3 องค์กรปาฐก ชวนคิดเรื่อง การฟื้นความเชื่อมั่นต่อสื่อยุคดิจิทัล ในเวทีประชุมสุดยอดสื่อที่สังคมไว้ใจได้ (Trusted Media Summit Thailand 2022)
21 ก.ย. 2565 โคแฟค (ประเทศไทย) และ Google News Initiative (GNI) เวทีประชุมสุดยอด APAC Trusted Media Summit ประจำปีครั้งที่ 5 ที่ชั้น 6 Academy Bangkok, Google Space กรุงเทพฯ โดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในสังคมไทย ณ ปัจจุบัน มีเสียงสะท้อนออกมาว่าไม่รู้จะเชิ่อใครดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สื่อ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม (NGO) ก็ดูไม่น่าเชื่อไปหมด
อย่างไรก็ตาม เมื่อ 3 ปีก่อน เคยมีคนถามคำถามแบบเดียวกันนี้กับ ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน ซึ่ง ออเดรย์ ถัง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “บางครั้งการเชื่ออย่างมืดบอดก็อันตรายกว่าการไม่เชื่อ (Sometimes blind trust is worse than no trust)” ดังนั้นแล้วการไม่เชื่อหรืออย่างเพิ่งเชื่อก็อาจได้ไม่เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เพราะทำให้เกิดการฉุกคิดและตั้งคำถาม แต่สุดท้ายก็ต้องมีคนช่วยหาคำตอบ ซึ่งคนที่ช่วยหาคำตอบให้ก็ควรจะเป็นคนที่ไว้ใจได้ และนั่นก็ควรจะเป็นสื่อมวลชน
“นี่คือเจตนารมณ์ของเวที Trusted Media Summit ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง GNI แล้วก็ภาคีโคแฟค ซึ่งหมายความรวมทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ด้วย เพราะโคแฟคไม่ได้เป็นองค์กร แต่โคแฟคเป็นแนวคิด เป็นซอฟท์แวร์ เป็นแนวคิดในเรื่องของการหาความจริงร่วม หรือ Collaborative Fact-Checking แล้วก็เป็น Community ก็คือชุมชน ฉะนั้นภาคีโคแฟคประเทศไทย ก็หมายความรวมทุกท่าน ทุกองค์กร ที่มีแนวคิดตรงกันว่าจะมาคนหาความจริงร่วมกัน ในยุคดิจิทัลที่สับสนอลหม่าน” สุภิญญา กล่าว
ในงานนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่านร่วมปาฐกกถา โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ทำไมต้องมีสื่อที่สังคมเชื่อใจได้ในโลกที่ไม่น่าไว้ใจ (Why trusted-media matters in a zero-trust world?)” โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคำว่า “ความไว้วางใจ (Trust)” เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เช่น เวลาเราจะทำมาค้าขายกับใครก็คงต้องเชื่อใจคนคนนั้น ซึ่งก็มีนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล 2 ท่าน มองความไว้วางใจเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญ
โดย โรนัลด์ คอส นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล ปี 1991 (พ.ศ.2534) เคยตั้งคำถามง่ายๆ แต่แหลมคมว่า “ถ้าตลาดสำคัญมากแล้วทำไมเราต้องมีบริษัท?” เวลาจะจ้างคนทำงานต่างๆ เหตุใดจึงไม่จ้างเป็นรายครั้งคราวไป? ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว การทำธุรกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบริษัทมากกว่าในตลาด และบทสรุปของคำถามข้างต้น โรนัลด์ คอส ได้ให้คำตอบไว้ว่า การมีบริษัทก็เพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกรรม ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ลดต้นทุนนั้นก็คือความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เช่น คนทำงานอยู่ในองค์กรเดียวกัน ได้พบปะกันอย่างสม่ำเสมอ ความไว้วางใจจะเกิดขึ้นได้ง่าย หากเทียบกับการจ้างเป็นครั้งคราว วันนี้จ้างคนนี้ อีกวันจ้างอีกคนหนึ่ง ซึ่งก็อาจต้องระแวงว่าคนที่จ้างมาไว้ใจได้หรือไม่
