งในเชิงของสังคม มูลนิธิกระจกเงาเอง ก็ได้ออกมาติติงเรื่องนี้ ที่เริ่มจะไปกันเยอะ แล้วจะส่งผลกระทบกับตัวเด็กเอง
แม้ว่าข้อมูลที่ตำรวจเปิดเผยออกมาในลักษณะดราม่าเรื่องส่วนตัวของแม่ ประวัติพื้นหลังครอบครัว แต่การทำงานของสื่อ ก็ต้องมีความหวังว่าเด็กจะมีชีวิตอยู่มากกว่า
เสด็จมองว่า การติดตามทำข่าวคดีนี้ ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นเรื่องซับซ้อน ถึงขั้นเป็นข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เป็นข่าวเด็กหาย และการตามหาเด็ก ที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนจากคำให้การของแม่เด็ก แม้ในที่สุดจะมีประเด็นเรื่องส่วนตัวขึ้นมา แต่มันไปกระทบต่อสิทธิของเด็ก ซึ่งที่มาของข้อมูลในคดีนี้ ส่วนใหญ่มาจากตำรวจ ทิศทางข่าวก็จะไปตามเส้นทางของเจ้าหน้าที่ สื่ออาจไม่ได้ไปไล่ตามเจาะเหมือนคดีน้องชมพู่ บ้านกกกอก ที่มีผู้สื่อข่าวเข้าไปฝังตัวในหมู่บ้าน เรื่องนี้อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น
สำหรับข้อมูลที่ออกมาจากตำรวจ เสด็จเห็นว่า สื่อไม่จำเป็นต้องนำเสนอทุกประเด็นทุกเรื่อง แต่วิธีการเลือกนำเสนอต่อสาธารณะจะต้องพิจารณากันภายในกองบรรณาธิการ ประเด็นไหนควรตัดออก ตรงไหนไม่เหมาะสม ก็ไม่ต่างกับการนำเสนอภาพข่าว แม้จะถ่ายภาพในพื้นที่มาทั้งหมด เมื่อมาถึงกองบรรณาธิการแล้ว ก็จะมาพิจารณา ตรวจสอบ ว่าจะนำเสนอได้แค่ไหนจึงจะเหมาะสม สื่อเองก็ต้องทำหน้าที่เป็น Gatekeeper ประเด็นที่ไม่โอเค ก็ต้องพยามตัด หรือลดทอนลง ให้ดูเหมาะสม การที่เราจะนำเสนอทุกอย่าง เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องลงทุกอย่างที่ตำรวจพูด
สื่อยังอยู่ในกรอบ บทเรียนสะท้อนการทำงาน
นพปฎล รัตนพันธ์ ตั้งข้อสังเกตถึงการนำเสนอข่าวของสื่อในคดีนี้ว่า เริ่มต้นจากกรณีเด็กหาย สื่อเองพยายามทำตามแนวปฏิบัติ และกรอบจริยธรรมมาก บางครั้งคนดูอาจจะสับสน เพราะวันแรก ๆ สื่อนำเสนอภาพของเด็ก เพราะถือเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะที่จะต้องช่วยกันตามหาเด็ก นำเสนอชื่อเด็ก ชื่อพ่อแม่
กระทั่งต่อมา เมื่อข่าวพัฒนาไป จนประเด็นเปลี่ยนไป เป็นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว เด็กอาจไม่ใช่ลูก สื่อก็จะเริ่มเบลอหน้าเด็ก ปิดชื่อ จนกระทั่งเมื่อมีประเด็นการค้าประเวณี ก็เปลี่ยนเป็นชื่อย่อของคนที่เกี่ยวข้อง
จะเห็นได้ว่าความพยายามของสื่อ เพื่อทำให้เป็นไปตามจริยธรรม แนวปฏิบัติ ถ้าหากเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายของเด็กและครอบครัว จะต้องไม่นำเสนอชื่อตัวตนของบุคคลที่อยู่ในข่าว จึงอยากจะบอกกับประชาชนว่า ถ้าหากดูข่าวแล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ต้องแปลกใจ ที่สื่อเปลี่ยนสรรพนามการเรียกบุคคล
.
