ควบรวมค่ายมือถือ-ถ่ายทอดบอลโลก เรื่องใหญ่ ‘สิทธิผู้บริโภค’ ปี 65

‘ควบรวมค่ายมือถือ-ถ่ายทอดบอลโลก’ เรื่องใหญ่ ‘สิทธิผู้บริโภค’ ปี 65 ประชาชนต้องเข้มแข็งคานอำนาจรัฐ-ทุน

20 ธ.ค. 2565 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาองค์กรของผู้บริโภค สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ChangeFusion Centre for Humanitarian Dialogue (HD) และ มูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) จัดงาน Year End Forum ผลสำรวจประเด็นสำคัญในรอบปี ณ ชั้น 31 อาคาร G Tower รัชดา พระรามเก้า (ฝั่งเหนือ) กรุงเทพฯ

โดยกิจกรรมในภาคเช้า เป็นการ เผยแพร่ผลการสำรวจในหัวข้อ “เรื่องร้องเรียนจริยธรรมสื่อในรอบปี และการนำเสนอข่าวที่ผู้บริโภคไม่เชื่อใจ” ซึ่งผู้นำเสนอคือ นายชาย ปถะคามินทร์ ผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) รวมถึงมีผู้ร่วมให้ความเห็น ประกอบด้วย นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็ก เยาวชน และสตรี , นายคมกฤช ลำเจียก ตัวแทนสื่อมวลชน , ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด , ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย กรรมการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ รศ.รุจน์ โกมลบุตร อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (อ่านข่าว คลิ๊ก!)

ส่วนในช่วงบ่าย เป็นการนำเสนอผลการสำรวจในประเด็น “นโยบายการสื่อสารที่กระทบสิทธิมนุษยชน ข้อเสนอต่อรัฐ สื่อ และสังคม” โดยผู้นำเสนอคือ น.ส.ปาณิสรา ตุงคะสามน เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึง 7 ประเด็นร้องเรียนในปี 2565 ที่นำมาทำเป็นแบบสอบถาม สำรวจตั้งแต่วันที่ 1-15 ธ.ค. 2565 และมีผู้ตอบแบบสอบถาม 502 คน ได้แก่

1.SMS หลอกลวง กู้ยืมเงิน/หลอกให้โอน (รวมถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์) ซึ่งหลายคนตกเป็นเหยื่อสูญเสียทรัพย์สิน พบว่า มิจฉาชีพอ้างเป็นพนักงานส่งพัสดุมากที่สุด รองลงมาคืออ้างเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนั้นยังมีการชักชวนให้เล่นการพนัน และมีบ้างที่อ้างเป็นคนรู้จัก

2.ค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 ใช้บริการมือถือระบบเติมเงิน ที่แม้จะควบคุมค่าใช้จ่ายได้แต่ก็พบปัญหา ซึ่งแม้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่พบปัญหา แต่ก็มีบางส่วนที่พบ เช่น ไม่ได้ใช้บริการโทรศัพท์หรือไม่ได้สมัครบริการเสริมแต่กลับได้รับใบแจ้งหนี้ หรือการจ่ายค่าบริการแล้วแต่กลับถูกแจ้งว่ายังไม่ชำระค่าบริการ

3.ปัญหาอินเตอร์เน็ตบ้าน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่า พบปัญหาอินเตอร์เน็ตไม่เสถียร ตั้งแต่สัญญาณไม่ดีไปจนถึงใช้งานไม่ได้ รองลงมาคือความเร็วอินเตอร์เน็ตไม่สอดคล้องกับค่าบริการที่เสียไป นอกจากนั้นยังพบกรณีเมื่อจะยกเลิกการใช้บริการแต่กลับติดสัญญา การยกเลิกทำได้ไม่ง่ายเหมือนการสมัครใช้บริการ

4.ข่าวปลอม (Fake News) ด้วยเทคโนโลยีทำให้การบริโภคข่าวสารของผู้คนรวดเร็วขึ้น และข่าวสารส่วนใหญ่ก็มาจากสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งผู้ใช้งานสามารถนำเสนอเรื่องต่างๆ ด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องผ่านการคัดกรอง นำไปสู่การสร้างความสับสน หรือแม้แต่มีผู้ไม่หวังดีสร้างข่าวปลอม ข่าวลือบิดเบือนข้อมูล อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 ระบุว่า มีการตรวจสอบข้อมูลและแหล่งที่มาของข่าวที่พบ ขณะที่บางส่วนสอบถามญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิด โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนน้อยมาก (5 คน และ 3 คนตามลำดับ) ที่ตอบว่าเชื่อทันทีและทำตาม กับเชื่อทันทีและส่งต่ออย่างรวดเร็ว

