ถกประเด็นกำกับดูแลกันเอง ต้องหานิยามคำว่า ‘สื่อ’ ให้ได้ก่อน พร้อมจับตาร่าง กม. จริยธรรมเข้าสภา

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับ โคแฟค (ประเทศไทย) จัดเวทีเสวนา Media Forum # 17 “ทบทวนบทบาทองค์กรสื่อในการกำกับดูแลกันเอง” โดยเป็นวงเสวนาออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting และถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “สภาการเสื่อมวลชนแห่งชาติ” และเพจ “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”

น.ส.โสภิต หวังวิวัฒนา คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรม Media Forum จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการนำประเด็นที่น่าสนใจมาพูดคุยโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งครั้งนี้เป็นเรื่องการทบทวนบทบาทองค์กรสื่อในการกำกับดูแลกันเอง โดยองค์กรสื่อนั้นมีหลายระดับทั้งที่เป็นสภาวิชาชีพ สมาคมและชมรม ซึ่งองค์กรสื่อนั้นมีความพยายามทำให้การทำงานอยู่ในกรอบของจรรยาบรรณวิชาชีพ

“แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจากสื่อยุคเก่ามาเป็นยุคใหม่ ซึ่งก็มีพื้นที่แพลตฟอร์มหลากหลายมากมายทีเดียว วันนี้เป็นเวลาที่เราควรได้หันกลับมาดู ทบทวนอดีตที่ผ่านมาเพื่อจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง แล้วก็ยังคงเป้าหมายประโยชน์สูงสุด ก็คือประชาชนที่เป็นผู้รับรู้ข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ” น.ส.โสภิต กล่าว

ในเวทีเสวนาครั้งนี้ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ร่วมนำเสนอในหัวข้อ “บทบาท กสทช. กับการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองขององค์กรสื่อ” กล่าวถึงความท้าทายในการกำกับดูแลจริยธรรมสื่อ ซึ่งต้องอาศัยการกำหนดเป้าหมายร่วมกันด้านการกำกับดูแลสื่อกับผู้ประกอบการ ทั้งองค์กรวิชาชีพและนักวิชาชีพ เพราะบางเรื่อง กสทช. ทำเองไม่ได้เนื่องจากคาบเกี่ยวกับประเด็นสิทธิเสรีภาพ จึงต้องอาศัยการกำกับดูแลกันเองของสื่อ

โดยในต่างประเทศ มีการกำกับดูแลกันเอง เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน หรือเนื้อหาโฆษณา ซึ่งองค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพก็ทำได้ดีพอสมควร อาทิ การจัดอันดับความเหมาะสมของเนื้อหา การคัดกรองเนื้อหากันเองในระดับองค์กรสื่อ รวมถึงภาคโฆษณาก็มาร่วมคัดกรองเนื้อหาก่อนออกอากาศด้วย อย่างไรก็ดี ด้วยนิเวศสื่อที่เปลี่ยนไป ทั้ง กสทช. และองค์กรสื่อจึงต้องวิ่งตามให้ทันในเรื่องการกำกับดูแล รวมถึงในส่วนของโฆษณาก็ต้องเข้ามาร่วมด้วยเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องเม็ดเงินหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมด้วย

ซึ่งการทำงานร่วมกันจะทำให้กลไกต่างๆ ที่ออกมากำกับดูแลสื่อ อยู่บนฐานของข้อมูลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์และทันต่อสถานการณ์ (Update) หากทำงานร่วมกันอย่างเท่าเทียม มีการแบ่งปันข้อมูลกันตลอดเวลา การทำงานก็จะเกิดประโยชน์ ไม่ใช่กำกับดูแลมากเกินไปจนไม่สนใจว่าอุตสาหกรรมเกิดสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทำให้การกำกับดูแลกลายเป็นการจำกัดศักยภาพ จนอุตสาหกรรมไม่สามารถแข่งขันได้

ขณะเดียวกัน จริยธรรมสื่ออยู่ในช่วงที่ต้องวางระบบกันใหม่ (Reset) ซึ่งการกำกับดูแลคงต้องผ่อนคลาย (Relax) ให้องค์กรวิชาชีพได้แสดงบทบาทมากขึ้น โดย กสทช. จะมีบทบาทส่งเสริมองค์กรวิชาชีพและองค์กรสื่อในการกำกับดูแลกันเอง และหวังว่าทั้งองค์กรวิชาชีพและองค์กรสื่อจะให้นิยามใหม่ในเรื่อง “คุณค่าของสื่อต่อสังคม” ทั้งนี้ มีตัวอย่างจากประเทศเกาหลีใต้ ที่นั่นองค์กรสื่อมีมาตรฐานสูงมาก จนองค์กรกำกับดูแลของรัฐแทบไม่ต้องทำหน้าที่ เพราะองค์กรสื่อมองว่าเป็นความภาคภูมิใจที่สามารถสร้างความเชื่อมั่น (Trust) กับสังคม

ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวต่อไปถึงสิ่งที่ต้องทบทวน 1.กลไกการกำกับดูแล จะทำงานร่วมกันอย่างไรโดยเน้นการกำกับดูแลกันเอง รวมถึงร่วมกันกำกับดูแล (Co-Regulation) ผ่านการเชื่อมโยงทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจน 2.การทำงานของ กสทช. ต้องเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการผสาน (Merge) อนุกรรมการชุดต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น ด้านเนื้อหา ด้านผังรายการ ด้านการกำกับดูแลและการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง ด้านส่งเสริมองค์กรวิชาชีพ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน

3.ลดช่องว่างระหว่าง กสทช. กับองค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพ โดย กสทช. จะลดบทบาทในฐานะผู้ควบคุมกับผู้ถูกควบคุม โดยเป็นการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น เพื่อให้ผู้ผลิตสื่อสามารถมีข้อเสนอแนะได้ เช่น เนื้อหาบางประเภทควรได้รับการส่งเสริมแต่หาโฆษณามาสนับสนุนยาก และ 4.สร้างองค์ความรู้ ผ่านการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อ เช่น สื่อโทรทัศน์เมื่อต้องก้าวไปสู่พื้นที่ออนไลน์ จะก้าวอย่างไรให้ราบรื่นไม่ติดขัด

“การที่จะต้องแข่งขันกันในช่วงสุดท้ายของใบอนุญาต มีอะไรบ้างไหมที่ทาง กสทช. จะสามารถช่วยหาทางบรรเทา เพื่อที่ท้ายที่สุดอุตสาหกรรมก็จะไม่กลับมาบอกว่าเราจำเป็นต้องหาทางรอดทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นทางรอดทางธุรกิจมันก็ต้องไปประนีประนอมคุณภาพมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งเราก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ตรงนี้ก็คือเป็นสิ่งที่ต้องทบทวนร่วมกัน” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว

จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงการเสวนา ทบทวนบทบาทองค์กรสื่อในการกำกับดูแลกันเอง โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 39-40 กล่าวถึงการกำกับดูแลร่วมกัน เพียงแต่ กสทช. ชุดที่ผ่านมายังไมได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ เหตุที่สื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ต้องมีกลไกกำกับดูแลร่วมระหว่างการกำกับดูแลกันเองและกำกับดูแลโดยองค์กรของรัฐ เพราะตั้งอยู่บนหลักคิดว่าสื่อทั้ง 2 ประเภทใช้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของสาธารณะ ดังนั้นสาธารณะต้องมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล จึงเกิดการกำกับดูแลผ่านองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ (เช่น กสทช.) โดยหลักคิดนี้มีอยู่ในหลายประเทศ

ส่วนการกำกับดูแลกันเองของสื่อนั้นมีมาก่อนการเกิดขึ้นของ กสทช. เช่น เมื่อ 25 ปีก่อน มีการตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยแนวคิดการกำกับดูแลกันเองของคนในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อดั้งเดิม มีมาก่อนหน้านั้นอีกประมาณ 30 ปี เพื่อต่อสู้กับประเด็นการใช้อำนาจของรัฐที่กระทบกับเสรีภาพสื่อมวลชน โดยในขณะนั้นมีกฎหมาย พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งมีความพยายามเรียกร้องเพื่อให้ยกเลิกมาตลอด กระทั่งมาสำเร็จในปี 2550 โดยเกิด พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ขึ้นมาแทน

แต่การตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเกิดขึ้นคาบเกี่ยวกับช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ก็มีความกังวลว่า หากมีการระบุให้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย อาจเป็นช่องทางให้ภาครัฐเข้ามาแทรกแซงได้ ทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อ นำโดยสมาพันธ์หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รวมตัวแสดงจุดยืนคัดค้านการเขียนเรื่องสภาวิชาชีพสื่อไว้ในกฎหมาย แต่จะขอตั้งสภาวิชาชีพขึ้นเพื่อกำกับดูแลกันเอง ถึงกระนั้น ด้วยความที่ไม่ใช่องค์กรที่มีกฎหมายรองรับ จึงใช้กลไกการกำกับดูแลโดยสมัครใจผ่านการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งสื่อสำนักใดที่ไม่พอใจก็สามารถถอนตัวออกไปได้

