ยึดแนวปฏิบัติทำข่าวม็อบให้ปลอดภัย ประเมินหน้างาน ไม่เสี่ยงเข้าแนวปะทะ

สภาการสื่อฯ เน้นย้ำกอง บก.-นักข่าว ยึดแนวปฏิบัติ คู่มือ ทำข่าวม็อบให้ปลอดภัย หลังเกิดเหตุปะทะบ่อยครั้งในการชุมนุม แนะประเมินหน้างาน ไม่ควรเสี่ยงเข้าแนวปะทะ ถอดบทเรียนไม่ใช้สื่อมือใหม่ เลขาฯสมาคมนักข่าว เผยองค์การสื่อแนวร่วมทำงานเชิงรุก ประสานความช่วยเหลือทันที เสนอสื่อถกวิธีการทำงานในสถานการณ์ชุมนุมที่เปลี่ยนไป ไร้แกนนำ-ผู้ควบคุมสถานการณ์ นักวิชาการสื่อเสนอหาทางออกร่วมกันระหว่างสื่อ- ตำรวจ เพื่ออุดช่องว่างการทำงาน ป้องกันเกิดปัญหาซ้ำในอนาคต

     รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ตอกย้ำทำข่าวม็อบอย่างไร ให้ปลอดภัย” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์  ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ชาย ปถะคามินทร์ ผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการการสื่อสาร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

     สถานการณ์ชุมนุมที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง และบ่อยครั้งที่เกิดเหตุกระทบกระทั่ง ล่าสุดช่วงการประชุมเอเปคเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ม็อบราษฎรหยุดเอเปค ชุมนุมที่ลานคนเมือง เตรียมเคลื่อนขบวน และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัด จนเกิดเหตุปะทะ มีนักข่าวส่วนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ องค์กรวิชาชีพสื่อ จึงจำเป็นต้องตอกย้ำถึงแนวปฏิบัติ วิธีการทำข่าวการชุมนุม อย่างปลอดภัย ไม่ว่าสื่อหลัก สื่อโซเชียลมีเดีย สื่ออิสระ สื่อพลมือง ทั้งการสื่อสาร การรายงานในพื้นที่่ เพื่อความปลอดภัย และได้ข่าวดี

         สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งมีสมาชิก 51 สื่อ ครอบคลุมทั้ง สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวี สื่อออนไลน์ โดย ชาย ปถะคามินทร์ ผู้อำนวยการบริหาร ระบุว่า ทั้งสภาวิชาชีพ และองค์กรสื่อวิชาชีพ ได้มีแนวปฏิบัติงานของสื่อมวลชน ด้านการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ซึ่งเป็นคู่มือที่ทำมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ถ้ำหลวง 13 หมูป่า เมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีแนวปฏิบัติหลายสถานการณ์ หนึ่งในนั้นคือ เรื่องการทำข่าวเหตุจลาจล การชุมนุมที่มีลักษณะรุนแรง และอาจส่งผลให้เกิดอันตราย ที่เป็นโครงใหญ่คือการชุมนุมที่มีการยกระดับขึ้นมาจนเจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง ในประเทศไทยจะเป็นเรื่องทางการเมือง ส่วนเรื่องทางสังคม และวัฒนธรรมของเรายังไม่เคยปรากฏเหตุการณ์ลักษณะนี้

แนวปฏิบัติที่มีอยู่สอดคล้องสถานการณ์

     การชุมนุมทางการเมือง หากยกระดับความรุนแรงขึ้นมา ก็จะกลายเป็นเรื่องการจลาจล คู่มือการปฎิบัติงานในเรื่องนี้ ก็จะตรงกับหัวข้อ ทำข่าวม็อบอย่างไร ให้ปลอดภัย ที่กำลังคุยกัน โดยในแนวปฏิบัติจะพูดถึงตั้งแต่ผู้บริหารองค์กร ว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร เช่น การประเมินสถานการณ์ ถัดมาคือกองบรรณาธิการที่ใกล้ชิดกับผู้ปฏิบัติจะต้องพิจารณา ประเมินว่าการชุมนุมลักษณะนี้น่าจะยกระดับรุนแรงขนาดไหน คู่กรณี ผู้เกี่ยวข้องจะเป็นอย่างไร ดังนั้นการมอบหมายประเด็นข่าว ให้หัวหน้าข่าว ให้ผู้สื่อข่าว ที่ไปทำงานจะต้องขนาดไหน อย่างไร รวมถึงอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น เสื้อนิรภัย หน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตา 