กรณีเรื่องของน้องชมพู่ ตอนนั้นเราก็เปลี่ยนกัน ทั้งสื่อ ทั้งองค์กรสื่อ และภาคประชาสังคม เพราะการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเด็ก เรื่องครอบครัว เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากเราไปทำข่าวที่ล่วงเกิน ล้ำเส้น คนดูเองก็จะสะท้อนออกมา และเดี๋ยวนี้ก็ง่ายมาก เค้าโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย และแชร์ต่อ ๆ มาก็จนกลายเป็นกระแส ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีที่สังคมช่วยกันเตือน เฝ้าระวัง และสื่อเองก็ระมัดระวังมากขึ้นในการนำเสนอข่าว
ไร้ดราม่าเหมือนข่าวในอดีต
สำหรับคดีเด็ก 8 เดือน นพปฎล ระบุว่า ต้นทางของข่าวคือคดีเด็กหาย ดังนั้นเส้นทางของข่าวควรจะเดินไปในทิศทางเดิมหรือไม่ เพราะเรื่องอื่น มันจะเกิดผลกระทบ หากเด็กกลับมาได้ เค้าจะอยู่อย่างไร จะรู้สึกอย่างไร สังคมรอบตัวตรงนี้ มันเป็นเรื่องเปราะบาง ในเรื่องคดีที่อาจจะขยายวงออกไปไกลกว่าการหาเด็ก สื่อที่พยายามนำเสนอข้อเท็จจริง บางครั้งก็อาจจะล้ำเส้นไปบ้าง ก็มีเสียงจากประชาชน ภาคประชาสังคมคอยเตือน สะกิดกันตลอดเวลา เราก็จะรับฟัง เราจะไม่สนใจสังคมไม่ได้แล้ว เสียงของคนดูเป็นส่วนสำคัญที่สะท้อนกลับเข้ามา
สำหรับการทำหน้าที่ของสื่อในคดีเด็ก 8 เดือน ยังไม่พบการร้องเรียนการนำเสนอข่าวของสื่อมายังคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนฯ ขณะนี้ยังไม่มีข้อกังวลข้อห่วงใยต่อการทำหน้าที่ของสื่อในคดีนี้ ถ้าเทียบกับคดีอื่น ก็ถือว่า สื่อยังอยู่ในร่องในรอย
กรณีที่แตกประเด็นไปในเรื่องนอกเหนือจากเด็กหาย ตามที่ตำรวจพบข้อมูล ทำให้มีการนำไปสู่การเรียกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคนใกล้ชิดคนในครอบครัวไปสอบปากคำ แจ้งข้อกล่าวหา รองเลขาธิการสภาการสื่อฯ มองว่า สื่อนำเสนอได้อย่างระมัดระวังในระดับหนึ่ง จากที่มอนิเตอร์ดูทีวีหลายช่อง รายการที่เคยเป็นประเด็นทั้งหลายก่อนหน้านี้ ก็เห็นถึงความระมัดระวังมากขึ้น ในการจะเอ่ยชื่อ และความเกี่ยวโยงกับตัวเด็ก หรือเกี่ยวกับคนในครอบครัว แม้จะยังมีอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับดราม่าเหมือนกรณีในอดีต
ตระหนักถึงหน้าที่การเป็นที่พึ่งของสังคม
ข้อมูลจากตำรวจที่ปล่อยออกมาอย่างละเอียดยิบ สื่อจำเป็นต้องนำเสนอทั้งหมดหรือไม่อย่างไร ควรพูดคุยกันหรือไม่ โดยเฉพาะกับตำรวจว่า อันไหนควรเปิด ไม่ควรเปิด นพปฎล ระบุว่า ส่วนใหญ่ตำรวจที่ทำคดีในชั้นสืบสวนสอบสวน มักจะไม่ให้ข้อมูลมาครบ 100% โดยทั่วไปก็ให้สื่อประมาณ 60% หรือบางครั้งก็ต่ำกว่า 50%