ในเวลาต่อมา หนังสือพิมพ์หลายสำนักที่เป็นสมาชิกเริ่มมีการนำเสนอข่าวสารบนเว็บไซต์ จึงมีการแก้ไขธรรมนูญของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติให้การกำกับดูแลครอบคลุมสื่อออนไลน์ของสมาชิกด้วย และหลังจากนั้นก็พบบางสำนักปิดตัวลงในส่วนของฉบับพิมพ์โดยเหลือแต่ส่วนของเว็บไซต์ กลายเป็นสำนักข่าวออนไลน์เต็มตัว ขณะเดียวกัน สมาชิกที่เคยทำหนังสือพิมพ์อยู่เดิมบางสำนักก็ขยายไปทำสถานีโทรทัศน์ด้วย

ท้ายที่สุดจึงต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็น สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อให้ทั้งการเป็นสมาชิกและการกำกับดูแลครอบคลุมมากขึ้น แต่หลักการยังคงเหมือนเดิมคือ ยังเป็นการกำกับดูแลกันเองโดยสมัครใจ ไม่ได้มีการบังคับ ซึ่งก็เป็นที่มาของการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเมื่อไม่มีสภาพบังคับก็กำกับดูแลกันเองไม่ได้ และมีผู้ที่คิดว่าอยากจะเข้ามาช่วยกำกับดูแล แต่การเป็นองค์กรวิชาชีพที่ไม่มีกฎหมายรองรับก็เป็นข้อจำกัด เพราะการไปตรวจสอบสื่อที่ไมได้เป็นสมาชิกก็ต้องแบกรับความรับผิดชอบทางกฎหมายด้วย ซึ่งก็ต้องถามว่าพร้อมหรือไม่

“ความสำเร็จในการกำกับดูแลกันองขององค์กรวิชาชีพ มีอยู่ 3 ปัจจัยแรกคือตัวองค์กรวิชาชีพเอง คือสมาชิก คือคนมาทำงานองค์กรวิชาชีพ สามารถทำงานได้ตรงวัตถุประสงค์ ตามแผนที่อยากจะทำ อันที่ 2 มันคือตัวสมาชิกเอง องค์กรวิชาชีพมีคำตัดสินหรือมีข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำ สมาชิกให้ความร่วมมือมาก-น้อยแค่ไหน? อันที่ 3 สุดท้ายผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก คือตัวผู้บริโภคสื่อ ก็คือคนอ่าน ถ้าองค์กรวิชาชีพมีมติอะไรออกไป ตำหนิสมาชิกโน่นนี่นั่น บอกสมาชิกละเมิดจริยธรรม สมาชิกก็ไม่ยอมรับ แต่ผู้บริโภคสื่อยังยอมรับสื่อนั้นอยู่ อันนี้การกำกับดูแลมันก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้” นายชวรงค์ กล่าว

นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการค้นข้อมูลในราชกิจจานุเบกษา พบองค์กรที่จดทะเบียนโดยใช้คำว่าสมาคมนักข่าว 75 รายการ สมาคมสื่อ 169 รายการ สมาคมข่าว 4 รายการ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ 7 รายการ และยังมีสมาคมอื่นๆ อีกมากมายที่ใช้คำว่าสื่อหรือนักข่าว สะท้อนให้เห็นความนิยมในการตั้งสมาคมหรือชมรมของตนเอง เช่น ที่ จ.นครศรีธรรมราช มีถึง 2 สมาคม และมีการแข่งขันกันทำงาน

ซึ่งแม้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจะเป็นสมาคมเก่าแก่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนอยากเข้าร่วม จึงมีการไปตั้งสมาคมกำกับดูแลกันเอง เช่น กรณีพระกาโตะ ที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้สื่อข่าวรายหนึ่ง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ได้เป็นสมาชิก จึงประสานต่อไปยังสมาคมนักข่าวภูมิภาค จากนั้นสมาคมนักข่าวภูมิภาค ก็ประสานต่อไปยัสมาคมนักข่าวใน จ.นครศรีธรรมราช เพื่อจะได้ไม่ก้าวล่วงหน้าที่ของกันและกัน

ทั้งนี้ จากการที่เข้ามาทำงานในสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พบว่าต้องให้ความสำคัญในหลากหลายมิติ จากเดิมที่มองเฉพาะกรณีสื่อถูกคุกตามจากผู้มีอำนาจ ก็ต้องเข้าใจเรื่องอื่นๆ มากขึ้น เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การดูแลชะตาชีวิตของสมาชิกสมาคมที่ได้รับผลกระทบทั้งจากโควิด-19 และการมาของออนไลน์ ซึ่งจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ยังอยู่ในอาชีพได้ รวมถึงมีทักษะใหม่สามารถอยู่รอดได้แม้สุดท้ายต้องตกงานก็ตาม

