ตรวจแนวปฏิบัติองค์กรวิชาชีพสื่อ กรอบชัด กติกาเข้ม ปรากฎการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู สื่อหลักหลุดกรอบจริยธรรมน้อยลง นักวิชาการ-นักวิชาชีพ ระบุยังต้องเติมความรู้สื่อรุ่นใหม่ ทำคู่มือเพิ่ม ยกงานวิจัยเตือนภัย ข่าวร้ายยังมีอิทธิพลต่อการเลียนแบบ แนะสื่อหาจุดสมดุลเรตติ้ง-รายได้-ความน่าเชื่อถือ เสนอภาคสังคม ทั้งประชาชน สปอนเซอร์ มีส่วนร่วมควบคุมกำหนดทิศทางสื่อ และสนับสนุนสื่อดี
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ตอกย้ำแนวปฏิบัติของสื่อ : กรณีเหตุร้ายในศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ วิชัย วรธานีวงศ์
ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม กรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และอาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายและสิทธิ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
เหตุการณ์อดีตตำรวจก่อเหตุกราดยิง และไล่แทงเด็กเล็กและครู ภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลอุทัยสวรรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู รวมกับจุดเกิดเหตุอื่น ๆ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 36 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง
โศกนาฏกรรมในประเทศไทยครั้งนี้ กลายเป็นหนึ่งในเหตุกราดยิง และโจมตีโรงเรียนที่ร้ายแรงครั้งหนึ่งของโลก ขณะที่การนำเสนอข่าว ภาพข่าว เรื่องดังกล่าวของสื่อมวลชนในประเทศไทย ทั้งสื่อวิชาชีพ รวมถึงโซเชียลมีเดีย ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และถูกตั้งคำถามอีกครั้ง ถึงการทำหน้าที่ภายใต้กรอบจริยธรรม แม้จะมีการถอดบทเรียนกรณีเหตุการณ์กราดยิงที่เคยเกิดขึ้นใน จ.นครราชสีมา เมื่อเดือน ก.พ. 2563 มาแล้วก็ตาม
ผศ.ดร.สกุลศรี มอนิเตอร์ภาพรวมของการรายงานข่าวดังกล่าวของสื่อมวลชน พบว่ามี 2 ลักษณะ ที่เคยถอดบทเรียนกันมาแล้วทั้งฝ่ายวิชาชีพและวิชาการ จากเหตุการณ์กราดยิงโคราชแม้จะไม่รุนแรงเท่าครั้งนี้ โดยสภาวิชาชีพสื่อ องค์กรสื่อมวลชน และภาควิชาการ ก็ได้ปรับปรุงแนวปฏิบัติในการทำข่าว ด้วยการเพิ่มเติมเนื้อหาสาระบางอย่างให้สอดคล้องกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เพื่อเป็นกรอบปฏิบัติหากมีเหตุการณ์ลักษณะนั้นเกิดขึ้นอีก
ลักษณะแรก ครั้งนี้ เห็นสื่ออาชีพบางสำนักข่าวที่สามารถปฏิบัติตามแนวปฏิบัติได้ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพ ไม่สัมภาษณ์เรื่องความรู้สึกครอบครัวของผู้เสียหาย อีกลักษณะที่ยังน่ากังวล หนักใจ เพราะยังมีสื่อที่ทำแบบนั้นอยู่ แม้จะมีความพยายามเบลอภาพ แต่ก็ยังเห็นร่องรอย เลือด และเหตุการณ์ หรือแม้กระทั่งไม่ใช่ภาพจริง แต่ใช้วิธีการจำลองภาพ เป็น Immersive เป็น 3D Graphic แต่อธิบายละเอียด เราก็ยังเห็นลักษณะแบบนี้อยู่
“คำถามจึงต้องกลับไปถามว่า เราจำเป็นขนาดนั้นเลยหรือ ที่จะต้องรายงานเหตุการณ์แบบนี้ ลงไปถึงรายละเอียดเหตุการณ์ในขณะนั้น ที่สำคัญ อย่างแรกเหตุการณ์อย่างนี้ เวลาที่เราทำ เรากำลังฆาตกรรมเด็กเหล่านั้นให้พ่อแม่ และครอบครัวเค้าดู ทุกครั้งที่เห็นภาพเหล่านั้นซ้ำ ๆ เป็นการจำลองเหตุการณ์ การพูด แม้กระทั่งพูดถึงข่าวนี้ วนไปวนมา เบรกหนึ่งยาวเป็น 10 นาที โดยไม่มีความคืบหน้าอื่นไปข้างหน้า ก็ยังเห็นเป็นแบบนั้นอยู่ แม้กระทั่งหน้าหนังสือพิมพ์หน้า 1 เกือบทุกฉบับ ก็ยังมีการใช้ภาพ ถึงแม้จะเบลอ ก็ยังเห็นภาพที่ระบุถึงความสูญเสียได้” ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าว
ในฐานะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ผศ.ดร.สกุลศรี ระบุว่า แนวปฏิบัติในการรายงานข่าวด้านต่าง ๆ มีหลักการที่ชัดเจนมาก ที่ระบุถึงการคัดเลือกทั้งภาพข้อมูลที่จะนำเสนอ เพื่อเคารพสิทธิของเด็กที่อยู่ในข่าว และไม่เป็นการกระทำซ้ำในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเค้าด้วย
นอกจากนี้ แนวปฏิบัติเรื่องการรายงานบนสื่อออนไลน์ การรายงานเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้ ทุกแนวปฏิบัติมีหลักร่วมกันชัดเจนมาก คือการไม่ละเมิดสิทธิ และเพื่อประโยชน์สาธารณะ ถ้าเราจำแนวปฏิบัติไม่ได้ เราไม่ต้องไปท่องทั้งหมด แต่ 2 อันนี้สำคัญมาก ที่จะทำให้เราสามารถชั่งน้ำหนักได้ว่า จะตัดสินใจนำเสนอหรือไม่