ขณะที่ โอลิเวอร์ วิลเลียมสัน นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล ปี 2009 (พ.ศ.2552) ตั้งคำถามที่น่าสนใจ “ทำไมบางบริษัทถึงทำธุรกิจร่วมกันบ่อยๆ” เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ค่ายรถยนต์แต่ละเจ้าก็จะมีบริษัทซัพพลายเออร์ที่ทำธุรกรรมร่วมกันเป็นประจำ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์จะผลิตอะไหล่สำหรับใช้กับรถยนต์ ดังนั้นบริษัทที่เป็นค่ายรถยนต์ก็ต้องไว้วางใจซัพพลายเออร์ เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายทำธุรกรรมร่วมกันบ่อยๆ จึงเกิดความสัมพันธ์ที่ไปไกลกว่าการเป็นคนละบริษัทแบบต่างคนต่างอยู่ แต่กลายมาเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมกัน
ทั้งนี้ เมื่อเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็เกิดความพยายามนำมาใช้เพื่อสร้างความไว้วางใจกันด้วย เช่น สกุลเงินดิจิทัลที่มีชื่อเสียงอย่าง “บิตคอยน์ (Bitcoin)” มีการนำเทคโนโลยี “บล็อกเชน (Blockchain)” มาใช้ โดยใส่ข้อมูลลงไปซึ่งไม่สามารถลบได้ เพื่อการันตีว่าเงินบิตคอยน์ที่แต่ละคนใช้จ่ายซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการนั้นเป็นเงินจริงใช้แลกเปลี่ยนได้จริง วิธีคิดแบบนี้ก็คือ Zero Trust หรือการไม่เชื่อใจใคร เนื่องจากอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตอาจสุ่มเสี่ยงกับการถูกหลอกลวงปลอมแปลงได้ จึงนำบล็อกเชนที่ถูกมองว่าเป็นการสร้างความโปร่งใสแบบสุดขีดมาใช้
บล็อกเชนยังถูกนำไปใช้กับการซื้อ-ขายเพชร เพื่อการันตีว่าเพชรนั้นเป็นของจริง และไม่ใช่เพชรที่ได้มาจากกระบวนการทำเหมืองที่พัวพันการความรุนแรงหรือสงคราม (Blood Diamond) แต่ข้อจำกัดคือ บล็อกเชนเป็นเพียงเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูล ซึ่งในกรณีของเพชรนั้นหมายถึงข้อมูลใบรับรอง (Certification) และการจะออกใบรับรองก็ต้องมีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ต้นทางนับจากการขุดเพชรขึ้นมาจากเหมือง การเจียระไน ฯลฯ กว่าจะมาถึงหน้าร้านขายเครื่องประดับ ตลอดจนตำหนิของเพชรแต่ละเม็ด การสร้างความไว้วางใจจึงต้องมีตลอดทุกขั้นตอนของกระบวนการ
นอกจากนี้ สินค้าแต่ละชนิดก็ยังแตกต่างกัน เพชรอาจจะมีลักษณะเฉพาะคือแต่ละเม็ดมีตำหนิไม่เหมือนกันทำให้แยกแยะได้ง่ายและปลอมแปลงได้ยาก แต่หากเป็นยาหรือผลไม้จะทำอย่างไร หรือเรื่องข้อสื่อที่การนำเสนอข่าวนั้นข้อมูลที่มาตั้งแต่ต้นทางเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน การคิดแต่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อสร้างความไว้วางใจ ยังเป็นการลงทุนที่สูงมากอีกทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เครือข่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในกระบวนการทำเหมืองดิจิทัลของสกุลเงินบิตคอยน์ ใช้ไฟฟ้ามากถึง 96 TWh ต่อปี มากกว่าการใช้ไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ทั้งประเทศ
สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า และในความเป็นจริง “โลกไม่ได้เลวร้ายขนาดที่ไม่สามารถเชื่อใจใครได้เลย” และกระบวนการในการสร้างความไว้วางใจในสังคมก็ไม่ได้มีแต่การใช้เทคโนโลยีเพียงวิธีเดียว แต่ทำได้ผ่านกลไกทั้งของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม แม้กระทั่งสื่อมวลชน ซึ่งมีผลการสำรวจในปี 2564 ของสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยความน่าเชื่อถือขององค์กรต่างๆ ในสังคมไทย พบว่า อันดับ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันดับ 2 โทรทัศน์ อันดับ 3 กองทัพ อันดับ 4 ตำรวจ อันดับ 5 หนังสือพิมพ์ อันดับ 6 วิทยุ ขณะที่พรรคการเมืองนั้นรั้งท้าย
ช้อมูลข้างต้นชี้ว่า แม้กระทั่งองค์กรที่ถูกมองว่าภาพลักษณ์ไม่ดีอย่างตำรวจหรือนักการเมือง เมื่อดูระดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ร้อยละ 70-80 ก็ยังถือว่าสูงอยู่ ขณะที่พรรคการเมืองแม้ความน่าเชื่อถือจะน้อย แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคนกลับเชื่อถือมาก คำอธิบายสำคัญคือ สังคมมองว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเข้าถึงได้ง่าย ได้พบเจอคนตัวเป็นๆ มีปฏิสัมพันธ์แบบต่อหน้า (Face-to-Face Interaction) แตกต่างจากโลกออนไลน์ที่ข้อมูลต่างๆ ใครเป็นผู้นำเสนอก็ไม่รู้ ซึ่งนี่คือกลไกทางสังคมในการสร้างคามไว้วางใจระหว่างกัน
ขณะที่การสร้างสื่อที่เชื่อถือได้ (Trusted Media) ก็เป็นสิ่งจำเป็น และทำได้หลายวิธี เช่น สื่อของรัฐที่ไม่อยู่ในระบบราชการอย่าง Thai PBS ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ออกแบบกลไกให้ทำงานได้อย่างเป็นอิสระ หรือสื่อเอกชนเดิมๆ อย่างโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ก็ยังได้รับความเชื่อถืออยู่พอสมควร แม้กระทั่งโลกออนไลน์ที่ถูกมองว่าหาความน่าเชื่อถือไมได้ (Zero Trust) ก็ยังมีสื่อออนไลน์ที่น่าเชื่อถืออยู่ รวมถึงองค์กรอย่างโคแฟคที่ตรวจสอบข้อมูลจริง-เท็จ
“เราไม่ได้อยู่ในโลก Zero Trust โลกทั้งโลกเป็นโลกที่มี Trust พอสมควร วิธีการที่เราจะสร้าง Trust มันต้องตลอด Value Chain (ห่วงโซ่คุณค่า) ตั้งแต่การผลิต ก็คือผลิตเนื้อหาของสื่อ ไปจนถึงการสื่อสารต่อไป เทคโนโลยี อัลกอริทึม มันช่วยได้เพียงบางส่วน เช่น ตัวข้อมูลข่าวสารระหว่างส่งว่ามันไม่ถูกปลอม แต่ถ้าข่าวมันเป็นข่าวปลอมตั้งแต่ต้น อัลกอริทึมไม่สามารถช่วยได้
อย่างมากก็เป็นเครื่องมือเล็กๆ ในองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งยังต้องใช้มนุษย์ ยังต้องใช้ความเชื่อใจ และสังคมของเรามีกลไกในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะว่า Trust เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และมีวิธีการสร้าง Trust ได้ ไม่มี Trust แบบสมบูรณ์ 100% แต่โลกก็ไม่ใช่ Zero-Trust World” ประธาน TDRI กล่าว
พณชิต กิตติปัญญางาม ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ร่วมก่อตั้ง ZTRUS ปาฐกถาเรื่อง “เทคโนโลยีกับการเข้าถึงวารสารศาสตร์แห่งความจริง (Tech for Journalism: How to boost more accuracy?)” ฉายภาพเทคโนโลยีที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ซึ่งรวมถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ตั้งแต่ Search Engine หรือ Web Crawling ที่ช่วยค้นหาข้อมูลและนำมาเปรียบเทีบบกัน , Robot & Drone ช่วยในการถ่ายภาพจากมุมใหม่ๆ ที่ในอดีตไม่สามารถทำได้
