รองโฆษกรัฐบาลชี้ผลประชุมเอเปครัฐบาลดึงความร่วมมือทุกภาคส่วน ทำให้เวทีประสบความสำเร็จ ไทยได้โชว์ศักยภาพ เป็นประโยชน์ระยะยาว รับต้องปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเมื่อเนื้อหาวิชาการเข้าใจยาก เข้าไม่ถึง พอใจสื่อใน-สื่อนอกเผยแพร่ข่าวรอบด้าน ส่วนนักวิชาการด้านเศรษฐกิจ ชี้ประชาชน-นักวิชาการ มองเป็นเรื่องไกลตัว แนะการนำเสนอสารัตถะเนื้อหาเอเปคต้องลุ่มลึก ด้าน“สื่ออาวุโส”วิพากษ์ปัญหารายงานข่าวของสื่อไทย หากทำการบ้านมีประเด็นขยายมากมาย หนุนพัฒนาความรู้ กองบก.ต้องเข้มแข็ง เกาะติดต่อเนื่อง ให้คะแนนพีอาร์ “ผู้นำไทย” แค่ศูนย์
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ปิดฉากแบบงงๆ ตกลง เอเปค คืออะไร” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจ และการเมือง กวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส และประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
ปิดฉากการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ครั้งที่ 33 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย ตลอดทั้งปี 2565 และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ปิดท้ายในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 21 เขตเศรษฐกิจ
ดร.รัชดา ธนาดิเรก กล่าวถึงความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยว่า เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อจัดงานนี้ให้เป็นศักดิ์ศรีของชาติบ้านเมืองและเกิดประโยชน์ตามมาในระยะยาว รวมถึงสื่อมวลชนที่ร่วมประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ ทั้งสื่อในประเทศ และสื่อต่างชาติที่ให้ความสำคัญมาก ทำให้การจัดงานครั้งนี้ ไม่ใช่รับรู้เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่สื่อจากชาติอื่นๆ ด้วย เพราะเป็นเวทีระดับโลก
ทำให้ได้รู้ว่าเรากำลังขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางไหน ศักยภาพของเราเป็นอย่างไร รวมถึงซอร์ฟพาวเวอร์ ที่เป็นประเด็นที่เราพูดกัน แม้จะไม่ได้เป็นประเด็นที่พูดคุยกันบนโต๊ะของผู้นำเขตเศรษฐกิจ แต่เราได้จัดนิทรรศการที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ให้สื่อกว่า 1,000 คน รวมถึงผู้เข้าร่วมประชุม ภาคธุรกิจต่างๆ ได้เห็นศักยภาพของภาคเอกชนไทย เศรษฐกิจ BCG (Bangkok goals on BCG Economy) ความงดงามเรื่องอาหารวัฒนธรรม ซึ่งเราเอาไปโชว์หนึ่งสัปดาห์เต็มๆ คนที่ไม่ได้ไป อาจจะไม่ทราบ แต่คนที่ได้ไปอยู่ตรงนั้น จะรู้ดีว่าสื่อต่างชาติให้ความสนใจ และทำข่าวเสนออีกมากมาย
อีกทั้งยังมีผลพลอยได้จากการจัดประชุมครั้งนี้ ด้านการท่องเที่ยว ที่ผู้นำฝรั่งเศส อย่างประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง เป็นพรีเซนเตอร์กิตติมศักดิ์ ตั้งแต่ไปชมมวยไทย ทานอาหารที่เยาวราช ไปวัดโพธิ์ สิ่งเหล่านี้ก็เผยแพร่ไปยังประเทศเค้า และคนติดตามอีกหลายล้านคนในทวิตเตอร์ ส่วนหนึ่งก็ได้เห็นความงดงามตรงนี้ด้วย ซึ่งในนิทรรศการส่วนหนึ่งพูดถึงการท่องเที่ยว ที่เราผลักดัน