“คำถามคือเราเคารพเค้ามากพอหรือไม่ ที่จะไม่นำเสนอสิ่งที่ทำให้เค้าเจ็บปวดมากขึ้น แม้เหตุการณ์นี้ผ่านไป 1 เดือน คนที่ไม่เกี่ยวข้องอาจจะลืมแล้ว แต่คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เค้าไม่ลืม แล้วทุกครั้งที่เค้าค้นหา และมีภาพนี้เด้งกลับเข้ามา เค้าจะต้องเห็นภาพนั้นซ้ำ ๆ เราเคารพความรู้สึก และชีวิตของเค้า หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้หรือไม่ เราต้องคิดด้วยว่า สิ่งที่นำเสนอไปมันจะคงอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่แค่ระยะสั้น แต่ในระยะยาว ก็มีผลต่อจิตใจ ความรู้สึกเค้า”
ยกงานวิจัยข่าวร้ายมีอิทธิพลต่อการเลียนแบบ
ผศ.ดร.สกุลศรี ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาอีกส่วนคือ การนำเสนอข่าวลักษณะนี้ สามารถมีอิทธิพลต่อการเลียนแบบได้ มีงานวิจัยในต่างประเทศ ในสหรัฐอเมริกาที่มีข่าวการกราดยิงค่อนข้างมาก จึงมีงานวิจัยทางจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องนี้ แล้วพบว่าบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างปี 2015 อีกประมาณหนึ่งอาทิตย์กว่า ๆ ก็มีเหตุการณ์ตามมา งานวิจัยนี้็บอกเลยว่า มีโอกาสสูงมาก ที่จะมีการลอกเลียนแบบ และทำตามโดยมีอะไรที่เป็นปัจจัยให้คนลอกเลียนแบบได้ เพราะบางครั้งการนำเสนอข่าวเยอะ ๆ มีข่าวผู้กระทำผิดด้วย จะทำให้คนรู้สึกว่ามันถูกเฟรมความเป็นเซเลบริตี้ มีชื่อเสียง หรือแม้กระทั่งบอกวิธีการที่ทำได้ละเอียดขึ้น ก็เลยทำให้เกิดการลอกเลียนแบบ และไปทำตามเพิ่มมากขึ้น
“เราเคยคิดถึงผลกระทบนั้นไหม วันที่เรารายงานข่าวนี้ เราต้องการนำเสนอข้อมูลที่มีคนอยากรู้ แต่ในความอยากรู้นั้น เค้าจำเป็นต้องรู้เหตุการณ์ลงรายละเอียดขนาดนั้นไหม”
ผศ.ดร.สกุลศรี เสนอแนะว่า ในการรายงานข่าว เมื่อสื่อบอกประชาชนแล้วว่า เกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง อัพเดตตัวเลขที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่ต้องรู้ แต่หลังจากนั้นสิ่งที่สื่อควรขยับประเด็นต่อ คือตั้งคำถามกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถขยายมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อีก
“เรื่องโศกนาฏกรรม หากไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก สื่อจึงไม่ควรทำหน้าที่ แค่รายงานว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ควรตั้งคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นความเป็นไปได้ของสาเหตุ ปัจจัยทำให้มันส่งเสริมให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นได้ เช่น จำนวนปืน การครอบครองปืน แม้กระทั่งความปลอดภัยในการเข้าไปในโรงเรียน สื่อสามารถตั้งคำถาม และอีกหลายอย่างมาก เพื่อจะได้สร้างการถกเถียงสาธารณะในสังคม ในประเด็นที่คนมองหาทางออกของเรื่องนี้ร่วมกัน หารูปแบบที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น อะไรที่เป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ เราจะได้รีบอุดรอยรั่วนั้น”
ประชาชน-สื่อต้องร่วมกำหนดวาระสังคม
เมื่อถามว่า ในอีกด้านที่โซเชียลมีเดียเสนอภาพที่หลุดออกมา และพบว่าสื่อหลักก็โดดลงไปร่วมวงในการนำเสนอภาพที่ไม่ควรนำเสนอด้วย จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก ผศ.ดร.สกุลศรี ระบุว่า ถึงเวลาแบบนี้คนก็จะกลับไปดูสื่อหลักซึ่งเป็นมืออาชีพ ที่มีความน่าเชื่อถือ และความรู้สึกอยากพึ่งพิงสื่อหลัก สื่ออาชีพยังมีอยู่ ฉะนั้นพอกลับไปเปิดดู แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่เขาคาดหวัง ว่าจะ เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อการรับรู้ของเค้า ก็มีกระแส ในทางกลับกันก็น่าตกใจเหมือนกัน ในขณะที่กระแสบนออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์สื่อปรากฏว่า พอไปดูเรตติ้งของทีวีหลาย ๆ ช่อง ก็พบว่าช่องต่าง ๆ ที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์การนำเสนอนั้น เรตติ้งกระโดดขึ้นไป
เมื่อถามว่า พฤติกรรมของสังคมเช่นนี้ สื่อจะต้องสนองตอบความต้องการสังคมอย่างไร ให้สังคมกำหนดสื่อ หรือสื่อกำหนดสังคม
ผศ.ดร.สกุลศรี ระบุว่า เราอยากให้สังคมนี้เป็นอย่างไร ไม่ได้กำหนดด้วยสื่ออย่างเดียว หรือกำหนดด้วยคนในสังคมอย่างเดียว การกำหนดข่าวสาร หรือวาระของคนในสังคม เป็นการกำหนดร่วมกัน ระหว่างคนในสังคมและตัวสื่อด้วย