     จากนั้นคือ การคัดเลือกผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งจะต้องมีประสบการณ์  การเข้าไปทำข่าวในลักษณะข่าวแบบนี้ต้องไม่ใช้มือใหม่หัดขับ ต้องมีความพร้อม มีความรู้ ความสามารถ และควรมีทัศนคติในการทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง เพราะการชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะในสถานการณ์ของเราช่วง 10 กว่าปีหลังที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องความเห็นต่าง เพราะฉะนั้น แม้ผู้สื่อข่าวจะมีความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไรก็ตาม แต่ในการรายงานข่าว ต้องรายงานอย่างเป็นกลาง ต้องไม่มีลักษณะการยั่วยุ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นชนวนก่อให้เกิดความรุนแรง หรือยกระดับมากยิ่งขึ้น

ร่วมกันประเมินสถานการณ์จากทุกระดับ

     ถัดจากกองบรรณาธิการ ก็คือผู้ปฏิบัติงานข่าว ซึ่งควรจะต้องเป็นผู้ประเมินหน้างานว่า เข้าไปรายงานข่าวแล้วมีความเสี่ยงหรือไม่ สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์พอสมควร อายุการทำงาน 5-10 ปี ก็จะยิ่งเชี่ยวชาญ หรือเก๋า จะอ่านสถานการณ์ออก เพราะคนหน้างานจะประเมินลักษณะเหตุที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งการรายงานข่าวจะปลอดภัยหรือไม่ในคู่มือแนวปฎิบัติก็ได้เขียนไว้ว่า ไม่ควรเข้าไปอยู่ในจุด ระหว่างกลุ่มผู้ก่อการจลาจล และเจ้าหน้าที่รัฐ 

     สำหรับปัจจุบันการรายงานข่าว ที่ต้องใช้โทรศัพท์มือถือไลฟ์สด ผู้ที่อยู่หน้างานก็ต้องประเมินด้วยว่า ถ้าไปอยู่ตรงนั้นปลอดภัยหรือไม่ การอยู่ตรงกลางระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน สองฝ่ายประทะกัน ย่อมมีโอกาสสุ่มเสี่ยงมาก นอกจากนี้ ขณะที่การยืนอยู่ตรงกลาง ยังต้องคำนึงถึงเนื้อหาที่สื่อสารออกไป แม้จะตรงกับข้อเท็จจริง แต่บางทีก็อาจทำให้บางฝ่ายเข้าใจว่าไม่เป็นกลางหรือไม่ 

     ทั้งนี้่ การกำหนดพื้นที่รายงานข่าว ควรจะร่วมกันประเมินระหว่างกองบรรณาธิการ ผู้สื่อข่าวที่อยู่หน้างาน โดยเฉพาะการรายงานแบบไลฟ์สดเหตุการณ์ 

ข้อตกลงองค์กรสื่อ-ตำรวจ

     นอกจากนี้ ในการประสานทำความเข้าใจกับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ตัวแทน 6 องค์กรสื่อ เคยเข้าพบผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อหารือ ทำความเข้าใจ ถึงการทำหน้าที่ พื้นที่ปลอดภัย การใช้ปลอกแขนสัญลักษณ์ โดยล่าสุดเมื่อช่วงมิถุนายน 2565 ในการพูดคุยทางฝ่ายตำรวจ ได้ยกกรณี เรื่องการใช้คำพูดที่เป็นการยั่วยุ ซึ่งอาจจะทำให้สถานการณ์บานปลายขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ ก็มีในคู่มือว่า ควรระมัดระวังการรายงานข่าว การใช้คำพูดเรียกกลุ่มผู้ชุมนุม การรายงานจำนวนผู้ชุมนุม