รัฐสื่อสารข้อมูลมากแต่อาจไปไม่ถึง
อย่างไรก็ตาม แม้จะปิดฉากเอเปคไปแล้ว แต่ก็ยังมีคำถามจากคนไทยจำนวนไม่น้อย ว่าปิดฉากแบบงงๆ ตกลงเอเปค คืออะไร รู้แต่ว่าหยุด 3 วัน แล้วข่าวก่อนประชุม มีเพียงแค่ใครจะมา ไม่มา ระหว่างการประชุมก็มีเรื่องกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม หากจัดประชุมลักษณะนี้อีก จะทำอย่างไรในการสื่อสารข่าว ให้คนในสังคมส่วนใหญ่ได้รับรู้ ดร.รัชดา อธิบายว่า การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเอเปคผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ และทำเนียบรัฐบาล ซึ่งการส่งออกข้อมูลเราทำกันเยอะมาก แต่ก็เข้าใจผู้บริโภคว่าเนื้อหาที่เป็นวิชาการ เป็นข้อตกลง เป็นแผนในอนาคต ที่ฟังแล้วไม่สนุก มันไม่สามารถคำนวณมาเป็นตัวเลขที่เป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวัน ปัจเจกบุคคล ตรงๆ ก็ยากที่ประชาชนจะเข้าใจ
ในส่วนของคนให้ข้อมูลกระจายข้อมูล เราก็ทำเต็มที่ กรมประชาสัมพันธ์ก็ทำคลิปว่า เอเปคครั้งนี้ประชาชนจะได้อะไร มีการนำเพลงผู้ใหญ่ลี พ.ศ. 2504 มาปรับให้เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการประชุมเอเปคและเชิญนักร้องลูกทุ่งชื่อดังมาขับร้อง เนื้อหาจับต้องได้ง่าย แต่คนก็ไม่แชร์ อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งของการสื่อสารภาครัฐ แต่ก็รับฟัง เมื่อสิ่งที่เราอยากให้ประชาชนรับทราบ แต่เค้ายังรับทราบไม่หมด ก็ต้องขยายความกันต่อไป
มั่นใจว่าจากวันนี้เป็นต้นไป คนเห็นภาพชัดขึ้นแล้วว่า การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกแบบนี้ ที่สุดสิ่งที่เราได้คือชื่อเสียงของประเทศไทย ได้เห็นถึงศักยภาพของการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลก ซึ่งไม่ได้มีแค่เฉพาะผู้นำประเทศและรัฐมนตรีเท่านั้น มีฟอรั่มที่จัดแยกออกมาจากที่ประชุมเอเปก ภาคเอกชนก็มีเวทีของเขาเวทีของเขา จากนี้ไปการประชุมระดับโลกก็ต้องนึกถึงประเทศไทย เราพร้อมหมด ซึ่งเป็นเรื่องในระยะต่อไปที่เราจะมุ่งเศรษฐกิจดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะมาจัดงานประชุม ทั้งกรุงเทพ เชียงใหม่ ภูเก็ต
โชว์บทบาทของไทยในเวทีเศรษฐกิจโลก
ผลของการประชุม ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของประเทศไทยในเวทีเศรษฐกิจโลก ว่าเราสามารถเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สองปีที่ผ่านมา ไม่ได้มารวมหัวกันคิดแบบนี้ วันนี้ประเทศไทยใช้โอกาสแบบนี้ ที่จะโชว์ทิศทางในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เราจึงได้ข้อสรุปเป้าหมายกรุงเทพฯ วันนี้ครบทุกมิติ และครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ยังพ่วงถึงการโชว์ศักยภาพของผู้ประกอบการไทย มีการพบปะกันระหว่างนักธุรกิจ เดี๋ยวก็ได้เห็นว่าประเทศไทย เดินหน้าในเรื่องนี้อย่างไร น่าลงทุนแค่ไหน ถ้าไม่มีเวทีตรงนี้ก็คงไม่ได้รู้กันอย่างกว้างขวาง