“สิ่งที่เห็นในปัจจุบัน ด้วย Landscape (ภูมิทัศน์) สื่อที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนมากมาย คนที่เป็นหนังสือพิมพ์ลดลง คนที่เป็นทีวีลดลง คนที่เป็นนักวิทยุน้อยลง คนที่เป็นออนไลน์กลับโตขึ้น เราจะทำอย่างไรให้ประตูของการรับแล้วก็พัฒนาคนที่เป็นสื่อใหม่ที่จะเข้ามา และคนที่เป็นสื่อดั้งเดิมที่กำลังผันตัวเองไปเป็นสื่อออนไลน์ ให้เขาได้มีพื้นที่พึ่งพิงในการกำกับดูแลกันเอง” นายจีรพงษ์ กล่าว

นายนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา อุปนายกฯ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า สื่อออนไลน์ก็มีหลายแพลตฟอร์ม จากเดิมมีเฟซบุ๊ก ยูทูบ ปัจจุบันมีติ๊กต๊อกเพิ่มเข้ามา ซึ่งบทบาทของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จะมีอยู่ 2 ด้าน คือ 1.ส่งเสริมจริยธรรมการนำเสนอ นอกจากจริยธรรมสื่อแล้ว ยังรวมถึงมาตรฐานหรือเกณฑ์ของแต่ละแพลตฟอร์มด้วยที่มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัจจุบันเฟซบุ๊กใม่สนับสนุนให้นำเสนอภาพที่มีความรุนแรง หรือแม้กระทั่งกฎหมายใหม่ของไทยอย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จึงต้องให้ความรู้กับสมาชิก

การทำงานของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ยังเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เช่น มีการสัมมนาร่วมกันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ว่าแต่ละประเทศมีแนวทางรับมืออย่างไร ส่วนอีกด้านคือ 2.ส่งเสริมการสร้างรายได้ การรวมกันเป็นสมาคมเพิ่มน้ำหนักในการเจรจาต่อรองกับบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่เป็นระดับโลก เพื่อให้ปรับปรุงราคาขายโฆษณาต่อหน่วยให้เหมาะสม ซึ่งทางแพลตฟอร์มก็จะได้นำข้อเสนอแนะต่างๆ จากการพูดคุย ไปปรับระบบแพลตฟอร์มให้สอดคล้องกับแต่ละประเทศหรือภูมิภาคด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการถกเถียงกันระหว่าง 2 แนวคิด คือ “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้” กับ “ใครๆ ก็สื่อสารได้” เพราะการเป็นสื่อนั้นมาพร้อมกับความคาดหวังของประชาชน เพราะการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมีเรื่องของจริยธรรม “เสรีภาพมาพร้อมกับความรับผิดชอบ” จึงเป็นคำถามว่า “ในอนาคตจะนิยามคำว่าสื่ออย่างไร?” เช่น อินฟลูเอนเซอร์ นักข่าวภาคพลเมือง เพราะในบทบาทนั้นมีผลกระทบ

เช่น ในทางการเมืองหรือการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน แม้ผู้บริโภคมีสิทธิและเสรีภาพในการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร แต่การสื่อสารออกไปก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบกับสิ่งที่จะตามมา เพราะหลายครั้งไม่ใช่มีแต่การเปิดรับ แต่ยังมีการแสดงความคิดเห็น (Comment) และการกระจายต่อ ซึ่งบางครั้งก็ส่งผลโน้มน้าวใจได้ เช่น มีฝั่งหนึ่งที่เห็นด้วย แต่อีกฝั่งที่มีข้อมูลอีกด้านไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเพราะกลัวทัวร์ลง ข้อมูลก็สามารถถูกบิดได้เช่นกัน

“จุดตั้งต้นหรือการจะเดินต่อในการเข้ามากำกับดูแล มาร่วมกันหาว่าสุดท้ายนิยามที่เรามานิยามว่าใครจะเป็นสื่อ หรือใครจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือใครๆ ก็ควรจะต้องสื่อสารได้ หรือใครๆ ไม่สามารถจะเรียกตัวเองว่าสื่อได้ อาจจะแบ่งนิยามแต่ละกลุ่มไว้อย่างไร อันนี้ก็เป็นข้อที่น่าจะต้องกลับมาคิด มานั่งดูว่าส่วนสำคัญเราจะนิยามสิ่งเหล่านี้ไว้อย่างไร แล้วแนวทางต่อไปในการทำงานหรือการให้ความรู้ต่อภาคประชาชน ว่าข่าวหรือการนำเสนอแบบนี้มันไม่ถูกต้อง” นายนันทสิทธิ์ กล่าว

นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการ The Matter กล่าวว่า โลกปัจจุบันนั้นซับซ้อนขึ้น อาทิ มีข้อมูลพบคนไทยใช้เวลาในโลกออนไลน์เฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน “แต่ละคนจะมีโลก 2 ใบ” หมายถึงคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้เชื่อว่าคนมีบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) นำไปสู่การมีตัวตนบางอย่าง ความเป็นสื่อจึงกระจัดกระจาย ซึ่งที่ผ่านมามีบางวงเสวนายังมีคำถามว่าอะไรคือสื่อแท้-สื่อเทียม? โดยต้องบอกว่านิยามนี้ล้าสมัยไปแล้ว เพราะในบางจังหวะ ประชาชนสื่อสารได้ดีกว่าสื่อที่เป็นอาชีพเสียอีก คำถามคือจะนับคนเหล่านี้เป็นสื่อหรือไม่

ดังนั้นเรื่องของนิยามสื่อควรจะมีเส้นแบ่งหรือไม่? หรือหากไม่มี อะไรคือความเสี่ยง? เรื่องนี้ต้องพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง เช่น ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 เคยคิดกันว่าแวดวงสื่อสังคมออนไลน์น่าจะนิ่งแล้ว โดยเฟซบุ๊กกับยูทูบเป็นสื่อใหญ่สุด ตามมาด้วยทวิตเตอร์และอินสตาแกรม แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีติ๊กต๊อกเพิ่มมาอีกแพลตฟอร์ม ส่วนเฟซบุ๊กก็เริ่มตก ภูมิทัศน์ของสื่อออนไลน์ก็เปลี่ยนอีก รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยน เรื่องนิยามจึงเป็นเรื่องของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสื่อ

สำหรับบทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อ 1.คนในแวดวงสื่อรวมถึงสังคมยังคาดหวังกับองค์กรวิชาชีพ เห็นได้จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าองค์กรสื่อไม่ทำอะไรเพื่อปกป้องคนทำงานบ้าง หรือชี้ว่าทำไมเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่เข้าไปกำกับดูแลบ้าง 2.มีการโยนเรื่องกันไป-มา ซึ่งอาจเป็นเพราะคนไม่รู้ว่าเรื่องใดใครเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น องค์กรวิชาชีพสื่อมี 6 องค์กร แต่ไม่รู้ว่าประเด็นที่ตนต้องการเรียกร้องควรถามไปยังองค์กรใด แล้วก็จะมีการชี้แจงบอกว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องขององค์กรนั้นองค์กรนี้

ขณะเดียวกัน องค์กรวิชาชีพมักชี้แจงโดยอ้างข้อจำกัดต่างๆ แต่ความคาดหวังของสังคมต้องการทราบว่าจะดำเนินการอะไร? ในเวลาเท่าไร? 3.เครือข่ายองค์กรวิชาชีพสื่อแคบเล็กลงเรื่อยๆ แต่ก่อนมีวิธีคิดว่าสื่อดั้งเดิมไม่เหมือนสื่อออนไลน์ แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นองค์กรวิชาชีพสื่อเปิดกว้างให้สื่อภาคพลเมืองเข้ามารู้จักชุมชนขององค์กรสื่อ เพียงแต่ต้องเร่งความเร็วในการดำเนินการให้มากขึ้น และ 4.การพูดแต่คำว่ากำกับดูแลอย่างโดดๆ ลอยๆ คนมักรู้สึกต่อต้าน ทั้งที่การรวมกลุ่มมีประโยชน์มากกว่านั้นอีกหลายประการ ซึ่งหากผลักดันไปพร้อมกันได้ก็จะเป็นเรื่องดี

“รวมกลุ่มกันต่อรองกับอำนาจรัฐ ซึ่งอันนี้เป็นบทบาทขององค์กรวิชาชีพที่ผ่านมาที่โดดเด่น คือกฎหมายออกมาไม่ชอบ หรือรัฐทำอะไรกับนักข่าว ก็พยายามออกมา Take Action รวมกลุ่มกันพัฒนาความรู้ ทักษะอะไรบางอย่าง รวมกลุ่มกันหาแหล่งทุนใหม่ๆ ที่ปัจจุบันก็จะรู้ว่ายากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าตัวแชร์ในตลาดมันเยอะขึ้น และรวมกลุ่มกันสร้างความเชื่อมั่นของการรวมกลุ่ม เรารวมกลุ่มกันไม่ใช่ประโยชน์ของตัวเองอย่างเดียว เพื่อประโยชน์ของคนรับสารด้วย ก็คือการวมกลุ่มเพื่อกำกับดูแลเนื้อหาไม่ให้ไปกระทบหรือละเมิดสิทธิคนอื่น” นายพงศ์พิพัฒน์ กล่าว