สำหรับคดีที่ต้องหาผู้กระทำผิด ต้องหาข้อมูลพิเศษ ยิ่งคดีนี้ เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ตำรวจอาจจะให้ข้อมูลมากกว่าปกติ เพื่อใช้สื่อในการช่วยกระจายข้อมูล เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการหาเบาะแสอื่น ๆ หรือไม่ ตรงนี้ก็ต้องดูเจตนาว่า ตำรวจให้ข้อมูลแล้ว ทำให้คดีคืบหน้า เพื่อใกล้เบาะแสสำคัญในการเจอเด็กด้วยหรือไม่ เป้าหลักของคดีนี้คือต้องเจอเด็กก่อนไม่ว่าจะเป็นในลักษณะไหน กับต้องหาให้ได้ว่าเด็กไปอยู่กับใคร ไปได้อย่างไร ใครเป็นคนกระทำ ก็เป็นขั้นตอนที่ตำรวจดำเนินการตามปกติ กระบวนการพวกนี้นักข่าวก็ให้ความสนใจที่นำเสนอว่า ตำรวจกำลังทำอะไร อย่างไรบ้าง
ส่วนที่เป็นดราม่า เรื่องคนในครอบครัว ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในสังคม แต่ในมิติการนำเสนอข่าวของสื่อ ตนยังเชื่อมั่นกับสื่อในปัจจุบันว่า ปรับตัวค่อนข้างมาก หากเปรียบเทียบกับกรณีข่าวกราดยิงที่หนองบัวลำภู กรณีนี้สื่อถูกตำหนิน้อยมาก และยังมีคำชื่นชมจากบางหน่วยงานว่า สามารถนำเสนอข่าวที่ไม่ดึงดราม่ามาเล่น ค่อนข้างจะมีทิศทางที่ดีขึ้น
สื่อที่ลงไปในพื้นที่นำเสนอข่าว ก็ยังระมัดระวัง ทุกคนก็ต้องการให้การนำเสนอข่าวเป็นที่พึ่งของคนในสังคม ไม่อยากถูกตำหนิว่าไปสร้างรอยด่างให้กับชีวิตของใคร เพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อใหม่ ๆ ก็แคร์สังคมมากขึ้น
สื่อมีความระมัดระวังได้ค่อนข้างดี
ขณะที่นักวิชาการด้านเด็กและครอบครัว ธาม เชื้อสถาปนศิริ ระบุว่าในช่วงแรกที่ติดตามเรื่องนี้ รู้สึกว่าน่าจะซ้ำรอยกับเหตุการณ์คล้ายกับน้องชมพู่บ้านกกกอก ลักษณะที่เด็กหาย แต่หลังจากติดตามข่าวต่อมาๆ ก็คิดว่าต้องมีเงื่อนงำ จากลักษณะพยานแวดล้อม คนในครอบครัว
เมื่อประเมินการทำงานของสื่อเกี่ยวกับคดีนี้ สื่อระมัดระวังได้ค่อนข้างดี อยู่ในกรอบจริยธรรม มีขอบเขต มีไกด์ไลน์ เราอาจจะได้บทเรียนจากกรณีครั้งก่อน บ้านกกกอก ที่รายงานกันยิ่งกว่าข่าวต้นชั่วโมง เหมือนเรียลลิตี้คู่ขนาน มียูทูปเบอร์ ไลฟ์สด อินฟลูเอนเซอร์ไปติดตามในหมู่บ้าน วัฒนธรรมแบบนี้ ก็เหมือนรายงานข่าวเรียลลิตี้ แต่รอบนี้เราได้บทเรียน
สิ่งที่เหมือนกันในเรื่องคุณค่าข่าวก็คือ เรื่องนี้ลึกลับซ่อนเงื่อน ช่วงวันที่ 3-4-5 ก็จะมีเรื่องพลิกไปพลิกมา ช่วงแรกก็คิดว่าน่าจะเหมือนกรณีเด็กหาย แต่ที่สุดก็กลายเป็นโศกนาฏกรรมครอบครัว ที่สะท้อนถึงความเปราะบางของครอบครัวเด็ก
ติงตำรวจเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