     อย่างไรก็ตามสำหรับสมาชิกสภาการฯ ซึ่งเป็นองค์กรสื่อ เชื่อว่ากองบก.ส่วนใหญ่ทราบ และผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ก็ทราบ แต่บางทีการไลฟ์สด ก็มีโอกาสสุ่มเสี่ยง เรามีทั้งแนวปฏิบัติ รวมถึงต้องคำนึงถึงข้อกฎหมาย ซึ่งไม่รับรู้ไม่ได้ และกอง บก.ก็ควรจะต้องตีกรอบเรื่องพวกนี้ด้วย ก็เป็นเรื่องที่ บก.ทราบอยู่แล้ว คงไม่ใช่ต้องบอกทุกเรื่องทุกเวลา เป็นเรื่องที่เขาต้องเรียนรู้ด้วย

ถอดบทเรียนไม่เสี่ยงใช้สื่อมือใหม่

     ขณะที่ผู้ดำเนินรายการ ณรงค สุทธิรักษ์ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถึงการทำข่าวในยุคอดีต เทียบกับยุคนี้ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดที่เคยใช้อุปกรณ์ ตั้งแต่รถถ่ายทอดสด กล้องทีวีขนาดใหญ่ สายกล้องที่ยาวอย่างจำกัด รวมถึงการจัดทีมภาคสนาม โดยมีตั้งแต่ บก.ภาคสนาม มีอุปกรณ์ เครื่องมือครบ สำคัญที่สุด จะไม่ใช้ผู้สื่อข่าวมือใหม่หัดขับ ที่ไม่มีประสบการณ์เลย เพราะเกรงว่าหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จะตอบพ่อแม่เค้าไม่ได้ว่า ส่งลูกเค้าไปแล้วเกิดอันตราย เพราะฉะนั้น เราก็จะใช้มืออาชีพตลอด 

     กระบวนการทำงาน จะมีการสั่งการของ บก.กับนักข่าวสนาม บก.เวรที่อยู่ในสถานีจะประสานงานกันตลอด และในกอง บก.ไม่ได้ มีแค่ บก.เวร แต่ยังมีกอง บก.ที่ประเมินสถานการณ์ว่า ณ เวลานั้น ที่กำลังเกิดเหตุการณ์ ควรจะทำอะไร อย่างไร แบบไหน และสั่งการไปที่บก.สนาม อีกประการนักข่าวที่ลงไปรายงานข่าวในพื้นที่ต้องมีวินัยมาก ถึงเวลาบอกให้ถอยต้องถอย บอกให้มูฟ ให้ลุยต้องลุย สมัยก่อนเป็นแบบนี้ แต่มาในยุคนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มือถือเครื่องเดียวก็ไลฟ์สดได้แล้ว

ภาคสนามต้องประเมินหน้างาน-อย่าเสี่ยง

     ผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อฯ ได้อัพเดตความคืบหน้า กรณีผู้สื่อข่าวที่ได้รับผลกระทบจากการทำข่าวช่วงชุมนุมเอเปคว่า องค์กรที่เกี่ยวข้องกำลังหารือกันอยู่ โดยมีการแลกเปลี่ยนแนวคิด พร้อมทั้งเน้นย้ำองค์กรสมาชิก และผู้สื่อข่าวถึงแนวปฏิบัติ การรายงานข่าว ต้องระมัดระวัง คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบัน การรายงานข่าวมักจะต้องไลฟ์สด โดยส่วนตัวเห็นว่ามีความสูงซึ่งการชุมนุมทางการเมืองของเรา มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้บ่อย 

