สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกาศวิสัยทัศน์ “ส่งเสริมและพัฒนาสื่อมวลชนทุกแขนง ให้คงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่พึ่งของสังคม” หลังสัมมนากำหนดแนวทางการทำงาน พร้อมรับรองเว็บไซต์ข่าว “เดอะสตอรี่ ไทยแลนด์” เป็นสมาชิกใหม่ ขณะที่กรรมการจริยธรรม กำหนดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างแนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าวสงครามระหว่างประเทศ 20 ต.ค. 65
น.ส.นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00 น. ว่า หลังจากการจัดสัมมนาระดมสมองเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17-18 กันยายน ที่ผ่านมา ณ กนกรัตน์ รีสอร์ท จ.สมุทรสงคราม โดยที่ประชุมอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ ได้จัดทำข้อสรุป และนำมาสู่การประกาศวิสัยทัศน์ พันธกิจ และแผนงานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมัยที่ 1
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้พิจารณาแล้ว มีมติให้ประกาศวิสัยทัศน์ “ส่งเสริมและพัฒนาสื่อมวลชนทุกแขนง ให้คงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่พึ่งของสังคม” พร้อมกำหนดพันธกิจ ดังนี้
– สร้างความน่าเชื่อถือให้สื่อมวลชนทุกแขนง โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไทยมีความรับผิดชอบและปฏิบัติตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ
– ส่งเสริมให้สื่อมวลชนเป็นที่พึ่งของสังคมโดยสนับสนุนสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นของพลเมืองทุกกลุ่มเพื่อประโยชน์สาธารณะ
– ส่งเสริมและพัฒนาสื่อมวลชนให้สามารถดำเนินธุรกิจและดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานวิชาชีพระดับสูงได้ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบัน
พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการ และอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ กำหนดแผนการดำเนินงานตามที่ได้ระดมความเห็นกันไว้เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ และพันธกิจที่กำหนด
เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนฯ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการยังมีมติรับรองสมาชิกภาพของเว็บไซต์ “เดอะสตอรี่ ไทยแลนด์” เป็นสมาชิกใหม่ โดยเนื้อหาของเว็บไซต์ดังกล่าวจะนำเสนอเรื่องราวทางธุรกิจ เทคโนโลยี และดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ และตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่สนใจทุกเรื่องราว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการจัดทำแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่องการนำเสนอข่าวสงครามระหว่างประเทศ โดยคณะกรรมการจริยธรรมได้กำหนดให้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ในวันพฤหัสบดีที่ 20 ต.ค. 2565 โดยในช่วงเช้า เป็นการรับฟังความคิดเห็นขององค์กรสมาชิก ส่วนภาคบ่ายเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถานเอกอัครราชทูต องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ระหว่างประเทศ หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านต่างประเทศ เป็นต้น