เมื่อถามถึงกรณีที่ตำรวจให้รายละเอียดมาก เปิดเผยหมด สื่อจำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลทั้งหมดหรือไม่ หรือควรกลั่นกรองอย่างไรบ้าง อาจารย์ธาม มองว่า การให้ข้อมูล ควรต้องระมัดระวังอย่างมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ทำคดี ก็ยังอยู่ภายใต้กฎหมายการคุ้มครองเรื่องความรุนแรงในครอบครัว คดีพวกนี้เป็นเรื่องของสิทธิเด็กด้วย เพราะฉะนั้นแม้แต่การสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนทั้งตำรวจ ญาติ พยานแวดล้อม ก็อาจกระทบต่อสวัสดิภาพของตัวเด็ก
“เราต้องนึกถึงคดีประเภท อย่างเช่น เป็นคดีเรียกค่าไถ่ ลักพาตัวเด็กไป การรายงานข่าวออกไปมาก ๆ คนแรกที่จะทำงานยาก ก็คือตำรวจ เพราะปกติคดีพวกนี้ จะไม่ค่อยให้สาธารณชนรับรู้มากนัก เพราะกระทบต่อการทำงาน หากความสนใจของสื่อมวลชนมากเกินไป”
อย่างไรก็ตาม เมื่อสื่อรายงานไปถึงจุดหนึ่ง ก็จะเห็นว่า มีประเด็นเรื่องลึกลับ ลูกใครกันแน่ ลักษณะความมั่นคงของครอบครัว ความสัมพันธ์ ซึ่งข้อมูลพวกนี้เป็นพลอตรอง เวลาคดีเด็กหาย จะสืบค้นใกล้ตัว ด้วยการปล่อยข้อมูลออกมาในลักษณะของการเปิดเผย
เด็กได้รับการปกป้องสิทธิตามกฎหมาย
เมื่อถามว่า ตำรวจและสื่อจำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ดีเอ็นเอ หรือไม่ อาจารย์ธาม ยกกรณีข่าวในอดีต กรณีดาราสาวตกเป็นข่าวเรื่องพ่อของลูก ว่าเป็นใคร กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต
ปัญหาที่เราคุยกันในวงการสื่อ เรื่องการเปิดเผยข้อมูลพันธุกรรม ซึ่งจริง ๆ เด็กได้รับการปกป้องสิทธิ เคสนั้นสื่อมวลชน ประชาชนอยากรู้ แต่ตอนนั้นคดีเข้าสู่ชั้นศาล มีการฟ้องร้อง ก็เป็นความลับ ตอนนี้ก็ไม่มีใครอยากรู้แล้ว แต่ปัจจุบันเคสของน้องต่อ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเอาข้อมูลมาเปิดเผย อาจจะเข้าข่ายลักษณะการละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเด็ก หรือแม้กระทั่ง การกระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือการเปิดเผยเรื่องพฤติกรรม ความสัมพันธ์ทางเพศ มาให้สาธารณชนรับรู้ ตำรวจมีหน้าที่ปิดคดี ความสำคัญลำดับแรก ก็คือเด็กอยู่ที่ไหน ถ้าตำรวจให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ย่อมคำนึงถึงสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของเด็ก คดีนี้จะทำอย่างเร่งรีบรวดเร็ว