          แม้จะบอกว่า เรามีสิทธิรายงานก็จริง แต่เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง บางทีเกิดขึ้นปุบปับ ไม่รู้ที่มาที่ไป ฉะนั้นคนที่อยู่หน้างานต้องประเมินเพราะแม้จะมีสิทธิและเสรีภาพในการทำข่าวก็จริง แต่เหตุการณ์รอบด้านก็อยู่ที่ตัวเราต้องระมัดระวัง หากเห็นว่าเสี่ยง ควรถอยออกมาก่อนดีไหม หรือห่างนิด ไม่ต้องถึงขนาดไปจ่ออยู่ข้างหน้า ขนาดเห็นจะจะ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องประเมินเอง

     เช่นเดียวกับ อุปกรณ์ป้องกัน เข้าใจว่าแต่ละสื่ออาจจะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ แต่สำหรับอุปกรณ์ในการทำงานที่ใช้มือถือถ่ายภาพไลฟ์สด ซึ่งอยากได้ภาพที่ให้อารมณ์ โดยพยายามเข้าไปใกล้ที่สุดเท่าที่จะใกล้ได้ ถ้าเกิดเหตุแล้วอาจหลบไม่ทัน ถ้าเป็นการประเมินของหน้างานของผู้สื่อข่าวอยากจะได้ภาพอย่างนั้น และถ้ากอง บก.สั่งมาอย่างนั้น กองก็ควรประเมินสถานการณ์ว่า มีความสุ่มเสี่ยงในการปะทะหรือไม่ โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นมันจะโอเคไหม ถ้ากองบก.สั่งให้ไปได้ ถ้าเกิดเรื่องอะไรขึ้น เรื่องนี้ก็สอนกันอยู่ว่า จะเอาข่าวอย่างเดียวไม่ได้ นักข่าวก็ต้องประเมินด้วยว่า ถ้ากอง บก.สั่งให้เอาให้ได้ ถ้าเข้าไปจะบาดเจ็บ เราต้องรู้ว่าแค่ไหนทำได้ ไม่ใช่ต้องเข้าไปแล้วเอามาให้ได้ แล้วบอกว่าเป็นนักข่าว 

หาทางออกร่วมกัน แทนหาใครผิดใครถูก

     เพราะถึงแม้จะเคยมีข้อตกลงเรื่องปลอกแขนร่วมกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า นั่นคือเกราะที่จะป้องกันคุ้มกันเรา เพราะสัญลักษณ์ปลอกแขน เจ้าหน้าที่จะทราบว่านี่คือสื่อ เพื่อจะระวัง แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการชุมนุมที่ผ่านๆ มา

     การหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาแลกเปลี่ยน ไม่ใช่สรุปว่าใครทำถูกหรือไม่ถูก เราจะย้ำว่าแนวปฏิบัติ หรือหลักในการทำข่าวชุมนุมทุกวันนี้สมาคมวิชาชีพ และสภาวิชาชีพ มีอยู่ และมีการอบรมให้ความรู้กันมาโดยตลอด แต่ทุกครั้งที่มีเหตุชุมนุมขึ้นมา ก็มีเรื่อยๆ สุดท้ายก็ต้องไปฟ้องร้องกันถึงศาล ถ้าเราป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้น เพราะสุดท้ายพอเหตุการณ์จบ เราก็จะมานั่งทะเลาะกัน มาหาว่าใครผิดใครถูก แบบที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ เวลานี้

     ขณะที่ ณรงค สุทธิรักษ์ ระบุด้วยว่า หากเทียบกับ การโดยสารเครื่องบินที่เจ้าหน้าที่จะสาธิตการใช้อุปกรณ์บนเครื่องบิน โดยเฉพาะหน้ากากออกซิเจน ที่จะตกลงมาอัตโนมัติ กรณีที่ความกดอากาศไม่ปกติ และมีคำแนะนำว่า ให้สวมหน้ากากให้ตัวเองก่อน จากนั้นจึงจะสวมให้กับคนที่อยู่ในความดูแลของตัวเอง นั่นก็คือ ถ้าตัวเองไม่รอดแล้ว คนที่ตัวเองดูแลจะรอดได้อย่างไร ฉันใดก็ฉันนั้น การทำข่าวก็เช่นกัน เมื่อผู้สื่อข่าวมีหน้าที่รายงานข่าวให้สังคมได้รับรู้ หากเป็นอะไรขึ้นมา ก็ไม่สามารถจะรายงานได้ สังคมจะรับรู้ได้อย่างไร ฉะนั้นกรณีที่เราไปอยู่ในเหตุการณ์ใด เพียงลำพังคนเดียว จำเป็นต้องรายงาน และมีความเสี่ยง จนหมดโอกาสที่จะรายงานหรือไม่