Fact Checking ปัจจุบันมีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ช่วยตรวจสอบการปลอมแปลงคลิปวีดีโอ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อตรวจจับเทคโนโลยี Deep Fake หรือ AI ที่ทำคลิปวีดีโอปลอม ไปจนถึงตรวจสอบว่าบทความที่เผยแพร่มีการลอกเลียนผลงานอันเป็นการละมิด (Plagiarism) หรือไม่ , Robo-Reporting เทคโนโลยีที่ช่วยเรียบเรียงประเด็นเมื่อผู้สื่อข่าวต้องการเขียนบทความ เพื่อให้บทความที่ออกมาน่าสนใจและตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยตรวจการสะกดคำผิด-ถูก เป็นต้น และเทคโนโลยีทั้งหมดนี้ยังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม “ไม่มีอะไรที่มีความแม่นยำ (Accuracy) 100%” ดังนั้นแล้วจึงกลับมาที่คำถามว่ามนุษย์จะยอมรับความไม่แม่นยำได้มาก-น้อยเพียงใดเช่น ในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 รุนแรง นโยบายของประเทศไทยกำหนดว่าผู้ที่จะเข้าระบบการรักษาได้ต้องมีผลตรวจแบบ PCR ยืนยันว่าติดเชื้อเท่านั้น ผลตรวจแบบ ATK ไม่สามารถใช้ได้ เพราะมีความแม่นยำต่ำกว่า PCR
แต่นโยบายแบบนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ติดเชื้อหลายคนเสียชีวิตเนื่องจากเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการรอความจริงที่แม่นยำที่สุดแต่ไมได้ช่วยในการแก้ปัญหาให้ดีขึ้น หรือสมมติว่า วันหนึ่งมีผู้คิดค้นเครื่องมือที่พยากรณ์ได้ว่าภายใน 1 สัปดาห์ จะมีอาคารหลังไหนเกิดเพลิงไหม้บ้าง โดยเครื่องมือนี้มีความแม่นยำร้อยละ 70 ซึ่งทั้งกรณีการตรวจโควิดแบบ ATK และเครื่องมือพยากรณ์ไฟไหม้ ต่างก็เป็นข้อมูลที่เป็นความจริง จึงต้องกลับมาที่มนุษย์ในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีว่าต้องการผลลัพธ์อะไรจากความจริงที่เทคโนโลยีให้มา
หรือการปล่อยให้เทคโนโลยีพัฒนาต่อไปจนเกินความเข้าใจของมนุษย์ เช่น AI ที่เล่นหมากล้อมไปเรื่อยๆ และร่วมกับ AI ที่แข่งหมากล้อมด้วยกัน เกิดพัฒนาเกมบางอย่างขึ้นมาเล่นกันเองโดยที่มนุษย์ไม่เข้าใจ หรือ AI ที่สร้างภาพหรือคลิปวีดีโอปลอม แข่งขันกับ AI ที่ตรวจสอบภาพหรือคลิปวีดีโอปลอม จนวันหนึ่งเกิดภาพหรือคลิปวีดีโอที่ปลอมได้อย่างแนบเนียนจนมนุษย์ไม่สามารถแยกแยะได้ ในวันนั้นแม้มนุษย์จะถูกตัดออกจากวงจรการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีก็ยังเป็นมนุษย์อยู่ดี
“นอกจากที่ AI จะเรียนรู้เนื้อหาของมนุษย์แล้ว เราก็ต้องเรียนรู้ผลลัพธ์ที่มันให้เราด้วย เพราะตัว AI ไม่มีจิตสำนึก ไม่มีความรับผิดชอบ สิ่งที่เกิดขึ้น วันที่มันทำผิด มันคงไม่เสียใจแล้วบอกว่าอย่าปิดไฟผมเลย ผมกลัวคุณจะมาปิดไฟผม คนที่ถูกด่าคือคนที่เลือกผลตรงนี้มาสู่สังคม เลือกผลลัพธ์นี้มาสู่สื่ออีกที ฉะนั้น Human Oversight (การกำกับดูแลโดยมนุษย์) จึงเป็นแนวคิด เราคิดว่า AI ไม่ได้มาแทนมนุษย์ AI เข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์ และมนุษย์ยังต้อง Oversight (กำกับดูแล) AI เพื่อให้ AI พาตัวมันไปสู่จุดที่มันส่งผลลัพธ์กับเราในแบบที่เราต้องการ” พณชิต กล่าว