ผศ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเด็นที่อยากชวนตั้งข้อสังเกต คือความพยายามขององค์กรวิชาชีพสื่อในการออกแนวปฏิบัติ การสร้างกรอบจริยธรรม ไปจนถึงการสร้างเครือข่าย ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบใด ระหว่างการปกป้องผู้ประกอบการ–ผู้ประกอบอาชีพ หรือปกป้องสิทธิผู้บริโภค หรือปกป้องสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารในสังคมประชาธิปไตย เพราะการให้น้ำหนักกับฐานคิดที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อทิศทางการดำเนินการที่แตกต่างกันด้วย

ซึ่งการที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพราะงานวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนไม่ใช่เพียงสัมมาอาชีวะ คือไม่ใช่เพียงการทำงานเพื่อสังคมหรือเป็นที่พึ่งของสังคม แต่เป็นการประกอบอาชีพ เป็นการหารายได้ โดยการนำสิทธิเสรีภาพของสังคมมาใช้แทนประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงมีพึงได้ ประชาชนจึงคาดหวังว่าสื่อจะทำหน้าที่แทน ดังนั้น “การปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นแก่นหรือกระดูกสันหลังของวิชาชีพสื่อ” แม้ในทางปฏิบัติจะเข้าใจได้ว่าสื่อต้องเผชิญข้อจำกัดทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจก็ตาม

แต่หากทำไม่ได้ก็ต้องกล้ายอมรับและอธิบายเหตุผลว่าติดข้อจำกัดอะไร เพื่อให้สังคมเข้าใจว่าแล้วจะก้าวข้ามข้อจำกัดที่ปิดกั้นนั้นได้อย่างไร ซึ่งหากการให้เหตุผลไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิและเสรีภาพ ประชาชนจะพิจารณาเองว่านักวารสารศาสตร์หรือสื่อมวลชนนั้นประกอบอาชีพเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ของสถาบันที่มีอำนาจ หรือปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนตามที่กล่าวอ้าง

อีกด้านหนึ่ง ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้ทุกคนเป็นสื่อได้ ประชาชนก็ต้องการสื่อสาร ต้องการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนเองมากขึ้นโดยไม่ผ่านสื่อมวลชน รวมถึงมีการเกิดขึ้นของกลุ่มคนที่ต้องการสื่อสารในประเด็นที่สื่อมวลชนเชิงพาณิชย์มีข้อจำกัด สภาพแบบนี้อาจมองว่าเป็นความโกลาหลและอาจเป็นอันตราย แต่ก็สามารถมองได้ว่า การมีผู้สื่อสารใหม่ๆ เกิดขึ้นทำให้ข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นที่เคยถูกปิดกั้นหรือถูกมองว่าเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมและไม่อาจยอมรับได้ มีโอกาสได้เข้ามาสู่พื้นที่สาธารณะ

ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงและหาข้อสรุปหรือข้อตกลงใหม่ๆ ว่าสังคมจะเดินไปทางใด “การประทับตราว่าใครเป็นหรือไม่เป็นสื่อ น่าจะเป็นแนวคิดที่ตกยุคไปแล้ว” ในยุคสมัยที่ทุกคนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการสื่อสารได้ค่อนข้างจะเท่าเทียมกัน เพียงแต่ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่ได้มีความพร้อมด้านทรัพยากรเทียบเท่าองค์กรสื่อ แต่สิ่งที่ควรคิดกันต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้ทั้งสื่อและประชาชนปกป้องสิทธิและเสรีภาพของเราทุกคนได้

“เราคงไม่สามารถจะสรุปแบบเหมารวมได้ว่า การที่ประชาชนมาสื่อสารกันเอง การที่มีอินฟลูเอนเซอร์ หรือการที่เกิดสื่อเล็กๆ ใหม่ๆ มากมาย แล้วมันทำให้การสื่อสารแย่ลง มีเพียงผู้ประกอบวิชาชีพ คนที่ทำอาชีพนี้เท่านั้นที่ทำตามจริยธรรมวิชาชีพ หลายครั้งผู้ประกอบวิชาชีพก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคม หรือว่าในขณะเดียวกันกลุ่มนักสื่อสารใหม่ๆ เขาก็อาจจะคำนึงถึงการปกป้องสิทธิมนุษยชน แล้วก็เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการพูดของประชาชนมากกว่า ในรูปแบบของเขาเองเหมือนกัน” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ รองประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยผลการศึกษา “วิเคราะห์ความเห็นต่อสาระในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …” ใช้ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊กของสำนักข่าวและองค์กรวิชาชีพสื่อ และฐานข้อมูลโดย WiseSight ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2565 รวม 46 โพสต์ แต่ละโพสต์ก็จะมีความเห็นที่หลากหลาย ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย รองลงมาคือให้ข้อมูล และน้อยที่สุดคือการสนับสนุน