องค์กรสื่อเชิงรุกติดตามช่วยเหลือทันที

     ด้าน เลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ จีรพงษ์ ซึ่งเคยเป็นวิทยากรหลักในการอบรมหลักสูตรเซฟตี้เทรนนิ่งสำหรับผู้สื่อข่าวใหม่มาหลายต่อหลายรุ่น อัพเดตสถานการณ์ที่มีผู้สื่อข่าวบาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะในการชุมนุมวันที่ 18 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นสื่อจากสำนักข่าวต่างประเทศ และสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งว่า ทั้งสมาคมนักข่าวฯ และองค์กรวิชาชีพสื่อ ได้คุยกันตั้งแต่ทันทีที่เกิดเหตุ และติดตามสถานการณ์เมื่อเกิดเหตุขึ้นทันที โดยได้สอบถามไปยังผู้สื่อข่าวเอง และต้นสังกัด เพื่อขอข้อมูล สถานการณ์แวดล้อม สอบถามจากเพื่อนที่ลงพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านที่สุด ว่าเกิดอะไรขึ้น

     ในขณะนั้นสมาคมนักข่าวฯ ปรับตัวชนิดที่ว่า ไม่ได้ตั้งรับแล้ว ไม่รอให้เกิดเหตุข้ามวัน แล้วถึงจะมีท่าที แต่เวลาที่เกิดเหตุ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อของสมาคมนักข่าวฯ ก็ได้แอ็คชั่นทันทีไปยังตำรวจ เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าเกิดอะไรแน่ ในเรื่องขั้นตอน การปฎิบัติงาน เป็นไปตามที่เราตกลงกันไว้หรือไม่ ในช่วงของที่เราไปเจรจาเรื่องการทำปลอกแขนสำหรับนักข่าว เมื่อช่วงที่มีการชุมนุมใหญ่ซึ่งสมาคมนักข่าวรวมทั้งองค์กรสื่อ ได้ร่วมกันทำปลอกแขน และได้หารือกับตำรวจถึงวิธีการปฏิบัติ หากจะมีการสลายการชุมนุม หรืออะไรก็ตาม จะแจ้งเตือนเพื่อจะได้ออกจากพื้นที่ ซึ่งก็ได้มีแถลงออกไป เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่ง

     หลังจากนั้น จนกระทั่งตอนนี้ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ก็ยังติดตามเรื่องคดีความนักข่าวที่ได้รับบาดเจ็บ เพราะเรามีเอ็มโอยูกับสภาทนายความฯ ที่จะให้ความช่วยเหลือในทางคดีสื่อมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิกของสมาคมนักข่าวฯ โดยจะมีทนายจากสภาทนายความ มาดูแลตรงนี้เ ก็ได้ประสานกันเรื่องความช่วยเหลือ 

     หลังจากเกิดเหตุ มีอยู่ 2 ส่วนคือ ตำรวจก็สอบสวนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และผู้เสียหายก็ไปร้องกรรมาธิการ (การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้ คาดว่าน่าจะเชิญผู้แทนองค์กรสื่อเข้าไปให้ข้อมูล ถึงวิธีการทำงานของนักข่าวในพื้นที่ชุมนุม

     เลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ ได้อธิบายถึง เรื่องปลอกแขนสัญลักษณ์ว่า เพื่อเป็นการยืนยันกับทางตำรวจและนักข่าวเองว่า ปลอกแขนเป็นเพียงแค่เครื่องบอกฝ่าย ว่าฝ่ายว่าเราเป็นสื่อมวลชน แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะเข้าสถานที่ไหนก็ได้ อันนี้เป็นที่รู้กันแล้ว 