ตอนที่เห็นเรตติ้ง ก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่า คนดูเยอะเพราะรสนิยมในการดู หรือเพราะเค้าเคยชินกับสิ่งที่เห็น รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติถ้ามีข่าวลักษณะแบบนี้ ก็จะต้องได้ดูข่าวแบบนี้ ทั้งที่รู้ว่าถ้าเปิดไปช่องไหน จะได้เห็นสิ่งที่ตอบสนองความเร้าอารมณ์ หรือความอยากรู้นั้น ๆ อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่ง ที่เราต้องมาคิดว่า ถ้าเป็นรสนิยมหรือความเคยชินแล้ว สื่อจะยอมทำตาม หรือจะยอมเจ็บปวดกับเรตติ้งในระยะหนึ่ง แต่ว่าสร้างมาตรฐานใหม่ ในการรับรู้ข่าวสารให้กับคน ในส่วนของสื่อก็ควรเลือกเหมือนกันว่า ตกลงอยากกำหนดสังคมนี้ไปทางไหน ถ้าอยากทำให้คนในสังคมยังเคยชิน และมีรสนิยมเรื่องนี้ ฉะนั้นเราก็แก้เรื่องนี้ไม่ได้เหมือนกัน เวลาที่เราจะเปลี่ยนเรื่องนี้ เราก็ต้องยอมเจ็บตัวก่อน แม้จะมีทั้งยอดวิว เรตติ้ง ที่ดันหลังอยู่ และอีกหลายอย่างในภาวะที่กดดัน
ผศ.ดร.สกุลศรี มีข้อแนะนำว่า ฉะนั้นคนในสังคมถ้าไม่อยากเห็นสื่อนำเสนอแบบนี้ ฉะนั้นกลุ่มคนที่อยากเห็นข่าวดี ๆ ก็ต้องกลับไปสนับสนุนสื่อที่ทำข่าวดี ไปช่วยทำให้เค้ามีเรตติ้งเพิ่มขึ้น ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เค้าทำเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ และเค้ายังทำต่อไปได้ ในขณะเดียวกันอะไรที่มันไม่ดี เราวิพากษ์วิจารณ์ ก็ไม่ต้องไปกดดู เราควรจะต้องแบนกันอย่างจริงจัง แม้อาจจะมีคนส่วนหนึ่งที่ยังดูอยู่ และคนส่วนหนึ่งที่ไม่อยากดูแล้ว เค้าก็ต้องให้ความรู้กันในสังคม สะกิดเพื่อน สะกิดพ่อแม่ญาติ ว่าเราลืมตัวไปหรือไม่ ตอนเราดูเราก็บ่นกัน แต่เราก็ยังเปิดอยู่ ฉะนั้นเราก็ต้องช่วยกันทั้งสองฝั่ง เพื่อให้มันเปลี่ยนรสนิยมเหล่านี้ให้ได้
ขยายแนวปฏิบัติ สู่คู่มือการทำข่าว
ผศ.ดร.สกุลศรี ระบุถึง แนวปฏิบัติที่มีอยู่ อยากให้สื่อไปศึกษากันเราพยายามทำให้ละเอียดขึ้นในทุก ๆ แนวปฏิบัติ เพราะเวลาเราทำ ก็จะมีคำถามว่า แล้วสื่อจะทำได้จริงไหมตามนี้ หากมีข้อจำกัดแบบนี้เพื่อให้เขาพอเห็นแนวทางที่จะปฏิบัติได้ ทั้งนี้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กำลังรวบรวมทำเป็นคู่มือแบบ How to ว่าจะทำอะไรอย่างไรบ้าง ในภาพของการกำกับดูแลกันเองให้ชัดเจน
ขณะเดียวกัน เราเรียกร้องการกำกับดูแลกันเอง เราก็ต้องทำให้เข้มแข็ง โดยแต่ละสื่อก็ต้องเป็นกระจกสะท้อนของตัวเอง สะท้อนสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำให้ดี มันมีวิธีการ เรื่องวารสารศาสตร์ทางออก ซึ่งทำให้สิ่งที่มันเป็นปัญหา นำไปสู่ทางออกได้ เราอาจจะเริ่มต้นคิดที่จะทำข่าวประเด็นความรุนแรงแบบนี้ ให้นำไปสู่ทางออกด้วย โดยไม่ต้องรอว่าจะต้องเป็นข่าวเชิงลึก อาจจะต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น และสุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุด และเบสิคที่สุด อยากให้สื่อมวลชนใช้สามัญสำนึกให้มากขึ้นว่า เราจะไม่ทำร้ายคนในข่าว และจะไม่ทำร้ายสังคมนี้
ขณะเดียวกัน เราก็ยังกังวลสื่อที่ไม่ใช่สื่ออาชีพ หรือนักข่าวพลเมือง ที่สามารถทำคอนเทนต์บนออนไลน์ได้ น่าจะมีกระบวนการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติและแนวทางกลับไปสู่สังคมให้ชัดเจนขึ้น สังคมต้องช่วยกันกำหนดมาตรฐานสิ่งนี้ร่วมกัน ฉะนั้นถ้าเรารู้จุดที่เราควรทำร่วมกัน เรามอนิเตอร์ ตรวจสอบการสะท้อนมา และเสนอข้อคิดเห็นทางที่เป็นไปได้ว่า สื่อควรจะนำเสนออย่างไร แล้วคนดูควรจะดูอย่างไร อ่านอย่างไร น่าจะจะเป็นสิ่งที่เราช่วยกัน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ในการแก้ปัญหานี้ได้
ส่งเสริมสื่อดี-เอเจนซี่เปลี่ยนมายด์เซ็ท
เมื่อถามถึงเรื่องเรตติ้ง ที่เอเจนซี่จะให้โฆษณาให้กับสื่อใดสื่อหนึ่ง คือการยึดเรตติ้งเป็นหลัก ฉะนั้นสองปัญหานี้ กับสื่อที่พยายามจะเดินในแนวทางที่ถูกต้อง จะไปยังไงกันดี ผศ.ดร.สกุลศรี ให้มุมมองว่า เพราะเป็นเรื่องจริยธรรม เรามักจะใช้วิธีการในเชิงลบในการวิพากษ์วิจารณ์ต่อว่า หากคิดถึงวิธีการทำในเชิงบวก เช่น ถ้าเราเห็นอันไหนทำดี ควรหยิบขึ้นมาพูดถึงให้มากขึ้น เพราะปกติ เวลาใครทำดีเราก็มักจะไม่ค่อยพูดถึง แต่ก็มักต่อว่าคนทำไม่ดี ตนเคยถูกเพื่อน ๆ ถามว่า อันไหนคือสื่อดีบ้าง ฉะนั้นอาจจะไม่ใช่ว่า คนไม่ดู แต่ทำไมสื่อดีไปไม่ถึง เค้าถึงเคยชิน ควรเปลี่ยนเป็น Positive Approach ไหม ถ้าเจอของดี ให้ช่วยกันหยิบยกขึ้นมานำเสนอ บางที บางสื่อก็อาจไม่แน่ใจ หรือไม่รู้แนวทางก็ได้ว่า อยากทำดี แต่เค้าเคยชินกับการทำอย่างนี้ จึงไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราต้องแก้ไขมันอยู่ตรงไหน เพราะไม่มีแนวทางที่ชัดเจนให้เราลองมาคิดแบบนี้ดู