เมื่อแยกเป็นรายประเด็น พบว่า 1.นิยามคำว่าสื่อมวลชน ฝ่ายไม่เห็นด้วยมองว่ากว้างเกินไป ส่วนฝ่ายสนับสนุนมองว่าครบถ้วนครอบคลุมแล้ว ส่วนการให้ข้อมูล เช่น มีความชัดเจน ไม่ครอบคลุมบล็อกเกอร์และประชาชนทั่วไป 2.เพิ่มการคุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชน ฝ่ายไม่เห็นด้วยมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อการจำกัดเสรีภาพ เช่น การตีความ ตั้งแต่คำว่าไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยและศีลธรรมอันดีของประชาชน การครอบคลุมถึงสื่อสังคมออนไลน์ แต่ฝ่ายสนับสนุนจะมองว่าเป็นเกราะคุ้มครองสื่อ ช่วยอุดช่องโหว่ ส่วนการให้ข้อมูลจะว่าด้วยที่มาและหลักการ

3.แหล่งรายได้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกังวลว่าจะเปิดช่องให้รัฐสามารถแทรกแซงสื่อ ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่าเป็นการให้ผ่านองค์กรวิชาชีพ สื่อไมได้รับโดยตรง และเป็นผลดีต่อการรับรองคุณภาพสื่อ ส่วนการให้ข้อมูลจะบอกที่มาของแหล่งรายได้ 4.ตัวแทนภาครัฐเป็นกรรมการในองค์กรวิชาชีพสื่อ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า การสรรหากรรมการขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีกลไกตรรวจสอบ ไม่ยึดโยงกับประชาชน เป็นร่างทรงของรัฐ ขาดตัวแทนนักข่าวภาคสนาม รวมถึงอำนาจในการพิจารณาจดแจ้งและเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนฝ่ายสนับสนุนมองว่า แม้มีภาครัฐเป็นกรรมการแต่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษ ส่วนการให้ข้อมูลจะว่าด้วยองค์ประกอบของกรรมการ

5.หน้าที่และอำนาจสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าให้อำนาจมหาศาลในการจดแจ้งและเพิกถอน มีคณะกรรมการไม่กี่คนมาชี้ถูก-ผิด และกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน ส่วนฝ่ายสนับสนุน เห็นว่าเป็นผลดีในการควบคุมดูแลสื่อสามารถทำได้เข้มแข็งขึ้น รวมถึงการกำกับดูแลสื่อท้องถิ่นที่มักจะมีประเด็นร้องเรียนในจำนวนหนึ่ง ส่วนฝายให้ข้อมูลจะชี้แจงบทบาทขององค์กรวิชาชีพ

6.บทลงโทษ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย กังวลว่า แม้จะมีเพียงการตักเตือนหรือภาคฑัณฑ์ แต่ในอนาคตอาจถูกปรับแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อภาครัฐได้ เกิดคำถามว่าบทลงโทษมีไว้เพื่อปกป้องหรือจำกัดการทำงานของสื่อ และอาจกลายเป็นเครื่องมือเอาผิดเฉพาะสื่อที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐ ส่วนฝ่ายสนับสนุนมองว่าไม่มีถ้อยคำใดในกฎหมายเป็นไปเพื่อกำกับหรือควบคุมสื่อ ขณะที่การให้ข้อมูลจะว่าด้วยบทลงโทษมีอะไรบ้าง ซึ่งมากที่สุดคือการประจาน ที่ไม่มากไปกว่านี้เพราะไม่ต้องการเปิดโอกาสให้ใช้อำนาจรัฐ และ 7. บทเฉพาะกาล มีข้อคัดค้านเรื่องการให้กรมประชาสัมพันธ์เข้ามาทำหน้าที่ เนื่องจากจะมีอิทธิพลเหนือองค์กรสื่อในเรื่องจริยธรรม ส่วนฝ่ายให้ข้อมูลจะชี้แจงว่าเป็นเพียงหน่วยธุรการและเข้ามาเพียงระยะเริ่มแรกที่มีกรรมการสภาวิชาชีพชั่วคราว

ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวต่อไปว่า ในภาพรวมยังแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.เสนอแนะ เช่น ชะลอกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมาย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและรอบด้าน ปรับการกำหนดนิยามสื่อมวลชน ปิดช่องทางรัฐแทรกแซงสื่อ กำหนดบทลงโทษภาครัฐที่ปิดกั้นการแสดงออกและเสรีภาพของประชาชน ควรมีส่วนร่วมของสื่อพลเมืองและประชาชนทั่วไป