การเตรียมการจัดเอเปคมาตั้งแต่ปี 2563 แต่เป็นไปได้หรือไม่ ที่การส่งผ่านข้อมูลไปถึงประชาชนถูกส่งไปในช่องทางที่ประชาชนไม่ได้ติดตาม จึงนำมาสู่คำถามว่า ตกลงเอเปกคืออะไร ดร.รัชดา กล่าวว่า การยกระดับเรื่องการสื่อสารของภาครัฐ คงไม่มีวันจบ เราต้องยกระดับไปเรื่อยๆ ต้องมุ่งมั่นต่อไป ตัวเนื้อข่าวเอง ความน่าสนใจก็ไม่เท่ากับข่าวที่เค้าส่งต่อๆ กัน ทุกวันนี้ นอกจากเรื่องชิม ช็อป ใช้ ที่มีพลัง อยากจะช่วยกันแชร์โดยธรรมชาติของโซเชียลมีเดีย
ประชาชนคือสื่อ-รัฐก็ต้องปรับปรุง
วันนี้ประชาชนก็คือสื่อด้วย เป็นผู้ผลิตสื่อ และผู้กระจายข้อมูล มีบทบาทเข้มแข็งเช่นเดียวกับสื่อหลัก ทีวีช่องต่างๆ แพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ด้วยเนื้อหาของสิ่งที่ภาครัฐกำลังคุยกับประชาชน บางเรื่องถ้ามันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับประโยชน์ที่เห็นตรงหน้า เกิดขึ้นทันทีง่ายๆ มันก็มีพลังในการส่งต่อ แต่ถ้าเป็นเรื่องวิชาการ ต้องใช้เวลา กว่าจะเห็นผล หรือต้องอธิบายหลายท่านพูดสั้นๆ ก็ไม่เข้าใจ คนก็ไม่เข้าใจ
อีกไฮไลต์หนึ่ง ถ้าเชื่อมโยงถึงประโยชน์ที่ควรจะได้ คือการผลักดันให้มีเขตการค้าการลงทุนเสรี ที่พูดกันมา 10 ปีแล้วก็ยังไม่ไปไหน บอกแบบนี้แล้วประชาชนอาจจะไม่รู้ว่า ประโยชน์มันคืออะไร ถ้าการขับเคลื่อนจากประเทศไทยในวันนี้แล้ว อีก 4-5 ปีข้างหน้า สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ประเทศไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปยังอีก 20 ประเทศที่มีประชากร กว่า 2,900 ล้านคน เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยไม่มีกำแพงภาษีและกำแพงการค้าอื่นๆ
ก็ต้องค่อยๆ อธิบายไป ไม่สามารถเบ็ดเสร็จได้ภายในประโยคเดียว หรือในติ๊กต่อก ข่าวในช่องหลักๆ เองก็ให้เวลากับเรื่องเหล่านี้น้อยมากเทียบกับข่าวสังคมแล้ว ชาวบ้านจะเข้าใจได้อย่างไร ไม่ได้ตำหนิสื่อแต่ภาครัฐเป็นการสื่อสาร การปรับปรุงเราก็ต้องทำมันมีพื้นที่ให้เราแก้ไขปรับปรุงไม่จบไม่สิ้น แต่ก็ต้องไปคู่กัน เพราะทุกวันนี้ ทุกคนก็คือสื่อ ต้องฝากประชาชนด้วยว่าเรื่องดีๆ ช่วยกันแชร์ ช่วยกันบอกต่อ
เพราะผลสำเร็จ ผลสรุปจากการประชุมครั้งนี้ ต้องไม่จบเท่านี้ ยังมีเรื่องประโยชน์อีกมากมายที่ต้องตาม เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบว่าควรจะทำตัวอย่างไร ผู้ประกอบการควรจะเตรียมตัวอย่างไร เยาวชนจะเรียนต่อทางด้านไหน โลกจะขับเคลื่อนไปในทิศทางแบบไหน มีอะไรที่สื่อจะต้องเผยแพร่ และให้ความรู้ที่เป็นอาวุธแก่ภาคเอกชน และประชาชนได้ติดตัวและไปสร้างประโยชน์ต่อไป
ถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว -ขาดเนื้อหาสารัตถะ