5.การควบรวมกิจการมือถือระหว่าง True กับ Dtac มีข้อกังวลเรื่องการแข่งขันที่ลดลง ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะจะกลายเป็นการผูกขาด ประสิทธิภาพการแข่งขันลดลง มีเพียงร้อยละ 20 ที่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่าเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีขึ้น

6.การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก กรณีนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้สนับสนุนเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) 600 ล้านบาท กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

แต่ กกท. กลับนำสิทธิ์ต่างๆ ที่ได้ไปมอบให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทั้งที่บริษัทนั้นสมทบทุนมาเพียงร้อยละ 25 ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่ง ไม่เห็นด้วยเพราะผู้บริโภคควรมีช่องทางรับชมที่หลากหลาย นอกจากนั้นยังเห็นว่า กกท. ควรแบ่งสิทธิ์การถ่ายทอดสดให้ผู้ประกอบการอย่างเท่าเทียมกัน แต่ก็มีอยู่บ้างที่เห็นด้วยเพราะสะดวกในการเลือกช่องทางรับชมเพราะมีช่องทางเดียว

และ 7.การบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (หรือกฎหมาย PDPA) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 หลังเลื่อนการบังคับใช้มาในช่วงก่อนหน้า  สาระสำคัญคือการสร้างมาตรการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย ให้สิทธิ์กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และนำไปใช้ให้ถูกต้องกับวัตถุประสงค์ที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.7 ไม่เคยพบปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายนี้ แต่อีกร้อยละ 37.7 พบปัญหาเพราะไม่เข้าใจกฎหมาย

จากนั้นมีการให้ความเห็นจากหลายท่าน อาทิ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่า หากเป็นปัญหาระดับชาวบ้านทั่วไป ที่ผ่านมาตลอดทั้งปี 2565 แก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นปัญหาที่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า และมูลค่าความเสียหายรวมแล้วตั้งแต่หลักพันล้านถึงหมื่นล้านบาท แต่หากเป็นเรื่องโครงสร้างระดับตลาด ก็เป็นเรื่องผูกขาดการให้บริการซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาว โดยทั้งเรื่องควบรวมกิจการและการถ่ายทอดฟุตบอลโลก มีเสียงสะท้อนของประชาชนถึงทุนกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจนว่ามีพฤติกรรมหรือวิธีการในการจัดการธุรกิจในประเทศนี้อย่างไร

ขณะเดียวกันยังสะท้อนว่ารัฐไม่เท่าทันเอกชน จนประชาชนมองว่าหน่วยงานของรัฐกับเอกชนมีอะไรกันหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวในหลายกรณีเชื่อว่าไม่มี เพียงแต่ฉลาดไม่พอจนดูเหมือนต้องวิ่งตามเอกชนไปเรื่อยๆ ขณะที่เรื่องฟุตบอลโลกจอดำ ที่ผ่านมาบอกว่าแจกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลไป 100% แต่เหตุใดมีคนเพียงร้อยละ 50 ที่ใช้กล่อง ส่วนอีกร้อยละ 50 ใช้จานดาวเทียม และที่ต้องเตรียมวางแผนกันต่อไปในอนาคต คือเรื่องสัญญาณ 5G เพราะหลังจากประมูลคลื่น 2600 Mhz และมีการติดตั้งเสาสัญญาณ ก็พบว่าจานดำบริเวณนั้นใช้งานไม่ได้

ดังนั้นหากจะมีการนำคลื่น 3500 Mhz หรือคลื่นดาวเทียม C-Band มาประมูล 5G จะทำให้จานดำทั้งประเทศดูไม่ได้เว้นแต่จะเปลี่ยนกล่องรับสัญญาณดาวเทียมใหม่ จึงต้องมาวางแผนกันว่าจะเตรียมแจกกล่องใหม่เมื่อใด ซึ่งไม่ใช่การแจกในวันนี้เพราะอีก 2 ปีก็จะดูไม่ได้อีก ดังนั้นในระยะยาวต้องคิดว่าประเทศไทยยังควรมีจานดำหรือไม่ หากให้มีก็ต้องคิดต่อไปว่าจะเป็นจานดำแบบไหนอย่างไร เช่น เข้ารหัสได้ ไม่ไปกวนกับสัญญาณ 5G การตั้งเสาสถานี ฯลฯ