เสนอสื่อถกวิธีการทำงานในสถานการณ์ที่เปลี่ยน

     อีกเรื่องคือ วิธีการทำงานของสมาคมนักข่าวฯ ไม่สามารถไปกำหนดทุกองค์กรได้ แต่สิ่งที่อยากชวนคุย คือรูปแบบวิธีการทำงาน ในสถานการณ์ชุมนุม ที่ปัจจุบันต่างจากแต่ก่อนมาก เมื่อก่อนเราจะรู้ว่าแกนนำคนไหนดูแลการ์ด ตำรวจนายไหนเป็นผู้ดูแลเหตุการณ์ เวลาเกิดเหตุนักข่าวจะรู้ว่าต้องคุยกับใคร แต่ปัจจุบันสองส่วนนี้้หายไป

     ดังนั้น เราต้องมาชวนคุยกันเรื่องการทำงานอีกสักรอบหรือไม่ เพราะกับจำนวนสื่อที่มีประมาณ 2,000 คน ที่ลงทะเบียนขอปลอกแขนไป แต่เวลาเกิดเหตุ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วน้อย อย่างไรก็ตาม จะทำอย่างไรให้เราเข้าใจตรงกันในการทำข่าวในพื้นที่ชุมนุม แม้จะกำหนดเป็นนโยบายของแต่ละที่ไม่ได้ แต่สิ่งที่ชวนคิด คือการไลฟ์สด โฟกัสของผู้ที่ไลฟ์ อยู่ที่มือถืออย่างเดียวโดยไม่ได้ดูรอบด้านว่า เกิดอะไรขึ้น กับอีกประเภทหนึ่ง เลือกที่จะไลฟ์สด แต่อยู่มุมไกลหน่อย เพื่อให้เห็นสถานการณ์โดยรวม

     ในส่วนของตำรวจเอง ก็อาจจะคิดว่าเป็นเอเปค ไม่ใช่การนัดชุมนุมใหญ่เหมือนก่อนหน้านี้ จึงส่งตำรวจ ชุดที่ไม่มีประสบการณ์มายืนแถวกัน ดังนั้นความต่อเนื่องที่จะยึดมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ของตัวเองในการทำงานก็อาจจะหย่อนลงไปหรือไม่ อันนี้ก็เป็นจุดสังเกตถึงวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ หากตนเป็น บก.ถ้าเห็นว่าไม่ปลอดภัยก็จะบอกให้นักข่าวออกมาก่อน เพราะสถานการณ์สุ่มเสี่ยง ต่อให้มีหรือไม่มีปลอกแขน ก็ต้องปลอดภัยไว้ก่อน เพราะไม่มีใครสามารถการันตีได้ ว่าวิถีกระสุนยาง หรือก้อนอิฐต่างๆ จะไม่มาโดนเรา ฉะนั้นเซฟตัวเองให้ดีที่สุด อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องกลับมาคุยกัน แล้วตั้งคำถามถึงวิธีการทำงานของกองบก.แต่ละแห่งด้วยว่า เราอาจจะต้องมาถ่ายทอดวิธีการทำงานให้กันและกันก็ได้

เน้นย้ำปลอกแขนแค่สัญลักษณ์บอกฝ่าย

     “สิ่งที่อยากจะย้ำว่า การมีหรือไม่มีปลอกแขนที่เป็นสัญลักษณ์บอกฝ่าย สามารถเข้าไปทำข่าวได้ตามปกติ แต่สิ่งที่ต้องรู้ต่อไปคือ การมีปลอกแขนไม่สามารถการันตีได้ว่า คุณจะโดน หรือไม่โดนอะไรในที่เกิดเหตุ เพราะมีทั้งส่วนของกองบรรณาธิการข่าวเอง ที่จะต้องมีวิจารณญาณ และมีวิธีการที่เหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ ด้วย” จีรพงษ์ ระบุ