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ มองว่า การนำเสนอข่าวของสื่อในการประชุมเอเปค ภาพรวมถือว่าพอดี เรื่องของการประชุมสำคัญๆ นำเสนอได้ ครอบคลุม ข่าวไม่ได้ปรากฏออกมาแค่การประชุมสองวัน แต่เริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสมีทั้งการประชุมระดับกระทรวง ระดับนักธุรกิจต่างๆ นอกจากนั้น การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างๆ ก็มีการรายงานออกมา ที่สำคัญยังมีเรื่องการเตรียมงาน ทำอย่างต่อเนื่องก่อนจะมาประชุมสุดยอด ก็มีการโหมโรงการประชุมในทุกระดับ ถ้ามองแล้ว การรายงานข่าว ก็ทำได้ครอบคลุมและกว้างขวาง อาจจะมีบางประเด็นรายละเอียดที่ไปไม่ถึงส่วนย่อยๆ แต่ในภาพใหญ่กับภาพกลาง คิดว่าทำได้ดี
เมื่อถามว่า ขณะที่พฤติกรรมเสพสื่อของคนไทย มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว อาจไม่สนใจเท่าไหร่ รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า อันนี้แน่นอน แต่ไม่ใช่เฉพาะประชาชน แม้แต่นักวิชาการเกือบทั้งหมด หรือน้อยมาก ที่จะเข้าใจ เพราะเรื่องนี้เค้าอาจจะคิดว่าไกลตัว ตั้งแต่จัดตั้งเอเปคตั้งแต่ปี 1989 กิจกรรมในด้านนี้น้อยมากในเมืองไทย แม้จะจัดตั้งศูนย์เอเปคที่ธรรมศาสตร์ แต่กิจกรรมในด้านนี้น้อยมาก ตรงนี้ก็ยิ่งทำให้ขนาดนักวิชาการ ไม่ค่อยมีใครติดตาม ถ้าไม่ได้จัดในเมืองไทยก็มีความสำคัญน้อยมาก
เอเปคครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 33 ถ้าเทียบกับครั้งก่อนๆ สื่อมวลชนทำงานได้ครอบคลุม และรัฐบาลเตรียมการมานาน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายว่าแต่ที่สื่อโฟกัสในบางส่วน ก็เป็นการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น ตอนนี้ อีกส่วนหนึ่งสื่อก็รายงานเฉพาะที่ผู้นำคนไหนมา พูดอะไร แต่ส่วนสำคัญคือ เนื้อในสารัตถะความลุ่มลึก อาจจะขาดไปบ้าง คนอาจจะไม่สนใจ หรืออาจไม่รู้
อีกประเด็นสำคัญ เรื่องการรายงานข่าวเอเปค คือการส่งต่อองค์ความรู้เรื่องเอเปคของสื่อรุ่นเก่า สู่นักข่าวรุ่นใหม่ รวมถึงองค์ความรู้ตั้งแต่ประวัติความเป็นมาเอเปค รศ.ดร.สมชาย มองว่า สิ่งเหล่านี้จำเป็นมาก เพราะความเปลี่ยนแปลงของแต่ละองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกัน จึงต้องมีคนที่ติดตามตั้งแต่ต้น สารัตถะจะมีความสำคัญมาก จะทำให้เราเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ลึกซึ้ง ก็เป็นปัญหาที่ขาดบุคลากร ที่มีการเฝ้าติดตามในเชิงโครงสร้างแต่ละเรื่อง แต่ครั้งนี้ต้องชมสื่อมวลชนทำหน้าที่ได้ครอบคลุม และกว้างขวาง ประชาชนเองก็มีการตื่นตัวพอสมควร
จุดอ่อนสื่อคุณภาพ – ขาดความต่อเนื่อง