ขณะเดียวกันหากเอเจนซี่เค้าเห็นว่า มีแนวทางที่ไปได้ แล้วคนในสังคมก็ต้องการแนวทางแบบนั้น เอเจนซี่จะได้เปลี่ยนมายด์เซ็ทและมาตรฐานของเค้าเหมือนกัน ว่านี่ต่างหากคือสิ่งที่คนกลุ่มใหญ่ ๆ ต้องการเห็น ถ้าเค้าเห็นตรงนี้ชัดเจนขึ้น วิธีการที่พูดคุยกันในเรื่องของเรตติ้งที่เป็นตัวเลข ว่าใครดูใครชม มันควรจะมีสิ่งที่เราเรียกว่า Impact Rating หรือ Quality Rating ซึ่งหลายที่กำลังพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ ในการที่มองว่า นอกจากตัวเลขผู้ชมแล้ว สิ่งที่มีอิทธิพล หรือผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ในการเปลี่ยนแปลงแก้ปัญหาสื่อไหนทำได้บ้าง แล้วสามารถตอบโจทย์ความคาดหวังของคนในสังคมได้ ในลักษณะไหนบ้าง ถ้ามันมีตัวชี้วัดนี้ ไปเพิ่มความน่าเชื่อถือแล้ว เอเจนซี่ต่าง ๆ นำ ตัวชี้วัดนี้ไปใช้ ในการพิจารณาร่วม ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ขยับขยายโอกาส ในการที่ทำดี แล้วยังอยู่รอดได้ด้วย
เช่น การให้รางวัลเชิดชูเกียรติสื่อที่ทำหน้าที่ ที่มีจริยธรรมดีเด่น ไม่ว่ารายการใด หรือใคร เมื่อไหร่ที่ประพฤติปฏิบัติตามหลักจริยธรรมในการนำเสนอ ถ้าได้รางวัลใหญ่ ๆ ที่ประกาศทั้งหลาย วิธีการอย่างนี้ก็จะเป็นไปได้ส่วนหนึ่ง เพียงแต่ว่าเวลาที่ประกาศรางวัล ส่วนใหญ่ค่อนข้างรู้กันเองในกลุ่มพวกเราสื่อมวลชน นักวิชาการ ขณะที่ประชาชนอาจไม่ได้มีส่วนร่วมกับการให้รางวัลเหล่านี้ ถ้าเราลองเปลี่ยนเป็นเพิ่มเติม ในส่วนของการมีส่วนร่วมที่ของประชาชน อย่างเช่น ศิลปินอย่างมี Popular Vote เรามี Popular Vote ทางสังคมได้หรือไม่ ทำดีสังคมต้องการสนับสนุน ให้สื่อนี้สามารถทำงานต่อได้ เราน่าจะมีลักษณะการมีส่วนร่วมแบบนี้เกิดขึ้น
สนับสนุนสื่อดีด้วยรางวัล-ค้นหาเผยแพร่สื่อดี
อยากฝากไปถึงผู้ที่ให้รางวัลอะไรก็ตาม ต่อไปอาจจะไม่ใช่แค่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตัดสินแล้ว อาจจะมีพาร์ทของการให้คนในสังคมซึ่งเป็นแอคทีฟซิติเซ่น ซึ่งมีความแข็งแรงในการมอนิเตอร์สื่อ สนใจเรื่องการรายงานข่าว ช่วยกันให้ความเห็นได้ สะท้อนได้ ให้คะแนนได้ ก็จะยิ่งทำให้คนในสังคมตื่นตัวกับการที่จะกำกับดูแลสื่อด้วย พอเค้าได้เรียนรู้ว่า มีส่วนไหนที่ดี ก็จะไปหาดูสื่อนั้น สุดท้ายคนก็อยากจะดูของดี เพียงแต่เราหาเจอไหม เรารู้ว่าอยู่ตรงไหนไหม และคนที่เราอยากให้ทำ สามารถจะทำให้เราดูหรือเปล่า
น่าจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม ให้เค้ารู้สึกว่า การรายงานข่าว เป็นหน้าที่ของสื่อที่มารายงานข่าวให้เรารับรู้ สื่อมวลชนมีหน้าที่เก็บข้อมูลมารายงาน ขณะเดียวกัน คนในสังคมก็มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ที่เค้าควรจะได้รับอย่างเหมาะสมด้วย
ฉะนั้นถ้าเราสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้นระหว่างคนทำสื่อ กับคนที่เสพสื่อ และพยายามหาทางออกร่วมกัน ก็ยังเป็นความฝัน ที่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งยุคนี้สามารถทำได้ อย่างตอนปัญหาเฟกนิวส์ พอเราตื่นตัว มีเครือข่ายของภาคประชาชนที่มาทำเรื่องนี้เพิ่มขึ้น แล้วทำไมเรื่องของจริยธรรมสื่อ ที่จะทำให้สื่อดี ไปต่อได้ แล้วก็ให้สื่อที่เค้าไม่รู้วิธีปรับเปลี่ยนตัวเอง จะทำไม่ได้ ต้องคิดว่าทำได้ เพราะจริง ๆ แล้ว จากหลาย ๆ กรณีก่อนหน้าที่เกิดขึ้นจากสื่อที่ทำผิดพลาด ตอนนี้เค้าไม่ทำ ก็มีการปรับเปลี่ยนตัวเอง มันยังพอมีความหวัง
“อยากฝากคนดู คนอ่าน ว่าเราสามารถกำหนดสื่อได้ เรากำหนดตัวเองได้ เราก็ต้องกำหนดสื่อได้ ไม่ต้องรอให้สื่อเค้าเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างเดียว เราเปลี่ยนเค้าได้ ด้วยการช่วยกันไปดูของที่ดี ๆ”
ปรากฎการณ์โซเชียลมีเดียตรวจสอบกันเอง