ส่วนเรื่องที่อ้างคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ทำให้บางช่องทางไม่สามารถรับชมฟุตบอลโลกได้ อีกมุมหนึ่งคำสั่งศาลเป็นเรื่องปลายน้ำ แต่ต้นทางคือการไปมอบสิทธิ์การถ่ายทอดให้เอกชน ทั้งที่สิทธิ์นั้นใช้เงินของรัฐไปซื้อมาโดยอ้างว่าต้องให้ทุกคนได้ดู หากไม่มอบสิทธิ์ศาลจะตัดสินอย่างนั้นหรือไม่ นอกจากนั้นยังต้องบอกว่า ไม่มีวิธีการพิเศษในการจัดการปัญหาให้จบแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกหรือ SMS หลอกลวง เพราะเป็นปัญหาทับซ้อนเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย และมีกฎหมายหลายฉบับ

เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แรกๆ มิจฉาชีพใช้การโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ตซึ่งไม่มีเลขหมายเรียกเข้า กสทช. ก็ออกมาตรการให้ใส่เครื่องหมาย +698 มิจฉาชีพก็หันไปใช้การปลอมแปลงด้วยการโทรศัพท์ด้วยเลขหมายที่ใช้ในไทยแต่เป็นการโทรศัพท์จากต่างประเทศ กสทช. ก็ไปออกมาตรการให้ใส่เครื่องหมาย +697 หรือ +698 กับหมายเลขเหล่านี้ และต่อมามิจฉาชีพก็ใช้วิธีโทรศัพท์ด้วยซิมการ์ดจากบริเวณแนวชายแดน ดังนั้นจะเห็นว่าไม่มีวิธีใดจัดการให้จบในครั้งเดียว และยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าไปช่องโหว่ก็ยิ่งมากขึ้น

ดังนั้นหากเรียกร้องให้รัฐจัดการก็ต้องให้มีการบูรณาการกันเพราะหน่วยงานเดียวทำไม่ได้ คำถามคือหน่วยงานของรัฐในไทยบูรณาการกันได้ระดับนั้นหรือไม่ หรือต่อให้หน่วยงานของรัฐบูรณาการกันจริงๆ บางเรื่องก็ต้องใช้ความตระหนักรู้จากประชาชนผู้ใช้บริการด้วย โดยหากไปสำรวจความตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยไซเบอร์หรืออินเตอร์เน็ต แม้แต่เยาวชนก็จะบอกว่าคนที่ตกเป็นเหยื่อคือเพื่อนแต่ไม่มีใครคิดว่าตนเองจะเป็นเหยื่อ ด้วยความเชื่อว่าตนเองมีความรู้เท่าทัน ซึ่งทุกคนต่างมีอคติที่จะปกป้องตนเอง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วคนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ไม่ว่าของภาครัฐ ภาคการเมือง หรือภาคทุนก็ตาม

“แก้ปัญหาโดยรัฐภาคเดียวก็อาจไม่สำเร็จ ต้องแก้ปัญหาโดยภาคประชาชน แต่ภาคประชาชนก็ต้องตระหนักรู้ด้วยว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ไหน ถ้าประเมินว่าเรารู้เท่าทันหมดทุกอย่างเลย รู้ทันพรรคการเมืองทุกพรรค นักการเมืองทุกนามสกุล เจ้าสัวทุกตระกูล แล้วทำไมประเทศตกอยู่ในสถานการณ์ระดับนี้ เพราะจริงๆ เราไม่ได้รู้เพื่อไปผลักดันการแก้ปัญหา เหมือนคำถามง่ายๆ ที่เราสำรวจ ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม แต่ ณ จุดนี้ จริงๆ เราต้องเลิกถามคำถามและคำตอบแบบนี้ ต้องถามว่าถ้าควบรวมแล้วเราจะทำอย่างไรกับมัน

เราจะบอกให้ กสทช. สร้างผู้รับใบอนุญาตรายที่ 3 ขึ้นมาไหม รัฐจะมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนอย่างไร หรือประชาชนจะร่วมกันสร้างอำนาจต่อรองกับนายทุนที่พยายามจะผูกขาดเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นค่ายเขียว ค่ายแดง ค่ายฟ้า ได้อย่างไรไหม โดยสรุปผมรู้สึกว่าคำถามมันทำให้เราฉุกคิด แล้วเราต้องหาทางออกร่วมกันอย่างจริงจังด้วย และทำร่วมกันทั้งรัฐ ทั้งเอกชน และตัวเราเองนพ.ประวิทย์ กล่าว