ด้าน กวี จงกิจถาวร ตอบข้อถามถึงการทำหน้าที่ของสื่อไทย ที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงการรายงานข่าว สนใจแค่ว่าผู้นำประเทศใดจะมาหรือไม่มา มากว่าสารัตถะในการประชุมว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าเอเปคใช้เวลานานมากเกือบ 20 ปี กว่าจะเวียนมาจัดที่ไทยอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 3 เวลาทั้งโลกมาถกปัญหากัน เป็นลักษณะน้อง ๆ องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเด็นที่ถกกันสำคัญ แต่สื่อบ้านเราสนใจข่าวพาดหัว ใครมา ไม่มา ไม่ต้องจัด ไม่สำคัญ อาหารอร่อยหรือไม่ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องคุณภาพของสื่อบ้านเรา ไม่ได้เข้าใจในประเด็นสำคัญของแต่ละการประชุมว่าจะเป็นอย่างไร
ในกรณีเอเปคสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่คำสโลแกนของรัฐบาล แต่ไทยต้องการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนเพียงพอ ตอนพูดคุยใหม่ ๆ หลายคนวิจารณ์ว่า งานนี้เละแน่ ไทยไม่ได้อะไรแน่ แต่ปรากฏว่าตอนนี้เท่าที่ทราบ ประสบความสำเร็จมากเพราะ “ปฏิญญากรุงเทพฯ” ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เรียบร้อยแล้ว มีเรื่องสงครามยูเครนด้วย และมีประเด็นที่ไทยผลักดันด้วย ปรากฏว่าสำเร็จเป็นปฏิญญาที่พอดี มากกว่าคำแถลงการณ์ที่ได้รับคำชมของ G20 ด้วยซ้ำไป ในกรณี G20 มีการประณามรัสเซีย แต่ของไทยที่เอเปค ใช้คำประณามรัสเซีย แต่เพิ่มประเด็นไทยว่า การแซงชั่น หรือการคว่ำบาตรเศรษฐกิจ มีผลให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำ เกิดวิกฤติอาหาร ใส่เข้าไปด้วย นี่คือประเด็นสำคัญ
นายกวี กล่าวอีกว่า นี่คือสภาพที่เป็นจริง ถ้านักข่าวไทยทำการบ้านสักหน่อย มีเรื่องเขียนเยอะมาก ดังนั้น นักข่าวต้องทำการบ้านมากกว่านี้ ในขณะเดียวกันต้องศึกษาเรื่องต่าง ๆ มีที่มาที่มา ต้องใช้เวลา เพราะเมื่อคนดูเอเปค มักถามว่าไทยได้อะไร แต่สิ่งที่ได้มาเป็นสิ่งที่ระยะยาว ที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจของไทย และตอนนี้ไทยต้องเปลี่ยนแล้ว เพราะคุยในระดับนี้ จะต้องเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ทุกหน่วยงานต้องทำให้เห็นว่าเป็นรูปธรรม นี่คือประเด็นสำคัญ
ผู้ดำเนินรายการถามว่า กรณีสื่อไทยส่วนใหญ่รายงานเรื่องราวของเอเปค หรือการจัดประชุมระหว่างประเทศแบบที่เกิดขึ้น เป็นเพราะไม่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้แบบรุ่นสู่รุ่น หรือตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อศึกษาหรือไม่ นายกวี กล่าวว่า ประเด็นนี้สำคัญเช่นกัน เพราะนักข่าวสนใจข่าววันต่อวัน ทุก ๆ ข่าวมีที่มาที่ไปแม้จะว่างเว้น 10-20 ปี ผู้สื่อข่าวไทยมีจุดอ่อนอย่างหนึ่งคือ ไม่ดูประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เฉพาะนักข่าว คนหนุ่มสาว คนทั่วไปด้วย มองข้างหน้าอย่างเดียว นี่คืออนาคตของฉัน แต่ไม่มองดูอดีต
อีกประเด็นสำคัญกว่าคือ ความต่อเนื่องของเหตุการณ์ ความสนใจของนักข่าว รวมถึงสถาบันสื่อ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า กระทรวงการต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับสื่อมาก แต่นักข่าวมา ๆ ขาด ๆ หาย ๆ และนักข่าวหลายคนไม่สนใจ เรียกว่าเป็นนักข่าวโหล ไม่ได้วิ่งข่าวที่ต้องอาศัยความชำนาญพิเศษ