ทางด้าน “ไทยพีบีเอส” ซึ่งถูกมองว่า เป็นตัวอย่างของการทำงานสื่อที่เป็นมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ถูกมองว่า เหตุที่ทำได้ก็เพราะมีเงินทุนสนับสนุน ไม่ต้องหารายได้เองเหมือนสื่ออื่นนั้น นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า ไม่อยากพูดว่า ไทยพีบีเอสทำอะไรที่เหนือกว่าคนอื่น ตนพูดได้เต็มปากว่า เพื่อนพี่น้องในวงการสื่อทุกสำนัก พวกเค้าเหล่านั้นมีจริยธรรม มีความเป็นมืออาชีพ ไม่ได้แพ้คนที่ทำข่าวที่ไหนในโลกนี้ แต่สิ่งที่สังคมได้สัมผัส ได้เห็น ก็เข้าใจได้ว่า เพราะความจำเป็น หรือความคิดอะไรบางอย่าง ที่คิดว่าทำแบบนี้แล้วจะมีผู้คนชื่นชอบ แน่นอนว่า ความต้องการรายได้ ให้ตัวเองอยู่รอด แต่สำคัญคือต้องฉุกคิดว่าสิ่งที่ทำนั้น เป็นความต้องการอยากรู้อยากเห็นของผู้คน ที่จะนำมาซึ่งรายได้ ใช่หรือไม่
อยากให้ดูว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่หนองบัวลำภู ทั้งสังคมไม่เฉพาะ 3 องค์กรสื่อที่ออกหนังสือเตือน รวมทั้ง กสทช. สมาคมจิตแพทย์ ก็ออกแถลงการณ์เตือน เรื่องแบบนี้ เห็นคนในสื่อสังคมออนไลน์ก็เตือนกันเอง ในกลุ่ม LINE หลาย ๆ กลุ่มก็บอกว่าอย่าแชร์ภาพแบบนี้ แล้วคน ๆ นั้นก็ต้องลบออกไปและขอโทษ เวลาเกิดเหตุแบบนี้ ถึงจุด ๆ หนึ่ง เค้าจะรู้ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ไม่ควร ฉะนั้นสื่อที่ทำเหล่านี้ ก็ต้องทบทวนแล้วว่า ทำให้ความนิยม หรือการได้มาซึ่งรายได้ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น และเข้าใจได้ จะประสบผลอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่
หาจุดสมดุลเรตติ้ง-รายได้-ความน่าเชื่อถือ
เมื่อถามว่า ในขณะที่คนกลุ่มใหญ่ยังมีรสนิยมชอบเสพสื่อแบบที่เป็นฮาร์ดคอร์ เราจะช่วยกันปรับอย่างไรดี เพราะสุดท้ายสื่อก็รู้ว่าผู้บริโภคสื่อ เป็นแบบนี้ ก็ต้องตอบสนอง นายก่อเขต ระบุว่า สื่อเองต้องพยายามหาจุดสมดุล หรือจุดกึ่งกลาง ระหว่างความอยากรู้อยากเห็นของกลุ่มเป้าหมาย หรือผู้ชม ผู้ฟัง ผู้อ่าน กับความพยายามทำให้สังคมไปได้ ทำให้ความน่าเชื่อถือของสื่อไม่ถูกทำลายไป จุดนี้แม้จะยากแต่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องทำ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนก็ตาม
นี่เป็นโจทย์สำคัญ ทุกครั้งที่มีเรื่องทำนองนี้ ก็ต้องมีการเตือน ก็มีบางสื่อที่ทำอะไรออกมาให้เป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์เสมอ ก็มีคำถามเหมือนกันว่า เกิดอะไรขึ้น มันแสดงให้เห็นว่า มีคนที่รับสื่อคือผู้ชม และคนที่ทำสื่อ คิดตรงกันว่า น่าจะมีช่องทางไหนที่จะทำให้สังคมหรือผู้เกี่ยวข้องกับสื่อ อย่างเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่จะโฆษณา ตระหนักถึงเรื่องนี้ เช่น ไม่เอาตัวเลขเรื่องเรตติ้งเป็นตัวตั้ง ในการลงโฆษณาทางสื่อไหน ถ้าจะทำให้เห็นด้วยการสนับสนุนสื่อที่เป็นแบบนี้ ก็จะเป็นสิ่งดี และสิ่งที่สื่อที่ทำอะไรแล้วถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ชอบ มันไม่ก่อให้เกิดรายได้ เค้าไม่ทำแน่นอน แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ก็ต้องตั้งต้นโดยสื่อ แต่ถ้าเราดูภูมิทัศน์สื่อ สื่อก็ไม่ได้อยู่ตรงกลางของสังคม ฉะนั้นก่อนจะทำให้สังคมและสื่อไปด้วยกัน สุดท้ายต้องร่วมกันทำ
ภาพรวมสื่อหลักนำเสนอในกรอบจริยธรรม
เมื่อถามถึง ปัญหาเรื่องการตั้งคำถามของสื่อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก ไทยพีบีเอสมีแนวปฏิบัติอย่างไร นายก่อเขต กล่าวว่า อันดับแรกเราพิจารณาถึงขั้นที่ ควรจะไปถามเค้าหรือไม่ มี 2-3 ประเด็น แต่อันดับแรกทุกสื่อก็ปฏิบัติเรื่องนี้ได้ดีพอสมควร คือไม่เสนอภาพที่สยดสยองน่ากลัว ภาพศพ ภาพความสูญเสีย อันนี้คิดว่าดีขึ้นมาก แทบไม่เห็นเลย
ส่วนอีกประเด็นที่ควรจะต้องระลึกถึง คือความรู้สึกของผู้สูญเสีย ต่อให้เป็นคำถามที่ไม่ได้กระทบอะไร เช่นเกิดอะไรขึ้น ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์อยู่ในเหตุการณ์ และเป็นผู้สูญเสีย ด้วยคำถามแบบนี้ จะทำให้ภาพความเจ็บปวดของเค้าถูกฉายซ้ำในสมอง ในความรู้สึกของเค้าอย่างนี้เราก็ไม่สัมภาษณ์ อาจจะไปคุยกับแหล่งข่าวที่ถัดออกมา อาจจะเห็น หรือเป็นคนใกล้ชิดคนนั้น ที่จะพอบอกได้ว่าเป็นอย่างไร