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สิทธิผู้บริโภคถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ซึ่งจากทั้ง 7 เรื่องข้างต้นก็มีที่ไปถึง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เช่น การควบรวมกิจการระหว่าง True กับ Dtac แต่การที่ กสม. จะหยิบยกเรื่องใดขึ้นมาพิจารณา ในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายระบุว่าต้องไม่ใช่เรื่องที่เข้าสู่กระบวนการทางศาลแล้ว อย่างไรก็ตาม กสม. ยังมีช่องทางในการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยมองผลกระทบโดยเฉพาะกับกลุ่มคนชายขอบ อาทิ ค่าบริการจะแพงขึ้นหรือไม่ หรืออาจไม่มีการไปลงทุนในพื้นที่ห่างไกล แม้ทางสภาองค์กรผู้บริโภค จะนำเรื่องดังกล่าวไปฟ้องศาลปกครองแล้วก็ตาม

ส่วนเรื่อง SMS หลอกลวงและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ประชาชนก็คงต้องถามว่าเหตุใดหน่วยงานที่มีหน้าที่ถึงจัดการไม่ได้ โดยเฉพาะ SMS หลอกลวงหรือชักชวนให้เล่นการพนัน บรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ประชาชนเป็นลูกค้า ก็น่าจะมีมาตรการกรอง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าประเทศจะมีกฎหมายดีขนาดไหน หากผู้บริโภคไม่เข้มแข็งแม้มีกฎหมายก็ไร้ผล และต้องไม่ลืมเรื่องของทุนหรือผู้ประกอบการที่คาบเกี่ยวกับผู้ที่มีหน้าที่กำกับควบคุม ซึ่งประเทศไทยออกแบบกลไกมาดี แต่ในทางปฏิบัติมีปัญหา และไม่ได้ยึดหลักการตามที่กฎหมายกำหนด

“เราก็ใกล้จะเลือกตั้ง คือจริงๆ คิดว่าเรื่องทั้งหมดนี้มันไปเกี่ยวข้องกับการเมืองไม่มากก็น้อย แต่จริงๆ คิดว่ามากด้วย เพราะทุกสิ่งอย่างมันมาจากการเมืองหมดเลย อันนี้ก็เป็นโอกาสหนึ่งที่เราน่าจะควรมีการรณรงค์การเลือกตั้ง ที่จะทำให้ได้คนที่คิดว่ามันน่าจะไม่เป็นปัญหาซ้ำรอยเดิมที่จะเข้ามาอยู่ในสภา ซึ่งมันก็อาจจะไมได้ง่าย แต่ว่าการที่เชื่อมโยงให้ประชาชนเห็นว่า สิ่งที่มันเป็นปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบันมันเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร แล้วเราจำเป็นต้องช่วยกันทำให้การเมืองมันเรียกว่ามีคุณภาพ และมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่เดินซ้ำรอยเดิมอยู่ตลอดเวลา” น.ส.สุภัทรา กล่าว