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ปาฐกถาหัวข้อ “การกำกับสื่อร่วมสมัยควรเป็นเช่นไร” โดยคำว่าสื่อร่วมสมัย หมายถึงปัจจุบันสื่อมีความหลากหลายสูง แต่ขณะเดียวกันก็มีความเหลื่อมซ้อนกันทั้งในแง่การทำเนื้อหาและแพลตฟอร์มในการเผยแพร่ ซึ่งการปาฐกถาครั้งนี้จะกล่าวถึง “สื่อโทรทัศน์” เพราะยังมีความเป็นสื่อร่วมสมัย แม้เป็นสื่อที่มีมานานแต่ปัจจุบันก็ยังมีคนหลากหลายช่วงวัยที่ดูโทรทัศน์อยู่
โทรทัศน์ยังเป็นสื่อที่สังคมไทยเปิดรับอย่างกว้างขวาง แม้ระยะหลังๆ จะเปลี่ยนแปลงการออกอากาศไปยังรูปแบบอื่นๆ เช่น สตรีมมิง (Streaming) ก็ตาม แต่โทรทัศน์ที่หมายถึงสื่อภาคพื้นดิน หรือทีวีดิจิทัล ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ก็ยังจัดเป็นสื่อหลักอยู่ โดย กสทช. มีอำนาจทางปกครองตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 37 ว่าด้วยเนื้อหาที่สื่อโทรทัศน์ห้ามนำเสนอ เช่น การล้มล้างการปกครอง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือลามกอนาจาร
อย่างไรก็ตาม กสทช. ไม่มีอำนาจเซ็นเซอร์เนื้อหาของสื่อ แต่เป็นการดำเนินการตรวจสอบ ตักเตือนและลงโทษตั้งแต่ปรับเงินไปจนถึงพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ หลังจากที่เนื้อหาถูกเผยแพร่ไปแล้วและมีผู้ร้องเรียนเข้ามา หรือมีกรรมการ กสทช. หยิบยกขึเนมาพิจารณา แต่ที่ผ่านมา กสทช. ก็ถูกตั้งคำถามว่ามีการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวมากเกินไป และบางครั้งก็มีกรณีสื่อฟ้อง กสทช. อีกทั้งยังชนะคดีด้วย เพราะการใช้อำนาจในครั้งนั้นไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเนื้อหาที่สื่อนำเสนอส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีอย่างไร
แต่นอกจากเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องผิดจริยธรรมสื่อด้วย ยังมีเนื้อหาที่ไม่ผิดกฎหมายแต่หมิ่นเหม่ในเชิงศีลธรรม และ กสทช. มักถูกตั้งคำถามเสมอว่าเหตุใดยังปล่อยให้เนื้อหาแบบนี้ออกอากาศอยู่ได้ เช่น รายการข่าวที่จากเดิมเป็นการอ่านข่าว ต่อมาเปลี่ยนเป็นการเล่าข่าว และปัจจุบันไปถึงขั้น “ขยี้ข่าว” ซึ่งหากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเนื้อหานั้นผิดกฎหมาย กสทช. ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะ กสทช. ก็ต้องทำตามกฎหมายเช่นกัน
อีกด้านหนึ่ง กสทช. ยังมีหน้าที่ส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อและการรวมกลุ่มขององค์กรสื่อ แต่ด้านนี้ กสทช. ยังทำค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับด้านการกำกับดูแล ทั้งนี้ กสทช. คาดหวังว่า สื่อซึ่งมีอยู่มากมาย ลำพังสื่อโทรทัศน์ก็มีทั้งทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม รวมถึงในอนาคตอาจมีทีวีชุมชนเกิดขึ้นอีก จะมีการกำกับดูแลกันเองภายใต้มาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งก็มีเสียงสะท้อนว่ากลไกองค์กรวิชาชีพสื่อไม่มีประสิทธิภาพแม้จะตั้งกันมานาน