บางคำถามที่ไม่ควรจะถาม บางทีนักข่าวไปเจอเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่นึกอะไรไม่ออก ก็ไปถามอะไรทำนองนั้น เราย้ำว่า สิ่งที่ต้องไม่ถามคือรู้สึกอย่างไรต่อผู้สูญเสีย ให้เขาเล่าอะไรที่ตอกย้ำและซ้ำความรู้สึกของเค้า อันนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
เมื่อถามถึงความจำเป็นในการถ่ายทอดสด โดยวิธีใช้มือถือไลฟ์สด กรณีหนองบัวลำภู จำเป็นต้องไปไลฟ์สดในพื้นที่ขนาดนั้นหรือไม่ นายก่อเขต อธิบายว่า การทำข่าวให้เร็ว เป็นเรื่องปกติ แต่การไปไลฟ์สด เรื่องภาพที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีภาพที่ไม่เหมาะสมออกมา ก็ต้องระมัดระวังตั้งแต่ตรงนั้น ก็ไม่ควรไลฟ์ เพราะภาพอาจจะหลุดออกไปได้ ไม่จำเป็นช้ากว่านั้นนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหลังจากนั้น ในพิธีกรรมของชาวบ้าน อาจจะมีทำบุญ อันนี้ไม่มีอะไรที่สุ่มเสี่ยง แต่ถ้าเป็นที่เกิดเหตุ อาจจะมีการลำเลียงคนเจ็บออกมา ภาพสยดสยอง หลุดอันนั้นต้องไม่ทำ หรือถ้าจะรายงานสด หรือไลฟ์สด ก็ต้องอยู่ในมุมที่ไม่สุ่มเสี่ยง เพราะถ้าสดมันทำอะไรไม่ได้ ภาพจะปรากฏออกมาเลย
ตระหนักประเด็นสังคม ลดโอกาสเลียนแบบ
นายก่อเขต เล่าถึง กระบวนการทำงานของไทยพีบีเอส ในเหตุการณ์ที่หนองบัวลำภู โดยเฉพาะกระบวนการตัดสินใจจากการประชุมของกองบรรณาธิการ ก่อนสั่งงานลงไป เมื่อมีการส่งข้อมูลจากในพื้นที่เข้ามา ก็ได้ตรวจสอบก่อนว่าเป็นเหตุจริงหรือไม่ เมื่อยืนยันแล้ว และเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน ก็ส่งทีมข่าวที่อยู่ใกล้ที่สุดไปยังสถานที่ จากนั้นก็ส่งลงไปมากกว่า 1 ทีม และให้เวลาเขาทำงาน แต่อันดับแรกคือกำชับว่าให้ระวังเรื่องภาพ เพราะข้อมูลที่ได้มา ทราบแล้วว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น เหยื่อเป็นใคร
ในการประชุมข่าว เราก็ย้ำว่าไม่เอาภาพเหตุการณ์ สำหรับคนร้าย ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าเค้าเสียชีวิต ก็ตามเฉพาะเรื่องเบาะแสคนร้าย เพื่อที่จะแจ้งเตือนว่า คนร้ายยังถือว่าอันตรายมาก ไปอยู่ที่ไหนต้องรีบตามให้เร็วที่สุด
ขณะเดียวกัน เราก็พยายามหาวิธีว่า จะทำอย่างไร เพื่อไม่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะมันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการเลียนแบบกันได้ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ขณะเดียวกันก็กำหนดประเด็นไว้เลยว่า ทางออก การแจ้งเตือน ความรู้สึกผู้สูญเสีย ความเป็นส่วนตัว
ในแง่ข่าวเราต้องยอมรับว่า ภาพผู้สูญเสียร้องไห้ มันบ่งบอกถึงอารมณ์ และเหตุการณ์ความรุนแรงได้ดี แต่กรณีนี้มันทำให้เราต้องชั่งน้ำหนักระหว่างภาพ มันบรรยายเรื่องราว ความรู้สึกส่วนตัวของเค้า ที่เค้าไม่อยากให้ใครเห็นบ้างหรือไม่ หากเค้ามาเห็นทีหลังจะเป็นการซ้ำเติม เราไม่อยากให้เค้ารู้สึกอย่างนั้น และงานพิธีต่าง ๆ ก็เลี่ยง โดยการใช้ภาพที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ ที่จะบอกว่าเป็นใคร เท่านั้นเอง
ขยายประเด็น สะท้อน-ป้องกันปัญหาสังคม
พอเหตุการณ์นี้จบแล้ว เราก็ไปต่อ ในเรื่องการป้องกัน คืออันดับแรกอยากจะหาสาเหตุที่ชัดเจนที่สุด ก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากพอสมควร เพราะคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ก็อาจจะมีแง่มุมที่ต้องเอามาประมวลกัน ประเด็นของปัญหา คือเรื่องยาเสพติด มันน่าตกใจ ที่เราพบว่า มีผู้มีอาการทางจิต เป็นผู้ป่วยทางจิต อันเนื่องมาจากยาเสพติดเพิ่มขึ้นสูงมาก บางจังหวัดถึงขั้นบอกว่า ไม่สามารถรับไว้รักษาตัวได้ ให้ยาไปอย่างเดียว เมื่อวานก็เกิด 2 – 3 เหตุการณ์ คล้ายกับที่หนองบัวลำภู ซึ่งมันเป็นสัญญาณเตือนที่น่ากลัว ต้องพยายามหาจุดที่ทำให้ป้องกันปัญหานี้ให้ได้ในอนาคต
ในฐานะที่เป็นสื่อ เราทำอะไรได้ เราก็จะทำ เช่น ปัญหายาเสพติดเป็นอย่างไร การครอบครองอาวุธปืน ที่บอกว่ามีมากที่สุดนั้น มีช่องว่างช่องโหว่ตรงไหน ผู้ที่ทำงานใกล้กับยาเสพติด ใกล้กับอาวุธปืนควรจะมีมาตรการอย่างไร นักจิตวิทยา จิตแพทย์ ที่เราสัมภาษณ์ ก็บอกว่า คนที่ทำงานกับปืน ต้องเอาสภาพจิตมากำกับวินัย ไม่ใช่เอาแต่วินัย ต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะ เป็นต้น สิ่งนี้น่าจะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรมจริง ๆ