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปี 2565 นี้มีเหตุการณ์สำคัญ คือการควบรวมกิจการระหว่าง True กับ Dtac ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันด้านโทรคมนาคมที่ปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการน้อยอยู่แล้วให้เหลือแต่แบบกึ่งผูกขาด ที่ผ่านมาเข้าใจว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค พยายามทำแทบทุกวิถีทางแล้ว ทั้งการฟ้องศาล การแถลงข่าว การรณรงค์ การเรียกร้องต่อ กสทช. แต่แทบจะไม่เกิดผลใดๆ เลย ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่มากเพราะกระทบต่อเศรษฐกิจและโครงสร้างด้านโทรคมนาคม ซึ่งสุดท้ายก็จะย้อนกลับไปส่งผลกระทบยังผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เคยเป็นกรรมการใน กสทช. มาก่อน เข้าใจข้อจำกัดของ กสทช. ที่ไม่เป็นเอกภาพและถูกกำหนดทิศทางด้วยเสียงข้างมากเสมอ แต่น่าเสียใจที่มติรอบนี้ของ กสทช. เป็นมติสีเทาที่ไม่ชัดเจน จึงใช้กลไกทางศาลช่วยให้ความเป็นธรรม ซึ่งศาลแม้รับเรื่องแต่ไม่นับเป็นเรื่องฉุกเฉิน นอกจาก กสทช. แล้ว รัฐบาลก็ไม่แสดงท่าทีอะไรทั้งที่กระทบโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่ปัญหาการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 แม้พลังของสังคมจะเรียกร้องได้ระดับหนึ่งแต่ก็ทำอะไรได้ไม่มากนัก จากเงินที่ใช้จากกองทุน กทปส. ไป 600 ล้านบาทแล้วอาจยังไม่ตอบโจทย์ อีกทั้งยังพบจอดำคือไม่สามารถรับชมการแข่งขันได้ ซึ่งสิ่งที่อยากฝาก กสทช. คือควรไปสำรวจว่ามีคนไทยกี่ครัวเรือนที่ยังไม่สามารถรับชมฟรีทีวีได้ ยังมีปัญหาจอดำอยู่ เพราะจอดำไม่ใช่เพียงผู้ที่ใช้ IPTV แต่ยังรวมถึงคนที่ใช้จานดาวเทียมขนาดใหญ่ที่เข้ารหัสไม่ได้ เงิน กทปส. ควรนำมาใช้เยียวยาคนกลุ่มนี้ เช่น แจกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นการใช้เงินที่ตรงกับวัตถุประสงค์ แต่สำคัญที่สุด แม้จะเป็น IPTV เมื่อออกอากาศฟรีทีวีก็ไม่ควรจอดำแต่แรก

ส่วนคำถามที่ว่าจะหาทางออกจากปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่อย่างไร เท่าที่มีโอกาสได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ในหลายพรรคการเมือง ทั้งที่อยู่ในฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคใหม่ๆ ที่เพิ่งตั้งขึ้น พบว่ามีแนวคิดที่เปิดกว้างและก้าวหน้า สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิพลเมือง แม้รายละเอียดจะต่างกันบ้างแต่ก็ยังมีความเหมือนกันอยู่ จึงมีความหวังกับคนกลุ่มนี้ ทำอย่างไรจะทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ลุกขึ้นมาเป็นแกนหลักได้ และเป็นคานถ่วงดุลกับคนรุ่นเก่าที่อาจจะเติบโตมาในระบบอุปถัมภ์

อีกด้านหนึ่ง สภาองค์กรผู้บริโภค คงต้องเตรียมตัวทั้งการจัดเวที มีข้อเสนอแนะ หรือเดินสายพูดคุยกับแต่ละพรรคการเมือง เพื่อให้ฝ่ายการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การเข้าถึง ราคาที่เป็นธรรม คุณภาพ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลทางดิจิทัลไม่ให้ถูกหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งนับวันจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนจะปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับ กสทช. อย่างไรโดยมองไปยังอนาคต เมื่อตลาดและระบบนิเวศเปลี่ยน กฎหมายที่มีอยู่เดิมเพียงพอหรือไม่ในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมการแข่งขัน ส่วนภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนคงต้องช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่จากพรรคการเมือง

“สิ่งที่เราจะต้องสู้มากๆ เลยคือระบบอุปถัมภ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบรวมโทรคมนาคมหรือบอลโลก เราก็เห็นเลยว่ามันเป็นปัญหาเดิมของประเทศไทยที่พยายามจะปฏิรูปมาหลายปีแต่ยังไม่สำเร็จ การที่เราต้องมี กสทช. เพราะว่าเราต้องการจะปฏิรูปสิ่งที่เรียกว่าระบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ นอกจากจะปฏิรูปไม่สำเร็จเรายังมาเจอทุนนิยมอภิสิทธิ์เข้าไปอีก เรียกว่าการมีกลไกที่มีอิสระจากการเมืองอย่าง กสทช. จะช่วยได้

แต่ว่ามันก็อาจจะไม่ใช่เป็นคำตอบ สุดท้ายมันอาจต้องกลับมาที่พลังของพลเมือง อันนี้ก็เห็นด้วยว่าจะต้องเข้มแข็งกว่านี้อีกเยอะเลย เพื่อที่จะคานถ่วงดุลและไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แต่พรรคการเมืองก็ควรจะมีนโยบายสิทธิผู้บริโภค สิทธิในยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นน.ส.สุภิญญา กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-