แต่เรื่องนี้ กสทช. ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ เพราะ กสทช. ใช้อำนาจทางปกครองมากเกินไป (Overused) บวกกับ กสทช. เป็นองค์กรที่มีทรัพยากรมากกว่าและเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่า สังคมจึงคาดหวังมาที่ กสทช. จึงเกิดภาวะที่เรียกว่า “เมื่อกลไกกำกับดูแลของรัฐ (State-Regulation) กว้าง กลไกกำกับดูแลตนเอง (Self-Regulation) จึงแคบ” การเติบโตของการกำกับดูแลตนเองจึงเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องทำให้มีประสิทธิภาพให้ได้ เพราะในสังคมประชาธิปไตยนั้นไม่อยากให้รัฐเข้าไปแทรกแซงการทำงานของสื่อ
โดยที่ผ่านมา กสทช. มีการพูดคุยกับองค์กรวิชาชีพสื่อ ในแนวทางร่วมกันกำกับดูแลมากขึ้น (Co-Regulation) พยายามลดช่องว่างระหว่างกัน โดย กสทช. ก็ต้องไปดูด้วยว่าปัญหาขององค์กรสื่อหรือนักวิชาชีพสื่อคืออะไร เรื่องใดที่ไม่จำเป็นก็ลดการควบคุมลง เว้นแต่เป็นเรื่องที่ร้ายแรงจริงๆ เช่น ความรุนแรง เพศ ภัยต่อเด็กและเยาวชน เป็นต้น อนึ่ง เคยมีคำถามกันภายใน กสทช. ว่า ควรเผยแพร่รายชื่อสื่อที่มีปัญหาในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือไม่ แต่ก็มีอนุกรรมการบางท่านคัดค้านบอกว่าเกรงใจสื่อ จะไปประณามสื่อได้อย่างไร
ความท้าทายสำคัญอีกประการคือ “สื่ออยู่ได้ด้วยระบบเรตติ้ง” ยิ่งมีคนติดตามมากเม็ดเงินจากโฆษณาก็เข้ามาก นำมาสู่การเผยแพร่เนื้อหาที่หมิ่นเหม่ ซึ่งมีผู้ใช้คำว่าเนื้อหาแตกต่าง แต่แตกต่างในทางที่ดีหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดย กสทช. พยายามส่งเสริม ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการผ่านช่องทาง กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
แต่เร็วๆ นี้ กสทช. จะมีการสร้างประกาศฉบับใหม่ ว่าด้วยการส่งเสริมเนื้อหาที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 52 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการ กสทช. สามารถส่งเสริมรายการที่มีคุณภาพได้ ทั้งนี้ เมื่อดูตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ที่นั่นองค์กรกำกับดูแลของรัฐไม่ต้องทำอะไรมากนัก เพราะองค์กรวิชาชีพสื่อกำกับดูแลกันเองได้อย่างดีแล้ว และมีมาตรฐานสูงกว่าการกำกับดูแลโดยรัฐ เพราะการสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคมเป็นความภูมิใจของวิชาชีพ
“เราก็คงต้องกลับมาถามว่า สื่อไทยให้คำนิยามของคุณค่าผ่านเนื้อหาที่จะส่งไปสู่ประชาชนอย่างไร? ท้ายที่สุดองค์กรวิชาชีพสื่อที่บอกเป็นตัวแทน คุณบอกได้ไหมว่านิยามของคุณค่าสื่อคืออะไร? การสร้าง Trust ให้กับประชาชนเป็นความภาคภูมิใจ เป็นเกียรติอย่างหนึ่งของวิชาชีพอยู่หรือไม่? กสทช. ก็พร้อมจะทำงานกำกับดูแลร่วมกัน อันนี้เป็นโมเดลที่เรามองไว้ แล้วก็น่าจะเป็นแบบที่ 1 คือเชื่อมโยงกันในแง่มาตรฐานจริยธรรม
เพราะว่าถ้าเป็นแบบที่ 2 ที่เขาทำกันในสากล คือสร้างองค์กรกำกับดูแลขึ้นมาอีกอันหนึ่ง เรียกว่า Co-Regulator (องค์กรกำกับดูแลร่วม) ไปเอาผู้พิพากษามา เอาองค์กรภาคเอกชนมา แล้วมามีอำนาจ ให้อำนาจในการเป็น Co-Regulator แต่เราไม่อยากสร้างองค์กรเพิ่มมาแล้ว แต่เราจะสร้างกระบวนการอย่างไรที่มีการทำงานแบบระนาบเดียวกัน การทำงานแบบมีเป้าหมายเดียวกัน ลดช่องว่างระหว่างกัน แล้วก็เชื่อมโยงกันด้วยเรื่องของการ Enforce (บังคับใช้) มาตรฐานจริยธรรม” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว