วันที่ 18 ม.ค. 2566 ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อได้เข้าพบปะหารือร่วมกันกับคณะผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ณ ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขตปทุมวัน เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีสื่อมวลชน 4 คน ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC” ตามที่ได้เคยยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการให้กับทางตำรวจเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และพูดคุยหารือเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยสำหรับสื่อมวลชนในสถานการณ์ชุมนุม
อ่านเพิ่มเติม: องค์กรสื่อร้อง ‘ผบ.ตร.’ เร่งสอบกรณีนักข่าวเจ็บในเหตุปะทะม็อบ APEC
ในการประชุมวันนี้ ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อประกอบด้วย นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ, นางสาววศินี พบูประภาพ อนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ สมาคมนักข่าวฯ, นางสาวจามาศ โฆษิตวิชญ อนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ สมาคมนักข่าวฯ, นายชาย ปถะคามินทร์ ผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, นายธวานันทภัทร ตั๋นไชยวงค์ กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ นายสุเมธ สมคะเน เลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
สำหรับคณะผู้แทนฝั่งตำรวจ ได้แก่ พล.ต.ท. สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ฯลฯ
พล.ต.ท. สราวุฒิ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า ตนยินดีที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มาเป็นตัวแทนในการพูดคุยกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในวันนี้ ผบ.ตร.เองท่านก็เป็นนักประชาธิปไตย ท่านเข้าใจบทบาทของสื่อมวลชน และตนก็มองว่าสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญ สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านดีๆให้กับสังคมได้ ตนเข้าใจว่าทางองค์กรวิชาชีพสื่อ เคยพูดคุยกับตัวแทนตำรวจนครบาลมาแล้วหลายครั้ง แต่ในวันนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่พูดคุยกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่ทั้งสองฝั่งจะได้มาพูดคุยประสานงานกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นและปลอดภัยที่สุด เพราะตนมองว่าตำรวจกับสื่อไม่ได้เป็นคู่กรณีหรือคู่ขัดแย้งกัน ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ในส่วนของตนเองสอดคล้องกันได้
ด้านพล.ต.ต.พิทักษ์ ให้ข้อมูลว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลมิได้นิ่งนอนใจในเหตุที่เกิดขึ้น จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงไว้แล้ว และดำเนินการสอบข้อเท็จจริงมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ เช่น รวบรวมพยานหลักฐาน เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคำ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ เพราะทางตำรวจต้องดำเนินงานอย่างรอบคอบ ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ก่อนที่จะสรุปข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้สังคมเกิดข้อกังขาได้ จึงต้องใช้เวลาดำเนินการไปอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ นอกจากองค์กรวิชาชีพสื่อแล้ว ยังมีการตรวจสอบจากอีกหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมาธิการของรัฐสภา องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และล่าสุดก็มีคดีที่สื่อมวลชนได้ฟ้องร้องไว้ที่ศาลแพ่ง ซึ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลจะสรุปข้อเท็จจริงและชี้แจงไปยังทุกหน่วยงานอย่างครบถ้วน
ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องขององค์กรวิชาชีพสื่อ ที่ให้มีการเยียวยาสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุดังกล่าว พล.ต.ต.พิทักษ์กล่าวว่า เมื่อมีการสรุปข้อเท็จจริงแล้ว จะมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือประชาชนทั่วไป หากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลเหล่านั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ ตัวแทนทั้งสองฝั่งยังได้พูดคุยเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยสำหรับสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม ในเบื้องต้นตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนพบว่ายังมีปัญหาอยู่บ้าง เช่น ไม่มีการประสานงานหรือส่งต่อกันระหว่างการพูดคุยรอบก่อนๆ เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้บังคับบัญชาหรือผู้ปฏิบัติงาน, เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับเหตุหน้างานบางส่วน อาจจะยังไม่มีความเข้าใจบทบาทสื่อมวลชน หรือรับทราบเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อสื่อมวลชน, ยังไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้แก่สื่อมวลชน หรือการประกาศเตือนจากฝั่งเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน เป็นต้น ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะประสานงานและดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป
หลังการพูดคุยสิ้นสุดลง ด้านนายธีรนัย อุปนายกฝ่ายสิทธิ์ สมาคมนักข่าวฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนขององค์กรวิชาชีพสื่อ จะมีการดำเนินงานเบื้องต้นดังต่อไปนี้:
1. ประชุมหารือกันในองค์กรวิชาชีพสื่อ และตัวแทนสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนแนวทางปฏิบัติของสื่อมวลชนในสถานการณ์ชุมนุม ยังมีตรงไหนขาดตกบกพร่อง ตรงไหนสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้บ้าง สำหรับวันและเวลาจะกำหนดกันอีกที
2. ผลักดันให้มีการออกคู่มือแนวทางการปฏิบัติสำหรับสื่อมวลชนในสถานการณ์ชุมนุมโดยเฉพาะ เพราะในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการปฏิบัติในส่วนนี้ มีเฉพาะคู่มือแนวทางปฏิบัติสื่อมวลชนในสถานการณ์ภัยพิบัติหรือจลาจลเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละบริบทกัน
3. ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้สื่อมวลชนภาคสนามสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยที่สุด ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างราบรื่นที่สุด รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ก็จะได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการแสดงออกทางการเมืองหรือสะท้อนปัญหาของสังคมด้วยเช่นกัน เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่รับรองสิทธิและหน้าที่ของทุกฝ่าย