นักข่าวจำเป็นต้องศึกษา-พัฒนาความรู้
นายกวี กล่าวอีกว่า เรื่องที่นักข่าวไทยจำเป็นต้องศึกษา แต่กลับไปสนใจเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของสมาคมที่เกี่ยวกับวิชาชีพนักข่าว อย่างตนอยู่ในสภาการสื่อมวลชน เขาพยายามทำแล้ว แต่คนข่าวเขามีเรื่องประจำวันของเขา นอกจากนี้เจ้าของกิจการ รวมถึง บก.ข่าว เห็นว่าประเด็นเหล่านี้มันไม่ใช่ข่าวฮอต เลยตัดความสนใจไป น่าเสียดายมาก เพราะสื่อเมืองไทย เสรีภาพ มีมากเลย แต่คุณภาพสื่อ ตามไม่ถึง เสียใจมาก เราต้องฝึกตัวเอง เข้าใจปัญหาอย่างบูรณาการ ไม่ใช่หยิบประเด็นใด ประเด็นหนึ่ง แล้วมาขยายต่อ พูดตลก ดูถูกทุกคนที่เกี่ยวข้อง นอกจากตัวคนพูดซึ่งไม่เคยทำอะไรเลย นี่คือประเด็น
ผู้ดำเนินรายการ ถามอีกว่า พฤติกรรมในการบริโภคสื่อ หรือเสพสื่อของคนไทย ไม่ได้ชอบการเสพเชิงลึก ทำไปไม่มีคนติดตาม ไม่มีคนดู สื่อเลยเสนอข่าวแค่แตะ ๆ เอา ประเด็นนี้ส่งผลหรือไม่ ทุกวันนี้ใครก็เป็นนักข่าวได้ ไม่ต้องเช็คเพิ่ม นายกวี กล่าวว่า นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง และเป็นประเด็นสำคัญ สื่อสนใจข่าวที่คนสนใจ แต่กอง บก. ต้องให้โอกาสนักข่าวไปพัฒนาความรู้ ศึกษาปัญหาใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การวิเคราะห์ข่าวของเรา บูรณาการ และมีความสมดุลมากขึ้น แต่ขณะนี้สังคมไทย เนื่องจากทุกคนถือว่าสามารถมีความเห็น ทำข่าวเองได้ สร้างข่าวขึ้นมาได้ ไม่ต้องเช็คข่าว เป็นบล็อกเกอร์ ผสมเป็นต้มยำไปหมด
“ทุกคนมีความเห็น แต่ไม่มีการเช็คข่าว เรามีความจำเป็นต้องเอาวิชาสื่อดั้งเดิม ตรวจสอบข่าว บก.ข่าวต้องเข้มแข็ง ต้องใช้เงิน ปัจจุบันใครออกข่าวเร็ว คลิปข่าวเร็ว ทีวีกระแสหลักไปใช้ นับว่าเจ๋ง แต่เราจำเป็นต้องให้ความสนใจ นอกจากนี้รัฐบาลต้องมุ่งพัฒนาสื่อด้วย” นายกวี กล่าว
ให้คะแนน“ผู้นำไทย”ด้านพีอาร์แค่ศูนย์
สื่ออาวุโส กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐไม่รู้วิธีการประชาสัมพันธ์ข่าว ในความเห็นตน ผู้นำของรัฐบาลชุดนี้เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ข่าว ให้ 0 คะแนนหมดเลย เพราะไม่มีการขยายข่าว การพูดถึงข่าว ทั้งที่กิจกรรมดี ๆ การทำงานดี ๆ กลับพูดไม่เป็น คนที่เป็นผู้นำของไทยไม่ต้องฝึก หากเทียบกับผู้นำสหรัฐฯ ต้องพูดกับสื่อ มีการฝึกทุกวัน แต่ผู้นำไทยต้องเก่ง ตอบผิดถูกช่างมัน ไม่ต้องกลัว มันกลายเป็นวัฒนธรรมข่าวไทย อาจจำเป็นต้องเปลี่ยน
“นอกจากนี้ สมาคมที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพนี้ ไม่ใช่เอากฎหมายมาควบคุม แต่ต้องให้สื่อดูแล ในเรื่องของสมาคมสื่อ ผมเห็นใจ ทำงานได้ดีมาก และการแก้ปัญหาต้องให้เวลา นักวิชาการคุยบางเรื่อง ยังไม่สามารถเข้ากับสังคมไทยได้เลย ใช้บริบทเมืองนอกมา แต่เราต้องพูดถึง ปัญหาที่มีผลกระทบต่อไทยโดยตรง ไม่ใช่พูดลอย ๆ ปากฝรั่งมาเล่าให้คนไทยฟัง” นายกวี กล่าว