ส่วนกระบวนการหลังบ้าน หรือกระบวนการสืบว่าเด็กเป็นลูกใคร มองว่ามันพาเราออกนอกทาง จากการรายงานข่าว หรือจากการให้ข้อมูลที่สื่อมวลชนไม่จำเป็นจะต้องรับรู้ รับทราบเลย มันไปกระตุ้นแค่ความอยากรู้อยากเห็น เสมือนเป็นพลอตละคร เรื่องลึกลับ ปริศนาถามว่าสังคมรู้เรื่องนี้แล้วได้ประโยชน์อะไร เห็นว่าเด็กคนหนึ่งโตมาในสภาพครอบครัว ที่สะท้อนถึงเรื่องจริยธรรม ศีลธรรม เรื่องพวกนี้ ใช่เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการตามหาตัวเด็กหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เลย มันเป็นดราม่า
ตำรวจต้องพิจารณาการให้ข้อมูลสังคม
ตนคิดว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ที่ทำคดี จะต้องพิจารณาด้วยว่า เคยออกกฎระเบียบแนวปฏิบัติ ของการเปิดเผยข้อมูลแบบนี้อย่างไร ประโยคหนึ่งที่ตำรวจ จะใช้คำว่า เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี สำหรับคดีนี้ ตนไม่แน่ใจว่า การตีความเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็ก สายสัมพันธ์ พฤติกรรมที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ จนเค้าก็รู้กันหมดแล้วทั่วประเทศ มันส่งผลต่อรูปคดีอย่างไร คำถามนี้เป็นคำถามที่สำคัญ
เรื่องลึกลับดำมืดในครอบครัว ระหว่างสื่อมวลชน กับตำรวจ ต้องถามว่าใครควรที่จะระมัดระวังให้มาก อันดับแรกก็คือ ตำรวจ ข้อมูลเหล่านี้เปิดเผยไม่ได้ หากเป็นกรณีเรียกค่าไถ่ เรื่องบานปลาย เรื่องถึงหูสื่อมวลชน หรือตำรวจเอามาเปิดเผยอย่างคนเด่นคนดังถูกเรียกค่าไถ่ บางทีบ่อยครั้งเจอว่า คนร้ายจับฆ่าเด็ก เพราะเรื่องมันไปกันใหญ่ ไม่ได้จบง่ายๆ ผมมองว่า เรื่องนี้สำหรับสื่อมวลชนผมว่าทำงานค่อนข้างดีส่วนตำรวจจะต้องพิจารณาวิธีการให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน
เสนอสื่อทำประเด็นหลากหลาย
เมื่อถามถึงการนำเสนอข่าวผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่กอปปี้ข่าวมานำเสนอซ้ำ และยังมีคนอ่านจำนวนมาก และแชร์ต่อ สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างไร อาจารย์ธาม กล่าวว่า เป็นธรรมชาติของคนเรา ที่อยากรู้อยากเห็น แต่ถ้าไม่ได้ทำให้ชีวิตใครที่กำลังอกสั่นขวัญแขวน ยืนอยู่บนเส้นด้าย ไม่ปลอดภัย เราก็ต้องยั้งเอาไว้ การอยากรู้อยากเห็น ต้องทำใจ แต่สมัยนี้มันอาจจะง่าย แค่กดค้นหา กดอ่าน ส่งต่อ และข่าวก็ก็อปปี้วนซ้ำกันไปมา กลายเป็นว่าสำนักข่าวที่ไม่ได้ทำข่าว Original เอง แต่ไปเอาของสำนักอื่นมาผลิตซ้ำ
ที่สุดอย่างที่ตนพูดมาตลอดว่า ข่าวเรามีแต่ความมากหลาย แต่ไม่มีความหลากหลาย ความหลากหลาย คือคัดลอกกันเยอะ เท่าทวีคูณ แต่ไม่มีประเด็นที่แตกต่าง อยากแนะนำสื่อมวลชนว่า ควรลดความมากหลาย ให้เป็นความหลากหลาย สื่อมวลชนต้องทำงานแข่งกันด้วยไม่ใช่เห็นว่าฝั่งไหนมีคนอ่านเยอะ ก็ทำบ้าง ข่าวนี้มีแง่มุมนี้ ลองไปฉีกประเด็นดีกว่า
++++++