นายก่อเขต กล่าวตอนท้ายถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ต้องตระหนัก 2 ด้าน แม้ต้องรายงานเหตุการณ์ที่คนสนใจอยากรู้ ก็สามารถใส่เรื่องเป็นประโยชน์เข้าไปได้ด้วย เชื่อว่าเพื่อน ๆ พี่น้อง ในวงการสื่อก็ได้ทำตรงนั้น เพียงแต่ในภูมิทัศน์ทางสังคมต้องเอื้อกับเขาหน่อย เวลามีกรณีหนัก ๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ น้อง ๆ นักข่าวในสนาม ก็สะท้อนความรู้สึกว่าทำดีแทบตาย ช่วยดูหน่อย ส่วนพวกที่ทำไม่ดีก็ด่าก็ว่าเค้าแต่ถึงเวลาก็ไปดูเค้าเต็มที่ จึึงทำให้เขามีเหตุผลมาทำแบบนี้เพราะมันมีคนดู เรื่องอย่างนี้ ก็ต้องอดทน แม้บางอย่างจะจริง แต่ต้นทางก็อยู่ที่คนทำสื่อต้องพยายาม
“3 กลุ่ม” เกี่ยวข้องต้องตระหนัก
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ระบุว่า สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งมีสมาชิกเครือข่ายอยู่เป็นจำนวนมาก ได้ติดตามเรื่องเหล่านี้อย่างใกล้ชิด แม้จะมีกระแสผ่านทางโซเชียลมีเดียทั้งหลาย วิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นข่าวใหญ่ ก็ไม่ต้องรอให้มีการร้องเรียนเรา ก็ต้องเข้าไปติดตามเอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของเรา หากเห็นว่าอะไรเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นทางสังคมก็ต้องเข้าไปดู
เราติดตามดูการนำเสนอของสื่อมวลชนทั้งหลาย ไม่รวมสื่อเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะสื่อมวลชน สื่อไปถึงวงกว้าง มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งกฎหมายของสื่อมวลชนก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง การดูแลก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง สื่อมวลชนเป็นเรื่องของสาธารณะ มีกฎเกณฑ์อะไรมากกว่า เราดูแล้วก็เป็นห่วงว่าในการเสนอข่าวหรือการกระทำบางอย่างอาจจะเป็นการล่วงละเมิดจริยธรรมของสื่อ เพราะโดยหลักของกฎหมาย คดีสื่อทั้งหลาย จะไม่ได้ถูกควบคุมโดยรัฐ แต่พยายามกำกับดูแลกันเอง แม้วิธีคิดจะต้องมีเสรีภาพในการเสนอข่าว แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบจริยธรรม
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็มีกรอบจริยธรรมเป็นข้อบังคับอยู่ ก็เอาเรื่องเหล่านี้เข้าไปจับว่า สื่อได้ทำตามกรอบจริยธรรมหรือไม่ อันไหนที่ไม่ดี อย่างไร ก็พบว่ามีจำนวนหนึ่ง น่าเป็นห่วง ซึ่งองค์กรสื่อก็ออกแถลงการณ์ในนามของ 3 หน่วยงาน คือ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
กรณีการถอดบทเรียนการนำเสนอข่าว ภาพข่าว คลิปข่าว ที่ไม่เหมาะสม ในบ้านเราเกิดขึ้นบ่อย และสำนักที่มีการนำเสนอ ก็ยังเป็นสื่อเดิม ๆ ช่องเดิม ๆ
สำหรับตน เหตุการณ์ลักษณะนี้ มองไว้ทั้งหมด 3 เรื่อง กลุ่มแรก เป็นเรื่องขององค์กรสื่อเอง ผู้บริหารสื่อ บรรณาธิการ รวมทั้งนักข่าวต้องเข้าใจว่า ความเป็นสื่อมวลชนมีหลายเรื่องเข้ามากำกับดูแล ว่าการใช้พื้นที่ของสาธารณะ ใช้คลื่น พื้นที่ของหลวง ใช้เว็บอะไรก็ตาม มันมีเรื่องความน่าเชื่อถืออยู่ ฉะนั้นจำเป็นต้องรักษาตรงนี้เอาไว้ด้วย เพราะถ้าหากไม่สามารถทำตรงนี้ได้ ก็อาจจะถูกลงโทษบางอย่าง
สารพัดกฎหมายคุมสื่อแต่ใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
แม้ว่าในบ้านเราจะยังไม่สามารถลงโทษได้เต็มที่ ตามกฎหมายปกติ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีกฎหมายจำนวนมาก ที่จะมาลงโทษเรื่องเหล่านี้ เพียงแต่ที่ผ่านมา อาจจะเอามาใช้กันไม่มากนัก ตัวอย่างเช่น กฎหมายอาญา ก็เขียนไว้ ลงข้อมูลไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้อื่นเสียหาย หมิ่นประมาท โทษจำคุกอย่างน้อยไม่เกินหนึ่งปี ถ้าสื่อผ่านทีวี วิทยุ โทษก็เพิ่มขึ้นอีก กฎหมายอาญาก็เขียนไว้
ส่วนกฎหมายรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งเป็นกฎหมายใหญ่ ทุกคนต้องปฏิบัติตาม เพราะพูดถึงสิทธิส่วนบุคคล ที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง ทั้งตนเองและครอบครัวด้วย การไปถ่ายรูปเขา ครอบครัวเขา ผิดไปถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน กฎหมายคุ้มครองเด็ก ก็พูดถึงโทษที่สื่อเสนอข่าว ข้อมูลที่อาจเป็นผลเสียต่อเด็ก หรือผู้ปกครอง กระทบจิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนที่กฎหมายเขียนไว้