2.สนับสนุน เช่น ระมัดระวังและช่วยกันติดตามไม่ให้เนื้อหาถูกเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา เร่งผลักดันร่างกฎหมาย บรรจุเรื่องการจดทะเบียนสื่อ 3.คัดค้าน การกำกับดูแลสื่้อมวลชนเป็นเรื่องที่ต้องการฉันทามติจากสังคม การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อต้องมีการถกเถียงกันเพิ่มขึ้น รวมถึงเรียกร้องให้ประชาชนออกมาแสดงพลัง (Call Out)  

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเสนอแนะอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวร่างกฎหมายโดยตรง เช่น ควรมีพื้นที่กลางในการหาทางออกร่วมกัน เป็นกฎหมายเกี่ยวกับสื่อแต่ปรากฏทางหน้าสื่อค่อนข้างน้อย มีการให้ข้อมูลว่าผู้เกี่ยวข้องกับการผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหาร มีสื่ออาวุโสร่วมผลักดันร่าง ให้ข้อมูลวิธีการกำกับดูแลกันเอง มีความเห็นสนับสนุนว่าจะเป็นเกราะคุ้มกันการทำงานของสื่อมวลชน

“ความเห็นส่วนตัวในเรื่องของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ตอนนี้อยู่ในกระบวนการของรัฐสภาแล้ว จากการศึกษาก็จะเห็นว่ามีความห่วงใยว่าจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง อันนี้ยังไม่ได้พูดว่าควรมีหรือไม่มี แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ว่าเราจะศึกษาจากตัวเฟซบุ๊กของตัวองค์กรสื่อ หรือเฟซบุ๊กของข่าว แต่มันก็สะท้อนอย่างหนึ่งว่า มีประเด็นที่สนใจมากแล้วตรงกับที่วิทยากรพูดไปคือเรื่องนิยามของสื่อมวลชน แล้วก็เรื่องความกังวลผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่ออย่างมีเสรี

แล้วมันก็สะท้อนสังคมไทยจริงๆ แม้กระทั่งผู้ที่เห็นด้วยหรือสนับสนุน ก็กลัวในเรื่องการเปลี่ยนแปลงในช่วงพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเอาแค่ในด้านสื่อก็แล้วกันที่เคยมีประสบการณ์ การเปลี่ยนแปลงข้อความเจอกันเสมอเลย ไม่ว่าจะเป็นตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ เพราะลึกๆ อาจจะมีชุดความคิดอยู่ชุดหนึ่งว่าสื่อควรจะเป็นอย่างนั้น สื่อควรจะเป็นอย่างนี้ หรือควรกำกับดูแลสื่อ อันนี้ก็เป็นข้อห่วงใย ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว

ในช่วงท้าย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวปิดการเสวนา ว่า จากสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าโรคระบาด สงคราม ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงการเติบโตของเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งนำมาทั้งด้านบวกและด้านลบ ปัญหาข่าวลือ-ข่าวลวง ข่าวที่ทำให้เกิดการสร้างความเกลียดชังขัดแย้ง การที่เนื้อหาที่ไม่ถูกหลักจริยธรรมกลับได้รับความนิยม บุคคลต่างๆ ที่กลายมามีบทบาทเป็นสื่อเต็มไปหมด

ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Information Disorder หมายถึงระบบข้อมูลข่าวสารที่ผิดปกติ คนก็ไม่รู้จะเชื่ออะไร จะหวังกับสื่อมวลชนก็ไม่รู้ว่าใครเป็นสื่อหลักสื่อรอง สรุปได้ว่าปัจจุบันเราอยู่ในภาวะโกลาหล (Chaos) อย่างแท้จริง แต่ไม่ว่าจะเป็นวงเสวนาที่ใดก็ตาม ท้ายที่สุดทุกคนก็จะกลับมาคาดหวังกับบทบาทของสื่อมวลชน แม้จะยังมีข้อถกเถียงกันต่อไปว่าใครคือสื่อมวลชน

“ประเด็นสำคัญที่สุด ทำอย่างไรเราจะฟื้นฟู Trusted Media (สื่อที่เชื่อถือได้) ซึ่งอาจจะหมายความรวมในภาพกว้างแล้วในยุคนี้ ให้เป็น Trusted Communication (การสื่อสารที่เชื่อถือได้) หรือเป็น Trusted Society (สังคมที่เชื่อถือได้) แต่มันคงยากมากที่จะไปสู่จุดนั้น แต่ก็เป็นความพยายามที่เราน่าจะทำงานร่วมกันต่อไป” น.ส.สุภิญญา กล่าว

######################