21 ก.ย. 2565 สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) แถลงผลการสำรวจ “ประเด็นความน่าเชื่อถือต่อสื่อ (Thailand Trusted Media Survey 2022)” ที่เวทีประชุมสุดยอด APAC Trusted Media Summit ประจำปีครั้งที่ 5 ในประเทศไทย ซึ่งจัดโดย โคแฟค (ประเทศไทย) และ Google News Initiative (GNI) ที่ชั้น 6 อาคารทรูดิจิทัลพาร์ค สุขุมวิท 101/1 ถ.สุขุมวิท กรุงเทพฯ
ที่มาที่ไปของการสำรวจครั้งนี้มาจากแนวคิดในต่างประเทศ ซึ่งพบว่าความเชื่อมั่น (Trust) ต่อสื่อนั้นตกต่ำลงทั่วโลก จึงนำตัวชี้วัด 8 ประการที่ต่างประเทศใช้วัดความน่าเชื่อถือของสื่อ มาทำเป็นแบบสำรวจในไทยบ้าง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร ทำให้ไม่สามารถสำรวจกลุ่มตัวอย่างได้ขนาดใหญ่ จึงเลือกสำรวจในพื้นที่กรุงแทพฯ มีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 200 คน เพศชายและหญิงอย่างละครึ่งเท่ากัน อายุระหว่าง 15-60 ปี และพยายามให้ครอบคลุมมากที่สุดทั้งด้านการศึกษา อาชีพ สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 28-31 ส.ค. 2565
เมื่อดูค่าเฉลี่ยในภาพรวม จากคะแนนเต็ม 5 สื่อไทยได้อยู่ที่ 3.22 ถือว่าไม่เลวร้าย โดยด้านกระบวนการทำข่าว (Methods) เป็นด้านที่สื่อไทยได้คะแนนมากที่สุดคือ 3.42 ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำข่าวมีความน่าสนใจ เร้าใจหรือแปลกใหม่ แต่ในด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือความโปร่งใสและมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมสื่อ (Best Practices) ได้เพียง 2.91 เท่านั้น สะท้อนภาพความจำเป็นในการปรับปรุงเพื่อสร้างความเชื่อมั่น
เมื่อดูเป็นรายด้าน เริ่มตั้งแต่ 1.กระบวนการทำข่าว (Methods) แม้จะได้คะแนนมากที่สุด (3.42 จาก 5 คะแนน) ในทั้งหมด 8 ด้าน แต่ก็มีเสียงสะท้อนว่าหลายอย่างเป็นสิ่งเดิมๆ ที่ทำกันอยู่แล้ว (The same old things) ซึ่งรวมถึงปัญหาเดิมๆ อย่างการไม่มีที่มาของแหล่งข่าว 2.ความเชี่ยวชาญของนักข่าว (Journalist Expertise) อยู่ในอันดับ 2 (3.38 จาก 5 คะแนน) แต่ก็พบภาพความไม่เชื่อมั่นต่อสื่อในด้านนี้ โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวกับการเมือง ที่นำเสนอแบบไม่สมบูรณ์ ไปจนถึงขั้นที่บางครั้งก็นำเสนอข่าวลวง
3.เสียงที่หลากหลาย (Diverse Voices) มาเป็นอันดับ 3 (3.36 จาก 5 คะแนน) ประเด็นนี้มีข้อสังเกตจากกลุ่มตัวอย่าง อาทิ เสนอข่าวในเชิงบวกสนับสนุนรัฐอย่างเดียว หรือไม่ก็เสนอข้อมูลด้านเดียวของอีกฝ่ายหนึ่ง รัฐบาลและผู้มีอิทธิพลยังเป็นกลุ่มหลักที่พื้นที่ในสื่อ (Spotlight) 4.เข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่ (Locally Sourced) อยู่ในอันดับ 4 (3.27 จาก 5 คะแนน) หมายถึงลงพื้นที่ไปทำข่าวแล้วเข้าใจพื้นที่นั้นหรือไม่ มีข้อสังเกตเรื่องความไม่สมบูรณ์ของข่าวจากหลายปัจจัย เช่น ถูกแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือไปนำข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมานำเสนอต่อโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน อาทิ ข่าวปืนลั่นในห้องเรียนที่ตอนแรกนำเสนอกันว่าแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ระเบิด
5.การอ้างอิง (Reference) อยู่ในอันดับ 5 (3.26 จาก 5 คะแนน) ในภาพรวมนั้นอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง แต่ตัวชี้วัดย่อยเรื่องมีการเช็ครายละเอียดและความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวก่อนการนำเสนอข่าว พบว่าได้คะแนนค่อนข้างต่ำ (2.98 จาก 5 คะแนน) ซึ่งจริงๆ แล้วก่อนนำเสนอเป็นข่าวควรตรวจสอบกันถึง 3 ชั้น เพียงแต่เมื่อต้องแข่งขันกับความเร็วทำให้ลดขั้นตอนส่วนนี้ลง
เช่น ข่าวปืนลั่นในห้องเรียนที่ตอนแรกนำเสนอกันว่าแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ระเบิด เบื้องต้นอาจสอบถามเพียงผู้สื่อข่าวในพื้นที่ แต่ยังไม่ได้สอบถามผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องแหล่งข่าวบางรายเข้าถึงยาก กลายเป็นข้อจำกัดที่สุดท้ายสื่อก็ต้องไปหาแหล่งข่าวเดิมๆ รวมถึงมีข้อสังเกตด้วยว่า สื่อมีการเซ็นเซอร์ตนเอง ไม่นำเสนอข่าวเพราะกลัวผลกระทบทางกฎหมายที่จะตามมา
6.ความรู้ความเข้าใจ (Labels) อยู่ในอันดับ 6 (3.25 จาก 5 คะแนน) หมายถึงเข้าใจข่าวที่จะนำเสนอ รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งและหลายมุมมอง มีความชัดเจนและมีคุณภาพ ข้อนี้ตัวชี้วัดย่อยเรื่องความโปร่งใส ได้คะแนนน้อยที่สุด (2.33 จาก 5 คะแนน) สะท้อนความรู้สึกอึมครึมและไม่ชอบมาพากลที่กลุ่มตัวอย่างมองสื่อ ข้อท้วงติง เช่น สื่อมักเสนอข่าวตามกระแส เนื้อหาไม่ชัดเจน ขาดประสบการณ์ในการนำเสนอข่าวที่รอบด้านและเป็นมืออาชีพ
7.รับฟังเสียงผู้บริโภคสื่อและประชาชน (Actionable Feedback) มาเป็นอันดับ 7 (3.00 จาก 5 คะแนน) ในภาพรวมมีการเชิญกลุ่มคนที่หลากหลายร่วมแสดงความคิดเห็น แต่จุดที่ได้รับข้อเสนอแนะว่าควรปรับปรุง คือเมื่อเกิดกรณีที่สื่อถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ การออกมายอมรับความผิดพลาด ขอโทษและแก้ไขยังช้าและน้อยเกินไป สุดท้ายคือ 8.ความโปร่งใสและมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมสื่อ (Best Practices) เป็นด้านที่ได้คะแนนรั้งท้ายจากทั้งหมด 8 ด้าน (2.91 จาก 5 คะแนน) โดยเฉพาะตัวชี้วัดย่อยเรื่องความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าว ได้เพียง 1.83 จาก 5 คะแนนเท่านั้น
“Best Practices ที่ได้คะแนนน้อย เพราะปัญหาส่วนหนึ่งมาจากคิดว่าสื่อไม่มีความเป็นกลาง ขาดความเป็นอิสระในการเสนอข่าว เพราะว่าบางทีเสนอข่าวแต่ด้านเดียวโดยเฉพาะจากฝ่ายรัฐบาล หรือถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจในสังคม นักการเมือง ผู้มีชื่อเสียง คนร่ำรวย แล้วก็รวมถึงกฎหมาย ก็จะเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง” สุภิญญา ระบุ
สุภิญญา กล่าวในตอนท้ายว่า การสำรวจครั้งนี้เป็นผลวิจัยเล็กๆ เพื่อจะมานำเสนอในงาน แต่ก็น่าจะสะท้อนอะไรบางอย่างที่สื่ออาจนำไปปรับปรุงและพัฒนาได้ และหากมีโอกาสก็อยากขยายการสำรวจไปยังจังหวัดอื่นๆ บ้าง เพราะครั้งนี้เป็นเพียงกลุ่มตัวอย่าง 200 คนและอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจไม่สะท้อนภาพทั้งหมด แต่ก็พอทำให้เห็น และอยากให้สื่อนำ 8 ตัวชี้วัดข้างต้นไปเป็นเกณฑ์ในการทำงานของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพและความเป็นมืออาชีพของสื่อต่อไป และทำให้เกิดสื่อที่สังคมเชื่อใจหรือไว้ใจได้ (Trusted Media) มากขึ้น
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-