แม้กระทั่งกฎหมายใหม่ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถึงแม้จะบอกว่า กฎหมายนี้ไม่คุ้มครองไปถึงกิจการสื่อมวลชน แต่กิจการนั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบจริยธรรม และเป็นประโยชน์สาธารณะ ถ้าไม่อยู่ภายใต้กรอบนี้ ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ก็มีโทษ ที่จริงกฎหมายเหล่านี้ เริ่มออกมาเรื่อย ๆ เพื่อจะดูแลคน ดูแลสังคม ให้อยู่ร่วมกัน
เสรีภาพของสื่อต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ ในข้อบังคับของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งเราออกเมื่อปี พ.ศ. 2553 ข้อบังคับนี้ก็มาจากพี่น้องสื่อมวลชน เอาหลักการ นักวิชาการ มานั่งคุยกัน ก็ชัดเจนคือ สื่อมวลชนต้องไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น การใช้เสรีภาพของสื่อ ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น อีกเรื่องที่เราเขียนไว้ชัดเจน คือ การนำเสนอและเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่ซ้ำเติมความทุกข์ และโศกนาฏกรรมของผู้ที่ตกเป็นข่าว เขียนเรื่องนี้ไว้ชัดเจน เพียงแต่ข้อมูลเหล่านี้อาจจะยังไม่ไปถึงผู้สื่อข่าวยุคใหม่กันมากนัก ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ช่วงนี้ถือโอกาสที่จะมารณรงค์ และคุยกันว่า จะเผยแพร่เรื่องจริยธรรมให้กับสื่อมวลชนทุกคนทราบได้อย่างไร
องค์กรวิชาชีพ-กสทช.ร่วมมือพัฒนาคนสื่อยุคใหม่
สำหรับ กลุ่มที่สอง คือคนที่เข้ามาควบคุม หรือช่วยกันดูแล ทั้งสภาวิชาชีพฯ กสทช. ก็ต้องทำงานกันมากขึ้น เพราะสมัยก่อนสื่อมีความเข้าใจเรื่องแบบนี้มากพอสมควร การแข่งขันเรื่องเรตติ้งอาจไม่สูงมากนัก โฆษณาก็เข้าพอสมควร ไม่ต้องวิ่งหามากเหมือนกับสมัยนี้ ก็ทำให้ปัญหานี้ อาจจะยังไม่ชัดเจน แต่ช่วงหลัง โลกมีการตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชนกันมากขึ้น สื่อสารกันมากขึ้น ทำให้ทางเราต้องทำเรื่องเหล่านี้กันมากขึ้น ตอนนี้ทาง กสทช.กับสภาวิชาชีพฯ และสมาคมเกี่ยวกับสื่อ กำลังคุยกัน ในการทำงานร่วมกันอย่างไร
สำหรับองค์กรสื่ออาจจะไม่มีงบประมาณในการทำกิจกรรม เรื่องอบรม ขณะที่ กสทช.เป็นองค์กรของรัฐ มีงบประมาณอยู่ สามารถทำโครงการร่วมกันได้ กำลังคุยกัน แล้วทำเอ็มโออยู่ร่วมกัน 7-8 องค์กร เพื่อจะขยับ และเรื่องที่ต้องขยับ ที่คุยกันชัดเจน คือวิชาชีพ ที่ต้องอบรม ทำความเข้าใจ เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องแรกที่กำลังขยับร่วมกัน
ส่วนกลุ่มที่สาม ประชาชนทั่วไป อยากให้ช่วยกันส่งเสียงว่า ภาพอย่างนี้ ไม่ต้องการ ถ้าประชาชนช่วยส่งเสียงมากขึ้น ก็จะทำให้สื่อปรับตัว ไม่อย่างนั้นเขาก็จะอ้างว่าประชาชนชอบ ถ้าประชาชนบอกว่าไม่ได้ ไม่ยอม มีการประท้วง หรืออาจจะมีการแจ้งความ หากเห็นว่าเป็นการเผยแพร่นำไปสู่การหมิ่นประมาท ก็แจ้งความกับตำรวจ หรือหากขัดจริยธรรม แจ้งองค์กรวิชาชีพได้ เค้าก็จะมีการกำกับดูแลของเค้าเอง สภาวิชาชีพทั้งหลายก็พร้อมที่จะรับเรื่องร้องเรียน และเข้าไปตรวจสอบอีกครั้งจากความคิดเห็นและข้อมูลที่ประชาชนส่งเข้ามา
สำหรับถามกลุ่มนี้ อาจรวมทั้งสปอนเซอร์ที่ให้โฆษณา เพราะถ้าสปอนเซอร์เห็นว่าสื่อยังทำอย่างนี้อยู่ จะไม่ให้สปอนเซอร์ต่อ ก็จะช่วยกันกำกับดูแลอีกแนวทางร่วมกัน
ถือโอกาสสังคมตื่นตัวร่วมกำกับดูแลสื่อ
เหตุการณ์หนองบัวลำภู แม้จะต้องมีการมอนิเตอร์ แต่วัตถุประสงค์ของเราอยากให้สื่อมวลชนได้เสนอข่าวโดยอิสระเต็มที่ ภายใต้กรอบจริยธรรม เพราะมีข่าวเรื่องนี้ เราก็ติดตาม แต่ไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นปัญหาอีก คิดว่าสื่อน่าจะเรียนรู้และค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา เราก็พัฒนามาได้พอสมควรแล้ว ในหลาย ๆ เรื่อง
การวิพากษ์วิจารณ์สื่อมวลชนมากขนาดนี้ แสดงว่าสังคมเริ่มตื่นตัวเรื่องเหล่านี้กันมากขึ้น และองค์กรวิชาชีพก็ออกแถลงการณ์เร็วขึ้น ถ้าเราช่วยกันพัฒนาขึ้นอีก เราจะดีขึ้นในเรื่องการเสนอข่าว ในด้านจริยธรรมมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ออกมาพูด เสนอให้สังคมได้ทราบว่า ควรมีการปรับปรุงแก้ไขกันอย่างไร เชื่อว่าคนที่อยู่ในวงการสื่อ ก็คงเห็นปัญหาตรงกัน เพราะไม่ใช่เพิ่งเกิด ที่ผ่านมาเรายังพูดกันน้อยเพราะว่าความรุนแรงของโศกนาฏกรรมมันน้อย แต่ครั้งนี้เป็นโศกนาฏกรรมรุนแรงมาก มีคนตายเป็นอันดับสองของโลก เมื่อเกิดการตื่นตัว เราจะต้องมาปรับปรุงร่วมกัน
++++++++