     ขณะที่นักวิชาการด้านสื่อ ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร มีมุมมองต่อการหาทางออกร่วมกันระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะอย่างนี้ขึ้นมาอีกว่า การแสดงตนเป็นผู้สื่อข่าวด้วยสัญลักษณ์ เช่น ปลอกแขน ก็จะทำให้ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐทราบ บางทีผู้สื่อข่าวอาจแต่งกายที่ใกล้เคียงกับผู้ชุมนุม อาจได้รับการบาดเจ็บได้ 

     ดังนั้นควรแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ให้คนทั่วไปจะสามารถแยกได้ว่า ส่วนไหนเป็นสื่อมวลชน ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ อาจทำให้ปัญหาการได้รับบาดเจ็บลดน้อยลง และการที่สื่อมวลชนไปทำข่าวและอยู่ในจุดที่ล่อแหลม ก็จะต้องมีทักษะในการระมัดระวังว่าจุดไหนที่ล่อแหลมและมีความเสี่ยง

     ทักษะในการลงพื้นที่ภาคสนาม ผศ.ดร.สิงห์ มองว่า ในส่วนของการอบรมของสมาคมนักข่าวฯ มีการอบรมจำนวนค่อนข้างมาก มีนักข่าวเพียงหนึ่งคนที่ได้ผ่านการอบรม และได้รับบาดเจ็บ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ 

แนะจนท.-สื่อร่วมหาทาง อุดช่องว่าง

     สำหรับกรณีผลกระทบต่อผู้สื่อข่าวที่บาดเจ็บ ไม่ว่าผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงออกมาในทางไหน อาจจะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยทั้งสิ้น ในฐานะนักวิชาการทำอย่างไรถึงจะประนีประนอมได้ ผศ.ดร.สิงห์ ระบุว่า ต้องเข้าใจว่าในการปฎิบัติหน้าที่ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและสื่อมวลชนเองก็มีแนวปฏิบัติของตัวเอง เป็นกรอบในการทำงาน ก็ต้องมาดูกันต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะช่องว่างของการปฏิบัติของทุกฝ่ายหรือไม่ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุครั้งนี้ขึ้นมา 

     หากเกิดจากช่องว่างตรงนี้ ทั้งสองหน่วยงาน ผู้ที่รับผิดชอบ ควรจะต้องคุยกันว่า ไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้นอีก ซึ่งแนวทางร่วมกันไม่ว่าผลจะออกมาเป็นทางซ้ายหรือขวาก็ตาม เราควรมาดูแนวปฏิบัติ กฎระเบียบ ของทั้งสองฝ่าย แล้วมาดูตรงกลาง ถ้าเกิดช่องว่าง และปิดช่องว่างตรงกลางร่วมกัน ต้องหาจุดร่วมกันและเดินร่วมกันให้ได้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถทำงานร่วมกันได้ในอนาคต จะได้ไม่เกิดปัญหาขึ้นอีก ต้องให้ทั้งสองส่วนนี้ได้จับเข่าคุยกัน 

หาทางป้องกัน-ความปลอดภัยทุกฝ่าย

     ทั้งนี้ หากจะการจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว ก็อยากให้มีสัดส่วนของผู้รับผิดชอบในส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาพูดคุยด้วยว่า เกิดอะไรขึ้น ก็จะทำให้เกิดน้ำหนักที่เท่าเทียมกัน  เหตุการณ์เกิดขึ้น การที่เราจะไปบอกว่าใครผิดใครถูก ตนมองกลับไปว่า ถ้ามีผู้ได้รับบาดเจ็บเราควรจะช่วยเหลือและเยียวยา จะทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ที่จะปกป้องทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และสื่อมวลชนเอง เป็นสิ่งสำคัญมากกว่า

     สิ่งที่องค์กรต้องการอยู่แล้ว เป็นการเซฟบุคคลากร สิ่งสำคัญสำหรับสื่อมวลชน ถ้าเราไปทำข่าวแล้วเกิดผลกระทบกับตัวเอง ข่าวนั้นก็อาจจะไม่ได้เป็นข่าวที่ดี

+++++++++++++++++++++

คู่มือการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนด้านการสื่อสารในภาวะวิกฤต